Group Blog
 
All Blogs
 
๓๔. อริยสัจจ์ข้อที่ ๓



หลักพระพุทธศาสนา

๓๔. อริยสัจจ์ข้อที่ ๓

นิโรธสัจจ์


อริยสัจจ์ ข้อที่ ๓ ได้แก่ ทุกขนิโรธ ประกอบขึ้นด้วยคำ ทุกข และ นิโรธ แปลว่า ความดับ รวมเป็น ทุกขนิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์ ความทุกข์คืออะไรได้แสดงแล้วในอริยสัจจ์กัณฑ์ที่ ๑ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นได้อย่างง่ายๆ ทุกข้อ เริ่มด้วยทรงชี้ความทุกข์ที่เป็นสภาพธรรมดาของร่างกายว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นทุกข์ แล้วทรงชี้ตรงเข้ามาถึงความทุกข์ที่เกิดจรเข้ามาทั้งแก่จิตใจเช่นความเศร้าโศกเป็นต้น ทั้งแก่ร่างกายเช่นความป่วยไข้ ต่างๆ อันรวมลงในความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักและพลัดพรากจากสิ่งซึ่งเป็นที่รัก รวมลงอีกเป็นความปรารถนาไม่ได้สมหวัง รวมลงอีกเป็นชีวิตร่างกายทั้งหมด ฉะนั้นจึงกล่าวอย่างย่อที่สุดว่า ชีวิตทั้งหมดเป็นตัวทุกข์ แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าทางพระพุทธศาสนามองชีวิตไปในแง่ร้าย เพราะยังมีอริยสัจจ์ข้อที่ ๒ ต่อไป คือทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ อันได้แก่ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะตัณหาในจิตใจของคนนี้เองทำให้ชีวิตเกิดเป็นทุกข์ขึ้น เพราะชีวิตต้องกลายเป็นทาสของตัณหา ฉะนั้นถ้าไม่มีตัณหาชีวิตก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ชีวิตก็คงดำเนินไปตามคติธรรมดาของตน ทุกขนิโรธคือความดับทุกข์อันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๓ นี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงอธิบายว่า ได้แก่ความดับตัณหาเสียได้นี้แหละเป็นความดับทุกข์ ฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงมิได้มองในแง่ร้าย แต่มองในแง่ของความจริง ทั้งชี้เหตุกับผลไว้พร้อมเสร็จ ซึ่งทุกๆ คนอาจจะปฏิบัติดับความทุกข์ที่เกิดเพราะตัณหาเสียได้ ด้วยการดับตัณหาที่จิตใจของตนเสีย

เมื่อยังเด็กอยู่ก็ยังไม่ค่อยรู้จักความทุกข์ เพราะยังไม่รู้จักปรารถนาต้องการอะไรมากเหมือนอย่างเด็กเล็ก ๆ เมื่อเลี้ยงดูไม่ให้เกิดความหิวกระหาย เป็นต้น และร่างกายไม่เจ็บป่วยอะไร ก็หลับและตื่นเล่นอย่างสบาย ครั้นเติบโตขึ้นรู้อะไรมากเข้าปรารถนาต้องการอะไรมากเข้าก็เริ่มรู้จักความทุกข์มากขึ้น โดยปกติเมื่อมีความปรารถนาต้องการและยังได้รับความสำเร็จสมปรารถนาอยู่ก็ยังไม่ค่อยรู้สึกเป็นทุกข์ แต่เมื่อประสบความไม่สำเร็จสมปรารถนาคือไม่ได้ดังที่ใจหวังจึงเกิดความทุกข์ขึ้น ถ้ามีความปรารถนาจะได้แรงมากก็เกิดทุกข์มาก แต่ใครเล่าในโลกนี้จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนาทุกอย่าง บางคนไม่ได้แม้ในสิ่งที่ตนควรจะได้ บางคนได้มาแล้วก็ต้องพลัดพราก และเมื่อกล่าวโดยส่วนรวมแล้วความปรารถนาของคนไม่มีอิ่มไม่มีพอ เช่นความปรารถนาในทรัพย์ไม่มีเพียงพอว่าเท่าไร แม้ในสิ่งอื่นก็เหมือนกัน ย่อมมีความปรารถนาเพิ่มขยายออกไปอยู่เสมอ และเมื่อกล่าวโดยส่วนรวม มักพากันปรารถนาในสิ่งที่ไม่อาจจะสำเร็จได้ เช่นปรารถนาให้มีชีวิตยืนยาวเรื่อยๆ ไป เพราะทุกๆ คนมีความรักชีวิตเป็นอย่างยิ่ง และกลัวต่อสิ่งที่จะมาทำอันตรายต่อชีวิต พูดง่ายๆ ว่ากลัวตาย ถ้าจะมีใครบันดาลให้เป็นไปได้สมปรารถนา ก็น่าจะมีคนสมัครไม่ตายกันเป็นส่วนมาก ฉะนั้นจึงต้องมีธรรมดาเป็นผู้จัดให้มีกำหนดอายุขัย จะปล่อยไปตามปรารถนาของคนหาได้ไม่

สันโดษ ๓

มีคนเป็นอันมากเข้าใจว่า ตัณหาคือความดิ้นรนปรารถนาเป็นของธรรมชาติของโลก เพราะถ้าโลกปราศจากตัณหาแล้วก็จะดับสูญ ความเข้าใจดังนี้ยังถูกต้องไม่หมด จริงอยู่โลกเกิดขึ้นด้วยตัณหา ดังมีพระพุทธภาษิตว่า ตณฺหาย อุฑฺฑิโต โลโก โลกอันตัณหาให้เกิดขึ้น และมีพระพุทธภาษิตอีกบทหนึ่งแปลความว่า ให้อาศัยตัณหา แล้วละตัณหาเสีย พระพุทธภาษิตทั้ง ๒ บทนี้แสดงว่า โลกเป็นผลของตัณหา และบุคคลโดยปกติต้องอาศัยตัณหา แต่การอาศัยนั้น ถ้าให้ตัณหามาเป็นนาย ด้วยบุคคลกลายเป็นทาสของตัณหาเสียแล้ว ก็จะประกอบกรรมเป็นเหตุทำลายโลกได้เหมือนกัน ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้อาศัยตัณหาโดยฐานะที่เป็นนายของตัณหา คือทุกๆ คนจำต้องอาศัยความปรารถนาต้องการ แต่ให้เป็นนายแห่งความปรารถนาของตนเอง คือควบคุมความปรารถนาให้ดำเนินไปโดยชอบ และเมื่อประสบความสำเร็จดังที่ปรารถนาโดยชอบแล้วก็ให้ละทิ้งความปรารถนานั้นเสีย วิธีปฏิบัติดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดานี้เอง มิใช่เป็นเรื่องผิดธรรมดาหรือสูงเกินกว่าธรรมดา เพราะตัณหาคือความปรารถนานี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอิ่มไม่มีพอดังกล่าวแล้ว จะอำนวยตามไปถ่ายเดียวหาได้ไม่ จำต้องควบคุมให้อิ่มให้พอไปคราวหนึ่งๆ เทียบอย่างการบริโภคอาหาร เมื่อบริโภคไปพอสมควรแล้ว ถึงจะยังเอร็ดอร่อยอยู่ก็ต้องให้หยุด ถ้าจะตามใจความอยากเรื่อยไป ก็คงจะท้องแตกตาย ความรู้จักอิ่มรู้จักพอซึ่งเป็นเครื่องสกัดตัณหานี้แหละคือสันโดษ ซึ่งแปลว่าความยินดีพอใจ อันหมายถึงความอิ่มความพอดังกล่าว ท่านจำแนกเป็น ๓ คือ

๑. ยถาลาภสันโดษ ความยินดีตามผลที่พึงได้ หรือตามผลที่ควรได้

๒. ยถาพลสันโดษ ความยินดีตามกำลังสามารถ

๓. ยถาสารุปสันโดษ ความยินดีตามรูปเรื่องของตน คือตามสมควร


ถ้าคนไม่มีสันโดษดังกล่าว ก็จะต้องเป็นทาสของตัณหา ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จะทำอะไรก็หักโหมจนเกินกำลังสามารถ ทั้งไม่คำนึงถึงการควรไม่ควร อยากจะทำอะไรก็ทำไปตามปรารถนา ถ้าใครเป็นเช่นนี้ก็จะเลวร้ายไปยิ่งกว่าอะไรๆ ในโลก ความเดือดร้อนในโลกเกิดขึ้นเพราะบุคคลจำพวกนี้ แต่เพราะอาศัยสันโดษซึ่งมีลักษณะดังกล่าวคอยสกัดกั้นไว้ให้มีอิ่มมีพอบ้างแม้ในเรื่องหนึ่งๆ ทั้งคอยสกัดกั้นให้ตัณหาดำเนินไปในทางที่ชอบ จึงเป็นเหตุให้คนที่มีสันโดษประกอบกรรมที่ชอบ และรู้จักอิ่มรู้จักพอ รู้จักมื้อรู้จักคราว โลกจึงอยู่เย็นเป็นสุขเพราะอาศัยสันโดษ จึงควรรู้จักคุณของสันโดษ ถ้าไม่รู้จักคุณของสันโดษ ทิ้งสันโดษเสียเมื่อใด ก็จะร้อนเป็นไฟขึ้นเมื่อนั้น

โลกิยสุขเป็นทุกข์

ความสุขต่างๆ ในทางโลก แม้ความจริงเป็นตัวความทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็เป็นข้อที่เห็นได้ยาก ทั้งในชั้นนี้ก็ยังไม่จำเป็นจะต้องเห็นต้องเข้าใจควรยกขึ้นกล่าวเฉพาะความทุกข์ตามเข้าใจกันเพียงข้อเดียว คือทุกๆ คนคงจะรับรองต้องกันว่าความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก คือเพราะปรารถนาไม่ได้สมหวัง ที่กล่าวดังนี้ อาจจะถูกหาว่าพูดอย่างเอากำปั้นทุบดิน แต่ก็เป็นจริงที่ทุกๆ คนควรจะต้องรับรู้ไว้ และเตรียมป้องกันพร้อมทั้งเตรียมแก้ไขไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นถ้าวิถีชีวิตต้องถูกตัณหาพาไปในทางผิดหวังและเกิดทุกข์ทับถมใจขึ้น ก็อาจจะจนทางของตนเองหาทางออกไม่ได้ ก็จะต้องอับจนต่อชีวิต เป็นผู้พ่ายแก่ชีวิต ดังที่คนมิใช่น้อยประสบกันอยู่

ทางออกจากความทุกข์นั้นคือ ต้องรับรู้ความจริงดังที่กล่าวแล้ว ต้องป้องกันมิให้ถลำลึกลงไปในทางแห่งความทุกข์ คือควบคุมตัณหามิยอมให้ฉุดชักใจไปได้ และถ้าถลำใจลงไปแล้ว ก็ต้องพยายามถอนใจขึ้นให้จงได้ด้วยปัญญา เพราะเมื่อทุกข์เกิดขึ้นที่จิตใจ ก็ต้องดับไปจากจิตใจได้ และจิตใจของทุกๆ คนอาจสมมติกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติกายสิทธิ์ ไม่มีอะไรจะมาทำลายได้ นอกจากจะยอมจนใจของตัวเองเท่านั้น ถ้าทำใจให้เข้มแข็งก็จะเกิดพลังใจขึ้นจนสามารถต่อสู้ต่างๆ ขจัดขับไล่ออกไปให้พ้นจากใจ แต่ข้อสำคัญต้องรับรู้ความจริงว่าจะต้องขับไล่ตัณหาออกไปเสียก่อน ความทุกข์ต่างๆ ก็จะออกไปพร้อมกัน เพราะความดับตัณหาเสียได้นั่นเองเป็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์

เรื่องนางปฎาจารา

การปล่อยให้ความทุกข์ต่างๆ ทับถมใจเข้าทุกทีโดยไม่รู้วิธีที่จะดับทุกข์ดังกล่าว อาจทำให้เสียได้ทุกอย่างแม้เสียจริต ดังมีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า ธิดาของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ได้หนีไปกับพนักงานปฏิบัติของเศรษฐีผู้บิดา ได้พากันไปอาศัยอยู่ในบ้านป่าแห่งหนึ่ง ต้องทำงานเหนื่อยยากต่างๆ ด้วยตนเอง เมื่อจะคลอดบุตรคนแรก ได้เดินทางไปหามารดาบิดา แต่เดินทางไปยังไม่ทันถึง ได้คลอดบุตรเสียก่อน จึงพากันกลับ ต่อมาเมื่อจะคลอดบุตรคนที่สองก็ได้เดินทางไปหามารดาบิดาอีก ในขณะที่กำลังเดินทางไป ฝนตกหนักและนางก็เกิดเจ็บครรภ์จะคลอดบุตร สามีจึงเที่ยวไปตัดไม้เพื่อจะทำเพิงเป็นที่พัก ในขณะที่จะตัดไม้บนยอดของจอมปลวกแห่งหนึ่ง ได้ถูกงูออกมาจากจอมปลวกกัดล้มลงตายในที่นั้น นางคอยสามีไม่เห็นกลับ ได้คลอดบุตรคนที่สองด้วยความทุกข์อย่างยิ่ง ฝนก็กำลังตกหนัก นางให้บุตรคนแรกและบุตรคนที่คลอดใหม่ทั้ง ๒ คนอยู่ภายใต้ตน ทำตนเองเป็นเพิงกันฝนของบุตรทั้ง ๒ ตลอดคืน เมื่อสว่างขึ้นแล้วก็อุ้มบุตรคนหนึ่งจูงคนหนึ่งเดินไปเที่ยวหาสามี พบสามีนอนสิ้นชีวิตอยู่ ก็เกิดความทุกข์โศกอย่างยิ่ง และจำต้องเดินทางต่อไปถึงแม่น้ำหนึ่งซึ่งน้ำกำลังเต็มเพราะฝนตกหนัก ไม่อาจจะพาเด็กทั้ง ๒ ข้ามไปพร้อมกันได้ จึงพักบุตรคนโตไว้ที่ฝั่งข้างนี้ อุ้มบุตรคนเล็กข้ามไปก่อน หักกิ่งไม้ๆ มาปูให้นอนที่ฝั่งข้างโน้น แล้วข้ามกลับมาเพื่อจะรับบุตรคนโต ครั้นข้ามมาถึงกลางแม่น้ำ มีเหยี่ยวใหญ่ตัวหนึ่งบินผ่านมาเห็นบุตรคนเล็ก จึงโฉบลงมาเฉี่ยวเอาไปด้วยสำคัญว่าชิ้นเนื้อ นางยกมือทั้งสองขึ้นตบร้องไล่เหยี่ยว แต่เหยี่ยวก็ไม่ฟัง ได้โฉบเฉี่ยวเอาเด็กน้อยนั้นไป ฝ่ายบุตรคนโตผู้ยืนอยู่ที่ฝั่งข้างนี้มองเห็นมารดายกมือขึ้นตบร้องเสียงดังอยู่กลางแม่น้ำคิดว่าแม่เรียก ก็โดดลงไปในน้ำโดยเร็ว จึงถูกน้ำพัดหายไป นางจึงเกิดทุกข์โศกเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เดินร้องไห้คร่ำครวญมุ่งตรงไปกรุงสาวัตถี เพื่อจะไปหามารดาบิดา พบชายคนหนึ่งเดินสวนทางมา ถามทราบว่ามาจากเมืองสาวัตถี จึงถามถึงข่าวมารดาบิดาของตน ชายผู้นั้นจึงบอกว่า ไม่เห็นหรือว่าฝนตกตลอดคืน เมื่อคืนนี้ ในขณะที่ฝนตกหนักนั้น เรือนได้พังทับเศรษฐีพร้อมทั้งภริยาและบุตรสิ้นชีวิตหมดทั้ง ๓ คน เขารวมเผาในเชิงตะกอนอันเดียวกัน ยังเห็นควันปรากฏอยู่นั่น นางได้รับข่าวทุกข์หนักอันเหลือกำลังใจของนางจะทนทานไว้ได้ ก็สิ้นความรู้สึกตัว วิกลจริตขึ้นในขณะนั้นเอง เพราะความทุกข์ทับทวีเข้ามาอย่างมากมาย วิ่งพลางพร่ำเพ้อไปพลางถึงบุตรทั้งสองและสามีมารดาบิดาและพี่ชายซึ่งมาประจวบสิ้นชีวิตในคืนเดียวกัน นางวิ่งไปจนถึงพระมหาวิหารเชตวัน ขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมแก่พุทธบริษัท พวกคนห้ามไม่ให้นางผ่านเข้าไป พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งมิให้ห้าม และได้ตรัสทักขึ้นเมื่อนางเข้ามาใกล้ว่า จงกลับได้สติเถิด นางก็กลับได้สติขึ้นทันที ได้ถวายบังคมแล้ว กราบทูลขอให้พระองค์ทรงเป็นที่พึ่ง และกราบทูลเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นมาโดยตลอด พระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมีกถาให้นางเห็นคติธรรมดา จนนางคลายความโศก และเกิดดวงตาเห็นธรรม แล้วนางได้ทูลขอบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา ได้ทรงอนุญาต นางจึงได้บวชเป็นภิกษุณีมีชื่อว่า ปฎาจารา ต่อมาได้พิจารณาชีวิตเทียบด้วยน้ำล้างเท้าที่ไหลแห้งหายขาดไป ตัดความรักและตัณหาในชีวิตกับสิ่งทั้งหลายได้ทั้งหมด จึงดับความทุกข์ทั้งปวงในโลกได้ แล

ตสฺสา นิโรโธ นิพฺพานํ
ดับตัณหาเสียได้เป็นความดับทุกข์


๕ สิงหาคม ๒๕๐๔

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 18 สิงหาคม 2553
Last Update : 18 สิงหาคม 2553 4:21:40 น. 1 comments
Counter : 550 Pageviews.

 
อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 18 สิงหาคม 2553 เวลา:8:59:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.