Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๓ ลักษณะพุทธศาสนา - กิเลส

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงเรื่องจิตหรือวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ซึ่งสรุปลงว่าธาตุรู้นั้นแบ่งออกเป็น ๒ คือธาตุรู้ที่อบรมแล้วที่พ้นแล้ว ก็เป็นธาตุรู้ที่ไม่มาเกิดอีก แต่ว่าธาตุรู้ที่ยังมาเกิดอยู่นั้นเป็นธาตุรู้ที่ยังไม่ได้อบรม หรือว่าอบรมมาบ้างแล้วแต่ว่ายังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือยังชำระกิเลสที่นอนจมเป็นตะกอนหรือกิเลสที่ดองจิตไม่หมดสิ้น ก็ต้องเกิดอีกต่อไป และก็ได้กล่าวถึงขั้นของกิเลสซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นกิเลสอย่างละเอียด อย่างกลาง และอย่างหยาบ ซึ่งจะชำระให้หมดได้ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ย่อเข้าในศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ก็ได้ทรงพบมรรคมีองค์ ๘ จึงได้ทรงปฏิบัติสมบูรณ์ ได้ตรัสรู้อริยสัจ ๒ สาย สายที่ตั้งทุกข์ขึ้นเป็นข้อ ๑ กับสายที่ตั้งอาสวะเป็นข้อ ๑ แต่ว่าเมื่อสรุปถึงตัวเหตุ ก็ตรัสชี้แจงแสดงเหตุไว้เป็นอย่างเดียวกันคือตัณหาเป็นทุกขสมุทัยหรือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอาสวสมุทัยหรือเหตุให้เกิดอาสวะ และมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะด้วย ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ได้กล่าวในฝ่ายดีคือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งย่นย่อเป็นศีลสมาธิปัญญา เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่จะกล่าวเพิ่มเติมต่อไป แต่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องกิเลสก่อน

กิเลสเป็นเรื่องของโลก

อันกิเลสนั้นเป็นเรื่องของโลก เมื่อเป็นโลกก็ย่อมจะมีกิเลส เช่นตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากจึงได้มีการสืบต่อชีวิต คือว่าเป็นมารดาบิดาให้เกิดบุตรธิดา บุตรธิดาก็เป็นมารดาบิดาให้เกิดบุตรธิดาสืบต่อไป คือว่าสืบพันธุ์ต่อไปทั้งมนุษย์ทั้งเดรัจฉาน และแม้ต้นไม้ทั้งหลายก็มีการสืบพันธุ์ต่อไป ความสืบพันธุ์ต่อไปนี้ต้องมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือราคะโทสะโมหะ หรือโลภะโทสะโมหะ ก็เป็นเรื่องของโลก เมื่อมีโลกก็จะต้องมีตัณหา มีราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าหากว่าละเสียได้ก็เป็นโลกุตระคืออยู่เหนือโลก เมื่ออยู่เหนือโลกแล้วก็แปลว่าไม่เกิดอีก ฉะนั้นเมื่อยังเป็นโลกอยู่ก็จะต้องมีตัณหา มีราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ เป็นธรรมดาของโลกที่จะสืบพันธุ์ต่อไป และที่จะได้ป้องกันรักษาตัวต่อไปให้ดำรงอยู่ในโลก

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วถึงบรรดากิเลสทั้งหลายนั้น เป็นการกล่าวในด้านกิเลส ส่วนในด้านตรงกันข้ามก็มีเหมือนกัน เพราะว่าจิตนี้เป็นธาตุรู้ ฉะนั้นเมื่อได้อบรมความรู้เพราะได้ผ่านโลกมามากเข้าๆ ได้มีการศึกษาเล่าเรียนมีการสังเกต ก็ย่อมจะมีความรู้มากขึ้นๆ และความรู้ที่มากขึ้นๆ นี้ก็ย่อมจะทำให้รู้จริงถึงเหตุผลตามความเป็นจริง และอีกประการหนึ่ง บรรดากิเลสดังที่กล่าวมานี้ ว่าถึงตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก หรือราคะหรือโลภะโทสะโมหะนั้น ก็ย่อมจะมีทั้งด้านที่นำเข้ามาและด้านที่ผลักออกไป เช่นกามตัณหาอยากจะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ภวตัณหาอยากที่จะเป็นนั้นเป็นนี่ นี่เป็นตัณหาที่อยากนำเข้ามา คืออยากจะได้กามเข้ามา อยากจะได้ภพคือความเป็นนั่นเป็นนี่เข้ามา อยากจะได้รูปได้เสียงเป็นต้นที่ชอบใจ อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ที่ปรารถนาพอใจ นี้เป็นความอยากที่จะนำเข้ามา และที่ผลักออกไปนั้นก็คือวิภวตัณา ความดิ้นรนทะยานอยากในความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ คือต้องการที่จะผลักที่จะทำลายสิ่งที่ไม่ชอบและภาวะที่ไม่ชอบนั้นให้ออกไปเสีย หรือทำลายให้ย่อยยับไปเสีย และกิเลสที่เป็นกองราคะหรือโลภะนั้น ก็เป็นกิเลสตัวที่นำเข้ามา ตัวราคะ ความติดใจยินดี โลภะ ความอยากได้ ก็อยากได้สิ่งที่เป็นกาม ก็คือที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจนั่นแหละเข้ามาเป็นของของตนแล้วก็อยากที่จะให้ตนเป็นนั่นเป็นนี่เช่นเดียวกับตัณหาเหมือนกัน

ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็ต้องการที่จะผลักออกไป ที่จะทำลายไปเสีย นั่นก็เป็นโทสะ และโมหะความหลงนั้นเล่า ข้อสำคัญก็คือหลงยึดถือว่ากายใจนั้นเป็นของเรา หรือว่าหลงยึดขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา เพราะฉะนั้นคนเราจึงมีความรักชีวิตของตนเองเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าในบรรดาความรักทั้งหลาย รักตัวนี้เป็นอย่างยิ่ง ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ ว่าได้ทรงตรวจดูไปทั่วทิศทั้งปวงแล้ว ก็ได้พบว่าตนเองนี่แหละเป็นที่รักของตน เพราะฉะนั้นเมื่อรักตนและเมื่อมีความยึดถือว่าที่ตั้งของตนก็คือชีวิตอันนี้จึงต้องมีความรักชีวิต และเมื่อมีความรักชีวิตเป็นอย่างยิ่งดั่งนี้แล้ว สิ่งที่กลัวนั้นก็คือกลัวตาย ความกลัวตายของสามัญชนนั้นมีเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าความตายนั้นเป็นสิ่งที่มาเด็ดเอาสิ่งที่รักเป็นอย่างยิ่งไป เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันว่ามาตัดรอนตนฆ่าตนนี้เองให้สิ้นไป และแม้ว่าจะมีความเข้าใจว่ารักสิ่งอื่นคล้ายๆ กับว่ายิ่งกว่าชีวิต แต่ถ้าคิดดูให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่าความรักสิ่งอื่นนั้นก็รักเพราะเหตุว่าเพื่อที่จะให้สิ่งที่รักนั้นมาเป็นของตน เช่นสามีที่รักภรรยา ภรรยาที่รักสามี ก็ต้องการที่จะให้แต่ละฝ่ายเป็นของของตนเท่านั้น ก็มาลงที่ว่ารักตัวนี้เอง คือต้องการให้เป็นของตน ไม่ต้องการที่จะให้เป็นของคนอื่น นี่ก็แปลว่าทุกคนมีความรักตัวรักชีวิตและมีความกลัวตาย จนถึงวิชาการปัจจุบันก็บอกว่าความกลัวตายนี้เป็นสัญชาติญาณของมนุษย์อย่างหนึ่ง แต่มีความรักพิเศษ คือมารดาบิดารักลูก พ่อแม่รักลูก อันนี้ธรรมชาติ เท่ากับว่าธรรมชาติอำนวยไว้เหมือนกัน จึงปรากฏว่าทั้งมนุษย์และเดรัจฉานก็รักลูกทั้งนั้น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานซึ่งดุร้ายเช่นเสือก็ยังรักลูก และก็ไม่ฆ่าลูกไม่กินลูก ความรักที่เสือรักลูกนี้เห็นได้ชัดว่าเท่ากับเป็นธรรมชาติของโลกได้สร้างไว้ให้ได้ทำไว้ให้ เพื่อว่าจะได้สืบพันธุ์ต่อไป

ปัญญาในสัจจะทำให้เกิดหิริและโอตตัปปะ

ว่าถึงมนุษย์นั้น พ่อแม่ก็รักลูกเหมือนอย่างเป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติ แต่ว่าสำหรับมนุษย์นั้นย่อมมีระดับของปัญญาสูงขึ้น จึงรู้จักรักในทางที่ถูกต้องอีกด้วย เช่นว่าลูกทำผิด ก็มีการว่ากล่าวตักเตือนหรือทำโทษเพื่อให้ลูกกลับเป็นคนดี ไม่ทำผิดอีกต่อไป แปลว่ามีปัญญาที่รู้ผิดชอบชั่วดียิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน นี่ก็เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้นั่นเอง คือจิตเป็นธาตุรู้ จึงได้มีความรู้ยิ่งขึ้นไปถึงผิดชอบชั่วดีน้อยหรือมาก บรรดาสิ่งที่มนุษย์มีอยู่เช่นความรักตัวรักชีวิตทำให้รู้จักรักษาชีวิตรักษาตัว และรู้จักรักลูก รู้จักที่จะเลี้ยงลูกที่จะรักษาลูกให้มีความสวัสดีเหมือนกันทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน นักปราชญ์ในปัจจุบันนี้บางคนกล่าวว่า สัตว์เดรัจฉานที่มีความรู้น้อยนั้นรู้จักกลัวเจ็บ แต่ไม่รู้จักกลัวตาย แต่ว่าสัตว์ที่มีปัญญาคือความรู้สูงขึ้น คือธาตุรู้นี้มีความรู้สูงขึ้น จึงรู้จักกลัวตาย แต่เขาจะทราบอย่างไรก็ไม่ทราบเขาว่าอย่างนั้น ระดับของความรู้นั้นมีต่างๆ กันจริง แต่ก็มาจากมีธาตุรู้ดังกล่าวแล้วนั่นเอง คราวนี้เมื่อจิตเป็นธาตุรู้และเมื่อจิตได้ผ่านโลกมากขึ้น จึงได้รู้จักสัจจะที่เป็นตัวความจริงตามเหตุและผลมากขึ้นโดยลำดับ สัตว์เดรัจฉานนั้นรู้ได้น้อย แต่มนุษย์นั้นรู้ได้มากกว่า เมื่อเป็นดั่งนี้ ปัญญาที่เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริงโดยลำดับนั้นทำให้บุคคลได้รู้จักอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกธัมมะคือความจริงและความดีที่ตรงกันข้ามกับความชั่วมากขึ้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเริ่มรู้จักมีหิริและโอตตัปปะ ความละอายและความเกรงกลัว อันเป็นพื้นฐานของศีลคือความรู้จักงดเว้นจากความประพฤติชั่วประพฤติผิดทางกายทางวาจา

รู้จักทานรู้จักศีล

บรรดาบุคคลผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ จึงรู้จักมีหิริโอตตัปปะ รู้จักนุ่งห่มผ้าและรู้จักเว้นในการที่ควรเว้น ประพฤติในการที่ควรประพฤติต่างๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ละเอียดขึ้นไปเหล่านี้เป็นธัมมะทั้งนั้น จึงรู้จักทานรู้จักศีลนี้เป็น ๒ ข้อแรก ทานคือการให้ เป็นการช่วยเหลือ ศีลก็คือการงดเว้นจากความประพฤติเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ว่าประพฤติตรงกันข้ามในทางเกื้อกูล สำหรับสัตว์เดรัจฉานนั้น โดยปรกติสัตว์เดรัจฉานที่เป็นตัวพ่อตัวแม่รู้จักทำทานและมีศีลในลูก เช่นนกก็ไปหาอาหารมาเลี้ยงลูก นี่เรียกว่านกรู้จักทำทานแก่ลูก และนกก็ไม่จิกตีทำร้ายลูก นี่เรียกว่านกมีศีลในลูก โดยปรกติแล้วสัตว์เหล่านี้มักจะไม่รู้จักทำทานแก่ใคร ไม่รู้จักมีศีลต่อใคร เสือก็เหมือนกัน หรือว่าทุกชนิดก็มักจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็มีเหมือนกันที่ว่าเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ ที่เป็นสัตว์พวกเดียวกัน เช่นเป็นนกด้วยกันเป็นเสือด้วยกันก็อาจจะไม่ทำร้ายกัน และก็อาจจะแบ่งอาหารกันกินบ้าง ก็แปลว่ามีความคุ้นเคย รู้จักเป็นมิตรหรือว่ารู้จักเป็นญาติกันขึ้นบ้าง

มีเมตตาแผ่นออกไปโดยไม่มีประมาณ

มนุษย์เราก็เหมือนกัน ก็รู้จักทำทานแก่ลูก รู้จักมีศีลแก่ลูก คือการแบ่งปันอะไรต่ออะไรเลี้ยงดูลูก ตั้งต้นแต่แม่ก็เลี้ยงลูกมาพ่อก็เลี้ยงลูกมาตั้งแต่ต้นในทางต่างๆ ประคบประหงมมาและก็มีศีลในลูก ไม่เบียดเบียนลูก เสือก็มีทานในลูกมีศีลในลูกเช่นเดียวกัน เหล่านี้เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดา เรียกว่ามีความรักในตัวและก็มีความรักในลูก รู้จักมีความรักในมิตรสหายอยู่บ้าง สัตว์เดรัจฉานก็เป็นเช่นนั้น คนก็เป็นเช่นนั้น แต่ว่าคนเรานั้นมีภูมิปัญญาที่สูงกว่า จึงรู้จักที่จะปฏิบัติทางความรักที่มีอยู่เป็นธรรมชาตินี้ให้เป็นเมตตาขึ้นมา คือความคิดที่จะแผ่ความรักความคิดเป็นมิตรเป็นสหายความช่วยเหลือออกไปในวงกว้าง กว้างมากขึ้นๆ จนถึงไม่มีประมาณ แปลว่าในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ก็เป็น อัปปมัญญา คือไม่มีประมาณ เมตตานั้นโดยปรกติเราเรียกว่าพรหมวิหารธรรม ธัมมะเป็นเครื่องอยู่ของพรหม แต่ที่แผ่ออกไปไม่มีประมาณก็เป็นอัปปมัญญาในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า และเมตตานี้เมื่อมีในจิตแล้วจะทำให้ได้สุภสัญญา คือความเห็นว่างดงาม งดงามไปในบุคคลและในสัตว์เดรัจฉานทุกชนิดทุกจำพวก ไม่ขึ้งเคียดเกลียดแค้น และอีกอย่างหนึ่งนั้นที่เป็นอสุภกรรมฐาน พิจารณาว่าไม่งดงามนั้นเป็นอีกกรรมฐานหนึ่งสำหรับที่จะกำจัดกิเลสกองราคะ แต่ว่าสำหรับที่เป็นเมตตาคือความรักนี้ ถ้าแผ่ความรักออกไปในมิตรสหาย ในมนุษย์ในสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ในวงแคบจนถึงวงกว้างที่สุดไม่มีประมาณ ก็จะมีความรู้สึกว่าบรรดาสัตว์ทั้งปวงนั้นงดงามทั้งหมด ไม่มีน่าเกลียดไม่มีน่าชัง นี่เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถปฏิบัติทำได้ โดยที่ปรับปรุงจากตัวความรักที่มีในธรรมชาตินั่นแหละให้เป็นธัมมะขึ้นมา เมื่อมีเมตตาเป็นพื้นอยู่ดังนี้แล้วที่จะมีทานมีศีลก็จะไปง่าย ก็จะต้องมีความช่วยเหลือเกื้อกูล แล้วก็จะต้องเว้นจากความเบียดเบียนทำลายในสัตว์บุคคลทั้งปวงที่มีเมตตานั้น แปลว่าทานศีลก็มาเองด้วยอำนาจของเมตตานั้น

บารมี ๑๐ หรือมรรค ๘ - เครื่องทำลายตะกอนในจิต

เหล่านี้เป็นธัมมะที่คนรู้จักเมื่อมีระดับปัญญาสูงขึ้นโดยลำดับ จนถึงพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิ์สัตว์ ท่านแสดงว่าได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ คือ ทาน การให้ ศีล การงดเว้นจากความประพฤติชั่วประพฤติผิด อันเป็นการเบียดเบียนทางกายทางวาจา เนกขัมมะ ความออกคือความที่มีจิตเป็นสมาธิ สงบกามและอกุศลธรรมทั้งหลายก็ได้เป็นการออกทางใจ ออกทางกายคือออกบวช ปัญญา คือความรู้ ความรู้ที่อบรมขึ้นโดยลำดับ วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐานะ ความตั้งใจมุ่งมั่น เมตตา อุเบกขา ความที่ทำความรู้อันเป็นเหตุให้เฉยอยู่ได้ เฉยอยู่ได้ด้วยความรู้ เหล่านี้เป็นบารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ และบารมีนี้ก็คือบรรดาทานศีลเป็นต้น ดังกล่าวนั้นที่ได้ปฏิบัติมา และเมื่อปฏิบัติแต่ละครั้งๆ นั้นความดีนี้ก็ยังเก็บอยู่ในจิต ถ้าเป็นกิเลสก็เรียกว่าตกตะกอนอยู่ในจิต แต่สำหรับบารมีนี้หากจะเปรียบว่าเป็นตะกอนก็จะเป็นกิเลสไป น่าจะเปรียบเหมือนเป็นเครื่องทำลายตะกอนที่ตกลงไปในจิตส่วนลึก จะเป็นสารส้มหรือเป็นอะไรก็ตามที่เป็นเครื่องทำลายตะกอนให้หมดไปโดยลำดับ ตกไปในจิตส่วนลึกก็เก็บเอาไว้อีกเหมือนกัน แต่เป็นส่วนตรงกันข้ามกับอาสวะอนุสัยซึ่งเป็นเหมือนตะกอน แต่นี้เป็นเครื่องทำลายตะกอน เมื่อมีบารมีคือความดีมีทานศีลเป็นต้นดังกล่าวนั้นบำเพ็ญเรื่อยๆ ไปแล้ว ความดีนั้นก็ไม่ไปไหน ยังตกไปอยู่เก็บอยู่ในจิต แต่ว่าไม่ใช่เป็นตะกอน เป็นเครื่องทำลายตะกอน เมื่อความดีนี้ลงไปมากเท่าไรก็ทำลายตะกอนไปได้มากเท่านั้น ทำให้ตะกอนน้อยลงๆ

พระโพธิสัตว์ก็บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ นี้มากขึ้นๆ โดยลำดับ เมื่อสรุปเข้าเป็นมรรคมีองค์ ๘ ดังที่กล่าวแล้ว ก็ลงไปเป็นเครื่องทำลายตะกอนจนหมดสิ้น ตรงนี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมเป็นผู้สิ้นกิเลส เพราะฉะนั้นจึงเรียกผู้สิ้นกิเลสว่าขีณาสวะ แปลว่าผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว หมายความว่าความดีที่ได้บำเพ็ญนั้นได้เป็นเครื่องทำลายตะกอนในจิตจนหมด จิตหมดตะกอนเป็นจิตที่บริสุทธิ์ตลอดดั่งนี้ จึงเป็นอันว่าหมดกิจ และเมื่อหมดกิจแล้วก็สิ้นบุญสิ้นบาป เพราะว่าเมื่อยังมีตะกอนอยู่ก็เรียกว่ามีบาป ก็ต้องทำบุญ คือการทำความดีนั้นก็เป็นการทำบุญนั่นเองหรือว่าทำกุศล การทำบุญทำกุศลทั้งปวงนั้นก็ลงไปกำจัดอาสวะแต่ละครั้งที่ทำ ก็รวมกันเข้าในจิตอีกเหมือนกัน กำจัดอาสวะกำจัดอนุสัยให้หมดไปๆ โดยลำดับ จนถึงหมด และเมื่อหมดก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง ตรงนี้แหละที่เรียกว่า นิพพาน หรือเรียกว่าเสร็จกิจและเป็นจิตที่อบรมแล้ว

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 26 ธันวาคม 2553
Last Update : 26 ธันวาคม 2553 6:57:33 น. 2 comments
Counter : 545 Pageviews.

 
สวัสดีจร้า ชื่อหนิงน่ะจ๊ะ


โดย: ning.ple วันที่: 26 ธันวาคม 2553 เวลา:11:15:34 น.  

 



แวะมาทักทายค่ะ


โดย: deeplove วันที่: 26 ธันวาคม 2553 เวลา:15:25:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.