Group Blog
 
All Blogs
 

ชีวประวัติ ปฏิปทา ของ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

พระญาณวิศิษฏ์ สมิทธิวิจารย์ (หลวงพ่อสิงห์)



ในกองทัพธรรมแห่งภาคอีสาน อันมีพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล อาจารย์มั่นภูริทัตโต เป็นจอมทัพธรรมแล้ว



พระอาจารย์สิงห์ นับเป็นพระที่เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของท่านพระอาจารย์มั่น ร่วมกับพระอาจารย์สุวรรณ เจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เจ้าอาวาสวัดศรัทธาราม จังหวัดนครราชสีมา



พระอาจารย์สิงห์กับพระอาจารย์มหาปิ่น ทั้งสององค์นี้เป็นพี่กับน้องร่วมอุทรเดียวกัน ได้รับการศึกษาทางปริยัติมามาก แล้วได้เกิดเลื่อมใสพอใจแนวปฏิบัติของพระอาจารย์มั่น ได้ยอมสละทิฏฐิมานะและภาระหน้าที่ออกปฏิบัติตามท่านพระอาจารย์มั่นตลอดมา และได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวาง เป็นลูกศิษย์ผู้สำคัญเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของท่านพระอาจารย์มั่น ที่ได้มอบหมายให้ดูแลและอบรมพระ เณร ญาติโยมสืบทอดจากพระอาจารย์มั่นมาเป็นลำดับต่อมาจวบจนวันมรณะภาพของท่าน

ประวัติ

นามเดิมชื่อ สิงห์ บุญโท เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๓๒ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู เกิดที่บ้านหนองขอน ตำบลตัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อนายเพีย อินทวงศ์ (อ้วน) มารดาชื่อนางหล้า เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวน ๗ คน ในวัยเด็กบิดามารดาไปวัดฟังธรรมได้พาเข้าวัดฟังธรรมเป็นประจำไม่ได้ขาด และตัวหลวงพ่อเองถึงแม้ว่าจะอยู่ในวัยเด็ก แต่ก็ไม่ชอบเที่ยวซุกซนเช่นเด็กอื่นๆ ชอบฟังธรรม ทำบุญตักบาตร หรือ นำอาหารถวายพระภิกษุสามเณร ทุกเวลาเช้าและเพลเป็นประจำแทบทุกวัน จวบจนอายุย่างเข้า ๑๕ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๔๖ จึงได้บรรพาชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์ป้อง วัดบ้านหนองขอนเป็นอุปัชฌาย์ หลวงพ่อมีความสนใจศึกษาธรรมมาตั้งแต่เป็นสามเณร จนถึง พ.ศ.๒๔๔๙ จึงได้ย้ายจากวัดบ้านหนองขอนไปอยู่วัดสุทัศน์ ในเมืองอุบลราชธานี เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ให้สูงยิ่งขึ้นและในปีนี้หลวงพ่อสิงห์ได้บรรพชาเป็นสามเณรในคณะธรรมยุติ พระครูสมุห์โฉมเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ เป็นอุปัชฌาย์ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๔๙ ต่อมาเมื่ออายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ในครั้งนั้นมีสมณศักดิ์ เป็นพระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอีสานเป็นพระอุปัชฌาย์ พระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดสุทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๒ เวลา ๑๔ นาฬิกา ๑๒ นาที ได้ฉายา ขนฺตฺยาคโม

เมื่ออุปสมบทแล้วได้เข้าศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในโรงเรียนสร่างโศรกเกษมศิลป์ สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๓ พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อเข้าสอบไล่ได้วิชาบาลี ไวยากรณ์ในสนามวัดสุทัศน์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ สอบได้ความรู้นักธรรมตรี ภายหลังได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นครูมูลและมัธยมประจำอยู่ที่โรงเรียนสร่างโศรกเกษมศิลป์ ทำการสอนอยู่นาน ๔ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ก็ลาออกจากครู

มูลเหตุแห่งการลาออกจากครู คือ ในขณะที่ท่านอาจารย์สิงห์เป็นครูสอนนักเรียนอยู่นั้น ท่านได้ค้นคว้าหลักธรรมคำสอนของพระศาสนาอยู่เรื่อยๆ และในวันหนึ่งเผอิญค้นพบหนังสือธรรมเทศนาเรื่องเทวสูตร ซึ่งมีใจความว่า พระบรมศาสดาทรงตำหนิการบรรพชาอุปสมบท ที่มีความบกพร่อง คือ การบวชแล้วไม่มีการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยธรรมมีโทษมาก ตกนรกไม่พ้นอบายภูมิทั้ง ๔ จึงเป็นเหตุให้ท่านอาจารย์สิงห์เกิดความสลดสังเวชสำนึกในตน จึงออกปฏิบัติงานวิปัสนากรรมฐานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๘ โดยลาออกจากตำแหน่งครูผู้สอนเสีย

เมื่อลาออกจากหน้าที่ครูแล้ว ตอนที่ท่านจะได้ออกปฏิบัติกรรมฐาน ท่านได้พิจารณาคำนึงถึงว่า การปฏิบัติธรรมในสมัยนี้หมดเขตที่จะบรรลุมรรคผลหรือยัง ซึ่งท่านก็ได้รู้ว่าการบรรลุมรรคผลนิพานยังมีอยู่แก่ผู้ต้องปฏิบัติจริง ท่านจึงได้มุ่งหน้าปฏิบัติสมถะวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจังต่อไป

ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ นี้เอง ท่านอาจารย์มั่นภูริทัตโต ได้เดินทางกลับจากเขาสาริกาจังหวัดนครนายก มาจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี มีกิตติศัพท์เลื่องลือกันไปทั่วว่า ท่านอาจารย์มั่นบรรลุมรรคผล สำเร็จธรรมมาจากเขาสาริกาใหม่ๆ ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้เข้าพบและสมัครตัวเป็นลูกศิษย์ ศึกษาปฏิบัติวิปัสสนากรรมมัฎฐานจากท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์สิงห์ได้ศึกษา “กายคตาสติ” ข้อที่ว่า ปับผาสปัญจกะ (คือ หทยัง ยกนัง กิโลมกัง ปิหกัง ปัปผาสัง) เมื่อท่านอาจารย์สิงห์ เจริญกรรมมัฎฐานบทนี้ไปเรื่อยๆ จนเกิดความสลดสังเวชจึงได้ตกลงแน่วแน่ที่จะปฏิบัติวิปัสสนากรรมมัฎฐานมิได้หยุดและท้อถอย ได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นเดินธุดงค์ปฏิบัติกรรมมัฎฐานไปตามป่าช้า ตามถ้ำ เขาต่างๆ ไปเรื่อยๆ บำเพ็ญเพียรจนเกิดความชำนาญ รู้จักบังคับจิตของตน รู้วาระจิตตนเองและวาระจิตของผู้อื่นด้วย เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงจนเป็นที่ไว้วางใจของท่านอาจารย์มั่น ให้ทำการสอนลูกศิษย์พระเณรแทนในบางโอกาส ท่านอาจารย์มั่นได้มอบหมายให้ท่านอาจารย์สิงห์คอยควบคุมดูแลเณรในการประพฤติปฏิบัติทำสมาธิและเดินจงกรม ปรากฏว่า ท่านไม่ได้เดินตรวจควบคุมแต่อย่างใด ท่านเพียงแต่นั่งทำสมาธิหลับตาตรวจดู แต่ท่านอาจารย์สิงห์ก็สามารถทราบได้ว่า พระเณรองค์ไหนได้ปฏิบัติอย่างไรบ้าง องค์ใดยืน เดิน นั่ง นอนอย่างไร ในวันรุ่งขึ้นท่านสามารถรายงานให้ท่านอาจารย์มั่นทราบได้ทุกองค์ และเมื่อสอบถามความจริงพระและเณรทุกองค์ต่างก็ยอมรับว่า เป็นจริงตามที่ท่านอาจารย์สิงห์รายงาน จนเป็นที่เคารพเกรงขามของพระเณรทุกองค์ ไม่กล้ากระทำกิจอันใดที่ผิด เพราะเกรงท่านอาจารย์สิงห์รู้ จนเป็นที่ไว้วางใจของท่านอาจารย์มั่น ได้มอบหน้าที่ให้เป็นผู้อบรมสั่งสอนพระเณรทั้งหมด

ได้นามว่า พระมาลัย

เมื่อท่านอาจารย์สิงห์ได้ฝึกหัดทำสมาธิจนชำนาญ เกิดปัญญาความสามารถแล้วก็ได้ออกเผยแพร่ทางพระพุทธศาสนา เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ถ้ำ และป่าช้า ตอนเช้าก็เข้าบิณฑบาตจากหมู่บ้าน โดยได้แสดงเทศนาให้ประชาชนที่มาทำบุญ ท่านอบรมสั่งสอนให้เกิดศรัทธา เสร็จแล้วก็สอนญาติโยมให้นั่งภาวนาทำสมาธิ และเมื่อชาวบ้านแห่งใดเกิดขาดแคลนน้ำดื่มกิน ท่านอาจารย์สิงห์ก็จะเข้าสมาธิตรวจดูจนรู้ว่ามีน้ำอยู่ที่ไหน อยู่ตื้นลึกประมาณเท่าไร เมื่อชาวบ้านจัดการขุดตามที่หลวงพ่อบอกก็จะเจอตามที่อาจารย์สิงห์บอกทุกแห่งไป ทำให้ประชาชนได้ใช้น้ำกันโดยทั่วกัน จนชาวบ้านตามชนบทแถวอุบลฯ ขอนแก่น อุดรฯ หนองคาย ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ถ้าได้พบเห็นท่านอาจารย์สิงห์ธุดงค์ผ่านมา ก็จะร้องบอกชาวบ้านต่อๆ กันไปว่า “พระมาลัยมาโปรดแล้ว”




ท่านอาจารย์สิงห์เที่ยวธุดงค์อยู่ตามป่าเขาฝึกบำเพ็ญต่อไปไม่ได้หยุด ท่านจะพักไปตามหมู่บ้านละ ๕-๗ วัน ตลอดเวลามีพระเณรลูกศิษย์ของท่านออกติดตามธุดงค์เป็นจำนวนมาก เช่น อาจารย์ฝั้น อาจาโร อาจารย์มหาปิ่น อาจารย์กงมา อาจารย์อ่อน อาจารย์ขาว อาจารย์ลี วัดอโศการาม เหล่านี้เป็นต้น และด้วยอภินิหารหรือด้วยบารมีของท่านปรากฏว่าตามสถานที่ๆ ท่านอาจารย์สิงห์และลูกศิษย์ได้ธุดงค์ไปปักกรด เพื่อเผยแพร่ธรรมแทบทุกแห่ง ต่อมาภายหลังได้รับการบูรณะก่อสร้างเป็นวัดและสำนักสงฆ์ขึ้นนับเป็นร้อยๆ วัดทีเดียว



ท่านอาจารย์สิงห์ได้ช่วยอบรมสั่งสอนและให้การศึกษาธรรมพระ เณรตามแนวทางของท่านอาจารย์มั่น อาทิ เช่น

พระอาจารย์ดุลย์ อตุโล พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ท่าอาญาครูดี เมื่อแรกได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่น ได้ ๓ วัน ก็ได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ที่บ้านหนองดินดำ แล้วไปหาพระอาจารย์สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย และศึกษาธรรมกับท่านอีก ๗ วัน ก่อนกลับไปศึกษาและรับฟังเทศนาธรรมจากพระอาจารย์มั่น

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร เมื่อได้ขอญัตติ เป็นพระภิกษุธรรมยุตติกนิกาย เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ โดยมี พระอาจารย์สิงห์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยมีท่านพระอาจารย์มั่น นั่งหัตถบาส ร่วมอยู่ด้วย ที่บ้านสามผง จังหวัดนครพนม



พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ โดยมีพระอาจารย์จันทร เขมิโย เจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดขอนแก่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วในปี พ.ศ.๒๔๗๒ – ๒๔๗๕ ได้จำพรรษา เล่าเรียนศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์สิงห์ ที่วัดเหล่างา

พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร อุปสมบท พ.ศ.๒๔๖๙ เมื่อเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นที่วัดบูรพา เพื่อศึกษาธรรม ขณะนั้นพระอาจารย์มั่นกำลังอาพาธ ท่านอาจารย์มั่นก็ได้ให้ไปศึกษากับพระอาจารย์สิงห์และพระมหาปิ่น ที่วัดบ้านท่าวังหิน

พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์คำ จาดอุดรธานีไปยังบ้านหนองขอน จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ และต่อมาได้อุปสมบท ณ วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ เมื่อออกพรรษาแล้วได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์และพระมหาปิ่นฯ ออกธุดงค์จากวัดสุทัศน์ เดินทางบุกป่ามาจนถึงจังหวัดอุดรธานี และได้เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ เป็นครั้งแรกที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เมื่อแรกศึกษาธรรม พระอาจารย์มั่นก็ได้ให้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์และให้ไปศึกษาธรรมกับพระอาจารย์สิงห์ ก่อน แล้วจึงให้มาติดตามพระอาจารย์มั่น ภายหลังท่านก็ได้จำพรรษาร่วมปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์สิงห์อีกเนืองๆ ทั้งยังได้ช่วยเดินทางร่วมคณะไปเผยแพร่ เทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ที่จังหวัดนครราชสีมา ตามบัญชาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) รวมทั้งได้ช่วยเป็นคณะกรรมการตรวจทานงานประพันธ์หนังสือ “เผยแพร่พระพุทธศาสนา” ของพระอาจารย์สิงห์ ซึ่งตีพิมพ์ เมื่อ ๒๑ มีนาคม ปี พ.ศ.๒๔๗๗ ที่วัดป่าสาละวัน ด้วย



เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นมรณะภาพล่วงไปแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ได้เป็นใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ อบรมสั่งสอนพระเณรให้ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของท่านอาจารย์มั่นสอนไว้ ท่านอาจารย์ดี อาจารย์จันทร์ อาจารย์อ่อน อาจารย์ฝั้น อาจาโร อาจารย์ลี วัดอโศการาม อาจารย์ขาว อาจารย์ตื้อ อาจารย์ชอบ อาจารย์กงมา และอาจารย์สิม พุทธาจาโร อาจารย์แหวน สุจิณฺโณ ท่านอาจารย์ดังกล่าวมานี้ ต่างให้ความเคารพนับถือท่านอาจารย์สิงห์ และได้รับการอบรมสั่งสอนมาจากท่านอาจารย์สิงห์ตลอดมา ต่างเรียกอาจารย์สิงห์ว่า “ท่านอาจารย์ใหญ่”

สมณศักดิ์และหน้าที่ทางสงฆ์

ตามประวัติในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปรมาจารย์ ได้ให้คนไปอาราธนาท่านอาจารย์สิงห์และคณะจากจังหวัดขอนแก่น ขอให้ท่านไปเผยแพร่ธรรมทางจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง ท่านอาจารย์สิงห์ก็ยินดีรับอาราธนา นำคณะเดินทางมาทำการเผยแพร่ธรรมฝ่ายวิปัสสนากรรมมัฏฐาน ในเขตจังหวัดนครราชสีมา และในปีนี้เองได้มีผู้ศรัทธาได้ถวายที่ป่าด้านหน้าสถานีรถไฟนครราชสีมา ให้ทำการสร้างวัดชื่อว่า วัดป่าสาละวัน ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าฯ เพื่อสั่งสอนธรรมให้แก่พระภิกษุสามเณรและญาติโยม อยู่ถึง พ.ศ.๒๔๗๙ รวม ๕ ปี ได้ก่อสร้างวัดฝ่ายธรรมยุติขึ้นในเขาจังหวัดนครราชสีมาหลายแห่ง

จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๐ เจ้าคุณพระปราจีนบุรี ได้อาราธนาท่านอาจารย์สิงห์ให้ไปช่วยสร้างวัดป่าทรงคุณที่เมืองปราจีนบุรี ท่านได้รับอาราธนาและเดินทางไปช่วยก่อสร้างวัดป่าทรงคุณจนสำเร็จ แล้วได้ไปช่วยวัดปากกระพอก อ.ศรีมหาโพธิ์ ให้เป็นวัดฝ่ายธรรมยุตขึ้นมา ไปสร้างวัดป่าทรงธรรม ตำบลท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี และไปช่วยคณะจังหวัดเพชรบุรี จนสำเร็จลุล่วงในการสร้างวัดฝ่ายธรรมยุตขึ้น แล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าทรงคุณ ทำการเผยแพร่ธรรมด้านวิปัสสนากรรมมัฏฐานแก่พระภิกษุสามเณร และญาติโยมในเขตจังหวัดปราจีนบุรี

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๕ ท่านได้รับการแต่งตั้วเป็นเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตผู้ช่วยจังหวัดปราจีนบุรี

ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นเอกได้นามว่า พระครูญาณวิศิษฏ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๖

ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยจังหวัดปราจีนบุรี-นครนายก เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๙

ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ได้นามว่า พระญาณวิศิษฏ์ สมิทธิวีราจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๐ และในปี พ.ศ.๒๕๐๐ นี้เอง ท่านเจ้าคุณพระปราจีนบุรี ได้มรณภาพ ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุต จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครนายก แทนท่านเจ้าคุณพระปราจีนบุรี

และต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ทางคณะธรรมยุติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เรียกประชุมพระคณะกรรมมัฏฐานขึ้นที่วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๘-๒๐ กุมภาพันธ์ มีคณาจารย์มาร่วมประชุมกันถึง ๑๐๘ รูป ที่ประชุมได้ตกลงแต่งตั้งให้ท่านอาจารย์สิงห์เป็นหัวหน้าคณะกรรมมัฏฐาน เลยใช้วัดป่าสาละวันเป็นสำนักวิปัสสนาธุระศูนย์กลางของพระคณะกรรมมัฏฐาน ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสาละวัน นครราชสีมาอีกวาระหนึ่ง

จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๓ ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าทรงคุณอีก ช่วงนี้ท่านอาจารย์สิงห์ได้เกิดอาพาธเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า แต่อาการอาพาธของโรคมะเร็งไม่ดีขึ้น

พอปี พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านได้จัดงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาละวัน จ.นครราชสีมา งานเสร็จท่านก็ป่วยหนักจนต้องส่งเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ อีก วันเข้าพรรษาลูกศิษย์ได้รับท่านกลับมาพักรักษาตัวและจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสาละวันตามเจตนาของท่านอาจารย์สิงห์ จนถึงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๐๔ เวลา ๑๐.๒๐ น. ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ถึงแก่มรณะภาพด้วยอาการอันสงบ รวมอายุของท่านได้ ๗๓ ปี รวมพรรษาได้ ๕๓ พรรษา


เรียบเรียงเนื้อความและภาพจาก

หนังสือ งานประกวดพระบูชา พระเครื่องและเหรียญคณาจารย์
หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๔

หนังสือ ประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
โดยท่านพระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

หนังสือชีวประวัติ ปฏิปทาและคำประพันธ์ ของ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
รวบรวมโดย ธีรานันโท
สำนักพิมพ์ ดวงแก้ว

หนังสือ ภาพ ชีวประวัติและปฏิปทา พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร
พิมพ์ที่ หจก.การพิมพ์พระนคร




 

Create Date : 08 กันยายน 2552    
Last Update : 9 กันยายน 2552 0:53:53 น.
Counter : 3980 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.