Group Blog
 
All Blogs
 
ศีลและทศพิธราชธรรม



คำนำ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำริว่า “หลักการทำสมาธิเบื้องต้น” ของสมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหารเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างง่ายสำหรับผู้ที่มีความสนใจทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แสดงพระราชดำรินี้พร้อมทั้งอาราธนาสมเด็จพระญาณสังวรให้เรียบเรียงและอธิบายเพิ่มเติมเรื่อง “ปัญญา” “นิวรณ์และกัมมัฏฐานสำหรับแก้” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติทางจิตใจโดยใช้ปัญญาสำหรับป้องกันกับแก้ “การหลงลืมตัว” ซึ่งจะเป็นไปเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข และประสบผลสำเร็จด้วยดี

อนึ่ง ได้ทรงอ่านเรื่อง ของฝาก – ขวัญ “ปีใหม่” บันทึกจากเทศนาพิเศษของสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ที่ได้แสดงตามสถานีที่ราชการในโอกาสขึ้นปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ หลายแห่ง ทรงเห็นสมควรที่จะให้ผนวกพิมพ์รวมกับเรื่อง “หลักการทำสมาธิเบื้องต้น” เพื่อพระราชทานให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป เนื่องในวโรกาสวันพระราชสมภพ พระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา

วังสระปทุม
๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๓

ศาสนา และทศพิธราชธรรม

ของฝาก – ขวัญ “ปีใหม่”
สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร
เทศนาพิเศษ

ความเจริญผาสุกหรือความเสื่อมทรามเลวร้ายในประเทศเรา ปัจจุบันมีการวิจัยออกมาแล้วว่า “ข้าราชการ” เป็นองค์กรสำคัญอย่างหนึ่ง
ข้าราชการดีมีศีลธรรมหรือมี “ทศพิธราชธรรม” เป็นหลักในการปกครองแล้วประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข
หากข้าราชการไร้ศีลธรรม ปกครองประชาชนนอกลู่นอกแนว “ทศพิธราชธรรม” ประชาชนจะเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ต้องเข้าป่าถืออาวุธรบราฆ่าฟันกัน จองล้างจองผลาญไม่สิ้นสุด

สมเด็จพระญาณสังวร แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านกล่าวถึงหลักในการปกครองของข้าราชการ และทศพิธราชธรรม อันหมายถึงธรรมสำหรับพระราชาหรือนักปกครองได้อย่างควรที่ข้าราชการและผู้ปกครองทุกระดับจะรับไว้เป็นสติปัญญาและสิริมงคลแห่งตนเนื่องในวันปีใหม่ ทั้งควรใช้เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อไปเพื่อความผาสุกทุกฝ่าย

สมเด็จพระญาณสังวรกล่าวถึงความสำคัญของทศพิธราชธรรมและศาสนาไว้อย่างชวนคิดว่า สิ่งไหนที่เรามีอยู่สมบูรณ์ เรามักจะไม่เห็นความสำคัญ ตัวอย่างเช่น ลมหายใจเข้าออก เราไม่รู้สึกถึงลมหายใจเลยว่าเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับศาสนา อันเปรียบเหมือนเส้นชีวิตเส้นหนึ่งในการดำรงชีวิตแต่ไม่ค่อยสนใจกันตามควร

ศาสนา แปลเป็นข้อยุติกันว่า คือคำสั่งสอน ทุกคนจะต้องมีการสั่งสอนใจของตนเองอยู่เสมอหรือบางครั้ง

ศาสนา แปลว่า ปกครอง ทุกคนต้องมีการปกครองใจตนเอง ปกครองตนเองอยู่เสมอ

นอกจากนี้เรายังต้องมีผู้ปกครองภายนอก ส่วนใหญ่ก็คือ ท่านผู้ใหญ่ที่ปกครองลงมาตามลำดับ เช่น ที่ทำงาน ครอบครัว โรงเรียน วัด ฯลฯ ขณะเดียวกัน เราต้องมีการปกครองใจของตัวเองด้วย เราต้องรู้จักสั่งสอนใจตัวเอง อบรมตัวเอง

ตัวเราเองมิใช่มีความรู้ความสามารถตามที่เรียนมาแล้วจะดีเสมอไป คนเรามีส่วนไม่ดีอยู่ในตนหลายประการ ทางพระเรียกว่า “กิเลส” หมายถึง ความรัก โลภ โกรธ หลง ความดิ้นรนปรารถนาทั้งหลาย ความไม่รู้ หลงถือเอาผิด มีสิ่งต่างๆ คอยยั่วเย้าให้เกิดกิเลส
เพราะฉะนั้นประการแรกจึงไม่ควรที่จะประมาทว่าตัวเรามีความรู้ความสามารถอย่างเดียวก็เพียงพอ
เมื่อมีตำแหน่งหน้าที่ ต้องไม่ประมาท ต้องสำนึกว่ายิ่งเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนโตมากเท่าใด สิ่งที่จะมาชักชวนให้เป็นไปในทางที่ผิด ยิ่งมีมากขึ้น

ตัวใหญ่ เงาก็ใหญ่
เงา.... คือสิ่งผิดที่จะมาชักชวนให้ทำผิด

ถ้าเราไม่มีศาสนาเป็นเครื่องอบรมสั่งสอน แนะนำปกครองตัวเอง ให้รู้จักเว้นในทางที่ควรเว้น ประพฤติในทางที่ควรประพฤติ ความที่ใหญ่จะทำให้กล้าในทางที่ผิดมากยิ่งขึ้น
มากกว่าคนเล็ก เพราะเขายังมีผู้ใหญ่คอยสอดส่องดูแล ส่วนผู้ใหญ่ไม่มีใครดูแลเพราะใหญ่เสียแล้ว

แต่ถ้าเรามีศาสนา จะไม่ประพฤติผิด ถึงแม้นจะไปอยู่แห่งไหนก็จะประพฤติตนดีไม่กล้าทำผิด ทั้งคนใหญ่คนเล็กจะไม่ถลำไปในสิ่งที่ผิดง่ายๆ แม้จะอยู่ผู้เดียวโดยไม่มีผู้ใดดูแลว่ากล่าว
เพราะมีศาสนาเป็นหลักใหญ่คอยดูแลว่ากล่าวอบรมสั่งสอน เป็นหลักปกครองใจ ทุกคนจึงต้องมีศาสนาประจำตัว แต่มิใช่เพียงแค่เรียนรู้บนโต๊ะหนังสือ หรือเพียงฟังเทศน์ฟังธรรมตามวัดวาอารามเท่านั้น เพราะนั่นเป็นเพียงเสมือนกับฟังสินค้าทางโฆษณา การที่จะมีศาสนาประจำตัวจริงๆ ต้องรับเอาเข้ามาเป็นหลักยึดเหนี่ยวในทางประพฤติ ปฏิบัติ เป็นสิ่งเตือนสติปัญญาให้เจริญยิ่งขึ้น
สำหรับ “ทศพิธราชธรรม” นั้น เป็นหลักธรรมที่ใช้ในการปกครองตั้งแต่คนส่วนใหญ่ถึงคนส่วนน้อย
เป็นธรรมสำหรับพระราชา หรือนักปกครอง ๑๐ ประการ ซึ่งนำมาแจงเป็นข้อๆ โดยสังเขป

๑. ทาน หมายถึงการให้ เป็นการช่วยผู้ที่ต้องการช่วยเพราะมีความขัดข้องแร้นแค้นนั้นๆ เช่น ผู้ที่ขาดอาหารก็ให้อาหารช่วย ขาดเสื้อผ้าให้เสื้อผ้าช่วย ขาดที่อยู่อาศัยให้ที่อยู่อาศัยช่วย ขาดหยูกยารักษาโรคให้หยูกยารักษาช่วย รวมความว่าเกิดความแร้นแค้นด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่งก็ให้สิ่งที่ต้องการนั้นๆ ช่วย ดังนี้ เรียกว่า ทาน

๒. ศีล คือความประพฤติ ต้องเว้นจากความชั่วร้ายทั้งหลาย ความประพฤติอันใดที่เป็นความชั่วร้ายก่อให้เกิดเวร ให้งดความประพฤติอย่างนั้น ไม่ทำสิ่งที่เป็นความชั่วร้ายนั้น ไม่พูดสิ่งที่เป็นความชั่วร้ายนั้น รวมความว่าเว้นการที่ควรเว้นต่างๆ ทั้งทางกายวาจา

๓. ปริจาคะ การสละ อันหมายความว่า สละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยแก่สิ่งที่มีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างเช่นว่า สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะร่างกาย เช่น เจ็บป่วยที่อวัยวะร่างกายก็ยอมสละทรัพย์รักษา สละอวัยวะร่างกายเพื่อรักษาชีวิต ในเมื่อต้องการที่จะรักษาชีวิตไว้ก็ยอม และ... สละได้ทุกๆ อย่างทั้งทรัพย์ อวัยวะ ร่างกาย ตลอดจนถึงชีวิต ในเมื่อประพฤติธรรมคือความถูกต้อง หรือหน้าที่อันต้องปฏิบัติ เช่น ทหารยอมสละทุกอย่าง เพื่อปฏิบัติหน้าที่รักษาประเทศชาติ ดังนี้เรียกว่า บริจาคหรือสละ

๔. อาชวะ ความตรง คือความประพฤติซื่อตรง ไม่คดทรยศต่อเพื่อน มิตรสหาย ต่อหน้าที่การงานตลอดจนถึงประชาชน

๕. มัทวะ ความอ่อนโยน คือความมีอาการทางกาย วาจา อ่อนโยน สุภาพ ไม่แสดงความแข็งกระด้าง มิใช่หมายความว่าอ่อนแอ แต่ว่าอ่อนโยน สุภาพ ไม่แสดงความแข็งกระด้าง แสดงการยกตนเหนือคนอื่น มีความอ่อนโยน สุภาพทางกายถึงวาจา พูดจาอะไรก็อ่อนโยน สุภาพ

๖. ตปะ ความเพียร เป็นผู้กล้าหาญในการทำสิ่งควรทำ ไม่กลัวเกรงในการทำดังกล่าว ไม่มีความเกียจคร้านปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอไม่บกพร่อง มีความเป็นผู้กล้า มีความเพียร ไม่อ่อนแอย่อท้อ เข้มแข็ง ถ้าทำดังนี้จะเป็นที่ยำเกรงของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่กล้าที่จะละเมิด

๗. อโกธะ ความไม่โกรธ หมายถึงว่า ความมีจิตที่ประกอบด้วยเมตตา มุ่งที่จะปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง ไม่เป็นคนใจน้อย หงุดหงิดง่าย แต่มีใจหนักแน่น ไม่คิดจะเอาแต่โทษใคร รู้จักให้อภัยและมีเมตตา

๘. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ การไม่ทำอะไรที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมมีจิตประกอบด้วยกรุณาคิดช่วยเหลือและทำการช่วยเหลืออยู่เสมอ

๙. ขันติ ความอดทน คือ รู้จักอดทนต่อความตรากตรำต่างๆ เช่น รู้จักอดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย ทนต่อสิ่งที่ไม่เป็นสุข ไม่สนุกต่างๆ อดทนต่อเวลาที่ต้องพบความทุกข์ ตลอดจนถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องมีน้ำอดน้ำทน รู้จักอดทนต่อความเจ็บใจต่อถ้อยคำที่เขามาว่ากล่าวในบางครั้ง บางคราว อันจะทำให้เกิดความเจ็บใจ ช้ำใจ ก็ให้มีความอดทน

๑๐. อวิโรธนะ ความไม่ผิด เมื่อรู้ว่าอะไรผิดก็ไม่ทำ เพราะทุกคนย่อมต้องมีความผิดบ้างไม่มากก็น้อยด้วยสิ่งที่ไม่รู้ ซึ่งมีอยู่มากหรืออาจจะพลั้งเผลอทำให้ผิดอยู่บ้าง แต่ว่าอะไรที่รู้ว่าผิดก็ไม่ควรทำ คือไม่ทำผิดทั้งที่รู้ ควรรอบคอบในสิ่งที่จะทำทั้งหลาย ระมัดระวังไม่ให้ผิดหรือจะผิดก็แต่น้อย อีกอย่างต้องรักษาความเที่ยงธรรม ความยุติธรรม ในเมื่อเป็นผู้ใหญ่ต้องไม่ลำเอียงเพราะความชัง ความหลง ความกลัวทั้งหลาย ดังนี้คือความไม่ผิด

ทศพิธราชธรรม หรือธรรม ๑๐ ประการ สำหรับพระราชาหรือนักปกครองนี้ บัณฑิตทั้งหลายในอดีตมี พระพุทธเจ้า เป็นต้น ได้ยกขึ้นมาสั่งสอนพระราชาเพื่อให้ใช้หลักธรรม ๑๐ ประการ ปกครองประเทศ เมื่อพิจารณากันให้ถ่องแท้แล้ว ธรรม ๑๐ ประการนี้เป็นหลักปกครองทั่วไป ผู้ที่มีหน้าที่ปกครองทั้งหลายพึงปฏิบัติด้วย
แม้แต่ผู้อยู่ใต้ปกครอง หรือใต้บังคับบัญชา ตลอดจนถึงราษฎร์ทั่วไป ก็ต้องปฏิบัติตามธรรมทั้ง ๑๐ ประการต่อผู้ปกครองและผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน

เช่นเมื่อผู้ปกครองมีทานให้ ผู้อยู่ใต้ปกครองก็ต้องมีทานตอบสนอง
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ฝ่ายปกครองหรือรัฐบาลใช้จ่ายทรัพย์ทำนุบำรุงประเทศ และอาณาประชาราษฏร์ทั่วไป ฝ่ายประชาราษฏร์ก็ต้องเสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาลเพื่อนำเงินนั้นมาใช้จ่าย เรียกได้ว่า มีทานต่อกัน

นอกจากนี้ ต้องมีศีลต่อกัน มีบริจาคต่อกัน มีความซื่อตรง อ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ เมตตาจิตต่อกัน มีความไม่เบียดเบียน ประกอบด้วกรุณาต่อกัน มีความอดทนต่อกัน มีความประพฤติไม่ผิดต่อกัน
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จะเกิดความสุขสมบูรณ์เรียบร้อย

ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ กล่าวได้ว่า เป็นหลักศาสนา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการทุกคนจะต้องพึงยึดปฏิบัติ อันเป็นความสุขความเจริญแก่ตนเอง แก่ประชาชนส่วนรวม

ขอให้ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง ทุกคนทุกฝ่ายทุกระดับ นำทศพิธราชธรรมนี้ไปพิจารณาและใช้เป็นหลักประพฤติปฏิบัติตามสมควร ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงคุ้มครองแก่ทุกๆ ท่านที่อยู่ในทศพิธราชธรรมให้มีความสุข ความสวัสดีตลอดปีใหม่นี้ทั่วกันเทอญ


------------------------------------------------------------

คัดลอกจาก หนังสือรวมธรรมะ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์เป็นมุทิตาสักการะ เนื่องในศุภวาระฉลองพระชนมายุ ๘๔ พรรษา ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ ๓ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๕๔๐
พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)



Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2553 8:30:17 น. 0 comments
Counter : 1653 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.