VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 

ฺBlackwater นักรบรับจ้างในอิรัค

ทหารรับจ้างแห่งสมรภูมิอิรัก

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552







ตำนานของ “ทหารรับจ้าง” หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “นักรบรับจ้าง” ซึ่งตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ว่า Mercenary นั้นมีมาตั้งแต่อดีตกาล ในสงครามยุคโบราณล้วนมีการบันทึกถึงนักรบรับจ้าง ที่ยอมแลก “ชีวิต” เพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง และทรัพย์สินเงินทอง

ตัวอย่างเช่น ฟาโรห์รามีเสสที่ 2 แห่งอียิปต์ได้ใช้ทหารรับจ้างจากลิเบีย และซีเรียจำนวนกว่า 11,000 คนมาประจำการในกองทัพของพระองค์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ก่อนคริสตกาล เพื่อทำการรบในนามของกองทัพอียิปต์

นอกจากนี้จากบันทึกประวัติศาสตร์การรบในยุโรปปลายยุคกลางจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 จะเห็นชื่อของหน่วย “คอนดอตติเอโร (Condottiero)” ซึ่งเป็นกองทหารรับจ้างจากประเทศอิตาลีปรากฏอยู่หลายครั้งหลายครา โดยหน่วยทหารดังกล่าวเป็นหน่วยทหารอิสระ ไม่ขึ้นการบังคับบัญชากับรัฐใด พวกเขาจะปฏิบัติหน้าที่ก็ต่อเมื่อถูกว่าจ้างจากนครรัฐในอิตาลีหรือจากพระสันตะปาปาเท่านั้น

ในสงครามยุคปัจจุบัน “ทหารรับจ้าง” หรือ “นักรบรับจ้าง” ได้กลายเป็นหน่วยทหารที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ดังเช่น ทหารกรุข่าแห่งเนปาลก็ถือเป็นนักรบรับจ้างชั้นเยี่ยมของอังกฤษ หรือทหารรับจ้างจากแอฟริกาใต้ที่เข้าไปทำสงครามในประเทศคองโกในช่วงปี 1960 – 1965

บางประเทศถึงกับมีการส่งออกทหารรับจ้างออกไปรับจ้าง “รบ” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น ทหารรับจ้างจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย โบลิเวีย ฟิลิปปินส์ และอูกานดา เป็นต้น ซึ่งหากทหารรับจ้างเหล่านี้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จ มีชีวิตรอดกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนได้ พวกเขาก็จะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับตนเองและครอบครัวเลยทีเดียว






สำหรับคำว่า “ทหารรับจ้าง” นั้น ได้มีการให้คำจำกัดความไว้สองประการคือ

ประการแรกเป็นทหารที่ถูกจ้างโดยบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารหรือ พี เอ็ม ซี (PMC – Private Military Company) และ

ประการที่สองเป็นนักรบอิสระที่ถูกว่าจ้างโดยรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งหรือกลุ่มธุรกิจใดๆ ก็ตามโดยไม่ผ่าน PMC ก็ได้ นักรบรับจ้างเหล่านี้ มักจะถูกมองว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินตรา ไร้อุดมการณ์ ดังเช่นนักรบรับจ้างที่ปฏิบัติภารกิจให้กับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดที่ทรงอิทธิพลในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ หรือถูกว่าจ้างโดยรัฐบาลเผด็จการที่โหดเหี้ยมในทวีปแอฟริกา

ทำให้ “ทหารรับจ้าง” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบมากกว่า “ทหารประจำการ” ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นหน่วยทหารที่รบด้วยความเสียสละเพื่อประเทศชาติ

อย่างไรก็ตามมีหลายครั้งหลายครา ที่ทหารรับจ้างได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติภายใต้สัญญาที่กระทำต่อบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารหรือ PMC เช่น สงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ที่ทหารรับจ้างจำนวนมากจากบางประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการแผ่ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าสู่ประเทศของตนตามแนวคิด “ทฤษฎีโดมิโน”

ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ดำรงสถานะเป็น “นักรบรับจ้าง” ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายครั้งที่ทหารรับจ้างได้ใช้ความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นการบังคับบัญชา และไม่ติดอยู่กับกฏระเบียบให้เกิดประโยชน์ ด้วยการปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามกลางเมืองในทวีปแอฟริกาได้อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในขณะที่กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UNPKF – United Nations Peacekeeping Forces) ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากติดขัดกฎระเบียบเรื่อง “กฎการใช้กำลัง” ที่อนุญาตให้กองกำลังรักษาสันติภาพดังกล่าวใช้อาวุธได้เพียงเพื่อการป้องกันตัวเองเท่านั้น






ในห้วงเวลาที่โลกถูกครอบคลุมด้วยสงครามเย็น มีบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารที่รับจัดหา “ทหารรับจ้าง” เข้าไปปฏิบัติภารกิจทั่วโลกที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักอยู่ 4 บริษัทประกอบด้วย

1. บริษัทเอคเซคคิวทิฟ เอาท์คัมส์ (Executive Outcomes) ซึ่งปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่ปี 1998 บริษัทนี้จัดส่งทหารรับจ้างออกไปทำการรบทั่วโลก เช่น อังโกล่า และเซียร่าลีโอน

2. บริษัทแซนด์ไลน์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Sandline International) ส่งทหารรับจ้างออกไปปฏิบัติภารกิจอยู่ในปาปัวนิวกินีและเซียร่าลีโอน บริษัทนี้ปิดกิจการไปตั้งแต่ปี 2003

3. บริษัทรักษาความปลอดภัยกรูข่า (Gurkha Security Guards, Ltd.) รับจ้างทำสงครามในประเทศเซียร่าลีโอน

4. บริษัทดินคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล (Dyncorp International) รับจ้างส่งทหารเข้าไปร่วมรบในบอสเนีย โซมาเลีย อังโกล่า เฮติ โคลอมเบีย คูเวต และปัจจุบันยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ในอัฟกานิสถาน

จนกระทั่งเมื่อโลกได้ก้าวผ่านจากยุคสงครามเย็นเข้าสู่ยุคแห่งการก่อการร้ายตั้งแต่เหตุการณ์การโจมตีอาคารเวิร์ดเทรด เซนเตอร์ในปี 2001 ส่งผลให้สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต้ เปิดฉากการส่งทหารเข้าไปในประเทศอัฟกานิสถานและประเทศอิรักในปี 2002 - 2003 เป็นต้นมา

ซึ่งการรบในสมรภูมิทั้งสองประเทศ มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการใช้เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหาร และทหารรับจ้างเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารหรือ PMC จะถูกว่าจ้างจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เช่น การคุ้มกันเจ้าหน้าที่ทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนคุ้มกันสถานที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในอัฟกานิสถานและอิรัก เป็นต้น

ธุรกิจ “ทหารรับจ้าง” ของสหรัฐอเมริกาเฟื่องฟูอย่างมากในปี 2004 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเซ็นสัญญาว่าจ้างบริษัทแบล็ควอเตอร์ (Blackwater) ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจด้านการทหารในอิรัก ส่งผลให้ชื่อของ “แบล็ควอเตอร์” กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2004 ที่สมาชิกสี่นายของบริษัทดังกล่าวถูกสังหารขณะปฏิบัติหน้าที่คุ้มกันขบวนลำเลียงอาหารและยุทธภัณฑ์ในพื้นที่เมืองฟัลลูจาห์ (Fallujah) โดยรถยนต์นั่งตรวจการณ์ของคนทั้งสี่แล่นออกนอกเส้นทางที่กำหนด ก่อนที่จะผ่านเข้าไปในย่านชุมชนของเมืองและถูกระดมยิงจนเกิดไฟลุกท่วมทั้งคัน สามในสี่ของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายถูกระบุว่า เป็นอดีตหน่วยรบพิเศษที่มีประสบการณ์ในการสู้รบมาหลายสมรภูมิก่อนที่จะลาออกจากกองทัพมารับภารกิจเป็นนักรบรับจ้างให้กับแบล็ควอเตอร์

ศพของทั้งสี่ถูกประชาชนลากไปตามท้องถนนแล้วแขวนประจานไว้กับโครงสะพานท่ามกลางการโห่ร้องแสดงความยินดีของชาวเมือง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทัพสหรัฐฯ เปิดฉากการโจมตีเมืองฟัลลูจาห์เป็นครั้งแรก

นับจากนั้นมาเรื่องราวอันน่าสนใจของแบล็ควอเตอร์ก็เริ่มหลั่งไหลพรั่งพรูออกมาสู่สาธารณชน สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ แบล็ควอเตอร์นั้นเป็นบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารหรือ PMC ของสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 1996

เริ่มต้นด้วยการเป็นสถานที่ฝึกทางยุทธวิธีให้กับอดีตกำลังพลของกองทัพหรือพลเรือนทั่วไปที่สนใจในการใช้อาวุธ หรือการปฏิบัติการรบ โดยมีที่ตั้งของสนามฝึกอยู่ในพื้นที่ป่ารกร้างอันกว้างใหญ่ถึง 5,200 เอเคอร์ของมลรัฐนอร์ท แคโรไลนา (North Carolina)

ส่วนสำนักงานนั้นตั้งอยู่ที่เมืองแมคลีน (McLean) มลรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) ใกล้ๆ กับสำนักงานใหญ่ของหน่วยข่าวกรองกลางหรือ ซี ไอ เอ นั่นเอง จนถึงปัจจุบันมีทหารรับจ้างอยู่ในสังกัดเป็นจำนวนกว่า 20,000 นาย






และที่น่าสนใจก็คือ แบล็ควอเตอร์มีกองกำลังทางอากาศเป็นของตนเอง ประกอบด้วยอากาศยานกว่า 20 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้มีอากาศยานปีกหมุนติดอาวุธโจมตีภาคพื้นดิน หรือเฮลิคอปเตอร์กันชิพ (Gunship Helicopter) จำนวนหนึ่งด้วย




อีริค ปริ้นซ์ (Erik Prince)



ผู้ก่อตั้งแบล็ควอเตอร์คือ อีริค ปริ้นซ์ (Erik Prince) อดีตนายทหารจากหน่วยเนวี ซีล (Navy Seal) อันเลื่องชื่อของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งมีประวัติของการเป็นพวกเคร่งศาสนาและนิยมขวาจัด จนถูกมองว่าเขาเป็นตัวแทนของสงครามครูเสดยุคใหม่

ปริ้นซ์มาจากครอบครัวนายธนาคารที่มั่งคั่งและเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อดีตประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช ส่งผลให้แบล็ควอเตอร์ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการรักษาความปลอดภัยต่างๆ อย่างมากมาย ดังปรากฏข้อความอยู่ในเวปไซด์ของบริษัทว่า

“ ... บริษัทของเรารับดำเนินการต่างๆ เพื่อความมั่นคงของโลกในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งแก้ปัญหาด้วยการดำเนินการทางยุทธวิธีในหลายรูปแบบ โดยมีประวัติในการรับดำเนินการให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงบริษัทข้ามชาติต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯ และมิตรประเทศทั่วโลก ... ”

บริษัทแบล็ควอเตอร์นับเป็นบริษัทที่อัตราการเจริญเติบโตสูงมากบริษัทหนึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 เนื่องจากมีผลกำไรจากการประกอบการจำนวนมหาศาล ทหารรับจ้างส่วนใหญ่ของแบล็ควอเตอร์มาจากอดีตกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯ โดยเฉพาะหน่วยเนวี่ ซีล และหน่วยรบพิเศษของนาวิกโยธิน รวมไปถึงหน่วยสวาท (SWAT) ของตำรวจสหรัฐฯ และทหารรับจ้างจากทั่วโลก

สำหรับผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ของบริษัทก็คือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ “เพนตากอน” นั่นเอง ตัวอย่างเช่น ในปี 2002 แบล็ควอเตอร์เซ็นสัญญา 5 ปีมูลค่า 37 ล้านเหรียญกับกองทัพเรือสหรัฐฯ ในการจัดการฝึกให้กับกำลังพลของกองทัพเรือในการรักษาความปลอดภัยบนเรือ การจัดชุดระวังป้องกัน เทคนิคการค้นหาและเข้ายึดที่หมาย เป็นต้น

นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน แบล็ควอเตอร์ยังได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลชิลีในการฝึกกำลังพลชุดคอมมานโด ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่น การจู่โจมและการตรวจค้นเพื่อเตรียมการเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจกับกองทัพสหรัฐฯ ในอิรัก และในปี 2003 บริษัทก็เซ็นสัญญามูลค่า 21 ล้านเหรียญกับกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการรักษาความปลอดภัยให้กับนายเลวิส พอล เบรเมอร์ ผู้บริหารสูงสุดของสหรัฐฯ ในช่วงที่เข้ายึดครองอิรักโดยจัดกำลังพลทหารรับจ้างพร้อมเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำทำหน้าที่ในการคุ้มกัน

อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประวัติและชื่อเสียงของแบล็กวอเตอร์ต้องด่างพร้อยไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยิงใส่ฝูงชนชาวอิรักกลางกรุงแบกแดดเมื่อปี 2007 ทำให้หน่วยรักษาความปลอดภัยและประชาชนผู้บริสุทธิ์ชาวอิรักเสียชีวิตถึง 17คน โดยทางการอิรักถึงกับมีการออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับการเข้ามาปฏิบัติภารกิจของนักรบรับจ้างจากบริษัทแบล็ควอเตอร์ รวมถึงจะไม่ต่ออายุสัญญาการปฏิบัติงานและวีซ่าให้กับบุคคลเหล่านี้

แม้แต่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เองก็มีการประกาศยกเลิกสัญญาว่าจ้างบริษัทแบล็ควอเตอร์และเหล่านักรบรับจ้างของบริษัท ในการปฏิบัติภารกิจในการรักษาความปลอดภัยและคุ้มกันบุคลากรของกระทรวงฯ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในอิรัก อีกทั้งมีการดำเนินคดีนักรบรับจ้างของแบล็กวอเตอร์ 5 นายที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอีกด้วย

แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะคลุมเครือ ไม่ชัดเจนและเต็มไปด้วยความสับสน เพราะแม้ว่าแบล็ควอเตอร์จะหมดสัญญาจ้างไปแล้วตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีการให้เอกสิทธิ์พิเศษแก่สมาชิกของบริษัทในการเดินทางเข้าไปปฏิบัติภารกิจเฉพาะในอิรักจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้แบล็ควอเตอร์ก็ยังถือสัญญาว่าจ้างในการปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถานอยู่อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งยังคงมีเครือข่ายทางด้านการจารกรรมกับบริษัทย่อยนับพันบริษัทที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกในการป้อนข้อมูลเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย หรือการปกป้องสหรัฐฯ จากการโจมตีของกลุ่มต่างๆ เพื่อส่งต่อให้หน่วยข่าวกรองบางหน่วยของรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดจนยังคงรับงานจารกรรมข้อมูลสำคัญทางด้านธุรกิจการค้าของบริษัทเอกชนต่างๆ รวมไปถึงการจัดส่งทหารรับจ้างเข้าไปในประเทศบางประเทศด้วยค่าจ้างที่สูงลิบลิ่วอีกด้วย

รวมทั้งยังมีบริษัทลูกที่ชื่อ แม็คอาเธอร์รับจ้างคุ้มกันขบวนเรือสินค้าและกำจัดโจรสลัดในน่านน้ำสากลในบริเวณอ่าวอีเดนของประเทศโซมาเลีย โดยใช้เรือรบของบริษัทที่มีความยาว 184 ฟุตอีกจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ในการคุ้มกันอีกด้วย

ในความเป็นจริงแล้ว แบล็ควอเตอร์เองก็ทราบดีถึงภาพลักษณ์ที่ถูกมองจากสังคมว่า บริษัทเป็นธุรกิจที่ผู้คนธรรมดาสามัญควรจะออกห่างให้ไกลที่สุด เพราะเหล่านักรบรับจ้างของแบล็ควอเตอร์ล้วนแต่ถูกตัดสินจากสังคมว่า โหดเหี้ยมอำมหิต ดุดัน สังหารผู้คนได้อย่างเลือดเย็น

ตัวอย่างเช่น ในปี 2006 มีกลุ่มสมาชิกของแบล็ควอเตอร์ออกทำการลาดตระเวนในที่สาธารณะพร้อมอาวุธสงครามครบมือในมลรัฐนิว ออร์ลีนส์ของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าได้รับการว่าจ้างหน่วยงานด้านความปลอดภัยของรัฐฯ สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่มองพวกเขาในฐานะ “ฆาตกร” มากกว่าที่จะสร้างความอุ่นใจในฐานะ “ผู้พิทักษ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้สื่อข่าวเข้าไปสัมภาษณ์สมาชิกบางคนของแบล็ควอเตอร์ที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่นั้น ทำให้ทราบว่าพวกเขาเพิ่งเดินทางกลับมาจากอิรักได้เพียงสองสัปดาห์เท่านั้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกันเองก็มองทหารรับจ้างของแบล็ควอเตอร์ไม่ต่างไปจากชาวอิรัก เป็นมุมมองที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว วิตกกังวล ซึ่งส่งผลให้รายได้จำนวนมากมายมหาศาลจากสัญญาว่าจ้างทั้งจากรัฐบาลสหรัฐฯ และหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกลดลงอย่างน่าใจหาย จึงมีความพยายามที่จะปรับภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่

เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก “แบล็ควอเตอร์” เป็น บริษัท “ซี” (Xe – ออกเสียงว่า zee ในภาษาอังกฤษ) รวมไปถึงการประกาศลาออกจากตำแหน่งของนายอีริค ปริ้นซ์ ประธานฝ่ายบริหารของบริษัทเมื่อเดือนมีนาคม 2009 รวมถึงประกาศนโยบายของบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีรูปแบบลักษณะการปฏิบัติภารกิจที่คล้ายคลึงกับแบล็ควอเตอร์

นอกจากนี้ศูนย์ฝึกทางยุทธวิธีของแบล็ควอเตอร์ที่เคยถูกระบุว่าเป็นสถานที่หวงห้ามและถูกมองว่าเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยทหารรับจ้างนอกกฎหมาย ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ฝึกของสหรัฐฯ” (U.S. Training Center) อีกด้วย

อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาที่ผ่านมา จากผลการปฏิบัติภารกิจของแบล็ควอเตอร์ในอิรัก หากไม่นับรวมถึงเรื่องอื้อฉาวของการยิงใส่ฝูงชนซึ่งก็ยังอยู่ในขั้นตอนของศาลยุติธรรม หรือการใช้บริการโสเภณีเด็กชาวอิรัก แบล็ควอเตอร์ก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด

ทหารรับจ้างเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นอดีตหน่วยรบชั้นยอดของสหรัฐฯ ที่เคยสร้างชื่อเสียงและเกียรติประวัติให้กับตัวเองและหน่วยของตนมาแล้ว พวกเขาเคยช่วยเหลือทหารสหรัฐฯ และบุคคลสำคัญระหว่างประเทศที่อยู่ในภาวะคับขันในการต่อสู้ในอิรักมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

เช่น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2007 นักบินเฮลิคอปเตอร์แบบโอเอช 6 ลิตเติ้ล เบิร์ด (OH 6 Little bird – ทางพลเรือนใช้รุ่น โอเอช 6 ส่วนทางทหารใช้รุ่น เอเอช หรือ เอ็มเอช 6) ที่พ่นสีดำทั้งลำของหน่วยบินแบล็ควอเตอร์ (Blackwater Aviation)ได้เสี่ยงชีวิตนำเครื่องร่อนลงกลางถนนในกรุงแบกแดด เพื่อช่วยเหลือเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำอิรัก ที่ถูกลอบโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง หรือ ไอ อี ดี (IED – Improvised Explosive Disposal) จำนวน 3 ลูก






หลังจากนั้นก็ถูกกลุ่มต่อต้านหัวรุนแรงในอิรักโจมตีซ้ำจนได้รับบาดเจ็บ และสามารถนำตัวส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย ซึ่งความกล้าหาญและวีรกรรมของแบล็ควอเตอร์ในครั้งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นการกระทำเยี่ยง “วีรบุรุษ” (Heroic rescue) แต่ข่าวนี้แทบไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเลย

นอกจากนี้โจแอนน์ คิมเบอร์ลิน (Joanne Kimberlin) ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์เวอร์จิเนียน ไพลอท (Virginian-Pilot) ได้บรรยายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเหล่านักรบรับจ้างในหน่วยบินเฮลิคอปเตอร์ลิตเติ้ล เบิร์ดของแบล็ควอเตอร์เอาไว้อย่างน่าฟังว่า

“ ... หน่วยบินแบล็ควอเตอร์ในอิรักใช้เฮลิคอปเตอร์ลิตเติ้ล เบิร์ด หรือ โอเอช 6 ที่มีขนาดเล็ก คล่องตัว มีพลประจำเครื่อง 4 นาย นักบินและผู้ช่วยอยู่ตอนหน้า ตอนหลังจะเป็นพลประจำเครื่อง 2 นาย ที่มักจะโผล่ออกมาจากตัวเครื่องทั้งสองด้านโดยมีสายรัดตัวกับเครื่องอย่างหลวมๆ มือถือปืนกลแบบ เอ็ม 249 ที่ห้อยติดกับส่วนบนของประตู ใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบที่ฐานสกี สายตาสอดส่ายหาเป้าหมายเบื้องล่างอย่างไม่หวั่นเกรงต่อการโจมตีจากกลุ่มต่อต้านที่อยู่ตามอาคารบ้านเรือน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการลาดตระเวนทางอากาศหรือคุ้มกันขบวนลำเลียงต่างๆ ทางภาคพื้นดิน ตลอดจนคุ้มกันบุคคลสำคัญที่กำลังเดินทางโดยรถยนต์เบื้องล่าง ... พวกเขาบินอย่างบ้าบิ่นและรบอย่างกล้าหาญ แต่ไม่มีใครจดจำเรื่องราวของพวกเขาเลย ... ไม่มีเลย ...”






ในเดือนมกราคม 2007 เฮลิคอปเตอร์ลิตเติ้ลเบิร์ดของแบล็ควอเตอร์ถูกยิงตกเป็นครั้งแรก ขณะปฏิบัติการบินคุ้มกันขบวนของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในอิรัก สมาชิกแบล็ควอเตอร์ทั้ง 5 นายบนเครื่องเสียชีวิต

ความจริงจึงเปิดเผยออกมาว่า นักบินที่เสียชีวิตเคยเป็นนักบินของกองทัพสหรัฐนานเกือบ 40 ปี ก่อนที่จะออกมาเป็นนักบินรับจ้างให้แบล็ควอเตอร์ กล่าวกันว่า เขาเป็นสุดยอดนักบินในวงการเฮลิคอปเตอร์คนหนึ่งของสหรัฐฯ เลยทีเดียว พลประจำเครื่องคนหนึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะขณะกำลังยิงต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านที่อยู่เบื้องล่าง ส่วนพลประจำเครื่องที่เหลือเสียชีวิตขณะเครื่องตกกระทบลงกับพื้น หนึ่งในนั้นคือ อาร์ท ลากูนา (Art Laguna) ผู้ซึ่งได้ส่งอีเมล์กลับไปที่บ้านที่ยูท่าห์ก่อนเสียชีวิตไม่กี่วันว่า

“ ... พวกเราทุกคนจะเป็นหน่วยที่มีความรวดเร็วในการตอบโต้ (Quick Reaction Forces) … เร็วกว่ากองทัพ ... เพราะกว่าที่กองทัพจะดำเนินการใดๆ พวกเขาต้องรอการอนุมัติตามสายงานการบังคับบัญชา แต่ในแบล็ควอเตอร์ ใครก็สามารถตัดสินใจตอบโต้ได้ด้วยตัวของเขาเอง มีครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม 2006 ขณะที่เครื่องลิตเติ้ลเบิร์ดของเรา 2 ลำบินลาดตระเวนอยู่เหนือแบกแดดอยู่นั้น ก็เห็นรถฮัมวี่ของกองทัพบกถูกโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องที่ฝังอยู่ข้างถนน พวกเราไม่เคยรอให้ใครสั่งการ หรือขออนุมัติจากใคร ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เฮลิคอปเตอร์ของเราลำหนึ่งร่อนลงสู่พื้นทันที เพื่อช่วยเหลือในการลำเลียงทหารที่บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ส่วนเฮลิคอปเตอร์อีกลำบินวนอยู่เหนือบริเวณดังกล่าวเพื่อคอยให้การคุ้มกัน ... พวกทหารที่เห็นพวกเราบนท้องฟ้า มักพูดกันเสมอว่า ไม่มีวันที่พวกเขาจะรับมอบหมายให้ทำงานที่เสี่ยงตายแบบไม่มีหลักประกันอย่างนี้เด็ดขาด ... บนท้องฟ้านั่นแหละคือพวกเรา ... นักรบแบล็ควอเตอร์ …”






นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวของนักรบรับจ้างแบล็ควอเตอร์ ที่ถูกสังคมมองออกเป็นสองมุมมอง “นักรบกล้า” หรือ “ฆาตกร” แต่ไม่ว่าจะถูกมองในมุมใดก็ตาม กองทัพสหรัฐฯ ก็ยังคงเรียกใช้พวกเขาอยู่ตลอดเวลา เหตุผลหนึ่งก็คือ ... พวกเขาเหล่านี้เสียชีวิตได้โดยที่ประเทศสหรัฐฯ ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ... พวกเขาเสียชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องทำการบันทึกลงในบัญชีรายชื่อกำลังพลที่เสียชีวิตในการรบ ... และเสียชีวิตได้โดยไม่ต้องการคำยกย่องสรรเสริญหรือเหรียญตราใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้พวกเขา “เหล่านักรบรับจ้าง” จะยังคงเป็นตัวละครตัวสำคัญในสมรภูมิต่างๆ ทั่วโลกต่อไปอีกตราบนานเท่านาน





 

Create Date : 25 เมษายน 2553    
Last Update : 25 เมษายน 2553 16:42:53 น.
Counter : 14652 Pageviews.  

เพชฌฆาตผู้พิชิตรถถังเอ็ม 1 อับบรามส์

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนกรกฎาคม 2552

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ





ในห้วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกเมื่อปี 1991 รถถัง เอ็ม 1 เอ 1 อับบรามส์ (M 1 A 1 Abrams) ของสหรัฐอเมริกาได้รับการกล่าวขานเป็นอย่างมากว่า เป็นรถถังที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกรุ่นหนึ่ง และเชื่อกันว่าไม่มีอาวุธชนิดใดในโลกนี้สามารถทำลายรถถังดังกล่าวได้ ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นความจริง เพราะตลอดห้วงเวลาของยุทธการ “พายุทะเลทราย” (Operation Desert Storm) ไม่มีรถถัง เอ็ม 1 แม้แต่คันเดียวถูกทำลายจากฝ่ายอิรัก จะมีก็แต่ได้รับความเสียหายจากการยิงของรถถังฝ่ายเดียวกัน ที่เหลืออีก 18 คันได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย

แต่ในช่วงสงครามอิรักครั้งที่สองนับตั้งแต่ยุทธการ “Iraqi Freedom” เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมายอดความสูญเสียของรถถังเอ็ม 1 อับบรามส์ทั้งรุ่น เอ็ม 1 เอ 1 และเอ็ม 1 เอ 2 ที่มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธปืนใหญ่ประจำรถที่มีความกว้างปากลำกล้อง 120 ม.ม.กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว





หน่วยแรกๆ ที่ประสบกับความเสียหายได้แก่ กองพันที่ 2 กรมยานเกราะที่ 70 กองพลยานเกราะที่ 1 ของสหรัฐฯ ที่เคลื่อนที่เข้าสู่กรุงแบกแดด ซึ่งพลประจำรถต่างประหลาดใจเป็นอย่างมากกับอาวุธที่ทำความเสียหายให้กับรถถังของพวกเขา

โดยอาวุธลึกลับดังกล่าวเจาะทะลุป้อมปืนของรถถัง ทำให้ผู้บังคับรถได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่แขนและขา ส่วนพลประจำรถคนอื่นๆ ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

ในช่วงแรกๆ ที่รถถังเอ็ม 1 ถูกโจมตีได้รับความเสียหายนั้น ทำให้เกิดคำถามมากมายว่าอาวุธพิเศษชนิดใดที่มีอานุภาพในการทำลายรถถังที่มีน้ำหนักกว่า 67 ตันนี้ได้ เพราะลำพังจรวดต่อสู้รถถัง อาร์พีจี 7 ที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 40 ปี คงไม่มีพิษสงอะไรกับรถถังเอ็ม 1

เนื่องจากอาร์พีจี 7 สามารถเจาะเกราะได้เพียง 360 มิลลิเมตรเท่านั้น ในขณะที่เอ็ม 1 มีเกราะหนาถึง 610 มิลลิเมตร





บางคนถึงกับพยายามหาเหตุผลโน้มน้าวให้เห็นว่า เป็นการยิงของฝ่ายต่อต้านที่บังเอิญอย่างที่สุดบ้าง (lucky shot) บ้างก็กล่าวว่าเป็นอาวุธลับที่อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนประดิษฐ์คิดค้นขึ้น อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในช่วงแรกนั้นสหรัฐฯ ยอมรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรถถังชั้นยอดของพวกเขา ส่งผลให้เกิดการศึกษาและวิเคราะห์ถึงอาวุธต่างๆ ที่สามารถหยุดยั้งรถถังที่ดีที่สุดในโลกอย่างเอ็ม 1 ได้

อย่างไรก็ตามเมื่อการรบก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 และปีที่ 3 จำนวนของรถถังเอ็ม 1 กลับถูกทำลายเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับยอดการเสียชีวิตของพลประจำรถที่เพิ่มสูงขึ้นตามมา เช่น

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2005 รถถังเอ็ม 1 เอ 1 สังกัดกรมทหารราบที่ 110 กองพลทหารราบที่ 28 ถูกฝ่ายต่อต้านโจมตีขณะทำการลาดตระเวนในเมืองคาลิดิยา (Khalidiya) ทำให้พลประจำรถคือ จ่าสิบเอกไมเคิล ซี แพรอทท์ อายุ 49 ปี และจ่าสิบตรีโจชัวร์ เอ เทรานโด อายุ 27 ปี เสียชีวิตทั้งสองนาย





ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม รถถังเอ็ม 1 เอ 1 สังกัดหมวดที่ 3 กองพลน้อยที่ 2 กองพลทหารราบที่ 3 ก็ถูกโจมตีอย่างรุนแรงขณะปฏิบัติการรบในกรุงแบกแดด ทำให้จ่าสิบเอกเคอร์ติส เอ ไมเคิล อายุ 28 ปี พลประจำรถเสียชีวิต

และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 25 ธันวาคม รถถังเอ็ม 1 เอ 1 สังกัดกองร้อย ดี กองพันที่ 1 กรมยานเกราะที่ 64 กองพลทหารราบที่ 3 ก็ถูกโจมตีในกรุงแบกแดดอีก ทำให้พลทหารเซอร์จิโอ กูดิโน อายุ 22 ปี เสียชีวิตในซากของรถถัง

จากข้อมูลจากศูนย์ยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ฟอร์ตนอกซ์ (The Army's Armor Center at Fort Knox) ระบุว่า มีรถถังเอ็ม 1 กว่า 80 คันที่ปฏิบัติภารกิจในอิรักได้รับความเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ ต้องขนส่งกลับมายังสหรัฐฯ และยังมีรถถังเอ็ม 1 อีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับความเสียหายตั้งแต่น้อยมาก ไปจนถึงปานกลางแต่สามารถซ่อมแซมได้ในโรงงานซ่อมยานเกราะของกองทัพสหรัฐฯ ในประเทศอิรักเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

นักวิเคราะห์หลายคนมองเห็นตรงกันว่า”การรบในเมือง” (Urban warfare) เป็นการรบที่ไม่เหมาะกับการใช้รถถังซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับการรบในสมรภูมิโล่งแจ้ง โดยในห้วงเวลาปี 2004 -2006 เป็นห้วงเวลาที่พลประจำรถถังเอ็ม 1 ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่มากที่สุด





จากสถิติพบว่าพลประจำรถถังเอ็ม 1 ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ภายในตัวรถมากกว่า 15 นายเสียชีวิต ทั้งๆ ที่รถถังรุ่นนี้ได้ชื่อว่า เป็นรถถังที่สามารถปกป้องพลประจำรถได้อย่างยอดเยี่ยม (extraordinary crew protection) รวมทั้งยังมีพลประจำรถอีกเป็นจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะปฏิบัติภารกิจอีกด้วย

ทำให้มีการปรับปรุงรถถังเอ็ม 1 อย่างขนานใหญ่เพื่อลดจุดอ่อนต่างๆ โดยในปี 2007 General Dynamics Lands System ได้ผลิตอุปกรณ์สำหรับการรบในเมือง (TUSK – Tank Urban Survivability Kits) เพื่อนำไปประกอบกับรถถังเอ็ม 1 ให้สามารถปฏิบัติการรบในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่น เสริมเกราะป้องกันด้านข้างและด้านหลังของตัวรถที่มักถูกโจมตีจากเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังในระยะประชิด รวมไปถึงการติดตั้งเกราะกำบังให้กับปืนกลหนักขนาด 7.62 ม.ม. เหนือป้อมปืนของพลบรรจุกระสุน (Loader)

ส่วนปืนกลขนาด 12.7 ม.ม. ของผู้บังคับรถนั้นก็สามารถบังคับได้ด้วยรีโมทคอนโทรลจากภายในรถ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องออกมาทำการยิงนอกตัวรถ เป็นต้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตของพลประจำรถถังเอ็ม 1 ลดลง

จากห้วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการวิเคราะห์ว่าอาวุธที่ใช้ทำลายรถถังเอ็ม 1 ของฝ่ายต่อต้านในอิรักนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ

1. เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังรุ่นใหม่ของรัสเซียที่มีประสิทธิภาพสูง

2. เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังรุ่นเก่าทั่วไปที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเช่น อาร์พีจี 7(RPG – Rocket-propelled Grenade)

3. การใช้ระเบิดแสวงเครื่อง (IED –Improvised Explosive Device) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำลายยานยนต์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ในอิรัก





สำหรับเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังประเภทแรกนั้น มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ากลุ่มต่อต้านในอิรักได้ใช้อาวุธจรวดต่อสู้รถถังประทับบ่าของรัสเซียรุ่นใหม่ที่มีความรุนแรงและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจรวดต่อสู้รถถังเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ที่เพิ่งเผยโฉมในอิรักเป็นครั้งแรก แต่ได้ถูกใช้ในการรบมาแล้วหลายครั้งในตะวันออกกลางและในเชคเนีย (Chechnya)

โดยเฉพาะเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 ที่ประเทศซีเรียจัดซื้อจากรัสเซียแบบ “เหมาหมด” ในปี 1999 – 2000 แล้วจัดสรรให้กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ (Hezbollah) นำไปต่อสู้กับรถถังเมอคาว่า (Merkava) ของอิสราเอลในเลบานอนเมื่อปี 2006 มาแล้ว ส่งผลให้อิสราเอลได้รับรู้ถึงพิษสงของจรวดต่อสู้รุ่นใหม่นี้เป็นอย่างดี

หากย้อนกลับไปศึกษาข้อมูลการพัฒนาเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังของรัสเซีย จะพบว่าเมื่อประมาณปี 1988 รัสเซียได้ทำการพัฒนาจรวดต่อสู้รถถังที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทัดเทียมกับการพัฒนายานเกราะของฝ่ายตะวันตกที่มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก

เริ่มต้นจากการผลิตจรวดหรือหัวรบ (warhead) รุ่นใหม่สำหรับยิงจากเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 ที่มีใช้การอย่างแพร่หลาย นั่นคือ จรวดแบบ “พีจี 7 วีอาร์” (PG-7VR) ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถเจาะเกราะที่มีความหนาได้ถึง 600 ม.ม. เจาะเหล็กได้หนา 500 ม.ม. และทำลายกำแพงอิฐที่มีความหนา 1.5 เมตรได้ โดยกลุ่มต่อต้านในอิรักจะใช้จรวดแบบพีจี 7 วีอาร์นี้ ยิงจากเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 7 ไปที่บริเวณด้านซ้ายของรถถังเอ็ม 1 ค่อนไปทางด้านหน้าซึ่งเป็นที่ตั้งของเครื่องยนต์ส่วนหนึ่ง จะสามารถสร้างความเสียหายให้กับรถถังได้

ตัวอย่างของความสำเร็จของจรวดชนิดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2004 เมื่อกลุ่มต่อต้านใช้จรวดพีจี 7 วีอาร์ยิงจากเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 ใส่รถถังเอ็ม 1 เอ 1 จนเกิดไฟลุกท่วมทั้งคันขณะทำการรบในกรุงแบกแดด

นอกจากพีจี 7 วีอาร์แล้ว รัสเซียยังมีการพัฒนาเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบประทับบ่ารุ่นใหม่คือ “อาร์พีจี 22” ซึ่งเป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก “อาร์พีจี 18” ที่มีความคล้ายคลึงกับเครื่องยิงจรวดแบบ “เอ็ม 72” (M 72) ของสหรัฐฯ ที่ตัวจรวดจะบรรจุอยู่ในเครื่องยิงเรียบร้อยแล้ว เป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบพร้อมยิง พลยิงเพียงแต่ยืดลำกล้องเครื่องยิงออก ก็สามารถทำการยิงได้เลย โดยใช้เวลาในการเตรียมเครื่องยิงเพียง 10 วินาทีเท่านั้น



จรวด อาร์ พี จี 22


อาร์พีจี 22 ใช้กระสุนจรวดขนาด 72.5 ม.ม. เจาะเกราะที่มีความหนาได้ 400 ม.ม. ระยะยิงหวังผล 150 - 200 เมตร ซึ่งจากข้อมูลไม่ปรากฏว่ากลุ่มต่อต้านในอิรักใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังชนิดนี้แต่อย่างใด อันอาจเป็นผลเนื่องมาจากเครื่องยิงจรวดแบบนี้ ไม่สามารถบรรจุกระสุนใหม่ได้ เป็นการ “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” จึงไม่เกิดความคุ้มค่าในการซื้อหามาใช้ปฏิบัติการในสภาวะที่เต็มไปด้วยความขาดแคลน

เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังที่มีการพูดถึงมากที่สุดในปัจจุบันคือ “อาร์พีจี 29” (RPG 29) ซึ่งได้รับสมญาจากโลกตะวันตกว่า “แวมไพร์” (Vanpire) เป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังที่มีการคาดการณ์กันว่า เป็นอาวุธที่ฝ่ายต่อต้านใช้ทำลายรถถังเอ็ม 1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จนกระทั่งสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ (CIA – Central Intelligence Agency) ประกาศให้จรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 เป็นอาวุธร้ายแรงที่ทหารสหรัฐฯ ในอิรักจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งจากรายงานของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราห์ระบุว่า มีกลุ่มต่อต้านในอิรัก 2 กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่านและกลุ่ม “เฮซบอลเลาะห์” ในปาเลสไตน์ใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังชนิดนี้



จรวด อาร์ พี จี 29

เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 เป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบประทับบ่าขนาด 105 ม.ม. ที่ใช้พลยิงเพียงคนเดียว มีอานุภาพในการเจาะเกราะที่มีความหนาถึง 750 ม.ม. เพียงพอที่จะเจาะเกราะของรถถังเอ็ม 1 ที่มีความหนา 610 ม.ม.ได้ นอกจากนี้ยังสามารถเจาะกำแพงอิฐได้หนา 1,500 ม.ม. และที่สำคัญคือมีระยะยิงหวังผลสูงถึง 500 เมตร ผู้ยิงจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสี่ยงเข้าไปยิงเป้าหมายในระยะใกล้

ซึ่งจากวิดีโอที่กลุ่มต่อต้านในอิรักที่ชื่อ “คาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์” (Kata’ib Hezbollah) นำออกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตในการโจมตีรถถังเอ็ม 1 ของสหรัฐฯ บริเวณ Umm Al-Kebr ในกรุงแบกแดด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2008 แสดงให้เห็นว่าอาร์พีจี 29 มีอานุภาพสูงมาก สามารถทำลายรถถังเอ็ม 1 ได้แม้จะเป็นการยิงตรงหน้าค่อนไปทางตอนล่างของรถถัง ซึ่งเป็นบริเวณที่พลขับปฏิบัติหน้าที่อยู่ การกระทำดังกล่าวส่งผลให้พลขับรถถังเอ็ม 1 ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการโจมตี

พันเอก รัส โกลด์ (Col. Russ Gold) ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในการรบในอิรักและปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการของศูนย์ยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐฯ วิเคราะห์ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นว่า

“มันเป็นเรื่องปกติในการรบ สหรัฐฯ ใช้รถถังเอ็ม 1 เป็นจำนวนมากในการรบในสมรภูมิอิรักทั้งปริมาณรถ และปริมาณภารกิจ จึงทำให้มันตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายต่อต้าน และเมื่อข้าศึกรู้ว่าจุดอ่อนของเราอยู่ที่ไหน เขาก็จะโจมตีตรงจุดอ่อนนั้น เหมือนที่เรากระทำอยู่เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามเรากำลังมีการพัฒนาเกราะของรถถังเอ็ม 1 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกราะป้องกันบริเวณเครื่องยนต์และเกราะด้านข้างให้มีความหนามากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อป้องกันจุดอ่อนดังกล่าว”

อาวุธประเภทที่สองที่กลุ่มต่อต้านใช้ทำลายรถถังเอ็ม 1 ก็คือเครื่องยิงอาวุธจรวดต่อสู้รถถังแบบธรรมดาทั่วไป คือ อาร์พีจี 7 ที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายในอิรัก รวมทั้งมีขายในตลาดมืดกลางกรุงแบกแดดและเมืองใหญ่ๆ ทั่วอิรัก อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการควบคุมคลังอาวุธของอิรักในช่วงแรกของการยึดครองในปี 2003 ทำให้เกิดการขนถ่ายอาวุธชนิดนี้ออกจากคลังได้เป็นจำนวนมาก




นอกจากนี้ยังมีรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ที่พบว่า ในปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ จัดส่งอาวุธจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 จำนวน 7,500 กระบอกไปให้กองกำลังทหารอิรักที่สหรัฐฯ จัดตั้งขึ้น ได้เกิดการรั่วไหลของอาวุธดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งระหว่างการจัดส่งและจากคลังจัดเก็บอาวุธในอิรัก อันเนื่องมาจากความด้อยประสิทธิภาพของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ ที่รับจ้างดำเนินการขนส่งดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2004 มีการขนส่งเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี 7 จำนวน 2,389 กระบอก แต่มีเพียง 499 กระบอกเท่านั้นที่ส่งถึงมือกองกำลังทหารอิรักที่สหรัฐฯ จัดตั้งขึ้น ส่วนที่เหลือถูกส่งเข้าตลาดมืดและกลายเป็นอาวุธกลับมาทำลายกองทัพสหรัฐฯ ในอิรักต่อไป

การโจมตีด้วยอาวุธจรวดแบบธรรมดานี้ ได้ถูกประยุกต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการโจมตีจุดอ่อนของรถถังพร้อมกันหลายๆ เครื่องยิง เช่น โจมตีจากด้านหลังของรถซึ่งเป็นบริเวณเครื่องยนต์ที่มีเกราะบาง หรือโจมตีจากมุมสูง หรือจากบนอาคาร โดยอาศัยข้อจำกัดที่ว่า รถถังเอ็ม 1 นั้นถูกออกแบบมาให้ใช้ในการต่อสู้กับรถถังด้วยกัน จึงมีเกราะหนามากเฉพาะบริเวณด้านหน้า เพื่อป้องกันกระสุนจากรถถังฝ่ายตรงข้าม

แต่สำหรับในอิรักนั้น รถถังเอ็ม 1 ถูกนำมาใช้ในการรบในเมือง (urban warfare) ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้รถถังในการปฏิบัติการ และทำให้กลุ่มต่อต้านสามารถใช้อาคารสถานที่ต่างๆ ในเมืองเป็นจุดซุ่มโจมตีรถถังได้ในมุมอื่นๆ ที่เป็นจุดอ่อน เช่น ด้านหลังหรือด้านข้าง



ระเบิดแสวงเครื่อง (IED - Improvised Explosive Device)


อาวุธประเภทที่สามที่ฝ่ายต่อต้านสหรัฐฯ ในอิรักใช้ในการทำลายรถถังเอ็ม 1 ก็คือการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง (IED- Improvised Explosive Device) ที่มีความรุนแรงสูง เช่น ใช้กระสุนปืนใหญ่ขนาดตั้งแต่ 100 ไปจนถึง 155 ม.ม.จำนวนหลายนัดจุดระเบิดในคราวเดียวกัน หรือใช้ระเบิดของอากาศยานขนาดตั้งแต่ 250 – 500 ปอนด์ ฝังไว้บริเวณใต้ผิวถนน เพื่อหวังผลในการทำลายบริเวณใต้ท้องรถที่มีความเปราะบางมากที่สุด

รวมทั้งอาจโจมตีด้วยการสนธิกำลังกันระหว่างการใช้ระเบิดแสวงเครื่องเพื่อทำให้รถถังเกิดความเสียหายก่อน แล้วระดมยิงซ้ำบริเวณที่เป็นจุดอ่อนด้วยจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี 7 หรือแม้กระทั่งระเบิดมือ ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำลายรถถังเอ็ม 1 อันทรงประสิทธิภาพนี้

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การพัฒนาอาวุธขนาดเล็กแต่มีศักยภาพการทำลายล้างสูงดังเช่น เครื่องจรวดต่อสู้รถถังแบบต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาเทคนิคการต่อสู้แบบกองโจร เช่น การใช้ระเบิดแสวงเครื่องที่ฝ่ายต่อต้านในอิรักนำมาใช้ ได้กลายเป็นการปฏิบัติการที่มีราคาถูกแต่ได้ผลคุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรถถังเอ็ม 1 และยานยนต์หุ้มเกราะต่างๆ ตลอดจนบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ ที่มีราคาแพงมหาศาลจนไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลควบคู่ไปกับการพัฒนาดังกล่าวก็คือ อาวุธและแนวคิดในการปฏิบัติการต่างๆ ดังกล่าวได้กลายเป็นเขี้ยวเล็บของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ทั่วโลก ที่ปฏิบัติการท้าทายมหาอำนาจ ตลอดจนท้าทายอำนาจรัฐต่างๆ รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ในสังคมโลกอย่างโหดเหี้ยม อำมหิตต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด




 

Create Date : 10 มีนาคม 2553    
Last Update : 10 มีนาคม 2553 13:42:57 น.
Counter : 11916 Pageviews.  

อัฟกานิสถาน : สมรภูมิแห่งปี 2010


ลงพิมพ์ในนิตยสาร Topgun ฉบับเดือนมกราคม 2553

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ






ทันทีที่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศในสุนทรพจน์ที่โรงเรียนนายร้อยเวสต์ พอยท์ว่า เขาจะเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯ อีกจำนวน 30,000 คนเข้าไปในประเทศอัฟกานิสถานตามคำขอของผู้บัญชาการกองกำลังไอซาฟ (ISAF) พลเอกสแตนลี่ย์ แมคคริสตัล (General Stanley McChrystal) เพื่อสนับสนุนหน่วยทหารและตำรวจอัฟกานิสถานในการต่อสู้กับกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ ประชาคมโลกก็มีความเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันขึ้นมา

ดังเช่น ความสับสนของรัฐบาลแคนาดาที่รัฐสภาได้ลงมติอนุมัติไปแล้วว่า แคนาดาจะเริ่มถอนทหารของตนออกจากอัฟกานิสถานในปี 2011 ในขณะที่กลุ่มประเทศนาโต้ซึ่งร่วมอยู่ในกองกำลัง ISAF ก็พยายามพิจารณาหาแนวทางการปฏิบัติของตนเอง เพราะต่างก็อ่อนล้าเต็มทีกับการรบในสงครามอันยืดเยื้อและไม่มีที่สิ้นสุดในประเทศที่ห่างไกล สังคมเต็มไปด้วยความล้าหลัง และภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยขุนเขาสูงชันดังเช่นอัฟกานิสถาน

แต่ในที่สุดนาโต้ก็มีมติให้ส่งกำลังทหารเข้าไปเพิ่มในอัฟกานิสถานอีก 7,000 นาย ทำให้ในปี 2010 จะมีกำลังทหารต่างชาติปฏิบัติภารกิจอยู่ในอัฟกานิสถานเป็นจำนวนถึง 150,000 นาย มากกว่าจำนวนทหารโซเวียตที่เคยส่งเข้าไปยึดครองอัฟกานิสถานในห้วงปี 1980 เสียอีก

และทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นสมรภูมิที่โดดเด่นขึ้นมาแทนที่อิรักทันที อีกทั้งยังทำให้สงครามในอัฟกานิสถานกลายเป็น “สงครามของโอบาม่า” ไปโดยปริยาย






หากจะวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ซึ่งเพิ่งได้รับการประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพตัดสินใจส่งทหารเข้าไปเพิ่มในสมรภูมิอัฟกานิสถาน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาตัดสินใจที่จะยุติการปฏิบัติการทางทหารในอิรัก ด้วยการประกาศถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักภายในปี 2010 คงเหลือไว้แต่เพียงที่ปรึกษาทางทหารที่จะคงอยู่จนถึงปี 2011 ก่อนที่จะถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักทั้งหมด

โดยนักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่า โอบาม่าได้ให้ความสำคัญในปัญหาอัฟกานิสถานมาตั้งแต่แรกแล้ว เนื่องจากเขามองว่าอัฟกานิสถานนั้นมีความสำคัญมากกว่าอิรัก เพราะเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ และประชาคมโลกโดยตรง เนื่องจากเป็นถิ่นพำนักของโอซามา บิน ลาเดน และกลุ่มอัล กออิดะฮ์ ซึ่งเป็นผู้ลงมือโจมตีสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ 9/11 อันเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบ

ส่วนปัญหาในอิรักนั้น โอบาม่ามองในทางตรงข้ามกับอดีตประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช ว่าเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขด้วยกลไกทางการเมืองที่กำหนดขึ้นโดยประชาชนชาวอิรักเอง

ดังนั้นภายหลังจากที่สหรัฐฯ สถาปนาระบอบประชาธิปไตย อันเป็นอุดมการณ์ที่ใช้ในการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เข้าไปทดแทนระบอบซัดดัม ฮุสเซนเรียบร้อยแล้ว ก็ควรจะปล่อยให้ชาวอิรักตัดสินอนาคตของตนเองบนแนวทางประชาธิปไตยต่อไป

นั่นคือเหตุผลที่โอบาม่าต้องการจัดการกับปัญหาในอัฟกานิสถานให้เด็ดขาด อันนำมาสู่การเพิ่มกำลังทหารอีก 30,000 คนนั่นเอง







อย่างไรก็ตามการส่งกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานคราวนี้ โอบาม่ามองว่าจะเป็นไปแบบ “ระยะสั้น” และ “มีกำหนดเวลาที่แน่นอน” เพราะเขาได้กำหนดเวลาในการจบภารกิจของกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานภายในเดือนมิถุนายน 2011

ดังเช่นที่โรเบิร์ต กิบส์ (Robert Gibbs) โฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยว่า โอบาม่าจะส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเพื่อฝึกฝนกองกำลังทหารและตำรวจของอัฟกานิสถานให้มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต่อกรกับกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ ภายหลังจากนั้นก็จะถอนทหารออกมาทันที

โดยประธานาธิบดีโอบาม่าวางแผนว่าจะถอนกำลังทหารสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2013 ซึ่งเป็นห้วงเวลาช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของโอบาม่า และจะมอบภาระความรับผิดชอบต่างๆ ให้กับกองกำลังของอัฟกานิสถานเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มตัว

แม้จะมีข้อกังขาอยู่อย่างมากมายว่า กำลังทหารและตำรวจของอัฟกานิสถานที่มีจำนวนกว่า 95,000 คนทั่วประเทศนั้นจะมีศักยภาพเพียงพอในการต่อสู้กับกลุ่มตอลีบันได้มากน้อยเพียงใด ถึงแม้สหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังทหารอัฟกันเหล่านั้นให้มีจำนวนถึง 134,000 คนภายในเดือนตุลาคม 2010 และเพิ่มเป็น 240,000 คนภายในปี 2013 ก็ตาม

กำลังทหารจำนวน 30,000 นายที่ประธานาธิบดีโอบาม่าจะจัดส่งเข้าไปในอัฟกานิสถานภายในต้นปี 2010 นี้ เป็นหน่วยในระดับกองพลน้อย (Brigade) จำนวน 2 กองพล จัดจากหน่วยนาวิกโยธินจำนวน 1 กองพลน้อยและจากกองทัพบกอีก 1 กองพลน้อย รวมกับหน่วยกำลังสำรองอื่นๆ

โดยจะเข้าประจำการในพื้นที่ทางตอนใต้และตะวันออกของอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารสหรัฐฯ และนาโต้มีอัตราการสูญเสียสูง เนื่องจากมีการรบที่รุนแรง







โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนใต้ของประเทศที่ทหารสหรัฐฯ จำนวน 20,000 คนจากทั้งหมด 30,000 คนที่ส่งเข้าไปใหม่จะเข้าประจำการในบริเวณนี้ เช่น บริเวณตำบล “อาร์กานดาป” (Arghandab), “ซารี” (Zari) และ “ปัญจวาล” (Panjwal) ที่ตั้งอยู่ชานเมือง “กันดาฮาร์” (Kandahar) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของอัฟกานิสถาน มีประชากรกว่า 1.3 ล้านคน

หน่วยทหารสหรัฐฯ จะทำหน้าที่เป็นกำลังเสริมให้กับหน่วยทหารแคนาดาจำนวนประมาณ 2,800 นายที่ประจำการอยู่เดิม โดยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของทหารแคนาดาร่วมกับกองพันทหารราบของสหรัฐฯ อีก 2 กองพัน

คาดว่าด้วยกำลังทหารที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การสู้รบกับกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนอัฟกานิสถาน – ปากีสถานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พลเอกสแตนลี่ย์ แมคคริสตัล ผู้บัญชาการกองกำลัง ISAF ในอัฟกานิสถานได้เคยแสดงความเห็นที่ดุเดือดผ่านทางสื่อมวลชนเมื่อกลางปีที่ผ่านมาว่า หากสหรัฐฯ ต้องการเอาชนะกลุ่มตอลีบัน ก็มีความจำเป็นต้องส่งกำลังทหารอย่างน้อย 40,000 คนเข้าไปเสริม

แต่ในที่สุดประธานาธิบดีโอบาม่าก็ได้กำหนดจำนวนทหารที่จะส่งไปเข้าเพิ่มเพียง 30,000 คนน้อยกว่าที่เขาต้องการ แต่เมื่อรวมกับทหารนาโต้อีก 7,000 คนที่จะส่งเข้าไปเพิ่มอีก ก็ทำให้ตัวเลขทหารที่เพิ่มขึ้นในอัฟกานิสถานใกล้เคียงกับที่แมคคริสตัลต้องการ และเขาก็พร้อมที่จะเปิดฉากการรุกครั้งใหญ่ทันทีที่กำลังส่วนใหญ่เดินทางเข้าพื้นที่ดังคำกล่าวให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

“.... ถึงเวลาแล้วที่จะรุกไปข้างหน้า ... ภารกิจของเราคือ การประกาศให้พวกตอลีบันและอัล กออิดะฮ์รับรู้ว่า โอกาสที่พวกเขาจะมีชัยชนะเหนือสหรัฐฯ และนาโต้นั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ...”

จากคำกล่าวของแมคคริสตัลทำให้หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า ในปี 2010 อัฟกานิสถานจะเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดและนองเลือดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังทางบกและทางอากาศของสหรัฐฯ และนาโต้จะโหมเข้าโจมตีที่มั่นของกลุ่มตอลีบันในพื้นที่ห่างไกลอย่างชนิดที่เรียกว่า “ลืมหูลืมตาไม่ขึ้น”







อาวุธที่มีเทคโนโลยีในการทำลายล้างขั้นสูงสุดจะปรากฏโฉมออกมาให้โลกได้เห็น เหมือนเมื่อครั้งที่จรวด “โทมาฮอค” (Tomahawk) ได้เผยโฉมให้โลกได้เห็นในการโจมตีอัฟกานิสถานและอิรักเมื่อปี 2001 – 2003

แต่ในครั้งนี้โลกจะได้เห็นอากาศยานโจมตีล่องหน (Stealth) แบบไร้นักบินมากมายหลายรุ่น เช่น รุ่น อาร์คิว 170 เซนทิเนล (RQ 170 Sentinel) หรือที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งฉายาไว้ว่า “อสูรแห่งกันดาฮาร์” (The Beast of Kandahar) ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ล่าสุด เช่น รถถังเอ็ม 1 เอ 1 และ เอ 2 ของสหรัฐอเมริกาที่บริษัทเจเนอรัล ไดนามิคส์ได้ปรับปรุงใหม่ล่าสุดในปี 2008 ด้วยการติดตั้งชุดระบบพัฒนาขีดความสามารถ (SEP – System Enhancement Package) ที่ทำให้พลประจำรถสามารถตรวจจับเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งมีระบบป้องกันตัวเองจากการโจมตีที่ดีเยี่ยม, รถถังชาลเลนเจอร์ 2 อีของอังกฤษซึ่งเป็นรุ่นที่พัฒนามาจากรถถังชาลเลนเจอร์ 2 ที่มีอานุภาพสูงโดยเฉพาะเกราะที่สามารถทนทานต่อระเบิดแสวงเครื่อง (IED – Improvise Explosive Device) ที่เป็นภัยคุกคามสำคัญของรถถังที่ปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถานอยู่ในขณะนี้, รถถังเลโอปาร์ต 2 เอ 6 ของเยอรมันและแคนาดาที่เพิ่งพัฒนาออกจากสายพานการผลิตเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นต้น

“... สงครามในครั้งนี้ไม่ใช่สงครามเพื่อชัยชนะ (conquest) ไม่ใช่สงครามเพื่อผลประโยชน์ (profit) หากแต่เป็นสงครามที่ให้ทางเลือก (chance) แก่ประชาชนอัฟกานิสถาน ...”

ผู้บัญชาการกองกำลัง ISAF ในอัฟกานิสถานกล่าวแก่สื่อมวลชนตอนหนึ่ง โดยเขาได้ระบุถึงยุทธศาสตร์สามประการของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานว่า

ยุทธศาสตร์แรกคือการใช้กำลังทหารและอานุภาพทางสงครามกดดันและทำลายกลุ่มตอลีบัน เพื่อลดศักยภาพในการเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลอัฟกานิสถาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนอัฟกานิสถานว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานภายใต้การนำของนายฮาร์มิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) จะเป็นผู้กำชัยชนะในสงครามครั้งนี้ รวมทั้งเป็นผู้มีสิทธิขาดในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ

ดังนั้นหากกลุ่มตอลีบันต้องการอยู่รอด พวกเขาก็จำต้องยอมรับเงื่อนไขของรัฐบาลและออกมาร่วมกับรัฐบาลในการบริหารประเทศต่อไป







ยุทธศาสตร์ที่สอง คือการสร้าง “วงแหวนแห่งความมั่นคง” (ring of stability) นั่นคือการดึงกำลังทหารสหรัฐฯ และนาโต้ส่วนหนึ่งออกจากพื้นที่ป่าเขาห่างไกล แล้วเข้ายึดครองพื้นที่เขตเมือง ทั้งเมืองที่อยู่ในกำมือของรัฐบาลและเมืองที่อยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มตอลีบัน

จากนั้นจะวางกำลังป้องกันเมืองเสมือนป้อมค่ายที่คอยปกป้องเมืองต่างๆ จากการเข้ามาแผ่อิทธิพลของกลุ่มตอลีบัน

ในขณะเดียวกันก็จะใช้การปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือนในเขตเมือง หรือที่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่คำหนึ่งว่า ซิล-มิล (Cil – Mil มาจากคำว่า Civil - Military) ซึ่งเป็นการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างองค์กรพลเรือนและกองทัพในการพัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชน เพื่อสร้างแรงสนับสนุนจากชาวอัฟกานิสถาน กล่าวง่ายๆ ก็คือ “ต้องการเอาชนะใจประชาชน” นั่นเอง

อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่าการปฏิบัติการ “วงแหวนแห่งความมั่นคง” และการปฏิบัติการ “ซิล-มิล” นี้จะทำให้สหรัฐฯ และนาโต้ตกเป็นเป้าหมายต่อฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายขึ้น เพราะได้เปลี่ยนยุทธวิธีจากการรุกมาเป็นการตั้งรับ

ดังนั้นประธานาธิบดีโอบาม่าจึงพยายามลดจุดอ่อนด้วยการเพิ่มกำลังทหารเข้าไปตรึงพื้นที่ชนบทห่างไกล เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มตอลีบันเคลื่อนไหวเข้าสู่เขตเมืองได้โดยง่าย

ยุทธศาสตร์ที่สามคือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทหารและตำรวจอัฟกานิสถาน เพื่อให้กองกำลังเหล่านี้เข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์ในเมืองต่างๆ ที่มี “วงแหวนแห่งความมั่นคง” แทนกำลังทหารของสหรัฐฯ และนาโต้

โดยการปฏิบัติการนี้เรียกว่า “การแก้ปัญหาโดยคนอัฟกัน” หรือ Afgan solution ซึ่งเป็นการปฏิบัติการด้วยการใช้ตำรวจอัฟกานิสถานจำนวนกว่า 92,000 นายเป็นกำลังหลัก และได้รับการสนับสนุนโดยกำลังทหารอัฟกานิสถาน

หากแผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอัฟกานิสถานได้เป็นอย่างมาก ซึ่งยุทธศาสตร์นี้หลายฝ่ายยังคงสงสัยถึงขีดความสามารถของทหารและตำรวจอัฟกานิสถานว่า จะมีศักยภาพเพียงพอดังที่สหรัฐฯ คาดหวังเอาไว้หรือไม่







ที่กล่าวมาข้างต้นคือยุทธศาสตร์สามประการของสหรัฐฯ ในปี 2010 ซึ่งก็ไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้คนต่างๆ ไปเสียทุกคน แม้กระทั่งพลจัตวาเฟรดเดอริก ฮอดจ์ (Brigadier General Frederick Hodges) ผู้บัญชาการกองกำลัง ISAF ภาคใต้ของอัฟกานิสถานซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มองว่า การเพิ่มกำลังทหารไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการสู้รบในพื้นที่ทางตอนใต้ที่เขารับผิดชอบเท่าไรนัก ดังที่เขาได้ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

“...แม้จะส่งทหารมาทั้งยุโรป ก็ไม่มีวันที่เราจะมีทหารเพียงพอ เพราะพื้นที่ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานนั้นกว้างใหญ่ไพศาล และเต็มไปด้วยหุบเขามากมาย ในช่วงที่ผ่านมาพวกตอลีบันสามารถครอบครองพื้นที่ในตำบลอาร์กานดาปของเมืองกันดาฮาร์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ มุลลาฮ์ นาคิป (Mullah Naqib) ผู้นำในพื้นที่ที่ทรงอิทธิพลและสนับสนุนกองกำลังสหรัฐฯ เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจตั้งแต่ปี 2007 ดังนั้นหากเราต้องการครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ให้ได้ในปี 2010 ก็ต้องโหมโจมตีที่มั่นต่างๆ ที่พวกตอลีบันครอบครองอยู่ ... ซึ่งแน่นอนว่า ... มันจะเป็นการรบที่หนักหนาสาหัสสำหรับพวกเราเลยทีเดียว ...”

มุมมองของฮอดจ์อาจจะถูกต้องก็เป็นได้ เพราะนับแต่อดีตเป็นต้นมา ดินแดนอัฟกานิสถานนั้นไม่เคยมีใครสามารถครอบครองพื้นที่ได้ทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่มีความกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยขุนเขาสลับซับซ้อน

แม้แต่พวกตอลีบันในอดีตเองก็ไม่เคยครอบครองพื้นที่อัฟกานิสถานได้ทั้งประเทศ ดังที่จอห์น กริฟฟิธส์ (John Griffiths) ได้เขียนในหนังสือเรื่อง “อัฟกานิสถาน : ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง” (Afganistan : A History of Conflict) ตอนหนึ่งว่า

“... เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศทุรกันดาร ในห้วงที่อัฟกานิสถานถูกปกครองโดยพวกตอลีบัน พวกเขาสามารถครอบครองอัฟกานิสถานได้เพียงแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เท่านั้น ส่วนใหญ่ของพื้นที่ที่ครอบครองก็เป็นเมืองใหญ่และเส้นทางถนนสายหลักๆ พื้นที่ต่างๆ นอกเหนือไปจากนั้น จะเป็นของชนเผ่าที่อยู่กันกระจัดกระจายและมีผู้นำเผ่าของตนเอง คนเหล่านี้ไม่สนใจว่าใครจะมาเป็น “รัฐบาล” ... “รัฐบาล” ที่พวกเขาที่ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ามันมีผลอะไรต่อชีวิตประจำวันของพวกเขาบ้าง ขอเพียงแต่ให้พวกเขามีชีวิตที่สงบสุข มีครอบครัว และมีอาหารทานในแต่ละวันก็เพียงพอแล้ว ... พื้นที่ห่างไกลเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการครอบครองดินแดนอัฟกานิสถานจากผู้รุกรานทุกชนชาติ เพราะไม่มีวันที่ใครจะสามารถครอบครองดินแดนแห่งนี้ได้ทุกตารางนิ้ว ...”

เมื่อเปรียบเทียบข้อเขียนของกริฟฟิธส์ กับนโยบายในการเพิ่มกำลังทหารของประธานาธิบดีโอบาม่าในปี 2010 แล้วจะเห็นว่า โอบาม่าต้องการใช้กำลังทหารเข้าครอบครองพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มตอลีบันให้มากที่สุด โดยร่วมกับกำลังทหารของนาโต้ซึ่งปัจจุบันประกอบไปด้วย ทหารจากอิตาลี 2,400 นาย อังกฤษ 9,000 นาย เยอรมัน 4,365 นาย ฝรั่งเศส 3,095 นาย และแคนาดา 2,800 นาย

ซึ่งจำนวนเหล่านี้กำลังจะเพิ่มขึ้นอีก 7,000 นาย โดยจะร่วมกับกองกำลังทหารและตำรวจอัฟกานิสถานในการปฏิบัติการ ก่อนที่จะบีบให้กลุ่มตอลีบันต้องใช้วิธีการเจรจาและหันมาร่วมกับรัฐบาลของนายฮาร์มิด คาร์ไซ อันเป็นหนทางเดียวที่จะยุติความขัดแย้งในอัฟกานิสถานลงได้อย่างถาวร







อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิบัติการของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในการสร้างอัฟกานิสถานขึ้นให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยจากกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ในปี 2010 ก็คือ ความเป็นรัฐบาลที่ฉ้อฉลของนายฮาร์มิด คาร์ไซ ที่ถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง และคอร์รัปชั่นงบประมาณทางทหารที่มีมากมายมหาศาล ซึ่งประธานาธิบดีโอบาม่าเองก็ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ จนถึงกับประกาศในสุนทรพจน์ตอนหนึ่งของเขาว่า

“... หมดเวลาแล้วสำหรับการจ่ายเช็คเปล่าให้กับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ...”

นอกจากจะกล่าวเตือนนายฮาร์มิด คาร์ไซแล้ว โอบาม่ายังส่งสัญญาณให้นางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเตรียมหยุดการช่วยเหลือในทุกๆ ด้านแก่รัฐบาลอัฟกานิสถาน หากพบว่านายคาร์ไซยังคงตักตวงผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง







นอกจากการคอร์รัปชั่นกันอย่างมโหฬารแล้ว รัฐบาลของนายคาร์ไซยังได้ชื่อว่า มีการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด แต่สหรัฐฯ เองก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะบุคคลสำคัญในรัฐบาลของนายคาร์ไซ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ชนิดที่เรียกว่า “เคยร่วมหัวจมท้าย” ในการโค่นล้มอดีตรัฐบาลตอลีบันมาด้วยกัน

เช่น นายมูฮัมหมัด คาซิม ฟาฮิม (Muhammad Qasim Fahim) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ หรือ นอร์ธเทิร์น อัลลายแอนซ์ (Northern Alliance) ที่ร่วมกับสหรัฐฯ โจมตีรัฐบาลตอลีบันมาตั้งแต่ปี 2001 จนสามารถล้มล้างกลุ่มตอลีบันได้ในที่สุด ฟาฮิมได้รับการขนานนามจากองค์การสิทธิมนุษยชนว่าเป็น “หนึ่งในผู้นำอัฟกานิสถานที่มือเปื้อนเลือดมากที่สุด”

นอกจากนี้ก็ยังมีนายโมฮัมหมัด อิสมาอิล ข่าน (Muhammad Ismail Khan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและน้ำ ที่มีส่วนสำคัญในการสังหารหมู่ผู้นำกลุ่ม “มูจาฮิดีน” จำนวนมากที่เป็นอริกับเขา ก่อนก้าวขึ้นสู่อำนาจ นอกจากความโหดเหี้ยมแล้วเขายังกอบโกยทุกอย่างที่ขวางหน้าพอๆ กับนายเซดิค ชาร์การี (Sediq Chakari) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฮัจจ์และอิสลาม ที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นเงินสนับสนุนผู้แสวงบุญในการเดินทางไปนครเมกกะ และนายมูฮัมหมัด อิบราฮิม เอเดล (Muhammad Ibrahim Adel) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแร่ธาตุ ที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงินสินบนมูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากบริษัทเหมืองแร่ของจีนในการเข้ารับสัมปทานเหมืองทองแดง

ซึ่งข้อกล่าวหานี้ได้รับการชี้แจงจากเขาว่า การพิจารณาให้สัมปทานเป็นไปอย่างโปร่งใสผ่านคณะรัฐมนตรีที่มีนายฮาร์มิด คาร์ไซเป็นประธาน ข้อชี้แจงนี้นอกจากจะฟังไม่ขึ้นแล้ว ยังเป็นการนำเอานายคาร์ไซเข้าไปพัวพันอีกด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า เส้นทางสงครามในอัฟกานิสถานปี 2010 ของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า คงไม่ราบรื่นอย่างที่คาดเอาไว้ เพราะอุปสรรคจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ทุรกันดาร และจากองค์กรรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ล้มเหลว จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทหารสหรัฐฯ และนาโต้ต้องทุ่มเททรัพยากรสงครามมากกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างอัฟกานิสถานให้เป็นรัฐที่มั่นคง เข้มแข็ง

และที่สำคัญคือไม่หวนกลับไปเป็น “สรวงสวรรค์” ของกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ในการโจมตีสหรัฐฯ และสังคมโลกอีก สมดังที่ประธานาธิบดีโอบาม่าได้ตั้งความหวังเอาไว้





 

Create Date : 08 มีนาคม 2553    
Last Update : 8 มีนาคม 2553 14:48:14 น.
Counter : 7308 Pageviews.  

การโจมตีแบบพลีชีพ

การโจมตีแบบพลีชีพ (Suicide Attack)

ตีพิมพ์ในนิตยสาร Topgun ฉบับเดือนธันวาคม 2552

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


"... การโจมตีแบบพลีชีพ ถูกผูกโยงเข้ากับการต่อสู้ทางศาสนา แต่ความจริงแล้ว การโจมตีดังกล่าวมีประวัติมายาวนานและไม่มีความเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางศาสนาเลยแม้แต่น้อย ..."






เสียงระเบิดที่ดังกึกก้องไปทั่วทั้งเมืองเปชาวาร์ (Peshawar) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2009 ที่ผ่านมา ได้ปลุกให้ประชาคมโลกหันมาให้ความสนใจกับการโจมตีด้วย “ระเบิดพลีชีพ” อีกครั้ง พร้อมๆ กับชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ 19 ชีวิตที่ได้ถูกมัจจุราชกระชากออกจากร่าง ทำให้บริเวณพื้นที่เมืองดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่อันตรายที่ถูกโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพเป็นจำนวนถึง 6 ครั้ง ในเวลาเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ เป็นการตอกย้ำให้มวลมนุษยชาติได้ตระหนักว่า โลกยุคปัจจุบันคือ โลกแห่งยุคของการก่อการร้ายอย่างแท้จริง

นับตั้งแต่โลกได้เคลื่อนตัวผ่านยุค “สงครามเย็น” และก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง “การก่อการร้าย” อย่างสมบูรณ์แบบ สังคมต่างๆ ดังเช่นสังคมในเมืองที่เงียบสงบแบบเมือง “เปชาวาร์” ก็ถูกปกคลุมไปด้วยความน่าสะพรึงกลัวจากศักยภาพของการปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เพราะการปฏิบัติการเหล่านั้น ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่สัญลักษณ์ทางการเมือง การทหาร หรือสิ่งที่แสดงถึงอำนาจของฝ่ายตรงข้าม

หากแต่มีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เด็ก สตรีและคนชรา การก่อการร้ายได้ก่อให้เกิดแนวความคิดที่ว่า “ไม่มีที่ใดที่ปลอดภัยอีกต่อไป” สถานที่หลายแห่ง เช่น โรงแรม สถานที่ตากอากาศ สถานีรถไฟ หรือห้างสรรพสินค้าที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า อาวุธแห่งการทำลายล้างที่รุนแรง เหี้ยมโหด ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายผลิตคิดค้นขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับอาวุธและอำนาจรัฐฯ ที่มีศักยภาพและความรุนแรงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นระเบิดแสวงเครื่อง (IED – Improvised Explosive Device) อาวุธเชื้อโรค (Biochemical weapon - Bioterrorist) อาวุธศักยภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction) และระเบิดพลีชีพ (Suicide Bomb)






เมื่อกล่าวถึงการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ หรือที่บางคนเรียกว่า ระเบิดแบบฆ่าตัวตาย ที่กำลังกลายเป็นเอกลักษณ์ของการก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับสงครามทางศาสนา จนดูเหมือนจะเกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่า “การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ” คือ ภารกิจหนึ่งของการเสียสละเพื่อทำสงครามทางศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการจำนวนหนึ่งว่า เป็นแนวคิดที่ถูกทำให้ผันแปรไปจากความเป็นจริง รวมทั้งมีความพยายามชี้ให้เห็นว่า การโจมตีแบบพลีชีพนั้น ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการทำสงครามทางศาสนาอย่างที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายบางกลุ่มมุ่งหวังจะให้เป็น

หากมองย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เราจะพบว่านักรบกลุ่มแรกๆ ที่เปิดฉากการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ ไม่ใช่นักรบที่สละชีพเพื่อศาสนา ไม่ใช่แม้แต่สละชีพเพื่อพระเจ้า หากแต่เป็นการสละชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาตุภูมิของนักบินกองทัพอากาศญี่ปุ่น ที่สร้างวีรกรรมอันห้าวหาญด้วยการนำเครื่องบินขับไล่บรรทุกระเบิด ตอร์ปิโด หรือบรรทุกน้ำมันเต็มลำพุ่งเข้าชนเรือรบของสหรัฐฯ และสัมพันธมิตรภายใต้ชื่อ “กามิกาเซ่” (Kamikaze) หรือ “ลมศักดิ์สิทธิ์”

ทั้งนี้เพื่อมุ่งผลในความแม่นยำของการโจมตีเป้าหมาย โดยกามิกาเซ่เริ่มปฏิบัติภารกิจครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 1944 ในการรบที่อ่าวเลย์เตของฟิลิปปินส์ เพื่อหยุดยั้งการรุกคืบหน้าของกองเรือสหรัฐฯ การปฏิบัติภารกิจของเหล่านักบินกามิกาเซ่เป็นการปฏิบัติที่กล้าหาญ เสียสละ และอุทิศตนต่อการทำลายเป้าหมายทางทหารของข้าศึก






ดังเช่นบันทึกตอนหนึ่งของ ร้อยโท ยูกิโอะ เซกิ(Lieutenant Yukio Seki) นักบินกามิกาเซ่ที่กล่าวว่า

“เราสมควรตายดีกว่า หากจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างคนขี้ขลาด”

ในขณะที่นักบินกามิกาเซ่ปฏิบัติการโจมตีด้วยการขับเครื่องบินพุ่งชนเรือรบของศัตรู ทหารราบญี่ปุ่นเองก็มีวิธีการโจมตีแบบพลีชีพ หรือที่โลกตะวันตกขนานนามว่า “การโจมตีแบบบันไซ” (Banzai Charge) ด้วยเช่นกัน

การโจมตีชนิดนี้จะเป็นการใช้คลื่นมนุษย์ของเหล่าทหารกองทัพญี่ปุ่น เคลื่อนที่เข้าโจมตีข้าศึกในการรบขั้นแตกหัก หรือการรบที่เต็มไปด้วยความเสียเปรียบ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับเป็นเชลย หรือการยอมแพ้

การที่ทหารอเมริกันเรียกการโจมตีชนิดนี้ว่า การโจมตีแบบบันไซ ก็เพราะขณะที่เคลื่อนที่เข้าโจมตี ทหารญี่ปุ่นจะตะโกนว่า “เทนโนะเฮกะ บันไซ” ซึ่งแปลว่า “ขอให้องค์จักรพรรดิทรงพระเจริญ”

การโจมตีแบบบันไซครั้งแรกๆ เปิดฉากขึ้นเมื่อญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพ่ายแพ้ที่เกาะอัตสุ (Attu Island) ซึ่งพันเอกยาสุโกะ ยามาซากิ (Colonel Yasuko Yamazaki) สังกัดหน่วยนาวิกโยธินญี่ปุ่น ได้รวบรวมทหารจำนวนกว่าหนึ่งพันนาย เข้าตีที่มั่นของทหารอเมริกัน

โดยเขาถือดาบซามูไรนำหน้าเหล่าทหารด้วยความกล้าหาญจนสามารถเจาะแนวตั้งรับเข้าไปได้จนถึงกำลังส่วนหลังของกองทัพอเมริกัน สร้างความสูญเสียอย่างมาก ก่อนที่กำลังทหารญี่ปุ่นทั้งหมดจะถูกทำลายลง

ผลจากการรบ มีทหารญี่ปุ่นรอดชีวิตเพียง 28 นาย พลเสนารักษ์ของญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากการสู้รบ ได้เล่าถึงยามาซากิว่า

“พันเอกยามาซากิเป็นนักรบที่กล้าหาญมาก เขารู้ว่าทหารญี่ปุ่นไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้กับกำลังของฝ่ายสหรัฐฯ ที่มีจำนวนมากกว่าได้ แทนที่จะรอวันตาย เขากลับสั่งให้ทหารทุกนายวิ่งเข้าหาความตายอย่างกล้าหาญ ก่อนตายยามาซากิบันทึกไว้ในหนังสือไดอารี่ของเขาว่า ... ฉันกำลังจะสละชีพเพื่อผืนแผ่นดินนี้ หลังจากที่มีชีวิตอยู่มาเป็นเวลา 33 ปี ... ฉันไม่เคยเสียใจ และจะไม่เสียใจที่ตัดสินกระทำการเช่นนี้ ... ขอองค์พระจักรพรรดิจงทรงพระเจริญ ... “






ทั้งการโจมตีแบบกามิกาเซ่และบันไซ ล้วนเป็นการโจมตีแบบพลีชีพทั้งสิ้น ไม่ต่างจากการโจมตีแบบพลีชีพที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในยุคปัจจุบัน หากแต่มีความแตกต่างตรงที่ “กามิกาเซ่” และ “บันไซ” เป็นการโจมตีที่มุ่งหวังต่อกำลังพล สถานที่ทางยุทธศาสตร์และอาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึก มิได้มุ่งหวังทำลายล้างชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงทำให้การโจมตีของกองทัพญี่ปุ่นทั้งสองรูปแบบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นการปฏิบัติการรบที่กล้าหาญและเสียสละ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด เรื่องราวของการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพก็เริ่มจางหายไปจากความทรงจำของผู้คน หลงเหลือไว้แต่เรื่องราวอันห้าวหาญของทหารเหล่านั้น จนกระทั่งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ในประเทศศรีลังกาได้เปิดฉากใช้การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพขึ้นมาอีกครั้ง

คราวนี้เป็นการโจมตีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้และบั่นทอน ทำลายอำนาจรัฐ และสถาปนารัฐอิสระ “ทมิฬ” ขึ้นทางตอนเหนือและทางตะวันออกของประเทศศรีลังกา

คราวนี้ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้ว่ากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเป็นกองกำลังกลุ่มแรกที่คิดค้น “เข็มขัดพลีชีพ” (suicide belt) อันลือชื่อที่กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ นำมาใช้ในการโจมตีแบบระเบิดพลีชีพในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งหน่วยพลีชีพที่มีชื่อว่า “พยัคฆ์ดำ” (Black Tiger) ที่มีสมาชิกทั้งชายและหญิง ทำหน้าที่ในการโจมตีแบบพลีชีพในทุกรูปแบบต่อหน่วยทหารศรีลังกา ผู้นำรัฐบาลและบุคคลสำคัญในวงการเมืองของศรีลังกา







นิตยสาร “เจน” (Jane) ได้สรุปสถิติการโจมตีแบบพลีชีพของหน่วยพยัคฆ์ดำว่าได้ออกปฏิบัติภารกิจจำนวน 168 ครั้ง ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 1976 จนถึง 2009 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่กลุ่มต้องประสบกับความพ่ายแพ้ต่อฝ่ายรัฐบาลในที่สุด รวมถึงการโจมตีท่าอากาศยานโคลัมโบของศรีลังกาในปี 2001 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 16 คน และทำให้อากาศยานพาณิชย์และอากาศยานทางทหารของกองทัพอากาศศรีลังกาจำนวนหนึ่งได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ในปี 1998 กลุ่มพยัคฆ์ดำยังเป็นผู้โจมตีศาสนสถานของพุทธศาสนาในเมืองกันดี (Kandy) ซึ่งได้รับการจัดให้เป็นมรดกโลก และนับเป็นศาสนสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของศรีลังกา การโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้แสวงบุญจำนวน 8 คนเสียชีวิต

รวมทั้งนักรบพยัคฆ์ดำก็ยังเป็นผู้โจมตีแบบพลีชีพในการสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ของอินเดียในปี 1991 อีกด้วย ซึ่งการโจมตีแบบพลีชีพของกลุ่มนับเป็นการโจมตีบนพื้นฐานของการเมืองเป็นหลัก มิได้มีพื้นฐานอยู่บนหลักศาสนาแต่อย่างใด

การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพที่กำลังเป็นที่จับตามองในปัจจุบัน ก็คือการโจมตีในตะวันออกกลางซึ่งมีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ส่งผลให้เกิดความกดดันทางจิตใจต่อชาวปาเลสไตน์อย่างมาก

ดังเช่นที่สมาชิกกลุ่มฟาทาฮ์ (Fatah) ซึ่งปฏิบัติการต่อต้านอิสราเอลในฉนวนกาซาและเวสต์แบงค์เปิดเผยต่อสำนักข่าวตะวันตกว่า

“... ความเคียดแค้น ชิงชังที่มีต่ออิสราเอลในการกระทำต่อชาวปาเลสไตน์นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้มีจดหมายยื่นความจำนงเข้าเป็นมือระเบิดพลีชีพเพื่อต่อสู้กับอิสราเอลหลั่งไหลเข้ามามากมายราวกับสายน้ำเลยทีเดียว ในจำนวนนี้มีทั้งสตรีหม้ายที่สูญเสียทั้งสามีและบุตร มีทั้งเด็กเยาวชนที่สูญเสียบิดามารดาไปจากการโจมตีของทหารอิสราเอล ...”

มือระเบิดพลีชีพเหล่านี้ได้ออกปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมีนาคม 2002 ที่กลุ่มฮามาสและฟาทาฮ์ได้โหมปฏิบัติการต่อเป้าหมายในอิสราเอลอย่างถี่ยิบ ตั้งแต่วันที่ 2, 5, 7, 9, 17, 20, 21, 27, 29, 30, 31 มีนาคม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากเนื่องจากการโจมตีแต่ละครั้งมุ่งไปที่สถานที่ชุมชนของชาวยิวในเมืองสำคัญๆ

เช่นในวันที่ 29 มีนาคม กลุ่มฟาทาฮ์ได้ส่งมือระเบิดพลีชีพที่เป็นสุภาพสตรีปาเลสไตน์ผูกระเบิดจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัมรอบตัว ก่อนที่จะเดินเข้าไปในซุปเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเยรูซาเร็ม และจุดระเบิดบริเวณเคาน์เตอร์ที่เต็มไปด้วยผู้คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 28 คน

และต่อมาวันที่ 31 มีนาคม กลุ่มฮามาสก็ได้ใช้มือระเบิดพลีชีพโจมตีภัตตาคาร “มัทซา” (Matza restaurant) ซึ่งเป็นภัตตาคารหรูหราในเมืองไฮฟา ทำให้ชาวยิวที่กำลังรับประทานอาหารเสียชีวิตทันที 15 คน บาดเจ็บอีกกว่า 40 คน







อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์จากพฤติกรรมในการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในอิสราเอลจะเห็นได้ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากประเด็นทางศาสนาเป็นหลัก หากแต่เกิดขึ้นจากความต้องการในการตอบโต้ แก้แค้นและขับไล่อิสราเอลออกจากดินแดนปาเลสไตน์ รวมทั้งเป็นการโจมตีที่มีประเด็นของความกดดันทางจิตใจเป็นมูลเหตุสำคัญ แต่เนื่องจากความแตกต่างทางศาสนาในตะวันออกกลาง ทำให้การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพเริ่มถูกนำไปเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางศาสนา เพื่อสร้างความชอบธรรมและขยายแนวร่วมในการปฏิบัติการให้เพิ่มมากขึ้น

การเชื่อมโยงดังกล่าวทำให้การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพกลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ในสงครามศาสนาไปในที่สุด โดยเฉพาะการโจมตีกำลังทหารสหรัฐฯ และฝรั่งเศสในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ด้วยมือระเบิดพลีชีพที่ขับรถยนต์โดยสารบรรทุกระเบิดเต็มคัน ทำให้ทหารสหรัฐฯและฝรั่งเศสเสียชีวิตถึงกว่า 300 นายในปี 1983 และเป็นผลทำให้สหรัฐฯ ต้องถอนทหารออกจากเลบานอนในที่สุด

ความสำเร็จในครั้งนี้ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่หลักศาสนาในการขับไล่ผู้รุกรานนอกศาสนาออกจากแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ในตะวันออกกลาง

จุดหักเหสำคัญที่ทำให้การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางศาสนาก็คือ ปฏิบัติการโจมตีแบบพลีชีพต่ออาคารเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ (World Trade Center) และกระทรวงกลาโหม “เพนตากอน” (Pantagon) ของสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ 9/11 อันสะเทือนโลกในปี 2001 ของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ซึ่งนำโดยโอซามา บิน ลาเดน ผู้ซึ่งเชื่อมโยงการก่อการร้ายและการโจมตีแบบพลีชีพเข้ากับการต่อสู้ในสงครามศาสนาจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ดังเช่นในปัจจุบัน







นับจากนั้นมา การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพก็เปิดฉากขึ้นมาอย่างรุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกเปิดฉากส่งกำลังทหารเข้ายึดครองประเทศอิรักเพื่อโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนเมื่อกลางปี ค.ศ. 2003

เป็นที่น่าสังเกตว่าการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพเพื่อต่อสู้กับสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดในช่วงปีแรกของการยึดครอง ทั้งนี้จากสถิติการโจมตีต่อเป้าหมายของกลุ่มต่อต้านในอิรักในปี 2003 มีเพียงครั้งเดียวคือ ในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.2003 ณ โรงแรมคาแนล กลางกรุงแบกแดด มีผู้เสียชีวิต 22 คน รวมทั้งผู้นำระดับสูงขององค์การสหประชาชาติคือนาย เซอร์จิโอ เดอ เมลโล (Sergio De Mello) ด้วย

การโจมตีมาเริ่มต้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2004 โดยเฉพาะในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2004 เมื่ออันซาร์ อัล ซุนน่าห์ (Ansar Al Sunnah) หนึ่งในผู้นำกลุ่มต่อต้านได้ส่งมือระเบิดพลีชีพ 2 คนคาดเข็มขัดที่มัดด้วยระเบิดแรงสูงเข้าโจมตีสถานที่สำคัญ 2 แห่งในเมืองโมซุลของอิรัก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 117 คน บาดเจ็บ 221 คน

และอีกสิบวันต่อมาคือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ มือระเบิดพลีชีพก็ขับรถยนต์บรรทุกระเบิดจำนวน 250 กิโลกรัม พุ่งเข้าใส่สถานีตำรวจอิรักในกรุงแบกแดด ซึ่งเต็มไปด้วยประชาชนที่กำลังเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อสมัครเข้าเป็นตำรวจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 55 คน บาดเจ็บอีก 67 คน

ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม 2004 ก็เกิดการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในมัสยิดของชนนิกายชีอะห์พร้อมๆ กันทั้งที่กรุงแบกแดดและเมืองคาร์บาล่า โดยเชื่อว่าเป็นการลงมือปฏิบัติการของกลุ่มอัล กออิดะฮ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันถึง 171 คน และบาดเจ็บเกือบหกร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก สตรีและคนชรา







และในวันที่ 17 พฤษภาคม ก็เกิดการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในรถยนต์ใจกลางกรุงแบกแดด ส่งผลให้ เอซซาดิน ซาลิม (Ezzadin Salim) ประธานสภาปกครองอิรักเสียชีวิตพร้อมกับพลเรือนอีก 6 คน หลังจากนั้นตลอดทั้งปี 2004 ก็มีการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพประปราย แล้วเปลี่ยนมาใช้การโจมตีส่วนใหญ่ด้วยระเบิดแสวงเครื่อง เครื่องยิงลูกระเบิดและการซุ่มโจมตีที่มุ่งเป้าไปที่กำลังทหารสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเป็นหลัก

โมฮัมเหม็ด เอ็ม ฮาเฟซ (Mohammed M. Hafez) จากสถาบันเพื่อสันติภาพของสหรัฐฯ (United States Institute of Peace) ได้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในอิรักไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง “ระเบิดพลีชีพในอิรัก” (Suicide bombers in Iraq) ว่าเป็นที่น่าแปลกใจที่อิรักตกเป็นสถานที่แห่งการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพอย่างรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2005 เป็นต้นมา

โดยเฉพาะในเดือนเมษายน เมื่อรัฐสภาอิรักได้ลงมติรับรองรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ภายหลังจากวันลงมติหนึ่งวัน คือในวันที่ 26 เมษายน มีการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพถึง 16 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสื่อสารให้โลกภายนอกได้รับรู้ว่า กลุ่มต่อต้านจะไม่ยอมรับการแก้ปัญหาภายในของอิรักบนแนวทางการเมืองอย่างที่โลกตะวันตกต้องการ ซึ่งจากจุดนี้เองที่ฮาเซฟชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ของการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพนั้น มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ไม่ใช่วัตถุประสงค์ทางศาสนาอย่างที่กลุ่มต่อต้านกล่าวอ้าง

นอกจากนี้โมฮัมเหม็ด เอ็ม ฮาเฟซยังให้เหตุผลว่า การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในอิรักมีการพุ่งเป้าหมายไปที่พลเรือน มากเท่าๆ กับเป้าหมายทางทหาร โดยเฉพาะสถานที่สำคัญอันเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของชนนิกายชีอะห์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างชนนิกายสุหนี่และชีอะห์

อีกทั้งยังเป็นที่น่าประหลาดใจอย่างมากที่มือระเบิดพลีชีพส่วนใหญ่ในอิรักนั้นกลับไม่ใช่ชาวอิรัก หากแต่เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่เดินทางมาจากประเทศต่างๆ เช่น อียิปต์ ซีเรีย จอร์แดน ลิเบีย โซมาเลีย และอัฟกานิสถาน ที่ต้องการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ ทั้งๆ ที่ชาวอิรักส่วนใหญ่โดยเฉพาะชนนิกายสุหนี่ ไม่มุ่งทำการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ โดยเฉพาะการโจมตีใส่กลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์

ฮาเซฟสรุปบทความของเขาว่า การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในอิรัก จึงเป็นการโจมตีชาวอิรักโดยชาวต่างชาติที่ต้องการสละชีพเพื่อทำสงครามศักดิ์สิทธิ์บนดินแดนอิรัก และเพื่อดำเนินกลยุทธในการทำลายประเทศอิรักด้วยการสร้างสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างชนสองนิกาย ซึ่งจะส่งผลให้อิรักกลับไปสู่จุดต่ำสุดของประวัติศาสตร์ อันเป็นการทำลายโครงสร้างของประเทศลงอย่างสิ้นเชิง ก่อนที่จะเริ่มสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคม “ศาสนาบริสุทธิ์” ขึ้นมานั่นเอง

ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางประเทศ เช่นในประเทศกัมพูชาช่วงเขมรแดงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั่นเอง จะแตกต่างกันก็เพียงแต่มีการนำหลักศาสนาเข้ามาเชื่อมโยงด้วยเท่านั้นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น แสดงให้เห็นได้ว่าการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพที่กำลังเป็นภัยคุกคามสังคมอันสงบและสันติอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการทำสงครามทางศาสนาแต่อย่างใด หากเป็นการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งทางการเมือง การทหาร เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ตลอดจนความขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดน

อีกทั้งการโจมตีแบบพลีชีพนี้ก็มิได้เพิ่งเกิดขึ้นในโลกยุคก่อการร้าย หากแต่มีการปฏิบัติกันมาในสงครามหรือความขัดแย้งต่างๆ นับตั้งแต่อดีตมาแล้ว เพียงแต่การโจมตีเหล่านั้น มีเป้าหมายต่อกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึกรวมทั้งมุ่งหวังที่จะสร้างความได้เปรียบในการรบหรือทางยุทธวิธี ตลอดจนสร้างผลกระทบต่อสถานภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของข้าศึก มิได้มุ่งหวังที่จะประหัตประหารชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นหลัก

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมวลมนุษยชาติทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันทุกวิถีทางในการหยุดยั้ง “การโจมตีแบบพลีชีพ” ซึ่งเป็น “การสังเวยชีวิตตน” เพื่อ “ทำลายล้างชีวิตคนผู้บริสุทธิ์” โดยอ้างหลักศาสนาเพื่อสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งๆ ที่คำสอนของศาสนาทุกศาสนาล้วนแต่มุ่งหวังหล่อหลอมให้มนุษย์ทุกคนเป็นคนดีด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อนำสังคมแห่งความสงบสุขกลับคืนสู่พื้นพิภพแห่งนี้อย่างมั่นคงถาวรตราบชั่วลูกชั่วหลานสืบไป




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2553 13:11:23 น.
Counter : 4935 Pageviews.  

ผู้เด็ดปีกพญาอินทรี

ผู้เด็ดปีกพญาอินทรี

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military เดือนสิงหาคม 2552

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


"แม้อากาศยานปีกหมุนของสหรัฐฯ จะมีประสิทธิภาพและสนนราคาที่สูงลิบ แต่ก็ยังถูกกลุ่มต่อต้านในอิรักโจมตีจนได้รับความเสียหายด้วยอาวุธธรรมดาราคาถูก และนี่คือเรื่องราวของ ... ผู้เด็ดปีกพญาอินทรี ..."






อากาศยานปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์เป็น “จักรกลแห่งสงคราม” ที่มีบทบาทในการสนับสนุนทหารราบมาตั้งแต่สงครามเกาหลี และมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัวในสงครามเวียดนาม และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเฮลิคอปเตอร์ก็กลายเป็นยุทโธปกรณ์อันสำคัญยิ่งที่อยู่คู่กับกองทัพต่างๆ ทั่วโลกมาตลอด

ความสำคัญดังกล่าวส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว พร้อมกับภารกิจใหม่ๆ เช่น ภารกิจในการโจมตีข้าศึกด้วยอาวุธนานาชนิด ตั้งแต่ปืนกลไปจนถึงจรวดนำวิถี จนส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์โจมตีบางรุ่นไม่แตกต่างไปจากการเป็น “ป้อมปืนลอยฟ้า” แต่อย่างใด

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ในกองทัพของตนมาตลอด นับตั้งแต่การกำเนิดของอากาศยานปีกหมุนชนิดนี้ รวมทั้งได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อสร้าง “จักรกลแห่งสงคราม” ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นับตั้งแต่การใช้ในภารกิจลำเลียงทหารราบเข้าสู่สมรภูมิ ภารกิจในขนส่งยุทธภัณฑ์ต่างๆ การขนส่งสายแพทย์ ตลอดจนภารกิจในการลาดตระเวนตรวจการณ์ และภารกิจในการโจมตี

จึงอาจกล่าวได้ว่า เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสหรัฐฯ นับเป็นอาวุธที่น่าเกรงขามมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ เอเอช 64 อาปาเช่ (AH-64 Apache) ที่มีมูลค่าลำละกว่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นอากาศยานปีกหมุนที่มีขีดความสามารถสูงที่สุดแบบหนึ่งของโลกที่สามารถทำลายเป้าหมายได้ในระยะไกลนับไมล์โดยที่ข้าศึกไม่มีโอกาสรู้ตัว

นอกจากนี้ยังรวมถึงเฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช 60 แบล็คฮอว์ค (UH-60 Blackhawk) ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนส่งทางยุทธวิธีและเอนกประสงค์อันทรงอานุภาพ ที่เข้าประจำการในกองทัพสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 1974 จนถึงปัจจุบัน

เมื่อสหรัฐฯ เคลื่อนกำลังเข้าสู่อัฟกานิสถานและอิรักในปี 2002 - 2003 เฮลิคอปเตอร์เหล่านี้ได้ร่วมรบเคียงข้างกับทหารอเมริกันสมรภูมิแล้ว สมรภูมิเล่า สร้างความครั่นคร้ามให้กับกองกำลังผู้ต่อต้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการรบในพื้นที่ภูเขาสูงชันของอัฟกานิสถานที่เอเอช 64 ประสบความสำเร็จอย่างมาก

อดีตรองเสนาธิการทหารฝ่ายยุทธการของสหรัฐฯ พลตรีสแตนลีย์ เอ แมคคริสตัล (Stanley A. McChrystal) ซึ่งปัจจุบันดำรงผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานกล่าวว่า

“เฮลิคอปเตอร์ เอเอช 64 อาปาเช่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการรบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีข้าศึกในเวลากลางคืน ... มันมีความทนทานมาก ... แม้จะถูกระดมยิงจากข้าศึกอย่างหนัก แต่มันก็ยังคงปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายต่อไปจนประสบผลสำเร็จในที่สุด ... มันเป็นเครื่องบินปีกหมุนที่ยอดเยี่ยมที่สุดแบบหนึ่งของเราและของโลก ...”

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังได้เปิดฉากการใช้เอเอช 64 รุ่นที่มีการปรับปรุงใหม่ที่เรียกว่า “เอเอช 64 ดี อาปาเช่ ลองโบว์” (AH 64 D Apache Longbow) ที่เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 1997 อย่างแพร่หลายเป็นครั้งแรกในอิรัก

อาปาเช่ ลองโบว์นี้ได้ถูกติดตั้งโดมเรดาห์รูปทรงกลมเหนือโรเตอร์ของใบพัด โดยเรดาห์นี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ เพื่อให้สามารถจับเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ถึง 128 เป้าหมายในระยะไกลถึง 7 ไมล์ ที่สำคัญคือสามารถยิงจรวดนำวิถีทั้งแบบอากาศสู่พื้นแบบ เอจีเอ็ม 114 เฮลล์ไฟร์ (AGM 114 Hellfire) และแบบอากาศสู่อากาศแบบ เอไอเอ็ม 92 สติงเจอร์ (AIM 92 Stinger) ออกไปสู่เป้าหมายได้ แม้จะมีเครื่องกีดขวางระหว่างเฮลิคอปเตอร์กับเป้าหมาย เช่น อาคาร ป่าไม้ หรือ ภูเขา อีกทั้งยังทำให้เอเอช 64 ”อาปาเช่ ลองโบว์” สามารถยิงถล่มเป้าหมายแล้วบินหนีการตรวจจับของข้าศึกได้ก่อนที่เป้าหมายจะถูกทำลายเสียอีก

การปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์แบบ เอเอช 64 ลองโบว์ส่งผลให้มันสามารถทำลายรถถังของอิรักได้เป็นจำนวนมากในช่วงเริ่มต้นของการรบในอิรัก และในปัจจุบันอาปาเช่ก็มีส่วนสำคัญในการโจมตีที่สร้างความสูญเสียให้กับกลุ่มต่อต้านในอิรักโดยเฉพาะการปฏิบัติการในเวลากลางคืน เนื่องจากมีอุปกรณ์ตรวจจับเป้าหมายโดยอาศัยคลื่นความร้อน (PNVS - Pilot Night Vision System) ทำให้สามารถจับเป้าหมายที่เป็นบุคคลและอาวุธได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ แม้ข้าศึกจะอาศัยความมืดและภูมิประเทศเป็นที่ซ่อนตัวก็ตาม

ดังเช่น ความสำเร็จในการกวาดล้างกลุ่มต่อต้านในยุทธการ โคลด์ ฮาเบอร์ (Operations Cold Harbor), ยุทธการมาร์น ทอร์จ (Operations Marne Torch) และยุทธการโครินธ์ คลิป (Operations Corinth Clip) เป็นต้น

สำหรับเฮลิตอปเตอร์แบบยูเอช 60 แบล็คฮอว์คที่มีมูลค่าเริ่มต้นลำละกว่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเฮลิคอปเตอร์อีกแบบหนึ่งที่มีชื่อเสียงในสมรภูมิมายาวนานนับตั้งแต่เข้าทดแทนเฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช 1 (UH 1) ในปี 1979 โดยเริ่มประจำการครั้งแรกในกองพลส่งทางอากาศที่ 101 (101st Airborne Division) จากนั้นก็เข้าสู่สมรภูมิในประเทศเกรนาดา ปานามา และสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 ในยุทธการ “พายุทะเลทราย” (Operations Desert Storm) เมื่อปี 1991





จนกระทั่งประสบกับความสูญเสียในโซมาเลีย แต่ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจต่อไปในบอลข่าน ไฮติ จนถึงอัฟกานิสถานและอิรักในปัจจุบัน ซึ่งจากผลงานที่ผ่านมาแบล็คฮอว์คได้สร้างผลงานเอาไว้อย่างยอดเยี่ยมจนเป็นที่ยอมรับกันว่า มันเป็นอากาศยานปีกหมุนที่ใช้ในภารกิจขนส่งทางยุทธวิธีขนาดกลางที่ดีที่สุดแบบหนึ่งของโลก

อย่างไรก็ตามเมื่อการรบเปลี่ยนรูปแบบไป กำลังหลักของกองทัพอิรักถูกทำลายและกวาดล้างลงราบคาบ หลงเหลือแต่กลุ่มต่อต้านที่หันมาใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร มีพื้นที่ปฏิบัติการกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้สมรภูมิการรบที่เฮลิคอปเตอร์เหล่านี้เคยครองความได้เปรียบเปลี่ยนแปลงไปสู่สมรภูมิการรบในเมือง (Urban warfare) ที่ซึ่งมีความซับซ้อนทางยุทธวิธีมากขึ้น ส่งผลให้ความสูญเสียของอาปาเช่และแบล็คฮอว์คตลอดจนเฮลิคอปเตอร์แบบอื่นๆ เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น

โดยจากสถิติล่าสุดระบุว่าระหว่างปี 2003 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2009 มีเฮลิคอปเตอร์ทุกแบบของสหรัฐฯ จำนวน 119 เครื่องถูกยิงตกขณะปฏิบัติภารกิจในอิรัก ส่งผลให้นักบินและกำลังพลอย่างน้อย 270 นายเสียชีวิต

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2007 เฮลิคอปเตอร์แบบเอเอช 64 อาปาเช่ สังกัดกองพันที่ 4 กรมอากาศยานที่ 227 กองพลน้อยทหารม้าอากาศที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 1 เข้าปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิรักในพื้นที่เมืองนาจาฟ (Najaf) ที่กำลังถูกกลุ่มต่อต้านที่ชื่อว่า “นักรบแห่งสวรรค์” (Soldiers of Heaven) โจมตี และถูกระดมยิงด้วยอาวุธนานาชนิด จนเครื่องยนต์ขัดข้องไม่สามารถควบคุมได้และตกลงในพื้นที่ทางตอนเหนือของเมือง ส่งผลให้นักบินทั้งสองคน คือ ร้อยเอกมาร์ค ที เรช (Captain Mark T. Resh) และ จ่าสิบตรี คอร์เนล ซี เชา (Cornell C. Chao) เสียชีวิต

ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2007 เฮลิคอปเตอร์แบบเอเอช 64 อาปาเช่ หมายเลข 02-5337 สังกัดกองร้อย เอ กองพันที่ 1 กรมอากาศยานที่ 227 กองพลน้อยทหารม้าอากาศที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 1 ถูกระดมยิงด้วยอาวุธปืนเล็กจากกลุ่มต่อต้านที่ชื่อ “รัฐอิสลามแห่งอิรัก” (Islamic State of Iraq) ขณะปฏิบัติการในพื้นที่ใกล้เมืองทาจิ (Taji) โดยในช่วงแรกนักบินแจ้งว่าเครื่องถูกยิงทำให้ระบบไฮโดรลิกซ์เสียหาย ไม่สามารถใช้ปืนกลประจำเครื่องได้ แต่ยังสามารถใช้จรวดทำการโจมตีต่อไปได้ จึงยังคงปฏิบัติการสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินต่อไป จนถูกยิงซ้ำด้วยจรวดต่อสู้อากาศยานนำวิถีแบบประทับบ่าซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแบบ เอสเอ 7 (SA 7) ที่ทำในรัสเซียและได้รับความเสียหายอย่างหนักจนตกลงสู่พื้นดิน ทำให้นักบินทั้งสองนายคือ จ่าสิบตรี คีธ โยอาคุม (Keith Yoakum) และจ่าสิบตรี เจสัน จี เดฟเรนน์ (Jason G. Defrenn) เสียชีวิต

ก่อนหน้านี้เฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช 60 แบล๊คฮอว์ค นามเรียกขาน “อีซี่โฟร์ตี้” (Easy 40) สังกัด กองร้อย ซี กองพันที่ 1 กรมอากาศยานที่ 131 ก็เพิ่งถูกยิงตกด้วยการระดมยิงจากอาวุธปืนเล็กและจรวดต่อสู้อากาศยานนำวิถีแบบประทับบ่าไม่ทราบชนิดในพื้นที่เมืองบาคูบา (Baquba) ขณะปฏิบัติภารกิจขนส่งกำลังพลไปยังกรุงแบบแดดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2007 โดยกลุ่มต่อต้าน “รัฐอิสลามแห่งอิรัก” ส่งผลให้นักบิน ลูกเรือและผู้โดยสารเสียชีวิตทันที 11 นาย ผู้บาดเจ็บคนสุดท้ายถูกกลุ่มต่อต้านสังหารเป็นคนที่ 12

และในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2007 ขณะที่เฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช 60 แบล็คฮอว์ค ปฏิบัติการในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงแบกแดด ก็ถูกกลุ่มต่อต้านในอิรักใช้ยุทธวิธีที่นักรบโซมาเลียประสบความสำเร็จในการโจมตีแบล็คฮอว์คที่กรุงโมกาดิชชูในปี 1993 ด้วยการใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 และอาวุธปืนเล็กระดมยิงเป็นกลุ่มก้อน ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง นักบินต้องนำเครื่องร่อนลงจอดฉุกเฉิน แต่กำลังพลบนเครื่องทั้ง 9 นายปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือจากกองกำลังภาคพื้นดินในเวลาต่อมา

นอกจากเฮลิคอปเตอร์แบบอาปาเช่และแบล็คฮอว์คแล้ว เฮลิคอปเตอร์แบบอื่นๆ ก็ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มต่อต้านด้วยเช่นกัน ดังเช่นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2007 เฮลิคอปเตอร์แบบ ซีเอช 46 ซี ไนท์ (CH 46 Sea Knight) ของนาวิกโยธินสหรัฐจากฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางนาวิกโยธินที่ 364 (HMM 364 – Marine Medium Helicopter Squadron 364) ก็ถูกกลุ่มต่อต้านที่ชื่อ “กองทัพมูจาฮิดีน” (Mujahedeen Army) ยิงตกในการรบที่เมืองฟัลลูจาฮ์ (Fallujah) บริเวณอัล กามา (Al Kama) ทำให้นาวิกโยธินทั้งหมด 7 นายบนเครื่องเสียชีวิต

ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม 2007 เฮลิคอปเตอร์แบบ โอเอช 58 ดี กิโอวา (OH 58 D Kiowa) ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก หมายเลข 93-0978 นามเรียกขาน “โกสต์ไรเดอร์ 26” (Ghostrider 26) สังกัดกองพันที่ 2 กรมทหารม้าที่ 6 ถูกยิงตกด้วยอาวุธปืนเล็กขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนระหว่างเมืองบาคูบาและเมืองมุคดาดิยา (Muqdadiyah) ทำให้นักบินทั้งสองนายคือ ร้อยโท คีธ ไฮท์แมน (Keith Heidtman) และจ่าสิบตรี ธีโอดอร์ เชิร์ช (Theodore Church) เสียชีวิต





จากความสูญเสียที่มีอย่างต่อเนื่องของเฮลิคอปเตอร์ทุกรุ่นที่ได้ชื่อว่า มีประสิทธิภาพเยี่ยมยอดของโลก ส่งผลให้มีการศึกษาถึงสาเหตุของความสูญเสียเหล่านั้น

สาเหตุประการแรกก็คือ ภารกิจการสนับสนุนทหารราบในการรบในเมืองนั้นจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ที่มีความเร็วต่ำ แตกต่างจากเครื่องบินโจมตีแบบ เอ 10 (A 10) ที่มีเกราะหนา มีความทนทานสูง แต่เนื่องจากเอ 10 บินเร็วและมีเพดานบินสูงเกินไปสำหรับภารกิจนี้ เฮลิคอปเตอร์ส่วนใหญ่มีความเร็วอยู่ที่ 160 - 180 ไมล์ต่อชั่วโมง (แบล็คฮอว์คมีความเร็วปฏิบัติการที่ 173 ไมล์ต่อชั่วโมง

ส่วนอาปาเช่มีความเร็วปฏิบัติการที่ 165 ไมล์ต่อชั่วโมง) ดังนั้นเมื่อมันบินในระยะต่ำ ก็ทำให้ง่ายต่อการตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มต่อต้านที่สามารถใช้อาวุธปืนเล็กแบบ เอ เค 47 ไปจนถึงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งกลุ่มต่อต้านอาจใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ เอสเอ 7 หรือปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 12.7 ม.ม. เป็นอาวุธในการระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ







อันที่จริงความกังวลต่อความปลอดภัยของเฮลิคอปเตอร์มีมาตั้งแต่ปี 1993 จากเหตุการณ์ที่แบล็คฮอว์คถูกยิงตก 2 เครื่องในกรุงโมกาดิชชูของประเทศโซมาเลียด้วยอาวุธประจำตัวทหารราบและจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี 7 ซึ่งเป็นการเปิดเผยให้เห็นว่า สมรภูมิการรบในเมืองอาจเป็นกับดักของยุทโธปกรณ์ราคาแพง

ต่อมาในปี 1999 ในขณะที่สหรัฐฯ ส่งกำลังเข้าไปในเซอร์เบีย เอเอช 64 อาปาเช่ จำนวน 24 เครื่องก็ได้รับคำสั่งให้ยุติภารกิจการบินปฏิบัติการ เนื่องจากอาปาเช่เครื่องหนึ่งประสบอุบัติเหตุขณะทำการบิน อย่างไรก็ตามมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้นเชื่อว่ากองกำลังเชอร์เบียมีขีดความสามารถในการทำลายเอเอช 64 ได้เช่นเดียวกับพวกโซมาเลีย จึงสั่งระงับการใช้เอเอช 64 ในครั้งนั้นเพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

จนกระทั่งเมื่ออากาศยานปีกหมุนเหล่านี้ออกปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถาน ก็ต้องพบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจนนำมาซึ่งความสูญเสียที่น่าวิตก

คริสโตเฟอร์ เฮลล์แมน (Christopher Hellman) นักวิเคราะห์อาวุโสของศูนย์ข้อมูลการป้องกันประเทศ (the Center for Defense Information) ในกรุงวอชิงตันได้กล่าวถึงจุดอ่อนของเฮลิคอปเตอร์ในการรบในเมืองว่า

“... เฮลิตอปเตอร์จะบินต่ำและบินช้ากว่าปกติเมื่อต้องปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดิน ซึ่งทำให้มันตกเป้าหมายได้ง่ายทั้งจากปืนต่อสู้อากาศยานและอาวุธปืนเล็กยาวทั่วไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเฮลิคอปเตอร์เหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ พวกมันยังคงเป็นอาวุธชั้นยอดของโลก เพียงแต่ต้องยอมรับให้ได้ว่า ในสงครามทุกสงครามย่อมต้องมีการสูญเสีย ...”

เฮลล์แมนเปิดเผยตัวเลขความสูญเสียของเฮลิคอปเตอร์ในสงครามเวียดนามว่ามีเกือบ 5,000 เครื่อง ส่วนใหญ่มาจากการระดมยิงด้วยอาวุธประจำกายทหารราบและจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี





บทเรียนดังกล่าวทำให้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีเกราะป้องกันที่มีขีดความสามารถสูงขึ้นและสามารถป้องกันนักบินจากการระดมยิงด้วยอาวุธปืนเล็กได้ในระดับหนึ่ง ดังเช่น เอเอช 64 อาปาเช่ ได้มีการติดตั้งเกราะพิเศษที่เรียกว่า เคฟล่าร์ ไลน์ (Kevlar line) บริเวณใต้ที่นั่งนักบินซึ่งสามารถรักษาชีวิตพวกเขาได้

สาเหตุประการที่สองคือการปรับยุทธวิธีของกลุ่มต่อต้านในอิรัก โดยนิตยสารนิวยอร์กไทม์ (The New York Times) ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2007 ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับยุทธวิธีของกลุ่มต่อต้านในการโจมตีอากาศยานปีกหมุน โดยอ้างอิงเอกสารที่ยึดได้จากกลุ่มต่อต้านซึ่งเป็นร่างยุทธวิธีของกลุ่มอัล กออิดะห์ในเมโสโปเตเมียว่า

... การรบในเมืองเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติของเฮลิคอปเตอร์ที่ต้องบินช้าและบินในระดับต่ำ แต่ในขณะเดียวกันกลับเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติของกลุ่มต่อต้าน อีกทั้งสหรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการปฏิบัติการของเฮลิคอปเตอร์ โดยเฉพาะการขนส่งกำลังพลและยุทธภัณฑ์เพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีขบวนลำเลียงบนท้องถนนที่เป็นไปอย่างรุนแรงและหนาแน่น

ดังจะเห็นได้จากสถิติการใช้เครื่องบินปีกหมุนในอิรักได้เพิ่มขึ้นจาก 240,000 ชั่วโมงในปี 2005 เป็น 400,000 ชั่วโมงในปี 2007 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2008 - 2009 ทำให้ฝ่ายต่อต้านในอิรักประยุกต์ยุทธวิธีแบบใหม่ในการโจมตีอากาศยานปีกหมุน โดยผสมผสานการยิงระหว่างอาวุธที่หลากหลายตั้งแต่ปืนเล็กยาวอัตโนมัติ ปืนกลหนัก ปืนกลต่อสู้อากาศยาน เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี (RPG) และเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานทั้งแบบนำวิถีและไม่นำวิถี

การปฏิบัติจะพุ่งเป้าไปที่เฮลิคอปเตอร์ที่ต้องบินต่ำและบินผ่านเขตเมือง โดยใช้อาคารบ้านเรือนเป็นเครื่องปกปิดอำพรางการเตรียมการของกองกำลังกลุ่มต่อต้านที่จะลงมือโจมตีได้

นอกจากนี้กลุ่มต่อต้านในอิรักยังใช้การปฏิบัติลวง โดยการโจมตีอากาศยานปีกหมุนให้ร่อนลงฉุกเฉินหรือตกลงในพื้นที่ที่กำหนด ก่อนที่จะวางกำลังซุ่มโจมตีชุดกู้ภัยที่เดินทางเข้าไปช่วยเหลืออีกระลอก ทำให้ความสูญเสียของฝ่ายสหรัฐฯ มีเพิ่มสูงขึ้น

สาเหตุประการที่สามคือ ศักยภาพในการใช้ระบบต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่าที่เรียกว่า MANPAD (Man Portable Air Defense System) ของกลุ่มต่อต้านมีสูงมาก อันเนื่องมาจากความเป็นทหารอาชีพในกองทัพของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนที่กรำศึกอิรัก-อิหร่านมานานนับปี ซึ่งกลุ่มต่อต้านเหล่านี้จะทำการโจมตีด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในมือของกลุ่มต่อต้านอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนยุทธวิธีในการใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จรวดนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่กลุ่มต่อต้านในอิรักครอบครองอยู่มีหลากหลายรูปแบบเช่น แบบ เอสเอ 7 (SA 7) หรือตามชื่อเดิมของรัสเซียว่า 9K32 Strela ซึ่งมีอยู่ในความครอบครองของกลุ่มต่อต้านจำนวนนับร้อยเครื่องยิง ทั้งจากสายการผลิตของกองทัพอิรักในอดีต และจากการรั่วไหลออกจากคลังเก็บอาวุธของกองทัพอิรักในช่วงแรกของการยึดครองของสหรัฐฯ ในปี 2003







นอกจากนี้กลุ่มต่อต้านยังมีจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ 9K 38 Igla หรือ เอสเอ 14 (SA 14), เอสเอ 16 (SA 16), เอสเอ 18 (SA 18) รวมทั้งเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานนำวิถีด้วยอินฟาเรดแบบประทับบ่ารุ่น “ไมซาช 1” (Misagh-1) และ “ไมซาช 2” (Misagh-2) ที่ผลิตตั้งแต่ปี 1993 โดยบริษัท ชาฮิด ชาห์ อับฮาดี (Shahid Shah Abhady) ในอิหร่าน ซึ่งหัวรบของจรวดชนิดนี้มีน้ำหนัก 1.42 กิโลกรัม พุ่งเข้าหาเป้าหมายด้วยอัตราความเร็วสองเท่าเหนือเสียงหรือ 2 มัค (Mach 2) (ประมาณ 700 เมตรต่อวินาที) มีระยะยิงไกล 5 ก.ม.

โดยไมซาช 1 และไมซาช 2 ถูกลักลอบส่งให้กลุ่มต่อต้านนิกายชีอะห์ในอิรักที่รัฐบาลเตหะรานให้การสนับสนุน เช่น กลุ่มคาตาอิบ เฮซบุลเลาะห์ (Kata’ib Hezbollah) และกลุ่มอาซาเอบ อาห์ลฮู อัลฮัค (asaeb ahlu alhaq)

ซึ่งแม้ว่าเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานที่นานมากแล้วตลอดจนมีเทคโนโลยีที่ล้าสมัย แต่เมื่อถูกนำมาใช้เป็นกลุ่มก้อนด้วยการผสมผสานกับอาวุธชนิดอื่นๆ ก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับอากาศยานปีกหมุนของสหรัฐฯ ที่บินในระดับต่ำได้

นอกจากนี้ทหารสหรัฐฯ ในเมืองบาบิล (Babil) สังกัดกรมทหารราบพลร่มที่ 509 (509th Parachute Infantry Regiment) ของกองพลทหารราบที่ 25 (25th Infantry Division) ยังสามารถยึดปืนกลต่อสู้อากาศยานที่ล้าสมัยแต่ทรงประสิทธิภาพแบบแซดพียู 1 (ZPU 1) ขนาดความกว้างปากลำกล้อง 14.5 ม.ม. มีระยะยิงไกล 8,000 เมตร ที่เคยประจำการอยู่ในกองทัพอิรักยุคของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ทั้งแบบอัตตาจรซึ่งมีล้อลาก 2 ล้อ และแบบที่ติดตั้งอยู่บนรถถังแบบ ที 62 (T 62) และ ที 72 (T 72)

ซึ่งแม้จะมีสายการผลิตมาตั้งแต่สงครามเกาหลีแล้วก็ตาม แต่ปืนกลต่อสู้อากาศยานชนิดนี้ก็สามารถทำอันตรายต่ออากาศยานทุกชนิดที่บินอยู่ในระยะยิงของมัน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นคือสาเหตุบางประการที่ส่งผลให้การ “เด็ดปีกพญาอินทรี” หรือการโจมตีอากาศยานปีกหมุนอันทรงอานุภาพของกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถานประสบความสำเร็จ ซึ่งแม้จะมีผู้กล่าวว่า “เมื่อเข้าสู่สงคราม ไม่ว่าอาวุธที่มีอานุภาพเพียงใด ก็มีโอกาสได้รับความเสียหายจากการสู้รบเช่นกัน” แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีการปรับปรุงขีดความสามารถและยุทธวิธีของเฮลิคอปเตอร์ทุกชนิดเหนือน่านฟ้าสมรภูมิอิรัก

ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตของกำลังพลให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการบินด้วยความเร็วสูงสุดเมื่อจำต้องบินผ่านพื้นที่เสี่ยงภัยหรือพื้นที่สังหาร (Kill Zone) ตลอดจนใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เช่น การล็อคเป้าหมายด้วยเรดาห์ระยะไกลแทนการเล็งด้วยสายตาของนักบินที่สามารถเพิ่มระยะห่างจากการตอบโต้ของศัตรูได้

สิ่งเหล่านี้เริ่มส่งผลให้จำนวนความสูญเสียลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2008 และ 2009 อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพราะหากสหรัฐฯ ยังต้องการรักษาชื่อเสียงความเป็นสุดยอดของ “จักรกลแห่งสงคราม” ราคาแพงเหล่านี้เอาไว้ ก็จำเป็นจะต้องปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพของเฮลิคอปเตอร์ในการรบในพื้นที่เขตเมืองให้สามารถปฏิบัติการได้โดยเกิดความสูญเสียน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ไม่เช่นนั้นแล้วบทเรียนของ “อาปาเช่” และ “แบล็คฮอว์ค” ก็คงจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2553 12:59:45 น.
Counter : 8559 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.