W H I T E A M U L E T
Group Blog
 
All blogs
 
@Tokyo เรื่องนู้นเรื่องนี้เรื่องนั้น สถานการณ์ต่างๆตั้งแต่กลับมาโตเกียว :: เรื่องโรงเรียน โรงไฟฟ้า และ ไฟดับ


อันนี้จริงๆคิดจะเขียนนานมากกกกกก ตั้งแต่เมษาโน่นแน่ะค่ะ(อัพเดตถึงปัจจุบันต้นๆมิถุนา) ไปๆมาๆก็เป็นเดือนสองเดือนกว่าแล้ว จนข้อมูลที่รวมๆไว้เริ่มจะเน่าและพอกหางหมู ไหนๆมีเขียนคร่าวๆไว้ในกระทู้ที่โพสใน blueplanet ก็เลยมาค่อยๆเพิ่มเติมวันละนิดละหน่อยจนได้เป็นบล็อคแสนยาวนี้แยกออกมานะคะ ก็จะพูดถึงหลายๆประเด็นน่ะค่ะ บล็อคนี้เริ่มจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวและของกินก่อน มีหัวข้อดังนี้ค่ะเผื่อจะคลิกๆข้ามอันที่ไม่สนใจไปได้

1. จากบ้านเราที่ไทยสู่บ้านเราที่ญี่ปุ่น
2. เรื่องของโรงเรียนและมหาลัย
3. เรื่องของโรงไฟฟ้า (ขอเตือนก่อนว่าอันนี้ยาวสุดเลยนะคะ ก็มีทุกข่าวและข้อมูลเท่าที่เรารู้น่ะค่ะ)
4. เรื่องของไฟฟ้า


จากบ้านเราที่ไทยสู่บ้านเราที่ญี่ปุ่น


อย่างที่รู้ๆกัน(จากบล็อคก่อนๆ)ว่าหลังแผ่นดินไหวเราก็คนนึงที่หอบหิ้วงานกลับมาทำที่ไทยแทนระยะหนึ่ง ในระหว่างนั้นก็ดีตรงว่าไม่ต้องมานั่งจ้องข่าว NHK 24 ชั่วโมง เครียดน้อยลงเยอะ แต่ก็ใช่ว่าจะสบายใจชิวๆนะคะ กลุ้มอยู่ตลอดเลยว่างานที่หอบกลับมามันไม่ค่อยจะคืบหน้าเอาซะเลย ทั้งๆที่เราไม่ได้ไปไหนเลยนั่งทำอยู่ตลอดเวลา แต่ไปๆมาๆทำที่ไทย 2 อาทิตย์ยังได้งานไม่เท่าอยู่ญี่ปุ่น 2 วันด้วยซ้ำค่ะ ... อาการนี้ไม่ใช่เราเป็นคนเดียวด้วยนะคะ แต่น้องๆคนไทยคนอื่นๆก็เหมือนกันเด๊ะเลย (บางคนยิ่งบอกว่าทำที่ไทยทั้งเดือน เผลอๆยังได้งานไม่เท่าอยู่ญี่ปุ่นไม่กี่วันด้วยซ้ำ)

สรุปว่าถึงอยู่ไทยก็ไม่ได้พักค่ะแค่เปลี่ยนประเทศนั่งทำงานเฉยๆ แต่จริงๆก็พอจะชินแล้วเพราะคนกลับไทยปีละสองหน(ถือว่ากลับบ่อยกว่าคนไทยส่วนใหญ่)อย่างเรานี่ นับครั้งที่กลับไปตัวเปล่าๆไม่มีงานหนีบไปด้วยได้ไม่ถึง 4 ครั้งด้วยซ้ำ ที่เหลือคือกลับไปให้ที่บ้านเห็นหน้าเฉยๆ แต่งานยังต้องทำเหมือนเดิมค่ะ ส่งรายงานติดต่ออาจารย์ทางเมลเอา แต่ก็ด้วยว่าคุณพ่อชวนไปกินๆๆอยู่เรื่อย นั่งรถกลับบ้านทีก็เป็นชั่วโมง ไปๆมาๆเวลาทำงานเรามันหายไปไหนหมดไม่รู้ค่ะเนี่ย ก็กลุ้มเรื่องงานจนไม่มีอารมณ์ไปเที่ยวไหนเลย

ตอนที่ถึงไทยใหม่ๆก็มีคลิปนี้ที่มี artist ญี่ปุ่นคนนึงทำออกมาเพื่ออธิบายสถานการณ์ให้คนเข้าใจกันได้ง่ายๆ อันนี้แถมมี subtitle ภาษาไทยด้วยค่ะ (ขนาดคนญี่ปุ่นเองยังบอกว่าข่าวโรงไฟฟ้าฟังยากเลยค่ะ แบบว่ามันมีศัพท์เฉพาะเยอะ ขนาดมีรูปประกอบเพียบตามประสาสื่อญี่ปุ่น เด็กวิทย์อ่อนภาษาญี่ปุ่นอย่างเราก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเลยค่ะ)


ระหว่างที่อยู่ไทย จะว่าหนีเสือปะจรเข้ก็ไม่เชิงนะคะ หนีจากแผ่นดินไหวญี่ปุ่นมาเจอแผ่นดินไหว(แถมข่าวน้ำท่วม)ที่ไทยอีกแน่ะ(จริงๆศูนย์กลางอยู่พม่าโน่น แต่ไหวแรงเลยส่งต่อกันมาจนรู้สึกสั่นได้หน่อยๆที่ตึกสูงๆในกรุงเทพ) แต่เอาจริงๆแผ่นดินไหวนี่เราก็ไม่รู้สึกอะไรเลยนะคะ คุณแฟนโทรมาบอกว่าตะกี้มีแผ่นดินไหวที่สั่นมาถึงกรุงเทพเราถึงจะรู้นี่ล่ะค่ะ ดูคร่าวๆเบื้องต้นที่รายงานความเสียหายจากแถบภาคเหนือ(คิดรวมไปด้วยว่าการก่อสร้างที่ไทยไม่ได้สร้างบ้านมาให้ทนแผ่นดินไหวเลย)ก็สรุปได้ว่าไทยได้ผลแผ่นดินไหวมานิดเดียวเท่านั้นค่ะ ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเลยเฉยๆชิวๆค่ะ แต่ก็เอามาพูดกันขำๆได้อยู่ว่าไปไหนก็เจอแผ่นดินไหว ;P

และแล้วก็ได้หมดห่วงเรื่องงาน เพราะต้นเมษาได้เวลากลับญี่ปุ่นแล้วค่ะ จริงๆตั๋วเราทาง ANA บอกว่าช่วงนี้เค้าให้เปลี่ยนได้ เลื่อนวันกลับไปได้ถึง กค เลย แต่ดูลาดเลาแล้วก็ไม่ได้แล้วค่ะ ภาษาญี่ปุ่นต้องบอกว่า Yabai やばい แล้ว (คือ อันตรายแล้ว จวนเจียนแล้ว จะแย่แล้วทำนองนี้น่ะค่ะ) ถ้าเราไม่กลับไปตอนนั้นล่ะก็อาจไม่ได้จบก็เป็นได้ แล้วใครๆเค้าก็กลับกันไปอยู่เป็นเพื่อนกันหมดแล้วด้วย ข่าวก็มาว่าบรรยากาศ(เกือบ)ปกติดี

ก็มีคุณพ่อเรานี่ล่ะค่ะที่ไปโดนคนอื่นที่ไม่ได้ตามข่าวใกล้ชิดไซโคมา มีเปรยๆว่า ดร็อปไปเทอมนึงดีมั๊ย ...ซึ่งนี่ไม่ไหวค่ะ ต้องขอจริงๆว่าเรายอมไม่ได้ค่ะเรื่องนี้ เพราะมันไม่ได้อันตรายขนาดจะยอมทิ้งการเรียนการวิจัยที่เราทำมาจนป่านนี้ไปกลางคัน ในขณะที่มันเหลืออีกนิดดดดดเดียวเท่านั้น

ถึงวันขึ้นเครื่องเคาเตอร์เช็คอิน ANA ที่สุวรรณภูมินี่โล่งเชียวค่ะ แต่มีข่าวดีมากๆจาก ANA (เห็นว่า JAL ก็ด้วยนะคะ) คือ เค้าเปลี่ยนกฏเรื่องน้ำหนักกระเป๋าแล้ว สำหรับ economy จำกัดว่าใบนึงหนักได้ไม่เกิน 23kg แต่หนึ่งคนให้โหลดได้สองใบเลยถ้าเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ ยิ่งถ้านั่ง business หรือ first class นี่ขนกันไปได้ 60-90 กิโล ไม่ต้องพึ่งบริการส่งของทางเรือกันก็คราวนี้ล่ะค่ะ (เค้าบอกว่าไม่เกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวนะคะ แต่มีแพลนจะเปลี่ยนเพื่อให้เหมือนๆกับสายการบินทาง US อยู่แล้ว)


เที่ยวบินนั้นตอนต้นเมษาของ ANA ขนาดว่ารวม UA และ TG มาเป็นสามไฟลท์ในเที่ยวบินเดียวกันแล้วที่นั่งก็ยังว่างค่ะ แต่ก็ไม่ได้ว่างขนาดว่าโล่งโจ้ง แต่ว่างประมาณว่าทุกคนสามารถเลือกนั่งริมทางเดินได้โดยไม่มีใครคนอื่นมาขนาบข้างๆน่ะค่ะ (แต่ทุกแถวก็มีคนนั่งกันหมดนะคะ)


มาถึงนาริตะก็แน่นอนค่ะว่าต้องเจอมาตรการประหยัดไฟ บันไดเลื่อนปิดหลายๆจุด ตรง immigration ก็โล่งดีผ่านได้สบายค่ะ (แต่ปกติเรามีแสตมป์ re-entry ก็เข้าช่อง re-entry คนมักไม่เยอะอยู่แล้วค่ะ เคยมีคนเข้าใจผิดว่า re-entry คือช่องสำหรับคนที่เคยมาญี่ปุ่นแล้ว มาอีกรอบให้เข้าช่องนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เลยนะคะ re-entry นี่คือต้องมีสแตมป์ re-entry ติดอยู่ในพาสปอร์ตเพิ่มจากวีซ่าเลยค่ะ อย่างเราถือวีซ่านักเรียนเดินทางต่างประเทศบ่อยๆก็มีซื้อ multiple re-entry เป็นสแตมป์สี่เหลี่ยมติดอยู่ในพาสปอร์ตค่ะ)


ถึงแม้บันไดเลื่อนจะมีปิดเพราะประหยัดไฟ แต่บันไดเลื่อนที่จำเป็น เช่น แถวที่ต้องลากกระเป๋าเดินทางหนักๆเพื่อไปขึ้นรถไฟ พวกนี้ยังเปิดอยู่นะคะ แต่ก็จะเปิดน้อยลง ถ้าเดิมเคยเปิดสองอันคู่ก็ปิดเหลืออันเดียวอะไรทำนองนี้น่ะค่ะ

ตอนอยู่ไทยอัพเดตข่าวจากเพื่อนๆที่ทยอยกันกลับมาญี่ปุ่น ได้ยินว่า Keisei เปิดแต่แบบ Local จอดทุกสถานีก็เตรียมใจเมื่อยก้นมาแล้วล่ะค่ะ แต่โชคดีตอนเรามาถึง Limited Express มันกลับมาทุก 20 นาทีเหมือนเดิมแล้ว (นั่ง Keisei จากสนามบินนี่อย่าได้พลาดไปนั่งคัน Local เชียวนะคะ ไม่งั้นเมื่อยก้นกันกว่า 2 ชั่วโมงเลยทีเดียว เราเคยพลาดมาทีนึงเข็ดมากค่ะ)


ลงรถไฟที่ Keisei Ueno Stn. เดินลากกระเป๋าสูดอากาศรายทางไป ดีใจไปว่า เย้...เราได้กลับมาแล้ว แต่ปรากฏว่ากลับไปที่ห้องเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันค่ะ...ตู้เย็นเราอีท่าไหนก็ไม่รู้ช่องแช่แข็งอ้าค้างเปิดอยู่ ของสดข้างในเลยต้องทิ้งหมด สุดๆของความเสียดายเลยช่วงนี้ยิ่งควรจะต้องช่วยๆกันใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าอยู่ด้วยค่ะเนี่ย เสียดายไม่พอแถมยังต้องมาแซะน้ำแข็งที่เกาะหนาเป็นภูเขาน้ำแข็งย่อมๆในตู้เย็นจนมือชากันไป(สอง)ข้างเลย

สาเหตก็คิดว่าคงเพราะของในช่องแข็งมันเยอะ(ตู้เย็นเล็กๆน่ะค่ะ) เจอ aftershock ลูกที่แรงๆเข้าไปฝาตู้เย็นก็เลยเปิดผลัวะด้วยประการฉะนี้ (เพราะในห้องพวกลิ้นชักก็โดนเขย่าจนเปิดอ้าค้างอยู่เหมือนกันค่ะ) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก ตอนนี้ไปหาซื้อเข็มขัดมาติดล็อคฝาตู้เย็น รวมถึงลิ้นชัก และ ฝาตู้ต่างๆเรียบร้อยแล้วค่ะ (จริงๆของพวกนี้ดั้งเดิมเค้าเอาไว้กันไม่ให้เด็กเล็กๆไปเปิดตู้เปิดอะไรโดยไม่รู้เรื่องเอาน่ะค่ะ)


หลังจากจัดการตู้เย็นเสร็จก็ต้องจัดโน่นนี่ในห้องเลยยังไม่ได้ออกไปดูอะไรข้างนอกเท่าไหร่ มีแค่รีบจ่ายตลาดแล้วก็กลับบ้านค่ะ ที่อาเมโยโกะก็เห็นคนน้อยๆ แต่เนื่องจากมันเป็นเวลากลางวันวันธรรมดาด้วย ไม่เคยมาเวลานี้เลยไม่แน่ใจว่านี่คือปกติหรือเปล่า (แต่ถ้าเป็นวันหยุด ที่อาเมโยโกะจะแน่นมากจนแทบไหลไปตามคนเลยค่ะ)


เดินไปเจอร้านข้าวปลาดิบร้านนึงในซอกซอกหนึ่ง เห็นเมนูใหญ่ในป้ายนี้แล้วก็อยากจะเห็นของจริงจังค่ะ ของราคา 3980 yen เค้าบอกว่าถ้ากินหมดได้ใน 15 นาทีก็กินฟรีไปเลย ก็ยังสงสัยอยู่ว่าพวกปลา พวกอาหารทะเลมันไม่หนักท้องมากนี่นา คุ้มเหรอเนี่ยที่มีรายการกินฟรีนี้ แต่เนื่องจากไม่มีโอกาสเห็นของจริงสักทีเลยฟันธงอะไรไม่ได้เหมือนกันค่ะ ครั้นจะให้ไปลองเองเลยก็แบบว่ากลัวไม่ไหวน่ะค่ะ


เรื่องของการเดินทางจากไทยมาญี่ปุ่นตอนต้นเดือนเมษาก็ไม่มีอะไรมากค่ะ นอกจากที่ชาวต่างชาติที่เข้าญี่ปุ่นน้อยมากๆ ทั้งๆที่ตอนนี้อยู่ในฤดูซากุระบานแท้ๆ เราเองกลับมาหลังจากจัดการของที่บ้านเสร็จก็ต้องวิ่งโร่ไปปั่นการทดลองที่มหาลัยแล้วล่ะค่ะ ช่วยไม่ได้จริงๆว่าอุปกรณ์พวกนั้นไม่สามารถแบกกลับไปทำที่ไทยได้จำเป็นต้องกลับมาทำนี่เท่านั้น


เรื่องของโรงเรียนและมหาลัย


ตอนช่วงเดือนมีนาที่ตามข่าวจากที่ไทย อาการของโรงไฟฟ้าก็มีแต่ทรงหรือทรุดเท่านั้นค่ะ ปลายมีนาปกติจะเป็นพิธีจบการศึกษาของโรงเรียนและมหาลัยต่างๆ มาปีนี้ก็งดกันไปตามระเบียบค่ะ ที่ Tokyo Univ. งดเรียบวุธ ส่วนที่ Keio Univ. ได้ยินว่าจัดเป็น virtual ceremony แทน ประมาณว่ามีการพูดอวยพรผ่านเน็ตกันแทน ส่วนใบปริญญาก็ไปรับกันเองที่ออฟฟิศค่ะ

แต่ถึงงานรับปริญญาจะยกเลิก แต่คนที่เค้าเตรียมตัวไว้แล้วถึงวันก็ได้ยินว่ายังแต่งฮากามะมาถ่ายรูปที่มหาลัยกันอยู่นะคะ นอกจากนี้แถวๆบริเวณที่ประสบภัย เด็กๆที่โรงเรียนโดนพัดหายไปกับซึนามิแล้วก็มีการจัดพิธีจบการศึกษากันให้ที่ศูนย์อพยพนั่นเลยค่ะ ก็ยินดีปนเศร้าน่ะนะคะเพราะหลายๆคนก็เสียญาติเสียคนรู้จักไปจากเหตุซึนามินั่น แต่ชีวิตใครยังไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อไปค่ะ

ในส่วนของเราระหว่างที่อยู่ไทยก็ค่อยๆได้ข่าวว่ามหาลัยอื่นๆมีเลื่อนเปิดเทอมไปอีกเดือนบ้างอะไรบ้าง ก็รออยู่ว่าคณะเราที่โตไดจะมีเลื่อนกะเค้าบ้างไหมนะ นานวันเข้าจนคิดว่าคงไม่มีเลื่อนแล้วก็ค่อยได้จดหมายมาตามภาพค่ะ (จริงๆเปิดเทอมไม่เกี่ยวกับเราเท่าไหร่ เพราะนักเรียนวิจัยไม่มีปิดเทอมอยู่แล้วค่ะ)


สรุปคร่าวๆว่าเค้าเลื่อนเปิดคลาสจากปกติต้นเมษา ไปเป็นต้นพฤษภา หลังจบ Golden week ไปเลยทีเดียว ไม่พอยังมีบอกอีกว่าในช่วงเดือนเมษานี้ให้นักเรียนเรียนอยู่ที่บ้านไปไม่ต้องมามหาลัย สำหรับเด็กปริญญาโทปีสอง ถ้าอยากมาทำงานต้องได้รับการอนุญาตจากอาจารย์ที่ปรึกษาและ Dean ก่อน สำหรับเด็กปริญญาเอกก็ถ้าไม่มีการทดลองที่จำเป็นต้องทำก็ให้ไม่ต้องมามหาลัยค่ะ

ก็งงๆเหมือนกันค่ะว่าทำไมต้องห้ามมามหาลัยด้วยแฮะ??? ทำยังกะตอนไข้หวัดหมูระบาดแน่ะค่ะว่าไม่ให้มาเพื่อกันการแพร่ระบาด...เอ หรือเพราะต้องการประหยัดไฟ?? แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับอาจารย์ที่ปรึกษาเราเป็นหลักค่ะ อาจารย์บางท่านก็บอกให้นักเรียนอยู่ไทยไปก่อนรอสถานการณ์นิ่งกว่านี้ พร้อมทั้งสแกนหนังสือส่งอะไรไปให้อ่าน(กว่าพันหน้า)ระหว่างอยู่ไทยแทน

แต่สำหรับอาจารย์เราที่มีความคิดว่าที่โตเกียวปลอดภัยดี พวกเรายังสบายกว่าคนประสบภัยเยอะ และพวกเรายังคงมีหน้าที่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ชดเชยเผื่อคนที่ประสบภัยที่แม้อยากทำงานก็ไม่สามารถทำได้ด้วย นักเรียนแล็บเราก็กลับมาทำงานที่แล็บ มีมีตติ้งทุกอาทิตย์เหมือนเดิมตั้งแต่เมษาแล้วค่ะ แถมต้องเขียนรายงานเหตุผลที่ขอมามหาลัยส่งคณะเพื่อการนี้ด้วย

สรุปว่าแต่ละมหาลัยก็ต่างกันไปนะคะ ในขณะที่คณะเราเปิดช้าลง แต่จะให้มีคลาสชดเชยเพิ่มในวันเสาร์แทน มหาลัยอื่นบางมหาลัยก็กลับเลื่อนเปิดให้เร็วขึ้น อัดคลาสเข้าไปแม้แต่ในช่วงหยุด Golden week ด้วย (= อดหยุด) เพื่อว่าจะได้สามารถจบคลาสได้เร็วที่สุดก่อนที่อากาศจะเข้าช่วงร้อนสุดๆแล้วต้องมีการเปิดแอร์ตามห้องเรียนต่างๆค่ะ


เรื่องของโรงไฟฟ้า


ก่อนอื่นดูแผนที่กันก่อนค่ะ โรงไฟฟ้าคือจุด B สีเขียวก็จะเห็นว่าโตเกียวอยู่ห่างลงมาทางใต้ในระยะ 200-250 km ไม่ได้ใกล้โซนอพยพเลยสักนิด ต่อให้คอนเฟิร์มการ meltdown มาแล้วก็ตามโตเกียวก็ยังห่างจากเขตอพยพมาเยอะค่ะ (ข่าวยืนยัน meltdown เพิ่งมีประมาณกลางๆถึงปลายๆ พค นี้เองค่ะ เพราะก่อนหน้านั้นมันไม่สามารถลงพื้นที่เข้าไปสำรวจในโรงไฟ้าเพื่อยืนยันให้แน่นอนได้ และเรื่องสำคัญอย่างนี้ถ้ายังเอาชัวร์ไม่ได้เค้าก็ไม่ประกาศให้คนตกใจไปก่อน)


จะมี "แต่" ก็เรื่องที่ว่าในช่วงฤดูที่เกิดเรื่องนี้ลมจะพัดจากเหนือลงใต้ ดังนั้นก็มีรังสีที่อนุภาคเบาลอยตามลมมาบ้างค่ะ ถ้าดูเว็บรวมผลวัดรังสีทั่วประเทศยิ่งเห็นชัดค่ะ (เช่น //r.diim.jp/) ว่าอย่างจังหวัดที่อยู่ติด Fukushima เลยแต่อยู่ไปทางเหนือระดับรังสีน้อย จะมามากกองๆรวมกันหน่อยก็พวกจังหวัดที่อยู่มาทางใต้นี่ล่ะค่ะ ซึ่งโตเกียวแม้ไม่ได้ติด แต่ก็อยู่ด้านใต้ของฟุคุชิมะเหมือนกันก็เลยได้รังสีมามากกว่าจังหวัดทางเหนือๆค่ะ (เหตุการณ์โรงไฟฟ้านี้ ทำให้แม่นภูมิศาสตร์ญี่ปุ่นขึ้นอีกเยอะค่ะ โดยเฉพาะทาง Tohoku นี่จังหวัดไหนอยู่ไหนจำได้หมดเลย)

พวกอนุภาคเบาที่ว่าลอยตามลมมาได้ ส่วนใหญ่มักเป็น Iodine-131 ที่สถานะเป็นก๊าซ มีครึ่งชีวิตประมาณ 8 วันน่ะค่ะ ซึ่งพวกนี้ถ้าไม่กินหรือสูดเข้าไปในตัว(เยอะๆ) ติดอยู่ภายนอกก็ล้างออกได้ไม่อันตรายขนาดแตะผิวก็ผิวไหม้อะไรอย่างนั้นค่ะ ถ้าพวกที่ครึ่งชีวิตยาวอันตรายหน่อยแถมเบาลอยมาได้ก็ Cesium-134/-137 ค่ะ(เดี๋ยวพูดอีกทีตอนเรื่องน้ำดื่มในบล็อคถัดไปนะคะ) ส่วนพวกสารอันตรายสุดๆประมาณ plutonium ที่ครึ่งชีวิตของมันยาวยิ่งกว่าหนึ่งชีวิตของพวกเรา มันเป็นพวกอนุภาคหนักหน่อยลอยมาถึงโตเกียวไม่ไหว แต่ก็พวกหนักๆนี่ล่ะค่ะที่เป็นเหตุทำให้พื้นที่อพยพนั้นกลายเป็นที่ๆอยู่อาศัยไม่ได้ เพาะปลูกก็ไม่ได้ไปอีกหลายสิบปี

อธิบายหน่อยว่า "ครึ่งชีวิต" คืออะไร คือ พวกสารนิวเคลียร์นี่มันคือสารที่อะตอมไม่มีความเสถียรเหมือนสารปกติ ทำให้มีการคายพลังงานออกมาในรูปการแผ่รังสีอยู่ตลอดเวลา ความอันตรายของมันก็ขึ้นกับสองปัจจัยร่วมกัน คือ ความแรงของรังสีที่ปล่อยออกมา(มีรังสีหลายประเภทค่ะ) และ ระยะเวลา+ปริมาณที่เราได้รับรังสีค่ะ

ในชีวิตประจำวันเรา เช่น พวกบัตรทางด่วน แบบที่วิ่งผ่านเครื่องแล้วก็อ่านค่าบัตรได้จากในรถเราเลย พวกนี้ก็ใช้รังสีค่ะ แต่เป็นรังสีระดับอ่อนๆแค่ใช้กระดาษฟอยล์ห่อไว้ก็กันได้แล้ว แต่ถ้าพวกรังสีที่พลังงานสูงขึ้นอีก ถ้าได้รับเป็นระยะเวลานานติดต่อสะสมกันไปก็เป็นอันตรายในระยะยาวได้ ส่วนพวกรังสีที่แรงสุดๆอันนั้นก็คือ ได้แป๊บเดียวก็ส่งผลเสียได้ทันทีแบบไม่ต้องรอเลยค่ะ

แต่ในขณะเดียวกันสารกัมมันตภาพรังสีพวกนี้เมื่อเวลาผ่านไปมันจะค่อยๆสลายตัวไปตามหลักการที่เรียกว่า "ครึ่งชีวิต" ค่ะ อย่างครึ่งชีวิต 8 วันก็หมายความว่า ผ่านไป 8 วันมันจะสลายตัวเหลือแค่ครึ่งเดียว สมมติตอนแรกมีปริมาณอยู่ 16 แปดวันแรกผ่านไปจะเหลือแค่ 8 อีกแปดวันถัดไปจะเหลือแค่ 4 แล้วอีกแปดวันถัดไปก็เหลือ 2 --> 1 --> 0.5 --> 0.25 --> 0.125 ---> ... แล้วก็ลดลงด้วยอัตรานี้ไปเรื่อยๆค่ะ

ดังนั้นอย่างข่าวที่ออกช่วง มีนา ที่ไทยว่าพบมันฝรั่งจากญี่ปุ่นมีปริมาณรังสี(แต่ยังต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัย) ถ้าตามหลักครึ่งชีวิตก็แปลว่า ขนาดตอนยังไม่สลายยังวัดรังสีได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ถ้ารอไปอีกแปดวันเหลือรังสีครึ่งเดียวยิ่งไม่ต้องกังวลเรื่องกินแล้วอันตรายเลยค่ะ อย่าลืมนะคะว่าพวกเราใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับรังสีพวกนี้อยู่แล้วค่ะ สมัยนี้แทบไม่มีที่ที่ปลอดรังสี 100% แล้ว จะมีก็แต่ที่ที่ปริมาณรังสียังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและปลอดภัยค่ะ

แอบลองหาข้อมูลไว้หน่อยว่า Hanamiyama ภูเขาดอกไม้ที่จังหวัด Fukushima ที่เราคิดอยากไปดูซากุระตอนกลางเมษามันเป็นไงบ้าง ก็จากแผนที่อยู่ที่จุด A สีเขียว ห่างจากโรงไฟฟ้าต้นเหตุประมาณ 60 km ค่ะ ดูในเว็บเค้าตอนมีนาและเมษาก็ยังมีอัพเดตสถานะดอกไม้อยู่เหมือนทุกปีนะคะ ท่าทางที่นี่คงไม่ได้รับความเสียหายจากซึนามิหรือโรงไฟฟ้าโดยตรง แต่ถึงจะอยากไปก็ไปยากค่ะ Shinkansen สาย Tohoku ช่วงเมษาก็ปิดๆเปิดๆไม่สะดวก เพิ่งจะมาเปิดวิ่งเต็มสายก็เมื่อ พค นี้เอง (ถ้าจำไม่ผิดนะคะ) สรุปว่า Hanamiyama ก็แห้วค่ะ (ใบไม้ผลิปีนี้แห้วไปหลายอย่างเลย)


ถ้าใครตามข่าวจะจำได้ว่าประมาณ 12 เมษา มีการประกาศเป็นทางการออกมาว่ามีการยกระดับอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งนี้ขึ้นเป็นระดับ International Nuclear Events Scale (INES) 7 ระดับสูงสุดเดียวกับ Chernobyl ของรัสเซียเมื่อ 1986 แล้วค่ะ
.
.
ก่อนลงรายละเอียด ทวนกันหน่อยนะคะว่าตอนเกิดใหม่ๆฟุคุชิมะเค้าจัดให้อยู่ระดับ INES 4 (Accident with local consequences) หรือ ก็คือส่งผลเฉพาะต่อคนในพื้นที่รอบๆใกล้ๆจุดเกิดเหตุเท่านั้น ก็คือตอนแรกที่ต้องอพยพคนในรัศมี 10-20 km แล้วก็มีแจก Iodine ให้คนในบริเวณนั้นได้ทานกันไว้ก่อนน่ะค่ะ อันนี้ก็เพื่อกัน Iodine-131 ที่เป็นรังสีโดยเฉพาะค่ะ ตัวนี้เป็นตัวที่ถูกปล่อยออกมาเยอะแถมเบาลอยไปได้ไกลอย่างที่อธิบายไว้ก่อนนี้

ปกติคนเราถ้าได้รับ Iodine เพียงพออยู่แล้วร่างกายก็จะไม่รับ Iodine มาสะสมเพิ่ม ดังนั้นการให้ทาน Iodine เม็ด(Iodine ไม่มีรังสี)ไว้ก่อนก็ช่วยกันการสะสมของ Iodine-131 ที่ปนรังสีได้ค่ะ แต่การทาน Iodine นี้ไม่ควรทานเองมั่วๆนะคะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ที่เค้าให้ทานกันนี่ก็เฉพาะคนในวงเสี่ยงสุดๆรอบโรงไฟฟ้าน่ะค่ะ คนที่ห่างมาเยอะถึงได้ Iodine-131 ไป ก็แค่นิดเดียวไม่จำเป็นต้องทานกันไว้
.
.
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวประมาณหนึ่งอาทิตย์ (พิจารณาแยกเตา)ก็ได้รับการยกระดับเป็น INES 5 (Accident with wider consequences) หรือ ก็คือส่งผลในวงกว้าง เท่ากับเหตุ meltdown ที่ Pennsylvania's Three Mile Island เมื่อตอน 1979 ของอเมริกาค่ะ (meltdown คือ พื้นที่โดยรอบในวงกี่สิบ km ก็ว่าไปจะกลายเป็นที่ๆอยู่อาศัยและเพาะปลูกอะไรไม่ได้ค่ะ เพราะสารปฏิกรณ์ที่อันตรายมันหลอมละลายมากองแป้กอยู่ตรงนั้น และอาจมีปนเปื้อนลงไปในดินแถบนั้นด้วย)

จำได้ว่าช่วงที่ยกระดับหนนี้คือช่วงที่ตรวจพบรังสีในอากาศแถบโตเกียวสูงกว่าปกติ(ในบางช่วงเวลา) แล้วก็มีข่าวตรวจพบสารรังสีในน้ำประปาที่โตเกียวน่ะค่ะ หรือก็คือช่วงที่ลมพัดรังสีกระจายออกมา จนตรวจพบได้แม้ในที่ห่างๆนอกวงอพยพมาเยอะนั่นเองค่ะ รัศมีการอพยพก็เพิ่มเป็น 30 - 40 km แล้วด้วย
.
.
หลังจากนั้นผ่านมาจนถึง 12 เมษา หนึ่งเดือนผ่านไป เค้าก็ทบทวนปริมาณรังสีที่ปล่อยออกมารวมจากทั้งสามเตาที่มีปัญหา ในระยะเวลาตลอดหนึ่งเดือน แล้วประกาศยกระดับใหม่เป็น INES 7 (Major accident) ระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมาเท่ากับเชอร์โนบิลแชมป์เก่าตลอดกาล(ถึงปัจจุบัน)ค่ะ

แต่ช้าก่อนนะคะ ระดับ 7 เหมือนกันแต่ใช่ว่าจะอันตรายเท่ากันค่ะ อ้างอิงจากลิงค์เหล่านี้
Japan nuclear disaster tops scale (CNN: April 13, 2011)
Q&A: Is Fukushima as bad as Chernobyl? (CNN: April 13, 2011)
IAEA: Fukushima, Chernobyl Accidents Not Comparable Despite Severity (April 12, 2011)

สรุปว่าสิ่งที่ต่างกันระหว่างเชอร์โนบิลและฟุคุชิมะ คือ

1. ปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการหลังเกิดเหตุเชอร์โนบิลทันที คือต้องจัดการกับ Iodine-131 ที่ไปเกาะตามต่อมไทรอยด์ของผู้คนแถวนั้น(จากการสูดเข้าไป หรือ กินเข้าไป)ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ ตอนนั้นคนที่อยู่ใกล้เชอร์โนบิลก็เป็นคนที่ยากจนไม่มีปัญญาไปหา Iodine แผงๆมากินได้ก็เจอผลกระทบของ Iodine-131 เข้าไปเต็มๆ

แต่ของฟุคุชิมะมีการแจก Iodine ให้คนบริเวณนั้นกินกันไว้ทันที และ จนปัจจุบันก็ยังไม่พบผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนอันเนื่องมาจากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ค่ะ (ที่มีคือ คนที่เข้าไปซ่อมโรงไฟฟ้านี่ล่ะค่ะ ข่าวล่าสุดต้นเดือน มิย เห็นว่ามีตรวจพบ 2 คนที่ได้รับรังสีเกินแล้วจากการที่เข้าไปซ่อมโรงงาน)

2. ในกรณีของเชอร์โนบิลนั้น มีการแผ่กัมมันตรังสีในระดับที่ยากต่อการเข้าไปในบริเวณโรงงานได้จนต้องปล่อยให้โรงงานมันตั้งร้างอยู่อย่างนั้นไปเป็นเวลานาน แต่ในกรณีฟุคุชิมะนั้นแม้แต่ตอนที่ข่าวนี้ออกมาคนก็ยังสามารถเข้าไปในบริเวณโรงงานเพื่อซ่อมแซมระบบได้อยู่(แต่ก็ต้องสวมชุดป้องกันนะคะ)

3. ทาง International Atomic Energy Agency (IAEA) ก็ยืนยันว่าฟุคุิมะต่างจากเชอร์โนบิลมากแม้จะใช้ระดับ 7 เหมือนกัน เมื่อตอนกลางเมษาปริมาณ radioactive ที่ปล่อยออกมา รวมในตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนของฟุคุชิมะยังเป็นแค่ 1/10 ของเชอร์โนบิลค่ะ (อัพเดตข่าวสดๆฟังมา ณ วันที่ 7 มิย 2011 ระดับรังสีรวมของฟุคุชิมะถึงปัจจุบันตอนนี้อยู่ที่ 1/7 ของเชอร์โนบิล)

4. ที่ระดับ 7 เหมือนกัน เชอร์โนบิลอยู่ที่ 7 แบบสุดโต่ง สมมติถ้าอีกหน่อยมีเพิ่มสเกลเป็น 7-, 7, 7+ ก็คือ เชอร์โนบิลคือ 7+ ส่วนฟุคุชิมะอยู่ที่ 7- เหตุการณ์ฟุคุชิมะต้องบอกว่าร้ายแรงมากๆๆๆ แต่ของเชอร์โนบิลต้องใช้คำว่าหายนะเลยค่ะถึงจะเหมาะสม

จากการอ่านข้อมูลทั้งหมด เราสรุปส่วนตัวได้ว่า นิยามของเชอร์โนบิล คือ สั้นๆแต่รุนแรงมาก มีปัญหาแค่เตาเดียวก็จริงนะคะ แต่เพราะแกนปฏิกรณ์ (Genshiro 原子炉) ระเบิดตู้มโดยตรง แถมเป็นในขณะที่เตาปฏิกรณ์กำลังเดินเครื่องทำงานอยู่เต็ม 100% ด้วย ดังนั้นแค่ในระยะเวลาสั้นๆก็ส่งฝุ่นกัมมันตภาพรังสีมหาศาลฟุ้งกระจายไปไกลถึงยุโรปกันเลย

ส่วนที่ฟุคุชิมะนี้ นิยามของมันคือ ทีละน้อย แต่มานานๆ ค่ะ ของที่ฟุคุชิมะแกนปฏิกรณ์ไม่ได้ระเบิดเหมือนเชอร์โนบิล(ที่ระเบิดคือ แก๊ส H2 ทำให้ตัวอาคารระเบิด ไม่ใช่ตัวแกนปฏิกรณ์นะคะ) รังสีส่วนใหญ่ก็อยู่ในตัวตึกตัวอาคารซะมาก(แต่ก็มีรั่วอะไรบ้าง) และ เตาปฏิกรณ์ก็อยู่ในสถานะที่โดนปิดไปแล้ว ที่เป็นปัญหาฉีดน้ำกันอยู่ตอนก่อนนี้ก็คือการ cool down ความร้อนที่ยังหลงเหลืออยู่(= ความร้อน 7% เทียบกับตอนเดินเครื่องอยู่)และซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวรอบแรกสุด ซึ่งรวมถึงการระบายน้ำที่เจือปนกัมมันตภาพรังสีด้วยค่ะ

แต่เนื่องจากที่ฟุคุชิมะมีปัญหาทีเดียวพร้อมกันหลายๆเตา และด้วยผลกระทบจาก tsunami และ aftershock ทำให้การซ่อมแซมเป็นไปได้ยากขึ้น น้ำดื่มก็ขาดแคลนอยู่แล้วก็ยังต้องหาน้ำมา cool down เตา เดี๋ยวๆ aftershock มาอย่างแรงไฟที่อุตส่าห์ต่อไว้ก็หลุดอีก เดี๋ยวๆมีเตือน tsunami พนักงานก็ต้องอพยพไปชั่วคราวแล้วค่อยกลับมาซ่อมต่อไรงี้น่ะค่ะ ไปๆมาๆเลยเป็นเดือนแล้วก็ยังไม่สามารถซ่อมแซมและคุมสถานการณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จซะที

สรุปว่าที่ได้รับยกระดับเป็นระดับ 7 เมื่อตอน เมษา นี่มันไม่ได้แปลว่าสถานการณ์มันอยู่ๆก็เลวร้ายลงกะทันหันนะคะ สถานการณ์มันก็คงตัวทรงๆทรุดๆของมันไปเรื่อยค่ะ แต่เค้าทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมด รวมผลกระทบที่ส่งออกมาจากทุกเตาที่มีปัญหา ในระยะเวลารวมเป็นเดือนแล้ว ก็เลยพิจารณายกระดับไปค่ะ
.
.
.
.
จริงๆเรื่องรังสีมันใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดกันเยอะ เพียงแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดเรื่องนี้เราไม่เคยคิดจะสนใจตรวจสอบกันเท่านั้นเองค่ะ ตอนหาข้อมูลเราเองยังตกใจว่าประเทศที่เราเคยถ่อบินไปเที่ยวนี่ ระดับรังสีเวลาปกติของเค้ามากกว่าระดับรังสีที่โตเกียวตอนไม่ปกติอย่างนี้ซะอีก แต่ตอนนั้นก็ข้ามน้ำข้ามทะเลไป ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลยค่ะ ทั้งกินทั้งเที่ยวทั้งอะไรต่ออะไร ไปช่วยเค้าสูบรังสีกลับมาเท่าไหร่แล้วไม่รู้ค่ะเนี่ย

อย่างข่าวในภาพนี้คือ ตั้งแต่ตอนที่รังสีในอากาศที่โตเกียววัดได้สูงสุดๆ 0.109 microSv/hour เมื่อตอนปลายมีนาแน่ะค่ะ ขนาดตอนนั้นว่ามากแล้ว ก็ยังน้อยกว่าเวลาปกติของ เกาลูน@ฮ่องกง(= 0.14 microSv/hour) และ สูงกว่านิวยอร์ค(= 0.095 microSv/hour) ลอนดอน(= 0.08 microSv/hour) และ สิงคโปร์(= 0.09 microSv/hour) นิดเดียวเท่านั้น แต่ ณ ตอนนี้ค่ารังสีในอากาศที่โตเกียวก็ต่ำลงเป็นแค่ประมาณ 0.06 - 0.07X microSv/hour แล้วค่ะ (ก่อนเกิดเรื่องนี้ ที่โตเกียวระดับรังสีในอากาศจะอยู่แค่ประมาณ 0.03X microSv/hour เท่านั้นค่ะ)

Credit ภาพข่าวจาก //www.businessweek.com/news/2011-04-01/hong-kong-radiation-exceeds-tokyo-even-after-nuclear-crisis.html

เทียบกับที่จีนแล้วยิ่งหนักกว่า จากภาพนี้(เราอ่านจีนไม่ออกแต่เพื่อนบอกมาค่ะ) คอลัมภ์ที่สามจากซ้าย คือ ค่ารังสีที่วัดได้ในเวลาปกติของเค้าอยู่แล้วโดยไม่เกี่ยวกับเหตุโรงไฟฟ้านี้ค่ะ (บอกเผื่อไว้ เดี๋ยวใครจะเถียงว่าลมมันพัดรังสีจากญี่ปุ่นไป) จะเห็นว่าบางที่ขนาดค่าปกติของเค้าก็ยังสูงลิบเลย จนเราเองก็ไม่แน่ใจว่าตรงนั้นนี่มันมีการรั่วไหลของรังสีแต่ไม่เป็นข่าวหรือเปล่า หรือ มีการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดกัมมันตภาพรังสีเหมือนที่อังกฤษ (ในภาพเค้าใช้หน่วย nano ก็แค่เลื่อนทศนิยมไปทางซ้ายสามตำแหน่ง ก็ได้หน่วย micro แบบที่พูดกันมาแต่แรกแล้วค่ะ)

Credit ภาพข่าวจาก //haq.mep.gov.cn/gzdt/201103/t20110323_207392.htm

เพื่อความเข้าใจที่ใกล้ตัวยิ่งขึ้นมีข้อมูลจากไทยให้เทียบด้วยค่ะ ดูกันเลยว่าที่เมืองไทยที่(ยัง)ไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สักโรงนี่ อากาศปลอดภัยหรือเปล่า(ไม่นับเรื่องควันพิษ เพราะอันนั้นคนชินกันแล้ว จนลืมไปว่ามันคือสาเหตุของมะเร็งเหมือนๆกับที่กลัวรังสีกันนี่ล่ะค่ะ เพียงแค่ทำปฏิกิริยากับร่างกายคนละแบบเท่านั้น) เพิ่งไปเจอลิงค์ภาษาไทยของ JEducation บอกไว้ว่า....

Credit ภาพข่าวจาก //www.jeducation.com/news/?p=4885

ข้อมูลทั้งหมดเท่าที่เรารู้ก็ให้ไปหมดแล้วต่อไปก็แล้วแต่วิจารณญาณนะคะ เพราะสำหรับบางคนนี่ก็คือไม่ได้เลย...มีแค่นิดเดียวก็ไม่ได้ สงสัยอยู่ว่าอีกหน่อยดอยอินทนนจะไม่มีคนไทยไปเที่ยวรึเปล่าหนอ ก็ปริมาณรังสีเค้าสูงกว่า กทม ตั้ง 20 เท่า และสูงกว่าโตเกียวถึงเกือบ 14 เท่าแน่ะค่ะ

แต่ถ้าให้เราแนะนำ เราก็อยากบอกว่าคนมาเที่ยวแค่แป๊บๆไม่กี่วัน ไม่กี่อาทิตย์นี่ ระดับรังสีแค่ประมาณๆที่มีกันในประเทศ ในจังหวัดต่างๆ ที่คนเค้ายังอยู่อาศัยกันได้นี่ มันไม่ทันสะสมไปเป็นมะเร็งได้ในอนาคตหรอกค่ะ มะเร็งมันไม่ได้เป็นกันง่ายขนาดที่ว่าแค่เดินผ่านกันแป๊บๆก็เป็นแล้วหยั่งกะติดหวัดกัน แต่มันเกิดจากการค่อยๆสะสมในชีวิตประจำวันเราเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่าค่ะ (บอกก่อนว่าเราไม่ใช่หมอ และไม่เกี่ยวข้องกับสายแพทย์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพแต่อย่างใด แค่คนเรียนวิศวะคนนึงค่ะ)

ดังนั้นที่ต้องห่วงว่าจะก่อมะเร็งให้(ยกเว้น มะเร็งจากกรรมพันธ์) เราว่ามันไม่ใช่สิ่งที่นานๆเราจะเจอสักที แต่ตัวร้ายเลยคือสิ่งที่เราเห็นและใช้มัน อยู่กับมันทุกๆวันนั่นล่ะค่ะ ส่วนคนที่เราคิดว่าสมเหตุสมผลถ้าจะกังวลเรื่องรังสีสะสมก็คือ คนที่ยังต้องอยู่ในสถานที่นั้นอีกนาน เพราะมีโอกาสสะสมได้หลายทางและสะสมได้นานกว่า หรือ คนที่เข้าไปในโซนอพยพรอบโรงไฟฟ้าที่ระดับรังสีสูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยนั่นล่ะค่ะ

กันไว้ดีกว่าแก้ก็จริง แต่ก็อย่าให้ถึงขั้นกระต่ายตื่นตูมเลยนะคะ (อันนี้ก็ท่องบอกตัวเองอยู่ค่ะ เวลาที่เกิดเรื่องให้ตกใจขึ้นมา) เดี๋ยวนี้อันตรายอยู่รอบตัวเราค่ะ จะกินโค้กก็บอกเดี๋ยวกระดูกพรุน...จะกินผักก็บอกมีสารพิษจากยาฆ่าแมลง...ใช้มือถือ(ที่ไทยน่ะค่ะ)ก็สัญญาณแรงโทรไปปวดหัวไปอีกหน่อยสมองจะเป็นไรมั๊ยเนี่ย...ตากแดดแรงก็เดี๋ยวมะเร็งผิวหนัง แล้วก็อีกร้อยแปดพันเก้าค่ะ

ถ้าแค่ใครพูดมาว่าไม่ได้เดี๋ยวเป็นมะเร็ง แล้วก็ใช้คติปลอดภัยไว้ก่อนโดยไม่อิงข้อมูลความเป็นจริงอะไรเลย ชีวิตนี้คงน่ากลุ้มไม่เบานะคะ อะไรๆก็ทำไม่ได้กินไม่ได้ไปซะหมด ยิ่งอยู่กรุงเทพนี่คงไม่ต้องออกมาเดินถนนกันเลยทีเดียวเพราะควันท่อไอเสียคลุ้งซะขนาดนั้น อาหารหรือน้ำร้านรถเข็นก็กินไม่ได้อีกเพราะสะอาดไม่ถึงมาตรฐานกันซะเยอะค่ะ

ส่วนเรื่องผลของโรงงานไฟฟ้าต่อผู้คนในโตเกียวนี่...ตอนนี้เรียบร้อยแล้วค่ะ........

ถ้ายกเว้นผู้คนในเขตประสบภัย เอาแค่คนในโตเกียวรอบๆตัวเรานี่ ทุกคนกลับไปกังวลแต่กับงานๆๆและงานเหมือนเดิมแล้ว ไม่ใช่แต่คนญี่ปุ่นที่มีปฏิกิริยาต่อข่าวโรงไฟฟ้าน้อยลงมากๆๆๆ คนไทยและคนต่างชาติเองขนาดข่าวประกาศยืนยัน meltdown ออกมาอย่างเป็นทางการแล้วตอนกลางๆ พค (เห็นว่าจริงๆเริ่ม melt ไปตั้งแต่ 16 ชั่วโมง หลังแผ่นดินไหว 11 มีนาแล้ว แต่ไม่ได้ไหลหรือรั่วออกมา)

แต่...ไม่มีใครให้ความสนใจเลยค่ะ เห็นข่าวแล้วก็พยักหน้าหงึกหงัก อืมๆ...รู้ไว้ใช่ว่า...แต่มันแบบว่า...งานมันยุ่งน่ะ ขอไม่ตกใจไม่อะไรละกันนะ เสียเวลาทำการทำงานหมด ไม่ทำตอนนี้เดี๋ยวอาจารย์เรา meltdown ขึ้นมาแทนล่ะซวยของแท้ไม่ต้องรอผลอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าเลยค่ะ


อ้อ...ในช่วงอยู่ไทยที่ตามข่าว เห็นว่ามีการประชุมเพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นด้วยค่ะ เห็นแผนที่แล้วมีเยอะเชียว หาเจอกันมั๊ยเอ่ยว่าที่มีปัญหาตอนนี้อยู่ที่ตรงไหน ^^ (ยังไม่ได้ไปเช็คมาเทียบกันนะคะว่าอเมริกา หรือ อังกฤษ มีเท่าไหร่กันบ้าง)

Credit ภาพจาก //blogs.yahoo.co.jp/kazu_room_love2/38080065.html

กำแพงกันซึนามิแต่ก่อนทำไว้ 9 เมตรคิดกันว่าพอเหลือเฟือแล้ว มาเจอรอบนี้ซึนามิมีสูงถึง 22 เมตรเป็นประวัติการณ์(หรือก็คือซึนามิหนนี้เข้าโรงไฟฟ้าโรงไหน โรงนั้นก็ถึงคราวชะตาขาดค่ะ) ก็ต้องมีแผนปรับกำแพงกันใหม่ และ วางตัวสำรองไฟฟ้าให้สูงเหนือพื้นดินกว่า 40 เมตร บลาๆๆ

ช่วงต้น พค มีข่าวว่าโรงไฟฟ้าแถบ Chubu 中部 (ด้านล่างของแถบคันโต) มีการปิดไปบางส่วนเพื่อปรับความปลอดภัยให้ชัวร์ก่อนแล้วค่อยเปิดใหม่ แต่ข่าวนี้ไม่มีผลกับแถบคันโตเพราะไฟจากทางนั้นส่งเข้าคันโตไม่ได้อยู่แล้ว แล้วเค้าสามารถใช้ไฟจากทางโรงไฟฟ้าของแถบคันไซมาช่วยชดเชยส่วนที่ปิดไปได้ค่ะ (ถ้าฟังข่าวไม่ผิดนะคะ)


ส่วนข่าวโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะที่มีปัญหาไม่ต้องแปลกใจนะคะว่าทำไมข่าวมันเยอะจัง เพราะเค้าอัพเดตรายงานความคืบหน้ากันทุกวั๊นทุกวันเลยค่ะ เข้าช่วงข่าวทีไรต้องมีรายงานให้ฟัง ขนาดว่าผ่านมาจะสามเดือนแล้วแต่ก็ไม่มีปล่อยให้เงียบหายไป จนตอนนี้ศัพท์โรงไฟฟ้าหลายคำเริ่มซึมเข้าสู่สมองเราโดยอัตโนมัติแล้วค่ะ

นอกจากข่าวในญี่ปุ่น ก็มีพวกข่าวเก็บตกเกี่ยวกับการต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศอื่นๆ (ในโตเกียวก็มีอยู่แป๊บนึงค่ะ) เช่น อินเดีย เกาหลี แถมเห็นข่าว NHK มีสัมภาษณ์นายกอภิสิทธิ์ด้วย บทสัมภาษณ์ก็ประมาณว่าโรงแรกที่ไทยวางแผนไว้ 2020 ซึ่งก็อีกนานค่ะ ไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่แล้ว ตอนนี้แค่เอาตัวรอดจากกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าไปให้ได้เป็นพอ

แต่ส่วนตัวเราคิดว่า ณ ตอนนี้พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่ฟังดูดีมีอนาคตมากที่สุดแล้ว โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ขาดไฟฟ้ากันแล้วแทบไม่เป็นอันทำอะไรกันเลย ถ้าไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมันถือเป็นพลังงานที่สะอาดก่อมลภาวะน้อยกว่าวิธีอื่น ผลิตไฟได้มากด้วยต้นทุนต่ำ แถมไฟฟ้าก็ผลิตได้แบบไม่มีขาดตอนด้วย เทียบกันกับ...

ใช้น้ำมัน...ที่ราคาแพงขึ้นทุกวันแถมจะหมดโลกในอีกกี่ปีก็ไม่รู้ค่ะเนี่ย กว่าจะเกิดน้ำมันได้ฟอสซิลหมักกันมาไม่รู้กี่ร้อยปีกี่พันปี แต่ตอนนี้อัตราการใช้ล้ำหน้าอัตราการเกิดน้ำมันไปแบบไม่เห็นฝุ่น อีกอย่างการเผาไหม้น้ำมันก็ทำให้เกิดมลภาวะอย่างที่รู้ๆกันค่ะ

พวกถ่านหินยิ่งแล้วใหญ่...ต้นไม้จะไม่เหลือให้ตัดอยู่แล้วแถมเผาทีก็ควันพิษฟุ้งเชียว

หรือ พวกพลังลมพลังน้ำดูสะอาดธรรมชาติดี...แต่ก็มาไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวมีเดี๋ยวไม่มี...เอาไปปั่นไฟก็คงเดี๋ยวติดเดี๋ยวดับตามแต่ฟ้าจะประทานมานั่นล่ะค่ะ

พลังงานแสงอาทิตย์ล่ะ...ฟังดูดีนะคะสำหรับประเทศแดดเยอะอย่างไทย...แต่เอาเข้าจริงแล้วโซลาเซลล์ปัจจุบันยังราคาแพง...แถมกำลังการผลิตไฟก็ไม่ได้เยอะอย่างที่คิดกัน...ถ้าจะให้ใช้ไฟกันได้เท่าปัจจุบันค่าไฟคงพุ่งพรวดล่ะค่ะ คำถามก็คือ ยอมกันจริงๆเหรอ...ปลอดภัยแต่แพงน่ะ?

อย่างเราก็ได้แต่พูดจากข้อมูลที่อ่านมาจากหลายแหล่ง แต่รายการทีวีญี่ปุ่นเค้าเจ๋งกว่านั้นค่ะ สำรวจข้อมูลมาสรุปวาดกราฟอะไรให้เสร็จสรรพเลย กราฟทางขวาในภาพล่างนี่ล่ะค่ะ คือ ราคาที่ใช้ในการผลิตไฟด้วยวิธีต่างๆ (เราไม่ทันดูมานะคะว่าราคานี้คือต่อหน่วยการผลิตไฟเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าเป็นต่อหนึ่งหน่วยการผลิตเดียวๆกันค่ะ)


กราฟทางขวาในภาพบนแปลได้ดังข้างล่างนี้ค่ะ ...
太陽光 Taiyo-hikari พลังงานแสงอาทิตย์ 49 yen
風力 Fu-ryoku พลังลม 10-14 yen
水力 Sui-ryoku พลังน้ำ 8-13 yen
火力 Ka-ryoku พลังความร้อน 7-8 yen
原子力 Genshi-ryoku พลังนิวเคลียร์ 5-6 yen
ปล. พลังความร้อนที่ว่าน่าจะหมายถึง การเผาไหม้ด้วยเชื้อเพลิงอย่างถ่านหิน น้ำมัน หรือ ก๊าซธรรมชาติ(มั้ง)นะคะ

... ชัดเลยว่านิวเคลียร์ถูกสุด และพลังงานแสงอาทิตย์นำโด่งแพงลิบลิ่วเลยค่ะ อย่างนี้จะให้ใช้จริงที่ไทยได้ยังไง แต่คำถามก็คือ ค่าความเสียหายในกรณีเกิดอุบัติเหตุล่ะ..เป็นเท่าไหร่กันบ้าง? (อันนี้เห็นในรายการทีวีพูดถึงอยู่ แต่เราไม่เห็นข้อมูลสรุปเปรียบเทียบเลยค่ะ ไม่รู้ยังสรุปตัวเลขไม่ได้หรือเค้าพูดแล้วแต่เราพลาดไปเองนะคะ)

ดูจากพลังงานทางเลือกเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน สรุปแล้วสำหรับเราคิดว่ายังไงสักวันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็คงต้องมีเพิ่มขึ้นค่ะ (นอกจากในอนาคตจะมีพลังงานทางเลือกใหม่ที่ดีกว่านี้และได้ผลจริงไม่ใช่แค่ในทางทฤษฏี) แต่ในช่วงหลายปีนี้ไม่ว่าประเทศไหนก็คงเพิ่มยากถึงยากมากกกก เพราะคนกำลังตื่นตัวกับเหตุการณ์ Fukushima กันอยู่ ... แม้แต่ประธานาธิบดีโอบาม่าที่ก่อนนี้เคยบอกว่าจะสร้างเพิ่มอยู่ ตอนนี้ก็พับแผนที่ว่าเก็บไปเลยค่ะ

แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าให้ใช้ไฟกันฟุ่มเฟือย พอไฟไม่พอแล้วก็ตะบี้ตะบันสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไปเรื่อยๆนะคะ ประหยัดไฟน่ะมันชัวร์อยู่แล้ว แต่ดูตามประวัติศาสตร์มนุษยชาติมันก็เห็นอยู่แล้วน่ะค่ะ ว่าความก้าวหน้าในวิวัฒนาการมันมาพร้อมกับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อการพัฒนาไม่มีวันหยุด ต่อให้ประหยัดยังไงปริมาณการใช้ไฟมันก็ค่อยๆเพิ่มขึ้นอยู่ดีล่ะค่ะ

ช่วยกันค้านช่วยกันตรวจสอบสอดส่องเพื่อความปลอดภัยน่ะมันดีค่ะ ใครจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เค้าจะได้ไม่สร้างมาชุ่ยๆ แต่หากในอนาคตเกิดเหตุที่กำลังการผลิตไฟไม่พอจนเป็นปัญหาระดับชาติขึ้นมาจริงๆจังๆ ถึงตอนนั้นก็ขอแค่อย่าค้านกันไม่ลืมหูลืมตา ไม่ฟังเหตุผล ไม่ดูข้อมูลข้อเท็จจริง อะไรๆก็ไม่ๆๆตลอด นิวเคลียร์ไม่เอา...ค่าไฟแพงขึ้นก็ไม่ได้...ให้ประหยัดไฟก็ไม่ร่วมมือ(แบบลงมือทำจริงๆไม่ใช่แค่พูด)...ขอดับไฟก็ไม่ยอมอีก แล้วสรุปว่าจะให้ทำยังไงล่ะคะเนี่ย ...

จะค้านอะไรก็อย่าไปยึดติดกับอุดมคติมากไปนัก..โลกเราไม่ใช่ยูโธเปียนะคะที่อะไรๆก็จะดีเลิศสมบูรณ์แบบไร้ความเสี่ยงไม่มีข้อด้อยไปได้ซะหมด ถ้าถึงเวลาต้องถกกัน(ไม่ใช่ทะเลาะกันนะ)เราก็อยากให้ถกกันบนหลักการของความเป็นจริง ข้อดีข้อเสียมียังไงก็แจงกันมาโดยมีหลักฐานสนับสนุน มีเหตุผลน่าเชื่อถือหน่อยน่ะค่ะ ลงท้ายหลักฐานใครแน่นกว่า มีเหตุมีผลสมควรมากกว่า ชั่งน้ำหนักแล้วมีข้อดีมากกว่าข้อเสียคนนั้นก็ชนะไป

ไม่ใช่ว่าเอาข่าวลือโคมลอย ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง ความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานใดๆสนับสนุนมาเป็นเหตุผลในการค้านลูกเดียว ..... ถ้าแบบนี้นี่..เพลียแทนคนที่จะต้องลงไปเถียงด้วยจริงๆค่ะ ถ้าเห็นท่าทางว่าคนที่จะถกด้วยเป็นแนวนี้ล่ะก็ เราคนนึงที่ขอเลือกจะรูดซิปปิดปากเงียบ ไม่เถียง ไม่แจงเหตุผล ไม่ให้ข้อมูล ไม่ขออะไรด้วยเลยค่ะ รู้สึกว่ามันจะเป็นการเหนื่อยมากเกินไป(แถมมีท่าว่าจะเหนื่อยฟรีๆอีกด้วย)


เรื่องของไฟฟ้า


เรื่องของ Keikaku-teiden 計画停電 หรือ Scheduled Blackout ที่กำหนดกลุ่มพื้นที่เป็นห้ากลุ่ม แล้วดับไฟทุกวันตามเวลาที่กำหนดกลุ่มละ 3 ชั่วโมง (บางที่โดนจัดเข้าไปทีสองกลุ่ม ก็ดับไปวันนึง 6 ชั่วโมงเลยค่ะ) ตอนประกาศดับไฟใหม่ๆเราก็คิดแต่ว่าถ้าเราโดนดับของในช่องแข็งเราจะเป็นไรไหมนะ(แต่ตอนนั้นอากาศยังหนาวอยู่ค่ะ) ฟังดูแล้วก็ไม่เดือดร้อนรุนแรงเท่าไหร่แค่ไม่ค่อยสะดวกสบายเหมือนเดิม

แต่ช่วงที่กลับไทยไป(กลางถึงปลายมีนา) ตามข่าวจาก NHK ก็ค่อยเข้าใจค่ะว่าการดับไฟทุกวันๆเนี่ยมันส่งผลกระทบมากแค่ไหน โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมนี่ผลกระทบมันรุนแรงอย่างที่เราไม่คาดคิดเลยค่ะ เช่น ข่าวโรงงานทำขนมปังที่ปกติเครื่องเดิน 24hr แถมตอนช่วงมีนานั้นต้องรีบผลิตรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เจอดับไฟแค่สามชั่วโมงก็จริง แต่ด้วยขั้นตอนในการเตรียมและอะไรต่างๆ ก็กลายเป็นว่าวันนึงเค้าต้องหยุดสายพานการผลิตถึงหกชั่วโมงเพื่อการนี้ และก็เป็นอย่างนี้ไปทุกวันๆที่โดนดับไฟ

หรืออย่างโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์ที่ต้องการไฟฟ้าต่อเนื่องหลายวันเพื่อการผลิต ก็พลอยไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนตามออเดอร์ได้เพราะ Scheduled Blackout นี่ล่ะค่ะ สรุปว่า Scheduled blackout นี่มันไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่เราและหลายๆคนเคยคิดกันเลยนะคะ ส่งผลถึงขั้นการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมและการผลิตเลยทีเดียว ในระดับธุรกิจรายย่อยอย่างร้านขายอาหารต่างๆ ก็มีปัญหากับการเก็บรักษาของสดที่ต้องการความเย็นอีกค่ะ

ตอนที่เรากลับมาญี่ปุ่นตอนต้นเมษา Scheduled Blackout ก็ไม่มีแล้ว แต่เรื่อง Setsuden 節電 หรือ ประหยัดไฟยังมีอยู่ค่ะ ร้านอาหารหรือร้านสะดวกซื้อจะดูมืดกว่าปกติหน่อย ประมาณเปิดไฟดวงเว้นดวง / บางตึกปิดลิฟท์ให้เดินขึ้นบันไดเอา / บันไดเลื่อนในสถานีรถไฟปิดบางอัน(แต่อันที่จำเป็น หรือลิฟต์ก็ยังเปิดอยู่นะคะ) / ตู้ขายตั๋วรถไฟบางตู้ปิด / ไฟของตู้ขายน้ำอัตโนมัติก็ปิด(แต่ยังกดน้ำได้อยู่) / ร้านอาหารนอกจากพวกร้าน 24hr ก็ปิดไวกว่าแต่ก่อน และเมนูไม่มีให้เลือกมากนัก / โรงอาหารมหาลัยก็เปิดแค่มื้อกลางวัน

เรื่องประหยัดไฟก็ดำเนินมาเรื่อยและคงเป็นงี้ไปอีกเป็นปี(หรือหลายปี)ล่ะค่ะ ช่วง พค อากาศไม่ร้อนไม่หนาวบางอย่างเลยหย่อนไปได้ ร้านต่างๆที่เราเห็น ณ ตอนนี้เปิดไฟในร้านกันสว่างเหมือนปกติแล้วนะคะ / บันไดเลื่อนบางอันที่เคยเห็นปิดก่อนหน้านี้ก็มีเปิดกลับมาบ้าง(แต่ก็ไม่ทั้งหมดนะคะ) / พวกไฟป้ายชื่อดึกหรือร้านค้าเราก็เห็นเปิดบ้างแล้วค่ะ(แต่ไม่เปิด 100% จนสว่างไสวเท่าแต่ก่อน) / โรงอาหารที่มหาลัยเราก็เห็นเปิดยาวเหมือนปกติ เมนูก็มีเท่าๆกับปกติเลยค่ะ


ที่มหาลัยเรา เมื่อตอนต้นเมษากลับมาก็เจอปิดลิฟต์บางตัว(แต่ตอนนี้เปิดเทอมเป็นทางการแล้ว ลิฟต์ทุกตัวกลับมาเปิดใช้แล้วค่ะ) ปิดเตาไฟฟ้าส่วนกลางไม่ให้ใช้(ปัจจุบันก็ยังปิดอยู่) ถอดปลั๊กเครื่องอุ่นฝาส้วมออกเป็นต้นค่ะ


นอกจากนี้เรื่องประหยัดไฟก็ส่งผลให้ตู้ ATM สาขาเล็กๆต่างๆถูกปิดไม่ให้ใช้บริการไปด้วยค่ะ Post Office สาขาใหญ่หน้ามหาลัยเราที่แต่ก่อนเปิดทุกวันถึงดึกดื่น เดินไปกดเงินกันสบายๆ ตอนนี้แค่ 17-18:00 ก็ปิดให้บริการแล้วค่ะ แต่มันก็ช่วยไม่ได้นะคะ สถานการณ์แบบนี้ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันจะเอาแต่ให้สะดวกสบายได้เหมือนเมื่อก่อนมันก็ไม่ได้น่ะค่ะ (ล่าสุดกลางเดือน มิย ไปอีกทีป้ายที่บอกเวลาว่าจะปิดเร็วกว่าปกติที่ Post office นี้หายไปแล้วค่ะ)


เมื่อต้นเมษานี่ ATM สาขาเล็กๆหลายสาขาโดนปิดให้บริการไปเลยค่ะ ต้องเดินกันไกลหน่อยเพื่อไปโอนเงินอะไรกันตามสาขาใหญ่ๆ แต่ตั้งแต่ปลาย พค มานี้ก็ทยอยกันเปิดกลับมาแล้วค่ะ แต่ก็จะมีจำกัดระยะเวลาเปิดทำการให้สั้นลงกว่าปกติแทน

อีกหนึ่งผลกระทบจากการดับไฟ คือ เรื่องการคมนาคมขนส่งค่ะ โดยเฉพาะรถไฟนี่ตัวดีเลย ตอนที่ไฟไม่พอหนักๆรถไฟในโตเกียวหยุดวิ่งไปเพียบ จะไปไหนทีต้องเข้าเว็บดูประกาศของบริษัทรถไฟนั้นๆกันรายวันเลยว่าสายไหนวิ่งบ้าง และวิ่งกันถึงกี่โมง พวกรถด่วน(ที่ไม่หยุดทุกสถานี)ก็น้อยลงเยอะเหลือเป็นพวก Local แทน การส่งของในญี่ปุ่นที่ปกติส่งวันนี้พรุ่งนี้ได้(กรณีอยู่จังหวัดเดียวกัน) หรือ อยากให้ส่งถึงเวลาไหนก็สั่งได้เป๊ะๆ ก็กลายเป็นต้องเผื่อดีเลย์ไว้ไม่สามารถระบุเวลาแน่นอนได้ค่ะ

แต่ ณ เวลานี้เรื่องคมนาคมขนส่งเราเห็นว่ามันกลับมาเกือบปกติแล้วล่ะค่ะ รถไฟปกติวิ่งกันเยอะๆในโตเกียวกลับมามีรอบเรื่อยๆวิ่งถึงเที่ยงคืนเหมือนเดิมแล้ว แต่ถ้าเป็นพวกรถด่วนแบบพิเศษๆแนวๆชินคันเซนที่เน้นวิ่งไกลๆข้ามจังหวัดอะไรพวกนี้ รอบจะลดลงกว่าแต่ก่อนค่ะ (ถ้าพลาดรถด่วนๆพิเศษพวกนั้นไปก็ต้องนั่งรถไฟธรรมดา ถึงช้าหน่อย ที่นั่งไม่ค่อยสบาย แต่ถูกกว่านะคะ)

ยังไงก็ตามปัญหาไฟไม่พอในหน้าร้อนที่กำลังคืบคลานมานี้(แล้วอาจยาวไปถึงหน้าหนาวและหน้าร้อนถัดๆไป) ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอลุ้นค่ะว่าเค้าจะจัดการกันยังไง จะโดนดับไฟหรือไม่ยังไงแค่ไหน ซึ่งก็ได้ข่าวว่า TEPCO ยื่นขอเงินกู้ฉุกเฉินไว้เตรียมวางแผนรับมือกันบ้างแล้ว

ช่วง พค มีบางวันโตเกียวอุณหภูมิมีขึ้นถึง 27 องศา ทำให้การใช้ไฟวันนั้นพุ่งไป 90% ของกำลังการผลิต บางวันเริ่มรู้สึกร้อนอบอ้าวอยากจะเปิดแอร์บ้างแล้วแต่ก็ยังทนไม่เปิดกันค่ะ (CO-OP ชั้นใต้ดินในมหาลัยก็ยังไม่เปิดแอร์ วันที่ร้อนๆนั้นเข้าไปแล้ว อย่างอบอ้าวเลย ) ยังไม่ได้ร้อน max ขนาดผิวไหม้เหมือนตอน สค แต่ก็เริ่มรู้สึกว่าคนรอบข้างแผ่รังสีความร้อนออกมาได้แล้วน่ะค่ะ (มิย นี้ก็เริ่มร้อนหลายวันแล้วค่ะ ช่วงไหนพายุฝนเข้าก็เย็นลง เผลอๆบางทีก็เย็นลงทีเดียว 10 องศาเลยค่อนไปทางหนาวนิดๆค่ะ)


มาตรการและสินค้าประหยัดไฟ หรือ สำรองไฟ หรือ สำหรับใช้เวลาไฟดับ(防災グッズ Bosai-guzzu) สำหรับหน้าร้อนนี้ก็ทยอยกันออกมาเป็นซีรี่ย์เลยค่ะช่วงนี้ มีน่าสนใจหลายอย่างเลย เรามีรวบรวมไว้แต่ขอแยกไว้เป็นบล็อคอื่นละกันนะคะ แบบว่ามันมีหลายอย่าง

นอกจากนี้ก็ได้ฟังข่าวแว้บๆด้วยว่าหลายบริษัท มีการวางแพลน(บางแห่งก็เริ่มทำไปแล้ว)เปลี่ยนวันหยุด แทนที่จะเป็นเสาร์อาทิตย์ก็เปลี่ยนไปวันอื่นแทน เพื่อเป็นการถัวเฉลี่ยการใช้ไฟที่สูงในวันทำงานลงไปวันอื่นแทนค่ะ ก็เห็นว่าร้านอาหารแถบใกล้เคียงที่พึ่งลูกค้าจากบริษัทเหล่านั้นเป็นหลักก็อาจต้องเปลี่ยนวันหยุดตามกันไปด้วย

ที่แน่ๆอย่างนึงคือ หน้าร้อนปีนี้งาน Hanabi หรือ ดอกไม้ไฟหน้าร้อน มีประกาศยกเลิกออกมาหลายที่แล้วค่ะ (โชคดีว่าปีก่อนใส่ยูกาตะใหม่ไปถ่ายรูปไว้เยอะแล้ว ขาดแต่รูปยูกาตะแบบมี Hanabi เป็นแบ็คชัดๆ) ก็ไม่รู้ว่าลงท้ายจะเหลือจัดสักกี่งานบ้างนะคะ เสียดายเหมือนกันค่ะ เราเองก็ไม่ได้ฟังสาเหตุการยกเลิกมาชัดๆนะคะ แต่เดาเอาว่าน่าจะมีส่วนจากเหตุผลเหล่านี้ :
- งด matsuri เพื่อไว้ทุกข์กับผู้เสียชีวิต
- งานนี้ใช้งบเยอะ (ได้ยินว่าจุดดอกไม้ไฟลูกนึงใช้เงินประมาณแสนเยน งานเล็กๆก็จุดกัน 2000 กว่าลูกแล้ว งานใหญ่ยิ่งจุดกันเป็นหมื่นสองหมื่นลูกเลยค่ะ)
- หน้าร้อนมีแนวโน้มจะมีปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอในแถบคันโต คนมารวมกันเยอะๆอาจให้บริการรถไฟ ห้องน้ำ และ อะไรต่างๆโดยเฉพาะในเหตุฉุกเฉินไม่ได้





สำหรับบล็อคนี้หมดแค่นี้นะคะ แค่นี้ก็ยาวเฟื้อยยยยยยยยยแล้ว ใครไม่รักการอ่านจริงไม่น่าจะอ่านจบได้นะคะเนี่ย เรื่องแผ่นดินไหวและอาหารน้ำดื่ม ขอยกไปบล็อคหน้านะคะ


รวมลิงค์บล็อคสรุปสถานการณ์

1. @Tokyo เรื่องนู้นเรื่องนี้เรื่องนั้น สถานการณ์ต่างๆตั้งแต่กลับมาโตเกียว :: เรื่องโรงเรียน โรงไฟฟ้า และ ไฟดับ
2. @Tokyo เรื่องนู้นเรื่องนี้เรื่องนั้น สถานการณ์ต่างๆตั้งแต่กลับมาโตเกียว :: เรื่องเกี่ยวกับแผ่นดินไหว และ ของกิน


--------------------------------------------------------------

รูปในนี้(นอกจากที่แค็ปเว็บมา)มาจาก Sony Alpha NEX-5 + Alpha E 18-55mm OSS ที่กลายเป็นกล้องห้อยติดตัวเราล้วนๆค่ะ ย่อ usm ใส่โลโก้ไม่ค่อยได้แต่งอะไร


>> คลิกเพื่อดูรายการบล็อคอัพใหม่ทั้งหมด



Create Date : 04 มิถุนายน 2554
Last Update : 22 มีนาคม 2556 19:02:56 น. 4 comments
Counter : 4063 Pageviews.

 
ขยันเขียนจริง ๆ เลยค่ะ คนอ่านยังเมื่อยเลย
ขอชมจากใจค่ะ


โดย: Hula Girl IP: 66.91.212.254 วันที่: 5 มิถุนายน 2554 เวลา:9:50:09 น.  

 
สวัสดีค่ะ อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยค่ะ (ถึงจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องรังสีมากนัก) ขอบคุณสำหรับบลอกดีๆนะคะ


โดย: keng_toshi (keng_toshi ) วันที่: 5 มิถุนายน 2554 เวลา:10:53:01 น.  

 
ชอบมากเลย เขียนได้ละเอียดมากขอชมจากใจจริง เขียนต่อไปนะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ ^^


โดย: cookie IP: 183.89.107.127 วันที่: 12 มิถุนายน 2554 เวลา:18:13:04 น.  

 
ได้อ่านเรื่องที่เขียนแล้วสนุกมากค่ะ เหมือนได้ติดตามอยู่ในเหตุการ์ณด้วยเลย เสียดายจังค่ะ คิดว่าเจ้าของกระทู้คงไม่ว่างมาเขียนแล้ว อยากติดตามผลงานดีๆอย่างนี้ต่อไปค่ะ


โดย: kt IP: 14.207.3.58 วันที่: 9 ธันวาคม 2557 เวลา:22:16:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

White Amulet
Location :
Bangkok Thailand / Tokyo Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]




บล็อคนี้ถึงไม่ค่อยมีอะไรแต่ถ้าจะก๊อปปี้ข้อความหรือรูปอะไรไปโพสที่อื่น ก็รบกวนช่วยใส่เครดิตลิงค์บล็อคนี้ไว้ด้วยนะคะ

เราไม่สงวนลิขสิทธิ์การนำภาพและข้อความในบล็อคไปเผยแพร่(ในแบบที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์)แต่สงวนลิขสิทธิ์ความเป็นเจ้าของภาพถ่ายและเนื้อหาค่ะ

ค้นหาทุกสิ่งอย่างในบล็อคนี้

New Comments
Friends' blogs
[Add White Amulet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.