จิปาถะ

wj42
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เช็คกล่องข้อความหลังไมค์

รวม Links แยกหมวดหมู่









Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add wj42's blog to your web]
Links
 

 

Clip CNN เรื่องไทยปิดกั้นสื่อ ห้ามนำเสนอข่าว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร




 

Create Date : 17 มกราคม 2550    
Last Update : 17 มกราคม 2550 12:33:07 น.
Counter : 336 Pageviews.  

ไว้อาลัยกับประชาธิปไตยไทย

ประเทศไทยใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแล้วหลายสิบปี แต่ความเข้มแข็งของการปกครองไม่ได้เติบโตขึ้นตามระยะเวลา
ประสบการที่ผ่านมาไม่เคยสอนอะไรกับผู้มีอำนาจทั้งหลาย

ยังคงก่อรัฐประหารกัน ซ้ำซาก ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก วนเวียน ดักดาน

ปากบอกทำเพื่อประชาธิปไตยในขณะที่ตีนเหยียบบนรัฐธรรมนูญ
เหยียบย่ำบนสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งประเทศ

เมื่อไหร่ถึงจะพัฒนาเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆซักที
เมื่อไหร่ถึงจะเลิกทำตัวเหนือกฎหมาย เหยียบย่ำรัฐธรรมนูญของประชาชน
เมื่อไหร่ถึงจะเลิกแก้ปัญหาด้วยกำลัง ด้วยอำนาจรัฐประหาร
เมื่อไหร่จะพยายามแก้ไขปัญหาในวิถีทางแห่งประชาธิปไตย


กี่คนที่ตายเพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย....

คนเหล่านั้นตายเพื่ออะไร....

เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนอย่างวันนี้หรือ....

ใครจะตอบได้....


//www.bloggang.com/viewblog.php?id=whaleshark&group=3&date=08-09-2006&blog=2




 

Create Date : 20 กันยายน 2549    
Last Update : 20 ตุลาคม 2549 22:45:35 น.
Counter : 259 Pageviews.  

DSI ชี้ เว็บหมิ่นเบื้องสูงไม่มีคนไทยเกี่ยวข้อง

ที่มา: //203.150.231.164/reporter/web/news.asp?id=3145
-------------------------------------------------




ที่แท้ดีเอสไอ.เคยสอบแล้ว เว็บไซต์ Pulo.org และ Manusaya.com ระบุชัดไม่มีบุคคลในประเทศไทยสนับสนุนเซิฟเวอร์และการเงิน ชี้ขบวนการพูโล ที่มี Abdulrosa Basil Jehngoh เป็นหัวโจก เคยโจมตีทักษิณ และชื่นชมพูโล ในเว็บพันธุ์ทิพย์ มาก่อน


ข้อเท็จจริง สรุปผลการสืบสวนกรณีเว็บไซต์ Pulo.org และ manusaya.comได้มีการสอบสวนโดย กรมสืบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ.มานานแล้วและมีการเผยแพร่ทางสื่ออินเทอร์เน็ตหลายครั้ง หลายหน ว่าไม่มีคนไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวทั้งด้านเซฟเวอร์ และ เงินอุดหนุน แต่ในเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุลแกนนำพันธมิตรฯ ได้พยายามนำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง ขึ้นมาพูดอีกครั้ง ทำให้มีคนสงสัยในเจตนาที่แท้จริง

ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวสารอันเป็นเท็จ ทางสื่อมวลชน ทางเว็บไซต์ กระดานข่าว และอีเมล์ กล่าวหาว่าเว็บไซต์ manusaya.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จาบจ้างสถาบันเบื้องสูงนั้น จัดทำโดยคนในรัฐบาล โดยมีที่ตั้ง Server ของเว็บไซต์อยู่ในทำเนียบรัฐบาล และได้รับการสนับสนุนการเงินจากคนในรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพื่อความกระจ่างชัด จึงขอเสนอข้อเท็จจริงให้ทราบดังนี้

สถานการณ์

1.หลังเหตุการณ์ลอบเผาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้การปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 เว็บไซต์พูโล (www.pulo.org) ซึ่งถูกปิดกั้นการเข้าดูและไม่มีการปรับข้อมูลมาตั้งแต่ปลายปี 2545 ได้ปรับเนื้อหาใหม่โดยใช้สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ในช่วงนั้นโจมตีรัฐบาลและเน้นการเรียกร้องรัฐอิสระ และสร้างเว็บไซต์อย่างน้อยอีก 2 แห่งเป็นเครือข่ายในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ หลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่มัสยิดกรือเซะเมื่อ 28 เมษายน 2547 เว็บไซต์พูโลได้โจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง ประกาศข่มขู่ที่จะทำร้ายประชาชนและนักท่องเที่ยว เรียกร้องขอเอกราชให้กับ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา เพื่อตั้งเป็นเมืองปาตานีรายา และข่มขู่ให้ชาวไทยพุทธ อพยพออกจากพื้นที่ดังกล่าว

2. ตั้งแต่ 24 มีนาคม 2547 เกิดเว็บไซต์ชื่อ manusaya.com เผยแพร่ข้อมูลหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอย่างต่อเนื่องซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายกรณี เช่น เหตุการณ์เดือนพฤษภา เหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ มาแต่งเติมเรื่องราวในลักษณะมุ่งเน้นการลดความเคารพเชื่อถือศรัทธา และจาบจ้วงพระราชวงศ์ทุกพระองค์ นอกจากนี้กลุ่มผู้จัดทำเว็บไซต์ดังกล่าวยังทำเว็บไซต์อีกหลายแห่งบนเครือข่ายในต่างประเทศเพื่อเผยแพร่ข้อความในลักษณะดังกล่าว และยังนำข้อความไปเผยแพร่ไว้ในกระดานข่าวตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดกระแสการรับรู้และการต่อต้านขยายไปในวงกว้าง

การดำเนินการต่อต้าน

3.เพื่อเป็นการยับยั้งมิให้ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงและการเผยแพร่ข้อความโฆษณาชวนเชื่อของเว็บไซต์พูโลเผยแพร่ในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้เฝ้าติดตามสืบสวนเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดมา จึงได้ใช้มาตรการปิดกั้นไม่ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเผยแพร่สู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากบริษัท ISP ต่าง ๆ แต่มีบริษัท ISP บางแห่งไม่สามารถปิดกั้นได้เพราะมีปัญหาทางเทคนิค นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วยังมีการติดตามเฝ้าตรวจตรา เพื่อลบข้อความที่นำมาจากเว็บไซต์ดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในกระดานข่าวของเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ดูแลเว็บไซต์ (Webmaster) ต่าง ๆ และใช้การตอบโต้เชิงรุกต่อเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูงและเว็บไซต์พูโล มาตั้งแต่ 27 มีนาคม 2547 เป็นต้นมา โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจอย่างดียิ่งจาก กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์ ผู้รักชาติหลายกลุ่มตลอดมา

4. ผลการต่อต้านเว็บไซต์ข้างต้น สามารถทำให้เว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง อย่างน้อย 4 แห่ง ต้องปิดไป ขณะที่เว็บไซต์อื่นบนเครือข่าย geocities.com ยุติการปรับเนื้อหา เหลือเพียงเว็บไซต์ manusaya.com บนเครือข่ายของบริษัท netfirms ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศแคนาดา เพียงแห่งเดียวที่มีการปรับเนื้อหา ส่วนมาตรการปิดกั้นเว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูงในระยะหลังไม่ได้ผล เพราะกลุ่มผู้จัดทำได้เปิดเผยเทคนิควิธีการเข้าดูเว็บไซต์ให้กับบุคคลทั่วไป

5. ในการประสานความร่วมมือกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผ่านคณะกรรมการ Cyber Inspector บริษัท ISP และผู้ดูแลเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และยังได้รับความร่วมมือจากมิตรประเทศ รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้เจรจากับเจ้าของเครือข่ายต่างประเทศที่เว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง manusaya.com เช่าพื้นที่อยู่ เพื่อให้ปิดเว็บไซต์ ซึ่งในกรณีเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง ทางหน่วยงานเจ้าของประเทศไม่สามารถดำเนินการให้ได้เนื่องจากถือว่าการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ในลักษณะนี้ยังไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่ทางราชการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่าย Netfirms จึงสามารถนำมาขยายผลสืบสวนได้

ผลการสืบสวน

6.ผลการสืบสวนทั้งจากหลักฐานทางเทคนิคและความร่วมมือจากหน่วยงานมิตรประเทศ ทำให้สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า กลุ่มผู้จัดทำเว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์ thaily.com มีชื่อว่า นายอับดุลรอสะ เจะเง๊าะ ซึ่งมีชื่อเรียกในสวีเดนว่า Abdulrosa Basil Jehngoh อายุ 39 ปี ภูมิลำเนาอยู่ จ.ปัตตานี และได้สัญชาติสวีเดน แล้ว สำเร็จการศึกษาสาขา Linguistics and Phonetics มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน และเคยเดินทางเข้าไทยเมื่อปี 2546 โดยถือสัญชาติสวีเดน

7. นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ร่วมมืออีกอย่างน้อย 1 คนใช้ชื่อในสวีเดนว่า นายชิบลีย์ ปูตรา เจะเง๊าะ (Shiblee Putra Jehngoh) อายุประมาณ 21-22 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.ปัตตานี และเป็นญาติกัน โดยทั้งสองคนในขณะนั้นพักอยู่ที่ Vikinga เมืองลุนด์ ประเทศสวีเดน นายชิบลีย์ฯ ยังสมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์ pantip.com โดยใช้ชื่อว่า Shiblee และเคยแสดงความคิดในกระทู้ต่าง ๆ ในลักษณะโจมตี นายกรัฐมนตรี และชื่นชมเนื้อหาเว็บไซต์พูโล ทั้งยังเคยนำเนื้อหาในเว็บไซต์พูโลไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ pantip.com และเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย

8. ผลการสืบสวนสามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่านายชิบลีย์ฯ ใช้อินเทอร์เน็ตของบริษัท Telia Network Service ในสวีเดน ซึ่งเป็นข้อมูลทางเทคนิคสำคัญที่ยืนยันว่าใช้อินเทอร์เน็ตมาจากแหล่งใด เครื่องคอมพิวเตอร์ของนายชิบลีย์ฯ อยู่ที่บ้านพักในประเทศสวีเดน มีการต่อเชื่อมเป็นระบบเครือข่าย LAN วงเล็ก ๆ ใช้ในบ้านดังกล่าว มีบุคคลอื่นใช้งานในระบบเครือข่ายอยู่ด้วยอย่างน้อยอีก 2 เครื่อง และจากการเฝ้าตรวจตามกระดานข่าวของเว็บไซต์หลายแห่งพบว่า ผู้ที่นำข้อความในเว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูงไปเผยแพร่นั้น ได้ใช้ IP Address เดียวกันกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านนายชิบลีย์ฯ ใช้งานอยู่

9. หลักฐานการยืนยันความผิด

9.1 เมื่อ 24 มิ.ย.47 จากความช่วยเหลือของมิตรประเทศทำให้สามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ใช้พื้นที่บนเครือข่าย netfirms จัดทำเว็บไซต์พูโลมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในสวีเดน โดยมีหมายเลข IP Address เดียวกันกับที่นายชิบลีย์ใช้งานอยู่ ซึ่งเป็นการยืนยันทางเทคนิคอย่างชัดเจนว่า นายชิบลีย์ฯและผู้ที่อยู่ในบ้านในประเทศสวีเดน เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์พูโล และถือเป็นหลักฐานสำคัญที่สามารถใช้ในการดำเนินคดีตามกฎหมายได้

9.2 การที่สามารถยืนยันหลักฐานทางเทคนิคได้ว่า ในการเข้าอินเทอร์เน็ต นายชิบลีย์ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มี IP Address หมายเลขเดียวกันกับ ผู้นำข้อความจากเว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันไปเผยแพร่ตามกระดานข่าวในเว็บไซต์ต่าง ๆ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีแนวความคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จึงเป็นการพิสูจน์ได้ว่านายชิบลีย์ฯ เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์ manusaya.com โดยนายอับดุลรอสะ เจะเง๊าะ เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังหรือรู้เห็นด้วย

9.3 จากการที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ขอความร่วมมือไปยัง ISP ต่างๆให้ช่วยปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดมานั้น แต่ด้วยเทคนิคทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ที่รู้เทคนิคยังคงสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวได้ จนในที่สุดเมื่อ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ทำการประสานงานกับบริษัท Netfirms จนทางบริษัทฯเข้าใจเหตุผลและความจำเป็น จึงได้ให้ความร่วมมือยุติการให้บริการแก่เว็บไซต์ดังกล่าว จึงทำให้เว็บไซต์ทั้งสองหยุดการเผยแพร่ตลอดไปตั้งแต่ มิ.ย.2548 อย่างไรก็ดีเว็บไซต์พูโลได้เริ่มเผยแพร่ใหม่แล้วตั้งแต่ ก.พ.2549 ในชื่อ pulo…….. …. (ขอสงวนชื่อไว้)

สรุป

- เว็บไซต์ //www.pulo.org และ //www.manusaya.com ได้ใช้บริการเครื่อง Server และเครือข่ายของบริษัท Netfirms ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศแคนนาดา โดยผู้จัดทำได้ใช้ IP address หมายเลข 213.66.141.229 ซึ่งจากการตรวจสอบทางเทคนิคยืนยันได้ว่า ใช้จากบ้านที่ Vikinga.... เมืองลุนด์ ประเทศสวีเดน และจากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ผู้เกี่ยวข้องที่ได้กระทำผิดในเบื้องต้นคือ นายชิบลีย์ ปูตรา เจะเง๊าะ (Shiblee Putra Jehngoh) และ นายอับดุลรอสะ เจะเง๊าะ (Abdulrosa Basil Jehngoh)

- จากการสืบสวนสอบสวนตลอดมานั้น ยังไม่เคยมีหลักฐานสิ่งใดบ่งชี้ว่า เว็บไซต์ทั้งสองนั้น เคยใช้ Server ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่อย่างใด และยังไม่เคยมีหลักฐานสิ่งใดบ่งชี้ว่า มีคนไทยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว แต่อย่างใด (เพราะในข้อเท็จจริงนั้น การทำเว็บไซต์ดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย คือประมาณเดือนละ 200 บาทเท่านั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องรับการสนับสนุนด้านการเงินจากผู้ใด)

- ในด้านการดำเนินคดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ให้กรณีกล่าวเป็นคดีพิเศษ ที่ 31/2547 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ซึ่ง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกันทำการสืบสวนสอบสวน แสวงหาหลักฐานต่างๆ ตลอดมา จนสามารถขออนุมัติต่อศาลอาญา เพื่อออกหมายจับ นายชิบลีย์ ปูตรา เจะเง๊าะ และ นายอับดุลรอสะ เจะเง๊าะ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามหมายจับศาลอาญาที่ 3758/2548 ลง วันที่ 30 กันยายน 2548 และหมายจับศาลอาญาที่ 235/2549 ลง วันที่ 17 มกราคม 2549 ตามลำดับ

- ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ ต่อไป

- เว็บไซต์ pulo.org และ manusaya.com ได้แบ่งหน้าที่กันเผยแพร่ข่าวสารโดย เว็บไซต์ pulo.org จะทำหน้าที่บิดเบือนข่าวสาร ยุยงให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวไทยมุสลิมกับชาวไทยพุทธ มุ่งหวังที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ส่วนเว็บไซต์ manusaya.com จะทำหน้าที่จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง เพื่อลดความศรัทธาต่อสถาบัน เพราะชาวไทยในเขต 3 จังหวัดภาคใต้นั้น ส่วนใหญ่ยังคงให้ความเคารพศรัทธาต่อสถาบันเบื้องสูงอย่างเหนียวแน่น

- การที่เว็บไซต์ทั้งสอง ได้แบ่งหน้าที่กันเผยแพร่ และได้พยายามปกปิดสถานะที่แท้จริง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่อาจทราบได้ว่า กลุ่มผู้จัดทำเว็บไซต์ manusaya.com ซึ่งกล่าวโจมตี จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงนั้น ที่แท้จริงคือกลุ่มเดียวกับ กลุ่มผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนพูโล

- บางครั้งกลุ่มพูโลได้ใช้กระดานข่าวในเว็บไซต์ชั้นนำต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการโจมตีรัฐบาล บิดเบือน แต่งเรื่องสร้างข่าว โดยการทำเป็นชาวไทยพุทธด่าว่าไทยมุสลิม และทำเป็นชาวไทยมุสลิมด่าว่าชาวไทยพุทธ เพื่อสร้างความแตกแยก ทั้ง ๆ ที่เป็นชาวไทยด้วยกัน

- ปัจจุบันกลุ่มพูโลได้อาศัยเหตุการณ์ทางการเมืองพยายามบิดเบือนสร้างกระแส โดยได้ทำการเผยแพร่ข่าวสารทางเว็บไซต์ กระดานข่าวและอีเมล์ โยนความผิดและกล่าวหาว่าเว็บไซต์ manusaya.com จัดทำโดยคนในรัฐบาล โดยมีที่ตั้ง Server ของเว็บไซต์อยู่ในทำเนียบรัฐบาล และได้รับการสนับสนุนการเงินจากคนในรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวมุ่งหวังให้เกิดความแตกแยกขึ้นในระหว่างประชาชนกับรัฐบาล อันจะเป็นประโยชน์ต่องานของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโดยตรง รายละเอียดปรากฏตามพยานหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

จึงขอกราบเรียนให้ พี่น้องประชาชนชาวไทย ได้ทราบในข้อเท็จจริง เพื่อโปรดใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารต่อไป

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน
ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม




 

Create Date : 18 กันยายน 2549    
Last Update : 18 กันยายน 2549 12:17:52 น.
Counter : 418 Pageviews.  

ประชาธิปไตย แลกมาด้วยเลือดวีรชน

ด้านล่างสุดของบทความชิ้นนี้มีภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มีความรุนแรงมาก หากท่านใดไม่ต้องการเห็นภาพสะเทือนใจ ควรหยุดการติดตามเมื่ออ่านถึงที่มาของบทความเท่านั้น

---------------------------------------------------------------
6 ตุลา กับสถานะทางประวัติศาสตร์การเมือง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ในบทความซึ่งอาจจะดีที่สุดเกี่ยวกับ “การ รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” โดยศาสตราจารย์เบเนดิค แอนเดอร์สัน กล่าวไว้ว่า โดยตัวของมันเองแล้วการรัฐประหาร 6 ตุลา ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะในสมัยใหม่หรือสมัยเก่า เพราะเคยมีรัฐประหารหรือความพยายามที่จะทำรัฐประหารมาครั้งแล้วครั้งเล่า (นับแต่การปฏิวัติ 2475) ดังนั้นทั้งนักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ (ตะวันตก) ต่างก็ลงความเห็นว่า “การรัฐประหาร 6 ตุลา” เป็นเรื่อง “ธรรมดา ๆ” ของการเมืองไทยและเป็นการกลับไปสู่ “สภาพปกติ” หลังจากที่หลงระเริงอยู่กับ “ประชาธิปไตย” เสีย 3 ปี

แต่เบเนดิค แอนเดอร์สัน ก็กล่าวว่า “การ รัฐประหาร 6 ตุลา” เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ของการเมืองไทย อย่างน้อยก็ใน 2 ประเด็น คือ (1) บรรดาผู้นำฝ่ายซ้าย แทนที่จะจบลงด้วยการถูกจับขังคุก (จนลืม) หรือไม่ก็ไปลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ กลับเข้าไปร่วมกับขบวนการจรยุทธ์ในป่า และ (2) การรัฐประหาร 6 ตุลา แตกต่างจากการรัฐประหารที่เคยมีมา นั่นคือหาใช่เป็นเพียงการยึดอำนาจกันในหมู่ผู้นำเท่านั้น แต่เป็นการรัฐประหารที่ฝ่ายขวาใช้เวลากว่า 2 ปีในการวางแผนการ รณรงค์ คุกคามอย่างเปิดเผย ทำร้าย ทำลายชีวิต ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้อย่างโจ่งแจ้งของความรุนแรงและการปั่นให้เกิดความบ้าคลั่งของ ฝูงชน “ม็อบ” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

อาจารย์เบนขยายความต่อไปอีกว่า รูปแบบและระดับของความรุนแรงของ 6 ตุลานั้น เป็นอาการของโรค (“ลงแดง”) ที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางสังคม-วัฒนธรรม-การเมืองสมัยใหม่กล่าวคือ การก่อตัวของชนชั้น (ใหม่) กับความปั่นป่วนทางอุดมการณ์

กล่าวโดยย่อ (ใน ทัศนะของอาจารย์เบน) นับแต่ปลายทศวรรษ 1950 (ยุคฟิฟตี้) เป็นต้นมา ได้เกิดชั้นชนกระฎุมพีใหม่ขึ้น โดยเกิดขึ้นมานอกชนชั้นสูง – เจ้านาย – ข้าราชการเก่า ชั้นชนใหม่นี้มีทั้งกระฎุมพีน้อย – กระฎุมพีกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของ “บูม” ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามเวียดนามในทศวรรษ 1960 (ยุคซิกสตี้) ที่ทั้งคนอเมริกันและเงินดอลลาร์อเมริกันหลั่งไหลเข้ามาในสังคมไทยอย่างไม่ เคยมีมาก่อน ตามด้วยคนและเงินเยนญี่ปุ่นมากมายมหาศาล

ชั้นชนกระฎุมพีใหม่นี่แหละ ที่ได้กลายเป็นฐานให้กับขบวนการฝ่ายขวา ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากกลุ่มฝ่ายขวาเดิมของเจ้า-ผู้ ดีและข้าราชการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มผู้ปกครองเก่า - เจ้า – นายพล – นายธนาคาร – ข้าราชการ จะหลุดออกไปจากตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่กุมอำนาจทางการเมือง กลับเป็นว่ากลุ่มผู้ปกครองเก่านี้ ได้พันธมิตรใหม่ที่มีฐานกว้างขวางที่มีลักษณะคุกคามและเป็นอันตรายมากกว่า เดิม

พร้อม ๆ กับการเกิดของชั้นชนกระฎุมพีนี้ ความปั่นป่วนด้านอุดมการณ์ก็เป็นผลพวงของผลกระทบของการที่อเมริกาเข้ามา และระเบิดให้เห็นทางด้านภูมิปัญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีของยุค “ประชาธิปไตย” เบ่งบานนั้น มีคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่เบื่อหน่ายต่อความอับจนทางปัญญา และการใช้สัญลักษณ์ทางจารีตโดยระบอบสฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส คนหนุ่มสาวตั้งคำถามต่อค่านิยมและวัฒนธรรมจารีตนั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการโฆษณาเผยแพร่ สั่งสอนอุดมการณ์ชาติ – ศาสนา – พระมหากษัตริย์ หนักหน่วงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ชาติ - ศาสนา – พระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็นของ “ไทยตามธรรมชาติ” โดยทั่วไป กลับกลายเป็นอุดมการณ์เฉพาะของการก่อตัวทางสังคมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมขบวนการฝ่ายขวานี้ก็คือบรรดาชั้นชนกระฎุมพีใหม่ ส่วนผู้ทำการโฆษณาเผยแพร่อุดมการณ์มีทั้งกลุ่มบ้าคลั่งจากชั้นชนใหม่นี้เอง และจากผู้ที่บงการของกลุ่มชนชั้นปกครองเก่าที่อยู่เบื้องหลัง (Benedict Anderson, Withdrawal Symptoms : Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup’, Bulletin of Concerned Asian Scholars, July – September, 1977)

เหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตผู้นำนักศึกษาในสมัยนั้น และปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจกับกองกำลังติดอาวุธและกำลังพลฝ่ายขวา ได้เคลื่อนเข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้คนจำนวน 4-5 พันคนชุมนุมอยู่ตลอดคืน ประท้วงการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งได้ถูกประชาชนลุกฮือขับไล่ออกจากประเทศไปเมื่อ 3 ปีก่อน (การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516) หลังการเข้าปิดล้อม ก็ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ๆ มีการปาระเบิดเข้าไปตามตึกของมหาวิทยาลัย ราตรีนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้นักกิจกรรมการเมือง 2 คน (พนักงานไฟฟ้านครปฐม) ได้ถูกทำลายชีวิตและจับแขวนคอ (ในขณะที่กำลังปิดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร)

หลังการทำลายชีวิตดังกล่าวที่นครปฐม ได้มีการแสดงละครการเมืองของนักศึกษา ล้อเลียนการกลับมาของจอมพลถนอม (บวช เป็นเณรมาจากสิงคโปร์ แล้วก็เข้าไปบวชเป็นพระอย่างเร่งรีบที่วัดบวรนิเวศ) ล้อเลียนการแขวนคอนักกิจกรรม การแสดงนี้มี ณ บริเวณลานโพธิ์ มธ. หน่วยโฆษณาชวนเชื่อของทหาร (วิทยุยานเกราะและเครือข่ายวิทยุเสรี) และ นสพ. (ดาวสยาม) ได้นำฟิล์มรูปการแสดงละครไปตกแต่ง แล้วอัดรูปขยายพิมพ์เผยแพร่ กล่าวหาและปลุกปั่นว่านักศึกษา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ล้อเลียนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยที่นักศึกษาไม่ได้รับโอกาสที่จะแก้ข้อกล่าวหานี้แต่ประการใด

เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ตำรวจและกองกำลังติดอาวุธก็ยิงระเบิดเข้าไปกลางฝูงชนเป็นผลให้มีคนตายทันที 4 ศพ และบาดเจ็บหลายสิบ และจากระเบิดลูกนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้อาวุธสงครามร้ายแรงทำลายชีวิตนักศึกษาและ ประชาชนเป็นเวลาหลายชั่วโมง มีทั้งการยิงจรวด (ที่ใช้ต่อต้านรถถัง) เข้าไปตามตึกต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาและประชาชนหลบซ่อนอยู่ ฝูงชนฝ่ายขวา (รวมทั้งมือปืนรับจ้าง) ที่ได้รับการจัดตั้งและปลุกระดมไว้อย่างดีแล้วบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย บ้างลากนักศึกษาออกมาทุบตีจนตาย บ้างใช้ผ้ารัดคอนักศึกษาลากไปตามสนาม บ้างนำนักศึกษาไปแขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง ด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง ที่ทางหน้ากระทรวงยุติธรรมมีการจับร่าง 3 ร่างเอาน้ำมันราด เอายางรถสุม เอาไฟจุดเผา การทำลายชีวิตและร่างกายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ดำเนินไปจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 9 นาฬิกา

วันนั้นวันที่ 6 ตุลา เป็นวันพุธ เป็นวันมหาวิปโยค “ที่ไทยฆ่าไทย” เป็นวันที่มืดมิดที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครั้นถึง 18 นาฬิกาเย็นวันนั้น คณะทหารก็ประกาศยึดอำนาจ (ทางการแถลงว่าในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 40 คน บาดเจ็บเป็นร้อยและถูกจับกุมไป 3 พันคน แต่ก็เชื่อกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ รวมทั้งสูญหายน่าจะสูงกว่าที่ทางการแถลง)

กล่าวโดยย่อ 6 ตุลา (2519) ก็คือวันที่มีการรัฐประหาร นำการเมืองไทยกลับไปสู่การปกครองโดยคณะทหารอีกครั้งหนึ่ง (แต่มีนายกรัฐมนตรีมาจากข้าราชการตุลาการ) ซึ่งมิใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่การรัฐประหาร 6 ตุลาก็มาพร้อมกับความรุนแรงและป่าเถื่อน อย่างชนิดที่ไม่มีผู้ใดจะคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยมาก่อน ภาพของความทารุณโหดร้ายถูกบันทึกไว้เป็นภาพยนตร์ เป็นภาพถ่าย ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก (แม้ในยุคสมัยที่ไทยยังไม่ตื่นเต้นกับโลกาภิวัตน์นัก ยังมิได้มี “ม็อบมือถือ” แฟกซ์ กล้องวิดีโอ ตลอดจนบรรดาอุปกรณ์ไฮ–เทค ทั้งหลาย) การสังหารหมู่กลางพระนครวันนั้น ได้รับการถ่ายทอดออกโทรทัศน์ช่อง 9 ด้วย

แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง ที่ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นอดีตที่ดูเหมือนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ประหนึ่งว่าเป็นการพังพินาศของอดีต ขาดสถานะทางประวัติศาสตร์ (เข้าทำนองที่ว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของคนชนะ ประวัติศาสตร์หาได้เป็นเรื่องราวของผู้แพ้ไม่) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งจากอุดมการณ์ทั้งขวาและซ้าย ดูจะสับสนงุนงง ลืม เลอะเลือน ปฏิเสธและบางครั้งขาดความเข้าใจต่อ 6 ตุลาในบริบทเฉพาะของการเมืองไทย และบริบทใหญ่ของการเมืองโลก (ทั้งนี้โดยที่ยังไม่นับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และผู้ที่อยู่ห่างไกลจากความแตกแยกทางอุดมการณ์ในครั้งนั้น)

ยิ่งอนุชนรุ่นหลังแล้ว ก็เกือบจะไม่มีการรับรู้ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หาใช่หนึ่งในหน้าของประวัติศาสตร์ไทยไม่ ไม่ว่าจะในระดับประถมหรือมัธยม หรือในระดับอุดมศึกษา (ทั้งนี้โดยที่ยังไม่ต้องกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในทำนองเดียวกันอีก 2 เหตุการณ์ คือ การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภามหาโหด 2535 ) ดังนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจนักที่จะมีคนกล่าวถึงเหตุการณ์ “16 ตุลาคม 2514” (!!!???)

ประวัติศาสตร์ “ระยะเวลาช่วงยาว”

มีสำนักคิดทางประวัติศาสตร์สำนักหนึ่งของ ฝรั่งเศส ที่ถือว่าความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์นั้น จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อประวัติศาสตร์นั้นมีลักษณะ longue duree ขอแปลเป็นไทยว่า “ระยะเวลาช่วงยาว” กล่าวคือเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์โดยใช้ระยะเวลาช่วงยาว ๆ เป็นกรอบ ซึ่งจะทำให้เห็นกระแสทางเดินของประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี แทนที่จะเป็นการศึกษาเฉพาะแต่ละเหตุการณ์ฯ ที่เรียกว่า histoire evenementielle หรือประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ ซึ่งจะมีลักษณะที่คับแคบ มองได้ไม่ไกล

ถ้าหากจะใช้ทฤษฎี “ระยะเวลาช่วงยาว” นำมาศึกษา “ 6 ตุลาคม 2519” เล่า เราจะศึกษาได้อย่างไร

“ระยะเวลาช่วงยาว” ของการเมืองไทย

ในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทย 6 ตุลาน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคม ที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อต้าน และพยายามปลดปล่อยตนเองจากการครอบงำของระบอบสังคมเก่า (และเก่ากว่า) ขบวนการนี้รู้จักกันชื่อต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตย” “รัฐธรรมนูญ” หรือ “เสรีภาพ”

ขบวนการเช่นว่านี้เป็นผลพวงของแนวความคิดทางการเมืองใหม่ ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในช่วงที่สังคมไทยติดต่อสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ (ยุค อาณานิคม) ที่มีมหาอำนาจตะวันตกเป็นผู้นำและก็ก่อให้เกิดแนวความคิดทางการเมืองใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เสรีนิยม” และ “สังคมนิยม” อันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามและเป็นปฏิปักษ์กับลัทธิ “อนุรักษ์นิยม” หรือส่วนที่แตกหน่อออกมาเป็น “อำนาจนิยม” ที่เป็นพื้นฐานของ “สมบูรณาญาสิทธิ์” กับ “เสนา – อำมาตยนิยม”

ถ้าหากจะดูตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางความคิดนี้กินระยะเวลาอันยาวกว่า 100 ปี เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ลัทธิอาณานิคมตะวันตกได้บุกทะลวงเข้ามาในเอเชีย มาปรากฏอิทธิพลในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีการแปลรัฐธรรมนูญของอเมริกาลงพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ (มิชชันนารี) ในหนังสือจดหมายเหตุ 19 ตุลาคม 1865 (2408) จากนั้นมีการเรียกร้องให้มีการปกครองโดยมีตัวแทน (รัฐสภา) อย่างกรณีของนักคิดนักเขียน “ปัญญาชนของสังคม” อย่าง “เทียนวรรณ” ในสมัยรัชกาลที่ 5 (แต่เทียนวรรณก็ถูกจับติดคุกเสียตั้ง 17 ปี)

“ระยะ เวลาช่วงยาว” ทางประวัติศาสตร์ของขบวนการที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากระบอบเก่านี้ดำเนิน เรื่อยมาดังจะเห็นได้จาก “ประวัติศาสตร์เหตุการณ์” สมัยต่าง ๆ อย่างเช่น “การกบฏ ร.ศ. 130” เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ที่นายทหารหนุ่มจำนวนหนึ่งวางแผนที่จะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงจาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่กว่าจะมาประสบความสำเร็จ (ในระดับหนึ่ง) ก็เมื่อ “การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475”

อาจกล่าวได้ว่ากระแสความคิดทางการเมืองหลักของผู้ที่ต้องการจะปลดปล่อย นับตั้งแต่เทียนวรรณ มาถึงพวกกบฏ ร.ศ. 130 (เก็กเหม็ง) จนกระทั่ง “ผู้ก่อการ” หรือ “คณะราษฎร” 2475 นั้น เป็นความคิดด้านเสรีนิยมเป็นหลัก พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยและลัทธิรัฐธรรมนูญที่ได้รับความบันดาล ใจจากยุโรปตะวันตกนับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ที่ชูแนวความคิดว่าด้วยเสรีภาพ (เสมอภาค และภราดรภาพ) เป็นหลัก (ซึ่งอาจรวมถึงอิทธิพลของการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน ค.ศ. 1911 ที่มีซุนยัดเซ็นเป็นผู้นำด้วย) แม้จะมีอิทธิพลของสังคมนิยมอันเป็นผลพวงของการปฏิวัติรัสเซีย (1917) แทรกเข้ามา แต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นกระแสรอง และถูกสกัดกั้นไว้แต่แรก ๆ

ดังเป็นที่ทราบทั่วไปว่า การปลดปล่อยเข้าสู่ระบอบใหม่นั้นหาได้บรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ไม่ หลังการสิ้นสุดของ “สมบูรณาญาสิทธิ์” การเมืองไทยได้แปลงรูประบอบเข้าสู่ความเป็น “เสนา – อำมาตยนิยม” (ที่เรามักจะเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “เผด็จการทหาร” แต่ในความเป็นจริงนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงข้าราชการทหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงข้าราชการพลเรือนและข้าราชการตุลาการด้วย)

ดังนั้นสิ่งที่ขบวนการต้องเผชิญเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ก็คือปลดปล่อยตนเองอีกครั้งหนึ่งจากระบอบเก่า (ที่ ใหม่กว่า) กินระยะเวลาอันยาวนานไม่น้อย นับแต่การรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ (2490) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่วงระยะเวลาอันยาวนานของระบอบสฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส (2500 – 2516 ) จนกระทั่งปลดปล่อยตัวเองได้อีกครั้งหนึ่ง (และในระดับหนึ่งอีกเช่นกัน) เมื่อการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516

การปลดปล่อยตนเองนี้ยังยืดเยื้อยาวนานมาอีก ผ่านช่วงของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านช่วงของพฤษภามหาโหด 2535 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ซึ่งเราก็ยังคงไม่มั่นใจนักต่อทิศทางของประชาธิปไตยไทย) ในช่วงของทางเดินทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับแต่ 2519 เป็นต้นมา และเมื่อพิจารณาด้านของความคิดหลักของขบวนการนี้ ความคิดเสรีนิยมก็ยังคงเป็นความคิดกระแสหลักอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าในสมัยสั้น ๆ เพียง 3 ปีระหว่าง 2516 - 2519 นั้นกระแสของสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของลัทธิเหมาจะมีอิทธิพลต่อขบวนการปลดปล่อยไม่น้อย ทั้งนี้โดยที่ต้องศึกษาควบคู่ไปกับบริบทของการเมืองโลก

“ระยะเวลาช่วงยาว” ของการเมืองโลก

ในหนังสือเล่มล่าสุดของนักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ Eric Hobsbawm : The Age of Extremes, A History of the World , 1914 – 1991 (1994) ได้กล่าวถึงศตวรรษที่ 20 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปว่า ศตวรรษที่ 20 นี้เป็นศตวรรษที่แสนสั้น เป็นศตวรรษของความสุดขั้ว ความสั้นและความสุดขั้วนี้ดูได้จากช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1919 – 1991 คือจากปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ที่ตามมาด้วยการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่มีผลสั่นสะเทือนไปทั่วโลกรวมถึงสยาม – ไทยด้วย) และก็จบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ศตวรรษที่ 20 (1900 – 2000) เริ่มต้นด้วยยุคสมัยแห่งความหายนะ (1914 – 1945, Age of Catastrophy) ของสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ที่ความสุดขั้วและความรุนแรงจากสงครามทั้งสองครั้งในเวลา 30 กว่าปีนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามนุษยชาติอาจไปไม่รอด โลกอาจจะสิ้นสุดลงด้วยสงครามนิวเคลียร์ แต่แล้วก็ตามมาด้วยยุคทองสั้น ๆ (1950s –1970s, Golden Age) ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (ในกลุ่มโลกที่หนึ่ง และเครือข่ายจากกลุ่มโลกที่สาม พร้อม ๆ กับการเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ของค่ายทุนนิยม และสังคมนิยม และในสองสามทศวรรษที่เหลือก่อนจะปิดศตวรรษ (fin de siecle) ก็เป็นสมัยของวิกฤตการณ์หนึ่งต่อด้วยอีกวิกฤตการณ์หนึ่ง เป็นยุคสมัยของความไม่แน่นอน (แม้ในโลกทุนนิยม) และยิ่งในโลกที่สองอย่างรัสเซีย และยุโรปตะวันออกแล้ว ก็เป็นยุคสมัยของความพังทลายและความพินาศ

ศตวรรษที่ 20 กำลังปิดฉากลงด้วยเสียงที่เปรี้ยงปร้าง (bang) พร้อม ๆ กับเสียงครวญคราง (whimper) ความสุดขั้วและความรุนแรงของศตวรรษที่ 20 เห็นได้จากการทำลายชีวิตมนุษย์ทั้งที่เป็นประชาชนของประเทศศัตรู หรือประชาชนของตนเองแต่ต่างกันที่เผ่าพันธุ์และศาสนา (และความเชื่อทางอุดมการณ์) ประมาณกันว่า “มหามรณะ” (megadeath) ในศตวรรษนี้ที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง มีจำนวนถึง 187 ล้าน

เฉพาะในส่วนของโลกที่สาม ที่กลายเป็นเขตของสงครามนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว (ก็ตาม) จำนวนของชีวิตที่ถูกทำลายไปในสงครามเล็กสงครามน้อย (สงครามตัวแทน สงครามลัทธิ) กว่า 100 ครั้งมีถึง 20 ล้านคน แค่เพียงในเอเชียตะวันออกก็ตกตั้ง 9 ล้าน ในสงครามเกาหลี 3 – 4 ล้าน ในสงครามอันยาวนานในเวียดนาม 30 ปีกว่า 2 ล้าน จำนวนศพที่มากมายเป็นตัวเลขสถิติเหล่านี้ ดูเหมือนจะเกินกว่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะสร้างจินตนาการให้มองเห็นภาพได้

ควบคู่ไปกับความสั้น – สุดขั้ว – และรุนแรง ศตวรรษที่ 20 ก็เป็นทั้งผลพวงและรับอิทธิพลจากยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ (Age of Revolution) ที่มีรูปแบบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 และจากการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เปิดหัวด้วยความคิดเสรีนิยมและปิดท้ายด้วยความคิดสังคมนิยม กลายเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจไปทั่ว

ศูนย์กลางของการปฏิวัติทั้งสองครั้ง (ปารีส และมอสโคว์) พยายามที่จะส่งอิทธิพลของการปฏิวัติและรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงให้เป็น มาตรฐานระดับโลก และก็ได้รับการตอบสนองจากผู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่น ๆ ของโลกไม่น้อยแม้ว่าในปลายทศวรรษ 1950 มอสโคว์จะคลายมนต์ขลังของความเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติ ดังที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม พร้อม ๆ กับการที่ประเทศที่เดินแนวทางสังคมนิยมอย่างจีนและเวียดนามได้หันไปยึดแนว ทางชาตินิยมหรือผลประโยชน์ของชาติตน มากกว่าแนวทางสากลนิยมหรือการปฏิวัติโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีจีนที่หันไปร่วมมือกับสหรัฐฯ (แม้จะเป็นทุนนิยม) ต่อต้านสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980

แต่กระแสคลื่นของการปฏิวัตินั้นก็ยังคง กระจายอยู่ทั่วไป คละเคล้าด้วยความคิดทั้งแบบเสรีนิยมและสังคมนิยม ที่ผู้ที่ต้องการปลดปล่อยเปลี่ยนแปลงสังคมของตนจะใช้สร้างความบันดาลใจหยิบ ยืมไปดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1960 และ 1970 ที่เป็นยุคสมัยของขบวนการนักศึกษาทั่วทั้งสามโลก

ในโลกที่หนึ่งอย่างสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก (รวม ทั้งญี่ปุ่น) แนวความคิดปฏิวัติที่เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษา ปรากฏออกมาในแง่ของ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” มากกว่าที่นักศึกษาจะเข้ายึดอำนาจทางการเมือง เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในเชิงการปลดปล่อยตนเอง เป็นรูปแบบของการต่อต้านสถาบันเดิม (anti – establishment) ปลดปล่อยตนเองจากวัฒนธรรมเก่า สร้างวัฒนธรรมใหม่ ดังเห็นได้จากเพลงร็อค กางเกงยีน บุปผาชน ซ้ายใหม่ หรือขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม ฯลฯ

ขบวนการนักศึกษานี้เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก นักศึกษา (โดย เฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) คิด รับรู้ ประพฤติ ปฏิบัติ คล้าย ๆ กัน การอ่านหนังสือเล่มเหมือน ๆ กัน มีวีรบุรุษในจินตนาการคล้าย ๆ กัน (เชกูเวรา) ประหนึ่งเป็นเครือข่ายหลวม ๆ จากเบิกเล่ย์ ถึงซอร์บอนน์ จากปร๊าคถึงบอนน์ จากโตเกียวถึงกรุงเทพฯ (แม้ไทยจะอยู่ในโลกที่สาม นักศึกษาไทยจะแตกต่างจากลักษณะของนักศึกษาในโลกที่หนึ่งไม่น้อย แต่เนื่องด้วยค่ายสงครามเย็นที่ไทยสังกัดอยู่และเนื่องด้วยบทบาทของสหรัฐฯ ในไทย โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนาม ก็ทำให้นักศึกษาไทยมีส่วนร่วมและส่วนคล้ายกับนักศึกษาในโลกที่หนึ่งไม่น้อย)

รัฐในโลกที่หนึ่งดูจะแข็งแรงพอ คุ้นเคยกับการเรียกร้องเสรีภาพ และฉลาดพอที่จะจัดการกับขบวนการนักศึกษาของตน แม้จะมีการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับคนหนุ่มคนสาวของตน แต่โดยหลักใหญ่แล้วจะหลีกเลี่ยงการทำลายชีวิต (ยกเว้นในกรณีมหาวิทยาลัยเค้นท์ ปี 1970 ที่นักศึกษาถูกยิงตาย ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐฯ เกือบทำให้สังคมเป็นอัมพาต)

ขบวนการนักศึกษาในโลกที่หนึ่ง หาได้นำมาซึ่งการปฏิวัติในรูปแบบเก่าไม่ (1789 หรือ 1917) แต่ขบวนการนักศึกษาก็สั่นคลอนหลายรัฐบาล ในการประท้วงใหญ่ของนักศึกษาฝรั่งเศส 1968 (ที่ถูกตั้งฉายาว่า Almost Revolution) นั้นปารีสและอีกหลายเมืองกลายเป็นอัมพาตและก็เป็นผลทำให้นายพล (เหล็ก) เดอโกลล์ ไม่สามารถจะอยู่ในอำนาจได้อีกนานต่อไป ในทำนองเดียวกันนักศึกษาอเมริกันก็ทำให้ลินดอน จอห์นสัน ไม่กล้าที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยสอง (1968)

ขบวนการนักศึกษาโลก กลายเป็นพลังทางสังคมและการเมืองสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษที่กล่าวมาแล้ว (ซึ่งก็ตรงกับช่วงของก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งถึงก่อนและหลัง 6 ตุลาคม 2519) พลังนี้นักศึกษาได้มาจากการที่อยู่ในสถาบันทางความรู้ มีเวลาพอที่จะทำกิจกรรมอยู่ในเมืองใหญ่ใกล้กับอำนาจและสื่อมวลชน การที่จะจำกัดและกำจัดนักศึกษาทำไม่ง่ายนัก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมักจะมาจากชนชั้นนำของสังคม (หรือจากชนชั้นเดียวกันกับผู้มีอำนาจนั่นเอง)

ในโลกที่สาม รัฐดูจะเปราะบาง ไม่คุ้นเคยกับ (หรือ ไม่เป็น) ประชาธิปไตยและเสรีภาพ และไม่ฉลาดพอกับการจัดการกับขบวนการนักศึกษาของตน (โดยสันติวิธี) บ่อยครั้งรัฐจะทำเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรงและการทำลายชีวิตในการเผชิญกับปัญหา เป็นเรื่องเกือบจะปกติทีเดียวที่ในโลกที่สามจะเห็นรัฐประกอบ “อาชญากรรม” ดังเช่นในลาตินอเมริกา (อย่างเม็กซิโก ชิลี หรือ อาร์เจนตินา) หรืออย่างในเอเชียที่ภาพของ “อาชญากรรมโดยรัฐ” จะกลายเป็นภาพที่ค่อนข้างคุ้นหูคุ้นตา (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เกาหลี จีน ฯลฯ อันเป็นรายการและรายละเอียดยาวเหยียดแทบไม่รู้จบ)

น่าสนใจและน่าประหลาดใจไม่น้อย ที่แม้รัฐในโลกที่สามจะปราบปรามนักศึกษาและขบวนการปลดปล่อยของตนเองอย่าง หนัก แต่ขบวนการนักศึกษาในประเทศเหล่านี้ก็ยังเป็นพลังสำคัญ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่น้อย อย่างเช่นในเม็กซิโก 1968 เมื่อนักศึกษาประท้วง แต่รัฐปราบปรามทำลายชีวิตไป 28 คน การเมืองเม็กซิโกก็ไม่สามารถหันกลับไปสู่อำนาจนิยมได้เช่นเดิม เช่นเดียวกับไทย 14 ตุลาคม (1973) ที่เมื่อรัฐทำลายชีวิตไป 70 กว่าคน ระบอบถนอม – ประภาส – ณรงค์ ก็ไม่สามารถจะดำรงอยู่ต่อไปได้

ไทยแลนด์ 1973 สร้างความบันดาลใจให้ขบวนการนักศึกษากรีก ที่ร้องตะโกนคำว่าไทยแลนด์ ๆๆๆๆ ประหนึ่งจะแปลว่า เสรีภาพ ๆๆๆๆ ในการประท้วงและขับไล่รัฐบาลอำนาจนิยม (เสนา – อำมาตยนิยม) ของตน

อาจสรุปได้ว่า จากระยะเวลาช่วงยาวของการเมืองโลก กระแสความคิดที่จะปลดปล่อยและพลังของขบวนการนักศึกษานี้แหละ ทำให้เห็นที่มาและที่ไปของ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 เยาวชนคนหนุ่มสาวมี “ความฝัน” ที่จะเห็นโลกใหม่ของเขาและเธอ ในฐานะของโลกที่สาม นักศึกษาไทยก็เข้าไปใกล้และสั่นคลอนอำนาจของรัฐมากกว่าเพื่อนร่วมรุ่นของ เขาและเธอในโลกที่หนึ่ง

ขบวนการนักศึกษาไทยช่วง 2516 – 2519 ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของ “ช่วงระยะเวลายาว” ของการเมืองไทยกว่า 100 ปี ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ช่วงระยะเวลายาว” ของการเมืองโลกกว่า 2 ศตวรรษ มาพร้อมและทันกับระยะเวลาของการปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลงของโลกครึ่งหลังของ ศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เมื่อถึงทศวรรษ 1980 ทุกอย่างก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง สหภาพโซเวียต (และระบบสังคมนิยม) ล่มสลาย เศรษฐกิจการตลาด (คำที่ใช้แทนทุนนิยม) และ (ความกระสัน) โลกาภิวัตน์ก็ผงาดจนถึงกับเชื่อกันว่าเราจะมุ่งไปข้างหน้าพร้อมด้วย “ความพินาศของอดีต” และ “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” กระนั้นแหละ (หรือ)


ที่มา : พนม เอี่ยมประยูร (บ.ก.) 20 ปี 6 ตุลา, กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539, หน้า 59-66
--------------------------------------------------------------
บทความนี้ link มาจาก //thaisolidarity.org/final/knowlage.php?subject_txt=knowlage&level=1&mon_txt=10&year_txt=05
































-------------------------------------------------------------

ประชาธิปไตยของเรา แลกมาด้วยความสูญเสียและความเจ็บปวด คิดจะดำเนินมาตรการอะไร ขอให้ทำอยู่ในระบอบประชาธิปไตย มองย้อนไปยังเส้นทางกว่าจะได้มา อย่าให้เขาเหล่านั้นเสียสละโดยเปล่าประโยชน์

ปล.ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นี้นำมาจากแหล่งอื่น มิได้นำมาจากหนังสือในบทความด้านบน





 

Create Date : 08 กันยายน 2549    
Last Update : 8 กันยายน 2549 4:08:37 น.
Counter : 381 Pageviews.  

บทความดีๆ ของ ดร.โกร่ง

ขออนุญาติเอาบทความในกระทู้เก่าๆดีๆมาให้อ่านกันนะครับ

บทความของ ดร.โกร่ง.. วีรพงษ์ รามางกูร
จาก คอลัมภ์คนเดินตรอก
เรื่อง คนไทย กับประชาธิปไตย บางช่วงบางตอนมาให้อ่าน

เป็นเรื่องความเห็นของเพื่อนชาวอเมริกันที่เป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ที่อเมริกาที่ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับเหตุการณ์การเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2549 มาให้อ่านกันค่ะ...ยาวหน่อย แต่น่าสนใจ

ข้อแรก
เขาตั้งข้อสังเกตคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยที่เป็นคนชั้นกลาง และคนในระดับสูง
รวมทั้งปัญญาชน ครูบาอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยที่สะท้อนออกมาจากปฏิกิริยาต่อกระแสทางความคิดทางการเมือง ยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำทางความคิดในระบอบประชาธิปไตยสังเกตได้จากกระแสความคิดที่ไม่เชื่อขบวนการทางการเมืองประชาธิปไตยเช่น ขบวนการทางกฎหมาย ขบวนการตัดสินข้อขัดแย้งต่างๆ โดยองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง .....ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรต่างๆ หากการชี้ขาดขององค์กรต่างๆ ตัดสินไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน..........

ข้อที่สอง
คนไทยมีอารมณ์ทางการเมืองรุนแรงไม่แพ้ประเทศทางตะวันตก แต่คนทางตะวันตกนั้นจะดำเนินการตามกรอบของระบบกฎหมายในกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่คนไทยระดับสูงและระดับกลางให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายของตนน้อยมาก จะสังเกตได้จากการรายงานหรือความคิดเห็นที่ออกมาผ่านสื่อมวลชน การเรียกร้องบีบบังคับเป็นไปในทิศทางนอกกรอบรัฐธรรมนูญ นอกระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง..........แท้จริงลึกๆ ในใจของคนที่มีการศึกษา แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ทางรัฐศาสตร์และกฎหมาย ยังนิยมระบบอำนาจนิยม การยึดอำนาจรัฐโดยไม่ผ่านขบวนการตามระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้นำขบวนการชุมนุมกระทำการเสมือนว่าตนได้ยึดอำนาจรัฐสำเร็จแล้ว สามารถออกคำสั่งให้รัฐบาลก็ดี องค์กรอิสระต่างๆ กระทำการหรือตัดสินไปตามทิศทางที่ตนต้องการ ฟังดูเหมือนกับการออกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว คล้ายกับเป็นการยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว.... เพียงแต่ไม่ใช่การยึดอำนาจรัฐโดยกองทัพถ้าเป็นประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากลึกแล้ว ประชาชนจะไม่ยอมรับการออกคำสั่งอย่างนี้ จะยอมรับเฉพาะการชุมนุมเรียกร้องแสดงความคิดเห็นอย่างสงบเพื่อให้รัฐบาลหรือรัฐสภาดำเนินการให้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญและขบวนการยุติธรรม อันเป็นสถาบันที่เขายอมรับนับถืว่าเมื่อเรื่องถึงรัฐบาล ถึงรัฐสภา และสถาบันยุติธรรมแล้วก็เป็นอันยุติ ..........แต่ของเราไม่เป็นเช่นนั้น อาจจะเป็นเพราะประวัติศาสตร์การเมืองของเรามีปฏิวัติรัฐประหารบ่อย ยกเลิกและร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อยู่เรื่อยๆ รัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขบวนการประชาธิปไตย
จึงไม่มีใครสนใจให้ความสำคัญ ให้ความเคารพเหมือนกับยุโรปหรืออเมริกา........

ข้อที่สาม
การเมืองและธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องกันมานานแล้ว ในสมัยก่อนตอนที่โลกมีสงครามเย็น ประเทศไทยก็มีรัฐบาลที่ตั้งโดยทหาร คณะรัฐมนตรีส่วนมากมาจากระบบราชการ เป็นบุคคลที่มีประวัติชื่อเสียงดี
แต่ทหารก็ให้การอุปถัมภ์แก่พ่อค้านายทุนในการที่จะได้การผูกขาด เพื่อแสวงหากำไรจากการผูกขาด หรือที่ภาษาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ เรียกว่า "ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ" หรือ "economic rent" .....
ส่วนผู้นำทางทหารทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่มีธุรกิจของครอบครัว อย่างมากก็ไปนั่งเป็นประธานธนาคาร หรือธุรกิจใหญ่ๆ ทุกเช้าพ่อค้านายทุนก็ไปนั่งเฝ้าบันไดบ้าน.. สังคมรับได้ พ่อค้าตระกูลเก่าๆ ก็เริ่มมาอย่างนั้น รุ่นลูกหลานอาจไม่เคยเห็น เพราะกำลังไปเรียนหนังสืออยู่เมืองนอกขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ระบบการเมืองเป็นแบบประชาธิปไตยแบบเปิด ประชาชนผู้ออกเสียงลงคะแนนกลับเป็นฝ่ายเรียกร้องเงินทอง เรียกร้องให้ช่วยเหลืออุปถัมภ์ในรูปแบบต่างๆ นายทุนพ่อค้าแทนที่จะต้องเข้าไปซูฮก เค้าเต๋า ผู้มีอำนาจก็รวมตัวกันตั้งพรรคส่งลูกหลานลงสมัครรับเลือกตั้งเสียเอง ตระกูลนายทุนเก่าจึงยอมรับได้.........สมาชิกสภาผู้แทนจึงเต็มไปด้วยชนชั้นพ่อค้านายทุนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด แทบจะไม่มีลูกหลานชนชั้นอื่นเลย กว่าร้อยละ 90 เป็นคนไทยเชื้อสายพ่อต้านายทุนทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรม พฤติกรรมทางการเมืองจึงเปลี่ยนไป ค่านิยมและคุณค่าทางการเมืองก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว.. แต่ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น...ตัดสินรวดเร็วมากขึ้น ไม่ "เชื่องช้า" แบบเก่า
ข้าราชการถูกจี้ให้ทำงานเร็วขึ้น มิฉะนั้นจะถูกย้าย ภาพลักษณ์ของผู้นำก็เปลี่ยนไป.. คนไทยไม่คุ้นเคยคนไทยจึงอยู่ในช่วงสับสน ในหมู่ข้าราชการย่อมไม่ชอบใจแน่ เพราะปลัดกระทรวงเป็นที่พึ่งอย่างเดิมไม่ได้แล้ว .........รัฐมนตรีเข้ามาตัดสินใจไล่จี้งานเองส่วนคนร่ำรวยตระกูลเก่าก็ยังรับนักการเมืองและผู้นำรุ่นใหม่ไม่ได้ เพราะยังติดกับผู้นำและรัฐบาลที่อ่อนแอ ผสมกันหลายพรรค
พูดจามีมารยาท ไม่อหังการ ยังยอมรับการเป็นรัฐบาลที่มาจากชนชั้นพ่อค้าซึ่งเป็นชนชั้นเดียวกับตนไม่ได้ เหตุการณ์ที่ผ่านมา ถ้าทหารปฏิวัติรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ขับไล่รัฐบาลออกไป ใช้อำนาจปฏิวัติยึดทรัพย์นักการเมือง คนในกรุงเทพฯจะยินดีปรีดา .........แล้วอีกปีหนึ่งก็ชุมนุมขับไล่รัฐบาลกันใหม่

ข้อที่สี่
คนไทยชั้นสูงยังยึดถือที่ตัวบุคคลมากกว่าระบบ ซึ่งขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย
เมื่อไม่ชอบหรือเกลียดชังเสียแล้ว ก็ไม่คำนึงถึงระบบ จะทำอย่างใดก็ได้ขอให้บุคคลผู้นั้นพ้นๆ ไป
ถ้าจะอยู่ต่ออีกสักวันหนึ่งก็เหมือนบ้านเมืองจะล่มสลาย.......ข้อกล่าวหาบางอย่าง แม้จะรู้ว่าไม่ได้ผิดกฎหมายก็พร้อมจะเชื่อ และข้อกล่าวหาบางข้อที่กล่าวหาว่าฝ่ายตรงกันข้ามทำผิดกฎหมายก็ไม่สนใจที่จะติดตามให้ได้ข้อมูลลึกเพื่อที่จะสามารถเอาผิดได้ตามกฎหมาย คนกลุ่มนี้ไม่ได้สนใจแยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิด เวลารักทุกอย่างก็ถูกไปหมด........ เวลาเกลียดเวลาไม่ชอบทุกอย่างก็ผิดหมด
เป็นสังคมแบบไฟไหม้ฟาง
ข้อที่ห้า
สังคมชั้นสูงและชั้นกลางมีแนวโน้มที่จะเชื่อข่าวลือมากกว่าข่าวจริง หลายเรื่องถ้าหยุดคิดแล้วก็จะไม่เชื่อ แต่คนไทยชอบเชื่อข่าวลือที่ถูกใจตัว ข่าวจริงที่ไม่ถูกใจตัวจะไม่ยอมเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวร้ายและข่าวโจมตีกัน......สื่อมวลชนซึ่งเข้าใจจิตวิทยาเช่นว่านี้ ก็ถือโอกาสกระพือข่าวลือเพื่อประโยชน์ทางการค้า เพิ่มยอดขายหนังสือพิมพ์...... แล้วผู้จัดรายการวิทยุ ก็เอาข่าวหนังสือพิมพ์ไปอ่านและขยายข่าวลือต่อ...........สื่อมวลชนไทยนั้นมีอิสระเสรีภาพมากที่สุดในโลก แม้จะเทียบกับอเมริกาหรือยุโรป ไม่ถูกควบคุมโดยใครเลย ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือสมาคมวิชาชีพของตนเอง ผู้คนแม้แต่รัฐมนตรีข้าราชการผู้ใหญ่ นักธุรกิจล้วนแต่เกรงกลัวและเกรงใจ นักข่าวเด็กๆ อายุ 20-30 ปี สามารถนัดพบรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี นายธนาคาร นักธุรกิจใหญ่ๆได้ เพราะไม่มีใครอยากขัดใจสื่อมวลชน...........ผู้ที่เสียหายจากการลงข่าวที่จริงและไม่จริง หรือจริงเพียงครึ่งเดียว มักจะต้องทำเฉยเสีย .....หากทำอะไรไปและยิ่งเป็นผู้มีอำนาจก็จะถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงสื่อมวลชน แม้กระทั่งการใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องร้องทางศาลถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงปิดกั้นสื่อมวลชนทันที ซึ่งสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่มีอภิสิทธิขนาดนี้........การที่สื่อมวลชนไทยมีอิสระเสรีภาพและอภิสิทธิสูงมากอย่างนี้ ประเทศไทยจึงเป็นที่สื่อมวลชนต่างๆทั่วโลก ส่งนักข่าวเด็กๆ นักข่าวมือใหม่มาฝึกงานก่อนจะรับเข้าบรรจุ เพราะถ้ามาอยู่เมืองไทยแล้วยังทำข่าวไม่ได้ก็จะไม่ได้รับการบรรจุ เพราะสังคมไทยเปิดกว้างอย่างที่สุด และสื่อมวลชนมีอภิสิทธิสูงที่สุดในโลกแล้ว........ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยและรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ รัฐบาล พล.อ.เปรม รัฐบาลคุณอานันท์ รัฐบาลคุณบรรหารและคุณชวน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นต้นมา
ไม่มีทางเป็นรัฐบาลเผด็จการได้เลย .......เป็นได้แต่รูปแบบ...เนื้อหาเป็นไม่ได้ แต่ผลเสียก็มี....
เพราะหลายคนหลายครั้งก็ถูกหนังสือพิมพ์ละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ หรือไม่กล้าแม้แต่การใช้สิทธิตามกฎหมายทางศาล...

ข้อที่หก
เพื่อนผมค่อนข้างผิดหวังนักวิชาการ ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ รวมทั้งสมาคมทนายความ และผู้ที่มีวิชาชีพทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ ซึ่งในประเทศอื่นจะเป็นผู้ที่เรียกร้องให้ประชาชนยืนหยัดในหลักของการปกครองในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ปัญญาชนไทยทางด้านนี้กลับชี้นำให้สังคมละทิ้งหลักการปกครองตามกฎหมาย โดยการอ้างจริยธรรมบ้าง... ความชอบธรรมบ้าง.........หลักความชอบธรรมตามกฎหมายนั้นเป็นหลักที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร มีสถาบันซึ่งจะชี้ขาดเป็นที่ยุติของปัญหาความขัดแย้งได้เป็นรูปธรรม เนื้อหาของกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ดี ปกติก็จะสะท้อนจริยธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณีของระบอบการปกครองอยู่แล้ว แต่การไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระบอบการปกครอง รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ก็เท่ากับเป็นการเรียกร้องบีบบังคับตามอำเภอใจ.......ส่วนหลักความชอบธรรมที่อ้าง "จริยธรรม" ที่เกินกว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประเพณีขนบธรรมเนียม การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม เลื่อนลอย ไม่แน่นอน
เปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มชน เช่น ชั้นสูง ชั้นกลาง มีมาตรฐาน จริยธรรมอย่างหนึ่ง ชั้นล่างอย่างหนึ่ง ....เปลี่ยนแปลงไปตามภูมิภาค ภาคใต้ว่าอย่าง ภาคเหนือ ภาคอีสานว่าอย่าง และเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น ปี 2547 ว่าอย่าง ปี 2549 ว่าอย่าง ต่อไปปี 2550 อาจจะว่าอีกอย่างก็ได้ การตัดสินความชอบธรรมบนพื้นฐานของ"จริยธรรม"จึงเลื่อนลอย ไม่เหมือนความชอบธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของ "ระบบ" "หลักการ" และ "กฎหมาย" ซึ่งเป็นรูปธรรม อ้างอิงได้ ถ้าระบบและหลักการควรจะเปลี่ยนเพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป กฎหมายก็เปลี่ยนได้ตามขบวนการ แต่ระหว่างที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง
ก็ต้องใช้ความชอบธรรมบนพื้นฐานของกฎหมายที่ยังใช้บังคับอยู่.........ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจจะเป็นเพราะว่า เรามีรัฐบาลทหาร ที่มีทหารเป็นนายกรัฐมนตรีเองหรือมีนายกรัฐมนตรีที่ทหารแต่งตั้ง
ซึ่งไม่มีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ หรือตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข หรือบางครั้งจะชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่คณะปฏิวัติหรือสภาร่างรัฐธรมนูญที่คณะทหารตั้งขึ้นมา การต่อต้านจึงต้องต่อต้านนอกรอบของรัฐธรรมนูญ
โดยอ้างความไม่ชอบธรรมของระบอบหรือระบบได้ชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มคน ภูมิภาค และกาลเวลาในโลกสมัยใหม่ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาเที่ยวนี้ไม่เหมือนกัน เป็นการอ้างความไม่ชอบธรรมที่ไม่ใช่ความชอบธรรมของระบอบหรือที่มาของรัฐบาล แต่การอ้างความไม่ชอบธรรมบนพื้นฐานของ "จริยธรรม" ซึ่งเลื่อนลอย ถ้าทำได้สำเร็จก็จะเป็นความเสียหายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวอย่างยิ่ง

ข้อที่เจ็ด
เพื่อนอเมริกันตัวแสบของผมยังแสดงความผิดหวังต่อพรรคการเมืองของไทย ทั้งพรรคการเมืองที่เก่าแก่ พรรคที่เก่ากลาง พรรคที่กลางเก่ากลางใหม่ พรรคการเมืองควรจะเป็นสถาบันที่เป็นผู้นำทางความคิด เผยแพร่ปรัชญา จิตสำนึก และปฏิบัติตนเป็นนักประชาธิปไตย แต่วิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้ ผู้นำพรรคการเมืองกลับไปร่วมเรียกร้องให้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดกฎหมาย ละเมิดข้อเท็จจริง รวมทั้งปฏิเสธขบวนการรัฐสภา ปฏิเสธขบวนการให้กลับไปสู่การตัดสินใจของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าขบวนการเลือกตั้งนั้นไม่ชอบธรรม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ปฏิเสธกรรมการเลือกตั้ง รวมทั้งคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ที่เหลือเชื่อก็คือสื่อมวลชนซึ่งควรจะเป็นสถาบันที่ต่อต้านการปฏิเสธขบวนการประชาธิปไตย กลับไปเห็นด้วยและสนับสนุน..........ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเป็นการสร้างประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ระบอบรัฐสภา การเรียกร้องกดดันทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นการเรียกรองและกดดันให้มีการดำเนินการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเลย และที่แปลก "นักประชาธิปไตย" ทั้งหลายกลับรับได้ ไม่ตะขิดตะขวงใจเลย..........

ข้อที่แปด
การกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยอ้างความไม่ชอบธรรมบนพื้นฐานของ "จริยธรรม" นั้นเป็นอันตรายที่สามารถสร้างความแตกแยกในสังคม เพราะมาตรฐานของจริยธรรมของผู้คน ต่างหมู่เหล่าต่างภูมิภาคจะต่างกัน ไม่เหมือนความชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนรากฐานของรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระบบ เพราะกฎหมายและระบบมีอันเดียว.... อย่างมากก็อาจจะตีความแตกต่างกันเท่านั้นและยุติได้โดยการยอมรับการตัดสินขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่

ข้อที่เก้า
เพื่อนผมเคยตั้งข้อสังเกตว่าการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบมีสองพรรคใหญ่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้พัฒนาไปเร็วมาก... แต่ตอนนี้ชักจะไม่แน่ใจเสียแล้ว เพราะความไม่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยตามระบอบรัฐสภาของพรรคการเมือง ของปัญญาชน ของครูบาอาจารย์ รวมทั้งสื่อมวลชนที่เป็นกระแสหลักของประเทศที่จะเป็นผู้นำทางความคิด..........ที่เห็นชัดก็คือ ยังชอบระบบการเมืองที่เละๆ มีรัฐบาลที่อ่อนแอ คอยเอาใจคนโน้นคนนี้ อ่อนน้อมถ่อมตน พูดจามีคารมคมคาย จะมีผลงานหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ชอบที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยๆ
ไม่ต้องทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน..........
คุยกับเพื่อนอเมริกันเที่ยวนี้ผมรีบตัดบทแล้วรีบลากลับก่อนเขาจะพูดจบ




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2549    
Last Update : 29 สิงหาคม 2549 13:35:48 น.
Counter : 271 Pageviews.  

1  2  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.