Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๔ ที่มาของทศพิธราชธรรม

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



จะแสดง ทศพิธราชธรรม คู่กันไปกับ ทศบารมีโดยที่พุทธศกนี้เป็นปีที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก เจริญพระชนมพรรษามาครบ ๕ รอบนักษัตร คือ ๖๐ คณะสงฆ์ได้ประกาศให้วัดทั้งหลายแสดงธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม ในวัดนี้จึงได้จัดให้ผลัดกันแสดงพระธรรมเทศนาในวันพระ วันพระละ ๑ บท และในการโอวาทนวกภิกษุศกนี้ จึงได้กำหนดสอนทศบารมีคู่กันไปกับทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรมแสดงไว้ในมหาหังสชาดก

ทศบารมีก็คือบารมี ๑๐ ได้แสดงไป ๑ ข้อแล้วคือข้อทาน จึงจะจับแสดงทศพิธราชธรรมเริ่มแต่ข้อ ๑ ให้คู่กันไป และก็จะแสดงที่มาของทศพิธราชธรรมให้ทราบไว้ก่อน ว่าคำสอนเรื่องนี้มาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาคัมภีร์ไหน เรื่องอะไร ทศพิธราชธรรมนี้ได้พบที่มาในคัมภีร์ชาดกชื่อว่า มหาหังสชาดก ที่แปลว่า ชาดก เรื่องใหญ่ที่แสดงถึงหงส์ เพราะว่าได้มี ๒ ชาดกเกี่ยวกับเรื่องหงส์ ชาดกเรื่องหงส์ที่สั้นกว่า เรียกว่า จุลลหังสชาดก ส่วนชาดกแสดงเรื่องหงส์ที่ยาวกว่า เรียกว่า มหาหังสชาดก ทศพิธราชธรรมมาในชาดกหลังนี้คือ มหาหังสชาดก ซึ่งมีความหมายตามคาถาซึ่งเป็นพระบาลีที่อ้างพระพุทธเจ้าตรัสเล่าเอง กับมีคำอธิบายประกอบอันเรียกว่า อรรถกถา สำหรับที่มาในพระบาลีนั้น แสดงถ้อยคำที่พูดโต้ตอบกันเป็นต้นขึ้นมา โดยที่ไม่มีเรื่องประกอบติดต่อกัน ไม่มีเรื่องเล่า เป็นการเริ่มต้นว่าเป็นมาอย่างไร พระอาจารย์ผู้อธิบายที่เรียกว่า อรรถกถาจารย์ จึงได้เรียบเรียงประกอบ และเมื่อเรียบเรียงแล้ว ก็ได้ยกเอาคาถาที่เป็นพระบาลีที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสเองนั้นมารับรองเข้าเป็นตอนๆ ไป เหมือนดังแต่งกระทู้ที่พระอาจารย์ให้บทกระทู้มา ก็มาแต่งบรรยายไป ก็ยกเอาพระพุทธภาษิตในพุทธศาสนภาษิตที่มีความสัมพันธ์กันเข้ามารับรอง แต่ก็ให้อยู่ในแนวของกระทู้บทตั้ง ลงท้ายก็สรุปเข้าในกระทู้บทตั้ง ข้อความที่เป็นบทกระทู้นั้น ที่เป็นบทตั้งก็ดี ที่เป็นบทที่อ้างเข้ามารับรองก็ดีก็เป็นข้อความสั้นๆ แต่ว่าอธิบายของผู้แต่งกระทู้นั้นเป็นอธิบายของผู้แต่งกระทู้เอง แต่ก็ให้อยู่ในขอบเขตของบทกระทู้ พระอาจารย์ผู้แต่งอธิบายพระบาลีชาดกก็ดี พระบาลีอย่างอื่นก็ดี ก็เป็นเช่นเดียวกัน ท่านอธิบายประกอบเข้ามาสั้นบ้างยาวบ้าง แต่สำหรับในชาดกนี้ท่านเล่าเรื่องประกอบเข้ามามากทีเดียว ถ้าไม่เช่นนั้นความก็ไม่ติดต่อกัน คือเมื่ออ่านแต่พระบาลี ก็จะทราบแต่ข้อความที่โต้ตอบกันอันอยู่ในคลองธรรมที่ต้องการ แต่ว่าทำไมจึงมาโต้ตอบกัน เริ่มขึ้นมาอย่างไรนั้นไม่ได้เล่าไว้ พระอาจารย์ท่านจึงมาเล่าเอาไว้ สำหรับที่จะแสดงในที่นี้ ก็จะได้เล่าไปตามที่พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าไว้ แต่สรุปให้สั้นเข้า และก็จะนำเอาคาถาในพระคัมภีร์ชาดกที่อ้างว่าเป็นพระพุทธเจ้าตรัสเข้ามาประกอบ และสาระสำคัญนั้นก็อยู่ที่พระบาลีชาดกที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัส ส่วนเรื่องนิทานนั้นเป็นเรื่องเล่าประกอบเข้ามาเป็นของพระอรรถกถาจารย์

เนื้อความย่อของมหาหังสชาดก

เมื่อกล่าวรวมกันดังกล่าวแล้ว ก็มีความโดยย่อว่า ในอดีตกาลในเมืองพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่า สังยมะ หรือว่า สังยมนะ หรือว่า สัญยมนะ มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า เขมา ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์กำเนิดเป็นหงส์ทอง คือหงส์ที่มีขนสีทอง มีหมู่หงส์บริวารเป็นอันมาก อาศัยอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ นามของพระยาหงส์โพธิสัตว์มีชื่อว่า ธตรัฏฐ เมื่อจะเรียกในฐานะเป็นหัวหน้าฝูงหงส์ ก็เรียกว่า พระยาหงส์ธตรัฏฐ และได้มีหงส์ทองอีกหนึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีชื่อว่า สุมุขะ หรือ สุมุข ในครั้งนั้นพระเทวีของพระเจ้ากรุงพาราณสีที่มีพระนามว่า เขมา ได้ทรงพระสุบินคือฝันว่ามีพระยาหงส์ทอง ๒ ตัวมาจับอยู่ที่พระราชบัลลังก์แสดงธรรมกถาด้วยเสียงอันไพเราะ พระเทวีประทานสาธุการ สดับธรรมกถายังมิทันอิ่มเอิบในการสดับธรรม ราตรีก็สว่าง พระยาหงส์ทั้ง ๒ จึงพากันออกไปทางช่องพระแกล พระนางก็รับสั่งห้ามว่า อย่าเพ่อไป และตรัสแก่นางพระกำนัลทั้งหลายให้ช่วยกันจับ เมื่อตื่นพระบรรทม และนางกำนัลได้ยินรับสั่งก็พากันแย้มสรวลว่าหงส์ที่ไหนกัน พระนางจึงทรงทราบว่าทรงพระสุบินไป แต่แม้เช่นนั้นก็ทรงดำริว่า พระยาหงส์ที่มีสีประดุจทองคำคงจะมีอยู่ในโลกนี้ จึงได้ทูลพระราชาพระเจ้ากรุงพาราณสีว่าทรงตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ครรภ์ ต้องการที่จะได้เห็นหงส์ทอง ได้ฟังหงส์ทองแสดงธรรม พระราชาจึงได้ตรัสให้สืบว่ามีหมู่หงส์อาศัยอยู่ที่ไหนพวกพราหมณ์ก็ไม่ทราบ แต่ก็ทูลว่าพวกพรานคงจะทราบ จึงได้โปรดให้เรียกพวกพรานป่ามาตรัสถาม พรานคนหนึ่งก็กราบทูลว่า ได้ทราบต่อๆ กันมาว่า หงส์เหล่านั้นอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ในประเทศหิมวันต์ พระราชาก็ตรัสถามว่า จะพอรู้อุบายที่จะจับหงส์เหล่านั้นได้หรือไม่ พวกพรานก็ทราบทูลว่าไม่ทราบ จึงได้ทรงปรึกษากับพราหมณ์บัณฑิต พราหมณ์บัณฑิตก็กราบทูลว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจับที่เขาคิชฌกูฏ ขอให้ทรงขุดสระใหญ่ชื่อ เขมะ ทางทิศเหนือแต่พระนคร ให้เต็มด้วยน้ำ ปลูกธัญชาติต่างๆ ให้นายพรานผู้ฉลาดคนหนึ่งอยู่ประจำรักษา อย่าให้หมู่มนุษย์เข้าไปใกล้ และให้ประกาศเป็นเขตให้อภัยแก่สกุณชาติต่างๆ ที่จะมาหากินที่สระนั้น พระราชาก็ได้ตรัสให้ปฏิบัติตามที่บัณฑิตนั้นได้กราบทูลแนะ ก็ได้ตรัสให้นายพรานผู้ฉลาดผู้หนึ่งมามอบให้เป็นผู้ที่รักษาสระ นายพรานนั้นเรียกตามภาษาบาลีว่า เนสาท หรือเนสาทะ เขาชื่อ เขมกะ ก็เป็นผู้รักษาสระเขมะนั้นมา สกุณชาติทั้งหลายก็พากันลงสู่สระนั้น และก็ชักชวนกันต่อๆ ไปว่าเป็นสระที่ไม่มีภัย ก็ทราบไปจนถึงหมู่หงส์ หมู่หงส์ก็พากันมาหากินในสระนั้น จนถึงพระยาหงส์ธตรัฏฐกับเสนาบดีที่ชื่อว่าสุมุขะ ทั้ง ๒ ซึ่งเป็นหงส์ทองด้วยกันก็มาหากินที่สระนั้นด้วย และเมื่อพรานผู้รักษาสระได้เห็นหงส์ทองลงมา ก็ได้เฝ้าดูอยู่ถึง ๖ – ๗ วันว่ามาจับที่ไหน และเมื่อสังเกตที่ได้แน่นอนแล้ว ก็วางบ่วงดักไว้ใต้น้ำ พระยาหงส์ทองนั้นมาก็ลงไปในน้ำตรงบ่วงนั้น ก็ติดบ่วงของนายพราน พระยาหงส์ทองพยายามที่จะสลัดบ่วงให้หลุด แต่บ่วงนั้นก็กัดขาผ่านหนัง เส้นเอ็นจนถึงกระดูก ก็ไม่หลุด พระโพธิสัตว์จึงได้หยุดเพราะเกรงว่าขาจะขาด ส่วนเสนาบดีหงส์ที่เป็นหงส์ทองด้วยกันที่ชื่อว่า สุมุขะเมื่อเห็นเจ้านายของตนติดบ่วงจึงได้เข้าไปหา ส่วนฝูงหงส์ที่เป็นบริวารก็พากันบินหนีไปทั้งหมด เมื่อเข้าไปถึงพระยาหงส์ธตรัฏฐก็ถามว่า ทำไมจึงไม่หนีไป ขอให้รีบหนีไปเสีย หงส์เสนาบดีสุมุขะก็ตอบว่าไม่ไป จะอยู่ช่วย พระยาหงส์ก็บอกให้หนีไปหลายหน หงส์เสนาบดีสุมุขะก็ไม่ยอมหนีไป บอกว่าจะอยู่ช่วย ฝ่ายนายพรานที่มองเห็นโดยตลอดเพราะได้ดักดูอยู่ ซ่อนดูอยู่ จึงเดินเข้าไป ครั้นเห็นหงส์เสนาบดีซึ่งไม่ติดบ่วงยืนอยู่ด้วย ก็แปลกใจว่าทำไมจึงไม่หนีไป หงส์เสนาบดีก็กล่าวว่า เพราะเจ้านายของตนติดบ่วง ตนจะขอตายแทน ขอให้จับเอาตัวหงส์เสนาบดีคือตัวเขาไปแล้วปล่อยเจ้านายเขาไป ฝ่ายนายพรานก็ใจอ่อน ก็บอกว่า ถ้าเช่นนั้นก็จะปล่อยไปทั้ง ๒ ฝ่ายพระยาหงส์กับหงส์เสนาบดีนั้นก็ตอบว่า ถ้าหากว่านายพรานนี้ดักหงส์และนกทั้งหลายเพื่อประโยชน์ของตน ก็จะขอรับทักษิณาอภัยคือการปล่อยนกทำบุญ แต่ว่าถ้าหากว่าท่านมาดักหงส์ด้วยมีคำสั่งมาจากผู้อื่น ไม่ใช่ของตนเอง ท่านก็ไม่มีอิสระที่จะปล่อยเราทั้ง ๒ เสีย เพราะฉะนั้น ก็ขอให้นำเราทั้ง ๒ ไป แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องใส่กรง ให้เราทั้ง ๒ นี้จับไปที่กระเช้า ๒ ข้างที่เป็นคานให้ท่านหาบไป นายพรานนั้นก็หาบกระเช้าที่หงส์จับ ๒ ข้าง นำหงส์ไปถวายพระราชา ฝ่ายพระราชาเมื่อได้เห็นหงส์ก็มีความดีใจ และก็บอกว่าให้พักอยู่ระยะหนึ่งก็จะปล่อยไป และให้พระยาหงส์จับอยู่ในที่อันสมควร และก็ได้พระราชทานอาหารเป็นต้น ฝ่ายพระยาหงส์นั้นก็ได้ทูลแก่พระราชาเป็นการปฏิสันถารว่า พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธ ทรงสำราญดีอยู่ ทรงปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เราไม่มีโรคาพยาธิ มีความสำราญดี และเราก็ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า โทษอะไรๆ ไม่มีอยู่ในอำมาตย์ของพระองค์ละหรือ และอำมาตย์เหล่านั้นไม่มีอาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์ละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของเรา พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ประกอบด้วยพระโอรสพระรูปพระโฉมพระยศ เป็นไปตามอัธยาศัยของพระองค์ละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศ เป็นไปตามอัธยาศัยของเรา พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระองค์มิได้ทรงเบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแก่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรามิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอ พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษ พระองค์ไม่ทรงละทิ้งธรรม ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรม ละทิ้งอธรรม พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดซึ่งพระชนมายุอันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่หรือ พระองค์ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้คือ ทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความไม่พิโรธ คือความกระทำไม่ให้ผิด แต่นั้นมีปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อยย่อมเกิดแก่เรา ดั่งนี้ เมื่อพระราชาได้ตรัสตอบดั่งนี้แล้ว พระยาหงส์ก็ถวายอนุโมทนาแก่พระราชา และก็ได้พระราชทานทรัพย์แก่นายพราน ทรงให้พระยาหงส์กับเสนาบดีพระยาหงส์พักอยู่ ทรงพระราชทานเลี้ยงดูให้มีความสุข แล้วก็ทรงปล่อยพระยาหงส์และหงส์เสนาบดีนั้นให้กลับไปสู่ภูเขาคิชฌกูฎ

พระราชาในอดีตกาลทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม

เนื้อความในมหาหังสชาดกมีดั่งที่เล่ามานี้ และเรื่อง ทศพิธราชธรรม ก็มาจากคำตอบ หรือพระราชดำรัสตอบของพระราชาตอนที่ว่า เราตั้งอยู่ในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือ ทาน ศีล ปริจจาคะ การบริจาค อาชชวะ ความซื่อตรง มัททวะ ความอ่อนโยน ตบะ ความเพียร อักโกธะ ความไม่โกรธ อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน ขันติ ความอดทน อวิโรธนะ ความไม่ทำให้ผิด รวมเป็น ๑๐ ประการ

นำเล่าเรื่องมหาหังสชาดกนี้ก็เพื่อให้ทราบว่า ที่มาของทศพิธราชธรรมมาจากชาดกเรื่องนี้ ซึ่งธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ ก็ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้ากรุงพาราณสีที่ตรัสตอบแก่พระยาหงส์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่สาธกให้เห็นว่า พระราชาในอดีตกาลนั้นที่ทรงเป็นบัณฑิต ทรงตั้งอยู่ในธรรม ก็ย่อมทรงตั้งอยู่ในธรรม ๑๐ ประการนี้ ที่บัดนี้เรียกกันว่า ทศพิธราชธรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเล่าเรื่องชาดกนี้ คือ มหาหังสชาดก ว่าแม้พระราชาซึ่งเป็นผู้ปกครองแผ่นดินในอดีตกาลก็ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม คือทรงปกครองโดยธรรม ก็คือโดยทศพิธราชธรรม

๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 01 มิถุนายน 2554
Last Update : 1 มิถุนายน 2554 8:16:54 น. 0 comments
Counter : 3455 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.