จิปาถะ

wj42
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เช็คกล่องข้อความหลังไมค์

รวม Links แยกหมวดหมู่









Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add wj42's blog to your web]
Links
 

 

Time Zone

การแบ่งเขตเวลาและอักษรย่อ [TIME ZONES]
ในบางครั้งเราอาจเห็นการบอกเวลาพร้อมมีอักษรย่อของเขตเวลากำกับ ยกตัวอย่างเช่น Time: 02.45 ICT หมายความว่าเป็นเวลา ตีสอง สี่สิบห้านาที ณ เขตเวลาอินโดไชน่า หรือเวลาประเทศไทย
โดยการแบ่งเวลาของโลกจะแบ่งออกเป็น 24 เขต แต่ละเขตมีความกว้าง 15 องศาลองจิจูด หรือ เวลา 1 ชั่วโมง (จาก : โลกหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 24 ชั่วโมง เป็นมุม 360 องศา เอา 24 ไปหาร 360 จะได้ว่าโลกหมุนไปได้ชั่วโมงละ 15 องศา)

โดยเขตแรกมีเส้นเมอริเดียนแรก หรือเมอริเดียน 0 องศา GMT (Greenwich Mean Time) หรือ UT (Universal Time) ผ่านเมืองกรีนิชเป็นแกนกลาง เขตเวลาของโลกจะนับตามลองจิจูดใดก็ตาม ถ้านับไปทางตะวันออก จะเร็วกว่าทางตะวันตก (+GMT หรือ +UT) และถ้านับไปทางตะวันตกจะช้ากว่าเวลาทางตะวันออก (-GMT หรือ -UT)
ซึ่งการแบ่งเขตเวลาและตัวอักษรย่อแสดงในตารางด้านล่างนี้
















































































































































































































































































































































































































































Time
Zone
Time
Zone Description
UT
difference
ACDT Australia Central Daylight Time UT +10:30
ACST Australia Central Standard Time UT +9:30
ADT Atlantic Daylight Time UT-3:00
AST Atlantic Standard Time UT-4:00
AT Azores Time UT-1:00
AWST Australia Western Standard Time UT+8:00
BST British Summer Time UT+1:00
BST Brazil Standard Time UT-3:00
BT Baghdad Time UT+6:00
BTT Bhutan Time UT+6:00
CAT Central Africa Time UT+2:00
CCT China Coast Time UT+8:00
CDT Central Daylight Time (USA) UT-5:00
CDT Central Daylight Time (Australia) UT+10:30
CEST Central Europe Summer Time UT+2:00
CET Central Europe Time UT+1:00
CKT Cook Islands Time UT-10:00
CLST Chile Summer Time UT-3:00
CLT Chile Time UT-4:00
COT Colombia Time UT-5:00
CST Central Standard Time (USA) UT-6:00
CST Central Standard Time (Australia) UT+9:30
CST China Time UT+8:00
CST Cuba Standard Time UT-4:00
CUT Coordinated Universal Time -
ECT Esuador Time UT-5:00
ECT Eastern Caribbean Time UT-4:00
EMT Norway Time UT+1:00
EST Eastern Standard Time (USA) UT-5:00
EST Eastern Standard Time (Australia) UT+10:00
EST Eastern Brazil Standard Time UT-3:00
FST French Summer Time UT-2:00
GMT Greenwich Mean Time -
GST Guam Standard Time UT+10:00
GST Gulf Standard Time UT+4:00
GST Greenland Standard Time UT-3:00
GT Greenwich Mean Time -
HFE Heure Francais d'Ete UT+2:00
HST Hawaiian Standard Time UT-10:00
ICT Indochina Time UT+7:00
IST Irish Summer Time UT+1:00
IST Israeli Standard Time UT+2:00
IST Iran Standard Time UT+3:30
IST Indian Standard Time UT+5:30
IT Iran Time UT+3:30
JST Japan Standard Time UT+9:00
KDT Korean Daylight Time UT+10:00
KST Korean Standard Time UT+9:00
LST Local Sidereal Time -
MDT Mountain Daylight Time (USA) UT-6:00
MST Mountain Standard Time UT -7:00
MPT North Mariana Islands Time UT+10:00
MSD Moscow Summer Time UT+4:00
MSK Moscow Time UT+3:00
MT Moluccas UT+8:30
MUT Mauritius Time UT+4:00
NST Newfoundland Time UT+3:30
NST North Sumatra Time UT+6:30
PDT Pacific Daylight Time (USA) UT-7:00
PMT Pierre and Miquelon Standard Time UT-3:00
PNT Pitcairn Time UT-8:30
PST Pacific Standard Time (USA) UT-8:00
PST Pakistan Standard Time UT+5:00
SST Swedish Summer Time UT+2:00
SST Singapore Standard Time UT+8:00
TMT Tukmenistan Time UT+5:00
TST Turkish Standard Time UT+3:00
UT Universal Time -
WST Western Standard Time (Australia) UT+8:00
WST Western Brazil Standard Time UT-4:00
WST West Samoa Time UT-11:00


อ้างอิงตารางจาก : //www.computerhope.com/jargon/t/time.htm




 

Create Date : 03 มีนาคม 2550    
Last Update : 3 มีนาคม 2550 10:23:32 น.
Counter : 739 Pageviews.  

เทคนิคการล่าแมวน้ำของวาฬเพชรฆาต (clip)

วาฬเพชรฆาตสอนเทคนิคล่าแมวน้ำให้กับตัวลูกๆ (สอนเทคนิคเฉยๆ แต่ไม่กินแฮะ แปลกดี)




 

Create Date : 01 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2549 23:31:20 น.
Counter : 688 Pageviews.  

29 เรื่องที่มักเข้าใจผิด ของคนใช้รถ

บทความนี้นำมาจากเวปจับฉ่ายครับ
//www.jabchai.com/main/main_joke.php?type=sto
มีทั้งสาระ บันเทิง หลากหลายสมชื่อจริงๆ
ลองแวะเข้าไปดูกันนะครับ
----------------------------

Source - นิตยสารฟอร์มูลา

การใช้รถอย่างถูกต้อง และดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ช่วยให้ประหยัดและยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น พฤติกรรมผิดๆ ของผู้ใช้รถ ซึ่งอาจส่งผลเสียกับรถยนต์ทันที หรือแสดงผลในภายหลัง ส่วนใหญ่เกิดจากความเข้าใจผิด โดยเฉพาะใน 29 เรื่องต่อไปนี้



ผิด 1. "สตาร์ทแล้วออกรถได้เลยไม่ต้องอุ่นเครื่อง"

ถูก...อุ่นเครื่องยนต์สักหน่อยก่อนออกรถจะดีกว่า

เมื่อเครื่องยนต์ทำงานขณะที่ยัง "เย็น" อยู่ เช่น ขณะออกรถจากบ้านไปทำงานตอนเช้า หรือติดเครื่องยนต์เมื่องานเลิกเพื่อกลับบ้าน ไอของเชื้อเพลิงที่เข้มข้นจะเกาะผนังกระบอกสูบ และละลายปนกับฟีล์มน้ำมันเครื่องที่ฉาบผนังอยู่ ทำให้การหล่อลื่นแหวนลูกสูบกับผนังกระบอกสูบไม่เพียงพอ สร้างความสึกหรอในเครื่องยนต์มากกว่า ปกติ นอกจากนี้ทั้งเชื้อเพลิงที่ระเหยไม่หมด และไอน้ำที่เกิดจากการเผาไหม้ขณะเครื่องยังเย็นนี้ ยังละลายปนอยู่ในน้ำมันเครื่อง ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพเร็วขึ้นอีกด้วย



ผิด 2. "รถใหม่สมัยนี้ ไม่ต้อง รันอิน"

ถูก...รถใหม่ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ต้องรันอิน

รถรุ่นใหม่ๆ แม้จะมีการควบคุมคุณภาพอย่างดีแล้วก็ตาม แต่เครื่องยนต์ใหม่ควรต้องผ่านการรันอิน และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสักครั้งก่อนที่จะใช้งานอย่างเต็มที่ เพราะเศษโลหะที่ตกค้างอยู่ในระบบจะได้ถูกชะล้างออกไป การรันอินนั้นทำได้ไม่ยาก โดยในช่วง 1,000 กม. แรก ไม่เร่งเครื่องยนต์อย่างรุนแรง หรือใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูงมากๆ ถ้าใช้รอบเครื่องไม่เกิน 3,000 รตน. ได้ก็จะดี และเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะที่ผู้ผลิตกำหนด พูดถึงเรื่องนี้ เคยมีผู้ใช้รถบางคน ไม่นำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเชค โดยให้เหตุผลว่า เสียเวลา เปลี่ยนน้ำมันเครื่องทำที่ไหนก็ได้อย่างนี้ "น่าเสียดาย" แทนจริงๆ เพราะถ้าเกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์จะเรียกร้องเอากับใคร



ผิด 3. "ยกขาก้านปัดน้ำฝนขณะจอดช่วยยืดอายุใบปัด"

ถูก...สปริงในก้านที่ปัดน้ำฝนจะอ่อน และเสียเร็วขึ้น

ส่วนสำคัญที่ทำให้ที่ปัดน้ำฝนทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพประกอบด้วย ใบปัด แผ่นยางซึ่งทำหน้าที่รีดน้ำจากกระจกบังลมหน้า ปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปีหากใช้นานกว่านั้นเนื้อยางจะแข็งตัวหรือมีการฉีกขาดไม่ว่าจะยกไว้หรือไม่ก็ตามอีกส่วนคือ ก้านใบปัด ที่มีสปริงคอยดึงให้ใบปัดแนบสนิทกับกระจก ซึ่งรับแรงจากคันโยก และมอเตอร์ ตัวนี้มีราคาสูงกว่าใบปัด การยกก้านเมื่อจอดตากแดด สปริงจะถูกดึงให้ยืดออกตลอดเวลา อายุการใช้งานสั้นลง ทำให้ต้องจ่ายแพงกว่าเดิมหลายเท่าถ้าต้องเปลี่ยนทั้งชุด



ผิด 4. "รถติดไฟแดงค้างเกียร์ D ไว้ดีกว่าเปลี่ยนเกียร์ว่าง"

ถูก...หยุดรถก็โอเค แต่ถ้าติดไฟแดงนานก็ต้องระวังนคันหน้า

ในกรณีรถติดไฟแดง ผู้ขับรถที่ใช้เกียร์ธรรมดาจะปลดเกียร์ว่าง และเหยียบเบรคป้องกันรถไหล คงจะไม่มีใครเหยียบคลัทช์ และเบรค ใส่เกียร์คาไว้ ให้เมื้อยขา ขณะที่ผู้ขับรถเกียร์อัตโนมัติ กลับมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน กลุ่มแรก เหยียบเบรคโดยค้างเกียร์ไว้ที่ตำแหน่ง "D" กลุ่มที่ 2 เบรคเหมือนกัน แต่เลื่อนตำแหน่งคันเกียร์มาที่เกียร์ว่าง "N" กลุ่มสุดท้าย ดันคันเกียร์มาอยู่ที่ "P" ไม่เหยียบเบรค ถ้าติดไฟแดงนานๆ กลุ่มแรก ต้องระวังมากที่สุด เพราะถ้าขยับตัวแล้วเท้าหลุดจากแป้นเบรค รถอาจพุ่งไปชนคันหน้า กลุ่มที่ 2 เบาหน่อยแค่เมื่อย ส่วนกลุ่มสุดท้าย สบายใจได้ แต่อาจจะไม่สะดวกกับการใช้งาน วิธีดีที่สุด คือ ใช้เกียร์ว่าง และดึงเบรคมือ



ผิด 5. "เดินทางไกลลมยางอ่อนดีกว่าแข็ง"

ถูก...ลมน้อย ยางมีโอกาสระเบิดได้มาก

คู่มือการใช้และดูแลรักษายางรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายไหน ก็แนะนำตรงกันว่าผู้ใช้รถควรเติมลมยางตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดไว้ และให้เพิ่มแรงดันลมยางให้สูงขึ้นอีก 2- 3 ปอนด์ เมื่อต้องเดินทางไกล ลมยางที่อ่อนกว่ามาตรฐานกำหนด นอกจากจะทำให้หน้ายางด้านนอกสึกมากกว่าด้านในแล้ว ยังอาจส่งผลเสียกับโครงสร้างยางได้ และมีโอกาสเกิด "ยางระเบิด" มากกว่าหรือใกล้เคียงกับยางที่มีแรงดันลมยางเกินกำหนด เพราะอุณหภูมิความร้อนที่เกิดจากการเสียดสี ผิด 6. "ฝนตกใส่ขับ 4 ล้อเกาะกว่า...2 ล้อ" ถูก...อย่าใช้ระบบขับเคลื่อนผิดประเภท จะได้ไม่ต้องเสียใจ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อนั้นอาจจะช่วยให้รถเกาะถนนมากกว่าระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ แต่สำหรับรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบพาร์ทไทม์หรือ "ตามต้องการ" ในรถพิคอัพ หรือพีพีวีที่มีชุดส่งกำลังแยกเพื่อส่งกำลังไปยังล้อหน้า กำลังจากล้อหลังจะถูกแบ่งมายังล้อหน้า อาการท้ายปัด หรือล้อหลังฟรีก็จะน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกาะถนนดี เมื่อต้องเลี้ยวในความเร็วสูง ล้อหน้าที่ถูกลอคให้หมุนจะเลี้ยวได้น้อยลง ทำให้ต้องใช้วงเลี้ยวที่กว้างขึ้น จึงมีรถประเภทนี้หลุดโค้งให้เห็นกันเป็นประจำ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบพาร์ทไทม์มีไว้เพื่อช่วยให้รถสามารถผ่านทางทุรกันดานได้ง่ายขึ้นต่างกับพวกที่เป็นฟูลล์ไทม์หรือ "ตลอดเวลา" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการยึดเกาะถนน



ผิด 7. "ตั้งศูนย์ล้อหน้าอย่างเดียวก็พอ"

ถูก...ทุกล้อมีความสำคัญ ตั้งศูนย์ล้อควรทำทั้ง 4 ล้อ

เชื่อหรือไม่ว่า ศูนย์ล้อหลังมีความสำคัญพอๆ กับศูนย์ล้อหน้า หรืออาจจะมากกว่า เพราะมุมที่ล้อหลังเอียงไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้รถเสียสมดุลเมื่อเบรค หรือเลี้ยว และทำให้รถเลี้ยวไปมากกว่าที่คิด รถยนต์ส่วนใหญ่จะปรับตั้งศูนย์ล้อได้หน้า/หลัง ยกเว้นรถขับเคลื่อนหน้าบางรุ่นที่ปรับได้แต่เฉพาะล้อหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตั้งศูนย์ล้อหลัง ก็ต้องทำใจ



ผิด 8. "ต้องเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินเวลาข้ามแยก"

ถูก...เวลาข้ามแยก รอให้รถว่าง และไม่ควรเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน

ถ้าคุณเปิดไฟฉุกเฉิน รถทั้งด้านซ้าย/ขวา ต่างก็จะเห็นสัญญาณไฟเลี้ยวเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
รถทางขวาอาจจะจอดให้ไป แต่สำหรับทางซ้ายอาจคิดว่าคุณจะเลี้ยวซ้ายจึงไม่หยุดให้ อุบัติเหตุ
จึงเกิดขึ้น ด้วยความเข้าใจผิด จากการใช้สัญญาณไฟแบบผิดที่...ผิดทาง



ผิด 9. "ฝนตกหนัก หรือหมอกลงจัดต้องเปิดไฟฉุกเฉิน"

ถูก...อาจสร้างความสับสนให้ผู้ร่วมทาง

ไฟฉุกเฉินใช้เวลาจอดฉุกเฉิน ในสภาพอากาศที่ไม่ดี และมีทัศนวิสัยแย่มาก จนมองแทบไม่เห็นรถคันหน้า การชะลอความเร็วเปิดไฟหน้า และทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การใช้สัญญาณไฟฉุกเฉิน ทำให้ที่วิ่งสวนทางมาเข้าใจผิดคิดว่ามีรถจอดเสียอยู่ทางซ้ายริมถนน และหักหลบไปทางขวา ซึ่งเป็นไหลทาง กว่าจะเห็นอาจจะสายเกินไป ไม่ลงไปข้างทางก็อาจพุ่งข้ามช่องทางมาชน หรือถ้าหยุดรถก็ขวางทาง และเกิดอุบัติเหตุ การใช้ สัญญาณไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมาก ควรใช้เฉพาะเวลาที่รถเสีย และต้องจอดอยู่ริมถนน เพื่อบอกให้เพื่อนร่วมทางที่สัญจรผ่านไปมา ใช้ความระมัดระวัง และชะลอความเร็วในจุดที่รถจอดเสียอยู่


ผิด 10. "ผ้าเบรคแข็ง หรือ ผ้าเบรคเนื้อแข็ง ไม่ดี"

ถูก...ไม่แน่เสมอไป ขึ้นอยู่กับความต้องการ

ความเข้าใจผิดๆ เรื่อง "ผ้าเบรค" ที่ว่าผ้าเบรคอ่อนดีกว่าแข็ง เกิดจากบรรดาช่างซ่อมรถที่ไม่ได้อธิบายให้เจ้าของรถเข้าใจ การผสมเนื้อผ้าเบรคให้ใช้งานได้ดี เป็นศาสตร์ชั้นสูง ใช้วัสดุนานาชนิด และมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อคุณสมบัติของผ้าเบรค และมักจะขัดแย้งกันเอง ถ้าเน้นข้อดีข้อใดขึ้นมา ก็มักจะมีข้ออื่นด้อยลงไป เช่น การใช้ส่วนผสมที่เบรคหยุดดี ก็จะกินเนื้อจานเบรคมาก หรือร้อนจัด หรือไม่เนื้อผ้าเบรคก็สึกเร็ว พอทำให้สึกช้า ก็แข็งเบรคไม่ค่อยอยู่ หรือมีเสียงรบกวน ส่วนผ้าเบรค "เนื้ออ่อน" ที่มีจุดเด่นเรื่องไม่กัดกินเนื้อจานเบรค ก็จะมีข้อด้อยตรงจุดอื่น



ผิด 11. "เอนนอนขับแบบนักแข่ง...สบายที่สุด"

ถูก...นั่งขับแบบไม่ต้องชะเง้อ จะได้ไม่เมื่อย และไม่อันตราย

ท่าขับแบบนักแข่ง ตัวจริง ต่างกับการปรับเบาะเอนนอนขับมาก การนั่งท่านี้จะรู้สึกว่าจะหลุดจากเบาะนั่งทุกครั้งที่เบรคแรงๆ แขนที่เหยียดตึงตลอดเวลา นอกจากจะทำให้เมื่อยล้า ยังต้องยกตัวขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องเลี้ยว เพราะไม่มีแรงหมุนพวงมาลัย และมองทางข้างหน้าไม่เห็น เช่นเดียวกับเวลาถอยหลังจอด สายเข็มขัดนิรภัยที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าการนั่งขับแบบปกติ อาจจะรั้งคอแทนที่จะเป็นไหล เมื่อเกิดอุบัติเหตุท่านั่งที่ถูกต้องเอาหลังพิงพนักจนสนิทแล้วเหยียดแขนข้างใดข้างหนึ่ง ไปวางบนส่วนบนสุดของพวงมาลัยแล้ว ตรงกับข้อมือ ขาต้องสามารถเหยียบแป้นคลัทช์จนจม โดยไม่ต้องเหยียดข้อเท้าสุดแบบนักบัลเลท์ ส่วนใต้ของขาอ่อนดันกับเบาะนั่งส่วนหน้า จนรู้สึกว่าน้ำหนักตัวที่ลงตรงสะโพกพอดี และยังสัมผัสกับพนักพิง



ผิด 12. "นั่งชิดพวงมาลัยเพื่อให้มองเห็นหน้ารถ"

ถูก...อันตราย ตัวอาจกระแทกกับพวงมาลัยบาดเจ็บ

ผู้ที่นั่งใกล้พวงมาลัยเกินไป มักเป็นผู้ที่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับรถนัก และได้รับการสอนท่านั่งมาแบบผิดๆ ตัวที่อยู่ชิดกับพวงมาลัย นอกจากจะทำให้หมุนพวงมาลัยไม่ถนัดเพราะแขนงอมากเกินไป ยังเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ตัวผู้ขับ ที่อาจจะบาดเจ็บจากการที่ลำตัวกระแทกกับพวงมาลัย และแรงระเบิดจากถุงลมนิรภัย



ผิด 13. "สอดมือหมุนพวงมาลัยถนัด เบาแรง และปลอดภัย"

ถูก...ไม่ถนัดจริง และอันตรายไม่ควรทำ

การหงายมือล้วงหรือสอดมือจับพวงมาลัย เพื่อเลี้ยวรถ เป็นการออกแรงดึงเข้าหาตัว จึงทำให้รู้สึกว่าออกแรงน้อยกว่าการจับแบบคว่ำมือหมุน แต่การทำแบบนั้นมี "อันตราย" มาก ถ้าหากล้อหน้าเกิดสะดุดก้อนหิน และเกิดมือหลุดจากพวงมาลัย ดึงมือออกมาไม่ทันก้านพวงมาลัยจะตีมืออย่างแรง การจับพวงมาลัยที่ถูกต้องควรจับในตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา ซึ่งแขนจะงออยู่เล็กน้อย และเพียงพอที่หมุนพวงมาลัยได้จนครบรอบ เมื่อต้องเลี้ยวรถมากกว่าหนึ่งรอบ จะปล่อยมือที่อยู่ด้านหลัง เพื่อมาจับในตำแหน่งเดิม โดยทำในลักษณะนี้ทั้งเลี้ยวซ้าย/ขวา


ผิด 14. "เกียร์ ซีวีที ขับยากและกินน้ำมันกว่าเกียร์อัตโนมัติทั่วไป"

ถูก...ขับง่ายและประหยัดน้ำมันกว่าเกียร์อัตโนมัติทั่วไป

การไม่สามารถเข้าใจเหตุผล ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ ผู้ที่ขับรถใช้เกียร์ ซีวีที บอกว่าขับแล้วรู้สึกเหมือนขับรถที่เกียร์ หรือระบบขับเคลื่อน "มีปัญหา" ให้ความรู้สึกที่ไม่ดี โดยเฉพาะตอนที่ขับด้วยความเร็วคงที่แล้วกดคันเร่งเพิ่ม เกียร์จะเลือกอัตราทดที่เหมาะ ทำให้ความเร็วเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นทันที แต่ความเร็วรถยังเท่าเดิม ให้ความรู้สึกเหมือนรถคลัทช์ลื่น การขับแบบประหยัดเชื้อเพลิง ให้เหยียบคันเร่งไม่ลึกนักขณะออกรถและรักษาระยะที่เหยียบไว้ ช่วงแรกเครื่องยนต์จะส่งกำลังผ่านทอร์คคอนเวอร์เตอร์ พอล้อรถหมุนเร็วพอสมควร และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากทอร์คคอนเวอร์เตอร์แล้ว ระบบต่อตรงส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังจานทรงกรวยตัวขับก็จะทำงาน จากนั้นระบบควบคุมจะลดระยะห่างของจานทรงกรวยคู่ที่เป็นตัวขับ เป็นการลดอัตราทด เพื่อเพิ่มความเร็วรถ โดยที่ความเร็วของเครื่องยนต์ค่อนข้างคงที่ ยกตัวอย่างเช่น ประมาณ 1,800 รตน. ความเร็วจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนเดียวกับที่อัตราทดของเกียร์ลดลง จนได้ความเร็วประมาณ 60-70 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดของการเหยียบคันเร่งของเราเท่านี้ เยี่ยมไหมครับ ?



ผิด 15. "ต้องเปลี่ยนไส้กรองทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง"

ถูก...ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทุกครั้ง แต่ถ้าเปลี่ยนได้ก็ดี

ผู้ผลิตรถยนต์จากยุโรป แนะนำให้เปลี่ยนพร้อมกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุกครั้ง
แต่โรงงานผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น จำนวนไม่น้อย แนะนำให้เปลี่ยนไส้กรอง หรือหม้อกรองทุกๆ ครั้งที่ 2
ของการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ถ้าคำนึงถึงคุณภาพของน้ำมันเครื่องยุคปัจจุบันแล้ว น้ำมันเครื่องหมดอายุแล้ว
ในหม้อกรองน้ำมันเครื่องจำนวนหนึ่งปนเปื้อน ไม่ถึงกับให้โทษในด้านการหล่อลื่นหรือทำความสะอาดภายในเครื่องยนต์ แต่เมื่อคำนึงถึงราคาหม้อกรอง หรือไส้กรอง ซึ่งถูกกว่าราคาน้ำมันเครื่องแล้ว ควรเปลี่ยนทุกครั้งเพื่อให้น้ำมันเครื่องสะอาดที่สุด และทำหน้าที่รักษาเครื่องยนต์ของเราจะดีกว่า



ผิด 16. "ควรเติม หัวเชื้อน้ำมันเครื่องเพื่อถนอมเครื่องยนต์"

ถูก...อาจจะหนืดไป แค่ใช้น้ำมันเครื่องดี มีคุณภาพ ก็เพียงพอแล้ว

เราแบ่งหัวเชื้อน้ำมันเครื่องได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของมันเครื่อง และประเภทที่ช่วยเพิ่มความหนืดของน้ำมันเครื่อง น้ำมันเครื่องคุณภาพสูงในปัจจุบันมีส่วนผสมของสารต่างๆ อยู่ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม จึงไม่ควรใส่สารอื่นเข้าไปทำลายสัดส่วนสารเคมีเหล่านี้ให้เสียสมดุล และกลับให้โทษแก่เครื่องยนต์ ประเภทแรกจึงไม่จำเป็น ส่วนหัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่ช่วยเพิ่มความหนืด อาจช่วยลดความสิ้นเปลืองน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์ที่หมดสภาพแล้วได้บ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงราคาแล้ว ก็ไม่น่าจะช่วยประหยัดได้ และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วย วิธีที่ถูกต้องคือ การซ้อมใหญ่ หรือ โอเวอร์ฮอล เพื่อให้เครื่องยนต์กลับคืนสู่สภาพดีปกติ







ผิด 17. "เติมน้ำมันเครื่องคุณภาพสูงปนกับน้ำมันเครื่องทั่วไปจะได้คุณสมบัติที่ดีขึ้น"

ถูก...การผสมไม่ได้ช่วยให้คุณภาพดีขึ้น ใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพมาตรฐานจะดีกว่า

การนำน้ำมันเครื่องคุณภาพสูงสุดสักครึ่งลิตร มาผสมบน้ำมันเครื่องคุณภาพปานกลาง ก็ไม่สามารถเพิ่มคุณภาพขึ้นมาได้ เอาเงินส่วนนี้ไปทำประโยชน์ส่วนอื่นจะดีกว่า เช่นเดียวกับการเอาน้ำมันเครื่องคุณภาพต่ำมาเติมผสมลงไปน้ำมันเครื่องชั้นดีราคาสูง ซึ่งจะทำให้ส่วนผสมของสารเพิ่มคุณภาพในน้ำมันเครื่องเสียสมดุลไปเท่ากับน้ำมันเครื่องทั้งหมดคุณภาพต่ำไป การเติมน้ำมันเครื่องใหม่เมื่อน้ำมันเครื่องเดิมใกล้จะถึงกำหนดเปลี่ยนถ่ายนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเพราะไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไปเพื่อแลกกับการใช้งานเพียงระยะสั้น ทางที่ดีเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเลยจะคุ้มกว่า



ผิด 18. "ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องใหม่ทุกๆ 5,000 กม."

ถูก...ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำมันเครื่องและความต้องการของเครื่องยนต์

ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละราย กำหนดมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเครื่องที่เครื่องยนต์แต่ละรุ่นต้องการใช้อยู่ในคู่มือประจำรถ และกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องไว้แตกต่างกันด้วย รถยนต์ของค่ายญี่ปุ่น จะมีกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเป็นระยะทางที่สั้นกว่ารถยุโรป เช่น ทุกๆ 5,000
กม. และ 10,000 กม. ส่วนรถค่ายยุโรปส่วนใหญ่ที่เครื่องยนต์ใหญ่ใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำและมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเครื่องไว้สูง เช่น ระดับ SJ สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน จะกำหนดระยะทางถึง 15,000 กม. หรือมากกว่านั้น ปัจจุบันกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่มีระยะมากที่สุด เป็นของรถ เปอโฌต์ คือ ทุกๆ 30,000 กม. แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนก่อนเวลาก็ไม่ได้ทำให้เสียหาย เพียงแต่เปลืองเงินกว่าที่ควร เท่านั้นเอง ผู้ใช้รถควรใช้วิจารณญาณในการร่นระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ตามสภาพการใช้งาน เช่น กรณีที่ใช้งานในสภาพการจราจรติดขัดเป็นส่วนใหญ่ เหลือ 70 % ที่กำหนดในคู่มือ หรือถ้าต้องสตาร์ทเครื่องยนต์บ่อยๆ และ "รถติด" เป็นประจำด้วย เหลือเพียง 50 % . ถ้าใช้น้ำมันเครื่อง "ธรรมดา" คุณภาพสูง แล้วใช้งานหนักมาก เปลี่ยนทุก 5,000 กม. ถ้าใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100 % เปลี่ยนทุก 10,000 กม. หากใช้งานเบากว่านี้เพิ่มระยะทางได้ตามความเหมาะสม ไม่ใช่กำหนดที่ปั๊มน้ำมัน หรือศูนย์บริการ ฯ ลดทอน เพราะต้องการขายน้ำมันเครื่อง



ผิด 19. "เครื่องยนต์ดีเซลมีระยะการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเท่ากับเบนซิน"

ถูก...อุณหภูมิภายในไม่เท่ากัน อายุการใช้งานก็ต่างกันด้วย

การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล ก่อให้เกิดเขม่ามากกว่าในเครื่องยนต์เบนซิน ผงเขม่าขนาดเล็กสามารถลอดผ่านกระดาษกรองของหม้อกรองน้ำมันเครื่องได้ เมื่อสะสมแขวนลอยอยู่ในน้ำมันเครื่องมากขึ้น จะทำให้น้ำมันเครื่องมีค่าความหนืดสูงขึ้น คุณสมบัติในการหล่อลื่นจึงลดลง เครื่องยนต์ดีเซลระบบฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้ หรือไดเรคท์อินเจคชันยุคใหม่มีเขม่าน้อยกว่าแบบพรีแชมเบอร์มาก เราจึงสังเกตได้ว่า
กำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์แบบนี้ใกล้เคียงกับเครื่องยนต์เบนซินแล้ว



ผิด 20. "น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100 % คุ้มกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดา"

ถูก...ราคาแพงกว่าใช้ได้นานกว่า แต่จะคุ้มหรือไม่อยู่ที่ใจ

จุดเด่นแรกของน้ำมันเครื่องสังเคราะห์อยู่ที่ค่าความหนืดต่ำที่อุณหภูมิต่ำ จึงไหลไปหล่อลื่นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มติดเครื่องยนต์ในสภาพเย็นจัด เช่น ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ซึ่งสภาวะเช่นนี้ไม่มีในประเทศไทยข้อดีประการที่ 2 คือทนต่อความร้อนสูงที่ผนังกระบอกสูบได้ดีกว่า จึงมีอัตราการระเหยเป็นไอได้น้อยกว่าน้ำมันเครื่อง "ธรรมดา" อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเครื่องอาจน้อยกว่าเล็กน้อย

จุดเด่นอีกข้อของน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ คือ การมีค่าดัชนีความหนืดสูง จึงไม่ "ใส" เกินไปเมื่อถูกความร้อนจัด น้ำมันเครื่องสังเคราะห์จึงมีสารปรับดัชนีความหนืดผสมอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดา เนื่องจากสารปรับดัชนีความหนืดนี้เสื่อมสภาพได้ง่ายตามอายุใช้งาน น้ำมันเครื่องสังเคราะห์จึงมีอายุใช้งานยาวนานกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดามาก เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100 % กับราคาน้ำมันเครื่อง "ธรรมดา" ระดับคุณภาพสูงสุดน้ำมันเครื่องสังเคราะห์จะมีราคาสูงกว่าราว 2 ถึง 4 เท่า จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่า "คุ้มกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดา" ยกเว้นพวกชอบใช้ของแพง ได้จ่ายเงินมากแล้วมีความสุข
ผู้ที่ต้องการถนอมให้เครื่องยนต์สึกหรอน้อยที่สุด โดยไม่คำนึงถึงราคาว่าคุ้มหรือไม่



ผิด 21. "ใช้น้ำมันเครื่องราคาถูกแต่เปลี่ยนบ่อยๆ ช่วยถนอมเครื่องยนต์ได้ดีที่สุด"

ถูก...ถ้าเจอน้ำมันเครื่องปลอม หรือไม่มีคุณภาพ อาจทำให้เครื่องยนต์เสียหาย

ไม่ควรนำน้ำมันเครื่องราคาถูกมาเปลี่ยนบ่อยๆ เช่น ทุก 3,000 หรือ 4,000 กม. แทนน้ำมันเครื่องมาตรฐานที่ผู้ผลิตกำหนด เพราะในประเทศเราที่ไม่มีหน่วยงานควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันเครื่องอยู่เลย แม้น้ำมันเครื่องระดับคุณภาพสูงที่เราซื้อมา ก็อาจเป็นของปลอมที่กรองและฟอกสีมาจากกากน้ำมันเครื่องใช้แล้วได้ วิธีถนอมเครื่องยนต์ที่ดีที่สุด คือ เลือกใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพสูงสุด ก่อนอื่นต้องเลือก "ยี่ห้อ" และสถานที่จำหน่ายที่น่าไว้วางใจได้ เลือกระดับคุณภาพ แล้วจึงดูระดับความหนืด
หรือความข้นของน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมกับอุณหภูมิเฉลี่ยของเมืองไทย เช่น 10W-40/15W-40/15W-50 หรือ 20W-50 ระดับคุณภาพที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทย คือ ระดับคุณภาพตามมาตรฐานของ API (AMERICAN PETROLEUM INSTITUTE) ถ้าเป็นรถใช้เครื่องยนต์เบนซิน ควรใช้น้ำมันเครื่อง ระดับคุณภาพ SJ หรือ อย่างน้อย SH ถ้าเป็นรถใช้เครื่องยนต์ดีเซล ควรเลือกระดับ CG - 4 หรืออย่างน้อย CF - 4


ผิด 22. "เปลี่ยนแบทเตอรีให้ลูกใหญ่ จะได้สตาร์ทง่าย"

ถูก...แบทเตอรีขนาดไหนก็ใช้ไฟเท่าเดิม ใหญ่ไปก็หนักรถ

การใช้แบทเตอรีที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ทั้งเครื่องยนต์ ไดสตาร์ท และไดชาร์จ ยังมีขนาดเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะเป็นความสิ้นเปลืองที่เกินกว่าความจำเป็น เพราะความต้องการไฟในการสตาร์ทเครื่องยนต์ยังเท่าเดิมแล้ว ยังอาจส่งผลเสียกับไดชาร์จในอนาคต แบทเตอรีที่มีขนาดใหญ่มากเกินไป ไม่เพียงต้องทำให้เจ้าของรถต้องดัดแปลงแทนวางแบทเตอรีใหม่เท่านั้น ยังอาจส่งผลให้ไดชาร์จทำงานเต็มกำลังตลอดเวลา เพื่อบรรจุไฟเข้าไปเก็บในแบทเตอรี ซึ่งจะหยุดก็ต่อเมื่อไฟเต็ม



ผิด 23. "ดับเครื่องยนต์ และปิดพัดลมแอร์ จะช่วยให้แอร์ไม่เสียเร็ว"

ถูก...ควรปิดคอมเพรสเซอร์แอร์ ก่อนดับเครื่อง ช่วยยืดอายุตู้แอร์

ระบบทำความเย็นทั้งภายในรถและอาคาร อาศัยหลักการถ่ายเทความเย็น และระบายความร้อน ซึ่งตู้แอร์ หรือคอยล์เย็น จะมีสารทำความเย็นบรรจุอยู่ภายใน โดยมีพัดลมทำหน้าที่เป่าลมการปิดพัดลมหลังดับเครื่อง ความเย็นยังคงอยู่ภายในระบบ ตู้แอร์จึงชื้น และกลายเป็นที่สะสมฝุ่นละออง ซึ่งจะทำให้ลมผ่านได้ไม่สะดวก เกิดการอุดตัน และตู้รั่ว การปิดคอมเพรสเซอร์ หรือปิดสวิทช์ AC ก่อนดับเครื่องยนต์อย่างน้อย 5 -10 นาที จะช่วยไล่ความชื้นในตู้แอร์ ไม่เป็นที่สะสมฝุ่น นอกจากจะช่วยยืดอายุตู้แอร์ยังช่วยลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ที่มักเกิดพร้อมๆ กับความชื้นอีกด้วย



ผิด 24. "แกสโซฮอลสิ้นเปลืองกว่าเบนซิน 95 เพราะแอลกอฮอล์ระเหยได้ง่ายกว่า"

ถูก...แอลกอฮอล์มีความหนาแน่นของพลังงาน ต่ำกว่าของเบนซิน

การที่แกสโซฮอลสิ้นเปลืองกว่าเพราะแอลกอฮอล์มีพลังงานสะสมในตัวมันน้อยกว่า เมื่อเทียบมวลเท่ากัน เช่น มีพลังงานกี่กิโลแคลอรีต่อมวลหนึ่งกิโลกรัมเท่ากัน หรือกล่าวได้ว่าแอลกอฮอล์มีความหนาแน่นของพลังงาน หรือ ค่าความร้อน (HEATING VALUE) ต่ำกว่าของเบนซิน เกี่ยวกับการระเหยง่ายอย่างที่หลายคนคิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ น้ำมันเบนซินซึ่งระเหยง่ายมาก และน้ำมันดีเซลซึ่งระเหยยากมาก แต่มีความหนาแน่นของพลังงานหรือค่าความร้อนพอๆ กัน และมากกว่าของแอลกอฮอล์ประมาณเท่าตัว



ผิด 25. "เติมน้ำยาหล่อเย็นจะทำให้หม้อน้ำรั่ว"

ถูก...น้ำยาเติมหม้อน้ำช่วยลดตะกอนและควบคุมอุณหภูมิของน้ำ

น้ำยาเติมหม้อ หรือน้ำยาหล่อเย็น (COOLANT) ถูกมองว่าเป็นตัวการทำให้หม้อน้ำและปั๊มน้ำรั่วอยู่เสมอ นั่นก็เพราะผู้ใช้รถจะพบปัญหาเหล่านี้หลังจากที่ได้เติมน้ำยาหล่อเย็นซึ่งในความเป็นจริงเกิดจากระบบหล่อเย็นของรถขาดการบำรุงรักษามาเป็นเวลานาน หรือใช้น้ำที่มีค่าเป็นกรดเป็นด่างมากเกินไป จนเกิดการผุกร่อนดังนั้นเราควรบำรุงรักษาหม้อน้ำด้วยการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาในระบบหล่อเย็นปีละครั้ง รวมทั้งทำความสะอาดถังพักน้ำด้วย ส่วนการผสมน้ำยาหล่อเย็น ควรทำตามอัตราส่วนที่ผู้ผลิตระบุไว้





ผิด 26. "รถที่ใช้จานเบรค 4 ล้อปลอดภัยกว่ารถที่ใช้ดุมเบรคหลัง"

ถูก...ไม่แน่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้งาน

หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าจานเบรคใช้ได้ดีกับรถทุกรุ่นทุกขนาด แม้ว่าคุณสมบัติที่ดีของจานเบรคคือ ระบายความร้อนได้เร็ว ส่วนใหญ่ผู้ผลิตรถจึงใช้กับล้อหน้าที่ผ้าเบรคจับตัวจานเบรคแทบจะตลอดเวลา ดุมเบรคที่ระบายความร้อนได้ช้ากว่าเพราะมีฝาครอบ แต่มีพื้นที่สัมผัสมากกว่าจานเบรคและไม่มีปัญหาเบรคลอคเหมือนจานเบรคใช้ในล้อหลัง รถที่ใช้งานแบบทั่วไป รวมทั้งรถที่มีระบบเอบีเอส ซึ่งวิศวกรผู้ผลิตรถยนต์จะเลือกใช้จานเบรคตามความเหมาะสม การที่เจ้าของรถนำรถไปดัดแปลงใช้จานเบรคในล้อหลัง ต้องระวัง
เพราะหากล้อหลังหยุดก่อนล้อหน้าเมื่อเบรค อาจทำให้รถหมุนได้



ผิด 27. "เปลี่ยนกรองเปลือย และหัวเทียน ทำให้รถแรงขึ้น"

ถูก...ช่วยอะไรไม่ได้มาก ไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไป

การเปลี่ยนกรองอากาศมาเป็นแบบกรองเปลือย ที่ไม่มีกล่องป้องกันฝุ่น และท่อนำอากาศ อาจจะช่วยให้อากาศเข้าได้สะดวกขึ้น แต่ความหนาแน่นของมวลอากาศน้อยลงเพราะอุณหภูมิความร้อนภายในห้องเครื่องยนต์ ซึ่งปริมาณอากาศกับห้องเผาไหม้เท่าเดิม จึงให้กำลังตกลงเมื่อเครื่องร้อน อีกทั้งมีฝุ่นละอองมาก ทำให้ต้องล้างหรือทำความสะอาดบ่อยๆ การใช้หัวเทียนใหม่ช่วยให้การจุดระเบิดสมบูรณ์ แต่ไม่ได้เพิ่มกำลังเครื่องยนต์ให้สูงกว่ามาตรฐานผู้ผลิตรถยนต์ได้กำหนดไว้



ผิด 28. "ใส่กรองอากาศไม่ต้องเปลี่ยน แค่เป่าลมก็ใช้ได้แล้ว"

ถูก...เปลี่ยนใหม่ จะช่วยให้ประหยัดค่าน้ำมันไปได้นับพันบาท

การใช้ลมเป่าใสกรองอากาศที่นิยมทำกัน เมื่อมีฝุ่นติดเต็ม จนมองไม่เห็นสีเดิม วิธีนี้ช่วยให้ฝุ่นละอองเบาบางลง อากาศไหลผ่านได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าเป่าแรงเกินไปแผ่นกรองอาจเสียหายจนใช้งานต่อไม่ได้เพราะมีรูกว้างจนฝุ่นขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าไปได้ คิดแล้วไม่คุ้ม ยอมจ่ายเงินซื้อของใหม่มาใส่จะคุ้มกว่า การล้างคาร์บูเรเตอร์ หรือหัวฉีด แถมยังประหยัดค่าน้ำมันทางอ้อม อีกด้วย



ผิด 29. “Baby seat สามารถติดตั้งไว้ที่เบาะหน้าข้างคนขับได้”

ถูก...การติดตั้ง Baby seat ไว้ด้านหน้า อาจทำให้เกิดอันตรายจากการกระแทกได้

โดยปกติตำแหน่งที่ถูกต้องในการติดตั้ง Baby seat หรือ Child seat คือบริเวณที่นั่งด้านหลังโดยขึ้นกับอายุของเด็กดังนี้

ระยะที่ 1 แรกเกิด – 2 ปี เบาะนั่งทารก ติดตั้งที่เบาะหลังและหันหน้าไปทางท้ายรถ

ระยะที่ 2 อายุ 2 – 4 ปี เบาะนั่งเด็กเล็ก ติดตั้งที่เบาะหลังและหันหน้าไปทางท้ายรถ

ระยะที่ 3 อายุ 4 ปีขึ้นไป เบาะนั่งเด็กโต ติดตั้งที่เบาะหลังและหันหน้าไปทางท้ายรถ

ระยะที่ 4 อายุ 8 ปีขึ้นไป เบาะเสริมสำหรับเด็กโต ติดตั้งที่เบาะหลังและหันหน้าไปทางท้ายรถ

แต่ก็มีผู้ใช้รถส่วนหนึ่งนิยมติดตั้ง Baby seat ไว้ที่เบาะหน้าด้านข้างคนขับด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวกในการดูแลเด็ก แต่ด้วยขนาดของ Baby seat จะทำให้เด็กนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ล้ำเข้ามาใกล้แผงหน้าปัดด้านหน้ารถมากกว่าคนนั่งปกติ ดังนั้นหากรถยนต์เกิดอุบัติเหตุและมีการกระแทกอย่างแรง กลไกของเข็มขัดนิรภัยจะทำการดึงตัวกลับอย่างแรงซึ่งจะทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะหันเบาะไปด้านหน้าหรือด้านหลังรถ โดยเฉพาะรถที่มีถุงลมนิรภัยด้านคนนั่งหน้าเมื่อถุงลมนิรภัยทำงาน กลไกของถุงลงนิรภัยจะจุดระเบิดอย่างแรงเพื่อส่งถุงลมนิรภัยให้พุ่งออกมาด้วยความเร็วสูง แรงปะทะอาจทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บร้ายแรงได้



เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยในรถยนต์ทั่วไปได้รับการออกแบบมาเพื่อการโดยสารของผู้ใหญ่ซึ่งสูงเกินกว่า 150 ซม. นี้ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ผู้ผลิตรถยนต์แทบทุกค่ายเลือกใช้ซึ่งจุดนี้นี่เองที่ทำให้เด็กมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าอีกทั้งกฎหมายในหลายประเทศก็ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องความปลอดภัยของเด็กในขณะโดยสารรถยนต์เท่าใดนัก

รวมถึงในบางครั้งความเสี่ยงของเด็กก็ยังเพิ่มขึ้นจากความเข้าใจอย่างผิดของเด็กก็ยังเพิ่มขึ้นจากความเข้าใจอย่างผิดของผู้ใหญ่ด้วย อย่างที่เรามักจะเห็นกันอยู่เป็นประจำ ที่บรรดาพ่อแม่มักจะอุ้มลูกนั่งตักขณะขับหรือโดยสารรถ หรือแม้แต่การคาดเข็มขัดนิรภัยแบบผิดวิธีของเด็กก็นำมาซึ่งอุบัติเหตุร้ายแรงได้เช่นกัน ยังอยู่ในท้องก็ตายได้

เริ่มต้นด้วยความเชื่อและความรู้สึกอย่างผิด ๆ ที่ว่า คนท้องไม่ควรคาดเข็มนิรภัย เนื่องจากเกรงว่าเมื่อเกิดการชน เข็มขัดนิรภัยจะไปกระทบกระเทือนถึงทารกในครรภ์ แต่ในความเป็นจริงก็คือเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ตั้งแต่ตอนยังไม่ท้องจนถึงคลอด โดย การคาดเข็มขัดนิรภัยจะต้องพาดผ่านระหว่างอกพอดีและพาดเลยต่อไปที่ด้านข้างของลำตัว ห้ามพาดผ่านส่วนท้อง ในขณะที่เข็มขัดนิรภัยส่วนล่างจะต้องพาดผ่านบริเวณส่วนบนของขา ไม่เลยขึ้นไปพาดที่ท้องเด็ดขาด โดยจะต้องพาดยาวจากสะโพกข้างนึงไปยังสะโพกอีกข้างนึงเนื่องจากบริเวณนี้เป็นบริเวณที่แข็งสามารถรองรับและปกป้องแรกกระแทกจากการชนได้มากที่สุด

โดยปัจจุบันได้มีการออกแบบอุปกรณ์สำหรับปรับตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยสำหรับหญิงมีครรภ์ออกมาวางจำหน่ายแล้ว ซึ่งน่าสนใจซื้อห่ามาเพื่อคนที่คุณรักเป็นอย่างยิ่งส่วนปัญหาอีกเรื่องที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่ท้องแก่ก็คือการที่สายเข็มขัดนิรภัยยาวไม่พอที่จะคาดได้ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีวิธีการแก้ไข ดังนั้นเมื่อไม่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง เด็กแรกเกิดแสนจะบอบบาง ที่บอกว่าบอบบางน่ะสุภาพ แต่ถ้าจะพูดประสาชาวบ้านก็คือ ตายง่าย ดังนั้นถ้าไม่อยากไปงานศพของทารกน้อย ๆ ของคุณก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องจัดหาที่นั่งสำหรับทารกมาใช้ เพราะที่นั่งแบบนี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการปกป้องทารก และอย่าได้คิดว่าอุ้มไว้กับตัวเองจะดีกว่าหรือปลอดภัยกว่าเป็นอันขาด เพราะแรงเฉื่อยที่เกิดขึ้นเมื่อมีการชนนั้นมากเกินกว่ามนุษย์จะรั้งไว้ได้ซึ่งจะกล่าวต่อไป ในการติดตั้งที่นั่งสำหรับทารกที่หันหน้าไปทางท้ายรถนั้นได้รับการวิจัยมาแล้ว ว่ามีความปลอดภัยสำหรับทารกมากกว่าปกติถึงกว่า 90% และการจัดให้เด็กนั่งในที่นั่งที่ได้รับการออกแบบมาอย่างถูกต้องก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยขึ้นอีกกว่า 50% เด็กเล็กอันตราย

สำหรับเด็กเล็กและเด็กแรกเกิดเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องจัดหาที่นั่งซึ่งได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ เนื่องจากโดยกายวิภาคของเด็กเล็กนั้น ส่วนหัวจะมีน้ำหนักพอ ๆ กับน้ำหนักรวมของส่วนอื่น ๆ ของร่างกายดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น อีกทั้งกระดูกคอของเด็กก็ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ซึ่งบริเวณคอนี่เองที่เป็นจุดอ่อนและเป็นจุดที่เด็กมักจะได้รับบาดเจ็บมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเกิดการชนจากด้านหน้าเพราะคอของเด็กยังไม่แข็งแรงพอที่จะต้านแรงปะทะได้ อีกทั้งหัวก็มีอัตราส่วนของน้ำหนักที่มากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นจึง ควรใช้เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็กที่ออกแบบให้เด็กหันหน้าไปยังท้ายรถ เนื่องจากการจัดให้เด็กนั่งในลักษณะนี้เด็กจะสามารถใช้หลังต้านแรงปะทะและแรงเหวี่ยงกลับได้ดีกว่า โดยได้มีการวิจัยมาแล้วว่า เด็กที่นั่งหันหน้าไปทางหน้ารถมีโอกาสบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตมากกว่าเด็กที่นั่งหันหน้าไปทางท้ายรถถึง 5 เท่า

และข้อห้ามที่สำคัญและเป็นที่เข้าใจผิดอย่างยิ่งคือการที่พ่อแม่มักจะเอาเด็กมานั่งตักในขณะเดินทาง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากเนื่องจากเมื่อรถวิ่งแม้จะด้วยความเร็วที่ต่ำเพียง 40 กม./ชม. แรงเฉื่อยที่เกิดจากการเคลื่อนที่จะส่งผลให้เด็กที่มีน้ำหนัก 30 กก. มีแรงเฉื่อยเท่ากับ 1 ตัน




 

Create Date : 08 กันยายน 2549    
Last Update : 8 กันยายน 2549 21:58:58 น.
Counter : 223 Pageviews.  

15 ปี www 15 ปีเปลี่ยนแปลงโลก

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 15 ปีของการถือกำเนิด "เวิร์ลด์ไวด์เว็บ" ครับ! น่าแปลกที่วันที่ว่านี้ผ่านไปโดยไม่มีอะไรผิดปกติไปจากวันธรรมดาๆวันหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา จนดูเหมือนมันไม่มีความหมายมากมายอะไรนักสำหรับเรา

ทั้งๆ ที่ 15 ปีที่ผ่านมา เวิร์ลด์ไวด์เว็บ คือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกไปจากเดิมจนแทบจะเรียกได้ว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ มันเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนตัวเองจากอะไรก็ตามที่ไม่มีชีวิต ไม่มีเลือดเนื้อ ให้เป็นวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งยวดต่อโลกและต่อคนบนโลกในนี้ในเวลานี้

แล้วก็น่าขันที่ คนเราก็ยังเรียกมันผิดๆ อยู่ทั่วโลกว่า อินเตอร์เน็ต ทั้งๆ ที่อินเตอร์เน็ตก็คืออินเตอร์เน็ต และเวิร์ลด์ไวด์เว็บ นั้น แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตแต่กลับได้รับความนิยมมากกว่า และมีพลานุภาพในการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเรามากกว่ามากมายนัก

ทุกวันนี้เราสามารถดูภาพที่ถ่าย ณ อีกซีกโลกหนึ่งได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที การแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก ระหว่างคนที่อยู่ในกรุงเทพฯกับนครซิดนีย์เกิดขึ้นได้ในเวลาจริง เหมือนกับการนั่งคุยกันอยู่ตรงหน้าผ่านทาง อินสแตนท์ แมสเซนเจอร์ เราสามารถจองตั๋วเครื่องบินได้ขณะนั่งอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องหงุดหงิดเปลืองเวลากับการเข้าคิวยาวอีกต่อไป

เมื่อสัก 15 ปีก่อนหน้านี้ จะมีใครในเมืองไทยคิดฝันไหมว่าจะได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ที่วางจำหน่ายในวอชิงตัน ดี.ซี. หรือ นิวยอร์ก ได้ก่อนหน้าคนอเมริกันที่ตื่นสายอีกหลายคนเพราะเวิร์ลด์ ไวด์ เว็บ ไม่เคยมีใครคาดฝันเช่นกันว่า ถึงวันนี้หนังสือพิมพ์จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นไม่ได้พิมพ์เผยแพร่บนกระดาษวางขายกันตามแผงอีกต่อไป แต่มีให้อ่านกันเฉพาะในเว็บไซต์บนเวิร์ลด์ ไวด์ เว็บ เท่านั้น

เกมออนไลน์ กลายเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าแสนล้านต่อปี กูเกิ้ลกลายเป็นบริษัทมูลค่านับแสนล้านอยู่ในขณะนี้ ดนตรีดิจิตอลกำลังส่งอิทธิพลอย่างมหาศาลจนอาจทำให้วงการดนตรีทั้งโลกเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมภาพยนตร์กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อดูว่าทำอย่างไรจึงสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเว็บได้ เพราะเห็นได้ชัดว่าไม่อาจแยกกันอยู่เหมือนอย่างก่อนหน้านี้ได้อีกแล้ว...สิ่งเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาหากไม่มี เวิร์ลด์ ไวด์ เว็บ

และแน่นอน เวิร์ลด์ ไวด์ เว็บ จะเป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ หากไม่มีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นก่อนหน้ามัน และไม่มีนักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ที่แสนดีอย่าง ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี

อินเตอร์เน็ต เกิดขึ้นก่อนในแวดวงกองทัพอเมริกัน และถูกนำมาใช้กันอยู่แพร่หลายในหมู่นักวิชาการเพียงส่วนหนึ่งที่ล่วงรู้ถึงขีดความสามารถของมัน แต่อินเตอร์เน็ตอาจถูกจำกัดอยู่แค่ในวงแคบๆ เช่นนั้น ถ้าหาก ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ไม่คิดที่จะสร้างซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งขึ้นมา

อินเตอร์เน็ตก่อนหน้าการเกิดของเวิร์ลด์ไวด์ ว็บนั้น เป็นเพียงการเชื่อมโยงระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่งเข้าด้วยกัน เพื่อผลประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนไฟล์ข้อมูลระหว่างกัน สำหรับเพื่อการหารือ ถกเถียงหรือแสดงความคิดเห็นในแวดวงจำกัดระหว่างกันเท่านั้นเอง การเชื่อมโยงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ผู้ที่เชื่อมต่อเข้าไปจะต้องรู้หมายเลขประจำเครื่องของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน และต้องรู้ชื่อไฟล์ที่ชัดเจนในการเข้าไปดูข้อมูลนั้นๆ

วันที่ 5 สิงหาคม 1991 เมื่อ 15 ปีก่อน ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี เขียนโปรแกรมขึ้นมาตัวหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เชื่อมโยง และ "บราวซ์" เครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้นได้ เป้าหมายของซอฟต์แวร์ของเขาก็คือ ให้เราสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลข่าวสารทุกชิ้นได้ในทุกที่ทุกเวลา และต้องขอบคุณความกรุณาของนักวิชาการชาวอังกฤษผู้นี้ที่ปล่อยให้ข้อมูลของซอฟต์แวร์ทั้งหมดของตนเองเปิดกว้าง ให้ทุกคนสามารถลอกเอาไปใช้ในการคิดค้นพัฒนาต่อได้ ไม่เช่นนั้นก็คงไม่เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้

และยุคแห่งเวิร์ลด์ไวด์เว็บ หรือที่เราเจนตาด้วยตัวอักษรย่อ //www.ก็คงไม่เกิดขึ้น

พอล คุนซ์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ได้แรงบันดาลใจจากการพบปะกับ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี พัฒนาเว็บเซิร์ฟเวอร์ตัวแรกขึ้นมาในสหรัฐอเมริกา เมื่อนำเว็บเซิร์ฟเวอร์ของคุนซ์ มาประกอบเข้ากับซอฟต์แวร์ของ เบอร์เนอร์ส-ลี โลกนี้ก็ได้เว็บไซต์แรกขึ้นมา

ไม่นานก็เกิด "โมเสค" เว็บบราวเซอร์ตัวแรก ตามมาด้วย "เนตสเคป" จากนั้นก็ถึงยุคบูมสุดขีดของโลก ดอตคอม ระหว่างตอนกลางและตอนปลายทศวรรษ 1990 เราได้เห็นการก่อเกิดของเว็บไซต์อย่าง อเมซอน และ กูเกิ้ล เริ่มออกเดินเตาะแตะ

"อินเตอร์เน็ต เอ็กซพลอเรอร์ (ไออี)" และ "ฮอตเมล์" ถือกำเนิดขึ้นระหว่างปี 1995-1996 ยาฮู เกิดมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ต่อด้วยกระทาชายนายหนึ่งเกิดปิ๊งไอเดียการแลกเปลี่ยนไฟล์เพลงของตนเองผ่านเว็บ และก่อตั้ง แนปสเตอร์ ขึ้นมาในปี 1999

ถึงปี 2000 ฟองสบู่ด็อตคอมแตกดังโพละ หลายเว็บหายหน้าหายตาไป แต่อีกหลายเว็บรวมทั้งกูเกิ้ลพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นเสมือนกระดูกสันหลังแห่งข้อมูลข่าวสารทุกประการบนเว็บ เวิร์ลด์ไวด์เว็บขยายตัวจนกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเรา ซื้อ ขาย แชต ไฟล์เสียง และไฟล์ภาพ ดนตรี วิดีโอ ฯลฯ ทั้งที่ดี และเลวร้าย มีให้เลือกสรร

15 ปีที่ผ่านมา เวิร์ลด์ไวด์เว็บ เปลี่ยนแปลงชีวิตเราจนเป็นอย่างที่เห็นอยู่ อีก 15 ปีข้างหน้า วิถีของมนุษย์และเวิร์ลด์ไวด์เว็บ จะเป็นฉันใด?

แต่ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างไร คงต้องขอบคุณเซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี!!


ข่าว : มติชน
-------------------------------------------
ขอบคุณครับเซอร์




 

Create Date : 06 กันยายน 2549    
Last Update : 6 กันยายน 2549 18:13:26 น.
Counter : 199 Pageviews.  

ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราเหลือ 8 ดวงแล้วนะ

เมื่อดาวพลูโต ไม่ได้เป็นสมาชิกของระบบสุริยะอีกต่อไป

ภายหลังเกิดข้อถกเถียงกันว่า "ดาวพลูโต" นับเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งหรือไม่ ในที่สุดนักดาราศาสตร์ก็ลงมติออกมาเป็นที่เรียบร้อย เรื่องการถอดดาว “พลูโต” ออกจากสถานภาพ “ดาวเคราะห์” หลังอยู่ในระบบมานานถึง 76 ปี การถอดดาวพลูโตออกส่งผลให้ระบบสุริยะวันนี้มีดาวเคราะห์เหลือเพียง 8 ดวง เท่านั้น
โดยดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การตัดดาวพลูโตออกจากระบบสุริยะและเปลี่ยนสภาพจาก “ดาวเคราะห์” โดยจัดชั้นใหม่ให้เป็น “ดาวเคราะห์แคระ” นั้นไม่มีอะไรเสียหาย เพราะดาวพลูโต ถูกค้นพบเมื่อปี 1930 และตลอด 76 ปีเรียกเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์พบว่าดาวพลูโตมีความแตกต่าง จากดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวงมากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี กล้องดูดาวในปัจจุบัน ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบ ดาวอื่น ๆ ที่มีลักษณะเหมือนดาวพลูโตอีกหลายดวง
ซึ่งเมื่อวันที่ 14-24 สิงหาคมที่ผ่านมา ในที่ประชุมของสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ ไอเอยู (International Astronomical Union's : IAU) มีนักดาราศาสตร์ราว 3,000 คน จาก 75 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ค ได้ลงมติถอด “ดาวพลูโต” ออกจาก หมู่ “ดาวเคราะห์ชั้นเอก” แห่งระบบสุริยะ ด้วยเหตุผลที่ว่า “พลูโต” มีลักษณะต่างจากดาวเคราะห์อีก 8 ดวงที่อยู่ในระบบมาก ไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์และมีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์อีก 8 ดวง
ดร.ศรัณย์ ยังบอกอีกว่า สิ่งที่ค้นพบเป็นความรู้ใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันดาราศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในสาระของการเรียนรู้ ดังนั้นครู อาจารย์จะต้องติดตามความรู้ใหม่เหล่านี้เพื่อนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นหลังต่อไป

บรรยากาศการลงมติของ IAU ที่กรุงปราก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา

ภาพพื้นผิวดาวพลูโตที่ยังไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อน ถ่ายไว้โดยองค์การนาซ่าร่วมมือกับหน่วยงานอวกาศแห่งยุโรป ในวันที่ 7 มี.ค.ปี 1996 ด้วยกล้องพิเศษที่เรียกว่า Faint Object Camera หรือ FOC ก่อนที่พลูโตจะถูกถอดออกจากระบบสุริยะ และจัดให้เป็นดาวเคราะห์แคระ

ภาพดาวพลูโตกับดวงจันทร์ทั้ง3ที่เป็นบริวารชื่อ ชารอน , นิกซ์ และไฮดรา

ภาพหมู่ดาวเคราะห์ที่องค์การนาซ่าจัดทำขึ้นในปี 2001 โดยยานอวกาศในกลุ่ม JPL

โมเดลของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ที่ตั้งอยู่หน้าพิพิธธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของจักรวาลโรสเซ็นเตอร์ เกี่ยวกับโลกและวิทยาศาสตร์ ในกรุงนิวยอร์ก โมเดลดังกล่าว ไม่มีดาวพลูโตอยู่ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่นับดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์มาตั้งนานแล้ว จนในที่สุดมีการลงมติอย่างเป็นทางการจาก IAU จัดดาวพลูโตให้อยู่นอกระบบสุริยะแล้วจากบนลงล่างคือ ดาวพุธ , ดาวพระศุกร์ , โลก กับ พระจันทร์ , ดาวอังคาร , ดาวพฤหัสบดี ,ดาวเสาร์ , ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ตามลำดับ โดยในภาพไม่ปรากฎดาวพลูโตที่อยู่รอบนอกสุดของระบบสุริยะแต่อย่างใด

เด็ก ๆ กำลังทัศนศึกษาดูงานนิทรรศการเกี่ยวกับดวงดาวอย่างใคร่รู้ ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของจักรวาลคัลแมน ฮอลล์ แห่งอเมริกัน อยู่ในกรุงนิวยอร์กเช่นเดียวกัน
-----------------------------------------------------------
เดลินิวส์




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2549    
Last Update : 28 สิงหาคม 2549 15:45:30 น.
Counter : 1819 Pageviews.  

1  2  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.