Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๕ ลักษณะพุทธศาสนา - วัฏฏะของกิเลส

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงสิ่งที่เรียกว่าปรุงแต่ง อันคู่กับไม่ปรุงแต่ง ส่วนซึ่งเกี่ยวกับเรื่องปรุงแต่งนั้นก็มาถึงวัฏฏะคือวน ๓ ได้แก่กิเลส กรรม และวิบาก ซึ่งเป็นวัฏฏะคือความวนที่สัตวโลกย่อมวนอยู่ในกิเลสกรรมและวิบาก ทั้งที่เป็นความวนส่วนหยาบ ทั้งที่เป็นความวนส่วนละเอียด และจิตนี้ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าเป็นธาตุรู้ แต่เมื่อยังอยู่ในความปรุงแต่งก็เป็นธาตุรู้ที่ยังมิได้อบรม หรือว่าอบรม แต่ว่ายังไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นจึงยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ อันหมายความว่าไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ยังเป็นความรู้ที่ไม่จริง ฉะนั้นจึงยังเป็นตัวอวิชชาคือตัวไม่รู้ในความจริง หรือรู้ไม่จริง เพราะฉะนั้นจึงต้องปรุงแต่งไปต่างๆ แต่ก็ได้กล่าวแล้วว่าเป็นธาตุรู้ ฉะนั้นเมื่อปรุงแต่งไปก็ย่อมได้ความรู้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นแม้จะยังต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นความปรุงแต่งที่เป็นวัฏฏะอยู่ดังกล่าวนั้น จึงเป็นความเวียนว่ายที่กล่าวได้ว่าเพื่อศึกษา คือเพื่อเพิ่มเติมความรู้อยู่เสมอ

รู้จักทุกข์ และเหตุเกิดทุกข์

ฉะนั้นหากจะมีปัญหาว่าคนเราเกิดมาทำไม ก็อาจจะตอบได้อย่างหนึ่ง ว่าเกิดมาเพื่อศึกษาคือเพื่อความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป อันความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไปนั้นก็คือความรู้ที่เข้าถึงสัจจะ อันเป็นตัวความจริง กล่าวได้ว่าทุกคนจึงมีความรู้เข้าถึงความจริง ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ แม้ว่าในเบื้องต้นจะยังเป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้อง แต่ว่าก็พอจะจับหลักได้ถูก คือจับหลักได้ถูกว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และเมื่อได้ประกอบในเหตุอันเป็นเหตุให้เกิดผล จึงได้รับผลซึ่งเกิดจากเหตุอันประกอบนั้นบ่อยเข้าๆ ก็ทำให้จับความจริงได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ว่าอะไรเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นตัวทุกข์จริงยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ดังเช่นทุกคนต้องการความสุขและต้องการเหตุให้เกิดสุข เพราะฉะนั้นจึงได้แสวงหาความสุขกันต่างๆ คือว่าประกอบเหตุที่เห็นว่าจะทำให้เกิดความสุขกันต่างๆ ซึ่งคำว่าความสุขและเหตุให้เกิดสุขนี้ก็เป็นการกล่าวในทางที่กลับกันกับทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์นั้นเอง คือว่าในการกล่าวว่าทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์นั้น อาจจะเรียกว่าเป็นการกล่าวยกผลในทางแง่ร้ายขึ้นเป็นที่ตั้งก็ได้ ส่วนการกล่าวว่าความสุขและเหตุให้เกิดสุขนั้น เป็นการกล่าวที่เรียกว่ายกผลในแง่ดีขึ้นมาก็ได้ แต่ว่าจะยกผลในแง่ดีหรือยกผลในแง่ร้ายดังกล่าวก็ตาม อรรถคือเนื้อความก็เป็นอย่างเดียวกัน เหมือนอย่างว่ามีแก้วอยู่แก้วหนึ่ง และมีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว อาจจะกล่าวว่าแก้วนี้มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วก็ได้ อาจจะกล่าวว่าแก้วนี้มีน้ำพร่องอยู่ครึ่งแก้วก็ได้ ซึ่งผลก็เป็นอันเดียวกัน คือว่าคงมีน้ำอยู่ครึ่งแก้วนั่นเอง จะเรียกว่าเต็มอยู่ครึ่งแก้วหรือว่าพร่องอยู่ครึ่งแก้วก็ได้ ฉะนั้นแม้จะกล่าวว่าทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ หรือสุขและเหตุให้เกิดสุข อรรถแม้ถ้อยคำจะตรงกันข้าม แต่ก็ชี้ให้เห็นเหตุผลเป็นอันเดียวกัน เพราะว่าเมื่อรู้จักทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ และปฏิบัติดับเหตุให้เกิดทุกข์นั้น ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นตัวความสุขที่ตรงกันข้ามกับความทุกข์นี้เอง หรือว่ารู้จักสุขและเหตุให้เกิดสุข ปฏิบัติในเหตุให้เกิดสุขนั้น ก็ได้ความสุข ดั่งนี้ก็หมายความว่าไม่มีทุกข์ซึ่งตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าที่กล่าวว่าสุขก็ตรงกันข้ามกับทุกข์ เมื่อกล่าวว่าสุขก็หมายความว่าไม่มีทุกข์ หรือกล่าวว่าทุกข์ก็ตรงกันข้ามกับคำว่าสุข เมื่อกล่าวว่าพ้นทุกข์ก็คือว่ามีความสุขนั้นเอง ความก็เป็นอันเดียวกัน จะกล่าวในทางยกเอาแง่ดีขึ้นว่า หรือจะยกเอาแง่ร้ายขึ้นว่าก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าข้อสำคัญนั้นอยู่ที่การปฏิบัติ การปฏิบัติในเหตุให้เกิดสุข หรืออีกอย่างหนึ่งการปฏิบัติดับเหตุให้เกิดทุกข์ ก็คงได้พ้นความทุกข์หรือได้ความสุขเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นธาตุรู้นี้เมื่อได้ปฏิบัติไปๆ และได้เสวนากับบัณฑิตคือคนดีซึ่งเป็นผู้ฉลาดรู้ ที่ให้คำแนะนำสั่งสอนให้ใคร่ครวญพิจารณา ก็ย่อมจะจับความจริงได้โดยลำดับว่าอะไรเป็นตัวทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อเกิดบ่อยๆ เข้าและได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ มากเข้าได้มีการเสวนาคือคบหากับบรรดาผู้รู้ผู้ฉลาดมากขึ้น ก็ทำให้จิตนี้ได้รับการอบรม และได้ปัญญาคือความรู้ทวีมากขึ้นทุกทีๆ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าเกิดมาก็เพื่อศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความฉลาดยิ่งขึ้น และเพื่ออบรมจิตยิ่งขึ้นนั้นเอง และการที่ต้องมีความวนอันเป็นความวนเวียนอยู่นี้ จิตที่ต้องประสบกับความเวียนเกิดเวียนตาย ประสบกับวัฏฏะคือความวนทั้ง ๓ ดังกล่าวมานั้นมากขึ้นๆ ก็ได้ความฉลาดและความรู้มากขึ้น ว่านั่นเป็นตัวทุกข์ นั่นเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์

นิพพาน - ความดับวัฏฏะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงศึกษาเพื่อพระโพธิญาณ คือเพื่อความหยั่งรู้ในสัจจะคือความจริงให้ยิ่งขึ้นโดยลำดับนั้นเอง และก็ได้ทรงปฏิบัติละบาปอกุศลทุจริต ประพฤติอยู่ในบุญกุศลสุจริตในทางไตรทวาร คือกายวาจาใจยิ่งขึ้นๆ อันนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลเป็นบารมีที่ได้ทรงปฏิบัติยิ่งขึ้นๆ จนถึงได้ทรงพบทางที่เป็นมัชณิมาปฏิปทา คือมรรคที่เป็นองค์ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นชอบเป็นที่สุด จึงได้พระโพธิญาณ คือได้ตรัสรู้พระธรรม ก็คือวิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งโพลงขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ โดยความก็คือว่าความที่ต้องวนเวียนอยู่ในกิเลสในกรรมและในวิบากคือผลอันเป็นวัฏฏะทั้ง ๓ นั้นเป็นตัวความทุกข์ อันมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากคือตัวกิเลสนี่แหละเป็นตัวเหตุ วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งได้แทงตลอดลงไป จนถึงทรงพบตัณหานุสัย ตัณหาที่เป็นอนุสัยคือที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน วิชชาความรู้แจ่มแจ้งจึงโพลงตลอด อวิชชาความไม่รู้ก็ดับไปหมด เมื่อเป็นดั่งนี้ ตัณหานุสัยพร้อมทั้งกิเลสทั้งปวงก็ดับไปหมดสิ้น ก็เป็นอันว่าได้ทรงตัดกิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส เมื่อตัดวัฏฏะวนคือกิเลสเสียได้ ก็เป็นอันว่าตัดกรรมตัดวิบากคือผลได้ เพราะฉะนั้นจึงทรงเป็นผู้หักวัฏฏะผู้หักวน หยุดวน เมื่อเป็นผู้หยุดวนแล้ว ก็เป็นอันว่านั่นแหละคือตัวอสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุง จิตก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์เต็มที่ปราศจากกิเลสกรรมวิบากด้วยประการทั้งปวง เป็นจิตที่หยุด เป็นจิตที่สงบ และเมื่อเป็นจิตที่หยุดเป็นจิตที่สงบดั่งนี้ จิตนี้ก็เป็นจิตที่อบรมดีแล้ว เป็นจิตที่ไม่มีกิเลสแล้ว สิ้นความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง อันนี้แหละเป็นตัวอสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุง เป็นตัววิสังขาร มีสังขารไปปราศแล้ว ซึ่งเรียกว่า “นิพพาน” ก็คือจิตที่บริสุทธิ์เป็นอย่างยิ่งนั้นเอง ปราศจากกิเลสทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงทรงประสบอสังขตธรรม ธัมมะที่ไม่มีปัจจัยปรุง ก็คือจิตสิ้นกิเลสด้วยประการทั้งปวง เป็นจิตที่หยุดเป็นจิตที่ไม่หมุนไม่วนไม่ปรุงไม่แต่ง อันนี้แหละจึงไม่เกิดอีก และเมื่อวิบากขันธ์คือขันธ์ที่อาศัยอยู่ อันเป็นชาติสุดท้ายของพระองค์แตกสลาย ดั่งที่เรียกว่าดับขันธปรินิพพาน จึงไม่เกิดอีกต่อไป แต่ก็ไม่ดับสูญ เพราะว่าสภาพที่หยุดไม่ปรุงแต่งต่อไปนั้น เป็นสภาพธรรมอันเรียกว่าธาตุแท้ซึ่งเป็นตัวดำรงอยู่ และธาตุแท้ซึ่งเป็นตัวดำรงอยู่นี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีถ้อยคำอันเป็นสมมติบัญญัติที่จะเรียก ไม่เรียกว่าจิต ไม่เรียกว่าอัตตาตัวตน และไม่เรียกว่าอะไรทั้งหมด เข้าสู่ความเป็นสภาพธรรมหรือสภาพที่เป็นธาตุแท้ ที่หยุดที่ไม่ปรุงแต่งทั้งหมด ดั่งนี้คืออสังขตธรรมหรือวิสังขารในพุทธศาสนา พ้นสมมติบัญญัติด้วยประการทั้งปวงและไม่เกิดอีก และก็เป็นสิ่งที่ไม่สูญไม่สิ้นไป

เพราะฉะนั้นเมื่อมีภิกษุกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านจึงกล่าวว่าความเห็นเช่นนั้นเป็นความเห็นผิด เพราะว่าอะไรเป็นพระอรหันต์ ขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้ก็เป็นขันธ์ ๕ ไม่ใช่พระอรหันต์ และพระอรหันต์ก็ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แต่ว่าเมื่อพระอรหันต์ยังดำรงอยู่ พระอรหันต์ก็อาศัยอยู่ในขันธ์ ๕ นี้ และเมื่อขันธ์ ๕ นี้แตกสลาย พระอรหันต์ก็ไม่แตกสลาย เพราะพระอรหันต์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เมื่อพระอรหันต์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พระอรหันต์จึงไม่แตกสลายไปตามเบญจขันธ์ที่แตกสลายไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นการกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญจึงไม่ถูก และก็ไม่ควรแก่ถ้อยคำที่จะพูดทั้งนั้น จะว่าเกิด จะว่าไม่เกิด จะว่าเกิดก็ไม่ใช่ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ดั่งนี้ก็ไม่ถูกทั้งนั้น เพราะไม่ควรที่จะพูดถึงด้วยสมมติบัญญัติอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าถอนธรรมทั้งปวงขึ้นหมดสิ้นแล้ว นี้เป็นคติในพุทธศาสนาซึ่งแสดงดั่งนี้ และตามที่กล่าวมานี้ก็จะพึงเห็นได้ ว่าคติในพุทธศาสนานั้นไม่แสดงว่าตายเกิด ไม่แสดงว่าตายสูญ ถ้าตายเกิดก็แสดงว่าเมื่อขันธ์ ๕ อันนี้แตกสลาย ยังมีอัตตาคือตัวตนที่ไม่ตายซึ่งจะไปเกิดในภพชาติใหม่อีกต่อไป เป็นไปอยู่ดั่งนี้ไม่มีทิ่สิ้นสุด ความเห็นเช่นนี้เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง แต่อีกด้านหนึ่งที่ตรงกันข้ามเห็นว่าตายสูญ คือเห็นว่ามีอัตตาตัวตนอยู่ในชาตินี้เท่านั้น เมื่อเบญจขันธ์อันนี้แตกสลายไป อัตตาคือตัวตนก็แตกสลายไปด้วย ดั่งนี้เรียกว่าตายสูญ พุทธศาสนานั้นไม่มีวาทะว่าตายเกิดหรือตายสูญดั่งนี้ แต่ว่ามีวาทะที่แสดงตามเหตุและผล คือแสดงว่าเมื่อยังมีเหตุให้เกิดก็เกิด แต่ว่าเมื่อสิ้นเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด แต่ว่าเมื่อสิ้นเหตุให้เกิดแล้วดังพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เมื่อเบญจขันธ์นี้ดับไปแล้วก็ไม่สูญ เพราะว่าภาวะที่เป็นพระอรหันต์นั้นไม่ใช่ขันธ์ ๕ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ว่าเมื่อไม่มีเหตุให้เกิดอีก ก็ไม่มีที่ตั้งของสมมติบัญญัติที่จะเรียกว่าอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่กล่าวได้ว่ามีเป็นสภาพธรรมคือธาตุแท้ อันเป็นอสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุงอันดำรงอยู่

มรรคมีองค์ ๘ เป็นยอดของสังขตธรรม

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงแก่พระเบญจวัคคีย์ เมื่อเสด็จไปจะทรงแสดงปฐมเทศนาโปรด ว่าพระองค์ทรงบรรลุ อมตธรรม ธัมมะที่ไม่ตายแล้วคือธัมมะของบุคคลที่ไม่ตายแล้ว ดั่งนี้แหละ และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ ว่าบรรดาสังขตธรรมคือธัมมะที่ปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลายนั้น มรรคมีองค์ ๘ เป็นยอด และบรรดาอสังขตธรรม ธัมมะที่ไม่ปรุงแต่งทั้งหลายนั้น ก็มีวิราคธรรม ธัมมะที่สิ้นความติดใจยินดี คือนิพพาน เป็นยอดดั่งนี้ ในข้อนี้จะเห็นได้ ว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นสังขตธรรมเพราะต้องปรุงแต่ง อันหมายความว่าต้องปฏิบัติอบรมจึงจะเป็นมรรคมีองค์ ๘ ขึ้น แต่ว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นไปเพื่อตัดความปรุงแต่งทั้งหมด กล่าวคือเมื่อปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้เต็มที่แล้ว จะตัดกิเลสได้หมดสิ้น เมื่อตัดกิเลสได้หมดสิ้นก็จะบรรลุถึงอสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุง คือนิพพาน เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ ๘ นั้นจึงเป็นสังขตธรรม ธัมมะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง อันนับว่าเป็นยอดของสังขตธรรมทั้งหมดเพราะเป็นเหตุให้ตัดสังขตธรรมทั้งหมด ให้บรรลุถึงอสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุง คือนิพพานได้ และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าสิ้นความปรุงแต่งทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อยังไม่บรรลุถึงยอดของสังขตธรรมคือมรรคมีองค์ ๘ นี้แล้ว ก็ยังต้องปรุงแต่งกันเรื่อยไป และจะปรุงแต่งกันไปนานเท่าไรนั้น ก็สุดแต่ว่าเมื่อไรจะได้มรรคมีองค์ ๘ อย่างสมบูรณ์ เมื่อได้มรรคมีองค์ ๘ อย่างสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นอันว่าสิ้นปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นจึงนับว่าเป็นยอดของสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยปรุงทั้งหมด ก็ทำให้หยุดปรุงแต่งได้ บรรลุถึงที่สุดคือความไม่ปรุงแต่งได้ นี้เป็นคติในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นคติในพุทธศาสนาจึงเป็นคติที่กล่าวสัจจะคือความจริง ซึ่งไม่กล่าวว่าตายเกิด ไม่กล่าวว่าตายสูญ แต่กล่าวเป็นกลางๆ ว่าเมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อดับเหตุให้เกิดได้ก็ไม่เกิด การดับเหตุให้เกิดได้นั้นก็ต้องดับในมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาจึงตรัสสอนให้ศึกษาในไตรสิกขา คือศีลสมาธิปัญญา เพื่อให้ได้ปัญญาคือความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้เป็นการอบรมจิตอันเรียกว่า จิตตภาวนา

เพราะฉะนั้นในโอกาสต่อไปจะได้แสดงถึงจิตตภาวนาคือการอบรมจิตโดยตรง

๑๘ กันยายน ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 02 มกราคม 2554
Last Update : 2 มกราคม 2554 9:00:36 น. 1 comments
Counter : 1039 Pageviews.

 
ปีใหม่แล้ว ขอให้ สิ่งที่ปราถนาสิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ดีก็ขอให้สมหวังดั่งปราถนาทุกประการ มีความสุขกาย สุขใจ ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง สุขภาพดี อายุขัยยืนยาวนะ

H...happy มีสุข สนุกสนาน
A...advance ก้าวหน้า หาสิ่งใหม่
P...proud พร้อมเพียบเรื่อง ภาคภูมิใจ
P...protect ปลอดภัย จากภยันต์
Y...young สาวหนุ่ม อายุมั่น วรรณะผ่อง

N...normal ไม่ขัดข้อง ทุกสิ่งสรร
E...easy ง่ายดาย สารพัน
W...wealth เงินทองพลัน ไหลเทมา

Y...year สองศูนย์หนึ่งหนึ่ง ให้เริงรื่น
E...else อันสิ่งอื่น ให้สมปรารถนา
A...aim จุดมุ่งหมาย ไกลสุดตา
R...receive ให้ได้มา สมดั่งใจ..."


โดย: wbj วันที่: 2 มกราคม 2554 เวลา:21:32:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.