Group Blog
 
All Blogs
 
จันทกุมารชาดก - ขันติบารมี



เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันถึงเรื่องพระเทวทัตพยายามที่จะทำลายชีวิตชนเป็นอันมาก แต่ชนเหล่านั้นรอดชีวิตได้ด้วยพุทธบารมี พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องราวที่สนทนาด้วยทิพโสต จึงเสด็จมายังโรงธรรมสภา ตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านนั่งประชุมกันบัดนี้ด้วยเรื่องอะไรหนอ ครั้นเมื่อภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่าด้วยเรื่องนี้ แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตมิใช่แต่ในบัดนี้ ถึงในปางก่อนก็ได้พยายามที่จะฆ่าชนเป็นอันมาก อาศัยเราผู้เดียว เพราะจิตมีเวรในเรา” ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลขอให้แสดงอดีตนิทาน ความโดยสังเขปมีว่า

กาลก่อนเมื่อกรุงพาราณสียังมีชื่อว่าบุปผาวดี พระเจ้าเอกราชาได้เสวยราชสมบัติในเมืองนั้นทรงตั้งพระราชโอรสจันทกุมารไว้ในที่พระมหาอุปราช มีพราหมณ์กัณฑหาลเป็นปุโรหิตทำหน้าที่ตัดสินอรรถคดีต่างๆ พราหมณ์กัณฑหาลมีความโลภ รับสินบนตัดสินคดีความอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนพระมหาอุปราชนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ มีพระทัยตั้งอยู่ในความสุจริตยุติธรรม เป็นที่รักใคร่สรรเสริญของมหาชน ความทราบถึงพระเจ้าเอกราชาจึงทรงมอบหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีความทั้งหมดให้แก่จันทกุมารเพียงผู้เดียว พราหมณ์กัณฑหาลเสียประโยชน์ที่เคยได้รับก็โกรธแค้น พยายามหาเหตุที่จะกำจัดพระมหาอุปราชอยู่มิได้ขาด

ราตรีหนึ่งพระเจ้าเอกราชาทรงพระสุบินว่าได้ทอดพระเนตรเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นบรรทมตื่นก็มีพระประสงค์จะได้เสด็จไปอยู่ในภพนั้นทั้งที่ยังดำรงพระชนม์ รับสั่งให้พราหมณ์กัณฑหาลทำนายพระสุบินนิมิต พราหมณ์กัณฑหาลเห็นโอกาสที่จะกำจัดพระจันทกุมารก็กราบทูลว่า แม้พระองค์มีพระประสงค์จะเสวยทิพยสูรในดาวดึงส์ภพ ต้องประกอบพิธีบูชายัญด้วยบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งได้แก่ พระราชบุตร พระราชธิดา พระมเหสี เศรษฐี ราษฎร์ โคอสุภราช ม้ามโนมัยและสัตว์อื่นๆ อย่างละ ๔ ชีวิต “บรรดาพระราชาผู้ทรงบูชายัญ เมื่อได้บั่นศีรษะแห่งสัตว์ทั้งหลาย มีพระราชบุตรเป็นต้นเหล่านั้นด้วยพระขรรค์ รองโลหิตที่ไหลจากคอด้วยถาดทองคำ ซัดลงในหลุมยัญแล้ว ย่อมเสด็จสู่เทวโลกทั้งพระสรีรกายอันนี้ทีเดียว”

พระเจ้าเอกราชาทรงหลงเชื่อคำกราบทูลยุยง จึงให้เตรียมการขุดหลุมเพลิงใหญ่สำหรับบูชายัญขึ้นภายนอกพระนคร มหาชนทั้งหลายต่างหวาดหวั่นต่อพิธีอันน่าสะพรึงกลัวครั้งนั้น ความทราบถึงพระมหาอุปราชจันทกุมารและพระญาติวงศ์ ต่างพากันกราบทูลอ้อนวอนขอให้พระเจ้าเอกราชาทรงเลิกล้มความตั้งพระทัย ทั้งทูลถึงผลบาปที่จะเกิดจากการทำลายชีวิตผู้อื่นซึ่งจะไม่ส่งผลให้พระองค์ได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นดังที่พราหมณ์กัณฑหาลกราบทูล พระมหาอุปราชทรงตระหนักดีว่ามรณะภัยที่จะเกิดขึ้นแก่พระญาติและชีวิตอื่นๆ ครั้งนี้เป็นเพราะพราหมณ์กัณฑหาลต้องการกำจัดพระองค์เพียงผู้เดียว จึงกราบทูลพระราชบิดาขอให้ยกพระองค์ให้แก่พราหมณ์กัณฑหาลเพื่อแลกกับชีวิตอื่นๆ แต่พระเจ้าเอกราชาก็ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะประกอบพิธีบูชายัญต่อไป

ครั้นถึงวันกำหนด พระโพธิสัตว์ พระญาติพระวงศ์ คหบดีและสัตว์เป็นจำนวนมากก็ถูกนำไปยังบริเวณหลุมเพลิงพิธีบูชายัญ กรรมทุกประการในหลุมยัญทั้งหลายก็สำเร็จลง อำมาตย์ทั้งหลายนำพระราชบุตรมาแล้วให้ก้มพระศอลงนั่งอยู่ กัณฑหาลพราหมณ์น้อมถาดทองคำเข้าไปใกล้ แล้วหยิบดาบมาถือ ยืนอยู่ด้วยจำนงว่า “เราจักตัดพระศอพระราชกุมาร” พระนางจันทาเทวี ชายาของพระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นคำนึงว่า “ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราจักกระทำความสวัสดีของพระสามีด้วยกำลังความสัตย์ของเรา จึ่งประคองอัญชลีดำเนินไประหว่างแห่งที่ชุมนุมแล้วทรงทำสัจกิริยา” ขอให้เทพดาช่วยคุ้มครองให้พระสามีรอดพ้นจากอันตราย



(ท้าวสักกเทวราชทำลายพิธีบูชายัญ มหาชนเกิดโกลาหลวุ่นวาย ประหารพราหมณ์กันฑหาล)

“ลำดับนั้นท้าวสักกเทวราชผู้เป็นราชาแห่งเทวดาสดับเสียงคร่ำครวญของพระนางจันทา ทรงทราบเรื่องราวแล้ว ในทันใดนั้นเทียวฉวยค้อนเหล็กอันโพลงแล้ว เสด็จมาขู่พระราชาให้ปล่อยชนเหล่านั้นทั้งสิ้น” ท้าวสักกเทวราชทรงประกาศว่า หากพระเจ้าเอกราชายังดื้อดึงจะทำพิธีบูชายัญอยู่อีกจะปลงพระชนม์เสียในวันนี้ การกระทำทั้งนี้เกิดจากความโลภอยากได้สมบัติในสวรรค์โดยมิได้คำนึงถึงความทุกข์ของผู้อื่นนับเป็นบาปอย่างยิ่ง ขณะนั้นมหาชนที่มาชุมนุมกันอยู่ก็เกิดวุ่นวายโกลาหล ใช้ก้อนดินทุ่มประหารพราหมณ์กัณฑหาลเสียในที่นั้น แล้วขับไล่พระเจ้าเอกราชาออกจากราชสมบัติ ประกาศให้เป็นคนจัณฑาล บังคับให้ไปอยู่นอกเมือง และอภิเษกพระมหาอุปราจันทกุมารสืบราชสมบัติต่อไป

เมื่อจบเรื่องจันทกุมารแล้ว พระบรมศาสดาทรงประกาศอริยสัจ ๔ และตรัสประชุมชาดกว่า พราหมณ์กัณฑหาลได้มาเป็นพระเทวทัต พระนางจันทาเทวีเป็นพระนางพิมพา ท้าวสักกเทวราชเป็นพระอนุรุทธ และพระจันทกุมารเป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า


ที่มา ภาพและเรื่องสำเนาและคัดลอกจากหนังสือชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
โดย คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
พิมพ์ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

หมายเหตุ สำเนาภาพและบทความในเรื่อง ได้ถูกคัดลอกมาเผยแพร่ด้วยเจตนาจะมุ่งให้เห็นความประณีต วิจิตรบรรจง อันเกิดจากแรงศรัทธาในพระศาสนาของจิตรกรรุ่นบรรพชนผู้สร้าง ซึ่งสร้างตู้ลายพระธรรมรดน้ำเป็นพุทธบูชา เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ผู้ประสงค์จะนำภาพหรือบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าของภาพและเรื่องด้วย



Create Date : 13 มิถุนายน 2553
Last Update : 13 มิถุนายน 2553 5:59:38 น. 2 comments
Counter : 2399 Pageviews.

 
สวัสดีครับ...
เข้ามาอ่านด้วยความสนใจแบบทุกๆครั้งนะครับ


โดย: panwat วันที่: 13 มิถุนายน 2553 เวลา:10:34:04 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

แหล่มจ๊ะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 13 มิถุนายน 2553 เวลา:20:10:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.