นกเทพย่อมมีบารมีของเทพ สายลมอ่อนๆ เบาสบาย มือพัดไปมา จิตตรองกลยุทธ์ วางแผนจัดการได้ทุกเรื่องในโลก
Group Blog
 
All Blogs
 

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 7 (ป่าทัณฑกี)


ต่อจากวันนั้นไปเล็กน้อย พระราชาทรงถอดฐานันดรของพราหมณ์ปุโรหิต 
เขาจึงไปยังสำนักหญิงนครโสภินี สอบถามว่า น้องหญิง เธอทำอะไรจึงกลับได้ฐานันดร.

นางก็กล่าวว่า ท่านพราหมณ์จะอะไรเสียอีกเล่า 
ชฎิลขี้โกงคนหนึ่งเป็นตัวกาลกัณณีที่ไม่ไหวติงอยู่ในพระราชอุทยาน 
ท่านจงถ่มน้ำลายลงที่ตัวของดาบสนั้น ก็จักได้ฐานันดรอย่างนี้. 

ปุโรหิตนั้นก็กล่าวว่า ข้าจักทำอย่างนั้นนะน้องหญิง 
แล้วก็ไปที่พระราชอุทยานนั้น กระทำอย่างที่นางบอกทุกประการ
แล้วก็ออกจากพระราชอุทยานไป. 

ในวันนั้นนั่นเอง พระราชาทรงนึกขึ้นได้ก็ตรัสถามว่า 
พ่อมหาจำเริญ พราหมณ์อยู่ไหน ได้รับคำทูลตอบว่า 
อยู่ในพระนครนี้เอง พระเจ้าข้า. พระราชาทรงมีพระดำรัสว่า 
เราไม่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ พวกเจ้าจงคืนฐานันดรให้เขา 
แล้วตรัสสั่งให้คืนฐานันดรแก่พรหมณ์นั้น. ถึงพราหมณ์นั้นได้ฐานันดร 
เพราะกำลังบุญแต่ก่อน ก็เข้าใจไปเสียว่า
ได้ฐานันดรเพราะถ่มน้ำลายลงที่ตัวของดาบส


เรื่องชักจะไปกันใหญ่แล้ว


ต่อจากวันนั้นไปเล็กน้อย ชนบทชายแดนของพระราชาเกิดกบฏ. 
พระราชาตรัสว่า เราจักไปปราบกบฏชายแดน 
จึงเสด็จไปพร้อมด้วยกองทัพ ๔ เหล่า 
พราหมณ์ปุโรหิตจึงไปยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระราชา 
ถวายพระพรว่า ชยตุ มหาราชา จงได้ชัยชนะเถิด พระมหาราชเจ้า 
แล้วทูลถามว่า พระองค์จะเสด็จไปเพื่อชัยชนะ หรือพระมหาราชเจ้า. 

ตรัสตอบว่า อย่างนั้นซิ พราหมณ์. 

ทูลว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ชฎิลขี้โกงผู้หนึ่งเป็นคนกาลกัณณีผู้ไม่ไหวติง 
พำนักอยู่ในพระราชอุทยาน โปรดทรงถ่มเขฬะลงที่ตัวของชฎิลผู้นั้นเถิด พระเจ้าข้า. 

พระราชาทรงรับคำของพราหมณ์ปุโรหิตนั้น 
สั่งให้กระทำเหมือนอย่างที่หญิงคณิกาและพราหมณ์ปุโรหิตนั้นทำทุกอย่าง 
แล้วตรัสสั่งให้เจ้านายฝ่ายในถ่มเขฬะลงที่ตัวของชลิฎขี้โกงนั้น 

ต่อจากนั้น ทั้งฝ่ายใน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้คุ้มครองฝ่ายในก็กระทำตามอย่างนั้นเหมือนกัน. 

ครั้งนั้น พระราชาทรงสั่งให้ตั้งกองรักษาการณ์ไว้ใกล้ประตูพระราชอุทยาน แล้วสั่งว่า ผู้ตามเสด็จไม่ถ่มน้ำลายลงที่ตัวดาบสให้ทั่วแล้วออกไปไม่ได้. 

คราวนั้น นายพันนายกองทั้งหมดก็นำน้ำลาย ไม้สีฟันและน้ำบ้วนปาก 
เอาไปไว้บนตัวดาบสโดยทำนองนั้นนั่นแล. 

น้ำลายและไม้สีฟันก็ท่วมทั่วตัว. 


เสนาบดี (ผู้อุปัฏฐาก) รู้เรื่องภายหลังเขาหมด 
ก็ครุ่นคิดว่า เขาว่าคนทั้งหลายทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศาสดาของเราซึ่งเป็นเนื้อนาบุญ เป็นบันไดสวรรค์อย่างนี้ 
หัวใจก็ร้อนระอุ ต้องหายใจทางปาก จึงรุดไปยังพระราชอุทยาน 
เห็นฤษีประสบความย่อยยับอย่างนั้น 
ก็นุ่งผ้าหยักรั้ง เอามือทั้งสองกวาดไม้สีฟัน 
ยกขึ้นให้นั่งให้นำน้ำมาอาบ ชะโลมด้วยยาทุกชนิดและของหอม ๔ ชนิด 
เช็ดด้วยผ้าละเอียด ยืนประนมมืออยู่ข้างหน้า พูดอย่างนี้ว่า 
ท่านผู้เจริญ พวกมนุษย์ทำไม่สมควร อะไรจักมีแก่พวกเขา. 

ดาบสกล่าวว่า ท่านเสนาบดี เทวดาแบ่งกันเป็น ๓ พวก 
พวกหนึ่งกล่าวว่า จักทำพระราชาพระองค์เดียวให้พินาศ, 
พวกหนึ่งกล่าวว่า จักทำพระราชาพร้อมด้วยบริษัทให้พินาศ, 
พวกหนึ่งกล่าวว่า จักทำแว่นแคว้นทั้งหมดของพระราชาให้พินาศ 

ก็แลครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ดาบสมิได้แสดงอาการโกรธแม้แต่น้อย 
เมื่อจะบอกอุบายสันติแห่งโลก กล่าวว่า ความผิดมีอยู่ 
แต่เมื่อรู้แสดงความผ่อนโทษเสีย เหตุการณ์ก็จะเป็นปกติอย่างเดิม. 

เสนาบดีได้นัยแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า 
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงประพฤติผิดในท่านดาบสผู้ไม่ผิด 
ผู้มีฤทธิ์มาก ทรงกระทำกรรมอย่างหนัก 

ท่านว่า เทวดาแบ่งเป็น ๓ พวกกล่าวกันอย่างนี้ 
ทูลเรื่องทั้งหมดแล้วกราบทูลว่า ท่านว่าเมื่อพระองค์ทรงขอขมาเสียแล้ว 
แว่นแคว้นก็จะเป็นปกติ ขอพระองค์อย่าทรงทำให้แว่นแคว้นพินาศเสียเลย 
ขอพระมหาราชเจ้า โปรดขอขมาท่านดาบสเสียเถิด พระเจ้าข้า. 

เสนาบดีกราบทูลถึง ๓ ครั้ง พระราชาก็ไม่ทรงปรารถนาจะขอขมา 
จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพเจ้าทราบกำลังของดาบส 
ดาบสนั้นมิใช่พูดไม่จริง ทั้งก็ไม่โกรธด้วย แต่ท่านพูดอย่างนี้ ก็ด้วยความเอ็นดู 
อนุเคราะห์สัตว์ ขอได้โปรดขอขมาท่านดาบสนั้นเสียเถิด พระเจ้าข้า. 

พระราชาก็ทรงยืนกรานว่า เราไม่ขอขมา. 

เสนาบดีจึงกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น 
ขอได้โปรดพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่คนอื่นเถิด 
ข้าพเจ้าจักไม่อยู่ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ต่อไปละ. 

พระราชาตรัสว่า ท่านจะไปก็ตามที เราจักได้เสนาบดีของเราใหม่. 

แต่นั้น เสนาบดีก็ไปสำนักดาบส ไหว้แล้วก็กล่าวว่า 
ข้าพเจ้าปฏิบัติตามคำของท่านแล้ว ท่านเจ้าข้า. 

ดาบสกล่าวว่า ท่านเสนาบดี คนที่เชื่อฟังจงพาทุกสิ่งทุกอย่าง 
ทั้งเครื่องใช้ ทั้งทรัพย์ ทั้งสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า 
ออกไปเสียนอกพระราชอาณาเขตภายใน ๗ วัน เ
ทวดาพิโรธหนัก จักเบียดเบียนแว่นแคว้นแน่นอน. 

เสนาบดีก็กระทำตาม พระราชาก็ทรงมัวเมาอย่างเดียว 
ทรงปราบข้าศึก ทำชนบทชายแดนให้สงบแล้ว ก็เสด็จมาพัก 
ณ ค่ายฉลองชัย ทรงจัดการพระนครนั้นๆ แล้ว เสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศน์. 

ครั้งแรกทีเดียว เหล่าเทวดาบันดาลฝนน้ำให้ตกลงมา. 
มหาชนก็ดีใจว่า ตั้งแต่ทำผิดในชฎิลขี้โกงมา พระราชาของเราก็เจริญอย่างเดียว 
ทรงปราบข้าศึกได้ ในวันเสด็จกลับฝนก็ตกลงมา. 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 15:15:24 น.
Counter : 387 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 6 (ป่าทัณฑกี)


ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน 
ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ?

อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ 
เกิดเป็นป่าไป ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว.

ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ 
ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร 
เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุอะไร?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ 
ป่าเมชฌะป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปนั้น 
เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี.

ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ 
คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย 

ดูกรคฤหบดี ก็ท่านได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด. 


พอมาถึงตรงนี้ผู้อ่านก็จะไม่เข้าใจว่าการกล่าวอ้างถึงป่า 2 แห่ง
มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องอย่างไร
เกี่ยวกับมโนทัณฑะ อย่างไร
ซึ่งมีเนื้อความในอรรถกถา อธิบายเรื่อง ป่าทัณฑกี และป่ากาลิงคะ ดังนี้


เรื่องป่าทัณฑกี 

เมื่อบริษัทของพระสรภังคดาบสโพธิสัตว์แผ่ขยายไพบูลย์แล้ว 
ดาบสชื่อกีสวัจฉะศิษย์ของพระโพธิสัตว์ ประสงค์จะอยู่อย่างสงัด 
จึงละหมู่ไปอาศัยนครชื่อกุมภปุระ ของพระเจ้าทัณฑกี 
แคว้นกาลิงคะ ต่อจากฝั่งแม่น้ำโคธาวารี 
เจริญความสงัดอยู่ในพระราชอุทยาน 
เสนาบดีของพระเจ้าทัณฑกีนั้นเป็นอุปัฏฐาก. 

ครั้งนั้น นางคณิกาคนหนึ่งขึ้นรถมีหญิง ๕๐๐ เป็นบริวาร 
ทำนครให้งดงามเที่ยวไป. มหาชนมองเห็นก็ห้อมล้อมนางเที่ยวตามไป 
จนถนนในพระนครไม่พอ. พระราชาเผยพระแกลประทับยืนเห็นนาง 
จึงตรัสถามพวกราชบุรุษว่า หญิงผู้นั้นเป็นใคร. 

พวกราชบุรุษทูลว่า ขอเดชะ หญิงนครโสภิณีของพระองค์ 
พระพุทธเจ้าข้า. ท้าวเธอเกิดริษยาทรงพระดำริว่า 
นครที่หญิงผู้นี้ทำให้งาม จักงามได้อย่างไร 
แล้วตรัสสั่งให้ตัดฐานันดรนั้นเสีย. 

ตั้งแต่นั้นมา นางคณิกานั้นก็ทำการชมเชยกับคนนั้นๆ 
เสาะหาฐานันดรเรื่อยไป. วันหนึ่งเข้าไปยังพระราชอุทยานพบดาบสนั่งบนแผ่นหิน 
พิงแผ่นหินที่ย้อยลงมา ใกล้ปลายที่จงกรม จึงคิดว่า ดาบสผู้นี้สกปรกจริงหนอ 
นั่งไม่ไหวติง เขี้ยวงอกออกมาปิดปาก หนวดเคราปิดอก รักแร้สองข้างขนรุงรัง. 

ครั้งนั้น นางเกิดความเสียใจว่า เราเที่ยวไปด้วยกิจอย่างหนึ่ง 
ก็มาพบกับคนกาลกัณณี (กาลกิณี) นี้เข้า ท่านทั้งหลายนำน้ำมา 
เราจักล้างลูกตา ให้เขาเอาน้ำและไม้สีฟันมาแล้ว ก็เคี้ยวไม้สีฟัน 
ถ่มน้ำลายเป็นก้อนๆ ลงไปบนเนื้อตัวของดาบสนั้น แล้วโยนไม้สีฟันลงบนกลางเซิงผม บ้วนปากตัวเองแล้ว เอาน้ำราดบนศีรษะของดาบส คิดว่า เราล้างลูกตาที่เห็นคนกาลกัณณีแล้ว กลีโทษเราก็ลอยเสียแล้ว ก็ออกไปจากพระราชอุทยาน.

ในวันนั้นเอง พระราชาทรงนึกขึ้นได้ก็ตรัสถามว่า พ่อมหาจำเริญ 
หญิงนครโสภิณีอยู่ไหน. พวกราชบุรุษตอบว่า อยู่ในพระนครนี้เอง พระเจ้าข้า. 
ตรัสสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ฐานันดรเป็นปกติแก่นางอย่างเดิม 
แล้วทรงสั่งให้คืนฐานันดร. 

นางอาศัยกรรมที่ทำดีมาก่อน จึงได้ฐานันดร 
แต่นางเข้าใจไปเสียว่า ได้เพราะถ่มน้ำลายลงที่เนื้อตัวของดาบส. 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 15:15:07 น.
Counter : 630 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 5



[๗๐] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน 
นิครนถ์ในโลกนี้พึงเป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ 
คือห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง 
กำจัดบาปด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว 
เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมาก 
ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติวิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ผู้นี้?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม 
อันเป็นไปโดยไม่จงใจว่ามีโทษมากเลย.

ดูกรคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นกรรมมีโทษมาก.

ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนไหน?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ.

ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์ 
คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่านไม่ต่อกันเลย 

ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน 
ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง 
ถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม 
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ
หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.


ขออธิบายเพิ่มเติม

อ้างอิง 
เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมาก


หมายถึง เวลาเดินจงกรม หรือเวลาที่เดินไปที่ไหนก็ตามแล้วไม่ดูที่พื้นให้ดี
เผลอไปเหยียบมดหรือแมลงต่าง ๆ เข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ 



ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน 
บ้านนาลันทานี้เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น?

อย่างนั้น พระเจ้าข้า บ้านนาลันทา เป็นบ้านมั่งคั่ง 
เป็นบ้านเจริญ มีชนมากมีมนุษย์เกลื่อนกล่น.

ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน 
ในบ้านนาลันทานี้ พึงมีบุรุษคนหนึ่งเงื้อดาบมา 
เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ 
ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน 
โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง 

ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน 
บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ 
ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน 
โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี
๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี
ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ 
ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน 
โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึงได้ 
โดยบุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียวอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า.

ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน 
สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิต 
พึงมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้น 
พึงกล่าวอย่างนี้ว่าเราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า 
ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียว 

ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน 
สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น 
จะสามารถทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า 
ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี
๒๐ บ้านก็ดี ๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี 
สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น 
สามารถจะทำให้เป็นเถ้าได้ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่ง 
บ้านนาลันทาอันต่ำทรามบ้านเดียวจะงามอะไรเล่า.

ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ 
คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย 

ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน 
ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริงถึงอย่างนั้น 
กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม 
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ
หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.


ขออธิบายเพิ่มเติม

อ้างอิง 
ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน


คือฆ่าให้หมด ในการลงดาบครั้งเดียว

อ้างอิง 
พึงกล่าวอย่างนี้ว่าเราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า
ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียว


อธิษฐาน ด้วยกสินไฟ เผาบ้านนาลันทาให้หมดในครั้งเดียว 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 14:59:59 น.
Counter : 366 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 4


พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหากรรม ๓

[๖๙] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน 
นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคนอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น 
ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย

ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ในที่ไหนเล่า?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่ 
นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจำพวกนั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ.

ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว 
จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน 
ไม่ต่อกันเลย 

ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจาต่อกัน ของเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง 
ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า 
ในการทำบาปกรรมในการเป็นไปแห่งบาปกรรม 
วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่. 




ขอขยายความเนื่องจากคำที่ใช้เป็นภาษาที่เข้าใจยาก

คำสอนของพวกนิครนถ์ 
เป็นคำสอนที่ปฏิเสธการเบียดเบียนสัตว์อื่นอย่างเด็ดขาด
แม้แต่พวกเชื้อโรคต่าง ๆ สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อยู่ในน้ำ ในอากาศ ในดิน
การทำการงานต่าง ๆ เช่นไถนาก็เป็นการเบียดเบียนสัตว์เหล่านี้

เนื่องด้วยมีคำสอนของพวกนิครนถ์ ว่า
ให้กินแต่น้ำร้อน (ต้มให้ร้อน) ไม่ให้กินน้ำเย็น
เพราะในน้ำเย็นมีตัวสัตว์เล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นอาศัยอยู่
กินน้ำเย็นก็เท่ากับกินสัตว์เหล่านั้นเข้าไปด้วย เป็นการฆ่าสัตว์
การต้มให้ร้อนนั้นเป็นการทำน้ำให้บริสุทธิ์ไม่มีตัวสัตว์
ถามว่าเอ...แล้วมันไม่ตายไปตั้งแต่ตอนที่ต้มหรือ
พวกนี้คิดอีกแบบ ประมาณว่ามันหนีออกไปตั้งแต่น้ำเริ่มอุ่นน่ะ

แล้วถ้าหากว่าบางครั้งนิครนถ์ที่ไม่สามารถกินน้ำร้อนได้ เพราะป่วย
ต้องกินน้ำเย็นเท่านั้น แต่กลั้นใจกินน้ำร้อน
ถ้าหากว่าจะต้องตายไปเพราะปฏิบัติตามคำสอนนี้
ก็จะได้ไปเกิดเป็นเทวดาจำพวกหนึ่งที่มีชื่อว่า มโนสัตว์

คำว่าทำกาละ หมายถึงตาย

พระพุทธองค์ก็เลยถามต่อว่า ทำไมพูดไม่ตรงกัน 
ในเมื่อปฏิญาณตนไว้แล้วว่าจะพูดความจริง



อธิบายเพิ่มเติม

เพราะว่าการที่ไปเกิดเป็นเทวดาเหล่านั้นได้เพราะว่ามีใจเกาะเกี่ยวเรื่องที่ตนเอง
ตั้งใจจะรักษาคำสอนนั้นไว้โดยกินแต่น้ำร้อน จึงเหนี่ยวให้ไปเกิดเป็นเทวดา

(คำสอนนี้เป็นคำสอนที่ลวงให้คนมีความมั่นใจในศีลข้อนี้ว่าทำไปเถอะ
ถึงแม้จะตายก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดา)

และที่ไปเกิดเป็นเทวดานั่นไม่เป็นเพราะใจหรือ

อุบาลี ก็ยังยืนยันคำพูดเดิมว่า พูดตรงกัน
คำสอนของนิครนถ์บอกไว้ว่าอย่างนี้
(เรียกว่าถูไถไปน้ำขุ่น ๆ) 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 14:58:03 น.
Counter : 442 Pageviews.  

พุทธประวัติ เกี่ยวกับการต่อกรกับศาสนาเชน 3


[๖๗] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว 
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า 
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น 
ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา 
ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึง
ความเป็นสาวกของพระสมณโคดมมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส 
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี
เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป 
จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม
เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ 
ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น 
ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดมเป็นคนมีมายา 
ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์.

นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึง
ความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส 
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี
เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป 
จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม
เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ 
ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่ อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น 
ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดมเป็นคนมีมายา 
ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์.

นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึง
ความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส 
แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี
เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป 
จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม 
เราก็ได้ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม. 



[๖๘] อุบาลีคฤหบดีรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว 
ลุกจากอาสนะไหว้นิครนถ์นาฏบุตร
ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน 
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. 

ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ 
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้หรือ?

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า 
ดูกรคฤหบดี ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยเรื่องอะไรๆ 
กับทีฆตปัสสีนิครนถ์บ้างหรือ?

ดูกรคฤหบดี เราได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์บ้าง.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์
อย่างไรบ้าง?

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกเรื่อง
การเจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์จนหมดสิ้น
แก่อุบาลีคฤหบดี. 

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสบอกอย่างนี้แล้ว 

อุบาลีคฤหบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ 
ข้อที่ทีฆตปัสสีพยากรณ์แก่พระผู้มีพระภาคนั้น 
ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยชอบ 
มโนทัณฑะอันต่ำทรามนั้นจะงามอะไรเล่า 
เมื่อเทียบกับกายทัณฑะนี้ อันยิ่งใหญ่อย่างนี้ 
โดยที่แท้กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า 
ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม 
วจีทัณฑะมโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.

ดูกรคฤหบดี ถ้าแลท่านจะพึงมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน 
เราทั้งสองพึงเจรจาปราศรัยกันได้ในเรื่องนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน 
ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด. 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 14:54:03 น.
Counter : 399 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

venfaa
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




นกเทพย่อมมีบารมีของเทพ
สายลมอ่อนๆ เบาสบาย
มือพัดไปมา จิตตรองกลยุทธ์
วางแผนจัดการได้ทุกเรื่องในโลก


venfaa
Friends' blogs
[Add venfaa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.