freedom อิสระของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 

เชื่อหรือไม่ว่ากระดูกบิดทำให้เกิดไข้ได้

เชื่อหรือไม่ว่ากระดูกบิดทำให้เกิดไข้ได้


โดย: พญ.กานดา วัชรสินธุ์ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

โดย: นพ.สมศักดิ์ วัฒนศรี สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กท.สธ.



ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีไข้ ไม่ได้เป็นผลจากการติดเชื้อเท่านั้น เกิดจากการอักเสบได้บ่อยเช่นกัน(1) เมื่อผู้ป่วยเป็นไข้สูงมาพบแพทย์ แพทย์มักจะนึกถึงการติดเชื้อก่อนเพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นของการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านไวรัส สาเหตุอื่นๆ แพทย์มักจะนึกถึงภายหลัง บางครั้งจึงทำให้มีการใช้ยาเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยา และสิ้นเปลือง บทความนี้จะสะท้อนให้แพทย์วิเคราะห์สาเหตุของการเป็นไข้จากสาเหตุกระดูกบิดก่อน เพราะเป็นสาเหตุที่สามารถรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องรับประทานยาใดๆ ไข้จะลดลงเมื่อโครงสร้างกระดูกเข้าที่ตำแหน่งปกติ

ผู้เขียนเคยมีอาการเป็นไข้เฉียบพลันที่เกิดจากโครงสร้างกระดูกบิดออกจากปกติ และ รักษาตัวเองด้วยหลักการสมดุลมณีเวชพบว่าไข้ลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรับประทานยาใดๆ ต่อมาได้ตรวจรักษาผู้ป่วยที่เป็นไข้สูงด้วยวิธีการเดียวกันนี้อีกหลายราย ที่บันทึกอาการต่างๆไว้ได้ชัดเจนมีจำนวน 2 ราย จึงขอนำเสนอรายงานผู้ป่วยทั้งสอง เป็นบทเรียนให้ทุกท่านได้คำนึงถึง วิเคราะห์สาเหตุของไข้โดยนึกถึงสาเหตุไข้จากกระดูกบิดก่อนจะได้แก้ไขได้ตรงจุด ลดการใช้ ลดการตรวจ และการรักษาที่ไม่จำเป็น



รายที่ ๑ เป็นผู้เขียนเอง เมื่ออายุ 55 ปี ได้รับความรู้จากภูมิปัญญาโบราณ คือ อาจารย์ประสิทธิ์ มณีจิระปราการ(2) ว่า กระดูกบิดทำให้มีอาการไข้สูงได้ ต่อมาผู้เขียนมีประสบการณ์จริงมีอาการเป็นไข้จากกระดูกบิดหลายครั้ง ขอเล่าให้ฟัง ๒ ครั้ง คือ

ครั้งแรก เมื่อ 8 ปีก่อน (พ.ศ.2545) กลางดึกในคืนวันหนึ่งขณะที่นอนหลับสนิท รู้สึกว่าตัวเองมีไข้สูงจนหนาวสั่น ต้องลุกขึ้นมาปิดเครื่องปรับอากาศ และ วิเคราะห์ตัวเองว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เมื่อก่อนนอนยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ไม่ไอ ไม่เจ็บคอ ปัสสาวะก็ปกติไม่แสบขัด ตรวจไม่พบตำแหน่งการติดเชื้อ แต่รู้สึกปวดเมื่อยทั้งตัวแบบไข้หวัดใหญ่ ก่อนนั้นเคยมีอาการหลังคดและได้รับการรักษาด้วยวิชามณีเวชจนหลังตรงและมีการบิดคดบ้างเป็นครั้งคราว ก็แก้ไขให้ตรงได้ นึกขึ้นได้ว่า ไข้สูงอาจเกิดจากกระดูกบิด เราคงนอนบิดตัวจนกระดูกบิด จึงพยายามใช้หลักการสมดุลมณีเวช ยืดตัวเองให้ตรงและนอนต่อ คิดว่าพรุ่งนี้เช้าถ้าไข้ยังไม่ลดจะไปพบอาจารย์ประสิทธิ์ เพื่อให้ท่านช่วยวิเคราะห์ว่ายังมีกระดูกบิดที่ใดอีก ตอนเช้าไข้ยังไม่ลดแต่ไม่หนาวสั่นแล้ว หลังจากปิดเครื่องปรับอากาศ รอจนบ่ายโมงไข้ก็ยังไม่ลด จึงโทรศัพท์ไปปรึกษาอาจารย์ประสิทธิ์ อาจารย์ถามว่าข้อมือกระดกได้เต็มที่หรือยัง ? ผู้เขียนรีบตรวจตัวเอง พบว่า ข้อมือกระดกได้ไม่เต็มที่ จึงพยายามรักษาข้อมือให้เข้าที่ ร่วมกับการใช้ท่ามณีเวชอื่นๆ ไข้ก็ลดลงทันที ผู้เขียนเชื่อว่า ไข้ขึ้นตอนนอนหลับเพราะว่าขณะนอนหลับอาจหักข้อมือตัวเองซุกคอเอาไว้ ทำให้ดึงถึงกระดูกคอ และกระดูกสันหลังอก ตอนบ่ายไข้ก็ไม่มีอีกเลย ทุกอย่างกลับเป็นปกติเมื่อโครงสร้างร่างกายเข้าสู่สมดุลทุกส่วน โดยไม่ต้องรับประทานยาใดๆ

ครั้งสุดท้าย เมื่อ 1 เดือนก่อน (พ.ศ.2553) หลังจากผู้เขียนต้องเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้ตรวจรักษาผู้ป่วยซึ่งมีอาการกระดูกบิดอย่างมากหลายราย ได้ใช้กำลังไปมากในการรักษาผู้ป่วยด้วยหลักการสมดุลมณีเวช ทำให้รู้สึกว่าโครงสร้างร่างกายของตัวเองสะเทือนและเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ กลับถึงบ้านเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยระบมไปทั้งตัว ปวดศีรษะมาก และมีไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว ต่อมาไข้สูงขึ้น พยายามรักษาโครงสร้างร่างกายของตัวเองให้เข้าที่แล้วนอนพัก วันรุ่งขึ้น เริ่มไอ มีน้ำมูก และ เจ็บคอ ตรวจพบว่ากระดูกคอบิด หลังรักษากระดูกคอเข้าที่ดี อาการดังกล่าวก็ดีขึ้น แต่ยังไม่หายสนิท พอเริ่มไอ มีน้ำมูก และ เจ็บคอ ก็ตรวจพบอีกว่า กระดูกคอบิดทุกครั้ง รักษากระดูกคอให้ตรง อาการต่างๆ ก็ดีขึ้นทุกครั้ง โดยไม่ได้รับประทานยาใดๆ

วันที่ 3 ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก และ ไม่เจ็บคอแล้ว หลังจากฝึกสติให้ประคองคอตัวเองเข้าที่ได้ แต่อาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยระบมยังไม่หายไป ครั้งนี้ไม่รู้จะปรึกษาใครดีจึงต้องพึ่งตนเอง พยายามตรวจดูว่ายังมีโครงสร้างร่างกายตำแหน่งอื่นใดที่ยังไม่เข้าที่ ในที่สุดก็พบว่าบริเวณ Inferior Rami of Pelvis ข้างขวาเฉมาทาง anterior และบวมกดเจ็บ แสดงว่ากระดูกเชิงกรานยังไม่เข้าที่ ผู้เขียนพยายามรักษาตัวเองจนเชิงกรานเข้าที่ ยุบบวมลง กดไม่เจ็บ นอนพักผ่อน รู้สึกไข้ลดลง หายปวดศีรษะ และ หายปวดระบม แต่เมื่อนอนพลิกไปพลิกมา หรือเดินมากๆ ก็มีอาการบวมที่เดิมอีก เพราะเชิงกรานสามารถเคลื่อนไปมาได้ มีอาการปวดบวมที่เดิมอีก เมื่อปรับเชิงกรานจนเข้าที่ ก็รู้สึกไข้ลดและสบายตัว เมื่อผู้เขียนสามารถฝึกสติจัดตัวเองให้อยู่ในอิริยาบถที่ทำให้เชิงกรานไม่บิดจนบวมเจ็บได้ รวมเวลารักษาตัวเองอยู่ 5-6 วันกว่าจะหายดี โดยไม่ได้รับประทานยาใดๆ



รายที่ ๒ เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 25 ปี เธอเล่าว่า

ตอนเช้าวันหนึ่ง เป็นวันหยุด ดิฉันไปเดินเที่ยวในตลาดจตุจักร ได้ซื้อต้นไม้มาหลายกระถาง ต้องยกกระถางต้นไม้ขึ้นรถจากตลาด ลงรถที่บ้าน ขึ้นลงบันไดเพื่อจัดกระถางเข้าที่ จนกระทั่ง เริ่มไม่สบาย เป็นไข้ต่ำๆ รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ตอนกลางคืนปวดเมื่อยตามเนื้อตัว

วันที่ ๒ กลางวัน ไม่มีไข้ ยังรู้สึกปวดตามเนื้อตัว และไม่อยากอาหาร พอตกเย็นเริ่มเป็นไข้อีกครั้ง รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออกมาก และปวดตามเนื้อตัวตลอดคืน จึงเริ่มรับประทานยาพาราเซตามอล

วันที่ ๓ กลางวัน ไม่มีไข้ รู้สึกปวดตามเนื้อตัวมากขึ้น อ่อนเพลีย ยังพอเดินและเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ อาเจียน เมื่อรับประทานข้าวต้มกุ้ง พอตกเย็นเริ่มมีไข้ ปวดตามเนื้อตัวรุนแรงขึ้น ในวันนี้รับประทานยาพาราเซตามอลต่อเนื่องตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน 2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง รวม 8 เม็ด/วัน

วันที่ ๔ กลางวัน อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร และอาเจียนมาก ไม่สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ เพราะอาเจียนออกมาเช่นกัน ยังพอดื่มน้ำได้มากพอควร ตอนกลางคืนมีไข้ ปวดเมื่อยรุนแรง เริ่มมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นทั่วร่างกาย

วันที่ ๕ ตอนเช้า คุณพ่อซึ่งเป็นกุมารแพทย์ ไปปรึกษา กุมารแพทย์ด้วยกัน และสงสัยกันว่า ลูกสาวจะเป็น “ไข้เลือดออก” ถ้าวันนี้ยังรับประทานอะไรไม่ได้ต้องพาไปโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ และ ตรวจรักษาอย่างใกล้ชิด เตรียมเจาะเลือดตรวจ CBC และ Serology for DHF ที่บ้าน ตั้งใจรอผล CBC ถ้ามีเกร็ดเลือดต่ำก็จะให้ไปโรงพยาบาลเลย บังเอิญมีเพียงหลอดสำหรับทำ Serology ไม่มีหลอดสำหรับ CBC ผู้เขียนสังเกตเห็นโครงสร้างร่างกายที่บิดเบี้ยวจากการ ยกกระถางหนัก จนข้อมือบิด และ สะโพกบิด จึงตัดสินใจรักษาแบบหลักการสมดุลมณีเวชไปก่อน หลังการรักษา ไข้ลดลง อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวก็เริ่มหายไป ผู้ป่วยบอกส่องกระจกเห็นหน้าตัวเอง รู้สึกว่าหน้าตาสดชื่นขึ้น ระหว่างป่วย 5 วัน น้ำหนักลดลง จากเดิม 52 กิโลกรัม เหลือ 48 กิโลกรัม

ภายหลังการรักษาได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง เริ่มรู้สึกหิวและอยากรับประทานอาหาร เริ่มสังเกตเห็นว่าจุดแดงเล็กๆ ที่ขึ้นตามร่างกายนั้นจางลง คืนนั้นก็ไม่มีไข้ ไม่มีอาการปวดตามเนื้อตัวอีก อาการกลับสู่ปกติในวันที่ 6



วิจารณ์

ผู้เขียนใคร่ขอชี้ประเด็นให้แพทย์ได้ตระหนักและฟังคนไข้ให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคและรักษาโรคได้ดีมากขึ้น ดังนี้

คำว่า กระดูกบิด หมายถึง การเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติเพียงเล็กน้อย มีผลให้ไปกดทับท่อน้ำเหลืองเล็กๆ ทำให้เกิดการบวมได้ ถ้าดูจากภาพรังสีก็ยังมองไม่เห็น ดังนั้นศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์มักไม่ยอมรับว่ากระดูกบิดชนิดนี้เป็น dislocation ถ้าใช้คำว่า subluxation น่าจะยอมรับได้ ประวัติที่ทำให้มีกระดูกบิดสามารถเกิดได้ทั้งใน ขณะนอนหรือ ขณะตื่น การนอนนั่งยืนเดินซึ่งมีการเคลื่อนไหวในท่าที่ไม่เหมาะสมสามารถทำให้เกิดกระดูกบิดได้ เช่น การหักข้อมือเป็นประจำทำให้กระดูกข้อมือคือ Carpal bones เคลื่อนออกจากที่อาจคลำได้กระดูกโปนที่หลังมือ เวลากระดกข้อมือจะติดขัดทำไม่ได้มี limitation of movement มีอาการเจ็บปวด แล้วยังมีผลดึงรั้งไปถึงกระดูกคอ มีผลต่อเนื่องไปถึงกะโหลก และ brain circulation เป็นตัวอย่างหนึ่งของสัจธรรมที่ว่า มนุษย์เป็นทุกข์ในทุกอิริยาบถ ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้

โครงสร้างร่างกายที่บิดเบี้ยว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไข้ได้ เพราะกระดูกบิดจะไปกดเส้นน้ำเหลืองหรือเส้นเลือดดำทำให้มีการคั่งของน้ำเหลืองและเลือด ทำให้ตัวร้อนขึ้นได้ หรือ เกิดมีการอักเสบ (Process of Inflammation) ณ ตำแหน่งข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อต่างๆ ที่มีการบิดรั้ง ยิ่งถ้าบิดหลายตำแหน่ง หรือ กระดูกชิ้นใหญ่บิด เช่น กระดูกเชิงกราน ไข้ก็ยิ่งสูง เพราะมีการอักเสบเกิดกระจายไปทั่วเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องมีเชื้อโรค เมื่อกระดูกเข้าสู่สมดุลอาการต่างๆ จึงหายไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะการไหลเวียนดีขึ้นมีการเก็บกวาดสิ่งต่างๆออกไปทำให้การอักเสบหายไป

การดำเนินโรค ในรายที่ ๑ ครั้งสุดท้าย เป็นไข้อยู่ 5-6 วัน ก็ไม่ใช่เพราะเกิดจากเชื้อไวรัสอย่างเดียวเสมอไป ทำให้ผู้ป่วยเรียนรู้ด้วยตนเองว่า จะหาวิธีดูแลรักษาตัวเองได้อย่างไร สำหรับรายที่ ๒ ไข้ลดในวันที่ 5 หลายท่านอาจจะเชื่อว่าเป็นเพราะ dengue fever ไข้จะลดอยู่แล้ว ไม่น่าจะไข้ลดเพราะโครงสร้างร่างกายถูกแก้ไขคืนสู่ปกติ แต่ถ้าคิดให้ดี ถ้าไม่จัดโครงสร้างร่างกายให้ดี การติดเชื้อที่มีอยู่อาจรุกรานกลายเป็น dengue hemorhagic fever ได้ สมมุติฐานนี้ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

กรณี Traveler fever(1) ในตำราพบว่าผู้ป่วยที่มีไข้หลังการเดินทางแพทย์มักนึกถึงสาเหตุว่าเกิดจากโรคติดต่อจากอาหาร หรือ สารพิษ หรือ แมลง มองข้ามเรื่องที่ผู้เดินทางมีโอกาสกระดูกบิดออกจากที่ได้ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นไข้ตามมา จึงเป็นประเด็นที่ต้องนึกถึงเพิ่มเติมในการวินิจฉัยแยกโรค Traveler fever ด้วย โดยเฉพาะกุมารแพทย์ที่ต้องดูแล เด็กที่มีไข้หลังการเดินทางไปท่องเที่ยวกับ พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือ ไปทัศนศึกษาหรือเข้าค่ายกับเพื่อนๆ และคุณครูที่โรงเรียน

ประเด็นสำคัญคือ การตรวจวินิจฉัยและรักษาโครงสร้างร่างกายที่บิดเบี้ยวให้เข้าที่ ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าแพทย์จะเรียนรู้ฝึกฝนได้ เพียงต้องการเวลาในการฝึกฝนทักษะ ต้องเป็นผู้ที่เสียสละ และ มีทั้งกำลังกายที่แข็งแรงและกำลังใจที่เข้มแข็งมั่นคง ถ้าแพทย์เข้าใจและสนใจฝึกทักษะเหล่านี้ จะสามารถลดการใช้ยาและการตรวจทางห้องปฏิบัติการลง ประหยัดรายจ่ายหรืองบประมาณได้

สรุป มีการนำเสนอผู้ป่วย 2 ราย ซึ่งเป็นไข้จากกระดูกบิด เมื่อรักษาด้วยหลักการสมดุลมณีเวช ทำให้ไข้และอาการต่างๆ หายไปในทันที ผู้ป่วยจะรู้สึกสดชื่นและสบายกว่าการใช้ยาลดไข้หรือยาต้านจุลชีพ มีอาการหลายอย่างที่แพทย์ส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจ และบางครั้งรู้สึกว่าเป็น subjective ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยได้ แพทย์ต้องละเอียด ใส่ใจ และควรศึกษาวิชามณีเวชเพิ่มเติมจะช่วยเพิ่มคุณค่า (value added) จะทำให้เข้าใจ สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคได้มากขึ้น วิเคราะห์อาการที่เรานึกว่าคนไข้บ่นเพราะเครียด (anxiety) ความจริงแล้วแพทย์นั่นเองที่เครียด เพราะวิเคราะห์ไม่เป็นต่างหาก อาการที่คนไข้บ่นมักไม่มีในตำรา

เอกสารอ้างอิง

1. //emedicine.medscape.com/article/166320-overview. Last Editorial Review: 3/2/2010 by Charles Davis, MD., PhD; Kelly A Ellis, MD Department of Emergency Medicine, University of Maryland.

2. วารสารมณีเวช ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๕๑.





 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2553 17:22:01 น.
Counter : 3109 Pageviews.  

แผลร้อนใน

ความรู้สุขภาพ

แผลร้อนใน

ข้อมูลสื่อ
File Name : 359-016-2
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 359
เดือน-ปี : 03/2552
คอลัมน์ : ถามตอบปัญหาสุขภาพ
นักเขียนหมอชาวบ้าน : รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
Sun, 01/03/2552 - 00:00 — Anonymous

ถาม : เทพรัตน์/เชียงใหม่
ผมเป็นแผลในปาก ไปหาหมอ หมอวินิจฉัยว่าเป็นร้อนใน ให้ยามากิน แรกๆ ก็หายดี แต่ 2-3 เดือนต่อมาเป็นบ่อยมาก เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
ต้องการทราบว่าแผลในปากมีสาเหตุจากอะไร และรักษาอย่างไร

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
แผลร้อนใน (แผลแอฟทัส) เป็นสาเหตุของอาการ แผลเปื่อยในปากที่พบได้บ่อยที่สุดในคนทั่วไป มักจะเริ่มเป็นครั้งแรกช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว มักเป็นๆหายๆ เป็นประจำ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากสร้างความรำคาญ เมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นห่างออกไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจหายขาดเมื่ออายุมาก

สาเหตุ
แผลร้อนในยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากปัจจัย หลายอย่างร่วมกัน และอาจมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยา ภูมิต้านทานของร่างกาย

พบว่าร้อยละ 40 ของผู้ป่วยจะมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว จึงเชื่อว่าเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

ส่วนใหญ่จะเกิดอาการขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นส่วนน้อยพบว่ามีสิ่งกระตุ้นให้อาการกำเริบ ได้แก่
- ความเครียด เช่น ขณะคร่ำเคร่งกับงาน หรืออ่านหนังสือสอบ
- การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น เยื่อบุปากหรือลิ้นถูกกัดหรือถูกแปรงสีฟัน ฟันปลอม หรืออาหารแข็งๆ กระทบกระแทก
- การมีประจำเดือน
- การใช้ยาสีฟันที่เจือปนสาร sodium lauryl sulfate หรือ sodium lauroyl sarcosinate
- การแพ้อาหาร เช่น นมวัว เนยแข็ง กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต ผลไม้จำพวกส้ม ของเผ็ด แป้งข้าวสาลี
- การใช้ยา (เช่น แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อะเลนโดรเนต ที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน
- การเลิกบุหรี่
- ภาวะขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก หรือวิตามินบี
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ

การรักษา
1. ให้การรักษาตามอาการ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ระคายแผล เช่น อาหารเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด อาหารแข็ง
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือ 1 ช้อนชาในน้ำ 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง
- ถ้าปวดให้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำเย็น
- ถ้าปวดมากให้พาราเซตามอลบรรเทา
ส่วนใหญ่จะค่อยๆ หายได้เองตามธรรมชาติของโรคนี้ โดยไม่ต้องใช้ยาอื่นๆ นอกจากยาบรรเทาปวดเป็นครั้งคราว

2. ถ้าปวดรุนแรง หรือต้องการให้แผลหายเร็ว ให้ป้ายแผลด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้ วันละ 2-4 ครั้งจนกว่าจะหาย นั่นคือ สเตียรอยด์ เช่น ครีมป้ายปากไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์

3. รายที่เป็นๆ หายๆ บ่อยจะต้องหาสาเหตุ และให้การแก้ไข เช่น ให้ยาบำรุงโลหิตในรายที่มีโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก ให้กรดโฟลิก หรือวิตามินบีในรายที่ขาด หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ยาสีฟันและยาที่เป็นสิ่งกระตุ้น ผ่อนคลายความเครียดด้วยการออกกำลังกายและวิธีอื่นๆ ใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กและขนนุ่มเพื่อไม่ให้ปากถูกกระทบกระแทก เป็นต้น

4. ถ้าแผลไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ หรือเป็นรุนแรง หรือเป็นครั้งแรกในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรส่งโรงพยาบาล หรือส่งตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม


Create Date : 03 พฤศจิกายน 2553




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2553 17:15:04 น.
Counter : 335 Pageviews.  

1  2  

vapium
Location :
กระบี่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ข้อมูลทั่วไป
อายุ-เพศ 26 male
วันเดือนปีเกิด 13 กุมภาพันธ์ 2527
สถาบันการศึกษา อำมาตย์พานิชนุกูล/มหาวิทยาลัยมหิดล
อาชีพ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ
งานอดิเรก ดูหนัง
ความสนใจ หนัง,การ์ตูน
Friends' blogs
[Add vapium's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.