Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๒๓ เนกขัมมะและปริจจาคะ (ต่อ)

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



เนกขัมมะและปริจจาคะมีความหมายตรงกัน

ได้แสดง ทศบารมี มา ๓ ข้อ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ และได้แสดง ทศพิธราชธรรม มา ๓ ข้อคู่กัน คือ ทาน ศีล ปริจจาคะ ทศบารมีนั้นเป็นธรรม คือเป็นหน้าที่ของพระโพธิสัตว์พึงบำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณ คือ ความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทศพิธราชธรรมนั้นเป็นธรรม คือหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์พึงทรงบำเพ็ญเพื่อปกครองประเทศชาติประชาชน และข้อ ๑ ข้อ ๒ ก็ตรงกัน แต่ข้อ ๓ นี้ต่างกัน สำหรับบารมีคือ เนกขัมมะ สำหรับราชธรรมคือ ปริจจาคะ บริจาคสละ แต่เมื่อพิจารณาดูอรรถคือเนื้อความแล้ว ก็จะเห็นว่าเนกขัมมะคือการออก กับปริจจาคะคือการสละบริจาคนั้น มีความที่ตรงกัน หรือว่าเนื่องเป็นอันเดียวกัน เพราะว่าจะมีเนกขัมมะคือการออกได้ ก็ต้องมีปริจจาคะคือการสละได้ เช่นจะออกจาที่ใดได้ ก็ต้องสละความติดในที่นั้นได้ หรือจะออกจากความผูกพันอยู่ในสิ่งใดได้ ก็ต้องสละความติดในสิ่งนั้นได้ หรือว่าจะบริจาคสละได้ก็ต้องออกได้ เช่นจะสละสิ่งใดได้ ก็ต้องออกจากความติดในสิ่งนั้นได้ แต่ว่าการออกของพระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์นั้น มีความเป็นพื้นก็คือการสละออกบวชเพื่อพระโพธิญาณ ทิ้งสิ่งอื่นได้ สละสิ่งอื่นได้ แต่ไม่สละทิ้งพระโพธิญาณ ส่วนพระมหากษัตริย์ทรงสละออกเพื่อประชาชน ไม่ทรงทิ้งประชาชน โบราณบัณฑิตจึงไม่ยกเนกขัมมะขึ้นแสดงในทศพิธราชธรรม ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจไปในการออกที่มีความหมายเป็นพื้น คือการออกบวช แต่ว่าแสดงปริจจาคะ คือการสละแทน เพื่อให้มีความหมายกระชับเข้ามาว่าทรงสละเพื่อประเทศชาติ ประชาชน เพราะทรงสละความติดในความสุขทุกๆ อย่างจึงทรงสละออกได้ ดังจะพึงเห็นได้ว่า เสด็จออกไปเพื่อประชาชนได้ในที่ทุกสถาน พระโพธิสัตว์ไม่ทรงทิ้งพระโพธิญาณฉันใด พระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงทิ้งประเทศชาติประชาชนฉันนั้น ปริจจาคะในทศพิธราชธรรม จึงหมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงบริจาคเพื่อประเทศชาติประชาชน แต่ไม่ทรงบริจาคประเทศชาติประชาชน เพราะฉะนั้น คำว่า เนกขัมมะ ที่แปลว่า การออก กับคำว่า ปริจจาคะ ซึ่งแปลว่า การบริจาคสละ จึงมีความหมายที่เนื่องถึงกัน จักออกได้ก็ต้องสละได้ จะสละได้ก็ต้องออกได้ และเมื่อแปลว่าการออกซึ่งมีความหมายทั่วไป ดังเช่นที่พระมหากษัตริย์ทรงออกจากพระราชวัง จากเมืองหลวง เสด็จจาริกไปเพื่อช่วยประชาชนในชนบททั้งหลาย นั้นก็เป็นการออกที่เรียกว่าเนกขัมมะ คือการออก แต่ที่ออกไปได้ดั่งนั้นก็เป็นปริจจาคะ คือการสละได้ สละความติดอยู่ในพระราชฐานในเมืองหลวง หรือในที่อันมีความสุข จากประชาชนที่มีความสุขอยู่กับบ้าน สละความติดสุขดั่งนี้ได้จึงออกไปได้ และการสละนั้นก็มิใช่หมายความว่า เพียงแต่สละความสุขในบ้านในเมืองที่มีความสุขเท่านั้น แต่หมายความว่าสละทรัพย์ สละความสุขสำราญ เพราะต้องตรากตรำไปในที่มีความทุกข์ยากกันดารต่างๆ มีภัยอันตรายต่างๆ ต้องเสี่ยงต่อความเจ็บไข้ ต้องเสี่ยงต่อชีวิต แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงสละได้เพื่อออกไปช่วยประชาชน ทรงยอมเสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บ ทรงเสี่ยงพระชนมชีพไปบำเพ็ญราชกิจต่างๆ ดังจะพึงยกตัวอย่างได้ถึงเรื่องปริจจาคะของพระองค์ ๒ เรื่อง

ทรงเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ

เรื่องที่ ๑ ก็คือความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ดังที่ได้ต้องทรงประชวรครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพราะเหตุที่ได้เสด็จออกไปตรากตรำปฏิบัติพระราชกิจเกี่ยวแก่การช่วยเหลือประชาชน ซึ่งมีพระอาการมากเป็นที่น่าวิตก เป็นที่วิตกกังวลของสมณีชีพราหมณ์ประชาชนทั่วไป จนถึงกับมีการที่ปฏิบัติทำจิตตภาวนาถวายพระพรให้หายประชวรกันในที่เป็นอันมาก ทั้งฝ่ายบรรพชิตคือพระสงฆ์ ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ฆราวาส พสกนิกร แต่ก็ได้หายประชวรครั้งนั้นมาได้ อันเป็นที่ปีติยินดีกันทั่วไป เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ก็เป็นเครื่องประกาศถึงปริจจาคะ คือการสละของพระองค์

ทรงเสี่ยงพระชนมชีพในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

แล้วอีกคราวหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏแพร่หลาย ไม่เป็นข่าว แต่ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองที่อำเภอสีขรินทร์ จังหวัดนราธิวาส ได้เป็นผู้มาเล่าให้ฟัง เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่ทักษิณราชนิเวศน์ ซึ่งในครั้งนั้นได้มีผู้ก่อการร้ายหรือที่เรียกกันว่าคนป่าอยู่เป็นอันมากในทุกภาคของประเทศ ในภาคใต้โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาสก็มีมาก แต่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้เสด็จออกไปเยี่ยมราษฏรในอำเภอต่างๆ จังหวัดนราธิวาสและโดยเฉพาะในจังหวัดอำเภอที่มีโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน พัฒนาน้ำ และที่มีศิลปาชีพสำหรับประชาชนของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทั้ง ๒ พระองค์ก็มีปกติเสด็จไปทรงทอดพระเนตรดูกิจการต่างๆ ที่ได้เริ่มกระทำไปแล้วบ้าง ที่จะเริ่มขึ้นใหม่บ้าง เป็นการทรงติดตามดูผลของงานที่ได้เริ่มมาแล้ว เช่นเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จะเป็นปีเดียวหรือหลายปีก็ตาม แต่ว่าได้มีการปฏิบัติต่อเนื่องกันมาอย่างไรและมีข้อบกพร่องที่จะควรแก้ไขอย่างไร และมีอะไรที่จะเริ่มขึ้นใหม่ และในที่ไหนบ้างอันเป็นที่ใหม่ เมื่อทรงทราบก็ได้เสด็จไปตรวจตราดู และเมื่อสมควรที่จะเริ่มการพัฒนาการเกษตรหรือการชลประทานขึ้นในที่ใดอีก ก็โปรดให้ทำ เสด็จออกในตอนกลางวัน แล้วก็เสด็จกลับมักจะเป็นเวลาค่ำคืน ตั้ง ๓ – ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่มหรือกว่านั้น โดยขบวนรถยนต์พระที่นั่งผ่านถนน ผ่านป่า อันเป็นที่อยู่ของผู้ก่อการร้ายทั้งหลายโดยไม่ทรงย่อท้อว่าจะมีภยันตรายจากพวกเขาเหล่านั้น ในวันหนึ่งในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๒๔ ได้เสด็จไปที่อำเภอสีขรินทร์ ได้เสด็จไปเยี่ยมวัดโต๊ะโม๊ะ ที่โปรดให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์เป็นวัดขึ้น ได้มีประชาชนมาเฝ้าเป็นอันมาก ก็ได้ตรัสรับสั่งถามถึงกิจการต่างๆ ที่ประกอบกระทำ ซึ่งบางพวกก็ได้ประกอบงานศิลปาชีพตามกำหนดของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากวัดโต๊ะโม๊ะนั้นก็เสด็จไปเยี่ยมที่อื่นอีก แล้วก็เสด็จไปวัดที่อำเภอสีขรินทร์เป็นเวลาค่ำ ก็ได้ประทับเยี่ยมราษฏรอยู่ที่นั่นเช่นเดียวกัน แล้วก็เสด็จออกจากวัดที่อำเภอสีขรินทร์นั้นแล้วเสด็จกลับ แล้วก็ยังเสด็จเยี่ยมค่ายทหารในอำเภอนั้นด้วย ออกจากค่ายทหารก็กว่า ๓ ทุ่ม เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งผ่านป่าผ่านเขาเป็นระยะทางไกล ไปถึงพระตำหนักที่ทักษิณราชนิเวศน์ก็ดึกมาก ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองที่อำเภอสีขรินทร์ได้มาเล่าว่า ในคืนวันนั้นขบวนรถยนต์พระที่นั่งจะต้องผ่านเส้นทางหลายเส้นทาง และจะต้องผ่านเส้นทางแยกก็หลายเส้นทางแยก เส้นทางแยกหนึ่งนั้นมีตำรวจเฝ้าอยู่ ๒ คน ตำรวจ ๒ คนนั้นได้เห็นมีพวกคนป่าออกมาจากป่ากันเป็นอันมาก ตำรวจ ๒ คนนั้นมีเพียง ๒ คนก็กลัว จึงหนีไป และก็ไม่ได้รายงานให้ผู้หลักผู้ใหญ่ทราบในเวลานั้น ไปรายงานให้ทราบในวันรุ่งขึ้น แต่ก็ปรากฏว่าขบวนเสด็จได้เสด็จผ่านไปโดยเรียบร้อย ไม่มีอันตรายอะไร

ตามที่เล่ามานี้ไม่ได้เป็นข่าว แต่เป็นความจริงที่ผู้ปกครองนิคมได้มาเล่าให้ฟัง ถ้าหากว่าตำรวจ ๒ คนนั้นได้รีบบอกผู้บังคับบัญชาในเวลานั้น ก็คงจะวุ่นวายกันใหญ่ จะต้องยับยั้งขบวนเสด็จ แต่ว่าตำรวจ ๒ คนนั้นก็ไม่กล้าจะบอก ก็นับว่าเป็นการเสี่ยง และก็เป็นพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พวกนั้นจึงไม่ทำอันตรายอะไร แต่เขาจะพากันออกมาทำอะไรก็ไม่ทราบ อาจจะได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ก็อาจจะออกมาเฝ้าชมพระบารมีด้วยก็ได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่แสดงว่าได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นการเสี่ยงต่อพระชนมชีพ เป็นการเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ แต่วาในข้อหลังนี้ก็ได้ประชวรอย่างหนักมาครั้งหนึ่งดังที่ได้เล่ามาแล้ว แสดงถึงความที่ได้ทรงมีปริจจาคะ คือการสละบริจาค ไม่ใช่ทรงสละบริจาคความสุขธรรมดา แต่ทรงสละบริจาคจนถึงพระวรกาย พระชนมชีพ ไม่พรั่นพรึงต่อภยันตรายที่อาจจะมี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่พึงทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั่วไป

ทรงประทานพระมหากรุณาโดยทั่วถึงกัน

และจะพึงเห็นได้ว่า ตั้งแต่ได้มีพระราชฐานอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ไปประทับอยู่ในจังหวัดที่มีไทยมุสลิมเป็นอันมาก ซึ่งจังหวัดนราธิวาสนั้นก็เป็นจังหวัดหนึ่งใน ๔ จังหวัดทางใต้ ซึ่งคนไทยมุสลิมเหล่านั้นไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา และรู้สึกว่าจะมีความสำนึกตนว่าเป็นชาติไทยน้อยหรือมากเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ เพราะเขาจะไม่ใคร่ยอมเรียนภาษาไทย พูดภาษาไทยกัน จะปฏิบัติเคร่งครัดอยู่ในกฎแห่งศาสนามุสลิม ไม่ได้นับถือความเป็นคนไทยยิ่งไปกว่าความเป็นมุสลิม จึงเข้ากันได้กับคนไทยที่นั่นน้อย แต่เข้ากันได้กับคนมุสลิมในเขตแดนของมาเลเซียได้มากกว่า และทางรัฐบาลไทยก็ได้ผ่อนปรนไปตามควรแก่เหตุการณ์เพื่อรักษาน้ำใจ แต่เมื่อได้มีพระตำหนักขึ้นที่นั่น และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเป็นประจำปี และได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนราษฏรทั้งที่เป็นคนไทยศาสนาพุทธคือเป็นไทยพุทธ ทั้งที่เป็นไทยมุสลิมโดยทั่วถึงกัน ประทานพระมหากรุณาโดยทั่วถึงกัน ก็ปรากฏว่าในปีแรกที่เสด็จไปที่นั้น ก็ได้รับการต้อนรับและสายตาที่มีความระแวงสงสัย แต่เมื่อเสด็จไปประทับและเสด็จเยี่ยมในปีถัดๆ ไป ก็ได้รับการต้อนรับที่แสดงความเป็นมิตร ความจงรักภักดียิ่งขึ้น สายตาที่มีไมตรี มีความจงรักภักดีมากขึ้นโดยลำดับ จนทำให้รู้สึกว่า ๔ จังหวัดนั้นเป็น ๔ จังหวัดในประเทศไทย และก็เชื่อว่าบรรดาผู้ที่ก่อการร้ายทั้งหลายทั้งปวงในถิ่นทั้งปวงที่เสด็จไปนั้น ก็ย่อมจะมีความรู้สึกว่าพระองค์ได้ทรงออกไปช่วยจริงๆ ช่วยประชาชน ไม่ใช่มุ่งประโยชน์ หรือไปเบียดเบียนประชาชนแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง มุ่งไปช่วยจริงๆ ได้เสด็จตากแดดตากฝน ทรงบุกไปในที่ที่ราบเรียบ ในที่ที่เป็นโคลนตมต่างๆ ได้ทุกสถาน อันนี้แหละย่อมแสดงถึง ปริจจาคะ อย่างเต็มที่ และแสดงถึง ทาน ด้วย แสดงถึง ศีล ด้วย ความที่ทรงบริจาคต่างๆ ที่เป็นวัตถุ ให้เพื่อบำรุงสุข ให้เขาเฉพาะตัวๆ ไปนั้นก็เป็นทาน ข้อที่ไม่ทรงเบียดเบียนประชาชน แต่ว่าอุดหนุนประชาชนให้เป็นสุข นั่นก็เป็นศีล และข้อที่ทรงสละ ไม่ใช่คนเดียวแต่หลายคน คือเพื่อความสุขของคนส่วนใหญ่ และทรงสละพระองค์เอง สละความสุขของพระองค์เอง ทรงเสี่ยงต่อภยันตราย เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ นี่ก็เป็นปริจจาคะ และการเสด็จออกไปนั้นก็เป็น เนกขัมมะ เสด็จออกจากพระราชฐาน ออกจากความติด ออกจากความหวั่นเกรงความกลัวต่างๆ เป็นการออกทั้งนั้น จึงได้ปฏิบัติทาน ปฏิบัติศีล และปฏิบัติปริจจาคะได้ เพราะฉะนั้น ตามที่เล่ามานี้ก็เพื่อแสดงว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงบำเพ็ญปริจจาคะ คือการสละบริจาคอย่างไร ซึ่งมีเนื้อความที่สำคัญยิ่งไปกว่าทานโดยปกติ และการที่ทรงปฏิบัติเป็นปริจจาคะนี้ก็เป็นเนกขัมมะไปด้วย คือการที่ออกไปได้ ไปปฏิบัติได้

ทรงมีภาระมาก ทรงมีภาระพร้อม

อนึ่ง ทางฝ่ายพระสงฆ์ได้มีถ้อยคำเรียกองค์พระมหากษัตริย์ว่า “สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า” บรมบพิตร นั้นก็เป็นคำใช้ทั่วไป แม้ในพระราชสมัญญา พระปรมาภิไธยก็มีคำบรมบพิตร หมายความถึงความที่ทรงเป็นเจ้า เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นพระราชามหากษัตริย์ ส่วนคำว่า พระราชสมภารเจ้า คือมีคำว่า “สมภาร” รวมอยู่ด้วย คำว่าสมภารนี้ ปกติใช้เป็นนามของเจ้าอาวาส ว่าเป็นสมภารวัดนั้น ว่าเป็นสมภารวัดนี้ พระเถระซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้ปกครองวัดบริหารวัด ก็เรียกว่าสมภารเจ้าวัด และก็ได้นำเอาคำนี้มาถวายพระมหากษัตริย์ด้วยว่าพระราชสมภารเจ้า พูดง่ายๆ ก็คือว่าเป็นสมภารของประเทศชาติทั้งหมด เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้บริหารประเทศชาติทั้งหมด เหมือนอย่างสมภารวัด เป็นผู้บริหารผู้ปกครองวัด และคำว่า สมภาร นี้ก็มักจะแปลกันว่า มีภาระมาก มีภาระพร้อม อย่างสมภารวัดมีภาระมาก มีภาระพร้อม จะต้องดูแลทั้งในด้านปกครอง ทั้งในด้านอบรมสั่งสอน ในด้านเผยแผ่ ทั้งในด้านสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ถาวรวัตถุต่างๆ ในวัดเป็นต้นทุกอย่าง มีภาระมาก มีภาระพร้อม พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีภาระมาก มีภาระพร้อม เพราะจะต้องทรงปกครองประชาชนทั้งประเทศ สมภารวัดนั้นเพียงวัดหนึ่งๆ แต่พระมหากษัตริย์นั้นทั้งประเทศ นี่เป็นความหมายทั่วไป

ทรงเป็นพระโพธิสัตว์สำหรับประชาชน

อีกความหมายหนึ่ง การที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมี ก็เรียกอย่างหนึ่งว่า โพธิสมภาร คือบำเพ็ญบารมีเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สัมภาระนั้นจึงมีความหมายถึงบำเพ็ญให้บริบูรณ์ด้วย และคำว่าสัมภาระนี้ มาจาก ภรธาตุที่แปลว่าเลี้ยง เช่นว่ามารดาบิดาเลี้ยงบุตร ภาระจึงแปลว่าเลี้ยง และการเลี้ยงนั้นก็คือการที่บำรุงให้อิ่มหนำสำราญ อย่างมารดาบิดาเลี้ยงบุตรธิดา ก็บำรุงให้อิ่มหนำสำราญ พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญโพธิสมภาร ก็คือการที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีให้บริบูรณ์ ถ้าเทียบอย่างกับมารดาบิดาเลี้ยงบุตร ก็คือว่าให้อิ่มหนำสำราญ ก็คือให้บริบูรณ์ สัมภาระ จึงหมายถึง บำเพ็ญ ได้ บำเพ็ญบารมีนั้นเพื่อพระโพธิญาณก็เรียกว่า โพธิสมภาร คือเป็นการที่บำเพ็ญบารมีให้บริบูรณ์ เพื่อ โพธิ คือความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นคำที่ใช้สำหรับพระโพธิสัตว์มาในคัมภีร์ และเมื่อนำมาใช้ต่อพระมหากษัตริย์เป็นพระราชสมภารเจ้า จึงมีความหมายเหมือนอย่างทรงเป็นพระโพธิสัตว์สำหรับประชาชน เป็น ราชโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมให้สมบูรณ์ ตามหน้าที่ของพระราชาผู้ปกครองประชาชนพึงปฏิบัติกระทำเพื่อประชาชน

๘ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 07 สิงหาคม 2554    
Last Update : 7 สิงหาคม 2554 7:19:32 น.
Counter : 865 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒๒ ปริจจาคะ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ที่มาและความหมายของปริจจาคะ

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๓ คือ ปริจจาคะ

ปริจจาคะ เรานำมาใช้ในภาษาไทยว่า บริจาค และมักจะใช้พูดคู่กันไปกับทาน เช่น พูดว่า ทานบริจาค หรือ ทานะ – บริจาค ให้ทานการบริจาค คำทั้ง ๒ นี้ได้มีที่มาในหมวดธรรมในพุทธศาสนาหลายหมวด มาในหมวดแต่ละคำคือ ทานอย่างเดียว หรือ ปริจจาคะ หรือ จาคะ อย่างเดียวก็มี มาคู่กัน เช่น ในทศพิธราชธรรมนี้ ข้อ ๑ ทาน ข้อ ๒ ศีล ข้อ ๓ ปริจจาคะ หรือบริจาค ดั่งนี้ก็มี ที่มาเดี่ยวนั้น เช่นใน บุญกิริยาวัตถุ ๓ ข้อ ๑ ทานมัยบุญกิริยา การทำบุญสำเร็จด้วยทาน ข้อ ๒ สีลมัยบุญกิริยา การทำบุญสำเร็จด้วยศีล ข้อ ๓ ภาวนามัยบุญกิริยา การทำบุญสำเร็จด้วยภาวนา

ปริจจาคะ หรือจาคะที่มาเดี่ยวนั้น เช่น สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า ๔ ข้อ

๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยจาคะ
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

เมื่อคำว่าทานและปริจจาคะ บริจาค หรือ จาคะ บริจาค ทั้ง ๒ นี้ต่างมาเดี่ยวไม่คู่กัน ในหมวดธรรมนั้นๆ ก็มีความหมายรวมกัน ทานคือการให้ ก็รวมถึงปริจจาคะ หรือจาคะ บริจาค คือสละด้วย หรือเมื่อปริจจาคะหรือจาคะมาเดี่ยว ก็หมายถึงทานด้วย คือหมายถึงบริจาคสละ และหมายถึงการให้ด้วย แต่เมื่อมาเป็นคู่กันดังในทศพิธราชธรรมนี้ ทั้ง ๒ คำนี้ก็อธิบายในความหมายที่ต่างกัน คือ ทานนั้นมุ่งถึงการให้ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้รับ เพื่อความสุขของผู้รับ เป็นการเฉลี่ยเผื่อแผ่ความสุขของตนแก่ผู้อื่นดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ส่วนปริจจาคะ หรือจาคะ ที่แปลทับศัพท์ว่า บริจาค หรือแปลเป็นไทยว่า สละนั้น มุ่งถึงสละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยหรือเป็นประโยชน์น้อย เพื่อประโยชน์ที่มากกว่า ยิ่งกว่า ดังพระพุทธภาษิตที่แปลว่า “ผู้มีปัญญาเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ พึงสละสุขพอประมาณเสีย” และที่ว่า “พึงสละทรัพย์เพราะเหตุรักษาอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อรักษาชีวิตก็พึงสละอวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรม ก็พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิตทั้งสิ้น”

การบริจาคหรือสละมุ่งถึงประโยชน์ที่พึงได้เป็นที่ตั้ง

ฉะนั้น ลักษณะที่เรียกว่า บริจาค หรือสละนี้ จึงมุ่งถึงประโยชน์ที่พึงได้เป็นที่ตั้ง ดังที่ว่า สละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยเพื่อสิ่งที่มีประโยชน์ยิ่งกว่า หรือประโยชน์ที่ไพบูลย์ หรือว่ามุ่งถึงสิ่งที่จะพึงได้หรือพึงรักษาไว้ได้ที่ยิ่งกว่า ก็สละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยกว่า หรือว่ามุ่งที่จะรักษาธัมมะ คือความถูกต้อง ความดีที่เรียกว่าคุณธรรม ธรรมที่เป็นคุณ คือความดีที่เกื้อกูล ตลอดถึงธรรมคือหน้าที่ที่พึงทำ ก็พึงสละได้ทั้งหมด ดังพุทธภาษิตข้อหลังที่ยกมาอ้างนั้น และพุทธภาษิต ๒ ข้อที่ยกมาอ้างนี้ ข้อแรกเป็นความสั้น ข้อหลังขยายความให้พิสดาร แต่ก็มีใจความเป็นอย่างเดียวกัน ในข้อหลังนั้นยกเอาตัวอย่างคือทรัพย์ อวัยวะคือส่วนของร่างกายและชีวิต ทุกคนย่อมมีทั้ง ๓ นี้อยู่ด้วยกัน และทั้ง ๓ นี้ก็เป็นสิ่งที่พึงรักษาอยู่ด้วยกัน ทรัพย์ก็พึงรักษาไว้ อวัยวะคือส่วนของร่างกายต่างๆ ก็พึงรักษาไว้ ชีวิตก็พึงรักษาไว้

ทรงสอนให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องสละ เช่นจะต้องสละทรัพย์ หรือต้องสละอวัยวะส่วนของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้าหากว่าไม่ยอมสลชะทรัพย์ ก็จะต้องเสียอวัยวะร่างกาย เมื่อเป็นดั่งนี้ จะรักษาอะไรไว้ จะรักษาทรัพย์ไว้ หรือจะรักษาอวัยวะร่างกายไว้ทั้ง ๒ อย่างนี้เมื่อเทียบกันดูแล้ว อวัยวะร่างกายสำคัญกว่า เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ให้สละทรัพย์ ดั่งเช่นเกิดเจ็บป่วยขึ้นที่อวัยวะร่างกาย จำจะต้องรักษา เมื่อรักษาก็จะต้องเสียทรัพย์เป็นค่ารักษา ถ้าไม่ยอมเสียทรัพย์รักษา ก็จะต้องเสียอวัยวะร่างกายส่วนนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะร่างกายที่ประเสริฐที่ต้องการนั้นไว้

ทรงสอนให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

และเมื่อจะต้องรักษาอวัยวะร่างกายไว้ด้วย รักษาชีวิตไว้ด้วย แต่ว่าจะรักษาไว้ทั้ง ๒ อย่างไม่ได้ หากว่าจะรักษาชีวิตไว้ ก็จะต้องสละอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้าหากว่าไม่ยอมสละอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จำต้องเสียชีวิต เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็พึงสละอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อรักษาชีวิตที่ประเสริฐกว่าเอาไว้ ดังเช่นคนที่เป็นโรคที่อวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หากว่าจะรักษาชีวิตก็จะต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นเสีย ถ้าไม่ยอมตัดเสีย ก็ไม่สามารถจะรักษาชีวิตไว้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อรักชีวิตก็จะต้องยอมให้ตัดอวัยวะส่วนนั้น เช่นภายนอก ตัดนิ้ว ตัดแขน ตัดขา ภายในก็เช่นต้องตัดถุงน้ำดีออก ต้องตัดปอดออกเสียบ้าง หรือตัดปอดออกเสียข้างหนึ่งเลย ดั่งนี้เป็นต้น เมื่อสละไปแล้วดั่งนี้ ก็รักษาชีวิตไว้ได้ ฉะนั้น เมื่อมีเหตุจะต้องสละอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสอง ก็ต้องเลือกเอาสละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยกว่า ประเสริฐน้อยกว่า รักษาสิ่งที่ประเสริฐกว่าไว้

ทรงสอนให้สละทรัพย์ อวัยวะ ชีวิตเพื่อรักษาธรรม

เมื่อมาถึงหน้าที่ ถึงความถูกต้อง ถึงคุณธรรมคือความดี หากว่าจะต้องรักษาธรรมดังกล่าวนี้ไว้ ซึ่งธรรมดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดยิ่งกว่าชีวิตอวัยวะร่างกาย และทรัพย์ เมื่อได้มองเห็นคุณค่าของธรรมว่าประเสริฐสุดดั่งนี้แล้ว เมื่อถึงคราวที่จะต้องรักษาธรรม แต่ว่าจำจะต้องสละชีวิต สละอวัยวะร่างกาย สละทรัพย์ ก็พึงสละเพื่อรักษาธรรมไว้ อันธรรมข้อหลังที่ว่าประเสริฐสุดนี้ สำหรับในข้อที่ว่าด้วยบารมี บารมีทุกข้อนั้นสำหรับพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งบำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณ ย่อมเห็นว่าธรรมคือบารมีที่ท่านบำเพ็ญซึ่งชื่อว่าเป็นธรรม ดังที่ได้แสดงมาแล้วว่า พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญเนกขัมมะคือการออกและที่จะแสดงต่อไป เมื่อท่านบำเพ็ญนั้น ท่านสละทรัพย์เพื่อบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญเนกขัมมะ บารมีข้อนั้นๆ ก็ชื่อว่า บารมี เมื่อท่านสละอวัยวะร่างกายเพื่อบำเพ็ญบารมีข้อนั้นๆ ก็ชื่อว่า อุปบารมี เมื่อท่านบำเพ็ญบารมี ท่านสละชีวิตเพื่อบำเพ็ญบารมีข้อนั้น ก็ชื่อว่า ปรมัตถบารมี เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์นั้นจึงสามารถสละได้ทั้งทรัพย์ ทั้งอวัยวะร่างกาย ทั้งชีวิต เพื่อบารมีทุกข้อ บารมีนั้นก็คือธรรมนั้นเอง และก็กล่าวได้ว่า เมื่อท่านมุ่งพระโพธิญาณ ท่านได้รับพุทธพยากรณ์ว่า จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์ เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ท่านก็บำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณ บารมีนั้นจึงเป็นธรรมที่มีความหมายว่า หน้าที่ได้ด้วย คือคำว่าบารมีนั้นเป็นธรรมที่มีความหมายว่าเป็นความดี อันเป็นความหมายของธรรมทั่วไปในฝ่ายกุศลธรรม เป็นคุณธรรม เป็นความดี ยังมีความหมายถึงว่าหน้าที่ด้วย คือเป็นหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์แล้วก็มีหน้าที่บำเพ็ญบารมี บารมีจึงเป็นธรรมที่เป็นหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ และหน้าที่ดังกล่าวนี้เป็นหน้าที่ๆ ไม่มีใครแต่งตั้งให้ แต่เป็นหน้าที่ๆ มาพร้อมกับภาวะคือความเป็น คือเมื่อเป็นอะไรขึ้นมา หน้าที่ก็มาพร้อมกับภาวะที่เป็นนั้น เช่นเมื่อเป้นพระโพธิสัตว์ หน้าที่ก็มาพร้อมกับภาวะคือความที่เป็นพระโพธิสัตว์นั้น ก็คือบำเพ็ญบารมี และก็ต้องรักษาหน้าที่ ก็คือรักษาธรรมที่เป็นหน้าที่ไว้ให้ได้ จึงจะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ จะต้องสละทรัพย์ก็สละ จะต้องสละอวัยวะร่างกายก็สละ จะต้องสละชีวิตก็ต้องสละ เพื่อรักษาธรรมคือหน้าที่ อันได้แก่บารมีดังกล่าว

ทศพิธราชธรรมคือหน้าที่ของพระมหากษัตริย์

นี้ยกมาอ้างในทางพระโพธิสัตว์ เพื่อมาเทียบกับปริจจาคะ คือการสละ ในที่นี้กำลังอธิบายคำว่าปริจจาคะ กับคำว่าทาน และที่ยกพระพุทธภาษิตที่กล่าวนั้นมา ซึ่งมาอธิบายเพื่อให้เข้าใจชัดโดยยกเอาการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ขึ้นมาที่แจกออกไปเป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี มาอ้างเพื่อให้เห็นชัด แม้ในการปฏิบัติธรรมที่เป็นความดี เป็นหน้าที่ของบุคคลที่นอกจากพระโพธิสัตว์ และบุคคลที่เป็นหัวหน้า ก็คือพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีธรรมที่พึงปฏิบัติในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ หรือตามที่ทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้คือ ทศพิธราชธรรม และในทศพิธราชธรรมข้อ ๓ นี้ก็คือ ปริจจาคะ จึงมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติในธรรมข้อนี้ ตั้งต้นแต่ที่ไม่ได้ทรงเห็นแก่ประโยชน์สุขจำเพาะพระองค์ ได้ทรงสละบริจาคพระราชทรัพย์เป็นต้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน แม้ว่าจะต้องทรงเหนื่อยยากพระวรกาย บางคราวก็ประชวร เพราะเหตุที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อความสุขสมบูรณ์ของประชาชน ด้วยการที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม ทรงจัดทำโครงการต่างๆ ตามพระราชดำริต่างๆ ซึ่งเป็นทุกข์ทรมาน และทางก็ทุรกันดาร ในบางแห่งก็ต้องเสด็จไปอย่างเสี่ยงอันตรายเข้าไปในสถานที่ใกล้ผู้ก่อการร้ายทั้งหลาย แต่ก็ได้เสด็จไปโดยที่ไม่ทรงคำนึงถึงไม่ทรงย่อท้อต่อความทุกข์ลำบากและอันตรายต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น อันจะพึงกล่าวได้ว่า ทรงยอมเสี่ยงพระชนมชีพ ทรงยอมรับความทุกข์ลำบากพระวรกาย และก็ทรงสละพระราชทรัพย์ต่างๆ เพื่อช่วยประชาชน ดั่งนี้ก็กล่าวได้ว่า โดยทรงมุ่งปฏิบัติธรรมคือหน้าที่ คือเมื่อเป็นพระมหากษัตริย์ ก็ทรงมีหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองประชาชนให้มีความสุขโดยธรรม ตามที่ได้มีพระปฐมบรมราชโองการไว้ว่า จะปกครองโดยธรรม ก็คือทศพิธราชธรรมนี้เอง เพราะฉะนั้น จึงเป็นธรรมคือ ความดี ความงาม ความถูกต้อง อันหมายรวมถึงหน้าที่ของพระมหากษัตริย์จึงเป็นกิจ คือเป็นสิ่งที่พึงทำของพระองค์ และกิจที่พึงทำของพระองค์นี้ ก็มีมาตั้งแต่เมื่อเสด็จครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ธรรมคือหน้าที่ดังกล่าวนี้ก็มีขึ้นทันที อันเป็นข้อที่จะพึงทรงปฏิบัติ และทุกๆ คนอันหมายถึงผู้ปกครองที่มีระดับเป็นรัฐบาลเป็นข้าราชการ ทหาร พลเรือน ตำรวจ ตลอดถึงประชาชนทั้งปวง เมื่อเป็นขึ้นมาอย่างใด ก็ย่อมมีธรรมคือหน้าที่ คือเป็นกิจที่พึงปฏิบัติเกิดขึ้นทันที เป็นรัฐบาลที่แปลว่า ผู้ปกครองรัฐคือประเทศชาติ ก็มีธรรมคือหน้าที่ของผู้ปกครองรัฐ คือประเทศชาติขึ้นมาทันทีเมื่อเป็นรัฐบาลขึ้นมา เป็นข้าราชการ ทหาร พลเรือน ตำรวจเป็นต้น เมื่อเป็นตำแหน่งใดขึ้นมา ก็มีธรรมคือหน้าที่ๆ จะพึงปฏิบัติขึ้นทันที

ปฏิบัติหน้าที่โดยธรรมคือโดยถูกต้อง

และหน้าที่ต่างๆ ที่มีขึ้นทันทีตามตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้น ก็พึงเป็นหน้าที่พึงปฏิบัติโดยธรรม และโดยธรรมนั้นก็มีความหมายถึงว่า ตำแหน่งเหล่านั้นตั้งขึ้นเพื่ออะไร บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นตั้งขึ้นเพื่ออะไร ก็จะตอบได้ว่า บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นตั้งขึ้น ก็เพื่อปกครอง เพื่อปฏิบัติกิจที่พึงทำต่างๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งหมดที่รวมกันเข้าเป็นประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อเบียดเบียนประชาชานให้เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ในการแต่งตั้งทุกอย่างจึงล้วนแต่มีบัญญัติ มีแสดงให้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ รวมเข้าแล้วก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งหมด เพื่อช่วยประชาชน ไม่ใช่เพื่อเบียดเบียนประชาชน และการที่จะปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์อย่างนั้นได้ เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องปฏิบัติโดยธรรมคือโดยถูกต้อง โดยไม่ผิดที่เป็นคุณธรรม ธรรมที่เป็นคุณเกื้อกูลต่างๆ นั้นเอง บทบัญญัติต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นก็เพื่อที่จะชี้แนะทางปฏิบัติอันถูกต้องนั้น และเพื่อให้เว้นทางปฏิบัติอันไม่ถูกต้องซึ่งนำให้เกิดทุกข์โทษต่างๆ ดังที่ปรากฏในกฎหมายบทบัญญัติต่างๆ ทุกอย่างรวมเข้าแล้ว ก็เพื่อให้การปกครอง เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เป็นไปโดยธรรมเพราะฉะนั้น ธรรมนั้นจึงมีความหมายว่าหน้าที่ หมายถึงความถูกต้องในทั้งกิจที่พึงทำดังที่กล่าวมา ยกตัวอย่างให้เห็นชัดอีกจำพวกหนึ่ง คือจำพวกที่เป็นทหาร นี่เห็นได้ชัดว่ามีหน้าที่จะรักษาอะไร เพื่อรักษาประเทศชาติราชบัลลังก์ดังที่กล่าวปฏิญญากัน และในการรักษาประเทศชาติราชบัลลังก์นั้น ก็กล่าวได้ว่า เป็นธรรมคือเป็นหน้าที่ เป็นกิจที่พึงทำของทหาร เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวแล้ว ทหารจึงได้เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสละได้ทุกอย่าง ทั้งทรัพย์ ทั้งอวัยวะร่างกาย ทั้งชีวิต เพื่อรักษาธรรมคือหน้าที่ของตนก็ได้ เพราะหน้าที่ของตนนั้นเพื่อทำหน้าที่รักษาประเทศชาติราชบัลลังก์ดังที่กล่าวนั้นไว้ เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่าเมื่อเกิดเหตุภัยอันตรายขึ้น ทหารก็ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องเสียชีวิต ต้องทุพพลภาพ ต้องเสียทรัพย์ที่จะพึงได้ดังที่ปรากฏกันอยู่อย่างชัดเจน นี้ก็คือเพื่อรักษาธรรมนั้นเอง และหากว่าบุคคลทุกๆ คนได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนดั่งนี้แล้ว ก็ควรที่จะปฏิบัติรักษาหน้าที่คือธรรมอันได้แก่ความถูกต้อง อันได้แก่กิจที่พึงทำของตนไว้ อันจำจะต้องมีปริจจาคะคือการสละ ดังในทศพิธราชธรรมข้อนี้

ทรงสละได้ทุกอย่างเพื่อการปฏิบัติหน้าที่

และก็พึงทราบว่า อันหน้าที่คือกิจที่พึงทำโดยธรรม โดยถูกต้องดังกล่าวมานั้น บางอย่างก็มีบัญญัติไว้ว่าให้เป็นหน้าที่ แต่ว่าบางอย่างก็ไม่ได้มีบัญญัติไว้ว่าให้เป็นหน้าที่ ผู้ที่มีความสำนึกในหน้าที่ของตน ย่อมมีความสำนึกด้วยว่า ทุกคนนั้นย่อมมีหน้าที่ที่พึงทำอันเรียกว่าธรรมนี้ โดยมีกำหนดแต่งตั้งอย่างหนึ่ง โดยไม่มีกำหนดแต่งตั้งอย่างหนึ่ง ที่มีกำหนดแต่งตั้งนั้น ก็คือว่าเมื่อแต่งตั้งขึ้นแล้ว ก็มีกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าให้ทำนั้นทำนี่ แต่ว่าอันกิจที่พึงทำนั้นไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ แต่งตั้งไว้ก็มีเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้เห็นได้ชัดว่า ได้ทรงปฏิบัติธรรมคือหน้าที่ทั้ง ๒ คือ ทั้งที่มีบัญญัติกำหนดเอาไว้ว่าให้ทรงปฏิบัติ กับทั้งที่ไม่ได้มีบัญญัติกำหนดเอาไว้ว่าให้ทรงปฏิบัติ แต่ว่าถึงแม้ไม่มีบัญญัติกำหนดไว้ว่าให้ทรงปฏิบัติ เมื่อว่าถึงภาวะที่เป็นพระมหากษัตริย์ ก็ต้องมีธรรมคือหน้าที่อันพึงทรงปฏิบัติ ทั้งที่มีบัญญัติไว้ ทั้งที่ไม่มีบัญญัติไว้พร้อมกันไปทีเดียว เพราะว่าการบัญญัติเอาไว้นั้น ไม่อาจจะบัญญัติไว้ทุกข้อทุกประการได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าพระองค์จะทรงถือว่า จะต้องทรงปฏิบัติจำเพาะที่มีบัญญัติไว้ว่าให้ทรงปฏิบัติ ก็ย่อมต้องทำได้ และจะทรงสะดวกสบายยิ่งกว่าที่ทรงปฏิบัตินอกจากที่มีบัญญัติเอาไว้ แต่ว่าด้วยความสำนึกในธรรมอันเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ อันเป็นความถูกต้อง อันเป็นกิจที่พึงทำของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะปกครองโดยธรรมให้ประชาชนทั้งปวงมีความสุขความเจริญ จึงได้เสด็จออกเยี่ยมประชาชน แล้วก็ไม่ใช่เยี่ยมเฉยๆ ได้เสด็จออกทอดพระเนตรดูถึงความสุขทุกข์ ความขาดแคลนต้องการของประชาชน ความขาดแคลนของภูมิประเทศนั้นๆ และก็ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริเพื่อที่จะแก้ไขส่งเสริมอาชีพ แก้ไขส่งเสริมการเกษตร การชลประทานอื่นๆ เป็นต้น ดังที่ปรากฏ เป็นโครงการพระราชดำริมากมายหลายร้อยอย่าง และก็ได้โปรดให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องจากกรมกองนั้นๆ มาช่วยดำเนินงานตามโครงการพระราชดำรินั้นๆ ซึ่งรัฐบาลก็สนับสนุน จึงได้มีกรรมการ กปร ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อำนวยให้โครงการพระราชดำรินั้นเป็นไปได้สะดวกบังเกิดผล กิจเหล่านี้เป็นกิจที่ไม่มีบัญญัติไว้ว่าให้ทรงต้องปฏิบัติ แต่ก็ทรงปฏิบัติด้วยการเสี่ยงต่อภยันตราย ต่อพระชนมชีพ ต่อสุขภาพอนามัย และต้องทรงเสียสละพระราชทรัพย์ต่างๆ ทั้งส่วนพระองค์ และทั้งส่วนที่รัฐบาลสนับสนุน ยังผลให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ดังที่ปรากฏ นี่คือ ปริจจาคะ คือการสละ การสละที่เป็นไปตามธรรมคือหน้าที่ คือทรงรักษาธรรม คือหน้าที่ที่พึงทำ ทำกิจที่พึงทำ อันเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองประชาชนโดยธรรม รายละเอียดในหน้าที่เหล่านี้ไม่อาจบัญญัติไว้ได้หมด แต่อะไรที่พึงทำแล้วก็ต้องทรงทำ เป็นการรักษาธรรมคือหน้าที่ แล้วก็ทรงสละได้ทุกอย่างเพื่อการปฏิบัติหน้าที่อันนี้ เหมือนอย่างทหารที่สละได้ทุกอย่างเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ก็คือเพื่อรักษาธรรมคือหน้าที่ กิจที่พึงปฏิบัตินั้นเอง อันนี้แหละเป็นปริจจาคะ คือการสละ

ทุกคนควรมีปริจจาคะเพื่อรักษาธรรม

และธรรมข้อนี้ ทุกคนทั้งฝ่ายปกครอง ทั้งฝ่ายผู้อยู่ในปกครอง ก็พึงปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น เพราะต่างก็มีธรรมคือหน้าที่ของตนที่พึงปฏิบัติด้วยกัน ทุกคนเกิดมาก็ต้องมีพ่อมีแม่ และทุกคนก็ต้องเป็นลูก และเมื่อเติบโตขึ้น ตนเองก็เป็นพ่อเป็นแม่แล้วก็มีลูก ภาวะเหล่านี้ไม่มีใครมาแต่งตั้งให้ ว่าขอให้ท่านเป็นพ่อ ให้ท่านเป็นแม่ ขอให้ท่านเป็นลูก เป็นภาวะที่เป็นขึ้นเองตามเรื่องของสังคมในโลก และเมื่อเป็นขึ้นแล้ว ก็มีธรรมคือหน้าที่ๆ จะพึงปฏิบัติขึ้นทันที เช่นเมื่อเป็นพ่อเป็นแม่ ก็มีภาวะที่เป็นธรรม เป็นกิจที่พึงทำ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่พึงปฏิบัติขึ้นทันที เป็นลูกก็มีธรรมคือหน้าที่ของลูกที่จะพึงปฏิบัติขึ้นทันที ดังที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ในทิศ ๖ และเมื่อเกิดมาก็ต้องเป็นประชาชนที่รวมอยู่ในชาติใดชาติหนึ่ง ก็เป็นภาวะที่มีหน้าที่อันจะพึงปฏิบัติขึ้นทันทีตามหน้าที่ของประชาชน และเมื่อไปปฏิบัติกิจ ได้รับแต่งตั้งเป็นหน้าที่ต่างๆ ขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องมีธรรมที่เป็นหน้าที่อันจะต้องปฏิบัติเพิ่มขึ้นอีกตามที่แต่งตั้งกำหนด แต่แม้เช่นนั้นก็ต้องมีหน้าที่ๆ พึงปฏิบัติตามภาวะที่เป็นไปเองก็ดี ที่แต่งตั้งก็ดี อันไม่มีบัญญัติเอาไว้ คือเป็นสิ่งที่ควรทำ เมื่อสิ่งอันใดเป็นกิจที่พึงทำ นั่นแหละเป็นหน้าที่ที่พึงทำ แม้ไม่มีบัญญัติเอาไว้ก็เป็นสิ่งที่พึงทำ ตลอดจนถึงเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ภาวะเป็นมนุษย์นี้ก็จะต้องมี มนุษยธรรม ธรรมของมนุษย์ที่พึงปฏิบัติขึ้นทันที เมื่อยังไม่รู้ว่ามนุษยธรรมนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงสั่งสอน เช่นว่าให้มี ศีล ให้มี หิริ ให้มี โอตตัปปะ เป็นต้น อันเป็นหน้าที่หรือเป็นธรรมที่มนุษย์จะพึงมี เพราะฉะนั้น เรื่องธรรมที่เป็นหน้าที่นี้ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีทั้งนั้น จะต้องปฏิบัติทั้งนั้น และก็ปฏิบัติโดยธรรมด้วยกันทั้งนั้น เพื่อความสุขความเจริญร่วมกัน เพราะฉะนั้น จึงต้องมีปริจจาคะ คือการสละ เพื่อรักษาหน้าที่ รักษาธรรม รักษากิจที่พึงทำ รักษาคุณความดี เมื่อจะต้องสละทรัพย์ก็ต้องสละ สละอวัยวะก็ต้องสละ สละชีวิตก็ต้องสละ เพื่อรักษาธรรม คือหน้าที่คือกิจที่พึงทำอันนี้ไว้ เพื่อให้เป็นความตั้งอยู่ได้ของส่วนรวมทั้งหมด ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นจุดที่ตั้งของส่วนรวมทั้งหมด ซึ่งจะตั้งอยู่ได้ดำรงอยู่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของบุคคล ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องมีปริจจาคะคือการสละ เพื่อรักษาไว้ อันนี้แหละคือรักษาธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ เป็นกิจที่พึงทำของทุกๆ คน

๕ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 30 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 30 กรกฎาคม 2554 10:03:34 น.
Counter : 1292 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒๑ เนกขัมมบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



เนกขัมมะ การออก

จะแสดง เนกขัมมบารมี ข้อที่ ๓

เนกขัมมะ แปลว่า การออก เป็นคุณสมบัติเกี่ยวกับวิเวก คือความสงบสงัด ได้มีคำกล่าวให้ความหมายอย่างกว้างๆ ว่า “บรรพชา ปฐมฌาน นิพพาน วิปัสสนา ปัญญา และกุศลธรรมทั้งหมด เรียกว่า เนกขัมมะ” โดยตรงหมายความว่า การออกบวชหรือออกจากกาม ดังจะเห็นได้ในชาดกต่างๆ ที่แสดงว่า พระโพธิสัตว์ออกบวชหรือออกจากบ้านเรือน ไปจำศีลในวันอุโบสถ ดังเรื่องพระเตมียในทศชาติ มีความย่อว่า พระเตมียเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสิกราช ผู้ครองเมืองพาราณสี พระองค์เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดายิ่งนัก เวลาเสด็จออกว่าราชการงานเมือง พระราชบิดาก็ทรงพาพระเตมียเสด็จออกด้วยทุกครั้ง พระองค์จึงได้เห็นราชการทุกอย่างกระทั่งการลงอาญาอย่างโหดร้ายแก่คนผิดต่างๆ ทำให้พระองค์คิดกลัวต่อการที่จะต้องเป็นผู้ปกครอง เพราะจะต้องทำกรรมอันทารุณต่างๆ เหล่านี้ พระองค์จึงคิดหนีด้วยการทำเป็นใบ้และง่อยเสีย พระราชบิดาจึงได้ทรงพยายามรักษาจนสุดความสามารถ แต่ไม่อาจรักษาให้พระเตมียหายจากใบ้และง่อยได้ สุดท้ายก็ลงความเห็นว่า พระเตมียเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง ให้เอาไปฝังเสียในป่า เมื่อถูกนำไปฝังในป่า พระเตมียก็แสดงให้ผู้ที่นำไปฝังรู้ว่าพระองค์มิได้เป็นใบ้และง่อยเลย พระเตมียก็ออกบวชเป็นฤษีบำเพ็ญพรต และในที่สุดก็สามารถทำให้พระราชบิดามารดาซาบซึ้งในความดี เสด็จออกบวชตามพระองค์ด้วย

พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเพื่อพระโพธิญาณ

นอกจากเรื่องพระเตมียใน เตมียชาดก ยังมีชาดกอื่นอีกหลายชาดกที่แสดงว่าพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ท่านได้แสดงภาษิตของพระโพธิสัตว์ในชาดกนั้นๆ ที่ตรัสแสดงความมุ่งหมายอันแน่วแน่ของพระองค์ต่อพระโพธิญาณดังเช่นพระโสมทัตโพธิสัตว์ตรัสว่า มิได้ทรงชังราชสมบัติและกามโภคสมบัติ แต่พระ สัพพัญญุตญาณ เป็นที่รักของพระองค์ พระยุธัญชยโพธิสัตว์ตรัสว่า มิได้ทรงชังพระราชบิดามารดาและยศอันยิ่งใหญ่ แต่ทรงรักพระสัพพัญญุตญาณเช่นเดียวกัน พระสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสปรารภชราธรรมว่า ชีวิตที่ถูกชราจับไปเป็นของน้อย ดุจน้ำที่เทลงในโคลน จะประมาทดูเหมือนไม่แก่ไม่ตาย จมอยู่ในโคลนคือกามคุณ ดุจสุกรจมอยู่ในโคลนคือคูถ เมื่อประมาทจะบังเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น แต่ธรรมในพระพุทธศาสนาย่อมควรที่จะปฏิบัติ ตั้งแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูงสุด เพราะธรรมเป็น โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาในตน หรือควรน้อมตนเข้าไปหาได้ แม้การปฏิบัติในเนกขัมมะก็เช่นเดียวกัน

เนกขัมมะเป็นการปฏิบัติเพื่อปลีกออกจากทุกข์

ฉะนั้น จะได้อธิบายตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นไปเพื่อเข้าใจง่าย จะแปลเนกขัมมะว่า “การปลีกออก” จำแนกเป็น ๒ คือ การปลีกออกทางกาย ๑ การปลีกออกทางจิต ๑ ในเบื้องต้นพึงเข้าใจว่า ธรรมข้อนี้ไม่ได้มุ่งสอนให้คนหลีกเลี่ยงการงานอันเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ แต่มุ่งให้รู้จักปฏิบัติเพื่อหลีกตนออกจากทุกข์ ซึ่งแวดล้อมรัดรึงตัวอยู่ เพื่อจะได้รับความสงบสุขตามทางที่ควร เหตุแห่งทุกข์ดังกล่าวนี้มีเป็นอันมาก จะยกกล่าวในที่นี้เพียงประการเดียว คือ ความกังวล อันได้แก่ความพัวพันห่วงใย เกิดจากความปรารถนายึดมั่น เมื่อมีความปรารถนาในสิ่งใด กังวลก็มีในสิ่งนั้น เมื่อมีความปรารถนาแรงมาก กังวลก็เกิดแรงมากเป็นเงาตามตัว ดังเช่นมีความปรารถนาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข กังวลก็เกิดขึ้นว่า ทำไฉนจึงจะได้มา ทำไฉนจึงจะรักษาไว้ได้ ทำไฉนจึงจะมียิ่งๆ ขึ้นไป ดั่งนี้เป็นต้น กังวลนี้ถ้ามีอยู่พอประมาณก็พอทนได้ แต่ถ้ามีมากเกินไปก็ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นเหตุให้ร่างกายและจิตใจเสื่อมโทรมปราศจากความสุข เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการพักผ่อน ดังเช่นบุคคลทั่วไปหาโอกาสไปพักผ่อนในที่ไกลหรือไม่มีกังวล หรือไปหาความบันเทิงรื่นเริงต่างๆ เป็นต้น เพื่อผ่อนกังวลไป นี้เป็นลักษณะของเนกขัมมะคือการหลีกออกอย่างหนึ่งซึ่งทุกๆ คนจำต้องประสงค์อยู่ทุกวัน เพราะทุกๆ คนจะเก็บกังวลไว้ตลอดวันตลอดคืนไม่ได้ แต่ลักษณะที่ปลีกกายออกนี้ บางทีก็เป็นการออกจากกังวลไปหากังวลบ้าง ปลีกจากกังวลไปหาเรื่องหลอกลวงต่างๆ ไม่ใช่ของจริง อันเป็นอบายมุขทางเสื่อมเสียทรัพย์ ซึ่งเป็นเหตุเพิ่มกังวลให้มากขึ้นอีกในภายหลังบ้าง เพราะฉะนั้น จึงยังไม่บรรลุผลแห่งการปลีกออกอย่างแท้จริง

การปลีกออกทางจิตจำเป็นสำหรับผู้มุ่งความสงบสุข

จึงควรพิจารณาสืบไปอีกว่า จะพึงปลีกออกด้วยวิธีไร ในข้อนี้จำต้องพิจารณาให้รู้เหตุผลว่า กังวลนั้นเป็นผลเกิดจากเหตุ คือความปรารถนายึดมั่นอยู่ในสิ่งต่างๆ ดังเช่นที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้นยังมีแวดล้อมผูกมัดรัดรึงอยู่โดยรอบ ก็ยากที่จะห้ามมิให้กังวลได้ ฉะนั้น ก็จำเป็นต้องหลีกออกจากที่ซึ่งประกอบด้วยสิ่งเหบ่านั้น ไปสู่ที่อันสงบสงัด เมื่อปลีกออกไปไม่ได้นาน ก็หลีกออกไปชั่วระยะเวลาเป็นคราวๆ ดังเช่นปฏิปทาของพุทธศาสนิกชนผู้ปลีกตนออกไปจำศีลฟังธรรมในวันอุโบสถเป็นต้น อย่างสูงก็ได้แก่การสละบ้านเรือนออกบวช เป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน นี้เป็นลักษณะเนกขัมมะ ปลีกออก การปลีกออกซึ่งให้สำเร็จผลคือความสงบกังวลได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นการปลีกออกทางกายหรือการบวชกายซึ่งยังไม่บริบูรณ์ จำต้องมีเนกขัมมะ การปลีกออกทางจิต หรือการบวชจิตอีกชั้นหนึ่ง จึงจะได้ผลบริบูรณ์ เพราะแม้กายจะปลีกออกแล้ว ถ้าจิตยังนำกังวลติดไปด้วยก็ยังไม่ได้รับความสงบ และไม่อาจจะได้ปัญญารู้สัจจธรรมตามเป็นจริง ท่านจึงแสดงเปรียบบุคคลผู้ปลีกออกทางกายแล้ว แต่จิตยังพัวพันอยู่ว่า เหมือนอย่างไม้สดชุ่มด้วยยาง ถึงจะยกขึ้นจากน้ำวางไว้บนบก ก็ไม่อาจจะสีให้เกิดไฟขึ้นได้ โดยปกติจิตนี้ย่อมมีความปรารถนารักใคร่ในอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง อันน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจที่เรียกว่า กามคุณารมณ์ จึงดิ้นรนกวัดแกว่งในทางที่ไม่ดีไม่ชอบ เป็นเหตุให้ประพฤติทุจริตมีประการต่างๆ จิตอันเป็นไปอย่างนี้จึงเป็นบ่อเกิดแห่งกังวลดังกล่าวมาแล้ว ฉะนั้น โดยตรงกังวลทั้งปวงจึงเกิดจากจิตและอยู่ที่จิตนี้เอง เมื่อปลีกจิตออกได้แล้ว ก็เป็นอันปลีกกังวลทั้งปวงออกได้ เมื่อปลีกจิตออกไม่ได้ก็ไม่สามารถจะระงับกังวลได้ แม้กายจะปลีกออกไปอยู่ที่ไหนก็ตาม พึงเห็นตัวอย่างบุคคลผู้มีกังวลหนัก และเที่ยวไปในที่ต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถระงับได้ จนถึงต้องใช้วิธีระงับทางประสาทหรือระงับในทางที่ผิดต่างๆ และเพราะเหตุที่บุคคลไม่พยายามหาวิธีใช้การปลีกออกทางจิตนี้เอง ความทุกข์ระทมจึงมีอยู่ในที่ทุกๆ แห่ง ในที่บางแห่งที่น่าจะมีสุขมาก แต่กลับมีทุกข์มาก เพราะฉะนั้น การปลีกออกทางจิตจึงจำปรารถนาสำหรับผู้มุ่งความสงบสุขทั่วไปไม่เลือกว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เพราะความสงบกังวลที่ทุกๆ คนได้รับประจำวันนั้น โดยที่แท้เป็นผลจากความปลีกออกทางจิตนั้นเอง ถ้าบุคคลสนใจขวนขวายปฏิบัติในการปลีกจิตออกให้ถูกทางดียิ่งขึ้น ก็ยิ่งจะได้ความสุขมาก

ทรงสอนให้ทำสมาธิคือทำจิตให้สงบตั้งมั่น

ในข้อนี้ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ทำ สมาธิ คือทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ดี จนจิตสงบสงัดจากกาม คือความใคร่ความปรารถนาในสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาและจากอกุศลธรรม คือ เจตสิกธรรม ธรรมที่เกิดขึ้นในจิต ส่วนชั่วอย่างอื่น นี้ชื่อว่า การปลีกออกทางจิต สมาธิ อธิบายเพื่อเข้าใจง่ายก็คือ ความหยุดใจให้ตั้งอยู่ในจุดอันเดียว ตรงกันข้ามกับความปล่อยใจให้ล่องลอยไปตามใคร่ตามปรารถนา ความหยุดใจดังกล่าวนี้ ทุกๆ คนย่อมเคยมีในการทำกิจทุกๆ อย่าง การที่ละเอียดอันจำต้องใช้ความเพ่งพินิจมาก จำต้องใช้สมาธิมาก เพราะต้องหยุดใจจากเรื่องอื่นๆ มาตั้งอยู่ในเรื่องที่เพ่งพินิจนั้นเพียงเรื่องเดียว ดังที่มีคำเตือนใจว่าให้ ตั้งใจ นี้ก็คือสมาธินั้นเอง ทุกๆ คนจึงต้องใช้สมาธิอยู่เป็นประจำ แต่ก็เป็นอย่างสามัญ ถ้าได้ศึกษาปฏิบัติให้ถูกทางดียิ่งขึ้น ก็จักมีกำลังมากขึ้น

ส่วนการปล่อยจิตให้ล่องลอยฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ตามใคร่ตามปรารถนานั้น นอกจากทำให้จิตไม่มีความสงบและอ่อนกำลังแล้ว ยังเป็นเหตุให้ไปติดกังวลในอารมณ์นั้นๆ ด้วยอำนาจความรักใคร่ชอบใจเป็นต้น ท่านจึงเปรียบเหมือนวานรติดตัง ดังมีเรื่องเล่าว่า นายพรานได้ลาดยางเหนียวที่เรียกว่าตัง ไว้ในที่สัญจรของหมู่วานรเพื่อให้วานรติด เหล่าวานรที่ไม่เขลาไม่เลินเล่อ เห็นดังนั้นก็หลีกไปไกล ส่วนวานรที่เขลาและเลินเล่อก็เข้าไปใกล้ตังนั้น เอามือหนึ่งลองจับก็ติดมือ เอามือที่ ๒ ยันเพื่อให้มือที่ ๑ หลุด ก็ติดมือที่ ๒ เอาเท้าที่ ๑ ยันเพื่อให้มือทั้ง ๒ หลุดก็ติดเท้า เอาเท้าที่ ๒ ถีบเพื่อให้มือทั้ง ๒ และเท้าที่ ๑ หลุดก็ติดเท้าที่ ๒ เอาปากกัดเพื่อให้มือทั้ง ๒และเท้าทั้ง ๒ หลุดก็ติดปาก วานรนั้นจึงติดตังทั้ง ๕ ส่วน นอนรอความพินาศที่นายพรานจะพึงทำตามปรารถนา แม้บุคคลผู้ปล่อยจิตให้เที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ ตามความใคร่ความปรารถนาก็ฉันนั้น เที่ยวไปในอารมณ์ใดก็ติดกังวลในอารมณ์นั้นไม่อาจหลุดไปได้ เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนมิให้ปล่อยจิตให้เที่ยวไปในอารมณ์เช่นนั้น อันเป็นอารมณ์ที่ไม่ควรเที่ยวไป เป็นวิสัยของปรปักษ์เพราะเมื่อเที่ยวไปในอารมณ์เช่นนั้น ย่อมติดกังวล มารจึงได้ช่องเพื่อทำลายล้างเหมือนอย่างนายพรานได้ช่องเพื่อทำลายล้างวารที่ติดตังอยู่ ฉะนั้น จึงมีคำเรียกว่าติดตัง

ตรัสสอนให้ส่งจิตไปในสติปัฏฐาน

ต่อแต่นี้ตรัสสอนให้ส่งจิตให้เที่ยวไปในอารมณ์ที่ควรเที่ยวไป อันเป็นวิสัยของพระพุทธบิดา คือ สติปัฏฐาน ที่ตั้งปรากฏแห่งสติ ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม อธิบายสั้นคือ ให้หยุดจิต ให้ตั้งพิจารณาดูส่วนอันมีอยู่ เกิดดับอยู่ที่ตน ตั้งแต่ส่วนหยาบเข้าไปหาส่วนละเอียด มีอยู่อย่างไร เป็นไปอย่างไร ก็ให้รู้ตามเป็นจริง ไม่ติด ไม่ยึดถือไว้ จิตจึงสงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ปราศจากกังวล ตั้งมั่นแน่วแน่ขึ้นไปตามภูมิแห่งสมาธิ นี้เป็นเนกขัมมะ การปลีกออกทางจิต เป็นเหตุให้เกิด สันติ อันเป็นสุขอย่างแท้จริง จะอยู่ในที่ใดก็มีสุขในที่นั้นไม่เลือกว่าเป็นบ้านหรือป่า

เนกขัมมะ การปลีกออกทางกายและทางจิตดังแสดงมานี้ ย่อมอาศัยการปฏิบัติด้วยมีสติ ส่งตนออกไปจากกังวลหรือจากกามและอกุศลธรรมอยู่เสมอ ดังพระพุทธศาสนสุภาษิตว่า “อุยฺยุญฺชนฺติ สตีมนฺโต ผู้มีสติย่อมส่งตนออก ไม่มีกังวล” ดั่งนี้

เนกขัมมบารมี ๓ ชั้น

เนกขัมมบารมีท่านแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ

เนกขัมมบารมี ได้แก่การออกด้วยความรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน จึงตัดห่วงใย ปลีกตนออกบำเพ็ญ กายวิเวก ความสงบสงัดทางกายจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย

เนกขัมมอุปบารมี ได้แก่การออกด้วยความรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย จึงตัดกังวลปลีกตนออกบำเพ็ญ จิตตวิเวก ความสงบสงัดทางจิตทางกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยอำนาจฌานสมาธิ

เนกขัมมปรมัตถบารมี ได้แก่การออกด้วยความรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตจึงตัดห่วงใยในชีวิต ปลีกตนออกบำเพ็ญ อุปธิวิเวก ความสงบสงัดอุปธิกิเลส รวมทั้งกามและอกุศลธรรมทั้งสิ้น ด้วยอำนาจ อริยมัคคญาณ

ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นเนกขัมมะทางปัญญา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้ทรงปฏิบัติในเนกขัมมะ ชื่อว่าได้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีมาโดยลำดับ เป็นเครื่องกำจัดกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย อุดหนุนพระหฤทัยให้ตั้งมั่นแน่วแน่ ในพระชาติที่สุดเมื่อมีพระบารมีนี้แก่กล้า ก็เตือนพระหฤทัยในหน่ายในกามสุขสมบัติ น้อมพระหทัยไปเพื่อบรรพชา จึงเสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์ อันเป็นเนกขัมมะทางกายหรือบวชกาย ต่อมาได้ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต จนจิตเป็นสมาธิ ชื่อว่าเป็นเนกขัมมะทางจิตหรือบวชจิต แล้วทรงน้อมจิตนั้นไปพิจารณาเพื่อรู้ตามเป็นจริง ก็ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นเนกขัมมะทางปัญญา คือพระสัมมาสัมโพธิญาณ เหตุฉะนี้ ท่านจึงกล่าวภาษิตแสดงเนกขัมมะไว้ว่า นิกฺขมฺมปารมี คนฺตฺวา ปตฺโต สมฺโพธิมุตฺตมํ แปลความว่า “พระบรมโพธิสัตว์ทรงปฏิบัติเนกขัมมบารมี ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม”

๔ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 23 กรกฎาคม 2554 7:32:34 น.
Counter : 825 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.