Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๓๔ เมตตาบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



จะแสดง เมตตาบารมี อันเป็นบารมีข้อที่ ๙
เมตตาเป็นพระบารมีประการหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมา ดังมีเรื่องเล่าไว้ในชาดกต่างๆ

เมตตาบารมีในสุวรรณสามชาดก

ชาดกที่ท่านยกขึ้นสำหรับเมตตาบารมี ก็คือ สุวรรณสามชาดก ได้แก่ชาดก เรื่องพระสุวรรณสาม มีเรื่องโดยย่อว่า ได้มีบุตรและธิดาของเนสาท คือนายพรานป่า ๒ ตระกูล ซึ่งมารดาบิดาได้ปรารถนาที่จะให้ตบแต่งอยู่ครองเรือน แต่บุคคลทั้ง ๒ นั้นเป็นผู้มีจิตใจที่ได้น้อมไปในการบรรพชา คือการบวช และเป็นผู้ที่ไม่นิยมในการฆ่าสัตว์ซึ่งเป็นอาชีพของตระกูล จึงได้พากันออกไปบวชเป็นฤษีและฤษิณี ได้มีบุตรคนหนึ่งชื่อว่า สามะ ซึ่งมักเรียกว่าสุวรรณสาม ต่อมามารดาบิดาของสุวรรณสามได้ถูกงูพิษพ่นพิษเข้านัยน์ตา จึงตาบอดหมดทั้ง ๒ คน สุวรรณสามได้เลี้ยงมารดาบิดาของตนอยู่ในป่า มารดาบิดาและบุตรทั้ง ๓ นี้เจริญ เมตตาภาวนา อยู่เป็นประจำ ด้วยอำนาจของเมตตา สัตว์ป่าทั้งหลายทั้งที่เป็นสัตว์ร้ายและทั้งที่เป็นสัตว์ไม่ร้าย ก็พากันมีจิตอ่อน ไม่ทำอันตรายและให้ความคุ้นเคยสนิทสนมดุจเป็นมิตรสหาย สุวรรณสามนั้น เมื่อได้ออกไปทำกิจต่างๆ เช่นตักน้ำหาอาหาร เป็นต้น เลี้ยงมารดาบิดา ก็ได้มีสัตว์ป่าทั้งหลายพากันห้อมล้อมไปและกลับ ทั้ง ๓ คนนั้นก็ได้อยู่ผาสุกในป่า จนถึงคราวหนึ่ง พระราชาแห่งกรุงพาราณสีได้เสด็จออกมาล่าเนื้อ และได้แอบซ่อนมองเห็นสุวรรณสามพร้อมทั้งหมู่เนื้อกำลังออกไปตักน้ำเพื่อจะไปให้มารดาบิดา จึงได้ยิงด้วยลูกธนูอาบยาพิษไปถูกสุวรรณสามล้มลง ก่อนที่สุวรรณสามจะสลบไสลด้วยอำนาจของศรอาบยาพิษนั้น ก็ได้กล่าวเรียกหาบุคคลผู้ยิงด้วยวาจาอันอ่อนหวาน ไม่แสดงความโกรธ พระราชาพาราณสีได้ทรงฟังเรียกเช่นนั้น ก็มีพระหฤทัยอ่อนและได้เสด็จเข้าไปหาสุวรรณสาม ซึ่งนอนกระวนกระวายคร่ำครวญอยู่ว่า ต่อไปนี้จะได้ใครเป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดา ก็ได้ทรงถาม และครั้นทรงทราบแล้ว ก็ทรงรันทดเสียพระหฤทัยในการที่ได้ทำไป และก็รับจะทรงเป็นผู้อุปการะมารดาบิดาของสุวรรณสาม สุวรรณสามก็สลบไสลไปในขณะนั้นด้วยอำนาจของศรอาบยาพิษ พระราชาแห่งพาราณสีก็ได้เสด็จไปยังอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของมารดาบิดา และก็ได้ทรงทำการปฏิบัติ ฝ่ายมารดาบิดาของสุวรรณสามสังเกตเห็นความผิดปกติในกิริยาเป็นต้น กำหนดว่าคงจะไม่ใช่สุวรรณสาม จึงได้ถามขึ้น พระราชาแห่งพาราณสีก็ทรงเล่าให้ทราบตามเป็นจริง ทั้ง ๒ ท่านนั้นครั้นได้สดับก็ขอให้พระราชาแห่งกรุงพาราณสีช่วยนำไปยังสุวรรณสาม ครั้นเมื่อไปถึงยังที่นั้นแล้ว ทั้ง ๒ ท่านนั้นก็มีความโศกรันทด และก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นว่า “สามะนี้เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติดังพรหม กล่าวแต่คำสัตย์จริง เลี้ยงมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล รักสัตว์มีชีวิต ด้วยความสัตย์นี้ขอให้พิษศรในกายของสามะเหือดหายเถิด” และก็มีแสดงว่า นางพสุนธรี เทวธิดาซึ่งสถิตอยู่ที่เขาคันธมาส ซึ่งเคยเป็นมารดาของสุวรรณสามมาในภพอดีต ก็ได้มาทำสัจจกิริยาเช่นเดียวกันว่า “ไม่มีใครอื่นซึ่งจะเป็นที่รักของตนยิ่งไปกว่าสุวรรณสาม” ด้วยอำนาจของสัจจกิริยานั้น สุวรรณสามก็ฟื้นขึ้น มารดาบิดาก็หายจากความตาบอด ในขณะเดียวกับกับอรุณขึ้น เพราะฉะนั้น บุคคลทั้งหมดนั้นจึงได้กลับมีความสวัสดี และพระราชาแห่งกรุงพาราณสีก็ได้กลับทรงตั้งอยู่ในธรรมของผู้ปกครองประชาชน

อำนาจจิตใจที่เกิดจากเมตตาธรรม

ตามเรื่องในชาดกนี้ แม้จะมีเล่าถึงเหตุการณ์ที่บังเกิดเหมือนเป็นอภินิหาร คือผลที่บังเกิดขึ้นด้วยอำนาจของสัจจกิริยาดังเล่าในเรื่องนั้น แต่สารัตถะคือความสำคัญของเรื่องก็มุ่งแสดงถึงอำนาจจิตใจ อำนาจจิตใจของบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ก็มีเป็น ๒ ฝ่าย คืออำนาจจิตใจอันประกอบด้วยธรรมอย่างหนึ่ง อำนาจจิตใจอันประกอบด้วยอธรรมอีกอย่างหนึ่ง อำนาจจิตใจประการแรกก็ได้แก่ที่ประกอบด้วยเมตตา และความกตัญญูกตเวทีเป็นต้น กล่าวโดยเฉพาะ บุคคลผู้ที่เล่าในเรื่องเป็นผู้อบรมเมตตา มีจิตใจประกอบด้วยเมตตาธรรม ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นคือที่ประกอบด้วยอธรรม ก็ได้แก่โทสะ วิหิงสาหรือพยาบาท ซึ่งเป็นฝ่ายกิเลส และบุคคลเมื่อมีโทสะ วิหิงสาหรือพยาบาท ก็ย่อมจะประกอบการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน เมื่ออำนาจจิตใจทั้ง ๒ ฝ่ายนี้มาประจบกันเข้าแล้ว อำนาจจิตใจที่ประกอบด้วยธรรมคือเมตตา ก็ย่อมชนะอำนาจจิตใจที่ประกอบด้วยโทสะ วิหิงสาในที่สุด แต่ว่ากว่าที่จะชนะได้นั้น ก็ต้องประสบความทุกข์เดือดร้อน เมื่อมีสัจจะกิริยาคือการตั้งสัจจะเข้าช่วย ความชนะจึงจะบังเกิดขึ้นได้ในที่สุด

ในเรื่องนี้ เมื่อจะพิจารณาโดยนัยทางปฏิบัติ ก็ย่อมจะเห็นความได้ว่า ในการที่ธรรมจะต่อสู้กับอธรรมนั้น ก็ย่อมจะประสบความทุกข์เดือดร้อน ถ้าฝ่ายธรรมไม่มีสัจจกิริยา คือการตั้งสัจจะให้แน่วแน่แล้ว ฝ่ายธรรมก็อาจจะแพ้ได้ แต่หากว่าตั้งสัจจกิริยาให้แน่วแน่จะไม่แพ้ จะชนะด้วยความดีคือธรรมนั้นในที่สุด ทั้งอาจจะกลับใจฝ่ายอธรรมให้กลับมาประกอบด้วยธรรมได้ดังกล่าวในเรื่อง

ผลของธรรมบังเกิดจากการตั้งสัจจะ

พิจารณาดูจิตใจของตนเองของแต่ละบุคคล ในบางขณะก็ประกอบด้วยธรรมดังได้กล่าว เช่นว่ามีเมตตา ในบางขณะก็ประกอบด้วยอธรรม เช่นมีโทสะ เมื่อมีโทสะบังเกิดขึ้นก็ทำให้จิตใจมุ่งร้าย เมื่อเมตตาบังเกิดขึ้นก็ทำให้จิตใจมุ่งดี คราวนี้เมื่อเกิดมีความมุ่งขึ้น ๒ อย่างขัดกัน ก็ทำให้จิตใจนั้นเองเดือดร้อนไม่เป็นสุข แต่เมื่อเมตตานั้นหากได้ประกอบด้วยสัจจะคือความตั้งใจจริง ก็ย่อมจะสนับสนุนให้เมตตานั้นมีอำนาจแรงขึ้น โทสะที่ไม่ได้สัจจะสนับสนุนก็อ่อนกำลังลง ในที่สุดก็แพ้ต่อเมตตา เมื่อถอดความให้ชัดเข้าอีก เมตตาที่ประกอบด้วยสัจจะนั้น พูดสั้นก็คือเมตตาจริงๆ นั่นแหละเป็นตัวสัจจะ เมื่อมีเมตตาจริงขึ้นแล้ว โทสะไม่จริงก็ย่อมแพ้ แต่ถ้าหากสัจจะไปอยู่กับโทสะคือว่าโกรธจริง แต่ว่าเมตตาปราศจากสัจจะ คือว่าเมตตาไม่จริง เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว เมตตาก็แพ้ เพราะฉะนั้น สัจจกิริยาคือการตั้งสัจจะนั้น เป็นเรื่องสำคัญในอันที่จะสนับสนุนธรรมทั้งปวงให้มีกำลังอำนาจขึ้นจริง ถ้าไปสนับสนุนฝ่ายดีเช่นเมตตา ก็เป็นเมตตาจริง ดั่งนี้เมตตาก็มีกำลังอำนาจ แต่ว่าถ้าไปสนับสนุนฝ่ายที่ตรงกันข้าม เช่นว่าโกรธจริงขึ้นมาเหมือนกัน ดั่งนี้แล้ว ความแผดเผาของโทสะนั้นก็รุนแรงมากขึ้น จนกว่าจริงกับจริงจะมาพบกัน จริงฝ่ายธรรมย่อมสูงกว่า หนักแน่นกว่า จริงฝ่ายธรรมก็ย่อมจะชนะ ตามที่กล่าวมานี้จะพึงเห็นได้ว่า สัจจกิริยาคือการตั้งสัจจะนั้น เป็นประการสำคัญในอันที่จะปฏิบัติธรรมทุกอย่าง จะต้องมีสัจจะคือว่าทำให้จริง และเมื่อมีสัจจะคือทำให้จริงขึ้นแล้ว ก็จะได้รับผลของธรรมในที่สุดด้วยดี

ความหมายของเมตตา

เมตตาซึ่งเป็นธรรมสำคัญในชาดกที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงบำเพ็ญมาจนเต็มเปี่ยม ก็ได้ทรงนำมาแสดงสั่งสอนให้บุคคลอบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้น และได้แสดงถึงความสำคัญของเมตตาไว้เป็นอันมาก ในเบื้องต้น ก็ควรจะทราบก่อนว่า เมตตานั้นคืออะไร

เมตตาคือภาวะของจิตใจที่มีเยื่อใยไมตรีจิต มิตรใจ คิดเกื้อกูลด้วยสุขประโยชน์ปราศจากอาฆาตพยาบาทขึ้งเคียดโกรธแค้น แสดงออกทางสีหน้าและสายตาที่สงบแช่มชื่น มองดูด้วยสายตาอันแสดงถึงใจที่เอิบอาบด้วยความปรารถนาดีให้มีความสุขปราศจากความพยาบาทมุ่งร้ายที่เป็นภัยเวรทั้งปวง เมตตานี้เป็น พรหมวิหารธรรม ข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต วิธีอบรมคือระวังใจมิให้โกรธแค้นขัดเคืองอาฆาตพยาบาท เมื่อภาวะของจิตเช่นนั้นเกิดขึ้น ก็พยายามระงับเสีย โดยคิดว่าตนเองรักสุข ต้องการสุขฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นทั้งปวงก็ฉันนั้น และตนเองปรารถนาสุขแก่คนที่รักที่พอใจฉันใด ก็ควรปรารถนาสุขแก่คนอื่นสัตว์อื่นด้วยฉันนั้น เมื่อทำความสงบอาฆาตพยาบาท กระทำไมตรีจิตมิตรใจให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่นโดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจงทั่วไป ด้วยใจคิดปรารถนาสุขประโยชน์ เช่นคิดว่า จงอย่ามีเวร อย่ามีเบียดเบียน อย่ามีทุกข์ มีสุข รักษาตนให้สวัสดี อันที่จริงภาวะของจิตที่มีความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข ย่อมมีอยู่ในตนและในคนที่รักอยู่เป็นปกติ แต่ยังเจือด้วยราคะสิเน่หาบ้าง เจือด้วยอาฆาตพยาบาทในสัตว์อื่นผู้อื่นบ้าง นี้จึงนับว่าเป็นภาวะของจิตที่เป็นธรรมชาติธรรมดา

ทรงสอนให้อบรมเมตตาและแผ่เมตตา

พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนธรรม ก็คือทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดานี้แหละ ให้เป็นธรรมคือเป็นคุณเกื้อกูลขึ้นมา คือให้ปรับปรุงความรักใคร่ปรารถนาสุขดังกล่าว ให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้มีคับแคบเฉพาะตนและคนซึ่งเป็นที่รักใคร่ในวงแคบของตน หรือจำเพาะพวกของตน แต่ให้แผ่ออกไป ตลอดจนถึงไม่มีจำกัด ไม่มีประมาณ และให้ปราศจากอาฆาตพยาบาท ทั้งให้บริสุทธิ์จากราคะสิเน่หาด้วย เพราะว่าอาฆาตพยาบาทเป็นศัตรูที่ห่างของเมตตา ราคะสิเน่หาเป็นศัตรูที่ใกล้ของเมตตา ความรักใคร่ที่เป็นธรรมชาติธรรมดาของโลก ย่อมเจือด้วยสิ่งทั้ง ๒ นี้ ส่วนที่เป็นเมตตาอันบริสุทธิ์ย่อมปราศจากสิ่งทั้ง ๒ นั้น ทางปฏิบัติอบรมจึงต้องปฏิบัติอบรมสิ่งที่มีอยู่ เป็นธรรมชาติโลกนี้แหละ ให้เป็นธัมมะ ให้เป็นธรรมขึ้นมา และก็ย่อมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก ดังภาษิตที่ว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา เมตตาเป็นธัมมะ เครื่องคุ้มครองโลก” ดั่งนี้ ฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ให้ยกตนเป็นพยานหรือเป็นอุปมา แปลความว่า ตนเองคิดค้นหาด้วยใจไปทั่วทุกทิศ ไม่พบใครว่าจะเป็นที่รักไปกว่าตน ในที่ไหนๆ ตนของคนอื่นทั้งหลาย ก็เป็นที่รักมากของเขาเหมือนอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น และให้ยกคนที่รักขึ้นเป็นอุปมาว่า พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยเมตตา เหมือนอย่างเห็นคนผู้เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ แล้วเกิดไมตรีจิตมิตรใจรักใคร่ ฉะนั้น พระอาจารย์จึงจับความมาสอนว่า ให้หัดแผ่เมตตาเข้ามาในตนเองก่อนแล้ว จึงแผ่ไปในคนอื่น ตั้งแต่คนที่เป็นที่รัก เพราะจะแผ่ไปง่าย แล้วจึงแผ่ไปในคนที่เป็นกลางๆ แล้วจึงแผ่ไปในคนที่เป็นศัตรูไม่ชอบใจกัน และให้เว้นคนที่จะก่อให้เกิดราคะสิเน่หา กับคนที่ตายไปแล้ว การแผ่เข้ามาในตนเอง ท่านอธิบายว่า ก็จะต้องมีตนเป็นพยานอ้างอิงดังกล่าวข้างต้น พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า ตนเองจะต้องมีสุขเพราะมีจิตใจสงบจากอาฆาตพยาบาทเสียก่อน อาฆาตพยาบาทนั้นเหมือนอย่างไฟที่เผาใจตนเองให้ร้อน แล้วแผ่ความร้อนออกไปถึงผู้อื่นด้วย ฉะนั้น ตนเองจึงเป็นบุคคลที่ควรเมตตา และแผ่เมตตาเข้ามาดับไฟที่เผาใจนี้ลงเสียก่อนประพรมลงไปด้วยน้ำคือเมตตา ซึ่งจะเปลี่ยนจิตใจจากภาวะที่ร้อนมาเป็นภาวะที่เย็นสนิทด้วยมิตรภาพไมตรี เมตตาจึงเป็นธัมมะ เครื่องทำใจตนเองให้อยู่เย็นเป็นสุขและแผ่ความเย็นความสุขออกไปถึงผู้อื่นสัตว์อื่นด้วย

พรหมวิหารธรรม

อันเมตตานี้ในบารมีทั้ง ๑๐ ได้เป็นบารมีข้อ ๙ และบารมีข้อต่อไปคือข้อ ๑๐ เป็นข้อครบนั้นก็คือ อุเบกขา และในพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ นั้น ก็มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สำหรับในทศบารมีนั้น ยกขึ้นเพียงข้อเดียวเป็นข้อที่ ๙ คือ เมตตา และข้อ ๑๐ เป็นอุเบกขา จึงเว้นเสีย ๒ ข้อได้แก่ กรุณา และมุทิตา พิจารณาดูแล้วก็จะพึงเห็นได้ว่า อันกรุณาและมุทิตานั้น ก็ย่อมเนื่องกันอยู่กับเมตตานั้นเอง เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะไม่ยกมาแสดง เพราะจะเกิน ๑๐ ข้อไป แต่ว่าก็มีความเนื่องไปถึงกรุณาและมุทิตา ตลอดไปจนถึงอุเบกขาด้วย เพราะฉะนั้น จึงจะได้แสดงข้อกรุณาและข้อมุทิตาอีก ๒ ข้อ รวมเข้าในข้อเมตตานี้ ส่วนข้ออุเบกขานั้นจะไปแสดงในบารมีข้อที่ครบ ๑๐

ความหมายของกรุณา

กรุณาคือภาวะของจิตที่หวั่นไหวไปเพราะความทุกข์ของผู้อื่น เหมือนอย่างถ้าซื้อได้ก็จะซื้อความทุกข์ของเขา คือจะช่วยให้ความทุกข์ของเขาหมดสิ้นไป จึงมีอาการที่ทนเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องขวนขวายช่วยเหลือเพื่อบำบัดทุกข์ ปราศจากความคิดเบียดเบียนซ้ำเติม เห็นใครตกอยู่ในความทุกข์ไม่มีที่พึ่ง ก็อดอยู่มิได้ จะต้องคิดช่วย กรุณานี้เป็นพรหมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีในจิต วิธีอบรมคือระวังใจไม่ให้คิดเบียดเบียนใคร และหัดใจคิดว่า เมื่อตนเองมีทุกข์ ต้องการความช่วยเหลือฉันใด ผู้อื่นสัตว์อื่นก็ฉันนั้น ดั่งนี้แล้ว ก็หัดใจไม่ให้นิ่งดูดาย ให้ขวนขวายช่วยเหลือเปลื้องทุกข์ของผู้อื่น ตามความสามารถหรือตามที่ควรจะทำได้ หัดแผ่จิตใจที่กรุณานี้ออกไปแก่คนและสัตว์ทั้งหลาย โดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจงทั่วไปด้วย คิดว่าจงพ้นจากความทุกข์เดือดร้อน อันที่จริงภาวะของจิตใจที่ต้องการความช่วยเหลือในเมื่อมีทุกข์ ย่อมมีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดา แต่ยังเจือด้วยวิหิงสา คือความคิดเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น เพื่อให้ตนพ้นทุกข์ และยังมีโศกโทมนัสในเมื่อได้เห็นทุกข์ของคนผู้เป็นที่รัก เพราะเป็นภาวะของจิตที่คับแคบ ต้องการให้ตนเองและคนผู้เป็นที่รักของตนพ้นทุกข์เท่านั้น พระบรมครูทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติอบรมปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละ ให้เป็นธรรมขึ้น คือให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้มีคับแคบเฉพาะตนหรือผู้ที่ตนรัก หรือจำเพาะพวกของตน แต่ให้แผ่กว้างออกไปตลอดจนถึงไม่มีจำกัด ไม่มีประมาณ และให้ปราศจากวิหิงสา ความคิดเบียดเบียนและให้สงบความโศกโทมนัสในเพราะความทุกข์ของคนที่เป็นที่รักด้วย เพราะว่าวิหิงสาเป็นศัตรูที่ห่างของกรุณา ส่วนความโศกโทมนัสเป็นศัตรูที่ใกล้ของกรุณาจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ให้ยกตนเป็นพยาน หรือเป็นอุปมาเช่นเดียวกับในข้อเมตตา และให้ยกคนตกยากเป็นอุปมาว่า จึงแผ่จิตถึงคนทั้งปวงด้วยกรุณาเสมือนอย่างเห็นคนตกยากมีความลำบาก ก็เกิดกรุณาขึ้นฉะนั้น และได้มีพระมหาสมณภาษิตแสดงไว้ว่า “มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณาสโห อัธยาศัยที่ทนอยู่ไม่ได้เพราะกรุณา เป็นลักษณะของมหาบุรุษ” ข้อนี้พึงเห็นดังเช่นพระกรุณาที่แสดงเป็นพระคุณลักษณะของพระพุทธเจ้าและพระมหากษัตริย์เจ้า

ความหมายของมุทิตา

มุทิตา คือภาวะของจิตที่บันเทิงยินดี ในเมื่อผู้อื่นได้รับความสุขความเจริญด้วยสมบัติต่างๆ ปราศจากความริษยา เห็นใครพรั่งพร้อมด้วยสมบัติ ก็พลอยมีมุทิตา ตัดความยินร้าย ไม่ยินดี ด้วยเหตุที่ริษยาเสียได้ มุทิตานี้เป็นพรหมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต วิธีอบรมก็คือระวังใจมิให้ริษยา เมื่อได้เห็นได้ทราบ สมบัติคือความพรั่งพร้อมต่างๆ ของผู้อื่น เมื่อความริษยาเกิดขึ้น ก็พยายามระวังละเสีย หัดคิดว่าตนเองมีความยินดีเมื่อตนได้สมบัติที่ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ไฉนเมื่อคนอื่นเขาได้จึงจะไปริษยาเขา ควรจะพลอยยินดีกับเขา พิจารณาให้เห็นโทษของความริษยาเช่นว่า “อรติ โลกนาสิกา ความริษยาเป็นเหตุทำลายโลก” เมื่อทำมุทิตาจิตให้เกิดขึ้นได้ ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่น โดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจงทั่วไป โดยคิดว่า จงอย่าวิบัติจากสมบัติที่ได้แล้ว อันที่จริงภาวะของจิตที่ยินดีเวลาได้สมบัติต่างๆ ย่อมมีอยู่ ในเมื่อตนหรือคนเป็นที่รักได้สมบัติเป็นธรรมชาติธรรมดา แต่ยังเจือด้วยริษยาในเมื่อเห็นคนอื่นได้สมบัติ และแม้ในสมบัติที่ตนได้ก็ยังมีโสมนัสที่เจือด้วยตัณหา และบางทีแม้ว่าจะไม่ริษยาในสมบัติของเขา แต่ก็อาจจะมีโสมนัส มีความกระหยิ่ม กระหยิ่มที่จะได้บ้าง พระบรมครูทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละให้เป็นธรรมขึ้น คือให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้มีคับแคบเฉพาะตน และเฉพาะผู้ที่ตนรักเท่านั้น แต่ให้กว้างออกไปตลอดถึงไม่มีจำกัด ไม่มีประมาณ โดยให้ปราศจากริษยา ทั้งปราศจากโสมนัสที่เจือกิเลสอิจฉาคืออยากจะได้ด้วย เพราะว่าริษยาเป็นศัตรูที่ห่างของมุทิตา ส่วนโสมนัสเป็นศัตรูที่ใกล้ของมุทิตา ฉะนั้น ก็พึงยกตนขึ้นเป็นพยาน หรือเป็นอุปมา เช่นเดียวกับใน ๒ ข้อข้างต้น และให้ยกบุคคลผู้เป็นที่รักขึ้นมาเป็นอุปมา ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ว่า “พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยมุทิตา เหมือนอย่างเห็นบุคคลผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ ก็บันเทิงยินดีฉะนั้น”

การแผ่พรหมวิหารธรรมโดยเจาะจง

อันการแผ่จิตออกไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ที่ได้แสดงมาแล้วว่า แผ่ไปโดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจงนั้น การแผ่ไปโดยเจาะจงเรียกว่า โอทิสผรณา ส่วนการที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจงเรียกว่า อโนทิสผรณา อันการแผ่ไปโดยเจาะจงนั้น ก็เช่นเจาะจงไปในบุคคลนั้นในบุคคลนี้ หรือในหมู่นั้นในหมู่นี้ ดังที่ใน ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกเล่ม ๓๑ มีแสดงยกตัวอย่างของการแผ่ไปโดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจง สำหรับการแผ่ไปโดยเจาะจงนั้น ยกเอาคือแผ่ไปในบุคคลหรือในหมู่บุคคลทั้ง ๗ จำพวก คือแผ่ไปว่า ขอให้สตรีทั้งปวงมีความสุข ขอให้บุรุษทั้งปวงมีความสุข ขอให้อริยบุคคลทั้งปวงมีความสุข ขอให้บุคคลผู้ไม่เป็นอริยะทั้งปวงมีความสุข ขอให้เทพทั้งปวงมีความสุข ขอให้มนุษย์ทั้งปวงมีความสุข ขอให้สัตวโลกที่ต่ำกว่ามนุษย์คือที่เป็นดิรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย อันเรียกว่าพวกอบาย หรือรวมเรียกว่าเป็นผู้ที่ตกต่ำทั้งปวงมีความสุข การแผ่จิตออกไปดั่งนี้เรียกว่าแผ่โดยเจาะจง

การแผ่พรหมวิหารธรรมโดยไม่เจาะจง

ส่วนการแผ่ไปโดยไม่เจาะจงนั้น คือการแผ่ครอบไปทั้งหมด ยกตัวอย่างไว้ ๕ จำพวก คือ แผ่ไปว่าสัตว์ทั้งปวงมีความสุข ปราณ คือสัตว์มีชีวิตทั้งปวงมีความสุข ภูตะ คือสัตว์ที่เป็นขึ้นแล้วเกิดขึ้นแล้วทั้งปวงมีความสุข บุคคลทั้งปวงมีความสุข สัตว์ทั้งหลายที่เนื่องโดยอัตภาพทั้งหมดมีความสุข ดั่งนี้ การแผ่ไปโดยไม่เจาะจงเรียกว่า อัปมัญญาภาวนา คือการอบรมด้วยการแผ่ไปโดยไม่มีประมาณ และในวิธีแผ่นั้นยังได้มีแสดงออกไปอีกว่า แผ่ไปในทิศทั้ง ๑๐ คือแผ่ไป

ในทิศตะวันออก (บูรพา)
ในทิศตะวันตก (ปัจฉิม)
ในทิศเหนือ (อุดร)
ในทิศใต้ (ทักษิณ)
ในทิศน้อยตะวันออก คือตะวันออกเฉียงใต้ (อาคเนย์)
ในทิศน้อยตะวันตก คือตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ)
ในทิศน้อยทิศเหนือ คือตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
ในทิศน้อยทิศใต้ คือตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี)
ก็คือในทิศที่อยู่ในระหว่างทิศทั้ง ๔ ก็เป็น ๘ ทิศ และ
แผ่ไปในเบื้องล่าง
แผ่ไปในเบื้องบน ก็รวมเป็น ๑๐ ทิศ
และแผ่ไปก็โดยที่ทำจิตใจให้เป็นไปโดยอาการทั้ง ๘ คือ
๑. เว้นความคิดบีฑาย่ำยีข่มเหงสัตว์ทั้งปวง แต่แผ่ไปเพื่อความไม่บีฑา
๒. แผ่ไปเว้นความคิดอุปฆาตเข้าไปทำร้ายสัตว์ทั้งปวง แผ่ไปโดยที่ไม่มีความคิดเข้าไปทำร้าย
๓. แผ่ไปเว้นความคิดก่อความเดือดร้อนแก่สัตว์ทั้งปวง แผ่ไปโดยที่ไม่คิดก่อให้เกิดความเดือดร้อน
๔. แผ่ไปโดยเว้นความคิดครอบงำยึดครองสัตว์ทั้งปวง แผ่ไปโดยที่ไม่คิดครอบงำยึดครอง
๕. แผ่ไปโดยเว้นความคิดเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง แผ่ไปโดยที่ไม่คิดเบียดเบียน
๖. แผ่ไปด้วยคิดว่า ขอให้สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีเวร อย่าเป็นผู้มีเวร
๗. แผ่ไปด้วยคิดว่า ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข อย่ามีความทุกข์
๘. แผ่ไปด้วยคิดว่า ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงมีตนถึงความสุข อย่ามีตนถึงความทุกข์

การแผ่ไปด้วยวิธีดังที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการแผ่ไปในทางที่ถูก และเมื่อยกเมตตาขึ้นเป็นตัวอย่าง การที่แผ่ไปด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการอบรมเมตตา ใจที่คิดอย่างนี้ชื่อว่าเป็นใจที่มีเมตตา และความพ้นจากอาฆาตพยาบาททั้งปวง ไม่มีอาฆาตพยาบาททั้งปวงบังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ บังเกิดขึ้นในจิตใจ เรียกว่า วิมุตติ ความหลุดพ้น รวมเข้าก็เรียกว่า เมตตาเจโตวิมุตติ คือว่าใจที่คิดดั่งนั้น ชื่อว่าเป็นใจที่มีเมตตา เป็นใจที่หลุดพ้นจากอาฆาตพยาบาททั้งหลาย

เมตตาเป็นธรรมสำคัญที่จะดำรงโลก

การที่ปฏิบัติอบรมเมตตาดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นี้ และแม้ในข้อกรุณาและมุทิตาก็เช่นเดียวกัน ในบารมีข้อนี้ยกเอาเมตตาขึ้นเป็นที่ตั้ง แต่ก็มีกรุณาและมุทิตาประกอบด้วย เมื่อยกขึ้นกล่าวจำเพาะข้อเมตตา ก็จะพึงกล่าวต่อไปได้ว่า เมตตาเป็นธัมมะสำคัญที่จะดำรงโลก ถ้าขาดเมตตาเสียทั้งหมดแล้ว โลกก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ดังจะพึงเห็นได้ตั้งแต่ในส่วนแคบจนถึงส่วนกว้าง บุคคลผู้เกิดมาหากขาดเมตตาของมารดาบิดาเสียแล้ว ก็ย่อมจะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่แต่เท่านั้น หากขาดเมตตากรุณาของครูอาจารย์ ของพระมหากษัตริย์และรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ปกครองของมิตรสหาย ก็จะอยู่เป็นทุกข์หรืออยู่ไม่ได้ เพราะว่าความเป็นอยู่ของชีวิตของแต่ละบุคคลนั้น อาศัยความเกื้อกูลต่างๆ และความเกื้อกูลต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ก็บังเกิดจากเมตตาของบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น เมตตานี้เองทำให้ประพฤติเกื้อกูลต่อกัน แต่ถ้าตรงกันข้าม มารดาบิดาก็ขาดเมตตา บุคคลอื่นๆ ดังที่กล่าวมานั้นถ้าขาดเมตตาดั่งนี้แล้ว จะได้ความเกื้อกูลมาจากไหน และไม่ใช่แต่จะไม่เกื้อกูลเท่านั้น เมื่อขาดเมตตาต่อกันก็จะมีแต่โทสะวิหิงสา เป็นเหตุให้ทำร้ายเบียดเบียนกันอีกด้วย ก็จะพากันย่อยยับเข้าสมัยมิคสัญญี

พึงอบรมเมตตาให้เป็นบารมีและพรหมวิหารธรรม

ความเป็นอยู่ของบุคคลที่อยู่เป็นสุขนี้ ก็ย่อมมีความไว้วางใจว่า ไม่มีผู้มุ่งร้าย ไม่มีอันตราย และได้รับความเกื้อกูลด้วยเมตตาจิตจากบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพราะฉะนั้น เมตตาจึงเป็นธรรมสำคัญ การอบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ จึงเป็นความสมควรที่พึงกระทำ และก็สามารถที่จะกระทำได้ด้วยการทำใจให้มีเมตตาคือปรารถนาความสุขไปในบุคคลอื่น โดยเจาะจงบ้าง โดยไม่เจาะจงบ้าง ดังที่ได้กล่าจำแนกแจกแจงมาแล้ว เมื่อหัดทำเมตตาจิตอยู่บ่อยๆ และอาศัยสัจจกิริยา คือการตั้งเมตตาไว้ให้มั่นคงดั่งนี้แล้ว เมตตาก็จะสั่งสมตัวเองเป็นบารมี เป็นพรหมวิหารธรรมขึ้นในใจ คือเป็นธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของพรหม

เมตตาบารมี ๓ ชั้น

เมตตาบารมีท่านแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ หนึ่ง เมตตาบารมี คือเมตตาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาปฏิบัติในเมตตายิ่งกว่ารักษาคนที่รักและทรัพย์สิน สอง เมตตาอุปบารมี คือ เมตตาของผู้บำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณ รักษาปฏิบัติในเมตตายิ่งกว่ารักษาอวัยวะของตนเอง สาม เมตตาปรมัตถบารมี คือ เมตตาของผู้บำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณ รักษาปฏิบัติในเมตตายิ่งกว่าชีวิต

อานิสงส์ของเมตตา

เมตตาทุกชั้นที่อบรมนับตั้งแต่ในเบื้องต้น ย่อมจะทำให้จิตใจของผู้มีเมตตาเองนั่นแหละมีความสุข มีความเย็น และเมื่อแผ่ใจเช่นนี้ออกไป ก็ย่อมจะแผ่ความเย็นออกไป กระแสของความเย็นที่แผ่ออกไปนี้ ก็ย่อมจะเข้าถึงจิตใจของบุคคลอื่น สัตว์อื่นได้ และหากว่าเมตตาเป็นธรรมที่มีอำนาจ มีกำลังใหญ่ขึ้นในจิตใจ กระแสของเมตตาก็ย่อมจะแผ่กำลังออกไปได้มาก จนถึงกับที่จะทำให้จิตใจของบุคคลอื่นสัตว์อื่นแม้ที่เป็นศัตรูรู้สึกบังเกิดความเป็นมิตรขึ้น เมตตาจึงเป็นธรรมที่สร้างความสุขให้แก่ทั้งตนเอง ทั้งแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงอานิสงส์แห่งเมตตาไว้ว่า “หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันเห็นความฝันที่ไม่ดี เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาย่อมรักษา ไฟ ยาพิษ หรือว่าศัสตราย่อมไม่กล้ำกราย จิตของบุคคลผู้มีเมตตาย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว ผิวหน้าย่อมผ่องใส ไม่หลงทำกาลกิริยา และเมื่อไม่ตรัสรู้ธรรมที่ยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะเข้าถึงพรหมโลก” พระพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าถึงอดีตจริยาครั้งเป็นสุวรรณสามดาบสก็มีว่า “เราอยู่กับราชสีห์และเสือโคร่งในป่าใหญ่ได้ด้วยเมตตา ต่างน้อมเมตตาเข้าหากัน บรรดาสัตว์ใดๆ คือราชสีห์ เสือโคร่ง เสื่อเหลือง หมี กระบือ กวางดาว และหมู่ อยู่ในป่า มิได้สะดุ้งกลัวเรา แม้เราก็มิได้สะดุ้งหวาดกลัวสัตว์เหล่านั้น เพราะในกาลนั้น เรามีกำลังเมตตาค้ำจุน จึงยินดีอยู่ในป่า” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้สอนไว้ใน เมตตสูตร ว่า “เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ บุคคลพึงอบรมใจให้มีเมตตา ไม่มีประมาณในโลกทั้งสิ้น”

ใน อัปปมัญญา ๔ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้แผ่ไปด้วยใจ ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ แผ่ไปอย่างนี้ในเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ตลอดโลกมีทั้งหมด โดยมีใจแอบแนบทั้งหมด หรือโดยความเป็นตน (รักเหมือนตน) ทั้งหมดในที่ทั้งปวง ในพระพุทธพจน์นี้ เบื้องขวางท่านอธิบายว่า ในทิศน้อยทั้ง ๔

๒๗ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 26 ตุลาคม 2554
Last Update : 26 ตุลาคม 2554 9:23:47 น. 0 comments
Counter : 701 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.