Group Blog
 
All Blogs
 
เตมีย์ชาดก - เนกขัมมบารมี



เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารถมหาภิเนกขัมมบารมี (การออกบวช) ภิกษุทั้งหลายประชุมอยู่ในโรงธรรมสภา สนทนากันถึงคุณแห่งการเสด็จออกบรรพชาของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงสดับด้วยทิพโสต จึงเสด็จมายังโรงธรรม ตรัสถึงเนกขัมมบารมีที่ได้ทรงปฏิบัติมาในอดีตชาติ ความโดยย่อมีดังนี้

ในอดีตกาลพระเจ้ากาสิกราชแห่งนครพาราณสี ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความสุจริตยุติธรรม มีพระราชโอรสองค์หนึ่งนามว่า “เตมียกุมาร” ทรงเป็นที่รักใคร่ของพระราชบิดายิ่งนัก แม้เวลาเสด็จออกว่าราชการก็ให้พระราชโอรสประทับบนพระเพลาด้วย วันหนึ่งราชบุรุษนำโจรทั้งสี่มายังหน้าพระที่นั่ง พระเจ้ากาสิกราชทรงพิพากษาโทษให้ลงพระราชอาญา เอาหวายทั้งหนามเฆี่ยนนายโจรคนหนึ่งจำนวน ๑,๐๐๐ ครั้ง คนหนึ่งให้จำด้วยโซ่ตรวน คนหนึ่งให้แทงด้วยหอกและอีกคนหนึ่งในเสียบด้วยหลาว พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังคำพิพากษาก็สะดุ้งพระทัย ดำริว่าหากพระองค์ทรงเจริญวัยขึ้นและได้ราชสมบัติ ก็คงต้องพิพากษาอรรถคดีต่างๆ และลงอาญาผู้กระทำความผิดดังเช่นพระราชบิดา อันจะนำพระองค์ไปสู่อบายภูมิ “หากว่าเราครองราชสมบัติก็จักบังเกิดในนรกเสวยทุกข์ใหญ่อีก พระสรีรกายของพระมหาสัตว์ซึ่งมีพรรณดุจทองคำ ก็มีพรรณอันเศร้าเหี่ยวเช่นกับดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือเหี่ยวไปฉะนั้น”

ฝ่ายนางเทพธิดารักษาเศวตฉัตรซึ่งเคยเป็นมารดาของพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติก็แสดงตนให้ปรากฏและกล่าวเป็นคาถาว่า

มา ปณฺฑิจฺจยํ วิภาวย
พาลมโต ภว สพฺพปาณินํ
สพฺโพตญฺชโน โอจินายตุ
เอวํ ตว อตฺโถ ภวิสฺสติ ฯ


ความว่า พ่ออย่าแสดงความที่พ่อเป็นคนฉลาด จงให้ชนทั้งหลายรู้กันว่าพ่อเป็นคนเขลา ชนในที่นั้นๆ ทั้งหมดจะได้ดูหมิ่นพ่อว่า เป็นคนกาลกรรณี ความปรารถนาของพ่อจะสำเร็จด้วยอุบายอย่างนี้

ด้วยความหวาดกลัวภัยในภพหน้า เตมียกุมารจึงตั้งปณิธานว่า จะไม่ทรงกันแสงหรือตรัสกับผู้ใด แม้ร่างกายจะเหือดแห้งสิ้นชีวิตก็ตาม พระราชบิดาได้ทรงทราบอาการของพระราชโอรสก็ทรงปริวิตกพยายามหาวิธีแก้ไขก็ไม่สำเร็จ เช่น เมื่อพระราชโอรสพระชนม์ได้ ๔ พรรษา อำมาตย์กราบทูลว่า ทารกทั้งหลายที่อยู่ในวัยนี้ย่อมกลัวไฟ จึงให้ปลูกเรือนมุงด้วยใบตาลที่พระลานหลวง นำพระโพธิสัตว์ไปประทับไว้ท่ามกลางเหล่าทารกแล้วก็จุดไฟขึ้น “ทารกทั้งปวงเห็นเรือนอันลุกโพลง ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งร้องวิ่งหนีออกไป ส่วนพระบรมโพธิสัตว์ทรงจินตนาการว่า ความร้อนนี้ประเสริฐกว่าไหม้อยู่ด้วยไฟนรก พระองค์เป็นเหมือนมหาเถระถึงพร้อมด้วยนิโรธสมาบัติ ไม่หวั่นไหวเทียว ครั้นเมื่อเพลิงลุกลามมาถึง ชนทั้งหลายก็เข้าอุ้มพระองค์หลีกไปให้พ้นอันตราย”



(เตมียกุมารประทับนั่งบัลลังก์ พระราชบิดาทรงให้ทดลองนำงูพิษมาข่มขู่)



(พระราชบิดาทรงให้จัดสตรีมาแวดล้อมบำเรอ)

พระราชบิดาทรงให้ทดลองด้วยวิธีต่างๆ โดยลำดับ เมื่อพระโพธิสัตว์พระชนม์ได้ ๗ พรรษา ทรงให้นำงูพิษมาข่มขู่ พระราชกุมารก็ไม่ทรงสะดุ้งพระทัยหรือแสดงอาการหวาดกลัวแต่อย่างใด จนพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา จึงจัดสตรีรูปงามมาแวดล้อมบำเรอ หมายให้พระโพธิสัตว์ทรงลุ่มหลงในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส แต่ก็ไม่สำเร็จ

พระเจ้ากาสิกราชทรงให้พราหมณ์ทำนายลักษณะของพระราชโอรส พราหมณ์กราบทูลว่าพระราชกุมารเป็นกาลกิณี “เมื่อพระราชกุมารอยู่ในราชคฤหสถานนี้อันตราย ๓ อย่างย่อมบังเกิด คืออันตรายแห่งชีวิต อันตรายแห่งเศวตฉัตร อันตรายแห่งพระอัครมเหสี เพราะฉะนั้นควรพระองค์อย่าได้เนิ่นช้า โปรดให้เตรียมรถอวมงคล ม้าอวมงคลแล้วยังพระโอรสนั้นให้บรรทมบนนั้น นำออกไปโดยทวารปัจจิมทิศ ฝังเสียที่สุสานอันสำหรับฝังผีดิบ” ฝ่ายพระราชมารดาเมื่อได้ทราบดังนั้นก็ทรงโศกาดูร ทูลวิงวอนขอพระราชทานอภัยให้พระโอรส แต่พระเจ้ากาลิกราชไม่ทรงอนุญาต ในที่สุดพระนางทูลขอให้พระราชกุมารได้ครองราชสมบัติเพียง ๗ วัน พระเจ้ากาลิกราชก็โปรดให้ตามที่ทูลขอ



(เตมียกุมารทรงยกราชรถทดสอบกำลังพระวรกาย)

ครั้นครบกำหนด นายสุนันทสารถีก็รับพระราชโองการ นำพระโพธิสัตว์ขึ้นประทับบนรถ คิดว่าจะไปทางประตูด้านตะวันตก แต่เทพยดาดลใจให้รถออกจากเมืองทางประตูทิศตะวันออก เมื่อถึงป่าช้าผีดิบแล้ว นายสุนันนทสารถีก็ขุดหลุมเตรียมจะฝัง ปล่อยให้เตมียกุมารบรรทมอยู่บนรถตามลำพัง ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงดำริในพระทัยว่า พระองค์แสร้งกระทำเป็นเสียกิริยามานานถึง ๑๖ ปี กำลังพระวรกายจะยังปกติอยู่หรือไม่ “จึงทรงจับท้ายรถยกขึ้นประทับยืนกวัดแกว่งไปมาดุจจับยานเครื่องเล่นของเด็กทั้งหลาย ยกขึ้นกวัดแกว่งไปมาฉะนั้น”



(เตมียกุมารทรงสนทนากับสุนันทสารถี)

ขณะนั้นท้าวสักกเทวราชทรงทราบเหตุว่า พระโพธิสัตว์ทรงบรรลุในสิ่งที่ปรารถนาแล้ว จึงให้วิสสุกรรมเทวบุตรเนรมิตเครื่องประดับนำมาถวาย จากนั้นเตมียกุมารเสด็จดำเนินไปยังที่นายสุนันทสารถีกำลังขุดหลุมอยู่แล้วทรงสนทนาด้วย จนนายสารถีรู้ว่าเป็นพระราชโอรสก็ทูลเชิญให้เสด็จกลับพระราชนิเวศ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ นายสุนันทสารถีจึงไปกราบทูลพระราชบิดาและพระราชมารดาให้ทรงทราบ ทั้งสองพระองค์ต่างทรงยินดี เสด็จไปยังที่ประทับของพระโพธิสัตว์ ทรงอ้อนวอนขอให้พระราชโอรสกลับไปครองราชสมบัติ แต่เตมียกุมารทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะผนวชเป็นฤาษี จึงแสดงธรรมโปรดพระราชบิดาและพระราชมารดาจนเกิดความเลื่อมใส สละราชสมบัติออกผนวชในสำนักของพระโพธิสัตว์

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องเตมียกุมารจบแล้ว จึงตรัสประชุมชาดกว่า “นางเทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เศวตฉัตร เป็นนางภิกษุณีชื่ออุบลวัณณา นายสุนันทสารถีเป็นภิกษุชื่อสารีบุตร ท้าวสักกเทวราชเป็นภิกษุชื่ออนุรุทธ พระเจ้ากาสิกราชผู้พระชนกแลพระนางจันทเทวีผู้พระชนนีแห่งเตมียกุมารเป็นมหาราชสกุล บริษัทนอกนี้เป็นพุทธบริษัท แต่บัณฑิตผู้ดุจใบ้แลง่อยเปลี้ยเป็นเราผู้สัมมาสัมพุทธ ดังนี้แล”


ที่มา ภาพและเรื่องสำเนาและคัดลอกจากหนังสือชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
โดย คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
พิมพ์ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

หมายเหตุ สำเนาภาพและบทความในเรื่อง ได้ถูกคัดลอกมาเผยแพร่ด้วยเจตนาจะมุ่งให้เห็นความประณีต วิจิตรบรรจง อันเกิดจากแรงศรัทธาในพระศาสนาของจิตรกรรุ่นบรรพชนผู้สร้าง ซึ่งสร้างตู้ลายพระธรรมรดน้ำเป็นพุทธบูชา เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ผู้ประสงค์จะนำภาพหรือบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าของภาพและเรื่องด้วย



Create Date : 05 พฤษภาคม 2553
Last Update : 9 พฤษภาคม 2553 6:20:41 น. 2 comments
Counter : 2747 Pageviews.

 
สวัสดีในวันที่ความร้อนแรงเริ่มคลี่คลาย..

พระเตมียกุมาร ทรงเป็นตัวอย่างในเรื่องการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี อย่าชนิที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันเลยทีเดียว ปอชอบอ่านนิทานชาดกมากๆ ค่ะ

ปอแวะมาเสิร์ฟกาแฟค่ะ

ขอให้เป็นอีกวันที่ดีๆ นะคะ งุงิ ^ ^


โดย: Butterflyblog วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:06:03 น.  

 


โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 16 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:21:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.