Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๕ ทศบารมีและทศพิธราชธรรม

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



พุทธศาสนาทำให้รู้จักบารมีและทศพิธราชธรรม

ได้แสดงที่มาของ ทศพิธราชธรรม ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเล่ามหาหังสชาดก แสดงทศพิธราชธรรม ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก และสำหรับทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ และบารมีสำหรับพระโพธิสัตว์ ที่ได้ทรงบำเพ็ญสั่งสมคุณสมบัติที่เป็น พุทธการกธรรม คือธัมมะที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า สำหรับประเทศไทย คนไทย เมื่อได้รับนับถือพระพุทธศาสนา ได้มีพระเถระผู้มาประกาศพระพุทธศาสนาพร้อมกันเป็นหมู่ แม้ว่าจะเป็นหมู่เล็ก อันจะพึงเรียกได้ว่าเป็นพระสงฆ์ หรือแม้ว่าจะมาเพียงรูปเดียวหรือ ๒ รูปก็ตาม ก็ย่อมจะได้นำพระพุทธศาสนามาสั่งสอน และโดยเฉพาะเมื่อได้จารึกพระพุทธศาสนาเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกขึ้นที่ลังกา ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๔ คัมภีร์ชาดกนี้ก็รวมอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นด้วย และก็ปรากฏว่า ได้มีพระสงฆ์ มีพระเถระจากลังกาเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย เช่นที่แสดงว่ามีพระเถระผู้เป็นปราชญ์มาขึ้นที่นครศรีธรรมราช และก็ได้เดินทางเข้ามาถึงกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นราชธานีในครั้งนั้น ก็ได้นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่ จนถึงปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัย คือพญาลิไท ได้ทรงศึกษารอบรู้ในพระพุทธศาสนา จนถึงทรงรจนา ไตรภูมิพระร่วง ขึ้น ซึ่งเป็นที่นับถือว่า เป็นวรรณคดีเรื่องแรกของคนไทยและก็ทรงผนวชเป็นภิกษุอยู่เป็นเวลาหลายเดือน เพราะฉะนั้น ความรู้จักบารมีและทศพิธราชธรรม ก็น่าจะมีแก่คนไทยทั้งฝ่ายที่เป็นพระ และทั้งฝ่ายที่เป็นฆราวาสมาตั้งแต่ในสมัยเก่าก่อนเหล่านั้น

มีหลักฐานเรื่องชาดกก่อนสมัยสุโขทัย

และก็มีปรากฏในหลักฐาน เช่นเป็นศิลาจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ยังมีเหลืออยู่ถึงในปัจจุบัน แสดงว่าในสมัยนานไกลที่พระพุทธศาสนาเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย เอาเป็นว่าก่อนสมัยสุโขทัย ก็มีหลักศิลาจารึกเรื่องชาดกบำเพ็ญบารมี คือพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีที่แสดงไว้ในชาดกต่างๆ อยู่แล้ว และเมื่อจับแต่สมัยสุโขทัย ความรู้เรื่องพุทธศาสนาก็คงจะมากขึ้น เพราะสมัยเมื่อก่อนแต่นั้นที่เป็นที่เชื่อกันว่า พระโสณะ พระอุตตระ ได้แผ่พระพุทธศาสนามาทางสุวรรณภูมิ ซึ่งไทยเราก็เข้าใจว่านครปฐมเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในสุวรรณภูมิ และอาจจะเป็นเมืองหลวง ท่านทั้ง ๒ ที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่นั้น ครั้งนั้นจะมีคนไทยอยู่ในถิ่นนี้หรือไม่ ก็ยังไม่อาจรับรองกันได้ เพราะว่ามีประวัติที่แสดงว่า คนไทยเราอพยพมาจากเมืองจีนเผ่าไทยน้อยก็มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางนี้ เผ่าไทยใหญ่ก็ไปทางเชียงตุงเป็นต้น ด้านทางใกล้พม่านั้น และถ้าเป็นเช่นนั้น ขณะที่ยังอยู่ที่โน่น พระพุทธศาสนาก็ปรากฏว่าได้แผ่ไปทางโน้นในสมัยต่อจากสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น เพราะฉะนั้น อาจจะรับพุทธศาสนาตั้งแต่ที่โน่นมาแล้ว หรือถ้าหากว่าจะมีคนไทยอยู่ที่นี่บ้างในครั้งนั้น ก็อาจจะได้รับจากสายพระโสณะ พระอุตตระ แต่ในครั้งนั้นยังไม่ได้จารึกพระพุทธวัจนะเป็นตัวอักษร พระเถระที่นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่ ท่านจะจำได้ทั้ง ๓ พระไตรปิฎกหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ก็กล่าวได้แต่เพียงว่า ท่านจำมาได้เท่าไหร่ รู้มาเท่าไหร่ ท่านก็มาเผยแพร่ได้เท่านั้น ถ้าหากว่าท่านอาจจำมาได้หมด ก็คงอาจจะเผยแพร่ได้หมด ถ้าจำมาไม่หมด ก็คงจะเผยแพร่ได้เท่าที่จำได้ เพราะฉะนั้น ท่านจะเผยแพร่มาได้จนถึงคัมภีร์ชาดกต่างๆ หรือไม่ ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ว่าสมัยเมื่อได้จารึกพระไตรปิฏกเป็นตัวอักษรแล้ว และพระเถระลังกาท่านก็ขยันมาแผ่ศาสนาเหมือนกัน เมื่อท่านมากับคัมภีร์ ท่านก็อาจที่จะเผยแพร่ได้หมดทั้งทางพระวินัย ทั้งทางพระสุตตันต ทั้งทางพระอภิธรรม ดังที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย ซึ่งก็มีอภิธรรมปนอยู่เป็นอันมาก แสดงว่าพระองค์ผู้ทรงรจนานั้นได้ทรงมีความรู้พระไตรปิฏกตลอดถึงอภิธรรม

ในอดีตมีความนับถือบารมียิ่งกว่าราชธรรม

แต่ว่าเมื่อแยกเอาจำเพาะบารมีกับทศพิธราชธรรม ก็สรุปกล่าวได้ว่า ทศพิธราชธรรมนั้นได้เป็นที่รู้จักและปฏิบัติกันมา ในสมัยอยุธยานั้นมีลายลักษณ์อักษรปรากฏแน่นอน แต่ในสุโขทัยก็น่าจะได้ทราบและได้ปฏิบัติมาแล้ว ส่วนบารมีนั้นได้เป็นที่รู้จักกันมาก่อนนั้น ได้มีศิลาจารึกเรื่องพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ก็แปลว่าได้มีความรู้เรื่องชาดกต่างๆ กัน แต่ว่าจะรู้ทั้งหมดถึง ๕๐๐ กว่าเรื่องหรือไม่ก็ไม่อาจจะทราบได้ และจะรู้ได้ตลอดจนถึงชาดกที่มีทศพิธราชธรรมนี้ด้วยหรือไม่ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ว่ากล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์ผู้ครองประเทศไทยได้ปฏิบัติทศพิธราชธรรมมาช้านาน และในขณะเดียวกันก็ทรงปฏิบัติในพระบารมีทั้ง ๑๐ นั้นด้วย และก็เป็นที่นับถือพระมหากษัตริย์ว่าเป็นเหมือนอย่างพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ซึ่งบำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิ ความนับถือพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนอย่างพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งดังกล่าวนี้ได้มีมาช้านาน และก็แสดงว่า ได้นับถือบารมี ๑๐ นี้ยิ่งกว่าทศพิธราชธรรม คือพระมหากษัตริย์เองก็ทรงนับถือบารมีว่า จะพึงต้องทรงปฏิบัติเพื่อพุทธภูมิยิ่งกว่าทศพิธราชธรรม ได้เป็นมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้

การปฏิบัติหนักไปในทางราชธรรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔

มาถึงรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงเป็นปราชญ์พระองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ได้ทรงผนวชอยู่ในพุทธศาสนาเป็นเวลานานปี ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถาฎีกาทั้งหลาย ได้ทรงปรับปรุงความประพฤติของพระภิกษุสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ และทรงปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะกรรมฐาน กรรมฐานที่สอนกันว่าให้บริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ ก็ปรากฏในหนังสือพระราชประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงปฏิบัติ จนถึงเวลาจะสวรรคตก็ทรงปฏิบัติบทนี้ ดังที่มีเขียนไว้ในจดหมายเหตุตอนสวรรคตว่า ในราตรีที่จะเสด็จสวรรคตนั้น ได้ทรงบรรทมเบื้องขวา และก็มีผู้ได้ยินเสียงทรงบริกรรมดังๆ ว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพระสุรเสียงนั้นเบาเข้าๆ จนสงบหยุด เสด็จสวรรคต เพราะฉะนั้น ก็กล่าวได้ว่า แบบภาวนาพุทโธนี้ เป็นแบบที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงปฏิบัติอยู่และเมื่อทรงผนวชก็เป็นพระอาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระอาจารย์กรรมฐานที่ออกไปตั้งคณะปฏิบัติในภาคอีสานเป็นต้น ซึ่งพระเถระฝ่ายธรรมยุตที่ภาคอีสานก็ได้ปฏิบัติใช้บริกรรม หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ นี้ เรียกว่า พุทโธ พุทโธ นี้เป็นหลักกันอยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า พระอาจารย์กรรมฐานพระองค์แรกที่ทรงสอน ก็คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อทรงผนวชอยู่ก็ทรงเป็นอุปัชฌาจารย์ของพระเถระภาคอีสาน ที่ออกไปตั้งคณะปฏิบัติทางภาคอีสานดังกล่าว มาตั้งแต่ในครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ นั้น และก็ปฏิบัติสืบกันมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เองได้ทรงพระราชนิพนธ์บทสวดภาษาบาลีต่างๆ ไว้เป็นอันมาก เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ ที่เราสวดกันอยู่ และยังพระราชนิพนธ์เรื่องภาษาบาลีที่เป็นประวัติศาสตร์ไว้ก็มี จดหมายเหตุต่างๆ ก็มี และมีอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ทรงไว้ว่า ไม่ได้ทรงปรารถนาพุทธภูมิ เพราะเมื่อตั้งความปรารถนาขึ้นก็ทำให้ฟุ้งซ่าน เพราะเป็นตัณหาฟุ้งซ่าน ดั่งนั้น ก็ทรงปรารถนาเพื่อจะปฏิบัติเพื่อธรรมที่สุดทุกข์เท่าที่จะพึงเป็นไปได้ พระมหากษัตริย์ที่สืบพระราชสันติวงศ์ต่อมาจึงได้ปฏิบัติหนักไปในทางทศพิธราชธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงปฏิบัติบารมีธรรม แม้ไม่ปรารถนาพุทธภูมิ ก็ปฏิบัติบารมีธรรมประกอบไปด้วย

ความนิยมว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์

และเพราะเหตุที่ได้มีความนิยมกำหนดว่า พระมหากษัตริย์เมื่อเป็นพระมหากษัตริย์ขึ้นแล้ว ก็เหมือนอย่างเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อพระโพธิญาณ ซึ่งความนิยมดั่งนี้เป็นมานานดังที่กล่าวมาข้างต้น เพราะฉะนั้นจึงได้มีถ้อยคำที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น มีคำว่า พุทธ พุทธ ประกอบอยู่ด้วยเช่นคำกราบบังคมทูล ที่หมายถึงบุคคลผู้กราบบังคมทูลเองก็ใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า คำรับก็พระพุทธเจ้าข้า รัชกาลที่ ๕ ก็ถวายพระนามว่า พระพุทธเจ้าหลวง เมื่อได้ทรงสร้างพระพุทธรูปถวายรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ก็ได้ถวายนามพระพุทธรูปว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สำหรับรัชกาลที่ ๑ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย สำหรับรัชกาลที่ ๒ เป็นนามของพระพุทธรูปซึ่งบัดนี้ได้ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเข้าไปหันหน้าไปทางพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต พระยืนทรงเครื่ององค์ใหญ่ที่ประทับอยู่ทางด้านขวามือ หรือด้านทิศเหนือ ก็คือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ประดิษฐานทางด้านซ้ายมือหรือด้านทิศใต้ก็คือพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นนามพระพุทธรูป และก็ได้โปรดให้นำนามพระพุทธรูปนี้มาเป็นพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๑ และในรัชกาลที่ ๒ ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อพูดว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็เป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ ๑ เมื่อพูดว่าพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เข้าใจว่าเป็นรัชกาลที่ ๒ พระนามของพระพุทธรูปทั้ง ๒ นี้ ก็มาเป็นพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ รัชกาล คือ ที่ ๑ และที่ ๒ นั้น และนอกจากนี้ยังได้นำคำว่าบารมีมาใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ เช่น “ทรงเปี่ยมด้วยพระบารมี” “มีพระบารมีเป็นที่พึ่ง” “พระบารมีแผ่ไพศาล” เหล่านี้เป็นต้น และคำอื่นๆ ก็เป็นความนิยมของประเทศไทยเรา ของคนไทยเราที่ได้เทิดทูนยกย่ององค์พระมหากษัตริย์มาตั้งแต่เก่าก่อน และก็เป็นประโยชน์ที่ทำให้องค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงสำนึกพระองค์ว่า เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์หรือเป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ ก็จะต้องทรงบำเพ็ญบารมี มีทานศีลเป็นต้น แก่ประชาชน และโดยเฉพาะก็จะต้องทรงยกย่องรักษาพระพุทธศาสนา อุปถัมภ์บำรุงรักษาพระสงฆ์ ตลอดจนถึงวัดวาอารมทั้งหลาย ว่าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ก็จะต้องทรงทิ้งพระพุทธศาสนาไม่ได้ จะต้องทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา รักษาพระพุทธศาสนา ตลอดจนถึงพระสงฆ์วัดวาอาราม ทุกๆ อย่างที่เนื่องด้วยพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่าวัดวาอารามที่เป็นหลักฐาน มีความมั่นคงงดงามในพุทธศาสนา ย่อมเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง หรือทรงอุปถัมภ์บำรุงเป็นส่วนใหญ่และพระสงฆ์ที่รวมกันอยู่เป็นสังฆสามัคคีตามพระธรรมวินัย ก็เพราะมีพระมหากษัตริย์ได้ทรงอุปถัมภ์ ทรงแต่งตั้งเจ้าคณะปกครองสงฆ์ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา และทรงฟื้นฟูพระธรรมวินัย ทรงออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย และเพื่อให้พระสงฆ์ได้ประกาศพระพุทธศาสนา สั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ตลอดจนถึงเป็นครูอาจารย์ประสาทศิลปวิทยาแก่กุลบุตรทั้งหลาย และทรงทำการสังคายนาพระธรรมวินัย จารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พิมพ์เป็นหนังสือเป็นต้น และพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ทรงเป็นปราชญ์ในพุทธศาสนา ก็ทรงรจนาหนังสือทางพุทธศาสนา ดังเช่นพญาลิไทรจนาไตรภูมิพระร่วงในครั้งกรุงสุโขทัย เพราะฉะนั้นถวายให้พระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมีก็เป็นประโยชน์ดั่งนี้ และเมื่อทรงบำเพ็ญพระบารมีนั้น ก็เป็นอันว่าได้ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมไปด้วยกัน เพราะธัมมะทั้งคู่นี้ก็มีข้อธรรมที่ตรงกันบ้าง ต่างกันบ้างโดยพยัญชนะ แต่โดยเนื้อความแล้วก็เข้ากันได้ทุกข้อ แต่ว่าทางบารมีนั้น มุ่งพระโพธิญาณสำหรับพระโพธิสัตว์ ทศพิธราชธรรมนั้นมุ่งสำหรับปกครองประชาชนปกครองบ้านเมือง

๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ





Create Date : 09 มิถุนายน 2554
Last Update : 9 มิถุนายน 2554 11:48:23 น. 1 comments
Counter : 1048 Pageviews.

 
ธรรมะสวัสดีค่ะคุณพี่นาถ..

แวะมาอ่านหนังสือดีดีทศบารมีของสมเด็จพระญาณสังวรด้วยค่ะ

พี่นาถสบายดีนะค่ะ

ช่วงนี้ฝนตกบ่อยๆรักษาสุขภาพด้วยค่ะ



โดย: คนผ่านทางมาเจอ วันที่: 9 มิถุนายน 2554 เวลา:13:13:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.