นกเทพย่อมมีบารมีของเทพ สายลมอ่อนๆ เบาสบาย มือพัดไปมา จิตตรองกลยุทธ์ วางแผนจัดการได้ทุกเรื่องในโลก
Group Blog
 
All Blogs
 

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 2

[๖๕] ก็สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั่งอยู่พร้อมด้วยคิหิบริษัทเป็นอันมาก 

ผู้มีความเขลามีอุบาลิคฤหบดีเป็นประมุข. 
ได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกล ได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า
ดูกรตปัสสี ดูเถอะ ท่านมาจากไหนแต่ยังวันเทียวหนอ?

ทีฆตปัสสีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระโคดมนี้เอง.

นิ. ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมเรื่องอะไรบ้างหรือ?

ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาบ้าง.

นิ. ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาอย่างไร?

ลำดับนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์บอกเรื่อง
การเจรจาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคจนหมดสิ้น
แก่นิครนถ์นาฏบุตร. เมื่อทีฆตปัสสีกล่าวอย่างนี้แล้ว 

นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า 
ดูกรตปัสสี ดีละๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีนิครนถ์พยากรณ์แก่พระสมณโคดม 
ตรงตามที่สาวกผู้ฟังผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ 
มโนทัณฑะอันต่ำทราม จะงามอะไรเล่า 
เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ 
โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า 
ในการทำบาปกรรมในการเป็นไปแห่งบาปกรรม 
วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่. 


[๖๖] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว 
อุบาลีคฤหบดีได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตร
ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้ว ๆ 
ข้อที่ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์แก่พระสมณโคดม
ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ 
มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะงามอะไรเล่า
เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ 
โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า 
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม 
วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่

ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป 
จักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม 
ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยันแก่ข้าพเจ้า 
เหมือนอย่างที่ยืนยันกับท่านตปัสสีไซร้ 
ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม 
เหมือนบุรุษมีกำลังพึงจับแกะมีขนยาวที่ขนแล้วฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น 

ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม
เหมือนบุรุษมีกำลังผู้ทำการงานโรงสุรา 
พึงทิ้งกระสอบเครื่องประกอบสุราใหญ่ไว้ในห้วงน้ำลึกแล้ว
จับที่มุมฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น 

ข้าพเจ้าจักขจัด ขยี้ บด ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม 
เหมือนบุรุษที่มีกำลังเป็นนักเลงสุรา พึงจับถ้วยสุราที่หูถ้วยแล้ว 
พลิกลง พลิกขึ้น ไสไป ฉะนั้น 

ข้าพเจ้าจักเล่นดังเล่นล้างเปลือกป่าน กะพระสมณโคดม 
เหมือนช้างแก่อายุ ๖๐ ปีลงไปยังสระลึกเล่นล้างเปลือกป่าน ฉะนั้น 

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะ
ในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม.

นิ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม 
ดูกรคฤหบดีเราก็ได้ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม. 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 14:51:19 น.
Counter : 450 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 1

มีพระสูตรหนึ่งที่กล่าวถึงนิครนถ์นาฏบุตร

ในช่วงสุดท้าย ก่อนที่จะเสียชีวิตเพราะตรอมใจ
พระสูตรนี้มีความยาวพอสมควร ค่อย ๆ อ่านกันครับ


๖. อุปาลิวาทสูตร
เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์

[๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน 
ใกล้เมืองนาลันทา. สมัยนั้น
นิครนถ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ ณ เมืองนาลันทา
พร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์เป็นอันมาก ครั้งนั้นแล.

นิครนถ์ชื่อว่าทีฆตปัสสี เที่ยวบิณฑบาตไปในเมืองนาลันทา 
เวลาภายหลังภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว 
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน 
ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว 
ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. 

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า 
ดูกรทีฆตปัสสี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ก็จงนั่งเถิด 
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว 
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

กรรม ๓ ของนิครนถ์นาฏบุตร

[๖๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า 
ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม 
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร?

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ทูลว่า ท่านพระโคดม 
นิครนถ์นาฏบุตร จะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้
เป็นอาจิณหามิได้ ท่านพระโคดม 
นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า ทัณฑะๆ ดังนี้แล เป็นอาจิณ.

พ. ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะ 
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?

ที. ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะใ
นการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ 
กายทัณฑะ ๑ วจีทัณฑะ ๑ มโนทัณฑะ ๑.

ดูกรตปัสสี ก็กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง
หรือ?
ท่านพระโคดม กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง.

ดูกรตปัสสี ก็บรรดาทัณฑะ ๓ ประการนี้ 
ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ 
ทัณฑะไหน คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ 
ที่นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่ามีโทษมากกว่า 
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?

ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ 
ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ 
นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า กายทัณฑะมีโทษมากกว่า ใ
นการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม 
จะบัญญัติวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ว่ามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะหามิได้.

ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?

ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าว่ากายทัณฑะ.

ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?

ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.

ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?

ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.

พระผู้มีพระภาคทรงให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ยืนยันในเรื่องที่พูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้. 


[๖๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว 
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กราบทูลถามพระผู้มี
พระภาคว่า ท่านพระโคดม 
พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ 
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป
แห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?

ดูกรตปัสสี ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้เป็นอาจิณ.

ท่านพระโคดม ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม 
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร?

ดูกรตปัสสี เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม 
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ 
กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑.

พระโคดม ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง 
วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่งมิใช่หรือ?

ดูกรตปัสสี กายกรรมอย่างหนึ่ง 
วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง.

ท่านพระโคดม ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ 
ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน
เหล่านี้ กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม
ที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่า
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?

ดูกรตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ 
ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน
เหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า 
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม
เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้.

ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.

ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.

ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยัน
ในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ

ฉะนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่. 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 14:49:32 น.
Counter : 378 Pageviews.  

นักบวชศาสนาเชน

  มีอยู่วันหนึ่ง รามชี้ให้ดูว่ามีนักบวชศาสนาเชนเข้ามาเดินดูพระมหาเจดีย์





คนนี้เป็นนักบวชเชนนิกายเศวตัมพรที่ยังนุ่งขาวห่มขาวอยู่
ศาสนาเชนเป็นศาสนาของนิครนถ์นาฏบุตร
เป็นอาจารย์คนหนึ่งในคณาจารย์ทั้งหก
ศาสนาเชนมีลักษณะของคำสอนคล้ายกับศาสนาพุทธที่สุด
คึอการไม่เบียดเบียนผู้อื่นอย่างสุดโต่ง
แต่ก็ยังเป็นความเห็นที่ผิดตามที่มีระบุไว้ในพระไตรปิฎก
ปัจจุบันนี้ศาสนานี้ก็ยังเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศอินเดีย
และมีคนนับถือมากเสียด้วย
ยังมีอีกนิกายหนึ่งของศาสนาเชน คือนิการ ฑิฆัมพร
นักบวชในนิการนี้ไม่นุ่งห่มอะไรเลย
มีอยู่วันหนึ่งกำลังเดินทางจากเมืองราชคฤห์กลับมาที่คยา
ระหว่างที่รถวิ่งอยู่ ผมเหลือบไปเห็นนักบวชเชนกำลังเดินอยู่
ผมรีบบอกให้รถหยุดทันที ร้องโวยวายให้ทุกคนมาดู
นักบวชเชนที่ไม่นุ่งอะไรเลย หายากมากครับ




พวกเราที่ยังตั้งตัวไม่ทันก็นึกว่าจะไม่เดินโทง ๆ แกว่งไปแกว่งมาขนาดนี้
ลงจากรถมาดูกันให้เห็นด้วยตาเนื้อ ๆ แทบดูไม่ได้แต่ก็ดูกัน
ผมไม่กล้าถ่ายภาพจากด้านหน้า มันนู๊ดเกินไป
เลยถ่ายจากข้างหลังก็พอ 


วันนั้นผมมัวแต่สนใจนักบวชเชน
ไม่ได้ดูที่พื้นตอนลงจากรถ เหยียบกับระเบิดเข้าจนได้ ตูมมมมม สนั่น
ชอกช้ำระกำใจมากเลย ทั้งล้างทั้งเช็ดไม่หมด ติดอยู่ในดอกยาง
กลับมาถึงคยาต้องเอาน้ำร้อนราด ถือว่าล้างซวยไป 
มาพลาดเอาวันเกือบจะสุดท้าย

นักบวชพวกนี้อยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง เดินไปเรื่อย ๆ ไม่นุ่งอะไรเลย
มีสมบัติชิ้นเดียวติดตัวก็คือแส่ ที่เอาไว้ปัดแมลง
ไม่นอนที่เดียวเกินหนึ่งคืน ไม่มีลูกศิษย์ถาวร
เพราะนักบวชจะเดินทางเปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ หาตัวไม่เจอ
คนอินเดียนับถือกันมาก ว่าเป็นพระอรหันต์
ก็ดูซีครับ อยู่ได้อย่างไร ค่ำไหนนอนนั่น จะหนาวจะร้อนก็ต้องอยู่ได้
มีแต่ตัวเปล่า ๆ ไม่ต้องการเครื่องอุปโภคอะไรเลย ดูไปดูมา 
เขาก็ต้องทนทายาทจริง ๆ นั่นแหละ คนที่อินเดียจึงนับถือนักหนา

ลูกศิษย์ที่เดินติดตามอยู่นั่น เป็นชาวบ้านที่พอดีเห็นเข้า
เขารีบวิ่งมากราบ ๆ ๆ ๆ แล้วเดินตามไปส่งถึงสุดทางหมู่บ้านของตน
เมื่อข้ามไปหมู่บ้านอื่นก็ไปเจอชาวบ้านอย่างนี้อีก เขาก็เข้ามากราบ ๆ ๆ ๆ
แล้วก็เดินไปส่ง เป็นวัฒนธรรมของ คนอินเดียเขาล่ะ 


มาดูนักบวชเชนฝ่ายหญิงกันบ้าง




ผมไปเจอที่ทางขึ้นถ้ำสัตตบรรณ เมืองราชคฤห์เช่นกัน
เดี๋ยวจะนึกว่าไม่นุ่งอะไรเลย
ไม่ใช่ครับ ผู้หญิงถ้าไม่นุ่งอะไรเลยคงไม่รู้ว่าจะพูดภาษาอะไรกัน


ทั้งฝ่ายหญิงและชายไม่ค่อยมีผม ไม่ใช่โกน แต่ใช้วิธีถอนเอา
ถอนทั้งหัว ใช้อะไรถอนไหนว่าไม่มีสมบัติติดตัว
ก็ใช้มือไงละ ถอนด้วยมือเปล่า เท่าที่ถอนได้ 
คงจะต้องปล่อยให้ยาว พอที่จะถอนได้
แล้วค่อย ๆ ถอนไปเรื่อย ๆ 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 14:48:07 น.
Counter : 2672 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับอุรุเวลากัสสป 4

วันหนึ่ง ในเวลาหนาว 
ชฎิลทั้งหลายลงอาบน้ำดำผุดขึ้นลงในแม่น้ำเนรัญชรานที 
สมเด็จพระชินสีห์ ผู้ทรงพระกรุณาแก่ชฎิล ทรงดำริว่า 
เมื่อชฎิลขึ้นจากน้ำแล้วจะหนาวมาก 
จึงทรงนิรมิตเชิงกราณประมาณ ๕๐๐ อัน มีเพลิงติดทั้งสิ้นไว้ในที่นั้น 
ครั้นชฎิลทั้งหลายขึ้นจากน้ำหนาวจัดก็ชวนกันเข้าผิงไฟที่เชิงกราณ 
แล้วก็คิดสันนิษฐานว่า พระมหาสมณะคงทรงนิรมิตไว้ให้เป็นแน่ 
น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก. 

วันหนึ่ง มหาเมฆตั้งขึ้นมิใช่ฤดูกาล 
บันดาล ให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก 
กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ไหลท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น 
ธรรมดาว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จสถิตอยู่ ณ ประเทศใด 
แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้ 
และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไป 
ในทิศโดยรอบที่หว่างกลางนั้นจะมีพื้นภูมิภาคจะราบเรียบขึ้นปกติ 
ตถาคตจะจงกรมอยู่ในที่นั้น แล้วก็ทรงอธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรินั้น 




ฝ่ายอุรุเวลกัสสปนั้น คิดว่าพระมหาสมณะนี้ 
น้ำจะท่วมเธอหรือไม่ท่วมประการใด หรือจะหลีกไปสู่ประเทศอื่น 
จึงลงเรือพร้อมกับชฎิลทั้งหลาย รีบพายไปดูโดยด่วนถึง 
ประเทศที่พระองค์ทรงสถิต ก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ 
แลเห็นพระบรมศาสดา เสด็จจงกรมอยู่ในพื้นภูมิภาคปราศจากน้ำ 
จึงส่งเสียงร้องเรียก พระพุทธเจ้าขานรับว่า "กัสสป ! ตถาคตอยู่ที่นี่" 
แล้วก็เสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศ
เลื่อนลอยลงสู่เรือของกัสสปชฎิล ๆ ก็ดำริว่า 
พระมหาสมณะนี้มีอิทธิฤทธิเป็นอันมาก แต่ถึงมีอานุภาพมากอย่างนั้น 
ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา 

แท้จริง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปตนมิคทายวัน 
ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติมาส ( เดือน ๑๒ ) มาประทับอยู่ที่อุรุเวลาประเทศ 
จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญ เดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน 
ทรงแสดงอิทธิปาฏิหารย์ทรมานอุรุเวลกัสสป โดยเอนกประการ 
อุรุเวลกัสสปก็ยังมีสันดานกระด้าง 
ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฐิอันกล้ายิ่งนัก 
จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง 
จึงมีพระวาจาตรัสแก่ อุรุเวลกัสสปว่า 
"กัสสป ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ 
ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกลมิใช่ทางมรรคผลอันใด 
ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่า เป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเอง 
ทั้ง ๆ ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด 
ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสป ! 
ถึงเวลาอันควรแล้ว ที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า 
ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย 
กัสสป ! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน" 
เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาทก็รู้สึกตัว ละอายแก่ใจ 
ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า 
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบท 
ในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์และพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง 

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า 
"กัสสป ! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ 
เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจง 
ให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะให้บรรพชาอุปสมบท" 
อุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม 
แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ ๆ ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชา 
ในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยดาบบส 
บริขาร และเครื่องตกแต่งผม ชฏา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง 
ทั้งน้ำเต้า หนังสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น 
แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท 




ทูลขอบรรพชาอุปสทบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรด
ประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน 

ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสปดาบส ผู้เป็นน้องกลาง 
เห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอย น้ำมาก็ดำริว่า 
ชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย 
จึงใช้ให้ชฎิลสองสามคนอันเป็นศิษย์ไปสืบดู 
รู้เหตุแล้ว นทีกัสสปดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ 
มาสู่สำนักของท่านอุรุเวล กัสสป ถามเหตุนั้น 
ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใสชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น 
พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา 
พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ด้วยกันทั้งสิ้นดุจชฎิลพวกก่อนนั้น 

ฝ่ายคยากัสสปดาบส ผู้เป็นน้องน้อย 
เห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้ 
ก็คิดดุจนทีกัสสปชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐ 
อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวลกัสสป 
ไต่ถามทราบความแล้วเลื่อมใส 
ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชล 
ดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า 
พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว 
พระพุทธเจ้า ทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น 
กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฐิแห่งตน 
แล้วโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น 
เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ 
ตรัสพระธรรมเทศ นา อาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้น 
ให้บรรลุพระอรหัตด้วยกันทั้งสิ้น.




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 14:27:55 น.
Counter : 427 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับอุรุเวลากัสสป 3


ในวันรุ่งขึ้น มหายัญญลาภบังเกิดขึ้นแก่อุรุเวลชฎิล 
คือชนชาวอังครัฐทั้งหลาย จะนำเอาขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก 
มาถวายแก่อุรุเวลชฎิล ๆ จึงดำริแต่ในราตรีว่า 
รุ่งขึ้นพรุ่งนี้มหาชนจะนำเอาเอนกนานาหารมาสู่สำนักอาตมา 
หากพระสมณะรูปนี้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ 
ลาภสักการะก็จะบังเกิดแก่เธอเป็นอันมาก 
อาตมาจักเสื่อมสูญจากสรรพสักการบูชา 
ทำไฉน ณ วันพรุ่งนี้อย่าให้เธอมาสู่ที่นี้ได้ 

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบความดำริของชฎิลด้วยเจโตปริญาณ 
ครั้นเพลารุ่งเช้าก็เสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป 
ทรงบิณฑบาตรได้ภัตตาหารแล้ว 
ก็เสด็จมากระทำภัตตกิจยังฝั่งอโนดาต 
แล้วทรงยับยั้งอยู่ ณ ทิวาวิหารในที่นั้น 
ต่อเพลาสายัณหสมัยจึงเสด็จมาสู่วนสณฑ์สำนัก 
ครั้นรุ่งเช้า กัสสปชฎิลไปทูลอาราธนาเสวยภัตตาหารและทูลถามว่า 
"วานนี้พระองค์ไปแสวงหาอาหารในที่ใด 
ไฉนไม่ไปสู่สำนักข้าพเจ้า ๆ ระลึกถึงพระองค์อยู่" 
จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกวาระน้ำจิตของชฎิลที่วิตกนั้นให้แจ้งทุกประการ 
อุรุเวลกัสสปได้สดับ ตกใจ ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอานุภาพมากแท้ 
เธอล่วงรู้จิตอาตมาถึงดังนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ดังอาตมา 

ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมศาสดา 
พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินไปซักผ้าบังสุกุล 
ซึ่งห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในอามกสุสานะป่าช้าผีดิบ 
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์อุภโตสุชาติ 
เสด็จจากขัตติยราชสกุลอันสูงด้วยเกียรติศักดิ์ 
ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมพุทธเจ้า 
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ เป็นโมลีของโลกเห็นปานนี้แล้ว 
ยังทรงลดพระองค์ลงมาซักผ้าขาวที่ห่อศพนางปุณณทาสี 
ที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า เพื่อทรงใช้เป็นผ้าจีวรทรงเช่นนี้ 
เป็นกรณียะที่สุดวิสัยของเทวดาและมนุษย์ซึ่งอยู่ในสถานะเช่นนั้นจะทำได้ 
มหาปฐพีใหญ่ก็กัมปนาทหวั่นไหวเป็นมหาอัศจรรย์ถึง ๓ ครั้ง 
ตลอด ระยะทางทรงพระดำริว่า ตถาคตจะซักผ้าบังสุกุลนี้ในที่ใด ?
ขณะนั้น ท้าวสหัสสนัยอมรินทราธิราชทรงทราบในพุทธปริวิตก 
จึงเสด็จลงมาขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ในพื้นศิลา 
สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์ให้เต็มไปด้วยอุทกวารี 
แล้วกราบทูลพระชินศรี ให้ทรงซักผ้าบังสุกุลในที่นั้น 
ขณะที่ทรงซัก ก็ทรงดำริว่า จะทรงขยำในที่ใดดี 
ท้าวโกสีย์ก็นำเอาแผ่นศิลาใหญ่เข้าไปถวาย 
ทรงขยำด้วยพระหัตถ์ จนหายกลิ่น ๔ อสุภ 
แล้วก็ทรงพระดำริว่าจะห้อยตากผ้าบังสุกุลจีวรในที่ใดดี 
ลำดับนั้นรุกขเทพยดา ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ไม้กุ่มบก 
ก็น้อมกิ่งไม้นั้นลงมาถวายให้ทรงห้อยตากจีวร 
ครั้นทรงห้อยตากแล้วก็ทรงพระจินตนาว่า จะแผ่พับผ้าในที่ใด 
ท้าวสหัสสนัยก็ยกแผ่นศิลาอันใหญ่มาทูลถวายให้แผ่พับผ้ามหาบังสุกุลนั้น 



เพลารุ่งเช้าอรุณขึ้น อุรุเวลกัสสปไปเฝ้าพระบรมศาสดา 
เห็นสระและแผ่นศิลาทั้งสอง ซึ่งมิได้ปรากฏมีในที่นั้นมาก่อน 
และกิ่งไม้กุ่มน้อมลงมาเช่นนั้น จึงทูลถามพระบรมศาสดา 
ตรัสบอกความทั้งปวงให้ทราบ เมื่อกัสสปได้ฟังก็สดุ้งตกใจ 
ดำริว่า พระสมณะองค์นี้มีเดชานุภาพมากยิ่งนัก แม้ท้าวมัฆวาน 
ยังลงมากระทำการไวยาวัจจกิจถวาย แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา 

สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของชฎิล 
แล้วก็กลับมาสถิตยังพนาสณฑ์ตำบลที่อาศัย 
ครั้นรุ่งขึ้นในวันเป็นลำดับ กัสสปชฎิลไปทูลนิมนต์ฉันภัตตกิจ 
จึงตรัสว่า "ท่านจงไปก่อนเถิด ตถาคตจะตามไปภายหลัง" 
เมื่อส่งชฎิลไปแล้ว จึงเสด็จเหาะไปนำเอาผลหว้าใหญ่ประจำทวีป 
ในป่าหิมพานต์มาแล้ว ก็เสด็จมาถึงโรงไฟก่อนหน้าชฎิล 




ครั้นชฎิลมาถึงจึงทูลถามว่า พระองค์มาทางใดจึงถึงก่อน 
พระศาสดาจึงตรัสบอกประพฤติเหตุแล้ว ตรัสว่า 
"ดูกรกัสสป ผลหว้าประจำทวีปนี้ มีวรรณสันฐานสุคันธรสเอมโอช 
ถ้าท่านปรารถนาจะบริโภคก็เชิญตามปรารถนา" 
อุรุเวลกัสสปก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจหนหลัง 
ครั้นพระศาสดาทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพนาสณฑ์ที่สำนัก 

ในวันต่อมา ได้ทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์เช่นนั้นอีก ๔ ครั้ง 
คือ ทรงส่งอุรุเวลกัสสปมาก่อนแล้ว เสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วงครั้งหนึ่ง 
เก็บผลมะขามป้อมครั้งหนึ่ง เก็บผลส้มในป่าหิมพานต์ครั้งหนึ่ง 
เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลก นำเอาผลไม้ปาริฉัตตกครั้งหนึ่ง 
เสด็จมาถึงก่อน คอยท่าอุรุเวลกัสสปอยู่ที่โรงไฟ 
ให้ชฎิลเห็นเป็นอัศจรรย์ใจทุกครั้ง 

วันหนึ่ง ชฎิลทั้งหลายปรารถนาจะก่อไฟ ก็มิอาจผ่าฟืนออกได้ 
จึงดำริว่าที่เป็นทั้งนี้ เพราะฤทธิ์พระมหาสมณะทำโดยแท้ 
พระบรมศาสดาจึงตรัสถาม ครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า 
ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนาเถิด ในทันใดนั้น ชฎิลก็ผ่าฟืนออกได้ตามประสงค์ 

วันหนึ่ง ชฎิลทั้ง ๕๐๐ ปรารถนาจะบูชาเพลิง 
ก่อเพลิงก็ไม่ติด จึงคิดปริวิตกเหมือนหนหลัง 
พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ก่อเพลิงได้ เ
พลิงก็ติดขึ้นทั้ง ๕๐๐ กอง พร้อมกันในขณะเดียว 
ชฎิลทั้งหลายบูชาเพลิงสำเร็จแล้ว จะดับเพลิง ๆ ก็ไม่ดับ 
จึงดำริดุจหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว
ก็ทรงอนุญาตให้ดับเพลิง ๆ ก็ดับพร้อมกันถึง ๕๐๐ กอง 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 14:24:53 น.
Counter : 415 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

venfaa
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




นกเทพย่อมมีบารมีของเทพ
สายลมอ่อนๆ เบาสบาย
มือพัดไปมา จิตตรองกลยุทธ์
วางแผนจัดการได้ทุกเรื่องในโลก


venfaa
Friends' blogs
[Add venfaa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.