Group Blog
 
All Blogs
 
ประวัติศาสตร์จีน กับ กิมย้ง



กิมย้ง (金庸; Jīnyōng ) ปรมาจารย์นักเขียนกำลังภายในชื่อดัง ผู้สรรรค์สร้างนิยายกำลังภายในอันเลื่องชื่อ ไม่ว่าจะเป็น มังกรหยก, กระบี่เย้ยยุทธจักร, 8 เทพอสูรมังกรฟ้า ได้รับการยกย่องว่านิยายของเขามีลักษณะที่โดดเด่นอยู่ 3 ประการ นั่นคือ การสร้างตัวละครที่โดดเด่น, การแฝงปรัชญาที่ลึกซึ้ง และ การยกเอาประวัติศาสตร์มาเล่นได้อย่างแนบเนียน

กิมย้งมีผลงานทั้งสิ้น 15 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องยาว 12 เรื่อง และเรื่องสั้น 3 เรื่อง โดยนิยายเรื่องแรกคือ จอมใจจอมยุทธ์ และเรื่องสุดท้ายคือ อุ้ยเสี่ยวป้อ โดยนิยายของกิมย้งหากแบ่งออกตามกาลเวลาราชวงศ์ของจีนจะสามารถแบ่งได้ดังนี้
ราชวงศ์ซ้อง : 8 เทพอสูรมังกรฟ้า, มังกรหยก ภาค 1, มังกรหยกภาค 2
ราชวงศ์หยวน : ดาบมังกรหยก
ราชวงศ์หมิง : กระบี่เย้ยยุทธจักร, เพ็กฮวยเกี่ยม
ราชวงศ์ชิง : อุ้ยเสี่ยวป้อ, จอมใจจอมยุทธ์, จิ้งจอกภูเขาหิมะ, จิ้งจอกอหังการ

จะเห็นได้ว่านิยายของกิมย้งจะวนเวียนอยู่ในประวัติศาสตร์จีนช่วงท้าย อันน่ามาจากช่วง 4 ราชวงศ์ดังกล่าวเต็มไปด้วยเรื่องราวของการรุกรานของชนเผ่าต่างๆ (มองโกล,แมนจู) และประเด็นความขัดแย้งในเรื่องของเชื้อชาติ ซึ่งกิมย้งได้หยิบยกจุดนี้มาเป็นประเด็นสำคัญในนิยายหลายเรื่องของเขาที่อยู่ระหว่างช่วงคาบเกี่ยวของราชวงศ์ เช่น ในมังกรหยกภาคแรก ก๊วยเจ๋งและเอี้ยคัง ล้วนเป็นชาวฮั่น แต่คนหนึ่งเติบโตที่มองโกล ส่วนอีกคนกลายเป็นองค์ชายต้ากิม คนหนึ่งช่วยเมืองของต้นล้มล้างเมืองที่แท้จริง ส่วนอีกคนยอมทรยศเผ่าที่เลี้ยงดู เพื่อช่วยเหลือเมืองเกิดของตน จนสุดท้าย คนหนึ่งได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษผู้กล้า ส่วนอีกคนกลายเป็นคนขายชาติที่ตายอย่างอนาถ

8 เทพอสูรมังกรฟ้า ตัวละครเอกของเรื่องล้วนมีเชื้อชาติที่แตกต่าง เฉียวฟง บิดาเป็นชาวต้าเหลียว, ฮือเต็ก เป็นราชบุตรเขยซีเซี่ย, ต้วนอี้ เป็นองค์ชายต้าหลี่ และ มู่หยงฟู่ เป็นทายาทแคว้นเยี่ยนที่ล่มสลาย ในเรื่องนี้กิมย้งแสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังในเชื้อชาติที่แตกต่างของชาวฮั่นต่อชาวชี่ตัน แต่ยังได้สอดแทรกเนื้อหาที่ว่า แม้เขื้อขาติที่แตกต่าง แต่ถ้าหากมีทัศนคติตรงกันแล้ว ก็ย่อมอยู่ร่วมกันได้ เป็นตัวแทนของ 3 พี่น้อง และในส่วนของเฉียวฟง กิมย้งได้เลือกให้เขามีจุดจบที่แตกต่างจากก๊วยเจ๋ง ก๊วยเจ๋งเป็นชาวฮั่นที่ถูกเลี้ยงดูจากมองโกล สุดท้ายกลับมาช่วยซ้องรับกับมองโกล ขณะที่เฉียวฟงเป็นชาวชี่ตันที่ถูกเลี้ยงดูจากชาวฮั่น สุดท้ายกลับช่วยฮั่นรบกับชี่ตัน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เฉียวฟงเป็นตัวละครที่พัฒนามาจากก๊วยเจ๋งอีกหนึ่งขั้น กิมย้งใส่ความสำนึกผิดต่อชาติที่เลี้ยงดูมาของก๊วยเจ๋งลงไปในตัวของเฉียวฟง ให้เฉียวฟงเลือกที่จะฆ่าตัวตายที่ทรยศต่อชาติของตน

ดาบมังกรหยก เป็นอีกเรื่องที่ตัวละครเอกยอมทรยศต่อชาติของตน ก็คือ เตี๋ยเมี่ยง ที่ยอมหันหลังให้มองโกลเพื่อช่วยเหลือชายคนรัก คือ เตียบ่อกี้

ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นประเด็นของเชื้อชาติที่สอดแทรกอยู่ในนิยายของกิมย้ง แต่จุดเด่นอีกประการที่กิมย้งนำเอาประวัติศาสตร์จีนมาเล่นในนิยายของต้นก็คือ ทำให้บุคคลสำคัญต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของนิยายของตน ซึ่งสามารถพิจารณาแบ่งตามช่วงเวลาต่างๆได้ดังนี้

ราชวงศ์ซ้อง ช่วงเวลาแห่งการรุกรานของจักรวรรดิมองโกล
เมื่อทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ ไม่เพียงพอกับความทะเยอทะยานของมองโกล ราชวงศ์ซ้องที่อ่อนแอจึงตกเป็นเป้าหมายของผู้ที่ได้ครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก เจงกีสข่าน กิมย้งได้แต่งให้ครอบครัวของก๊วยเจ๋งถูกทหารกิมทำลาย พ่อของก๊วยเจ๋งถูกฆ่าตาย แม่ของก๊วยเจ๋งพาก๊วยเจ๋งหลบหนีมาอยู่ที่มองโกล ก๊วยเจ๋งเมื่อเติบโตเป็นพี่น้องกับลูกชายของเจงกีสข่าน ชื่อ เชลุย(พ่อของกุบไลข่าน) อีกทั้งเป็นคนโปรดของเจงกีสข่าน ขนาดมั่นหมายกับลูกสาวของตน ภายหลังเจงกีสข่านต้องการบุกซ้อง ทำให้แม่ของก๊วยเจ๋งต้องตาย


เจงกีสข่าน จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิมองโกล


คิวชู่กี่ เป็นอีกตัวละครหนึ่งซึ่งมีตัวตนอยู่จริง ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว คิวชู่กี่ได้เดินทางไปยังมองโกลและได้เทศนาให้กับเจงกีสข่าน จนเจงกีสข่านเลื่อมใส ในมังกรหยก กิมย้งได้แต่งให้คิวชู่เดินทางท่องยุทธภพ ต่อมาได้ตกลงกับ 7 ประหลาดกังหนำว่าตนจะสอนวรยุทธ์ให้เอี้ยคัง ส่วน 7 ประหลาดสอนวรยุทธ์ให้ก๊วยเจ๋ง เมื่อทั้งสองเติบใหญ่ขึ้นให้มาประลองฝีมือกัน ซึ่งต่อมาคิวชู่กี่ได้เดินทางไปยังมองโกลเพื่อหาก๊วยเจ๋ง และได้พบกับเจงกีสข่าน และได้เทศนาธรรมให้เจงกีสข่านตรงตามประวัติศาสตร์อีกด้วย


นักพรตคิวชู่กี่


อีกตัวละครที่พาดพิงถึงในเรื่องนี้ คือ แม่ทัพงักฮุย แม่ทัพงักฮุยเป็นแม่ทัพผู้เก่งกาจของราชวงศ์ซ้อง ต่อมาถูกกังฉิน ฉินฮุ่ย ใส่ร้ายจนถูกโทษประหาร ชาวบ้านโกรธแค้น นำเอาแป้งสองชิ้นประกบติดกันเป็นตัวแทนของฉินฮุ่ยกับภรรยา แล้วทอดกิน เป็นที่มาของ ปาท่องโก๋ ในเรื่องมังกรหยกไม่ได้กล่าวถึงปาท่องโก๋ และเรื่องเกิดหลังจากงักฮุยเสียไปนานแล้ว แต่ได้กล่าวถึงตำราพิขัยสงครามของงักฮุย ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในวังหลวง ตอนหลังก๊วยเจ๋งได้มาครอบครอง ใช้สู้รบกับมองโกล ก่อนเมืองเซียงหยางแตก อึ้งย้งนำตำราพิชัยสงครามของงักฮุย กับ คัมภีร์เก้าอิมซ่อนลงใน กระบี่อิงฟ้า และดาบฆ่ามังกร ต่อมาภายหลังเตียบ่อกี้ได้มอบให้จูหยวนจางใช้ในการสู้รบ ซึ่งจะกล่าวต่อไป


แม่ทัพงักฮุย


ราชวงศ์หยวน เมื่อผู้กล้าลุกขึ้นมากู้ชาติ
เมื่อราชวงศ์ซ้องล่มสลาย แผ่นดินจีนก็ถูกชนเผ่านอกกำแพงครอบครองเป็นครั้งแรก แต่ไม้ต้นจะยั่งยืนได้ต้องด้วยรากฐานที่มั่นคง จักรววรดิมองโกลยิ่งใหญ่อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วอายุคนก็ครอบครองแผ่นดินจีน สถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้น ภายหลังสิ้นจักรพรรดิกุบไลข่าน ก็ไม่มีจักรพรรดิคนอื่นที่ปรีชาสามารถเทียบเท่า ทำให้ราชวงศ์หยวนเริ่มอ่อนแอลง ชาวฮั่นกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นสู้ เรียกตัวว่ากลุ่มกบฎชาวนา มีหัวหน้าชื่อว่า จูหยวนจาง และมีแม่ทัพคนสำคัญคือ เซี้ยง่อชุน ในนิยายเรื่อง ดาบมังกรหยก กิมย้งได้แต่งให้ จูหยวนจาง และเซี่ยง่อชุน เป็นคนในนิกายเม้งก่า โดยที่พระเอก เตียบ่อกี้ ในวัยเด็กได้รู้จักกับเซี้ยง่อชุน ที่ได้ช่วยชีวิต จิวจี้เยียก เอาไว้ เซี้ยง่อชุนได้พาเตียบ่อกี้ไปรักษาตัวกับหมอเทวดาโอ้วแชงู้ จนทำให้เตียบ่อกี้มีวิชาการแพทย์ติดตัว ภายหลังเตียบ่อกี้ได้เป็นประมุขเม้งก่า ได้มอบตำราพิชัยสงครามของงักฮุยให้แก่จูหยวนจางเพื่อใช้ในการสู้รับกับมองโกล ต่อมาจูหยวนจางทรยศฆ่าคนในเม้งก่าตายหมด และขับไล่มองโกลไปได้สำเร็จ ตั้งราชวงศ์หมิงขึ้นมา ตัวละครอีกตัวที่เป็นตัวร้ายทั้งในนิยายและประวัติศาสตร์ คือ ตั้งอิ้วเหลียง ตั้งอิ้วเหลียงเป็นหัวหน้ากลุ่มกบฎอีกกลุ่มที่ลุกขึ้นต่อต้านมองโกลเช่นกัน และเป็นศัตรูกับจูหยวนจาง ต่อมาถูกจูหยวนจางพิชิตได้ ส่วนในนิยาย ตั้งอิ้วเหลียงเป็นศิษย์พรรคกระยาจก และเป็นศิษย์ของเซ่งคุน ตัวร้ายในเรื่อง ตอนจบถูกจับได้พร้อมกับเซ่งคุน


จูหยวนจาง


เมื่อกล่าวถึงเรื่องดาบมังกรหยก ตัวละครสำคัญอีกตัวที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ก็คือ ปรมาจารย์แห่งวิชาไทเก็ก ผู้ก่อตั้งสำนักบู๊ตึ๊ง เตียซำฮง หรือ จางซานฟง นั่นเอง ตามประวัติศาสตร์แล้วเตียซำฮงกำเนิดสมัยปลายราชวงศ์ซ้อง และมีอายุยืนไปถึงต้นราชวงศ์หมิง (นับรวมแล้วอายุเกิน 200 ปีแน่นอน O_o!!) ท่านเป็นนักพรตเต๋าผู้ก่อตั้งบู๊ตึ๊งขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานว่าท่านเป็นคนคิดมวยไทเก็กขึ้นมา ส่วนในนิยายของกิมย้งได้กล่าวถึงประวัติของเตียซำฮงไว้อย่างละเอียด โดยเริ่มจากสมัยที่ท่านยังเป็นเณรน้อยชื่อ เตียกุนป้อ มีหน้าที่เฝ้าหอคัมภีร์ ต่อมามีเหตุพลิกผันทำให้เตียกุนป้อกับอาจารย์กี๊กเอี้ยง(ซึ่งมีตัวตนจริงเช่นกัน) ต้องลงจากวัดเส้าหลิน ได้พบกับเอี้ยก้วย และก๊วยเซียงโดยบังเอิญ ภายหลังท่านจึงก่อตั้งสำนักบู๊ตึ๊งขึ้นมา มีลูกศิษย์อยู่ 7 คน ซึ่งศิษย์คนที่ 5 คือ เตียชุ่ยซัว เป็นพ่อของเตียบ่อกี้ พระเอกในเรื่อง ส่วนก๊วยเซียงออกบวชเป็นแม่ชี ตั้งสำนักง้อไบ๊ขึ้นเช่นกัน


นักพรตเตียซำ


ราชวงศ์หมิง ตัวอย่างของคำว่า ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ชาวฮั่นเมื่อรวมตัวกันขับไล่มองโกลออกไปได้ บ้านเมืองก็กลับมาสงบสุขอีกครั้ง แต่เมื่อนานปีไป ฮ่องเต้อ่อนแอ ขูดรีดเงินภาษีชาวบ้าน ทำให้เกิดกลุ่มกบฏชาวนาขึ้น(อีกแล้ว) ประกอบกับชนเผ่าแมนจูด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้มแข็งขึ้น ด้วยมีทั้งศึกภายในและศึกภายนอก ราชวงศ์หมิงตั้งอยู่ได้เพียงสองร้อยกว่าปีก็มีอันสิ้นสุดไป นับเป็นอีกครั้งที่ชาวฮั่นต้องตกอยู่ในเงื้อมือของชนเผ่านอกด่าน
ตามประวัติศาสตร์สมัยยุคหมิงซือจงฮ่องเต้ เกิดกลุ่มกบฎชาวนาขึ้น นำโดยหลีจื้อเฉิง สามารถนำกองทัพบุกจนถึงวังหลวงได้ หมิงซือจงฮ่องเต้คลุ้มคลั่ง ฆ่าขุนนางและเชื้อพระวงศ์ทั้งหมดทิ้ง รวมทั้งตัดแขนพระธิดา องค์หญิงฉางผิงทิ้งข้างหนึ่ง จากนั้นก็หนีออกนอกวังไปผูกคอตายที่ภูเขาเหมยซาน


ภาพจำลองเหตุการณ์หมิงซื่อจงฮ่องเต้ผูกคอตาย


หลีจื้อเฉิงพอเข้าวังได้ก็ประกาศตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ปรากฎว่าหลีจื้อเฉิงดันไปถูกใจอนุภรรยาของอู๋ซานกุ้ย นามว่า เฉินหยวนหยวนขึ้น จึงได้รับเข้าวัง ด้านอู๋ซันกุ้ยที่สู้รบกับแมนจูอยู่ที่ด่านซานไห่กวน พอทราบเข้าก็โกรธแค้นมาก เปิดประตูเมืองให้แมนจูเข้าเมืองทันที แมนจูจึงยึดครองเมืองจีนได้ และเป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์ที่ปกครองด้วยชาวฮั่นอีกครั้งหนึ่ง
ประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวถูกกิมย้งนำมาแต่งในเรื่อง เพ็กฮวยเกี่ยม และ อุ้ยเสี่ยวป้อ โดยองค์หญิงฉางผิง หรือ อาจิ่ว ไปตกหลุมรักพระเอกของเรื่องคือ อ้วงเซ้งจี่ ต่อมาถูกพระบิดาตัดแขนข้างหนึ่ง ประกอบกับถูกชาวแมนจูล้มล้างราชวงศ์ จึงได้ออกท่องยุทธภพ เสาะหาผู้มีฝีมือศึกษาวิทยายุทธ์เพื่อที่จะล้มราชวงศ์ชิงให้ได้ และได้วางแผนการล้างแค้นอู๋ซานกุ้ย ซึ่งจะกล่าวต่อไป



หัวหน้ากบฎชาวนา หลี่จื้อเฉิง


ราชวงศ์ชิง สิ้นสุดประวัติศาสตร์
ในประวัติศาสตร์ช่วงต้นราชวงศ์ชิง กิมย้งได้ประพันธ์นิยายเอกเรื่องหนึ่งขึ้น ชื่อว่า อุ้ยเสี่ยวป้อ ในเรื่องนี้สำหรับผมเองแล้วคิดว่าเป็นเรื่องที่กิมย้งได้สอดแทรกประวัติศาสตร์ไปรวมกับนิยายได้อย่างแนบเนียนที่สุด อุ้ยเสี่ยวป้อเป็นขันทีปลอมที่เข้าไปอยู่ในวังหลวง ได้เป็นเพื่อนกับคังซีฮ่องเต้ ด้วยความที่เกิดมาหอนางโลมและรักการพนัน ทำให้ฉลาดเป็นกรด และมีความสามารถในการเอาตัวรอดสูงมาก กิมย้งได้นำตัวละคนอุ้ยเสี่ยวป้อที่สร้างขึ้นเข้าไปอยู่ในทุกเหตุการณ์ในสมัยคังซีฮ่องเต้ เริ่มตั้งแต่มีส่วนในการจับกุมและเป็นผู้สังหารอ้าวไป่ ซึ่งเป็นขุนนางที่มีอิทธิพลในสมัยนั้นมาก และได้นำเอาเรื่องเล่าของชาวบ้านที่ว่าที่แท้ฮ้องเต้ซุ่นจื้อไม่ได้สวรรค์คต แต่ทรงเสียใจกับการเสียชีวิตของนางสนมซึ่งเป็นที่รักยิ่ง ทำให้ตัดสินใจออกบวช อุ้ยเสี่ยวป้อบังเอิญไปรู้ความลับนี้เข้า และเป็นผู้ปกป้องฮ้องเต้ซุ่นจื้อ ต่อมาได้ไปรัสเซีย เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้องค์หญิงโซเฟียปฎิวัติสำเร็จ(เล่นไปถึงประวัติศาสตร์รัสเซียด้วย) แถมยังได้องค์หญิงโซเฟียเป็นเมียอีกต่างหาก และหนึ่งในเมียของอุ้ยเสี่ยวป้อ คือ อาเคอ ซึ่งเป็นลูกของเฉินหยวนหยวนกับหลี่จื้อเฉิง



เจ้าพิชิตประจิม อู๋ซานกุ้ย


โดยกิมย้งแต่งว่า หลังจากแมนจูบุกเข้ายึดจงหยวนได้ ฮ่องเต้ซุ่นจื้อจึงแต่งตั้งอู๋ซานกุ้ยเป็นผิงซีอ๋อง เจ้าเมืองยูนาน ได้รับตัวเฉินหยวนหยวนกลับมา แต่ทว่าหลีจื้อเฉิงยังไม่ตาย และได้มีความสัมพันธ์กับเฉินหยวนหยวน จนนางท้องขึ้น เฉินหยวนหยวนจึงกลับไปหาอู๋ซันกุ้ย ทางด้านองค์หญิงฉางผิงซึ่งออกบวชเป็นแม่ชีจิ่วหนาน ต้องการจะล้างแค้นอู๋ซานกุ้ย จึงได้บุกเข้าไปขโมยลูกของเฉินหยวนหยวนมา เพราะนึกว่าเป็นลูกของอู๋ซานกุ้ย และได้ถ่ายทอดวรยุทธ์ให้กับนางเพื่อให้ไปฆ่าพ่อบังเกิดเกล้าของตัวเอง (โหดไหมล่ะ) ซึ่งจุดนี้กิมย้งได้แต่งเป็นความรักและความแค้นของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ 4 คน คือ คนขายชาติ (อู๋ซานกุ้ย), โจรกบฎ (หลีจื้อเฉิง), นางงามล่มเมือง (เฉินหยวนหยวน) และ ผู้สิ้นชาติ (องค์หญิงฉางผิง) ได้อย่างไร้ที่ติ

นอกจากนั้นยังเพิ่มประเด็นความขัดแย้งในเรื่องของเชื้อชาติลงไปอีก โดยในสมัยชิงได้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีปณิธานที่จะ ต้านชิงกู้หมิง เรียกว่า พรรคฟ้าดิน กิมย้งแต่งให้อุ้ยเสี่ยวป้อได้มีเหตุบังเอิญต้องเข้าไปอยู่ในพรรคฟ้าดิน ในขณะเดียวกันก็เป็นเพื่อนสนิทกับคังซีฮ่องเต้ ความลำบากใจจึงตกอยู่กับพระเอกของเรา เมื่อ “สหายสั่งให้ไปฆ่าสหาย”
แม้พรรคฟ้าดินจะถูกทำลายไปได้ แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้กล้าอีกมากมายซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านราชวงศ์ชิง อีกตัวอย่างคือ พรรคดอกไม้แดง ซึ่งในเรื่อง จอมใจจอมยุทธ์ หรือ ตำนานอักษรกระบี่ กิมย้งแต่งให้เฉียนหลงฮ่องเต้ แท้ที่จริงมีมารดาเป็นชาวฮั่น และเป็นพี่น้องกับหัวหน้าพรรคดอกไม้แดง ตั้งแกลก อีกต่างหาก



จักรพรรดิเฉียนหลงฮ่องเต้



นอกจากเรื่องราวใน 4 ราชวงศ์ที่ได้กล่าวมา ยังมีเรื่องสั้นอีกหลายราชวงศ์ที่กิมย้งได้แต่งขึ้น เช่น ในเรื่องกระบี่นางพญา กิมย้งสร้างตัวละครชื่อ อาแช เป็นยอดฝีมือใช้กิ่งไม้เพียงกิ่งเดียวบุกตะลุยทั้งกองทัพเพื่อสังหารไซซี ถึงไม่ได้สังหารไซซีได้ แต่ก็ทำให้ไซซีบาดเจ็บที่หัวใจ เป็นที่มาของท่าสุดเซ็กซี่ว่าทำไมไซซีถึงต้องเอามือกุมที่หัวใจ


ไซซียืนเอามือกุมหัวใจ


ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างของเรื่องราวที่กิมย้งยกขึ้นมาถ่ายทอดผ่านนิยายของตนเอง ยังมีตัวละครและเหตุการณ์อีกมากที่ผมไม่ได้กล่าวถึง ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำเอาประวัติศาสตร์สอดแทรกลงในนิยาย ทำให้นิยายมีความน่าสนใจมากขึ้น และยังได้ทำให้บุคคลที่เราเคยรู้จักมีมิติมากขึ้นอีกด้วย



Create Date : 16 มีนาคม 2552
Last Update : 16 มีนาคม 2552 12:55:02 น. 2 comments
Counter : 5317 Pageviews.

 
อ่านไม่หมดนะค่ะ แต่ถ้ารู้ประวัติศาสตร์คงดูหนังกำลังภายในได้ลึกซึ้งขึ้น

เมื่อก่อนติดหนังกำลังภายใน ช่วงนี้ซาๆไป ไว้จะลองกลับมาดูใหม่ค่ะ


โดย: ก้าวไปตามใจฝัน วันที่: 28 มีนาคม 2552 เวลา:16:42:23 น.  

 


โดย: สมาชิกหมายเลข 6051589 วันที่: 24 กรกฎาคม 2565 เวลา:17:48:52 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

จ้าวอสูรแดง
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add จ้าวอสูรแดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.