ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

คุณอยากให้บ้านและที่ดินราคาถูกลงมากๆ ไหม?

คุณอยากให้บ้านและที่ดินราคาถูกลงมากๆ ไหม?

คนมากหลายไม่อาจซื้อบ้านและที่ดินมาเป็นของตนและครอบครัวได้ตลอดทั้งชีวิตเพราะราคาแพงเกินกำลังของเขา
แต่เชื่อไหม ว่าเราสามารถทำให้ที่ดินมีราคาเป็นศูนย์ได้ หรือไม่ก็แทบไม่มีราคาเลยในการซื้อขายกัน คนซื้อที่ดินและบ้านก็จะจ่ายแทบจะเฉพาะราคาบ้านเท่านั้น บ้านเองจะมีราคาถูกลง รวมทั้งสินค้าอื่นๆ มิหนำซ้ำค่าแรงเงินเดือนและผลตอบแทนการลงทุนก็สูงขึ้น เรียกได้ว่าเข้ายุคพระศรีอารยเมตไตรยกันทีเดียว

แต่เรื่องใหญ่ๆ กระทบคนจำนวนมากมายอย่างนี้ ควรค่อยทำค่อยไป น่าจะใช้เวลา ๒๐–๓๐ ปี
วิธีการนั้นง่ายมาก คือให้รัฐยกเลิกภาษีอื่นๆ ทั้งสิ้นพร้อมกันไปกับการเก็บ ‘ภาษีที่ดิน’ อย่างเดียว แต่เก็บในอัตราที่สูงเท่ากับค่าเช่าแบบที่เอกชนเขาทำกัน

แต่ถ้าภาษีที่ดิน รวมทั้งค่าสัมปทาน ค่าภาคหลวงทรัพยากรธรรมชาติ ยังน้อยไป ไม่เพียงพอกับรายจ่ายของรัฐ ผมก็ยังเห็นว่าต้องเก็บเป็นอันดับแรก แลัวถึงยังต้องมีเก็บภาษีอย่างอื่นบางอย่างด้วยบ้างก็ไม่เห็นเป็นไร แต่ถือว่ารัฐบาลต้องพยายามตัดค่าใช้จ่ายให้พอดีกับรายรับที่ชอบธรรมของรัฐ (คือภาษีที่ดินกับค่าทรัพยากรนั่นละ ซึ่งถือว่าเป็นของทุกคนเท่ากัน แล้วยินยอมยกให้เป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาล) ส่วนการทำงานและการลงทุนที่จริงไม่ควรถูกเก็บภาษี

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ๓ ท่านพูดไว้ดังนี้ (จาก //www.schalkenbach.org/library/SaratogaBatt.pdf )
๑. Franco Modigliani: เป็นเรื่องสำคัญที่จะรักษาค่าเช่า [ภาษี] ที่ดินไว้เป็นแหล่งรายได้แหล่งหนึ่งของรัฐ บางคนที่สามารถจะใช้ประโยชน์ที่ดินได้เป็นเลิศอาจไม่สามารถหาเงินได้มากพอสำหรับราคาซื้อ การเก็บค่าเช่า [ภาษี] เป็นรายปีจะช่วยให้ผู้ที่มีขีดจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อสามารถเข้าถึงที่ดินได้
๒. Robert Solow: ผู้ใช้ที่ดินไม่ควรได้สิทธิ์ที่ไม่จำกัดระยะเวลาเพียงเพราะการจ่ายเงินครั้งเดียว เพื่อประสิทธิภาพ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ และเพื่อความยุติธรรม ผู้ใช้ที่ดินทุกคนควรจะต้องจ่ายเป็นรายปีให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเท่ากับมูลค่าของค่าเช่าในขณะนั้นสำหรับที่ดินซึ่งเขาทำให้ผู้อื่นหมดสิทธิที่จะใช้
๓. William Vickrey: มัน [ภาษีมูลค่าที่ดิน] เป็นสิ่งประกันว่าจะไม่มีผู้ใดพรากสิทธิของเพื่อนพลเมืองด้วยกันโดยการแสวงหาส่วนแบ่งที่มากเกินควรในสิ่งที่ธรรมชาติได้จัดเตรียมไว้ให้แก่มนุษยชาติ

ผลร้ายของระบบภาษีปัจจุบัน (เก็บภาษีที่ดินน้อยไป เก็บภาษีอื่นๆ มากไป) คือ
๑. ผิดศีลข้ออทินนาทาน เอาจากกลุ่มอื่นไปให้แก่กลุ่มเจ้าของที่ดินด้วยวิธีการภาษี โดยภาษีและกิจกรรมของส่วนรวมไปทำให้สังคมมีความน่าอยู่และปลอดภัยขึ้น ที่ดินก็เลยแพง โดยฉะนี้ถึงได้มีการเก็งกำไรแสวงหาครอบครองที่ดินกันในวงกว้างทั่วไป ที่ดินก็ยิ่งแพงขึ้น คนยากคนจนหรือจะแข่งขันด้วยได้ จำใจต้องยอมเป็นผู้เช่า จ่ายทั้งค่าเช่าที่ดิน ทั้งภาษีอื่นๆ
๒. ภาษีปัจจุบันเป็นตัวถ่วง แทนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูตัวอย่างสหรัฐฯ เขากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีลดภาษีอื่นๆ มาหลายต่อหลายหนแล้ว
๓. การไม่เก็บภาษีที่ดินหรือเก็บน้อยไปก็กลับเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจซ้ำเข้าไปอีก เพราะที่ดินถูกเก็งกำไรเก็บกักกันไว้เฉยๆ มากมาย หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ทำให้การจ้างงานน้อย และค่าแรงต่ำ ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนเครื่องทุ่นแรงก็ต่ำ
๔. ภาษีเงินได้ ภาษีกำไร พวกนี้ไปลดรายได้จริงของคนทำงานและผู้ลงทุน
๕. ภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีขาเข้า ไปทำให้ของแพง และทำให้ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศลด ไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเหมือนฮ่องกง สิงคโปร์
๖. ราคา/ค่าเช่าที่ดินและบ้านแพงกว่าที่ควร แฟลต/คอนโดในเมืองก็มีน้อย เกิดปัญหาต้องเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองติดขัดอัดแอเสียเวลามาก เกิดปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมือง การย้ายบ้านก็ยากเพราะต้องใช้เงินมาก
๗. เพราะที่ดินมีราคา จึงมีคดีที่ดินเป็นภาระแก่ศาลยุติธรรมมากมาย คนจำนวนมากต้องเสียเงินเสียเวลาขึ้นศาลกันนานๆ ระหว่างนั้นที่ดินก็อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์
๘. สังคมมีความแตกต่าง เกิดการแตกแยก ส่วนหนึ่งเพราะความไม่เป็นธรรมด้วยวิธีการภาษีดังข้อ ๑.

ถ้ารัฐประเมินเก็บภาษีที่ดินเท่าค่าเช่าแบบที่เอกชนเขาคิดกัน ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะเลือกซื้อขายที่ดินได้ง่าย รวมทั้งผู้ลงทุนสร้างบ้านขายพร้อมที่ดิน แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำกู้ไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็คงแทบไม่ต้องกู้แล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวได้ยาก ถือว่าถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่การลงทุนอย่างอื่นก็ยังคงมีวิธีทำได้ด้วยการเสนอโครงการที่ดีเป็นที่ยอมรับแก่ผู้ให้กู้ เช่น ธนาคาร การใช้เครื่องจักรกลหรืออาคารเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน การร่วมทุนกัน การเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น และศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) //www.sfac.or.th ก็พร้อมช่วยเหลือ

หลายคนมีความเห็นค้านเพราะคิดว่าที่ดินลดความสำคัญลงเรื่อยๆ เราสามารถสร้างตึกสูงเป็นคอนโดมิเนียมหลายสิบชั้นซ้อนกันขึ้นไปให้ผู้คนเข้าอาศัยอยู่ได้จำนวนมาก เทคโนโลยีเจริญก้าวไกล บริษัทผลิตซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมแบบไมโครซอฟต์ทำเงินได้มหาศาล ไม่เห็นจะต้องใช้ที่ดินมากเลย ก็ถูกครับ แต่ถูกเป็นบางส่วน เทคนิคการสร้างตึกสูงทำให้ใช้ที่ดินน้อยลงได้ แต่มันก็ต้องใช้ต้นทุนสูงคุ้มเฉพาะกับที่ดินราคาแพงย่านชุมชนหนาแน่นเท่านั้น ซ้ำยังทำให้ราคาที่ดินย่านนั้นสูงขึ้นไปอีก ส่วนซอฟต์แวร์นั้นคนก็กินแทนข้าวปลาไม่ได้ ของกินของใช้ยังต้องอาศัยที่ดินผลิตขึ้นมา โดยการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าก็กลับไปเพิ่มความสามารถสนองความต้องการทางวัตถุให้แก่มนุษย์มากขึ้นดีขึ้น คนมีอันจะกินก็ต้องการการพักผ่อน ท่องเที่ยว ผจญภัย หาความสำราญมากขึ้น ต้องการเครื่องเล่น สวนสนุก บ้านที่สอง เรือสำราญ เรือยอช์ต รถนอนหรือบ้านเคลื่อนที่ เครื่องบินส่วนตัว บัลลูน เดี๋ยวนี้ก็ถึงขั้นขึ้นอวกาศกันแล้ว ซึ่งทั้งหลายที่ว่านี้ล้วนใช้ที่ดินและทรัพยากรสิ้นเปลืองเพิ่มขึ้นทั้งนั้น

อัจฉริยบุคคลมักเห็นแย้งกัน แต่ในปัญหาที่ยุ่งยากที่สุดปัญหาหนึ่งของมนุษย์ – จะแบ่งที่ดินอย่างไรให้ยุติธรรม – มีบางท่านได้ข้อยุติเหมือนกัน:- ผู้ใช้เสียค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่หมดสิทธิการใช้ พวกเขาได้ข้อยุตินี้ด้วยเหตุผลจากลักษณะพิเศษเฉพาะของที่ดิน เจ้าของที่ดินบางคนยังไม่ใช้ที่ดิน เพื่อรอราคาที่จะสูงขึ้นในอนาคต ทำให้ที่ดินมีราคาสูงยิ่งขึ้นไปอีก

การมีสิทธิในที่ดินต่างกับสิทธิในทรัพย์สินอื่น (จาก //www.progress.org/geonomy/thinkers.html)
๑. ผู้ควรได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคือผู้ที่ลงแรงลงทุนผลิตมัน แต่ไม่มีใครในพวกเราผลิตที่ดิน
๒. การลงทุนซื้อบางสิ่งจากผู้ผลิตหรือเจ้าของที่ชอบธรรมทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ แต่ที่ดินไม่มีผู้ผลิตหรือเจ้าของที่ชอบธรรมมาก่อน
๓. สินค้าและบริการเมื่อแพงขึ้นเพราะมีผู้ต้องการเพิ่ม ก็สามารถผลิตเพิ่มทำให้ราคากลับสู่ดุล แต่สถานที่หรือทรัพยากรผลิตเพิ่มไม่ได้ เมื่อความต้องการเพิ่ม ราคาจึงเพิ่ม
๔. ถ้าเราต้องการทรัพย์สินชิ้นหนึ่ง เราก็จำเป็นต้องมีที่ดิน อันเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตและทรัพย์สิน ถ้ามีการกักตุนสินค้า แม้จะเป็นจำนวนมาก ผู้อื่นสามารถผลิตเพิ่ม แต่ถ้ากักตุนทรัพยากร – แหล่งที่มาของทรัพย์สิน – และที่ดิน – สถานที่ซึ่งใช้ทำงาน – จะเป็นการกีดกันผู้อื่นมิให้ทำงานผลิต

Karl Marx “จากมุมมองของรูปแบบทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นของสังคม การให้เอกชนบางคนมีกรรมสิทธิ์ในแผ่นดินโลกเป็นความเฉาโฉดเหมือนกับการให้บุคคลหนึ่งมีกรรมสิทธิ์ในอีกบุคคลหนึ่ง แม้แต่สังคมหนึ่ง หรือแม้แต่ทุกสังคมรวมกัน ก็ไม่ใช่เจ้าของแผ่นดินโลก พวกเขาเป็นเพียงผู้ครอบครอง ผู้ใช้แผ่นดินโลก และจะต้องส่งต่อไปยังชนรุ่นหลังๆ ในภาวะที่ดีขึ้น เสมือนบิดาที่ดีของครอบครัว” (Das Kapital, vol. III, p. 901-2 อ้างโดย //www.progress.org/geonomy/thinkers.html)

Winston Churchill กล่าวไว้ว่า (จาก //www.earthsharing.org.au/winston.html)
“การผูกขาดที่ดินมิใช่การผูกขาดเพียงชนิดเดียวที่มีอยู่ แต่ก็เป็นการผูกขาดที่ใหญ่หลวงที่สุด – เป็นการผูกขาดตลอดกาล และเป็นต้นกำเนิดของการผูกขาดอื่นๆ ทุกรูปแบบ . . . .
“ที่ดิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแหล่งที่มาแห่งทรัพย์สินทั้งสิ้น ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งมีตำบลที่ทางภูมิศาสตร์คงที่ – ที่ดิน ข้าพเจ้าขอกล่าว แตกต่างจากทรัพย์สินในรูปแบบอื่นๆ ทั้งมวล . . . .
. . . . . . . . . . . . . . .
“ . . . ข้าพเจ้าหมายถึงกระบวนการมากกว่าตัวเจ้าของที่ดินแต่ละคน ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังชนชั้นหนึ่งชั้นใดขึ้น ข้าพเจ้ามิได้คิดว่าผู้ที่หาเงินจากส่วนเพิ่มของราคาในที่ดิน อันมิใช่เกิดจากการลงทุนลงแรง นั้น เลวกว่าบุคคลอื่นที่หากำไรเท่าที่อาจจะหาได้ในโลกที่มีความลำบากนี้โดยไม่เป็นการผิดกฎหมายและเป็นไปตามที่ปฏิบัติกันทั่วไป ที่ข้าพเจ้าโจมตีนั้นไม่ใช่บุคคล แต่เป็นระบบ ไม่ใช่บุคคลเลว แต่เป็นกฎหมายต่างหากที่เลว ที่ควรจะถูกติเตียนนั้นไม่ใช่บุคคลผู้กระทำการอันกฎหมายได้อนุญาตไว้และผู้อื่นก็กระทำกัน แต่ควรจะเป็นรัฐที่ถูกตำหนิหากไม่หาทางปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขการปฏิบัติ เราไม่ต้องการจะลงโทษเจ้าของที่ดิน แต่เราต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย”

ครับ และเจ้าของที่ดินปัจจุบันก็มักจะมิใช่มีฐานะเจ้าของที่ดินเพียงฐานะเดียว บางทีก็เป็นผู้ลงแรงด้วย บางทีก็เป็นผู้ลงทุนด้วย บางทีก็เป็นทั้ง ๓ ฐานะเลย ดังนั้นพวกเขาคงไม่เดือดร้อนมากถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีดังกล่าว พวกเขาส่วนใหญ่อาจดีขึ้นอีกด้วยซ้ำ ถึงกระนั้นรัฐก็ควรมีการสวัสดิการไว้รองรับผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ไว้ด้วย.

จาก //geocities.com/utopiathai




 

Create Date : 09 กันยายน 2549    
Last Update : 23 กันยายน 2549 23:11:24 น.
Counter : 1000 Pageviews.  

มิใช่ความเห็นแก่ตัวที่ทำให้สมเด็จพระสมณโคดมทรงผินพระปฤษฎางค์ให้แก่พระราชวังของพระองค์

"มิใช่ความเห็นแก่ตัวที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของทุกชาติเต็มไปด้วยวีรบุรุษและนักบุญ มิใช่ความเห็นแก่ตัวที่ในประวัติศาสตร์โลกทุกหน้าได้ระเบิดออกมาเป็นความงดงามแห่งการกระทำอันสูงส่งโดยทันทีหรือฉายรังสีนวลแห่งชีวิตอันมีเมตตาให้ปรากฏอยู่ มิใช่ความเห็นแก่ตัวที่ทำให้สมเด็จพระสมณโคดมทรงผินพระปฤษฎางค์ให้แก่พระราชวังของพระองค์ หรือทำให้โจนออฟอาร์ก (Maid of Orleans) ยกดาบขึ้นจากแท่นบูชา ทำให้นักรบสปาร์ตาทั้งสามร้อยสู้ตายในช่องเธอร์มอพิลี หรือที่รวบใบหอกจำนวนมากฝังเข้าไปในอกของ Winkelried ที่ใช้โซ่ล่าม Vincent de Paul ติดกับกระทงเรือแกลลีย์ หรือที่ทำให้เด็กเล็ก ๆ ที่อดอยากในระหว่างทุพภิกขภัยในอินเดียเดินโซซัดโซเซมายังสถานีบรรเทาทุกข์โดยมีเด็กน้อยผู้อดอยากที่อ่อนเพลียยิ่งกว่าอยู่ในวงแขน จะเรียกว่าศาสนา ความรักชาติ ความเห็นใจ ความกระตือรือร้นในมนุษยธรรม หรือความรักแห่งพระผู้เป็นเจ้า – จะเรียกว่าอะไรก็ได้ตามที่ท่านต้องการ แต่ยังมีพลังอย่างหนึ่งซึ่งเหนือกว่าความเห็นแก่ตัวและขจัดความเห็นแก่ตัวออกไป พลังซึ่งเป็นไฟฟ้าแห่งจักรวาลของศีลธรรม พลังซึ่งทำให้พลังอื่น ๆ ทั้งสิ้นที่อยู่เคียงข้างอ่อนแอลงไป ทุกแห่งที่มนุษย์เคยอยู่ พลังนี้ได้แสดงอานุภาพมาแล้วและขณะนี้โลกก็เต็มไปด้วยพลังเช่นนี้ ดังที่เคยเป็นมา . . . "
(จาก //geocities.com/utopiathai/ProgressAndPoverty.html หน้า 462-463)

ในหนังสืออเมริกันดีเด่น Progress and Poverty (ค.ศ.1879) เฮนรี จอร์จยังได้เขียนถึงกาฉลาดที่ชื่อ Bushanda ในมหากาพย์เรื่องรามายณะ คัมภีร์เวท และ พระธรรมบท ไว้ด้วยดังนี้

"ไม่เป็นการไร้เหตุผลที่ Bushanda กาฉลาดในเรื่องรามายณะ 'ผู้ได้อยู่มาในทุกส่วนของเอกภพและรู้เหตุการณ์ทุกอย่างนับตั้งแต่เริ่มกาลเวลา' ได้ประกาศว่า ถึงแม้การรังเกียจต่อประโยชน์ทางโลกจะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความสุขสูงสุด แต่ความเจ็บปวดที่รุนแรงที่สุดก็เกิดขึ้นจากความยากจนสูงสุด . . . " (ProgressAndPoverty หน้า 356) และ

" . . . คัมภีร์เวทมิได้ประกาศสิ่งใดที่เป็นความจริงยิ่งไปกว่าเมื่อ Bushanda กาฉลาดกล่าวแก่พญาครุฑผู้เป็นพาหะของพระวิษณุว่า ความเจ็บปวดรุนแรงที่สุดนั้นอยู่ที่ความยากจน เพราะความยากจนหาได้เป็นแต่เพียงการทำให้สิ้นเนื้อประดาตัวเท่านั้นไม่ หากยังหมายถึงความอัปยศ ความต่ำทราม เป็นการเผาส่วนที่รู้สึกไวที่สุดของลักษณะทางศีลธรรมและทางจิตใจของเราเสมือนหนึ่งนาบด้วยเหล็กแดง . . . " (ProgressAndPoverty หน้า 457) และ

"คัมภีร์ทั้งหลายของผู้ที่เคยมาอยู่และล่วงลับไปแล้ว – เช่นไบเบิล คัมภีร์ Zend Avesta พระเวท พระธรรมบท และคัมภีร์กุรอ่าน หลักคำสอนสำหรับเฉพาะกลุ่มของปรัชญาโบราณ ความหมายชั้นในของลัทธิศาสนาแปลก ๆ บัญญัติของสภาศาสนจักรต่าง ๆ คำสอนของ Fox, Wesley และ Savonarola ประเพณีของอินเดียนแดง และความเชื่อของคนป่าผิวดำ เหล่านี้ล้วนแต่มีความคิดและแก่นอันหนึ่งซึ่งร่วมกัน – นั่นคืออะไรบางอย่างซึ่งดูคล้ายกับจะเป็นความเข้าใจที่บิดเบือนแตกต่างกันไปในสัจธรรมขั้นปฐมอันหนึ่ง และจากลูกโซ่แห่งความคิดที่เราได้ติดตามมา ดูเหมือนจะมีแสงของสิ่งที่เขาเหล่านั้นได้เห็นอย่างเลือนรางปรากฏให้เห็นแวบหนึ่งอย่างราง ๆ – นั่นคือลำแสงสลัวแห่งความสัมพันธ์ขั้นเด็ดขาด ซึ่งความพยายามที่จะแสดงออกได้กลายมาเป็นแบบอย่างและนิยายอุปมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ . . . " (ProgressAndPoverty หน้า 563)

คำว่า Gautama, Ramayana, Veda, Vishnu และ Dhammapada มีอธิบายอยู่ในอภิธานท้ายหนังสือ Progress and Poverty หรือ ความก้าวหน้ากับความยากจน ที่ //geocities.com/utopiathai/ProgressAndPoverty.html ด้วย




 

Create Date : 03 กันยายน 2549    
Last Update : 9 กันยายน 2549 9:16:08 น.
Counter : 644 Pageviews.  

เทคโนโลยีก้าวหน้า คนจนกลับยิ่งแย่

ความเจริญก้าวหน้าด้านวิศวกรรมหรือเทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็จริง
แต่กลับทำให้คนยากจนที่เป็นฐานล่างของสังคมยิ่งเดือดร้อนในระบบภาษีปัจจุบันซึ่งเก็บภาษีน้อยเกินไปจากที่ดิน
และเก็บภาษีมากเกินไปจากการทำงานและการลงทุนผลิตสินค้าและบริการ (รวมทั้งการแลกเปลี่ยนซื้อขาย)
Henry George (ค.ศ.1839-1897) เป็นคนแรกที่อธิบายสาเหตุของความยากจนได้ดีที่สุด

ปัจจัยที่ทำให้ที่ดินมีราคา
1. ความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินทำให้ที่ดินมีราคา
2. ประชากรเพิ่ม ราคาที่ดินก็สูงขึ้น
3. เทคโนโลยีก้าวหน้า สามารถผลิตของกิน ของใช้ ของโชว์ ของเล่นคลายเครียดเพิ่มความสุขสนุกสำราญได้ประณีตพิสดารขึ้น (ล้วนต้องมาจาก “ที่ดิน” ทั้งสิ้น) ยิ่งเพิ่มความกระหายขึ้นสำหรับผู้มีโอกาสมีความสามารถ ราคาที่ดินก็สูงขึ้น
4. เมื่อคนเราทำงานมากขึ้นเป็นการทั่วไป (รวมทั้งแม่บ้านออกทำงานด้วยจากเดิมที่พ่อบ้านทำงานคนเดียว) ก็เกิดผลเช่นเดียวกัน คือ ราคาที่ดินสูงขึ้น
5. การมารวมกันเป็นชุมชนเมือง ประชากรหนาแน่น มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้การร่วมมือกันด้วยการแบ่งงานผลิตสินค้าและบริการแล้วเอามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเป็นไปโดยรวดเร็ว ที่ดินก็แพงขึ้น
6. ราษฎรเสียภาษีให้รัฐเอาไปใช้ดูแลความสงบเรียบร้อยปลอดภัยไร้โจร คอยป้องกันอัคคีภัย สร้างถนน ท่อระบายน้ำเสีย มีพนักงานเก็บกวาด ตรวจตราป้องกันการก่อมลพิษ และบริการประชาชนด้านอื่นๆ อีก ก็ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นหรือแม้เพียงดำรงความน่าอยู่เดิมไว้ ราคาที่ดินก็สูงขึ้นหรือดำรงราคาเดิมอยู่ได้
7. การเก็งกำไรสะสมที่ดินเป็นการทั่วไปก็ทำให้ราคาที่ดินยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามให้เกิดความสะดวกสบาย เจริญขึ้น แก่ส่วนรวม
จะมีแต่ทำให้ผู้มีสิทธิ์ถือครองที่ดินเป็นฝ่ายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น
ทุกคนที่พอมีกำลังทรัพย์ มีปัญญา เห็นดังนั้น ก็เอาอย่างกัน
เกิดการรวมหัวผูกขาดโดยไม่ได้นัดหมาย แสวงหาที่ดินกันเอาไว้มาก ๆ เท่าที่จะทำได้
เป็นการเก็งกำไรที่กว้างขวางที่สุดของโลก
แล้วใครเดือดร้อน ถ้ามิใช่คนยากจน ด้อยโอกาส ไร้ความสามารถที่จะร่วมแข่งขันหาที่ดินมาเป็นของตนเอง
ที่ดินก็ต้องเช่า ซึ่งแพงขึ้นๆ
ภาษีก็ต้องเสียในรูปของราคาสินค้าที่สูงขึ้นเพราะภาษีทางอ้อม
การเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน ที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ก็ทำให้หางานทำยาก ค่าแรงต่ำ เป็นผลร้ายแก่ผู้ใช้แรงงานซ้ำเข้าไปอีก

การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนผลิตสินค้าหรือบริการ แต่คือการซื้อสืบต่อสิทธิ์ที่จะได้ราคา/ค่าเช่าที่ดินสูงขึ้น โดยก่อความทุกข์เข็ญแก่ผู้ที่ยากจนอยู่แล้ว
เจ้าของที่ดินไม่ได้มีส่วนในการผลิต แต่กลับมีสิทธิ์เรียกส่วนแบ่งของผลผลิตจากผู้ทำงานและผู้ลงทุนผลิต
สิทธิ์นี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามปัจจัย 7 ข้อที่กล่าวไว้แล้ว โดยเจ้าของที่ดินไม่ต้องทำอะไร

ทางแก้ก็คือเพิ่มภาษีที่ดิน และลด/เลิกภาษีอื่นๆ ที่เป็นภาระแก่ผู้ผลิต
นี่คือวิธีดีที่สุดในการค่อยๆ ทำให้ที่ดินกลายเป็นของส่วนรวมร่วมกัน
ความเจริญก้าวหน้าทั้งหลายจึงจะกลับมาเป็นประโยชน์แก่ผู้คนในสังคมโดยทั่วหน้า.




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2549    
Last Update : 30 สิงหาคม 2549 8:57:48 น.
Counter : 764 Pageviews.  

ผู้ถูกฉกชิงตลอดกาล

ผู้ถูกฉกชิงตลอดกาลจำนวนมากคือคนจน
ซึ่งเป็นฐานล่างของสังคมและช่วยตัวเองได้น้อยที่สุด
ระบบภาษีของแทบทุกประเทศเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าของที่ดิน
ที่ดินว่างเปล่าในเมืองมีราคาเป็นล้านมิใช่จากเจ้าของที่ดินทำอะไร

เหตุนั้นจึงเกิดการเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดินกันอย่างกว้างขวางทั่วไป
ยิ่งทำให้คนจนไม่สามารถมีที่ดินได้พอเพียงกับการอยู่อาศัยและทำกิน
เทคโนฯ ก้าวหน้าและความเจริญดีทั้งหลายกลับไปเพิ่มราคา/ค่าเช่าที่ดิน
การเก็งกำไรที่ดินทำให้คนจนต้องเสียค่าเช่าที่ดินแพงกว่าปกติ
ค่าเช่าที่ดินยิ่งสูงแปลว่าส่วนที่เหลือเป็นค่าแรงและดอกเบี้ยยิ่งต่ำ

อีกทั้งเมื่อที่ดินถูกเก็งกำไรเก็บไว้ไม่ใช้ประโยชน์หรือทำประโยชน์น้อยไป
ก็ยิ่งลดโอกาสที่แรงงานจะเข้าใช้ที่ดินเพื่อการผลิตทำมาหากิน
จึงเกิดการสูญเปล่า การว่างงานมากขึ้น ค่าแรงก็ต่ำลงเรื่อยๆ
ยิ่งทำให้คนจนอ่อนแอ กลายเป็นเหยื่อแก่นายทุนและผู้อื่นซ้ำเข้าไปอีก
คนจนจึงยากที่จะหลุดพ้นวงจรแห่งความยากจน

คำตอบคือภาษีที่ดินซึ่งเก็บเท่าหรือเกือบเท่ากับค่าเช่าศักย์
เพื่อให้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งไม่ได้เกิดจากเจ้าของที่ดิน
แต่เกิดจากธรรมชาติและกิจกรรมของสังคม กลับคืนมาเป็นของสังคม
แต่ขอให้ค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลาหลายสิบปี
แล้วเลิก/ลดภาษีจำพวกภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ชดเชยกัน
และ/หรือ นำภาษีที่ดินมาเฉลี่ยแจกราษฎรทุกคนเท่าๆ กัน




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2549    
Last Update : 25 สิงหาคม 2549 9:02:09 น.
Counter : 666 Pageviews.  

แนวคิดแก้ไขความยากจนของเฮนรี จอร์จ

Henry George (ค.ศ.1839-1897) เรียนจบเพียงประถม 6 เพราะความยากจน เขาต้องหยุดการเรียนขณะอยู่เกรด 7 แล้วก็ออกทำงานเป็นเด็กรับใช้ (cabin boy) ในเรือสินค้า ซึ่งเดินทางรอบโลก แต่ในการเดินทางไปกับเรือสินค้าครั้งที่ 2 ในฐานะกะลาสีชั้นสามารถ (able seaman) จอร์จก็ลาออกมาเป็นช่างเรียงพิมพ์ แล้วก็ได้เป็นผู้รายงานข่าว ผู้เขียนบทบรรณาธิการของ นสพ.ซานฟรานซิสโกไทมส์ บรรณาธิการจัดการ และยังเขียนเรื่องให้นิตยสารต่างๆ อีกด้วย ความรู้ความสามารถของจอร์จเกิดจากความช่างสังเกตและการพากเพียรศึกษาด้วยตนเอง

เมื่อเดินทางจากซานฟรานซิสโกไปไปทำงานที่นิวยอร์ก จอร์จได้เห็นความยากจนร้ายแรงในเมืองใหญ่ทั้งๆ ที่ในเมืองใหญ่ปรากฏทรัพย์สินมหาศาล จึงเกิดแรงบันดาลใจให้ค้นหาสาเหตุของความแตกต่างนี้
เขาได้พบด้วยว่า อุตสาหกรรมปฏิวัติซึ่งคือความก้าวหน้าอย่างมโหฬารของเครื่องจักรกลที่ช่วยเพิ่มผลผลิต กลับทำให้คนงานเดือดร้อนจากค่าแรงต่ำ และค่าแรงทั่วไปมีแต่แนวโน้มจะต่ำลงในขณะที่ที่ดินแพงขึ้น
การเก็งกำไรกักตุนที่ดินยิ่งทำให้หางานทำยากมากขึ้น ค่าแรงยิ่งต่ำ และทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง

ในชั้นแรก จอร์จได้เขียนหนังสือขนาดเล็ก 48 หน้า เรื่อง Our Land and Land Policy ในปี 1871 พิมพ์ 1,000 เล่ม แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ในปี 1877 เขาจึงเริ่มเขียนหนังสือ Progress and Poverty ขนาด 565 หน้าเพื่ออธิบายสาเหตุและวิธีแก้ไขความยากจนให้ละเอียดยิ่งขึ้น ใช้เวลา 1 ปี 7 เดือนจึงเขียนจบ พิมพ์ครั้งแรกปี 1879 เมื่อรวมกับการปาฐกถาในสหรัฐฯ เอง สกอตแลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งการโต้วาทีกับพรรคสังคมนิยมในนิวยอร์กและลอนดอน และเขียนหนังสือและบทความจำนวนมาก ก็ทำให้เขามีชื่อเสียงในขณะที่เขามีชีวิตอยู่ เป็นลำดับ 3 ของสหรัฐฯ ต่อจาก Thomas Edison และ Mark Twain

เฮนรี จอร์จตายก่อนวันเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก 4 วัน ซึ่งเขาเข้าสมัครรับเลือกตั้งด้วยเป็นครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 11 ปี (ครั้งแรกเขาแพ้ Abram S. Hewitt แต่ชนะ Theodore Roosevelt ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ) การสมัครรับเลือกตั้งทั้งสองครั้งเพราะสหภาพแรงงานขอร้อง งานศพของจอร์จมีผู้คนกว่าแสนคนมาเคารพศพและร่วมขบวนศพไปยังสุสานใน Brooklyn

หนังสือ Progress and Poverty ที่ลือลั่นและขายดีในสมัยของจอร์จเองได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย และกลุ่มผู้นิยมจอร์จได้ใช้เป็นตำราสั่งสอนกันต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน ใน ค.ศ.1963 ห้องสมุดทำเนียบขาวได้เลือกหนังสือนี้ไว้ในกลุ่มหนังสืออเมริกันดีเด่น เฮนรี จอร์จเองก็ได้รับการยกย่องจากบุคคลสำคัญจำนวนมาก

เหตุที่เฮนรี จอร์จไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงในระยะหลังน่าจะเป็นเพราะ:--

"ข้อเขียนและคำปราศรัยของ Henry George (ค.ศ.1839-1897) ในช่วง 20 ปีสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เสนอให้ยกเลิกภาษีทั้งสิ้น ยกเว้นให้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งได้รับการต้อนรับจากคนส่วนใหญ่ ทำให้กลุ่มอำนาจต้องหาทางรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ส่วนที่สำคัญก็คือพยายามมีอำนาจควบคุมการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ของสหรัฐฯ

"ศาสตราจารย์ Mason Gaffney อธิบายว่าเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิกเริ่มขึ้นเมื่อ John Bates Clark (ค.ศ. 1847-1938 ) ผู้มีชื่อเสียงด้านพัฒนาแนวคิดเรื่องผลิตภาพหน่วยท้ายสุด (marginal productivity) ถือเอาเป็นภาระหน้าที่ของตนที่จะต้องต่อต้าน Henry George เงินทุนจาก J.P. Morgan ทำให้ Clark ได้รับการย้ายไปยังมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แล้วบรรดาศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ที่คุ้นเคยกับการโต้แย้งทางจริยธรรมก็ถูกแทนที่ด้วยผู้ผ่านการศึกษาด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ

"สิ่งแรกที่กลุ่มนีโอคลาสสิกทำคือ การถอนเอา ‘ที่ดิน’ ออกจากสมการเศรษฐกิจ โดยไม่ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่แตกต่างจากทุนและสินค้าที่ผลิตขึ้นมาด้วยการใช้แรงงาน โลกเศรษฐศาสตร์จึงเหลือสิ่งสำคัญพื้นฐานเพียง 2 สิ่ง คือ แรงงาน และ ทุน อิทธิพลความคิดของ Henry George และกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เดิมที่เรียกว่า political economists แทบจะหมดไปในราวกลางทศวรรษที่เริ่มจาก ค.ศ.1920" (จาก //www.cooperativeindividualism.org/dodson_pseudo_science_of_economics.html ซึ่งพิมพ์ซ้ำจาก Geophilos, Spring 2003)

Leo Tolstoy กล่าวว่าวิธีสำคัญที่ใช้ต่อต้านคำสอนของเฮนรี จอร์จมาแล้วและกำลังใช้อยู่คือวิธีที่มักใช้กับความจริงที่เห็นได้ชัดและปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือพยายามให้เงียบไว้ (//www.cooperativeindividualism.org/tolstoy_on_the_land_question_and_slavery)

ข้อเสนอวิธีแก้ไขของจอร์จมีเพียงให้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเท่ากับค่าเช่าที่ดินรายปีและยกเลิกภาษีอื่นๆ
เฮนรี จอร์จกล่าวโจมตีการปล่อยให้เอกชนได้ประโยชน์จากกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างยืดยาว แต่พอถึงข้อเสนอแก้ความยากจนจากความไม่ยุติธรรมนี้เขากลับเสนอเพียงให้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเท่ากับค่าเช่าที่ดินรายปีและยกเลิกภาษีอื่นๆ เหตุผลของเขาคือ:--

“ข้าพเจ้าไม่เสนอให้ซื้อหรือริบกรรมสิทธิ์ของเอกชนในที่ดิน กรณีแรกจะเป็นการไม่ยุติธรรม กรณีที่สองไม่เป็นสิ่งจำเป็น จงปล่อยให้บุคคลที่ยึดถือที่ดินอยู่ขณะนี้ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เขาพอใจจะเรียกว่าที่ดิน ‘ของเขา’ ต่อไปถ้าเขาต้องการ ปล่อยให้เขาเรียกมันต่อไปว่าเป็นที่ดิน ‘ของเขา’ ปล่อยให้เขาซื้อขายและให้เป็นมรดกและทำพินัยกรรมยกให้กันได้ เราอาจจะปล่อยให้พวกเขาเก็บเปลือกไว้ได้โดยไม่มีอันตรายถ้าเราเอาเนื้อในออกมาแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องริบที่ดิน จำเป็นแต่เพียงจะต้องริบค่าเช่าเท่านั้น

“ทั้งการที่จะเก็บค่าเช่ามาเป็นสาธารณประโยชน์นั้นก็ไม่จำเป็นว่ารัฐจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการให้เช่าที่ดินด้วย ซึ่งมีทางทำให้เกิดฉันทาคติ การสมรู้ยินยอม และการฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องจัดตั้งจักรกลใหม่ขึ้นมาอีกแต่ประการใด จักรกลเช่นนี้มีอยู่แล้ว แทนที่จะขยายมันออก ทั้งหมดที่เราจะต้องทำก็คือทำให้มันง่ายขึ้นและลดขนาดของมันลงเท่านั้น โดยการให้เจ้าของที่ดินได้รับเปอร์เซนต์จากค่าเช่าบ้าง ซึ่งอาจจะน้อยกว่ามูลค่าและความสูญเสียในการที่องค์การของรัฐจะเป็นผู้ให้เช่าที่ดินเองมาก และโดยการใช้ประโยชน์จากจักรกลที่มีอยู่แล้วนี้ เราก็อาจจะทำให้เกิดสิทธิของส่วนรวมร่วมกันในที่ดินได้โดยการ เก็บค่าเช่ามาเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งไม่ทำให้เกิดการตื่นเต้นสะดุ้งสะเทือนกัน

“เราได้เก็บค่าเช่าแล้วเป็นบางส่วนในรูปของภาษี เราเพียงแต่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษีบางประการเท่านั้นเพื่อให้ได้ค่าเช่าทั้งหมด” (Progress and Poverty, p.405)

ลัทธิภาษีเดี่ยวจากที่ดินของเฮนรี จอร์จจะว่าเป็นสังคมนิยม แรงงานนิยม หรือ ทุนนิยม ก็ได้
ที่ว่าเป็นสังคมนิยมนั้นถูกเฉพาะเมื่อคิดถึงปัจจัยที่ดินอย่างเดียว (คือถือว่าที่ดินเป็นของสังคม จึงเก็บภาษีที่ดินมาบำรุงสังคม แต่ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปจัดการที่ดินโดยตรง เช่น บังคับจัดแบ่งที่ดิน)

ที่ว่าเป็นแรงงานนิยมก็ถูกเพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากแรงงานเลย

แต่ก็ต้องถือว่าเป็นทุนนิยมสุดขั้วด้วยอย่างไม่เคยปรากฏ เพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากทุนเหมือนกัน

วิธีของเฮนรี จอร์จนี้ไม่คิดเอาของที่ส่วนบุคคลควรมีควรได้มาเป็นของส่วนรวมเลย เช่น ค่าแรงสมอง/แรงกาย และผลตอบแทนต่อทุน จึงคิดเลิกภาษีทางอ้อมที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิตและภาษีเงินได้
เขาขอให้เก็บภาษีที่ดินอย่างเดียว (สมัยนี้คงต้องรวมภาษีทรัพยากรธรรมชาติหรือค่าภาคหลวง ค่าเอกสิทธิ์ ค่าสัมปทาน และค่าชดใช้การก่อมลพิษทำความเสียหายแก่แผ่นดินและทรัพยากรธรรมชาติด้วย)

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีที่ดินเพิ่มและเลิกภาษีอื่นๆ ควรค่อยๆ ทำ อาจใช้เวลาหลายสิบปี เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนมากเกินไป

การเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม และเลิกภาษีอื่นๆ มีความเป็นธรรม:--
1. ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพราะถ้าไม่มี เขาตาย แต่เขาเกิดมาแล้ว เขาก็มีสิทธิ์มีชีวิตต่อไป
2. ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดิน
3. มูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (แต่ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามทำเลที่แตกต่างกัน ซึ่งให้ผลตอบแทนแก่การลงแรงลงทุนต่างกัน และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ)
4. การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ คือลงทุนผลิตของกินของใช้ (โภคทรัพย์) หรือเครื่องมือช่วยการผลิต (ทุน) แต่เป็นการซื้อสิทธิ์สืบต่อตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่ออำนาจเรียกแบ่งผลตอบแทนจากผู้ทำงานและนายทุน
และการเก็งกำไรกักตุนที่ดินกันไว้มากๆ ทำให้ที่ดินแพง ค่าแรงต่ำ หางานทำยาก คนจนก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น
5. การเก็บภาษีจากรายได้จากการลงแรงลงทุนผลิต (รวมทั้งจำหน่าย) ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเอาจากแต่ละคนไปบำรุงส่วนรวม ในกรณีนี้ควรเก็บจากมูลค่าที่ดินเพราะมูลค่าที่ดินเกิดจากกิจกรรมของส่วนรวม

ผลร้ายของการเก็บภาษีที่ดินน้อยไปและเก็บภาษีอื่นๆ มากไป
1. สังคมมีความแตกต่าง เกิดการแตกแยก
2. ผิดศีลข้ออทินนาทาน เอาจากกลุ่มอื่นไปให้แก่กลุ่มเจ้าของที่ดินด้วยวิธีการภาษี โดยภาษีและกิจกรรมของส่วนรวมไปทำให้สังคมมีความน่าอยู่และปลอดภัยขึ้น ที่ดินก็เลยแพง จึงมีการเก็งกำไรที่ดินกันในวงกว้างทั่วไป ที่ดินก็ยิ่งแพงขึ้น คนยากคนจนหรือจะแข่งขันด้วยได้ จำใจต้องยอมเป็นผู้เช่า ต้องเสีย 2 ต่อ ทั้งค่าเช่าที่ดิน ทั้งภาษีอื่นๆ
3. ภาษีปัจจุบันเป็นตัวถ่วง แทนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูตัวอย่างสหรัฐฯ เขากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีลดภาษีอื่นๆ มาหลายต่อหลายหนแล้ว
4. การไม่เก็บภาษีที่ดินหรือเก็บน้อยไปก็กลับเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจซ้ำเข้าไปอีก เพราะที่ดินถูกเก็งกำไรเก็บกักกันไว้เฉยๆ มากมาย หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ทำให้การจ้างงานน้อย และค่าแรงต่ำ ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนเครื่องทุ่นแรงก็ต่ำ
5. ภาษีเงินได้ ภาษีกำไร พวกนี้ไปลดรายได้จริงของคนทำงานและผู้ลงทุน
6. ภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีขาเข้า ไปทำให้ของแพง และทำให้ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศลด ไม่ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเหมือนฮ่องกง สิงคโปร์
7. ราคา/ค่าเช่าที่ดินและบ้านแพงกว่าที่ควร แฟลต/คอนโดในเมืองก็มีน้อย เกิดปัญหาต้องเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองติดขัดอัดแอเสียเวลามาก เกิดปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมือง การย้ายบ้านก็ยากเพราะต้องใช้เงินมาก
8. เพราะที่ดินมีราคา จึงมีคดีที่ดินเป็นภาระแก่ศาลยุติธรรมมากมาย คนจำนวนมากต้องเสียเงินเสียเวลาขึ้นศาลกันนานๆ ระหว่างนั้นที่ดินก็อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์
(ถ้าเก็บภาษีที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์ ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะซื้อขายที่ดินได้ง่าย แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำกู้ไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็คงไม่ต้องกู้แล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวไม่ได้ ถือว่าถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

ความรู้พื้นฐานเศรษฐศาสตร์
ปัจจัยการผลิตคือ 1.ที่ดิน 2.แรงงาน (สมอง, กาย) และ 3.ทุน
(สามปัจจัยนี้ครอบคลุมหมดแล้ว ถ้าแบ่งเป็นอย่างอื่นอีก ก็จะซ้ำอยู่ในสามปัจจัยนี้เอง)
คนผู้หนึ่งอาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตได้หลายปัจจัย
แต่ในการวิเคราะห์ปัญหา เราต้องแยกฐานะเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งสามออกจากกัน

ที่ดิน (Land) คือ เอกภพหรือสิ่งทั้งหลายนอกจากตัวมนุษย์และเศรษฐทรัพย์
แรงงาน (Labour) คือ ความพยายามทั้งปวงของมนุษย์ที่ใช้ในการผลิตเศรษฐทรัพย์
ทุน (Capital) คือ เศรษฐทรัพย์ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน หรือในการผลิตเศรษฐทรัพย์สำหรับการแลกเปลี่ยน
เศรษฐทรัพย์ (Wealth) คือวัตถุทั้งหลายนอกเหนือไปจากตัวมนุษย์ ซึ่งผลิตขึ้นด้วยแรงงานมนุษย์ เพื่อใช้บำบัดความต้องการของมนุษย์ หรือช่วยในการผลิตสิ่งที่มนุษย์ต้องการ และมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน

ขอบริมแห่งการผลิต (Margin of Production หรือ ที่ดินชายขอบ) คือ ที่ดินที่เลวที่สุดที่จำเป็นต้องใช้กัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินที่ดีที่สุดที่จะหาได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน

การแบ่งผลตอบแทนแก่เจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งสาม
1. กฎว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน (Law of Rent) ค่าเช่าที่ดินกำหนดได้ด้วยผลผลิตของที่ดินนั้น ในส่วนที่เกินกว่าผลผลิตจากขอบริมแห่งการผลิต ในเมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน
2. กฎว่าด้วยค่าแรง (Law of Wages) ค่าแรงทั่วไปถูกกำหนดด้วยผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต (เมื่อชายขอบขยายออก ผลิตภาพที่ดินใหม่จะต่ำลง ที่ดินเดิมค่าเช่าสูงขึ้น ค่าแรงทั่วไปทุกแห่งต่ำลง)
3.กฎว่าด้วยดอกเบี้ย (Law of Interest) ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง และขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเช่นเดียวกัน.




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2549    
Last Update : 18 สิงหาคม 2549 23:10:29 น.
Counter : 1167 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com