Group Blog
 
All Blogs
 

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การออกกำลังกายนั้น สามารถช่วยลดอัตราการ เกิดโรคหลายๆอย่างได้ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น นอกจากนั้น การออกกำลังกายยังสามารถนำมาใช้ประกอบการรักษาโรคต่างๆเหล่านี้ นอกจากการรับประทานยาได้อีกด้วย การออกกำลังกายมีหลายอย่างแต่ที่ถือว่ามีประโยชน์ ต่อสุขภาพร่างกายอย่างมาก ก็คือการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของหัวใจและปอด ซึ่งเรามักจะใช้การออกกำลังกายแบบแอโรบิก

การออกกำลังกายแบบแอโรบิกนั้น ไม่ได้หมายความถึงการเต้นแอโรบิก แต่เป็นการออกกำลังกายอะไรก็ได้ ที่เราสามารถทำซ้ำๆกันต่อเนื่องได้นานพอ หนักพอและบ่อยพอ นานพอ ในทางการแพทย์เราพบว่าการออกกำลังกายอย่าง ต่อเนื่องติดต่อกัน อย่างน้อย15-20นาที จะได้ประโยชน์ต่อระบบหัวใจและปอดมากที่สุด หนักพอ การวัดความหนักนั้น ไม่ได้วัดจากแรงต้านทานที่กระทำต่อเราขณะออกกำลังกาย แต่จะวัดจากปริมาณออกซิเจน ที่ร่างกายใช้ในขณะออกกำลังกาย

ซึ่งจริงๆแล้ว จะต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย และยุ่งยากในการวัด แต่เราพบว่า อัตราการเต้นของหัวใจนั้น จะมีความสัมพันธ์กับอัตราการใช้ออกซิเจนนี้ ดังนั้น เราจึงใช้อัตราการเต้นของหัวใจหรือการจับชีพจร มาเป็นต้วช่วยวัดความหนักของการออกกำลังกายแทน โดย

อัตราชีพจรที่เหมาะสมที่สุดของการออกกำลังกายแบบแอโรบิกนั้น จะอยู่ในช่วง 60-80% ของอัตราชีพจรสูงสุด โดยที่ เราอาจจะคำนวณหาอัตราชีพจรสูงสุดของแต่ละคนได้จากสูตร

อัตราชีพจรสูงสุด = 220-อายุ(ปี) หน่วย เป็นครั้ง/นาที


ยกตัวอย่าง เช่น อายุ 30ปี อัตราชีพจรสูงสุดก็จะเท่ากับ 220-30 =190ครั้ง/นาที ดังนั้น จึงควรออกกำลังกายให้เหนื่อยโดยให้ชีพจรเต้น ประมาณ120-150ครั้ง/นาที (60-80% ของ อัตราสูงสุด) บ่อยพอ

พบว่าการออกกำลังกายแบบนี้ทำเพียง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็ให้ประโยชน์ต่อระบบหัวใจและปอด ดังนั้น เราอาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวันก็ได้ จะทำบ่อยกว่านี้ก็ได้ แต่ควรจะมีวันพักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2วัน เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสพักฟื้นบ้าง และเพื่อช่วยป้องกันการบาดเจ็บอีกด้วย

ดังนั้น จะเห็นว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกนั้นทำได้ไม่ยากเลยและยังให้ประโยชน์ ต่อสุขภาพร่างกายได้อย่างมากด้วยการออกกำลังกายแบบนี้ที่นิยมกันอย่างเช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยานเป็นต้น

ท่านอาจจะประยุกต์กิจกรรมอย่างอื่น ให้เข้ากับการออกกำลังกายแบบนี้ได้ โดยขอให้ยึดหลักสำคัญ 3 ข้อดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ นานพอ หนักพอ และบ่อยพอ ขอให้ทุกคนโชคดี มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจและสนุกสนานกับการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพนะครับ



ออกกำลังกายอย่างไร? ให้หัวใจแข็งแรง

การออกกำลังกายโดยทั่วไปล้วนแล้วแต่มีประโยชน์กับร่างกายอยู่แล้ว แต่มีหลายคนสงสัยว่าจะออกกำลังกายอย่างไร ที่จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจสูงสุด คำตอบของคำถามนี้ก็คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) ซึ่งหลายคนก็คงจะเข้าใจว่าคือการเต้นแอโรบิก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่

การออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือการออกกำลังกายของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ในร่างกายหลายๆมัดอย่างต่อเนื่องกัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะมีผลให้ร่างกายใช้ออกซิเจนไปเผาผลาญอาหาร ในร่างกาย และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ และปอดดีขึ้น โดยมีหลักการง่ายๆดังนี้ 1.เป็นการออกกำลังของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆทั่วร่างกาย เช่น เดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือเต้น แอโรบิก 2.ระยะเวลาในการออกกำลังกายในแต่ละครั้งไม่ควรน้อยกว่า 20-30 นาที 3.ควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 4.ที่สำคัญที่สุดคือระหว่างการออกกำลังกายต้องให้หัวใจหรือชีพจร เต้นอยู่ในช่วงชีพจรเป้าหมาย(Target heart rate) ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสูตร ชีพจรสูงสุด(Maximum heart rate) = 220- อายุ(เป็นปี) ชีพจรเป้าหมาย(Target heart rate)= 60%-70% ของชีพจรสูงสุด

การจับชีพจรก็สามารถทำได้ง่ายๆคือ การจับบริเวณข้อมือประมาณ 15วินาทีแล้วคูณด้วย 4 โดยทำเป็นระยะระหว่างการออกกำลังกาย หรือถ้าจะให้ดีที่สุดคือควรมีอุปกรณ์การจับชีพจร ซึ่งมีหลายรูปแบบ ในท้องตลาดก็มีแบบที่เป็นนาฬิกาข้อมือ การออกกำลังกายอย่าหักโหมจนชีพจรเต้นเร็วเกินชีพจรสูงสุดเพราะจะเป็นอันตรายกับหัวใจ

ประโยชน์ของการออกกำลังกายแบบแอโรบิก
1. ทำให้สมรรถภาพการทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น

2. ช่วยลดไขมันในร่างกาย สำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายแบบนี้สามารถทำให้น้ำหนักลดได้ แต่ต้องทำควบคู่กับการควบคุมอาหาร

3. ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน คลอเรสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์สูง การออกกำลังกายแบบนี้สามารถทำให้ระดับน้ำตาล และไขมัน ในเลือดลดลงได้ด้วย

4. ทำให้จิตใจสดชื่นเบิกบาน

ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย

1. ค่อยๆออกกำลังกาย จากเบาๆและเพิ่มความหนักขึ้น และเริ่มจากระยะเวลาสั้นๆก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มระยะเวลา ในการออกกำลังกายให้ถึง20-30 นาที

2. ต้องมีการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลัง เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมก่อน รวมทั้งเมื่อจะเลิกออกกำลังกาย ต้องค่อยๆผ่อนให้เบา และช้าลงไม่หยุดทันทีทันใด

3. ไม่ควรออกกำลังกายหลังจากรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ ควรออกกำลังกายหลังจากรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

4. ควรออกกำลังกายในสภาพอากาศที่เหมาะสมไม่เย็นหรือร้อนเกินไป และควรเป็นที่ๆมีอากาศถ่ายเทดี

5. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน ถ้าคุณสามารถปฏิบัติเช่นที่กล่าวมาได้อย่างสม่ำเสมอ รับรองว่าหัวใจของคุณจะแข็งแรง เป็นหนุ่มเป็นสาวเสมอ รู้อย่างนี้แล้วอย่ารอช้า เรามาออกกำลังกายกันเถอะ

โดย นพ.สุธี ศิริเวชฎารักษ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 14 กรกฎาคม 2552 14:45:55 น.
Counter : 310 Pageviews.  

บัญญัติ 10 ประการ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

แนวทางการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง สำหรับผู้ที่สนใจออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

ดร. ประวิตร เจนวรรธนะกุล

ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัว ในเรื่องการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพกันอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อร่างกายของเราหลาย ประการ เช่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบหัวใจและปอด ทำให้เราไม่เหนื่อยง่าย ทำงานได้มากขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้มากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง (ได้แก่ มะเร็งลำไส้ ปอด ต่อมลูกหมาก เต้านม) โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน โรคอัมพาต และโรคอ้วน การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอจะช่วยให้เรามีชีวิตที่แข็งแรงและยืนยาว ขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนเริ่มต้นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกันเถอะ
ถึง แม้ว่าการออกกำลังกายจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายหลายประการ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน โดยผลเสียมีตั้งแต่เล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือเจ็บข้อต่อต่างๆ ภายหลังการออกกำลังกาย ไปจนกระทั่งถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องจากการออกกำลังกาย ซึ่งในระยะหลังเรามักจะได้ยินข่าวลักษณะนี้อยู่บ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนเสียชีวิตในขณะออกกำลังกายอยู่ ดังนั้นผู้ที่คิดจะเริ่มต้นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหรือว่าผู้ที่ออกกำลังกาย เป็นประจำอยู่แล้วก็ควรที่จะต้องป้องกันตนเองจากผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการ ออกกำลังกาย เพื่อที่การออกกำลังกายของท่านจะได้เป็นไปเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง
มีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ หรืออาจเรียกว่า บัญญัติ 10 ประการสำหรับผู้ที่สนใจออกกำลังกาย ดังนี้คือ

ข้อที่ 1 สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนหรือเคยออกกำลังกายมาก่อนแต่หยุดออก กำลังกายไปนานแล้ว ควรถามตนเองว่า เคยมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือไม่ เคยมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกในขณะออกกำลังกายหรือขณะพักหรือไม่ เคยมีอาการวิงเวียนศีรษะ เสียการทรงตัว หรือเป็นลมหรือไม่ มีอาการเจ็บที่ข้อต่อหรือกระดูกอยู่หรือไม่ และเคยมีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงหรือไม่ ถ้าคุณตอบว่า ใช่ หรือ มี สำหรับคำถามดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ขอแนะนำให้คุณไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็คร่างกายก่อนเริ่มต้นการออกกำลัง กาย ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง

ข้อที่ 2 ควรเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย โดยทั่วไปสำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ การวิ่งจ็อกกิ้ง การเต้นแอโรบิก การเดินเร็วๆ หรือการเล่นกีฬาต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ตามสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีการออกกำลังกายเป็นประจำในอดีต หรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองจะมีปัญหาเกี่ยวกับข้อเสื่อม การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่เหมาะสมคือ การว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยานอยู่กับที่ เพราะจะช่วยให้มีการกระแทกกันของข้อเข่าไม่มากเกินไปซึ่งจะช่วยลดปัญหาการ บาดเจ็บของข้อต่อและชะลอการเสื่อมของข้อด้วย

ข้อที่ 3 การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพนั้น ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งจ็อกกิ้ง การเต้นแอโรบิก หรือการปั่นจักรยานอยู่กับที่ก็ดี คุณควรจะออกกำลังกายจนรู้สึกเหนื่อยปานกลางเป็นระยะเวลานาน 20-30 นาทีต่อเนื่องกัน และทำเป็นประจำสม่ำเสมอประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือวันเว้นวัน การทำเช่นนี้จะเป็นการฝึกให้ระบบหัวใจและปอดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดี ขึ้น

ข้อที่ 4 สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนหรือเคยออกกำลังกายมาก่อนแต่หยุดออก กำลังกายไปนานแล้ว ควรที่จะเพิ่มระยะเวลาของการออกกำลังกายอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เวลาร่างกายในการปรับตัวจะได้ไม่เกิดอันตรายหรือการบาดเจ็บขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเริ่มออกกำลังกายเป็นวันแรก คุณอาจออกกำลังกายนานเพียง 10 นาทีก็เป็นการเพียงพอแล้ว ถึงแม้ว่าคุณจะยังไม่รู้สึกเหนื่อยเท่าไรก็ตาม ในการออกกำลังกายครั้งต่อไป คุณอาจเพิ่มการออกกำลังกายเป็น 12 นาที แล้วหยุด ค่อยๆ เพิ่มอย่างนี้จนกระทั่งคุณสามารถออกกำลังกายได้นาน 20-30 นาทีในที่สุด

ข้อที่ 5 ไม่ควรเริ่มต้นหรือหยุดออกกำลังกายแบบทันทีทันใด เนื่องจากระบบหัวใจและปอดอาจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นจึงควรมีการอบอุ่นร่างกายหรือที่เรียกว่า วอร์ม-อัพ (warm-up) ก่อนการออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ หลังการออกกำลังกายหรือที่เรียกว่า คูล-ดาวน์ (cool-down)

ข้อที่ 6 ควรทำการอบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกาย เพราะการอบอุ่นร่างกายเป็นการเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อในส่วน ต่างๆ ของร่างกายที่ต้องทำงานในขณะออกกำลังกาย เพิ่มความยืดหยุ่นในกับกล้ามเนื้อและเอ็น และเป็นการเพิ่มการทำงานของระบบหัวใจและปอดอย่างช้าๆ ดังนั้นการอบอุ่นร่างกายจึงเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมรับการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายและการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกำลังกายได้ การอบอุ่นร่างกายสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการวิ่งเหยาะๆ ช้าๆ ประมาณ 10 นาที จากนั้นทำการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายช้าๆ อีกประมาณ 10 นาที การอบอุ่นร่างกายที่เพียงพอนั้น คุณควรรู้สึกเหงื่อออกเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับเมื่อยล้า และเมื่ออบอุ่นร่างกายเสร็จแล้ว คุณควรทำการออกกำลังกายภายในเวลา 30 นาที เพราะผลของการอบอุ่นร่างกายจะอยู่ได้ไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น

ข้อที่ 7 ทำการเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ ภายหลังการออกกำลังกายเสร็จ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการออกกำลังกาย ได้ ลักษณะการทำเหมือนกับการอบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกาย โดยการวิ่งเหยาะๆ เป็นเวลานาน 10 นาที และเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างช้าๆ เป็นเวลานาน 5 นาที

ข้อที่ 8 ควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนออกกำลังกาย ขณะออกกำลังกาย และหลังการออกกำลังกาย เพราะว่าการขาดน้ำจะส่งผลเสียต่อร่างกายมากมาย เช่น ทำให้เป็นตะคริวหรือลมแดด นอกจากนี้ ยังทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากกว่าที่ควร ดังนั้นการดื่มน้ำให้เพียงพอจึงมีความสำคัญมากสำหรับการออกกำลังกายเพื่อ สุขภาพ ข้อแนะนำสำหรับการดื่มน้ำ คือ ควรดื่มน้ำ 2 แก้วก่อนออกกำลังกายประมาณ 45 นาที จากนั้นในขณะออกกำลังกาย ควรมีการดื่มน้ำครั้งละน้อยๆ ตลอดช่วงเวลาของการออกกำลังกาย และภายหลังการออกกำลังกายควรดื่มน้ำให้มากกว่าที่คุณคิดว่าคุณต้องดื่ม นอกจากเรื่องของการดื่มน้ำให้เพียงพอแล้ว เรื่องของอาหารก็มีความสำคัญ ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายโดยมีสัดส่วนของอาหารจำพวกแป้ง ผักและผลไม้ มากกว่าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ สำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อการควบคุมน้ำหนักตัว ควรลดการรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่มีไขมัน สำหรับเนื้อสัตว์ที่รับประทานได้ในปริมาณมากๆ คือปลา รวมทั้งควรทานผักผลไม้ในปริมาณมากเช่นเดียวกัน

ข้อที่ 9 พึงระลึกอยู่เสมอว่าการออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายได้ถ้าขาดความระมัดระวัง

ข้อที่ 10 เมื่อเกิดการบาดเจ็บขึ้นแล้ว ควรทำการปฐมพยาบาลให้เร็วที่สุด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องจะช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บลงได้มาก ทำให้การบาดเจ็บหายเร็วขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากได้รับบาดเจ็บแล้ว ไม่มีการปฐมพยาบาลหรือทำไม่ถูกต้องก็จะส่งผลให้การบาดเจ็บนั้นรุนแรงยิ่ง ขึ้นไปอีก ทำให้ใช้เวลาในการรักษานานเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อคุณได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะเกิดจากการถูกชน กระแทก หกล้ม ข้อเคล็ด ข้อแพลง ในขณะออกกำลังกาย คุณไม่ควรฝืนออกกำลังกายต่อไป ควรหยุดออกกำลังกายทันที และนำถุงพลาสติกบรรจุน้ำแข็งมาประคบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ควรนำยาที่ทำให้เกิดความร้อนมานวด หรือประคบด้วยความร้อน เพราะจะทำให้มีอาการบวมและอักเสบมากยิ่งขึ้นไปอีก การประคบด้วยน้ำแข็งควรทำนานประมาณ 20 นาที ทำซ้ำทุกวันวันละ 2 รอบ เช้า-เย็น เป็นเวลา 3-4 วัน ซึ่งถ้าเป็นอาการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง อาการบาดเจ็บก็จะทุเลาหรือหายไปเองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ อีก แต่ถ้าอาการบาดเจ็บยังคงมีอยู่ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป

ถ้า คุณสามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางทั้ง 10 ข้อดังที่ได้กล่าวมา เชื่อมั่นได้ว่าการออกกำลังของคุณจะเป็นไปอย่างที่คุณตั้งใจคือ การออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมให้สุขภาพดีขึ้นและไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อตัวคุณ
ขอให้สนุกกับการออกกำลังกายนะครับ

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 7 กรกฎาคม 2552 8:20:19 น.
Counter : 256 Pageviews.  

โรคเบาหวานขึ้นตา

อย่ากลัว! หากเบาหวานขึ้นตา



เบาหวานเป็นโรคที่มีความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างโดยตับ อ่อน หรือมีการสร้างอินซูลินเป็นปกติ แต่ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้ มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้น

ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานพบได้ 2 ประเภท คือ

ประเภทแรก เกิดเนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ตามปกติ เบาหวานกลุ่มนี้พบได้มากในเด็กและวัยรุ่น

ประเภทที่สอง เกิดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินที่หลั่งโดยตับอ่อนไปใช้ได้ เบาหวานชนิดนี้มักพบในผู้ใหญ่ โดยพบประมาณร้อยละ 90 ของเบาหวานทั้งหมด

สาเหตุของโรคเบาหวาน เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น มีความผิดปกติในยีน เป็นกรรมพันธุ์ หรือมีปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม

อาการที่พบได้ คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจไม่แสดงอาการเหล่านี้ และจะทราบต่อเมื่อเกิดโรคแทรกซ้อนแล้ว

การวินิจฉัยโรค โดยการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด

โรคแทรกซ้อนที่สำคัญในผู้ป่วยเบาหวาน คือ

1. จอประสาทตาเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาบอดและสายตาพิการ

2. ไตวาย เกิดเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงที่หลอดเลือดฝอยที่ไต ทำให้ไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ

3. โรคหัวใจ พบว่าเป็นสาเหตุการตายในผู้ป่วยเบาหวานถึงร้อยละ 50

4. ประสาทเปลี่ยนแปลงจากเบาหวาน มีการชาตามปลายมือ ปลายเท้า

5. เท้าเป็นแผล เกิดจากความผิดปกติในหลอดเลือดและปลายประสาทที่เท้า ทำให้เท้าชา เกิดแผลเรื้อรัง เป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องตัดขา

ปัญหาที่พบ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประมาณร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรค สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานมา 15 ปี พบร้อยละ 2 ที่ตาบอด และร้อยละ 10 ที่มีสายตาเลือนราง ซึ่งการที่มีประชากรอายุเพิ่มมากขึ้น และอายุยืนยาวขึ้นทำให้มีโอกาสพบผู้ป่วยที่มีสายตาพิการและตาบอดจากโรคเบา หวานมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ดังที่ทราบกัน การเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตาจากโรคเบาหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดหากไม่ได้ รับการรักษา การเปลี่ยนแปลงในระยะแรก จะพบการโป่งพองของหลอดเลือดฝอย เห็นเป็นจุดสีแดงเล็ก ๆ ที่จอประสาทตา และพบไขมันที่รั่วมาจากหลอดเลือดเห็นเป็นก้อนสีเหลือง นอกจากนี้ยังพบเลือดออกในจอประสาทตา และพบเส้นใยประสาทตาบวม เห็นเป็นก้อนสีขาวเหมือนปุยนุ่น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถตรวจดูได้โดยใช้กล้องตรวจจอประสาทตา ผู้ป่วยเบาหวานหากเป็นนานขึ้นจะพบเส้นเลือดผิดปกติ และเกิดเยื่อพังผืดขึ้นที่จอประสาทตา เยื่อพังผืดเหล่านี้จะรั้งให้จอประสาทตาลอก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ตาบอด

การป้องกันมิให้โรคลุกลามมากขึ้น เมื่อพบว่ามีเส้นเลือดผิดปกติ แพทย์จะใช้แสงเลเซอร์รักษาจี้ไปยังประสาทตา เพื่อทำให้เส้นเลือดฝ่อ เป็นการหยุดการเปลี่ยนแปลงของโรค

ดังนั้นการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตาในระยะแรกเริ่มจึงมีความสำคัญ การตรวจคัดกรองดูจอประสาทตา ส่วนใหญ่แพทย์จะทำการตรวจนัยน์ตาโดยการหยอดยาขยายม่านตา และใช้กล้องตรวจจอประสาทตา การตรวจพบเส้นเลือดฝอยโป่งพอง จุดเลือดออก หรือก้อนไขมันคั่ง ทำให้ทราบว่าจอประสาทตาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเบาหวาน แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นระยะ ๆ และสามารถให้การรักษาโดยแสงเลเซอร์ ก่อนที่จะเกิดพังผืดดึงรั้งให้จอประสาทตาลอก

ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์เจริญมากขึ้น มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพจอประสาทตาในระบบดิจิตอล ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วย แพทย์สามารถถ่ายภาพจอประสาทตาเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตาและบันทึก ภาพออกมาได้ทันที ซึ่งช่วยในการเก็บข้อมูลและช่วยในการพิจารณาตัดสินให้การรักษาได้ทันที ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยในการป้องกันมิให้เกิดตาบอดหรือสายตาพิการ

รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าเพิ่งกลัว เบาหวานขึ้นตารักษาได้ครับ




แหล่งที่มา : ผู้จัดการออนไลน์




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 4 กรกฎาคม 2552 18:36:15 น.
Counter : 177 Pageviews.  

ผู้หญิงกับสุขภาพ

ขอบคุณ....นิตรสารเมืองไทยsmile club สำหรับบทความดีๆ..








 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2552 10:40:20 น.
Counter : 885 Pageviews.  


varin1970
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับและขอขอบคุณสุภาพชนทุกๆท่านน่ะครับ....
Friends' blogs
[Add varin1970's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.