ความคิดสุกๆ ดิบๆ เรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเรียนการสอน
Half baked reflections on technology in teaching and learning
Group Blog
 
All blogs
 

ย้ายบ้านถาวร

สวัสดีครับ

ผมย้ายบ้านไปอยู่ที่ //gotoknow.org/blog/vasablog มาได้เกือบปีแล้วครับ เริ่มกลับมาเก็บของที่ bloggang บ้าง แต่ก็ยังมีของหลงเหลืออยู่ คงต้องค่อยๆ เก็บค่อยๆ ย้ายเอาบทความที่พอจะเกี่ยวข้องไปเรื่อยๆ
อารมณ์การเขียนบล็อกก็ยังเหมือนเดิม คือเบื่อๆ อยากๆ แล้วแต่อารมณ์
แต่เหตุผลสำคัญที่ย้ายเพราะผมมองดูกลุ่มสมาชิกแล้วเห็นว่าที่ gotoknow เหมาะกับเรื่องที่ผมอยากนำเสนอมากกว่า คือโทนของเนื้อหาหนักหน่อย (อายุมากหน่อยนั่นเอง -_-') ยังไงก็ติดตามกันได้นะครับ

Blog นี้ถือเป็นการประกาศย้ายถาวรแล้วกันนะครับ
ขอบคุณครับ




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2550    
Last Update : 13 สิงหาคม 2550 5:32:00 น.
Counter : 672 Pageviews.  

ปรากฏการณ์ซอฟต์แวร์เครือข่ายสังคม (Social Network)

Social Networking Software กำลังเป็นประเด็นร้อนในวงการศึกษาสหรัฐอเมริกาครับ
พวกเราคงรู้จัก myspace กันดี แต่ผมไม่แน่ใจว่าหลายคนจะรู้จัก facebook กันหรือเปล่า ขอเล่าคร่าวๆ แล้วกันนะครับ facebook เป็นซอฟต์แวร์เครือข่ายลักษณะเดียวกับ myspace ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สร้างหน้าเว็บของตัวเอง และใส่ข้อมูลต่างๆ ตามต้องการ (profile page) โดยระบบสามารถค้นหาผู้ใช้ที่มีความสนใจตรงกัน เช่นชอบฟังดนตรีประเภทเดียวกัน มีหนังในดวงใจเรื่องเดียวกัน ผู้ใช้สามารถเพิ่มหรือลบลิงก์ไปสู่ผู้ใช้คนอื่น เพิ่มเป็นเครือข่ายทางสังคมอินเตอร์เน็ต ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ facebook (เคย) เปิดให้บริการเฉพาะนักเรียนนักศึกษาสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ผู้ใช้ต้องลงทะเบียนโดยใช้อีเมล์ของสถาบันการศึกษานั้นๆ เมื่อลงทะเบียนก็จะเข้าสู่สังคมในสถาบันของตน ใส่ข้อมูลส่วนตัว จากนั้นก็เริ่มขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น ค้นหาเพื่อนเก่าที่เคยเรียนโรงเรียนเดียวกันมา หาเพื่อนใหม่ทั้งในสถาบันเดียวกันหรือต่างสถาบัน ในหน้าเว็บของ facebook มีส่วนประกอบหลักคือส่วนของข้อมูลผู้ใช้ ส่วนแสดงจำนวนเพื่อนในเครือข่าย กิจกรรมที่สนใจ และพื้นที่สาธารณะ (ที่เรียกว่า wall) ซึ่งผู้เข้าเยี่ยมชมสามารถเขียนข้อความไว้ได้ ข้อความบน wall นี้ผู้ใช้สามารถกำหนดให้เพื่อนในเครือข่ายเห็นหรือเปิดให้ทุกคนเห็นก็ได้ นอกจากนี้ facebook อนุญาตให้ผู้ใช้งานอัพโหลดรูป และให้ผู้ใช้ตั้งกลุ่มทางสังคม หรือแฟนคลับต่างๆ ได้
ด้วยระบบของ facebook บวกกับกลุ่มเป้าหมาย จุดประเด็นทางสังคมมากมายในวงการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ต่างได้รับผลกระทบจาก facebook
เหตุการณ์สำคัญประการแรกคือ มีกรณีที่นักเรียนและนักศึกษาถูกเพิกถอนทุนการศึกษา หรือภาคทัณฑ์ เพราะใช้ facebook เช่นนักกีฬาโหลดรูปขณะดื่มสุรา หรือในการปาร์ตี้ใน facebook โดยแสดงกริยาไม่เหมาะสม นโยบายของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ต่างกันไปครับ บางแห่งก็อนุญาตให้ใช้ facebook ได้ ขอให้ใช้วิจารณญาณ บางแห่งก็ห้ามใช้ โดยเฉพาะในโรงเรียน อาจมีการห้ามใช้คอมพิวเตอร์ของโรงเรียนเข้าใช้งาน facebook
เหตุการณ์สำคัญประการถัดมาคือการเพิ่มระบบ Mini-feed โดยระบบนี้จะรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ของเพื่อนในเครือข่ายของผู้ใช้ เช่น ไมเคิลเพิ่มชื่อของมิเชลเป็นเพื่อน เจมส์ซึ่งเป็นเพื่อนของไมเคิล (แต่ไม่ได้รู้จักมิเชลเลย) ก็จะได้รับ Mini-feed ว่าขณะนี้ ไมเคิลกับมิเชลเป็นเพื่อนกันแล้ว ไม่ทันข้ามคืนที่ระบบ Mini-feed ถูกเพิ่มเข้าไปใน facebook ผู้ใช้งานต่างไม่พอใจและตั้งกลุ่มต่อต้านมากมายใน facebook ส่วนตัวผมเองเชื่อว่า Mini-feed ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้ facebook น้อยลง และไม่ช้าก็จะค่อยๆ ชินกันไปเอง
เหตุการณ์ถัดมาคือ การเปิดให้ผู้ใช้บริการทั่วไปใช้งานได้ โดยจัดเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่สังกัดชุมชนต่างๆ เช่นชุมชนในวอชิงตัน หรือกลุ่มคนไทย สามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ เป็นการขยายเครือข่ายกว้างขวางออกไป

ที่ผ่านมา กระดานสนทนา (discussion board) ช่วยให้เราแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้สะดวกขึ้น ช่วยให้เรามีเวลาคิดและเขียนตอบโต้กันได้ ต่อมาบล๊อก (blog) เพิ่มความเป็นเจ้าของให้กับผู้ใช้งาน โดยยังรักษาพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับเครือข่าย Social Network เป็นปรากฏการณ์ถัดมาที่น่าสนใจ เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สร้างตัวตนในอินเตอร์เน็ตได้มากกว่าสองเทคโนโลยีที่กล่าวมา สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับคนในรุ่นนี้ สร้างมูลค่าให้กับภาคธุรกิจ Social Network ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเล็กๆ ก็มีมากขึ้นทุกวัน (เช่นกลุ่มเกย์)

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ กลุ่มคนที่เป็นหัวหอกวิจัยเรื่อง Social Network ล้วนเป็นนักศึกษาปริญญาเอกครับ ไม่มีพวกศาสตราจารย์เข้ามายุ่งเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ก็เป็นได้

ผมไม่แน่ใจว่า Social Network จะข้ามกำแพงวัฒนธรรมมาถึงฝั่งเอเชียได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าเครือข่ายคล้ายๆ กันนี้กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกที เครือข่ายที่ว่าคือเครือข่ายหาคู่ครับ ในอเมริกามีสองเจ้าใหญ่ๆ คือ match.com และ eharmony ลองค้นเว็บบ้านเราก็เจอ thailovelinks ครับ หลายคนอาจจะบอกว่าเครือข่ายหาคู่ไม่ได้ต่างกับลุงหนวดในอดีต ผมมองเห็นประเด็นที่แตกต่างสำคัญสองประการครับ หนึ่งคือด้วยระบบอินเตอร์เน็ตทำให้เรามีฐานข้อมูลที่ใหญ่ขึ้น ค้นหาข้อมูลได้เร็วขึ้น eharmony อ้างว่าสมาชิกของตนแต่งงานวันละเก้าสิบคน (ด้วยระบบที่จำแนกคุณสมบัติแบบเฉพาะเจาะจง) พูดกันตรงๆ คือคุณสามารถหาคนที่เหมาะกับคุณได้เร็วขึ้น ตรงขึ้น
ประการที่สองที่ผมรู้สึกได้เมื่อเทียบกับสถานการณ์ Social Network คือโอกาสที่เราสามารถนำเสนอตัวตน (ที่ไม่ใช่ตัวจริง) ของเราผ่านอินเตอร์เน็ตได้ เหตุผลที่คนเสนอตัวตนแตกต่างกันไปใน Social Network นั้นคงมีมากมาย น่าจะต้องศึกษาวิจัยกันอีกนานครับ แต่สำหรับเว็บหาคู่ ผมฟันธงเลยว่าเป็นตัวตนที่ดี และเป็นรูปแบบในอุดมคติของคนๆ นั้น (เพราะอยากจะหาคู่) จะเรียกว่าเป็นการโกหกก็ไม่เชิงครับ บางคนยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าอยากเป็นอะไรหรืออยากทำอะไร ส่วนบางคนก็เลือกไม่ได้ หรือยังไปไม่ถึงจุดที่ตัวเองอยากจะเป็น สื่อต่างๆ ก็หล่อหลอมความเชื่อของเราเสียจนบิดเบี้ยว ต้องขาว ต้องหุ่นดี ไม่มีสิว หน้าใส
ที่น่าสนใจคือตัวตนในอุดมคติที่เราสร้างขึ้นนี้ ถ้าไปพบกันตัวตนในอุดมคติของอีกคน (อยากมีบ้านสองชั้นนอกกรุงเทพฯ ให้ลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ อยากมีครอบครัวที่อบอุ่น) เป็นไปได้ไหมว่าจะเพิ่มโอกาสให้ทั้งสองคนไปถึงจุดที่หวังไว้ จะทำให้การแต่งงานยืนยาวขึ้นไหม?

กลับมาด้านการศึกษาบ้านเรา ผมเห็น //gotoknow.org/ เป็นเว็บบล๊อกที่มีผู้ใช้มากพอสมควรครับ ทั้งครู อาจารย์ นักวิชาการท้องถิ่น เข้าไปเขียนบันทึก มีการให้รางวัล blog ดีเด่น พัฒนาการเว็บนี้น่าสนใจทีเดียวครับ เพราะเป็น blog ฝีมือคนไทย และมีการสร้างศัพท์เฉพาะขึ้นมา (เหมือน wall ใน facebook) ผมเจอคำว่า แพลนเน็ต (ยังไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร) ป้ายคำ (คำนี้ผมเดาว่าน่าจะหมายถึง cloud)
นับเป็นเว็บการศึกษา (แบบไม่เป็นทางการ) ที่น่าสนใจทีเดียวครับ เว็บนี้เน้นการบริหารความรู้ (knowledge management) ซึ่งผมเองก็ค่อยๆ ติดตามอ่านจากเว็บ gotoknow เป็นหลัก
ใครสนใจเรื่องการศึกษาลองเยี่ยมชมได้ตามสะดวกนะครับ ผมกำลังคิดหาทางเชื่อม bloggang ของผมกับ gotoknow แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะบริหารยังไงดี ...




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2549    
Last Update : 6 ธันวาคม 2549 12:56:16 น.
Counter : 535 Pageviews.  

เพราะการ์ตูน ผมถึงมีวันนี้

การ์ตูนก็นับเป็นเพื่อนแท้ที่เติบโตมาด้วยกัน ถึงวันนี้ยังมีการ์ตูนในใจหลายเรื่องที่ผมเชื่อว่าทำให้ผมเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ ผมขอยกตัวอย่างสามเรื่องประทับใจจากการ์ตูนมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

เรื่องแรกเป็นการ์ตูนสั้นสไตล์ผู้หญิง (ผมจำชื่อเรื่องไม่ได้จริงๆ) พระเอกเป็นวัยรุ่นที่กำลังจะไปเทิร์นโปรเป็นพิชเชอร์ให้กับทีมเบสบอลอาชีพ แต่ปรากฏว่าได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ซ้อมขว้างลูกแทน ในเรื่องอธิบายว่าถ้าได้รับตำแหน่งนี้ก็เหมือนเป็นเทรนเนอร์ ไม่มีสิทธิจะเป็นพิชเชอร์ตัวจริงได้เลย พระเอกแกก็เศร้าใจมาก แต่สุดท้ายก็ทำใจได้ และบอกกับแฟนของเขาว่า ถึงแม้ผมจะไม่ได้เป็นพิชเชอร์เหมือนที่ฝันไว้ แต่ผมก็จะเป็นคนที่สร้างฝันให้รุ่นน้องต่อไป (ไม่ยึดติดกับความผิดหวัง แต่เขียนเรื่องราวให้ชีวิตตัวเองได้เดินต่อไปได้)

เรื่องที่สองคือกัปตันซึบาสะครับ สมัยนั้น การ์ตูนเล่มละ 25 บาทหนาปึ๊ก อ่านกับเป็นชั่วโมง (เรียกว่ายุค ก่อนเนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์ดีไหมเนี่ย) ตอนนั้นซึบาสะยังไม่ได้ไปบาเซโลนา ไม่ได้แข่งฟุตบอลโลก 2002 เตะบอลกับเพื่อนๆ อยู่ในญี่ปุ่นนั่นล่ะ จะดีหน่อยก็ตรงได้ไปแข่งฟุตบอลเยาวชนโลกที่ฝรั่งเศส ถึงตรงนี้จะมีตัวละครสำคัญคือ มิซากิ ซึ่งเป็นคู่ขา (เล่นฟุตบอล ) กับซึบาสะมาตั้งแต่สมัยประถม คุณพ่อมิซากิเป็นศิลปิน เลยต้องพาลูกร่อนเร่พเนจรไปต่างแดน จนได้ลงหลักปักฐานที่ฝรั่งเศสนั่นเอง เมื่อทีมญี่ปุ่นเดินทางมาถึงฝรั่งเศส ตัวผู้เล่นยังไม่ครบเพราะผู้จัดการทีมเก็บเสื้อเบอร์สิบเอ็ดไว้ให้มิซากิโดยเฉพาะ แต่ปิดเป็นความลับไม่ให้ใครรู้ พอมิซากิทราบข่าวจากผู้จัดการทีมก็เกิดความกังวล เพราะตัวเองไม่ได้เล่นฟุตบอลอย่างจริงจัง และไม่รู้ว่าจะเล่นเข้าขากับคู่ขาเก่าได้ไหม (ฉากที่มิซากิเจอกับซึบาสะอีกครั้งตรงหอไอเฟลประทับใจมากครับ นึกถึงแล้วน้ำตาซึม) สุดท้ายมิซากิก็ตัดสินใจ และบอกพ่อของเขาว่าจะลงเล่นให้กับทีมญี่ปุ่น พร้อมเอ่ยวลีเด็ดที่ผมจำไปตลอดชีวิต “ทำแล้วเสียใจ ดีกว่าเสียใจที่ไม่ได้ทำ”
สุดท้ายญี่ปุ่นก็มีมิซากิเข้าเป็นนักเตะคนสุดท้ายประเดิมสนามเยาวชนโลกครั้งนั้น

สองเรื่องนี้เป็นเพียงเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้จากการอ่านการ์ตูนครับด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้ใหญ่มาแนะแนว ผมมีอีกเรื่องที่ได้รับจากการพูดคุยกับคุณพ่อเกี่ยวกับการอ่านการ์ตูนครับ คือท่านเห็นผมอ่านการ์ตูนเยอะเหลือเกิน ก็เลยถามว่าการ์ตูนที่อ่านพวกนี้บรรยายว่าตัวละครแต่ละตัวเก่งอย่างโน้นอย่างนี้ เขามีเล่าไหมว่ากว่าจะเก่งกันได้แบบนั้นต้องฝึกฝนขนาดไหน? ผมย้อนคิดและเริ่มสังเกตเนื้อเรื่องและตัวละครจากคำพูดของคุณพ่อก็พบว่าหลายเรื่องเน้นที่การฝึกฝนด้วยซ้ำ ท่าพิสดารต่างๆ ที่ซุ่มซ้อมแล้วนำมาใช้ในการต่อสู้กับศัตรูจนแพ้ชนะกันเด็ดขาดก็ล้วนมีที่มาแบบนั้น

ผมอาจจะอ่านผ่านเลยไปถ้าคุณพ่อไม่ถามให้คิด พ่อผมไม่ได้อ่านการ์ตูน (แต่เคยดูการ์ตูนทีวีบ้าง) แต่ท่านก็ยังมีมุมมองของผู้มีประสบการณ์ สามารถดึงเอาส่วนดีจากสิ่งที่ดูมาแนะนำให้ลูกได้คิดตาม และคิดต่อ

วันนี้วงการศึกษากำลังหันมาให้ความสนใจ เกมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน หรือเพื่อศึกษาผลกระทบด้านจิตวิทยา มานุษยวิทยา หนังสือดีๆ หลายเล่มออกมาเพื่อให้ข้อมูลทั้งด้านบวกและลบของเกม สองเล่มที่ผมติดใจมากคือ Paul Gee. (2003). What Video Games Have to Teach Us About Learning and Literacy. กับ Marc Pensky. (2006) Don’t bother me mom-I’m learning ผู้ปกครองหลายท่านที่ปวดหัวกับเรื่องลูกหลานติดเกม และไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กๆ (หรือผู้ใหญ่) ถึงได้เล่นกันไม่เลิก สองเล่มนี้นำเสนอแง่มุมดีๆ (และเตือนเรื่องร้ายๆ) เล่มแรกออกจะวิชาการสักหน่อย ส่วนเล่มหลังนี่เขาเขียนเพื่อให้พ่อแม่อ่านโดยเฉพาะ

เกมเข้ามามีบทบาทกับเด็กมากขึ้น ถ้าผู้ใหญ่มัวแต่ยืนงง ตั้งแง่หาว่าไร้สาระ ไม่ทำความเข้าใจ ก็มีแต่จะทำให้ช่องว่างห่างขึ้นทุกทีครับ ผมว่าถ้าผู้ใหญ่คอยประคับประคอง ให้ข้อแนะนำ เกมอะไรก็มีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ต่างจากการ์ตูนที่ผมเคยอ่านเมื่อสิบกว่าปีก่อน




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2549    
Last Update : 3 ตุลาคม 2549 16:52:11 น.
Counter : 590 Pageviews.  

การศึกษาเศรษฐศาสตร์จากเกมออนไลน์?

นักวิชาการหลายสาขาที่ต้องศึกษาพฤติกรรมมวลชน คงเคยฝันอยากมีโลกจำลองที่สามารถใส่กรอบความคิดหรือนโยบายต่างๆ ลงไปแล้วดูว่ามวลชนจะตอบสนองต่ออย่างไร หรือมีผลกระทบต่อสภาพสังคมโดยรวมขนาดไหน คิดดูถ้ามีคนหลายพันคนพร้อมใจกันจ่ายเงินเข้ามาร่วมในโลกจำลองนั้น และปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ ที่เราวางกรอบไว้โดยไม่ขัดขืน ถ้าเขาไม่ชอบใจก็ถอนตัว แต่ก็ยังมีคนมากมายอยากจะร่วมประสบการณ์นี้มันจะดีแค่ไหน? ไอ้โลกจำลองที่ว่านี้เกิดมาตั้งนานแล้วครับ ส่วนความฝันที่จะวางกรอบการศึกษากิจกรรมต่างๆ ในโลกจำลองนั้นกำลังได้รับความสนใจมากในวงวิชาการ
นักเศรษฐาสตร์ท่านหนึ่งนาม เอ็ดเวิร์ด คาสโตรโนวา เกิดสนใจอยากจะศึกษาเกมออนไลน์ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน แกก็รวมรวมข้อมูลต่างๆ เท่าที่จะหาได้ตามอินเตอร์เน็ต แล้วก็เขียนบทความไว้ให้คนอ่าน ผ่านไปไม่นานปรากฏว่าบทความของแกติดอันดับท๊อปดาวน์โหลด แกเลยได้ใจเขียนหนังสือมันซะเลย ด้วยความที่เป็นนักเศรษฐาสตร์ เลยเจาะประเด็นเศรษฐาสตร์ในเกม และโยงไปถึงเรื่องการเมืองการปกครอง นโยบายภาครัฐ และเรื่องอื่นๆ อีกมากมายเลยครับ หนังสือเล่มที่ว่าคือ Synthetic Worlds: The Business and Culture of Online Games ซึ่งเพิ่งจะออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว (พฤศจิกายน 2005) จริงๆ แล้วหนังสือวิชาการที่อ้างถึงการศึกษาเกมในเชิงวิชาการนั้นมีมานานแล้วครับ แต่โลกออนไลน์ยังถือเป็นเรื่องใหม่ และเรื่องใหญ่ในแง่นี้
ใครบอกว่าเกมเป็นเรื่องไร้สาระ เสียเวลา ลองฟังคุณคาสโตรโนวาสักนิดนะครับ เรื่องแรกที่แกศึกษาคือการทำงานในเกมออนไลน์ครับ ทุกวันนี้ถ้าเราลองเข้า ebay แล้วค้นหาด้วยชื่อเกมออนไลน์ดังๆ (ทางฝั่งตะวันตก) ไม่ว่าจะเป็น Everquest หรือ World of Warcraft ผลการค้นหาจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ครับ กลุ่มแรกคือตัวผู้เล่นครับ (account or avatar) ที่ผมเพิ่งเข้าไปดู World of Warcraftเมื่อตะกี้นี้ เห็นเริ่มประมูลกันในราคาตัวละสี่ห้าร้อยเหรียญ (ตัวละเป็นพันยังมีเลย โอ้) อีกกลุ่มหนึ่งที่มีการซื้อขายกันคือเงินครับ พูดตรงๆ คือการเอาเงินในเกมไปแลกเงินดอลล่าล์นั่นเอง (กิจกรรมแบบนี้บ้านเราก็มีแล้วครับ และผู้ใหญ่บ้านเราก็ออกมาแสดงความห่วงใยกันแล้ว) แต่ที่คุณคาสโตรโนวาเห็นคือเศรษฐศาสตร์ครับ แกยกตัวอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องการขายเงินในเกมว่า ถ้าคุณเข้าไปเล่นเกมและเลือกที่จะขุดแร่เอามาขายแลกเงินกับพ่อค้าในเกม สมมติคุณใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงหาแร่ได้ x หน่วย ขายได้เงิน y หน่วย แล้วเอามาแลกเงินจริงกับ ebay แกบอกว่ามันมากกว่าทำงาน MacDonald อีกครับ กิจกรรมในเกมเริ่มมีนัยก็ตรงนี้ละครับ
ในหนังสือ Synthetic Worlds นี้คุณคาสโตรโนวาได้เสนอประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ไว้อีกหลายเรื่องครับ เรื่องหนึ่งที่ผมพอจะเข้าใจ (จากที่เคยเรียน macro/micro เมื่อสิบปีก่อน) คือเกมออนไลน์นั้นไม่ใช่ว่าจะกำไรหายห่วงกันตลอด ต้องมีกลยุทธ์การดึงดูดลูกค้าใหม่ เอาใจลูกค้าเก่า ซึ่งแกบอกว่าเป็นทฤษฎี sport club (ผิดถูกประการใน วานนักเศรษฐศาสตร์ช่วยแจงนะครับ) กล่าวคือ sport club นั้นมีเนื้อที่จำกัด (ไม่ต่างกับ server ของเกมออนไลน์ ซึ่งรองรับจำนวนผู้เล่นได้จำกัด) ดังนั้น จำนวนสมาชิก หรือผู้เล่นจะต้องมีจำนวนที่คงที่ ถ้าชักจูงคนมามากเกินไปทาง club ก็ไม่สามารถให้บริการได้ ถ้าน้อยไปก็ขาดทุน ซึ่งประเด็นนี้เองครับ ที่ทำให้หลายคนอาจจะไปสมัครหลายๆ club และเปรียบเทียบกันว่าแต่ละ club มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร นี่คือเรื่องท้าทายของผู้บริหาร club และผู้บริหารเกมครับ

พอจะเห็นแล้วนะครับว่าโลกสังเคราะห์มันเริ่มจะมารวมกับโลกจริงของเราแล้ว ถ้าไปถามคนที่เล่นเกมออนไลน์แบบบ้าคลั่งอาจจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำ ฟังแล้วก็นึกถึงหนัง Matrix ผลที่ตามมาของปรากฏการณ์นี้ (หรือปัญหานี้) ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นครับ เรื่องการขายตัวละครในเกม หรือการเอาเงินในเกมมาแลกเงินจริง และยังเกิดบริษัทตัวแทนการซื้อขายของเหล่านี้มากมายตามอินเตอร์เน็ต เช่นถ้าผมอยากจะขายของในเกมชิ้นหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นดาบ เป็นชุดเกราะ ก็ไปขายให้บริษัทนายหน้านี้และได้เงินทันที (เงินในเกมนะครับ) ส่วนคนที่อยากได้ของก็ไปเลือกซื้อที่เว็บนายหน้านั้น ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่าเขาจะส่งของกันยังไง? ไม่ยากครับ เพราะบริษัทเหล่านั้นมีตัวแทนเป็นผู้เล่นในเกมมากมาย ก็นัดสถานที่มาเลย บริษัทบางแห่งรับประกันส่งของถึงมือภายในสิบห้านาทีด้วยซ้ำ เร็วกว่าพิซซ่าเสียอีก
แต่ประเด็นที่ทำให้คนติดเกมออนไลน์กันหัวปักหัวปำ ผมว่าเป็นเรื่องของชุมชนในเกมครับ เพราะในเกมออนไลน์ส่วนใหญ่จะมีการตั้งสมาคม (Guild) และร่วมกันปฏิบัติภารกิจ เช่นการจะไปฆ่ามังกรสักตัว อาจจะต้องใช้ผู้เล่นหลายอาชีพ (ทั้งพ่อมด แม่มด นักแม่นธนู นักรบ) นอกจากจะรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันปฏิบัติภารกิจ สมาคมยังมีบทบาทสำคัญในการต่อรองกับผู้บริหารเกมครับ อาจมีการถกเถียงกับถึงนโยบายหรือกฎระเบียบต่างๆ หรือเสนอแนะนโยบายใหม่ๆ ให้กับผู้บริหารเกม ไม่ต่างกับการบริหารประเทศที่ผู้ปกครองต้องคอยฟังกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แน่ละครับ ถ้ากลุ่มผลประโยชน์นั้นใหญ่ และมีพลัง ก็ย่อมจะเสียงดัง ถ้าเกิดเขารวมตัวกันออกจากโลกสังเคราะห์นั้นไปก็จะเกิดความเสียหายมาก (เรื่องนี้ดูจะต่างกับโลกความเป็นจริงของเรา เพราะถึงแม้ผู้นำจะเป็นคนไม่รับฟังความคิดเห็น เราก็ต้องทนอยู่กันต่อไป เฮ้อ! )
อย่าลืมนะครับว่ากลุ่มสังคมล้วนต้องมีผู้นำ สมาคมออนไลน์ก็เช่นกัน ถ้าเด็กอายุสิบห้าสามารถนำสมาคมออนไลน์ได้ และต่อรองผลประโยชน์สำคัญๆ ให้กับกลุ่มตัวเองได้ก็ไม่ธรรมดา จริงไหมครับ? อย่าเพิ่งขำนะครับ เพราะความสามารถเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ในภายหน้าได้ ล่าสุดเพื่อนผมเล่าให้ฟังว่ามีคนเขียนใน Resume ว่าเป็นผู้นำสมาคมออนไลน์แล้วครับ (สงสัยว่าจะเป็นสมาคมชื่อดัง) ซึ่งแน่นอนครับ โอกาสได้งานก็ย่อมสูงขึ้น

ผลพวงสุดท้ายคือตัวผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ครับ เพราะคุณคาสโตรโนวาตอนนี้เนื้อหอมไปเลย มีบริษัทเกมมากมายมาเชิญไปเป็นที่ปรึกษา วางแผนเศรษฐกิจในเกม




 

Create Date : 03 กันยายน 2549    
Last Update : 3 กันยายน 2549 6:29:14 น.
Counter : 716 Pageviews.  

เรียนออนไลน์ดีไหม?

สืบเนื่องจากหัวข้อในกระทู้ห้องสมุดเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ในเมืองไทย ผมอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลการศึกษาของการเรียนออนไลน์ให้ฟังกันนะครับ
e-learning ในความเข้าใจของหลายๆ คน และผมเองในอดีตคือการเข้าไปดึงสื่อการสอนจากอินเตอร์เน็ต เช่นเอาไฟล์ PowerPoint มาอ่าน หรือเข้าไปดู video ออนไลน์
แต่เรื่องแบบนั้นไม่ใช่ละครับ แค่เอาไฟล์สื่อการสอนไปแปะไว้บนเว็บแล้วให้ผู้เรียนเข้าไปดู เข้าไปอ่านแค่นั้น เรียนทางไกลแบบ มสธ. ดีกว่าเยอะครับ (ถึงวันนี้การเรียนทางไกลของ มสธ. ก็ดีอยู่)

แล้ว e-learning เป็นอย่างไร? เรื่องนี้ผมอยากจะแบ่งเป็นสองทางนะครับ ทางแรกคือแบบเน้นปริมาณ ทางที่สองคือเน้นการสื่อสาร (ซึ่งอาจนำมาซึ่งคุณภาพ)
สำหรับทางแรก ผมได้ฟังจากนักศึกษาปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย เขาเล่าว่าตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายแบ่งนักเรียนไปเรียนออนไลน์บ้าง เนื่องจากปริมาณนักเรียนเยอะ ดังนั้นตอนลงทะเบียน นักเรียนจะต้องเลือกว่าจะเรียนในห้องชั้น หรือเรียนออนไลน์ ถ้าเลือกแบบหลัง ก็ไม่ต้องเข้าชั้นเลยครับ แค่ login เข้าไปเรียนทางอินเตอร์เน็ต อ่านหนังสือ ทำข้อสอบออนไลน์แค่นั้น ได้เกรดเหมือนคนเรียนในชั้นเป๊ะ แบบนี้ทางมหาวิทยาลัยสบายครับ เพราะในอนาคตอาจจะมีการยุบชั้นเรียนไปเลยก็ได้ ถ้าระบบสมบูรณ์ ก็สามารถรองรับนักเรียนได้เป็นพันๆ คนในหนึ่งเทอม สังเกตว่าการเรียนแบบนี้ จะเป็นการเรียนเองนะครับ (self-paced) คืออ่านเอง อ่านจบก็ทำแบบฝึกหัด ทำแบบนี้ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ใครเก่งก็เสร็จเร็ว ใช้เวลาน้อย ถ้าในหนึ่งเทอมที่ต้องลงเรียนสี่วิชา แล้วมีหนึ่งวิชาที่นักเรียนเรียนแบบนี้ ก็ไม่มีปัญหาครับ เพราะข้อเสียสำคัญมากๆ ของการเรียนแบบเรียนด้วยตัวเองคือความเหงา โดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่มีใครคุยด้วยครับ นักเรียนปริญญาตรี กำลังวัยรุ่น ผมว่าคงมีไม่กี่คนที่อยากจะหมกตัวอยู่ในห้อง นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งคืน เพื่อทำแบบฝึกหัดออนไลน์ ถ้าถนัดแบบนี้ก็แล้วไปครับ แต่ถ้าใครไม่ถนัด มันจะหดหู่มากครับ คิดดูถ้าคุณต้องเรียนออนไลน์แบบนี้สี่ตัวในหนึ่งเทอม ไม่ได้เจอใครเลย เฉาตายแน่ๆ ครับ

การเรียนอีกแบบนั้น คือการเรียนแบบเน้นการสื่อสารระหว่างผู้เรียนด้วยกัน และระหว่างผู้เรียนและผู้สอน (หรือผู้ประสานงาน) ผมขอเล่าประสบการณ์คร่าวๆ ของการเรียนแบบนี้นะครับ หลักสูตรที่ผมเรียนนั้นใช้ moodle เป็นสื่อในการเรียน ตัว moodle เป็นเหมือนห้องเรียนออนไลน์ครับ คือจะมีเครื่องมือย่อยๆ หลายอย่าง เช่นมีเว็บบอร์ด มีห้องส่งงาน มีห้องพูดคุย มีห้องให้ดาวน์โหลดข้อมูลและเอกสารต่างๆ
หลักสูตรที่ผมเรียนนั้น ใช้เวลาทั้งสิ้นแปดสัปดาห์ครับ ครั้งแรกที่เรียนถือได้ว่าเป็นสองเดือนหฤโหดเลย เพราะจะมีกำหนดส่งงานทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละสองถึงสามชิ้น อย่างเช่นในสัปดาห์แรก ทุกคนต้องเข้าไปแนะนำตัวในเว็บบอร์ดของวิชา และต้องไปตอบกระทู้ของเพื่อนๆ อีกอย่างน้อยสองคน ก็ต้องบอกว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เรียนสาขาวิชาอะไร งานอดิเรกคืออะไร (เหตุที่ต้องมีเรื่องส่วนตัว เพื่อให้บรรยากาศการเรียนใกล้เคียงกับการเรียนในห้องครับ) ก็พูดคุยกันไป ซึ่งไม่ง่ายเลยครับ กับการที่ต้องเข้าไปอ่านกระทู้สามสิบหัวข้อ แล้วต้องตามตอบกระทู้เราเองด้วย กินเวลาพอสมควรครับ ยิ่งต้องถามตอบเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ยิ่งมีอุปสรรคมากเข้าไปอีก บางคนใช้สำนวนใหม่ๆ แปลกๆ ก็ต้องหาความหมายสำนวนเหล่านั้น สัปดาห์ถัดมาก็เริ่มมีรายงาน การเขียนรายงานเดี่ยวอาจเป็นการสังเคราะห์บทความครับ (ไม่ใช่การสรุป) คือต้องแจงประเด็น หาข้อมูลเพิ่มเติม และมีการอ้างอิงอย่างถูกต้องตามรูปแบบ อาจจะหนึ่งหน้าหรือสองหน้าก็แล้วแต่ ส่วนการทำงานกลุ่มนี่ต้องขออธิบายในรายละเอียดนิดหนึ่งนะครับ สมมติว่ากลุ่มมีห้าคน ก็จะได้รับบทความมาสองสามชิ้น แต่ละคนอาจได้รับบทบาทต่างกัน สองคนแรกอาจจะต้องสรุปบทความก่อน อีกคนก็มีหน้าที่หาข้อมูลภายนอกประกอบ และอีกสองคนสุดท้ายก็มีหน้าที่สังเคราะห์ประเด็นจากการพูดคุยของทุกคน หนึ่งในห้าคนนี้ก็จะต้องจัดข้อมูลทำเป็นไฟล์เพื่อส่งงานตอนท้ายครับ คงนึกภาพออกนะครับว่าถ้าสองคนแรกทำงานช้า ทั้งกลุ่มก็จะต้องรอ หรือถ้าคนที่มีหน้าที่หาข้อมูลภายนอกเกิดไม่ยอมทำก็จะมีข้อมูลน้อย รายงานก็ออกมาไม่ดี เรียกว่าต้องมีการพูดคุยกัน (ไม่ว่าจะทางเว็บบอร์ด หรืออีเมล) ตลอดเวลา
พอเริ่มอาทิตย์ที่ห้าที่หกก็อาจจะเริ่มมีการทำโปรเจคใหญ่ครับ โดยหลักสูตรจะกำหนดให้เราเริ่มร่างโครงงาน แล้วก็แลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่ม เอาร่างฯ มาโชว์ และออกความเห็นกัน เสร็จแล้วก็นำเอาความคิดเห็นมาแก้ไข ซึ่งขั้นตอนนี้ทางผู้สอนจะเสนอความคิดเห็นด้วยครับ ชี้แนะว่าควรจะปรับเปลี่ยนตรงไหน อย่างไร อาจจะให้ข้อมูลเพิ่มเติม ให้เราไปศึกษา แต่จะไม่มีการมาแก้ให้ตรงๆ ครับ ในระหว่างที่ทำโปรเจคใหญ่ก็ยังมีรายงาน มีงานกลุ่มประปรายนะครับ (มันเยอะแยะไปหมดจริงๆ นะเนี่ย) ช่วงสามอาทิตย์หลังก็จะมีการปรับแก้โปรเจคใหญ่และต่อยอดไปเรื่อยๆ จนถึงวันสุดท้ายก็ส่ง แล้วก็ให้เพื่อนๆ ยลโฉมผลงานเรา

พูดตรงๆ ผมชอบการเรียนแบบนี้มากครับ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องเวลาเรียนเลย จะเข้าเรียนตอนเที่ยงคืนตีหนึ่งก็ได้ เพียงแต่การเรียนออนไลน์แบบนี้จะต้องใช้เวลานานกว่าการเรียนในห้องเรียนมาก คือต้องอ่านเอง ต้องเข้าไปคุย วันหนึ่งอาจจะใช้เวลาของกิจกรรมรวมทั้งหมดสี่หรือห้าชั่วโมง อีกประการที่ชอบคือ ผมชอบอ่านหนังสือเองอยู่แล้วครับ อ่านแล้วก็เขียนรายงาน ส่งแล้วทางผู้สอนก็จะส่งความเห็นมาให้ทุกครั้งครับ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเกิดส่งงานแล้วแค่มีคะแนนขึ้นว่าได้ 8 ได้ 9 แต่ไม่รู้ว่าเราผิดตรงไหน เราควรปรับตรงไหนก็หลงทางครับ ผู้สอนจะมีบทบาทสำคัญมากในการเรียนออนไลน์แบบเน้นการสื่อสาร (บางคนคิดว่าพอเรียนออนไลน์แล้ว ผู้สอนต้องลดบทบาท อันนี้ผมเถียงหัวชนฝาเลย ถ้าบอกว่าผู้สอนต้องปรับบทบาทล่ะใช่ครับ) ถ้าเรามีปัญหาคาใจอะไรก็สามารถอีเมลหาผู้สอนได้ แล้วเขาก็จะตอบภายใน 24 ชั่วโมงโดยประมาณนะครับ เพราะการเรียนมันไวมาก

ถึงผมจะชอบการเรียนออนไลน์แบบนี้มาก แต่ก็มั่นใจว่ามันไม่ได้เหมาะกับทุกคน ผลการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่จะออกมาในแนวที่ว่า คนที่ไม่ค่อยพูดในชั้น อาจจะได้ประโยชน์จากการใช้เว็บบอร์ด เพราะเขามีเวลาได้คิดมากขึ้น ได้จัดเรียงความคิดที่จะตอบ หรือเสนอประเด็น (ซึ่งเขาอาจจะไม่กล้าพูดในชั้น) แต่สำหรับคนที่ชอบพูด การเรียนออนไลน์ก็อาจจทำให้เกิดความอึดอัดรำคาญใจ ต้องปรับตัวกันมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้สอน (teacher) ผู้ประสานงาน (moderator) และฝ่ายเทคนิคครับ ต้องทำงานสอดประสานกัน เพราะปัญหาอาจเกิดได้ทุกเวลา และต้องหาทางรับมือปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ตลอด

ใครมีประสบการณ์เรียนออนไลน์แบบอื่น ชอบไม่ชอบอย่างไร กรุณาแลกเปลี่ยนกัน จะเป็นพระคุณมากครับ




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2549    
Last Update : 23 สิงหาคม 2549 13:42:32 น.
Counter : 6007 Pageviews.  

1  2  

vappeepeevap
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add vappeepeevap's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.