ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

ย้ายเป้าภาษีเพื่อโลกเขียว

ย้ายเป้าภาษีเพื่อโลกเขียว

เราควรย้ายภาษีที่ตั้งเป้าเก็บจากการริเริ่มของมนุษย์ไปเก็บจากการผูกขาดทรัพยากรธรรมชาติ เอกสิทธิ์ที่ได้รับจากรัฐ และ การก่อมลพิษ

สมัยก่อนผู้ดำเนินกิจกรรมที่ก่อความเสียหายมาก ๆ เช่น การก่อมลพิษ สามารถจะลอยนวลอยู่ได้ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ (1) เมื่อมีการออกกฎหรือระเบียบขึ้นมา กฎระเบียบเหล่านั้นได้ถูกทำให้อ่อนแอเสียแล้วตั้งแต่ต้นจนกระทั่งกิจกรรมจำนวนมากที่ก่อมลพิษหลุดรอดพ้นไปจากกฎระเบียบดังกล่าว และ (2) ถึงแม้การก่อมลพิษบางอย่างจะถูกห้ามโดยสิ้นเชิง โทษปรับสำหรับการละเมิดมักจะเป็นจำนวนน้อยหรือไม่มีการบังคับใช้

นั่นคือปัญหาใหญ่ 2 ข้อและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางกลุ่มกำลังหาทางแก้ไข แต่มีแนวทางใหม่อีกแนวหนึ่ง นั่นคือ การย้ายเป้าภาษีเพื่อโลกเขียว (Green Tax Shift)

ภาษีมีสมบัติที่น่าสนใจ 2 ข้อซึ่งเราสามารถจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

ข้อ 1 ภาษีทำให้เกิดความท้อถอย ถ้าเราเก็บภาษีเก้าอี้ล้อเข็น คนที่มีเก้าอี้ล้อเข็นจะลดจำนวนลง นั่นเป็นในทางเลวร้าย แต่ถ้าเราเก็บภาษีสารเคมีพิษ จะมีการผลิตสารเคมีพิษน้อยลง นี่เป็นในทางดี เราสามารถจะส่งเสริมการเก็บภาษีจากกิจกรรมทั้งหลายที่ก่อความเสียหายหรือเป็นอันตราย เช่น การก่อมลพิษในอากาศ ในน้ำ การก่อขยะนิวเคลียร์ การสร้างบ้านอาคารที่ทำให้เมืองขยายออกไปอย่างไม่เป็นระเบียบ ฯลฯ ขณะเดียวกันเราก็สามารถเสนอให้ลดภาระภาษีในสิ่งที่มีผลดีต่อสังคม เช่น เก้าอี้ล้อเข็น ค่าจ้างเงินเดือนจากการทำงานที่เกิดประโยชน์ บ้านที่มีราคาพอควร และ หนังสือ การสนับสนุนให้ย้ายเป้าภาษีเช่นนี้เป็นเรื่องง่ายมาก

ข้อ 2 สมบัติอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจของภาษีคือมันมักจะทำให้สิ่งที่ถูกเก็บภาษีกลายเป็นสิ่งที่อาจถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ตัวอย่างเช่น ผู้เสียภาษีอาจไม่ต้องการให้ผู้อื่นรู้ว่าตนมีรายได้เท่าไร แต่ผู้อื่นบางคนก็อาจได้ข้อมูลที่ผู้เสียภาษีเงินได้ยื่นไว้ต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร หรือถ้าการก่อมลพิษเป็นสิ่งถูกกฎหมายและไม่มีการควบคุม (ส่วนมากเป็นเช่นนี้) ก็จะเป็นการยากมากที่จะหาข้อเท็จจริงด้านนี้ แต่ถ้ามีการเก็บภาษีการก่อมลพิษ แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถหาข้อมูลได้มากเกือบจะในทันทีว่าใครกำลังก่อมลพิษและก่อมากเท่าไร

ดังนั้นการย้ายเป้าภาษีเพื่อโลกเขียวจึงจะพาเราไปในทิศทางที่ดีมาก – เก็บภาษีจากสิ่งที่เลวร้ายเพื่อยังความท้อถอยให้แก่การก่อมลพิษและกิจกรรมที่ก่อความเสียหายอื่น ๆ และปลดปล่อยสิ่งดี ๆ จากภาระภาษี ภาษีทุกชนิดที่เก็บจากกิจกรรมที่ก่อความเสียหายจะทำให้กิจกรรมเหล่านั้นตกเป็นเป้าสายตาประชาชนมากขึ้น ๆ ทำให้ง่ายขึ้นต่อการตรวจสอบ การอภิปราย การหาทางเลือกอื่น ๆ และ การตรวจหาการละเมิด

การย้ายเป้าภาษีเพื่อโลกเขียวกำลังได้รับแรงสนับสนุนมากขึ้นทั่วยุโรปและสหรัฐฯ ประชาชนจำนวนมากขึ้น ๆ พากันตระหนักว่าแม้การก่อมลพิษอาจไม่มีความหมายต่อบริษัทใหญ่ ๆ แต่เงินมีความหมายมาก บัดนี้แรงจูงใจจากขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระยะแรก ๆ กำลังได้รับการส่งเสริมจากแนวทางที่เข้าใกล้รากเหง้าของปัญหามากขึ้น คนอเมริกันอาจไม่ใช่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันมากนัก แต่ทุกคนก็เข้าใจสามัญสำนึกสำหรับความคิดทำนอง ควรเก็บภาษีจากสิ่งเลว ๆ ไม่ใช่จากสิ่งดี ๆ หรือสินค้า (tax bads, not goods) – เก็บภาษีจากมลพิษก่อนจะมายุ่งกับค่าจ้างเงินเดือนของฉัน เก็บภาษีจากผู้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลงก่อนจะมาเก็บภาษีบ้านของฉัน เก็บภาษีจากผู้เก็งกำไรที่ดินก่อนจะมาเก็บภาษีหนังสือสำหรับลูก ๆ ของฉัน ฯลฯ

การย้ายเป้าภาษีเพื่อโลกเขียวได้กลายเป็นจุดสนใจสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม – รัฐบาลสหรัฐฯ ดูแลป้องกันกิจกรรมที่ก่อความเสียหายน้อยลง บังคับใช้กฎหมายป้องกันมลพิษน้อยลง แต่เรารู้ว่ารัฐบาลเอาใจใส่ใกล้ชิดอยู่เสมอในสิ่งหนึ่ง นั่นคือ ภาษี นั่นจะนำเราไปสู่ชัยชนะ !

(จาก About The Green Tax Shift ที่ //www.progress.org/banneker/taxshift.htm )




 

Create Date : 01 สิงหาคม 2550    
Last Update : 1 สิงหาคม 2550 13:22:29 น.
Counter : 854 Pageviews.  

สสารมืดในเศรษฐศาสตร์

สสารมืดในเศรษฐศาสตร์
(จากบทบรรณาธิการของ The Progress Report เรื่อง The Dark Matter in Economics โดย Fred E. Foldvary บรรณาธิการอาวุโส กันยายน 2549 ที่ //progress.org/2006/fold471.htm )

นักฟิสิกส์ได้สงสัยกันมาตั้งแต่ทศวรรษที่นับแต่ ค.ศ.1930 ว่าน่าจะมีสิ่งที่เรียกกันว่า สสารมืด (dark matter) ซึ่งจะมองไม่เห็นในการสังเกตการณ์ตามปกติ สสารมืดมีผลกระทบที่สำคัญมากต่อพฤติกรรมของดาราจักร (galaxies) และการขยายตัวของเอกภพ (universe)

ในเดือนสิงหาคม 2549 นักดาราศาสตร์ได้ประกาศว่าได้ตรวจพบหลักฐานโดยตรงของการมีอยู่ของสสารมืด โดยอาศัยผลกระทบของการชนกันระหว่างดาราจักร Douglas Clowe แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนาในนคร Tucson และเพื่อนร่วมงานอื่น ๆ ได้ใช้กล้องดูดาวด้วยรังสีเอกซ์ชื่อ จันทรา ของ NASA และกล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ ตรวจสอบกลุ่มดาราจักรกลุ่มหนึ่งที่กำหนดลำดับเป็น 1E0657-56 ซึ่งศูนย์กลางของมวลได้เปลี่ยนที่ไป อันมีนัยว่ามีสสารมืดอยู่ในบริเวณนั้น ในสเปกตรัมของรังสีเอกซ์ พวกเขาได้เห็นกลุ่มฝุ่นขนาดมหึมา 2 กลุ่มในระหว่างกลุ่มของดาราจักร ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือค้างอยู่จากการชนกันของกลุ่มดาราจักรเดิม 2 กลุ่ม เมฆฝุ่นเหล่านี้มีมวลมากกว่าดาราจักรมาก

นักดาราศาสตร์ได้นิรนัย (deduce) ว่าสมบัติด้านแรงดึงดูด (gravitational properties) ของดาราจักรไม่สามารถอธิบายได้จากเพียงสิ่งที่มองเห็น พวกเขาได้ตั้งสมมุติฐานว่าจะต้องมี ‘สสารมืด’ อยู่ด้วยจึงจะก่อให้เกิดมวลซึ่งส่งผลได้ขนาดนั้น การสังเกตการณ์ถึงผลของสสารมืดจากของจริงจึงเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญใหญ่หลวง

ทางเศรษฐศาสตร์ก็มี ‘สสารมืด’ ที่มองไม่เห็นเหมือนกัน มีปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถอธิบายได้โดยสเปกตรัมของธุรกรรมเท่าที่มองเห็น เช่น ระหว่าง ค.ศ. 1975 ถึง 2005 GDP ของสหรัฐฯ โตมากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี หลังหักค่าเงินเฟ้อแล้ว รายได้มัธยฐานของครอบครัว (median family income - มีจำนวนครอบครัวที่อยู่เหนือและใต้เส้นมัธยฐานเท่ากัน) กลับมีอัตราการเติบโตเพียง 0.8 % เท่านั้น การเติบโตส่วนอื่น ๆ ไปอยู่เสียที่ไหน ?

นักเศรษฐศาสตร์เสนอว่ามีสสารมืดทางเศรษฐกิจอยู่ สสารมืดทางเศรษฐกิจเติบโตในอัตรามากกว่าร้อยละ 7 จากปี 1975 ถึง 2005 จึงดูดเอาความเติบโตทางเศรษฐกิจไปเป็นส่วนมาก พวกเขาเรียกสารลึกลับนี้ว่า “ทุน” และบอกว่าความเติบโตที่ไม่ได้ไปเพิ่มรายได้ของครอบครัวนั้นคือ “ผลตอบแทนต่อทุน”

แต่นั่นไม่ใช่คำอธิบายที่น่าพอใจนัก เพราะผลตอบแทนต่อทุนทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล หลังหักภาษีและอัตราเงินเฟ้อ มีค่าน้อยกว่าร้อยละ 7 มาก หุ้นบางบริษัทโตร้อยละ 7 หรือมากกว่า แต่ความเติบโตนั้นก็ต้องการคำอธิบาย

ปัญหาอีกข้อหนึ่งเกี่ยวข้องกับกำไร นักเศรษฐศาสตร์รับรู้ว่าในวิสาหกิจที่มีการแข่งขัน บริษัทจะได้กำไรอย่างปกติเท่านั้น คือแค่เพียงพอที่จะจ่ายผลตอบแทนโดยเฉลี่ยให้แก่สิ่งที่นำมาใช้ คือ ที่ดิน แรงงาน และสินค้าทุน แต่บริษัทจำนวนไม่น้อยมีรายรับจากการขายสินค้าสูงกว่าต้นทุนการผลิตมาก รายรับนี้ไปไหน ?

นักเศรษฐศาสตร์บอกว่ารายรับกลายไปเป็น “ส่วนเกินของผู้ผลิต” อย่างไรก็ดี ส่วนเกินนี้ผู้ผลิตมิได้รับไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ เจ้าของบริษัท คนงาน หรือผู้ผลิตสินค้าทุน คำตอบเป็นเช่นเดิม คือสสารมืดทางเศรษฐกิจ ซึ่งดูดเอาส่วนเกินไป

แต่สสารมืดทางเศรษฐกิจนี้อยู่ที่ไหน ? มันเป็นอะไร ? ใครเป็นเจ้าของ ? มันปรากฏตรงไหนของ GDP ? ทำไมเราจึงมองไม่เห็น ?

นักเศรษฐศาสตร์แนว geoclassic หลายคน [ก็แนวทางเก็บภาษีมูลค่าที่ดินแทนภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้านั่นแหละ] คือ Mason Gaffney, Nicolaus Tideman, Fred Harrison, และ Michael Hudson เป็นต้น ได้เปิดเผยแหล่งที่ซ่อนของสสารมืดทางเศรษฐกิจที่ดูดเอาส่วนเกินและกำไรส่วนมากจากการเติบโตทางเศรษฐกิจไป มันคือ ค่าเช่าที่ดิน !

ที่จริงมีการเสนอถึงการมีอยู่ของสสารมืดทางเศรษฐกิจเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ผู้เสนอคือ เฮนรี จอร์จ นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน จอร์จพบ “กฎว่าด้วยค่าแรง” ที่ว่าระดับค่าแรงทั่วไปถูกกำหนดด้วยขอบริมแห่งการผลิต (margin of production) หรือที่ดินที่ให้ผลผลิตน้อยที่สุด จอร์จตั้งทฤษฎีว่าโดยที่อุปทานของที่ดินมีคงที่ เมื่อเศรษฐกิจมีความสามารถในการผลิตสูงขึ้น ค่าแรงก็สูงขึ้นบ้างเมื่อขอบริมแห่งการผลิตหรือที่ดินชายขอบให้ผลผลิตสูงขึ้น แต่ผลิตภาพที่สูงขึ้นของที่ดินซึ่งดีกว่าที่ดินชายขอบกลับกลายเป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าแรงสูงขึ้นน้อยกว่าผลิตภาพเพราะวิสาหกิจต้องจ่ายค่าสินค้าทุนที่ดีขึ้นด้วย แต่ค่าเช่าที่ดินสามารถที่จะสูงขึ้นเท่ากับการเพิ่มผลิตภาพ

เราไม่อาจสังเกตค่าเช่าที่ดินได้โดยตรงเพราะมันมิใช่จำนวนเงินที่ผู้เช่าจ่ายให้แก่เจ้าของที่ดิน แต่เป็นจำนวนที่มากที่สุดที่ผู้เช่าจะจ่ายสำหรับการใช้เฉพาะที่ดิน ไม่รวมถึงอาคารหรือบริการด้านแรงงานจากเจ้าของที่ดิน นักดาราศาสตร์ตรวจพบการมีอยู่ของสสารมืดเชิงกายภาพจากผลกระทบของมันฉันใด นักเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวข้างต้นก็ตรวจพบและวัดค่าเช่าที่ดินจากผลกระทบของมันฉันนั้น ผลกระทบเหล่านี้ซ่อนอยู่ในดอกเบี้ย กำไร และกำไรส่วนทุน (capital gains) สสารมืดส่วนที่เป็นค่าเช่าที่ดินนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของผลผลิตประชาชาติ (national output) และส่งผลกระทบอย่างมากต่อวัฏจักรธุรกิจ การกระจายรายได้ และความเติบโตทางเศรษฐกิจ

Mason Gaffney ได้แสดงให้เห็นว่าการไม่รับรู้ถึงสสารมืดทางเศรษฐกิจเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะผู้มีผลประโยชน์ในที่ดินไม่ต้องการให้สาธารณะรู้ว่าค่าเช่าที่ดินเป็นตัวดูดเอาผลได้ทางเศรษฐกิจไป ดังนั้นพวกเขาจึงรวมเอาที่ดินไว้ใน “ทุน” โดยค่าเช่าที่ดินซ่อนอยู่ใน “ผลตอบแทนต่อทุน” และพวกเขาก็เรียกระบบนี้ว่า “ทุนนิยม”

พวกสังคมนิยมก็มีส่วนทำให้เกิดความสับสนด้วย โดยอาศัย “ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน” (labor theory of value) ที่ผิดพลาด คาร์ล มาร์กซ์ได้อ้างว่ามูลค่าทั้งหมดเกิดจากแรงงาน ดังนั้นส่วนเกินจึงต้องเป็นค่าแรงที่ถูก “นายทุน” ยึดไปโดยไม่เป็นธรรม เฮนรี จอร์จได้แสดงให้เห็นอย่างถูกต้องว่าส่วนเกินคือค่าเช่าที่ดิน เพราะในระบบตลาดเสรี แรงงานจะได้รับชดเชยเต็มที่ตามผลิตภาพ แต่ผลิตภาพนี้ถูกกดอยู่ด้วยภาษีและการเก็งกำไรที่ดินซึ่งทำให้ขอบริมแห่งการผลิตถูกขยายออกไปยังที่ดินที่มีผลิตภาพต่ำลง

การพบสสารมืดทางกายภาพได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง แต่โชคไม่ดีที่การพบสสารมืดทางเศรษฐศาสตร์ยังมิได้ผ่านเข้าไปในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ดังนั้นประชาชนจึงยังคงมืดมนไม่เข้าใจว่าทำไมรายได้ของครอบครัวจึงไม่เติบโตเท่าเทียมกับเศรษฐกิจ และเศรษฐศาสตร์จึงไม่เผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่ส่วนเกินของผู้ผลิตไม่ตกเป็นของผู้ผลิต

สสารมืดที่สำคัญที่สุดอยู่ในใจของมนุษย์ ความสว่างทางปัญญาที่แท้คือการส่องสว่างสสารมืดของพุทธิปัญญาเพื่อขจัดความไม่รู้ทางจริยธรรม ทางการบริหารโดยธรรม และทางเศรษฐศาสตร์ ขอให้เราหวังว่าการตรวจพบสสารมืดทางกายภาพจะทำให้มนุษย์เกิดแรงบันดาลใจที่จะมองหาสสารมืดในชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย.




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2550 11:08:06 น.
Counter : 696 Pageviews.  

ที่ควรถูกเก็บภาษีเป็นอันดับแรก ๆ

ที่ควรถูกเก็บภาษีเป็นอันดับแรก ๆ

การได้ประโยชน์ของบุคคลอันมิใช่จากการลงแรงและการลงทุนผลิตสินค้าและบริการ และลดทอนสิทธิและทรัพยากรของสังคมส่วนรวมเป็นเป้าหมายอันดับแรกที่ท้องถิ่นและรัฐน่าจะเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งมีดังนี้

ก. การนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้หมดเปลืองไป
ข. การก่อภาวะมลพิษ
ค. การได้เอกสิทธิ์และสัมปทานต่างๆ
ง. การครองสิทธิในที่ดิน ซึ่งมีทางได้ประโยชน์ดังนี้

- ๑. ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของที่ดินซึ่งทำให้ที่ดินมีราคา
- ๒. ประชากรเพิ่ม ราคาที่ดินก็สูงขึ้น
- ๓. เทคโนโลยีก้าวหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถผลิตของกิน ของใช้ ของโชว์ ของเล่นคลายเครียดเพิ่มความสุขสนุกสำราญได้ประณีตพิสดารขึ้น (ล้วนต้องมาจาก “ที่ดิน” ทั้งสิ้น) ยิ่งเพิ่มความกระหายขึ้นสำหรับผู้มีโอกาสมีความสามารถ ราคาที่ดินก็สูงขึ้น
- ๔. เมื่อคนเราทำงานมากขึ้นเป็นการทั่วไป (รวมทั้งแม่บ้านออกทำงานด้วยจากเดิมที่พ่อบ้านทำงานคนเดียว) ก็เกิดผลเช่นเดียวกัน คือ ราคาที่ดินสูงขึ้น
- ๕. การมารวมกันเป็นชุมชนเมือง ประชากรหนาแน่น ทำให้คุ้มค่าที่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้การร่วมมือกันด้วยการแบ่งงานผลิตสินค้าและบริการแล้วเอามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน เป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว ที่ดินก็แพงขึ้น (ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุให้ราคาที่ดินสูงขึ้นมากที่สุด)
- ๖. ราษฎรเสียภาษีให้รัฐเอาไปใช้ดูแลความสงบเรียบร้อยปลอดภัยไร้โจร คอยป้องกันอัคคีภัย สร้างถนน ท่อระบายน้ำเสีย มีพนักงานเก็บกวาด ตรวจตราป้องกันการก่อมลพิษ และบริการประชาชนด้านอื่นๆ อีก ก็ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นหรือแม้เพียงดำรงความน่าอยู่เดิมไว้ ราคาที่ดินก็สูงขึ้นหรือดำรงราคาเดิมอยู่ได้
- ๗. การเก็งกำไรสะสมที่ดินเป็นการทั่วไปทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นมหาศาล

สำหรับการทำงานและการลงทุนตามปกติซึ่งไม่มีการให้เอกสิทธิ์ และไม่เป็นการบั่นทอนสิทธิ์ของผู้อื่น เป็นการผลิตสินค้าและบริการเข้ามาแลกเปลี่ยนกันในสังคม (สินค้า แปลว่า goods หรือสิ่งที่ดี) ซึ่งก่อผลดีแก่ส่วนรวม (การซื้อขายเป็นไปโดยสมัครใจ ไม่ใช่บังคับ) ควรส่งเสริมด้วยซ้ำ จึงไม่ควรมีภาษีจากรายได้ของแรงงานและทุนและภาษีจากการผลิตและการค้า ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แต่รัฐบาลจะต้องดูแลมิให้เกิดอำนาจผูกขาด.




 

Create Date : 29 มิถุนายน 2550    
Last Update : 29 มิถุนายน 2550 23:17:14 น.
Counter : 580 Pageviews.  

รายจ่าย 1,500 น้อยอยู่แล้ว รายได้ยิ่งน้อยกว่าสำหรับ 20% ของประเทศ

ปี 2549 กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ 20% มีรายจ่ายเฉลี่ย 1,525 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่มีรายได้ 1,003 บาท

รายละเอียดดูได้ที่ //www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q3/2007june12p7.htm ครับ

กลุ่มคนที่รวยที่สุด 20% แรกในประเทศไทย มีสัดส่วนรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งประเทศ
กลุ่มคนที่จนที่สุด 20% สุดท้ายในประเทศไทย มีสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 5% ของรายได้ทั้งประเทศ
จากข้อมูลล่าสุด ในปี 2549 พบว่ามีคนไทยที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่ามาตรฐานเส้นความยากจน 1,386 บาทต่อคนต่อเดือน (ซึ่งเป็นระดับรายได้ที่พอจะประทังชีวิตอยู่ได้) ถึง 6 ล้านคน หรือ ประมาณ 10% ของประชากรไทยทั้งประเทศ
(จาก นโยบายเศรษฐกิจที่พึงปรารถนา มุมเอก : ดร.เอก เศรษฐศาสตร์ dr.eKonomic@yahoo.com กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 //www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q1/2008February19p1.htm )


สาเหตุ:
การเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดินทำให้ที่ดินหายากและราคาแพง
ผลตอบแทนของการผลิตตกไปอยู่กับเจ้าของที่ดินมากขึ้น ๆ
ส่วนแรงงานและทุนได้น้อยลง ๆ

การเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดินมีผลถ่วงการผลิตอย่างมาก
ทำให้แรงงานและทุนหางานทำได้ยากขึ้น
ต้องว่างงานกันไป ค่าแรงต่ำ คนจนยิ่งช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงไปอีก
กลายเป็นเหยื่อแก่นายทุนเงินกู้และนายทุนผู้จ้างอีกต่อหนึ่งโดยง่ายดาย

การเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดินเกิดขึ้นเพราะรัฐ (แทบทุกประเทศ) เก็บภาษีที่ดินน้อยไป เลยทำให้ต้องหันมาเก็บภาษีอื่น ๆ (ซึ่งก็คือจากการลงแรงและลงทุน) มากขึ้น เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีขาเข้า-ออก
ภาษีเงินได้ทำให้รายได้สุทธิลด
ภาษีการผลิตการค้าทำให้ของกินของใช้ราคาเพิ่ม

และการเก็งกำไรที่ดินยังทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองภาษีเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขยายออกไปนอกเมือง เพื่อบริการผู้คนที่สู้ราคาที่ดินในเมืองไม่ไหวต้องออกไปหาที่พักอาศัยห่างเมือง


การเก็งกำไรในที่ดินเป็นสาเหตุใหญ่ของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ที่จริงการเก็งกำไรที่ดินมีอยู่ทุกวัน เศรษฐกิจจึงถูกถ่วงรั้งตลอดเวลา
เป็นแต่อาการจะรุนแรงมากน้อยตามวัฏจักร
แต่แม้ในภาวะปกติก็ทำให้แรงงานขั้นพื้นฐานต้องยากจนเดือดร้อนมากอยู่แล้ว

ถ้าไม่มีการเก็งกำไรที่ดิน วัฏจักรเศรษฐกิจก็จะไม่เหวี่ยงตัวรุนแรง ความเสียหายจะลดลงมหาศาล.

(จากตำราเศรษฐศาสตร์ บทที่ 12 ของ ดร. Fred E. Foldvary ที่ //foldvary.net/sciecs/ch12.html
หนังสือความยากจนที่ไม่เป็นธรรม หน้า 42-43 ที่ //geocities.com/utopiathai/UPp036-056ch4.doc
และบทความ เก็งกำไรที่ดินสาเหตุสำคัญเศรษฐกิจถดถอย //www.bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=129&c=1&order=numtopic )




 

Create Date : 28 มิถุนายน 2550    
Last Update : 10 มีนาคม 2551 22:37:00 น.
Counter : 650 Pageviews.  

จาก ๓ ชนชั้น เหลือ ๒

จาก ๓ ชนชั้น เหลือ ๒

ที่จริงเราก็รู้กันอยู่ว่ามนุษย์นั้นขาดที่ดินไม่ได้ มิฉะนั้น ไม่มีทางทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือแม้ที่ซุกหัวนอน
อารยชนจึงควรให้มีสิทธิเสมอภาคที่จะใช้ที่ดินซึ่งมีมาตามธรรมชาติก่อนมนุษย์เกิด มิใช่จะให้ผู้มาก่อนหรือผู้มีอำนาจกอบโกยเอาไว้เป็นของตนแบบคนไร้อารยธรรม
ระบบปัจจุบันปล่อยให้เอกชนถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยได้รับผลประโยชน์จากที่ดินไปแทบทั้งหมด ซื้อขายกันได้ คนมีอำนาจมีเงินก็พากันเก็งกำไรซื้อหาเก็บกักที่ดินกันไว้คนละมากๆ แบบรวมหัวผูกขาด โดยไม่ต้องนัดหมาย ราคาที่ดินพุ่งสูงเกินจริง คนยากจนด้อยโอกาสจึงหมดสิทธิ์ จะหาที่ซุกหัวนอนหรือทำกินต้องจ่าย ส่วย คือ ค่าเช่า ให้แก่เจ้าของที่ดิน

วิธีปฏิรูปเศรษฐกิจขั้นฐานรากของ Henry George ตามแนวทางในหนังสือ Progress and Poverty น่าจะเหมาะสม ซึ่งธนาคารโลกก็เคยเสนอเมื่อต้นปี ๒๕๑๘ ให้ไทยใช้วิธีเก็บภาษีที่ดิน
อันเป็นไปตามหลักการ ไม่ถือเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน หรือ ศีลข้อ ๒

เพราะประโยชน์ที่ไปทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น หรือ แม้แต่ดำรงราคาอยู่ได้ ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าของที่ดิน แต่เป็นเพราะการมีชุมชน ยิ่งประชากรหนาแน่นเป็นย่านธุรกิจ ที่นั่นยิ่งมีราคาสูง และเพราะการบริการ/การบริหารของราชการ ซึ่งก็ได้ไปจากเงินภาษีของส่วนรวม รวมทั้งจากคนจนที่ต้องจ่ายส่วยให้แก่เจ้าของที่ดินอยู่แล้ว
ดังนั้นค่าเช่าที่ดินซึ่งขณะนี้เจ้าของได้ไป ไม่ว่าจะให้เช่าโดยตรง หรืออยู่อาศัย หรือทำกิจการเองในที่ดินนั้น หรือเก็งกำไรปล่อยว่างไว้ ควรเก็บเป็นภาษีทั้งหมด (แต่ค่อยๆ เพิ่มภาษี อาจใช้เวลา ๒๐-๓๐ ปี)

ค่าเช่าที่ดินที่จะเก็บเป็นภาษีทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องมือตามธรรมชาติที่ทำให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนลงแรงที่แท้มีความเท่าเทียมกัน แม้จะลงทุนลงแรงในที่ดินดีเลวถูกแพงผิดกัน เพราะที่ทำเลดีซึ่งจะให้ผลตอบแทนสูง ค่าเช่าที่ดินก็แพง เป็นการลดผลตอบแทนต่อการลงทุนลงแรงในที่ดินดีลงไปในตัว

อีกประการหนึ่ง เราอยากให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แต่การจะเอาทรัพย์สินที่ได้จากการลงทุนลงแรงของคนหนึ่งไปให้แก่อีกคนหนึ่งย่อมผิดศีล ส่วนที่จะแบ่งให้เท่าเทียมกันได้ก็คือ ที่ดิน ซึ่งมิได้เกิดจากการลงทุนลงแรงที่แท้

ภาษีที่ดินที่เก็บมาได้นั้นควรแบ่งให้แก่ราษฎรทุกคน รวมทั้งทารกเกิดใหม่ ให้เท่าๆ กัน ในฐานะเจ้าของที่ดินเท่าเทียมกัน หรือมิฉะนั้นก็ใช้แทนภาษีอื่นๆ ที่เก็บอยู่ขณะนี้ โดยค่อยๆ ยกเลิกภาษี (และหน่วยจัดเก็บ) ไปทีละอย่างๆ ตามที่ควร

เหตุผลที่ควรยกเลิกภาษีจากการลงทุนลงแรงหรือเก็บน้อยที่สุดเพียงที่จำเป็นนั้น เพราะการที่แต่ละคนมาร่วมมือกัน แบ่งงานกัน ก่อผลผลิตและบริการ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนขายซื้อกัน ทำให้มนุษย์สามารถมุ่งความสนใจไปฝึก/ศึกษาให้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะอย่างได้ ทำให้เกิดความรู้สั่งสม ศิลปะวิทยาและอารยธรรมเจริญก้าวหน้า เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสนองความต้องการแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น ก่อประโยชน์ให้แก่กันและกัน ทำให้เกิด “ความอยู่ดีกินดี” แก่คนหมู่มากในสังคมอยู่แล้ว ผู้ใดมีรายได้มากก็แสดงว่ามีคนอื่นอยากมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเขามาก โดยเขาให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้อื่นมาก ควรได้รางวัลเพื่อส่งเสริมกำลังใจด้วยซ้ำ แทนที่จะถูกลงโทษปรับด้วยภาษีให้เกิดความท้อถอย

การเก็บภาษีที่ดินเต็มขนาด แล้วยกเลิกภาษีการลงทุนลงแรง จะเกิดผลดีดังนี้
๑. มนุษย์มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะภาษีที่ดินแบบนี้ทำให้ทุกคน รวมทั้งทารก เสมือนเป็นเจ้าของที่ดินเสมอภาคกัน
๒. ที่ดินจะไม่ถูกเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นไว้ แต่จะเปิดออกเพื่อหาประโยชน์ให้คุ้มภาษีที่ดิน (ที่ดินเปิด คือโอกาสทำงานเปิด)
๓. ค่าเช่าที่ดินจะลดต่ำลง (เพราะการเก็งกำไรที่ดินลด) แรงงานและทุนจึงได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากการผลิต
๔. ซ้ำแรงงานและทุนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ หรือเสียน้อยลง จึงมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นด้วย
๕. สินค้าจะมีราคาถูกลง เพราะการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสรรพสามิต และอากรขาเข้า เป็นต้น
๖. ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศจะสูงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตต่ำลง ต่างชาติจะนิยมมาเที่ยวไทยมากขึ้น ดีกว่าฮ่องกง สิงคโปร์ เพราะเราจะปลอดภาษี (ส่วนที่ทำให้ของแพง) มากกว่า
๗. เกิดความคล่องตัวในการย้ายถิ่นฐาน เพราะที่ดินและบ้านจะมีราคาหรือค่าเช่าถูกลง และหาได้ง่ายขึ้น ที่ดินในเมืองจะได้รับการใช้ประโยชน์มากขึ้น มีบ้าน แฝลต หรือคอนโดให้เช่ามากขึ้น แต่ค่าเช่าต่ำลง ปัญหาการเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองที่ติดขัดอัดแอเสียเวลามากจะบรรเทาลง ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม (slums) ในเมืองจะบรรเทาลงเช่นเดียวกัน
๘. กรณีพิพาทขัดแย้งแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงมากโดยอัตโนมัติ

เมื่อเก็บภาษีที่ดินได้เต็มขั้น ตามระยะเวลาที่น่าจะเป็น คือ ๒๐–๓๐ ปีแล้ว ชนชั้นเจ้าของที่ดินจะหายไปโดยไม่ต้องพบกับความรุนแรง คงเหลือเพียง ๒ ชนชั้นคือ เจ้าของปัจจัยการผลิตที่เรียกว่า แรงงาน และ ทุน ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเราก็อาจเรียกระบบใหม่ได้ว่า “แรงงาน-ทุนนิยม”

เหตุที่กล่าวว่า นายทุนกับแรงงานมีผลประโยชน์ร่วมกัน ก็เพราะ ทุนคือแรงงานในอดีต คือแรงงานที่ได้ใช้ไปแล้วเพื่อการผลิต แต่นำผลผลิตนั้นมาใช้ประโยชน์ภายหลัง บางท่านเรียกทุนว่า คือ “แรงงานที่สะสมไว้” ประการที่ ๒ ค่าแรง และ ดอกเบี้ย (ผลตอบแทนต่อทุน) ตามปกติจะสูงขึ้นหรือต่ำลงไปด้วยกัน เช่น ถ้าเกิดเครื่องจักรกล (คือ ทุน) จะแพงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรง ผู้ประกอบการก็จะไม่ซื้อเครื่องจักรกลนั้นมาใช้ แต่จะจ้างคนทำงานแทนเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้น หรือมีการใช้แรงงานผลิตเครื่องจักรกลให้มากขึ้น เป็นการปรับแต่งตามธรรมชาติ ส่วนความพยายามที่จะให้ตนเองได้รับผลตอบแทนมากกว่าผู้อื่นฝ่ายอื่น ทำให้เกิดการแก่งแย่ง การต่อรองกันนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน แม้แรงงานด้วยกันเองก็ต้องแข่งขันกัน แต่ก็ต้องมีกฎกติกาและพยายามควบคุมดูแลให้ความเป็นธรรม

คนหนึ่งๆ อาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้ง ๓ อย่าง (ที่ดิน แรงงาน ทุน) หรือ ๒ อย่างก็ได้ แต่ในการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหา เราก็จะต้องว่ากันเป็นส่วนๆ ไป




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 31 พฤษภาคม 2550 7:24:35 น.
Counter : 658 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com