ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

ผลดีและความเป็นธรรมของการมุ่งใช้ภาษีที่ดินแทนภาษีแรงงานและทุน

ผลดีของการการมุ่งเก็บภาษีที่ดินแทนภาษีแรงงานและทุน
(ภาษีทั้งหลายเก็บจากสิ่งใด ก็มีผลทำให้สิ่งนั้นแพงขึ้น แต่ภาษีที่ดินมีผลตรงข้าม)

1. ให้เสรีมากขึ้น ลดการถูกเรียกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานภาษีของรัฐ เพราะเหลือแต่ภาษีที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

2. คำว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน” เป็นจริงมากขึ้น เพราะภาษีที่ดินแบบนี้ทำให้ทุกคนดุจเป็นเจ้าของที่ดินเสมอภาคกัน ใครทำงาน ใครลงทุน ได้เท่าไรก็เป็นของเขาทั้งหมด โดยตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ครอบครองที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกัน หรือไม่มีที่ดินเลย ออกไปด้วยภาษีที่ดิน

3. การลด/เลิกภาษีจากแรงงานและทุนเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก ซึ่งดีกว่าแบบของสหรัฐฯ ที่ทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ทำได้เพียงชั่วคราว มิฉะนั้นรัฐบาลจะเป็นหนี้มหาศาล เพราะไม่ได้เก็บภาษีที่ดินแบบที่ผมเสนอมาชดเชย ซึ่งภาษีที่ดินก็เป็นอีกแรงหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

4. ราคา/ค่าเช่าที่ดินจะลด เพราะที่ดินไม่เสียเปล่ามากมายมหาศาลจากการเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นไว้ (ไปไหน ๆ ก็เห็นแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้ว) แต่จะเปิดออกเพื่อหาประโยชน์ให้คุ้มกับที่จะต้องเสียภาษีที่ดิน รวมทั้งให้เช่า หรือทำประโยชน์เอง หรือมิฉะนั้นก็ขายให้แก่ผู้ที่เห็นทางหาประโยชน์ การทำประโยชน์ก็มักต้องหาคนมาทำงานให้ เจ้าของที่ดินต่างคนต่างต้องทำอย่างนี้ ก็เกิดแข่งขันกันเอง การว่างงานจะลด ค่าแรงจะเพิ่ม ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนก็เพิ่ม

5. ซ้ำแรงงานและทุนไม่ต้องเสียภาษีทางตรงจำพวกภาษีเงินได้ หรือเสียน้อย จึงมีรายได้สุทธิเพิ่ม

6. สินค้าจะมีราคาถูก เพราะการลด/เลิกภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสรรพสามิต และอากรขาเข้า ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศจะสูงขึ้นด้วย และต่างชาติจะนิยมมาลงทุนและเที่ยวไทย แบบฮ่องกง สิงคโปร์ (ที่เป็นปัญหาก็คือแรงงานต่างด้าวจะทะลักเข้าไทย ต้องป้องกันให้ได้ผลมากกว่าปัจจุบัน)

7. เกิดความคล่องตัวในการย้ายถิ่นฐาน เพราะทั้งที่ดินและบ้านจะมีราคา/ค่าเช่าถูกลง และหาได้ง่ายขึ้น ที่ดินในเมืองจะได้รับการใช้ประโยชน์มากขึ้น มีบ้าน แฟลต คอนโดให้เช่ามากขึ้น ค่าเช่าต่ำลง ปัญหาการเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองที่ติดขัดอัดแอเสียเวลามากจะบรรเทาลง ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมืองจะบรรเทาลงเช่นเดียวกัน

8. กรณีพิพาทขัดแย้งแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงมากโดยอัตโนมัติ (ถ้าเก็บภาษีที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์ ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะเลือกซื้อที่ดินให้เหมาะกับความต้องการได้ง่าย แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำกู้ไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็คงไม่ต้องกู้แล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวไม่ได้ ถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

การเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม และเลิกภาษีอื่น ๆ มีความเป็นธรรม
1. ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพราะถ้าไม่มี เขาตาย

2. ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดินเหนือผู้อื่น

3. มูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างดัดแปลงและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (แต่ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามทำเลและสภาพอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งให้ผลตอบแทนแก่การลงแรงลงทุนต่างกัน และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ)

4. การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ คือลงทุนผลิตของกินของใช้ (โภคทรัพย์) หรือเครื่องมือช่วยการผลิต (ทุน) แต่เป็นการซื้อสิทธิ์สืบต่อตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่ออำนาจเรียกแบ่งผลตอบแทนจากผู้ทำงานและผู้ลงทุน และการเก็งกำไรกักตุนที่ดินกันไว้มาก ๆ ทำให้ที่ดินแพง ค่าแรงต่ำ หางานทำยาก คนจนก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น

5. การเก็บภาษีจากรายได้จากการลงแรงลงทุนผลิต (รวมทั้งจำหน่าย) ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเอาจากแต่ละคนไปบำรุงส่วนรวม แต่ควรเก็บจากมูลค่าที่ดินเพราะมูลค่าที่ดินเกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมและสิ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วทั้งของรัฐและเอกชนที่หวังผลกำไร และภาษีมูลค่าที่ดินจะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบกันเนื่องจากการได้ครอบครองที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกันออกไปด้วย

แต่การเพิ่มภาษีที่ดินควรค่อย ๆ ทำ เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป (และไม่ควรมีภาษีก้าวหน้าเพราะต้องโทษระบบของรัฐเองที่ส่งเสริมการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินขณะนี้ ภาษีควรคิดตามหลักธุรกิจคือถือค่าเช่าศักย์เป็นหลัก ไม่ใช่ว่าปล่อยว่างแล้วจะปรับหรือทำอาชีพที่ไม่เหมาะสมแล้วจะลดหย่อนให้ จะเว้นก็ควรเป็นกรณีภัยพิบัติ) และค่อย ๆ ลดภาษีจากแรงงานและทุนชดเชยกัน อาจใช้เวลา 25-30 ปี ภาษีที่ดินจึงสูงเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่าศักย์ (เก็บแต่ภาษีที่ดิน ไม่คิดภาษีบ้านอาคาร โรงเรือนโรงงาน พืชผลต้นไม้)

มองในด้านลัทธิสั้น ๆ
ลัทธิภาษีเดี่ยวจากมูลค่าที่ดินของเฮนรี จอร์จเช่นนี้จะว่าเป็นสังคมนิยม แรงงานนิยม หรือ ทุนนิยม ก็ได้ทั้งนั้น

ที่ว่าเป็นสังคมนิยมนั้นถูกเมื่อคิดเฉพาะปัจจัยที่ดิน (คือถือว่าที่ดินเป็นของสังคม จึงเก็บภาษีที่ดินมาบำรุงสังคม เพราะภาษีที่ดินจะตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ใช้ที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกันออกไป)
แต่ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปจัดการที่ดินโดยตรง เช่น บังคับจัดแบ่งที่ดิน ทั้งนี้ตามหลักให้รัฐมีหน้าที่น้อยที่สุด เพื่อให้ตรวจสอบง่าย ไม่กลายเป็นอำนาจกดขี่คอร์รัปชัน และเพราะแบ่งอย่างไรก็จะไม่ได้ตรงตามความพอใจ ความชอบ ความถนัดในอาชีพ แบ่งแล้วก็จะต้องแบ่งใหม่อีกเรื่อย ๆ เพราะมีคนเกิดคนตาย แต่งงานมีครอบครัวเพิ่มขึ้น จึงควรปล่อยให้เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามเดิม ไม่ต้องบังคับย้ายผู้คนไปสู่ที่ดินที่รัฐจัดแบ่ง รัฐไม่ต้องบงการว่าจะใช้ที่ดินอย่างไร ปล่อยเสรี ถ้าไม่มีผลเสียต่อคนใกล้เคียง

ที่ว่าเป็นแรงงานนิยมก็ถูกเพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากแรงงานเลย

และก็ต้องถือว่าเป็นทุนนิยมสุดขั้วอย่างไม่เคยปรากฏ เพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากทุนเหมือนกัน

แนวคิดของเฮนรี จอร์จนี้ไม่ต้องการเอาของที่ส่วนบุคคลควรมีควรได้ (ลงแรงลงทุนหามาได้) คือค่าแรงสมอง/แรงกาย และผลตอบแทนต่อทุน มาเป็นของส่วนรวมเลย
จึงคิดเลิกภาษีเงินได้ ภาษีกำไร และภาษีทางอ้อมที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิตทำให้ของแพงทั้งสิ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร จะเก็บแต่ภาษีที่ดินอย่างเดียว

(สมัยนี้คงต้องเก็บภาษีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป หรือค่าภาคหลวง ค่าเอกสิทธิ์ ค่าสัมปทาน และค่าชดใช้การก่อมลภาวะทำความเสียหายแก่แผ่นดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม ด้วย).




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2552    
Last Update : 24 มิถุนายน 2552 18:37:28 น.
Counter : 526 Pageviews.  

เศรษฐศาสตร์ยุคเก่าสำหรับนักคิดรุ่นใหม่

เศรษฐศาสตร์ยุคเก่าสำหรับนักคิดรุ่นใหม่
(แปลจากบทความ Progress and Poverty Today โดย Kris Feder, Ph.D., Professor of Economics, Bard College, Annandale-on-Hudson, NY จาก //www.schalkenbach.org/library/federintro.html ซึ่งใช้เป็นคำนำหนังสืออเมริกันดีเด่น Progress and Poverty ฉบับย่อ ค.ศ. 1997 หนังสือนี้ฉบับเต็มแปลเป็นไทยชื่อ “ความก้าวหน้ากับความยากจน” ขึ้นเว็บที่ //geocities.com/utopiathai/ProgressAndPoverty )

ขณะที่ Henry George กำลังเขียนหนังสือ Progress and Poverty การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังทำให้ทวีปอเมริกาและยุโรปเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในเวลาเพียงร้อยปีเศรษฐกิจที่ทำงานด้วยกำลังลม น้ำ และแรงกาย ได้เปลี่ยนเป็นใช้พลังไอน้ำ ถ่านหิน และ ไฟฟ้า ระบบเศรษฐกิจภูมิภาคได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนระดับชาติและระดับโลกด้วยคลอง ทางรถไฟ เรือไอ และโทรเลข สหรัฐฯ เหยียดยาวออกจากฝั่งมหาสมุทรหนึ่งถึงอีกฝั่งหนึ่ง ชายแดนตะวันตกก็หายไป

Henry George นักหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการชาวอเมริกัน รู้สึกอัศจรรย์ในความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่น่าประหลาดใจ แต่ก็ตกใจในแนวโน้มอันเลวร้าย ทำไมความสามารถในการผลิตที่สูงขึ้นมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจึงมิได้ขจัดความขาดแคลนและความอดอยากไปจากบรรดาประเทศที่เจริญแล้ว และยกระดับชนชั้นแรงงานจากความยากจนขึ้นสู่ความมั่งคั่ง? ตรงกันข้าม George ได้เห็นว่าการแบ่งงาน การที่ตลาดขยายกว้างออกไป และ การขยายเขตชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้ผู้ใช้แรงงานที่ยากจนกลับต้องพึ่งพาอำนาจที่พวกตนเองไม่สามารถควบคุมได้มากขึ้น ผู้ใช้แรงงานที่ยากจนกลายเป็นกลุ่มที่ถูกผลกระทบมากที่สุดเสมอยามเศรษฐกิจตกต่ำ และฟื้นตัวได้ช้าที่สุด การว่างงานและความยากไร้ได้ปรากฏขึ้นในอเมริกา และที่จริงปรากฏในภาคตะวันออกซึ่งพัฒนาแล้วมากกว่าในภาคตะวันตกที่กำลังแสวงหา มันเป็น “เสมือนมีลิ่มอันใหญ่โตตอกแทรก มิใช่เข้าหนุนยกใต้สังคม แต่เข้ากลางสังคม พวกที่อยู่เหนือขึ้นไปถูกยกขึ้น แต่พวกที่อยู่ต่ำถูกบดขยี้ลง” “ปริศนาใหญ่หลวงแห่งยุคของเรา” นี้ คือปัญหาซึ่ง George ได้พยายามหาทางแก้ในหนังสือ Progress and Poverty

นักเศรษฐศาสตร์จะจำได้ว่าการวิเคราะห์ของ George เป็นต้นเหตุให้เกิดทฤษฎีการแบ่งผลตอบแทนแก่ปัจจัยการผลิตตามผลิตภาพหน่วยท้ายสุด คำอธิบายของ George ใช้ภาษาซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก แม้ George จะพยายามหลีกเลี่ยงความไม่สอดคล้องกันในคำจำกัดความและการให้เหตุผล ซึ่ง George ได้แสดงให้เห็นว่าได้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ หลงทางไป

ลักษณะสำคัญของสำนักคลาสสิกของอังกฤษคือการจำแนกทรัพยากรการผลิตออกเป็น “ปัจจัยการผลิต” ๓ ปัจจัย คือ แรงงาน ที่ดิน และ ทุน นักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกส่วนมากคิดถึงเรื่องนี้ในแง่ชนชั้นทางสังคมใหญ่ ๆ ๓ ชนชั้น (คนงาน เจ้าที่ดิน และ นายทุน) แต่ George ถือว่าเป็นการแบ่งประเภทตามหน้าที่ ซึ่งต่างกันตามภาวะที่ปัจจัยนั้น ๆ มีส่วนในการผลิต

ในระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขัน ผลตอบแทนต่อปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ย่อมเป็นไปตามส่วนกับการที่ปัจจัยนั้น ๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิต เงินที่จ่ายสำหรับการใช้แรงงานเรียกว่า ค่าแรง สำหรับการใช้ที่ดินเรียกว่า ค่าเช่า รายได้ของทุนคือ ดอกเบี้ย George กล่าวว่าความทุกข์ยากของชนชั้นแรงงานเป็นเพราะค่าแรงจริงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนาน เขาตั้งคำถามว่า “ทำไมค่าแรงจึงมีแนวโน้มลงต่ำสุดเพียงให้ประทังชีวิตอยู่ได้เท่านั้น ทั้งที่ความสามารถในการผลิตได้เพิ่มขึ้น ? ”

ข้อเขียนของเขาดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ขั้นแรก George สำรวจคำอธิบายที่เป็นวิชาการและเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น ซึ่งอาศัยทฤษฎีประชากรอันโด่งดังของ Malthus เป็นสำคัญ ร่วมกับทฤษฎี “กองทุนค่าแรง” ของเศรษฐศาสตร์อังกฤษ สองทฤษฎีนี้รวมกันก็ส่อความว่ารายได้รวมของแรงงานย่อมขึ้นอยู่กับปริมาณทุนที่จัดไว้สำหรับจ่ายเป็นค่าแรง ค่าแรงจะเพิ่มได้ก็ต้องมีการเพิ่มปริมาณทุนต่อคนงานแต่ละคนก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อมาตรฐานการครองชีพขึ้นสูงกว่าระดับเพียงประทังชีวิต คนงานก็จะแต่งงานเร็วขึ้นและมีบุตรมากขึ้นจนการเพิ่มประชากรทำให้ปริมาณทุนต่อคนงานแต่ละคน – และค่าแรง – กลับลดลง ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มประชากรทำให้ผลิตภาพของการเกษตรลดเพราะต้องหันไปใช้ที่ดินซึ่งคุณภาพต่ำลง ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสะสมทุนอาจทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้นได้ระยะหนึ่ง – แต่ในที่สุด การใช้แรงงานมากขึ้นในที่ดินปริมาณคงที่จะเพิ่มผลผลิตในอัตราที่ลดน้อยถอยลง พูดสั้น ๆ มีความเชื่อกันกว้างขวางทั่วไปว่าความยากจนที่ปรากฏต่อเนื่องยาวนานอยู่นี้เป็นเพราะกฎธรรมชาติที่จะไม่มีวันเปลี่ยนไป นั่นคือ หลักจำนวนประชากร และ กฎว่าด้วยผลตอบแทนลดน้อยถอยลงแก่ที่ดิน

สำหรับ George การวิเคราะห์แบบของ Malthus นั้นน่ารังเกียจชิงชัง เพราะเหมือนจะยืนยันว่าการปฏิรูปด้านสถาบันจะไม่สามารถเปลี่ยนแบบรูปของการแบ่งรายได้ในขั้นรากฐานได้เลยและความใจบุญช่วยเหลือผู้ยากไร้จะมีแต่ไปเพิ่มความยุ่งยาก – ด้วยการลดอัตราตายและเพิ่มอัตราเกิด แต่โชคดีที่ George ได้พบว่าทฤษฎีค่าแรงเช่นนี้มีข้อบกพร่องทางทฤษฎีอยู่หลายประการ George พบด้วยว่าทฤษฎีนี้ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ - empirical facts) โดยอาศัยการศึกษากรณีประวัติศาสตร์จากไอร์แลนด์ จีน อินเดีย สหรัฐฯ และที่อื่นๆ บัดนี้ นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ George ที่ว่าความอดอยากและความยากจนของคนหมู่มากนั้นเป็นเพราะเหตุผิดพลาดทางสถาบันของมนุษย์มากกว่าขีดจำกัดของธรรมชาติ
ในการวิเคราะห์ของ George เอง เขาได้ใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สอดคล้องต้องกันของคำจำกัดความและการอธิบายเหตุผล ในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่หลักแหลม George ค่อย ๆ ดำเนินเรื่องราวไปอย่างช้า ๆ ตรวจสอบหาความจริงด้วยวิธีไร้เดียงสาแบบของ Socrates ดังนั้น เราจะไม่ทำให้ท่านผู้อ่านเสียความรู้สึกตื่นเต้นกระหายรู้ไปเสียก่อนด้วยการเปิดเผยข้อสรุปของ George ตั้งแต่แรก แต่เราจะพยายามบอกกล่าวว่าทำไมหนังสือนี้จึงยังคงคุ้มค่าที่จะอ่าน

ข้อโต้แย้งสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบันก็เหมือน ๆ กับที่เคยเป็นมาเสมอ นั่นคือมักจะเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายหลักทางสังคมสองประการ นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายไม่สบายใจที่จะต้องมีการยอมเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไปเสมอระหว่างประสิทธิภาพกับความยุติธรรม (trade-off between efficiency and equity) นโยบายส่งเสริมการออมและการก่อทุนถูกถือว่าทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น ในขณะที่นโยบายปรับการกระจายรายได้ (เช่นการเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้า) ก็บั่นทอนแรงจูงใจที่จะผลิตและหารายได้ การโต้แย้งเรื่องการปฏิรูปการสวัสดิการและนโยบายสุขภาพคือแบบอย่างล่าสุดของการโต้แย้งทางสังคมที่มีต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ และการต้องยอมได้อย่างเสียอย่างเช่นนี้ก็ปรากฏในประเทศอื่น ๆ ห่างไกลสหรัฐฯ ออกไปด้วย ประชาชนของเหล่าประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์สงสัยว่าการได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นจากการมีเศรษฐกิจระบบตลาดจะคุ้มค่ากับต้นทุนทางสังคมหรือ ประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต้องต่อสู้กับปัญหาการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่เร่งความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะประเมินประสิทธิภาพของการเลือกนโยบาย แต่อ้างว่าไม่มีความรู้เฉพาะด้านทางจริยธรรม จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักปรัชญาและกระบวนการทางการเมืองที่จะประเมินปัญหาความยุติธรรม จริงหรือที่การจัดดำเนินการของสังคมเพื่อให้ได้สิ่งอันเป็นที่ต้องการร่วมกันจะต้องพบกับปัญหาได้อย่างเสียอย่างระหว่างความเท่าเทียมกันกับประสิทธิภาพ – ระหว่างสิ่งที่ยุติธรรมกับสิ่งที่เป็นไปได้ ?

Henry George มิใช่จะเพียงแต่ปฏิเสธข้อนี้ เขายังยืนยันเป็นตรงกันข้ามด้วย การยอมรับนับถืออย่างเต็มที่ในสิทธิและความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจจะเผยให้เห็นว่าเป้าหมายแห่งความเสมอภาคและประสิทธิภาพต่างเสริมพลังให้แก่กัน ความยุติธรรมทางสังคมหรือระบบตลาดเสรีซึ่งทำงานได้อย่างดีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียว โดยไม่มีอีกอย่างหนึ่งนั้น จะเป็นไปได้ก็ไม่ยั่งยืน George ประกาศว่า “บรรดากฎแห่งสากลจักรวาลย่อมมีความประสานสอดคล้องกันเอง” การวิเคราะห์ของเขาแสดงให้เห็นว่าสาเหตุรากฐานที่เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นนั้นมิใช่อยู่ที่กฎธรรมชาติ แต่อยู่ที่การปรับตัวไม่ได้ทางสังคมซึ่งไม่ใส่ใจในกฎธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น การละเมิดความยุติธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งปัญหาความยากจนนั้น มักจะเกิดขึ้นคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจแล้วก็ไปขัดขวางการพัฒนา ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น

George เน้นว่าการแบ่งรายได้ไม่เท่าเทียมกันทำให้ไม่เกิดทรัพย์สินมากเท่าที่ควร เพราะการว่างงาน และการใช้แรงงานต่ำกว่าระดับปกติแปลว่าพลังงานและสติปัญญาไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ เขากล่าวว่าสำหรับผู้ที่หางานได้ ค่าแรงสูงจะกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การค้นคิดประดิษฐ์ และการปรับปรุง ส่วนค่าแรงต่ำจะทำให้เกิดความไม่เอาใจใส่ การที่คนจนได้รับการศึกษาไม่เพียงพอทำให้ความสูญเสียเกิดขึ้นทับทวี มีความเสียหายจากความชั่วและอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความยากจน และต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการปกป้องสังคมจากสิ่งเหล่านี้ คนรวยต้องรับภาระสนับสนุนการสวัสดิการสำหรับคนยากไร้ – มิฉะนั้นก็อาจเสี่ยงกับการเกิดความวุ่นวายทางสังคม George กล่าวว่ายิ่งไปกว่านั้น สถาบันหรือระบบทางสังคมซึ่งทำให้บางคนร่ำรวยโดยคนอื่นต้องยากจนลงนั้นจะทำให้ความสามารถพิเศษและทรัพยากรที่ควรจะได้ใช้ก่อผลผลิตต้องถูกใช้หมดสิ้นไปในความขัดแย้งขณะที่หลายคนได้พบว่าการแข่งขันหาความได้เปรียบทางการเมืองได้ผลตอบแทนงามกว่าการแข่งขันหาความสำเร็จในระบบตลาด

กล่าวสั้น ๆ ระบบเอกสิทธิ์และสิทธิพิเศษที่ไม่เป็นธรรมมักทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เศรษฐกิจมหภาคขาดเสถียรภาพและชะงักงัน มีคอร์รัปชันทางการเมือง และเกิดความขัดแย้งในสังคมซึ่งในที่สุดก็อาจเป็นภัยคุกคามอารยธรรมทั้งหลาย

งานเขียนของ George มุ่งไปที่การแสดงให้เห็นว่าการแยกความแตกต่างระหว่างทรัพย์สินส่วนบุคคลกับทรัพย์สินส่วนรวมจะเป็นเกณฑ์ที่มีเหตุผลในการแยกอาณาเขตของกิจกรรมสาธารณะออกจากกิจกรรมของแต่ละบุคคล การแยกความแตกต่างนี้นำเขาไปสู่ทฤษฎีหนึ่งของการคลังสาธารณะซึ่งสามารถทำให้เกิดความปรองดองกันได้ระหว่างความคิดฝ่ายสังคมนิยมกับฝ่ายทุนนิยมเสรี ด้วยวิธีการคลังง่าย ๆ เราก็อาจจะเก็บรายได้อันเกิดจากทรัพย์สินของส่วนรวมมาเข้าคลังแผ่นดินเพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถทำหน้าที่ทั่วไปที่จำเป็นโดยไม่ต้องรบกวนแรงจูงใจส่วนบุคคล แทบทุกคนจะมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทรัพยากรอันจำกัดของโลกจะได้รับการดูแลจัดการเพื่อผลประโยชน์ของทุกคน รวมทั้งคนรุ่นหลัง รัฐบาลจะไม่เป็นอำนาจกดขี่ แต่จะกลายเป็น “องค์การบริหารสังคมสหกรณ์ที่ยิ่งใหญ่ จะกลายเป็นเพียงองค์การตัวแทนที่จัดการทรัพย์สินของส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน”

ความเห็นแจ้งของ George สามารถนำไปใช้ได้กับปัญหาสมัยใหม่หลาย ๆ ปัญหา การกระจายทรัพย์สินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมีความเหลื่อมล้ำกันมากยิ่งขึ้น ยุโรป อเมริกาเหนือ และญี่ปุ่นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในขณะที่ประเทศที่ยากจนกว่าจำนวนมากชะงักงันหรือเสื่อมถอย จำนวนมากมีภาระหนี้สินหนัก

นโยบายการเงินการคลังสมัยใหม่มิได้แก้ปัญหาความผันผวนด้านมหภาค แต่สมัยก่อนหน้า Keynes ครึ่งศตวรรษ George ได้ให้ภาพคร่าว ๆ ของทฤษฎีเศรษฐกิจเฟื่องฟูและตกต่ำ (boom and bust) ซึ่งอธิบายภาวะขาดเสถียรภาพของเศรษฐกิจระบบตลาดภายใต้สถาบันการคลังปัจจุบัน การทำงานของระบบการเงินและสินเชื่อปัจจุบันมีแต่ทำให้ความไร้เสถียรภาพนั้นรุนแรงขึ้น ทฤษฎีของเขาสอดคล้องกับสถานการณ์หลากหลายกรณี รวมทั้งการถดถอยและการฟื้นตัวที่หยุดลงของญี่ปุ่น และความเสียหายของระบบการออมและการกู้ยืมในสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้

การวิเคราะห์เศรษฐกิจแนว Georgist หรือ geoclassical นี้มีความเกี่ยวข้องตรงประเด็นกับความยุ่งยากของรัสเซียและชาติอื่น ๆ ที่หลุดพ้นจากลัทธิคอมมิวนิสต์ วิกฤตการณ์หนี้ระหว่างประเทศ และแรงกดดันทั่วโลกด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มันมีความเกี่ยวเนื่องกับประสบการณ์ธรรมดาด้านการขาดดุลงบประมาณเรื้อรังทั้งระดับเทศบาลและรัฐบาลกลาง การวิเคราะห์นี้สามารถนำไปใช้กับปัญหาคอร์รัปชันในรัฐบาลและการที่การกระจุกตัวของอำนาจการเมืองสัมพันธ์กับการกระจุกตัวของทรัพย์สิน มันให้กรอบความคิดที่ดีสำหรับการวิเคราะห์มลภาวะ สิ่งแวดล้อมและการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม ที่จริงแล้วท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าขบวนการสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ในบางด้านมีทีท่าว่าจะพยายามกลับไปค้นพบข้อเสนอแบบ Georgist ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เมืองในสหรัฐฯ จำนวนมากต้องเผชิญปัญหาการเสื่อมของเมืองคู่ไปกับการขยายตัวอย่างหลวมเกินพอดีของชานเมือง ข่ายถนนและทางหลวงต้องขยายออกเพื่อรับกับการเดินทางที่ไกลยิ่งขึ้นในการเข้ามาทำงานในเมือง เพื่อหนีปัญหาต่าง ๆ ของเมือง พลเมืองก็สร้างบ้านใหม่ในชนบทที่เงียบสงบ แล้วก็ต้องพบว่าปัญหาจราจรติดขัด มลภาวะ เสียง และปัญหาของสังคมเมืองได้ขยายออกตามมากับการเคลื่อนย้ายของประชากร นักสังคมวิทยาไม่เห็นด้วยกับการสูญเสียชุมชนในขณะที่นักสิ่งแวดล้อมเตือนถึงผลร้ายของมลภาวะจากรถยนต์ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย ป่าไม้ และระบบนิเวศ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นความสูญเสียหลายพันล้านดอลลาร์จากทุนทางกายภาพและทุนมนุษย์ที่ถูกทิ้งไว้ในเมืองที่กำลังเสื่อมสภาพ - คนจนที่ติดค้างอยู่ในเมืองต้องดูแลตนเอง แต่มีงานให้ทำน้อย และบริการสาธารณะลดลงตามรายได้จากภาษีของเทศบาล แต่ก่อนจะเกิดมีรถยนต์หลายปี Henry George ได้วิเคราะห์พลวัตของความเจริญและความเสื่อมของเมืองไว้แล้ว เขาได้อธิบายกระบวนการมูลฐานซึ่งทำให้การกระจายตัวของประชากรทางภูมิศาสตร์เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม การใช้ที่ดินอย่างขาดประสิทธิภาพ และการเสื่อมสภาพของเมือง นักเศรษฐศาสตร์ชุมชนเมืองและนักวางแผนการขนส่งปัจจุบันที่รู้แจ้งแล้วต่างสนับสนุนการปฏิรูปนโยบายแบบ Georgist ในระดับเทศบาล

บทสังเคราะห์ของ George จึงเป็นการให้ข่าวสารแก่โครงการวิจัยอย่างกว้างขวาง นักเขียนบางคนเห็นว่าความคิดของ George เป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) หรือแบบแผนความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่แตกต่าง ซึ่งประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างกระบวนทัศน์ของสองสำนักที่สำคัญในโลกปัจจุบัน – สำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนีโอคลาสสิกซึ่งมักจะมุ่งสนใจในด้านประสิทธิภาพที่น่าประทับใจของระบบตลาดเสรี และ สังคมนิยมแบบของ Marx นักเขียนอื่นๆ ที่นิยม George เชื่อว่าความคิดของ George นั้นอาจและควรจะอธิบายเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกสมัยใหม่ได้ ที่แน่ ๆ ก็คือความคิดแบบ geoclassic นี้มีความเกี่ยวพันตรงประเด็นกับข้อโต้แย้งสำคัญ ๆ บางเรื่องในอเมริกาและโลกปัจจุบัน.




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2552    
Last Update : 20 มิถุนายน 2552 8:31:14 น.
Counter : 705 Pageviews.  

แก้ไขซ่อมแซมทุนนิยม

แก้ไขซ่อมแซมทุนนิยม
(แปลจากบทบรรณาธิการของ The Progress Report เรื่อง Fixing Capitalism โดย ศ. ดร. Fred E. Foldvary กุมภาพันธ์ 2545 ที่ //www.progress.org/archive/fold235.htm)

Jean-Yves Calvez นักเทววิทยาและนักเขียนหนังสือด้านสังคมชาวฝรั่งเศสได้เขียนหนังสือเรื่อง Changer le capitalisme เกี่ยวกับลัทธิทุนนิยมมีอะไรผิดพลาดและจะแก้ไขอย่างไร เขาเน้นไปที่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และกล่าวว่าจะต้องมีการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกันมากขึ้นเพื่อความยุติธรรมทางสังคม เขากล่าวด้วยว่าเราต้องการดุลยภาพระดับหนึ่งระหว่างปัจเจกนิยมกับความเป็นปึกแผ่นของสังคมหรือน้ำใจเพื่อส่วนรวม มีประเพณีนิยมในนิกายคาทอลิก รวมทั้งกลุ่มเยซูอิต ที่จะตรวจสอบระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ และเสนอการปฏิรูปที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น

วิธีแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่เสนอกันส่วนมากมักเป็นการให้รัฐบาลทำการควบคุมจำกัดวิสาหกิจ เช่น กำหนดชั่วโมงและสภาพการทำงาน และกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำทางกฎหมาย วิธีแก้ไขที่นักปฏิรูปสังคมมักเสนอกันก็คือการปรับการกระจายรายได้ (redistribution of income) จากคนรวยไปให้คนจน และจัดให้มีบริการทางเศรษฐกิจ เช่น การรักษาพยาบาล การเคหสงเคราะห์ และการช่วยเหลือด้านสวัสดิการสำหรับผู้มีบุตร ส่วนการศึกษานั้นรัฐบาล [สหรัฐฯ] ได้จัดให้และให้ทุนอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

อุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดต่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นการใช้ศัพท์ “ลัทธิทุนนิยม” เฮนรี จอร์จ นักปรัชญาสังคมและนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน เขียนไว้ว่าการกระทำย่อมเป็นไปตามความคิด เมื่อเราวิจารณ์ “ทุนนิยม” เราต้องให้ชัดเจนแน่นอนว่ามันคืออะไร ระบบเศรษฐกิจทุกระบบต่างก็ใช้ ทุนทางการเงิน และ สินค้าประเภททุน ดังนั้นการใช้คำว่า “ลัทธิ” กับคำว่าทุนจึงไม่มีความหมายอะไรเลย

เมื่อเราพูดถึงปัญหาของทุนนิยมหรือการเปลี่ยนแปลงและซ่อมแซมทุนนิยม คำนี้ก็หมายถึงระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ระบบนี้คืออะไร ? ขณะนี้มีระบบเศรษฐกิจแบบรัฐควบคุม (command economies) เหลืออยู่ในโลกเพียงหนึ่งหรือสองแห่งเท่านั้น ประเทศนอกนั้นมีระบบเศรษฐกิจผสมระหว่างระบบตลาดเสรีกับการควบคุมโดยรัฐบาล

“ระบบตลาดเสรี” คืออะไร ? ระบบตลาดเสรีที่แท้คือระบบที่กิจกรรมต่างๆ ของทั้งสังคมดำเนินไปโดยความสมัครใจทั้งสิ้น รัฐบาลอาจมีบทบาทสองประการที่แตกต่างกัน คืออาจเป็นการช่วยระบบตลาดเสรีถ้าช่วยเหลือสังคมให้กิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปโดยสมัครใจ เช่น ห้ามและลงโทษการขโมย หรืออาจเป็นการทำร้ายระบบตลาดเสรี เช่น เมื่อการแทรกแซงของรัฐบาลเป็นการจำกัดการกระทำที่สมัครใจหรือทำให้การกระทำที่สมัครใจนั้นสิ้นเปลืองมากขึ้น

เมื่อเราเสนอวิธีแก้ไขปัญหาสังคม เราอาจมีการปฏิรูปที่ต่างกันเป็นสองแบบ แบบหนึ่งคือเพียงแต่บำบัดผลลัพธ์หรืออาการ อีกแบบหนึ่งคือหาสาเหตุมูลฐานของปัญหาและกำจัดสาเหตุนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องมีการบำบัดอีกต่อไป

วิธีแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน เช่น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ การช่วยเหลือสวัสดิการ และการปรับการกระจายรายได้ เหล่านี้เป็นเพียงการแก้ไขตามอาการ เมื่อไม่แก้ที่สาเหตุ ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ต่อไป และกลับยิ่งเลวร้ายลงเพราะการแทรกแซง มีการแทรกแซงมากมายในแทบทุกประเทศในปัจจุบัน แต่ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก การว่างงาน และภาวะมลพิษ ก็ยังมีอยู่

การปรับการกระจายรายได้คือการลงโทษการผลิต การบริโภค การใช้แรงงาน และการลงทุน ทำให้ผู้ทำงานและคนจนมีฐานะเลวร้ายลงไป กลับต้องการการปรับการกระจายรายได้ใหม่อีกกลายเป็นวงจรอุบาทว์ของลัทธิรัฐสวัสดิการ เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ? เหล่านักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งศสได้ค้นพบวิธีแก้ไขที่ได้ผลมากว่า 200 ปีแล้วและเรียกสิ่งที่ค้นพบนี้ว่า “หลักบังคับแห่งกฎธรรมชาติ” (physiocracy, rule of natural law) พวกเขาแสดงว่าการสอดแทรกของรัฐบาล เช่น การเก็บภาษีการค้าเป็นการทำร้ายตลาด ซึ่งก็คือการทำร้ายคนงานและเพิ่มความยากจน กฎเศรษฐศาสตร์ธรรมชาติที่พวกเขาค้นพบและเรียกว่า “ปล่อยเราตามลำพัง” (laissez faire หรือลัทธิเสรีนิยม) นี้คือเราจะมีความรุ่งเรืองสูงสุดเมื่อปล่อยให้เศรษฐกิจธรรมชาติทำงานโดยเสรี ไม่มีการควบคุมจำกัดหรือมีการทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการค้าที่สันติและสุจริต

กฎธรรมชาติอีกข้อหนึ่งที่พวกเขาค้นพบคือระบบเศรษฐกิจธรรมชาติได้ทำให้เกิด “ผลผลิตสุทธิ” (net product) แก่สังคม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันเรียกว่า “ส่วนเกินทางสังคม” (social surplus) ผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ [ที่ดิน] นี้แสดงให้เห็นในรูปค่าเช่าที่ดินในระบบตลาด พวก physiocrats เห็นว่าควรให้ค่าเช่านี้เป็นรายได้ของรัฐบาล

Adam Smith ผู้ก่อตั้งเศรษฐศาสตร์คลาสสิกได้เดินทางไปฝรั่งเศสและพบกับพวกฟิสิโอแครต แอดัม สมิธเองได้เขียนไว้ว่าการค้าเสรีจะทำให้เกิด “เศรษฐทรัพย์หรือความมั่งคั่งของชาติ” (Wealth of Nations) มากที่สุด สมิธเป็นอีกผู้หนึ่งที่กล่าวว่าค่าเช่าที่ดินเป็นแหล่งรายได้ที่ดีที่สุดของรัฐบาล เพราะเจ้าของที่ดิน “เก็บเกี่ยวโดยที่ไม่ได้หว่าน“ (reap where they don't sow) David Ricardo นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกอีกผู้หนึ่งได้ตั้งทฤษฎี “กฎว่าด้วยค่าเช่า” ที่ถูกต้องมากขึ้น อธิบายว่าค่าเช่าที่ดินเกิดจากความแตกต่างในคุณภาพของที่ดินแปลงต่าง ๆ อย่างไร

ต่อมา Karl Marx และผู้ที่เชื่อตามได้ทำให้เกิดความยุ่งเหยิงขึ้นในภาษาและความคิด มาร์กซ์ต้องการแยกคนงานออกต่างหากจากคนทั้งปวงที่มีสินทรัพย์ ดังนั้นมาร์กซ์จึงเอาที่ดินรวมเข้าเป็นทุนด้วย นับแต่นั้นมา นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากก็เอาอย่างมาร์กซ์ในการให้ความสนใจเฉพาะกับแรงงานและทุน การเน้นเรื่องที่ดินของพวกฟิสิโอแครตและพวกคลาสสิกถูกเขี่ยอออกไปนอกทาง ความคิดเศรษฐกิจแบบนีโอคลาสสิกซึ่งเกิดต่อจากสำนักคลาสสิกได้ถูกชักจูงให้ลืมเรื่องที่ดิน เพราะมันเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มที่มีส่วนได้เสียจากที่ดินผู้ให้เงินทุนสนับสนุนอยู่ และยังทำให้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ง่ายขึ้นเมื่อมีปัจจัยเพียงสองปัจจัยแทนที่จะเป็นสาม จากนี้ไป เราจะเรียกระบบนี้ว่า “ทุนนิยม”

แต่ทุนเป็นปัญหาหรือ ? ทุนทำให้มีการลงทุน และการลงทุนและเทคโนโลยีที่ดีขึ้นคือสิ่งที่ได้ยกมาตรฐานการครองชีพขึ้นทั่วโลก ลัทธิ “ทุนนิยม” ได้ทำให้ผู้ประกอบการและเจ้าของทุนกลายเป็นผู้ร้าย แต่กฎว่าด้วยค่าเช่าของริคาร์โดแสดงว่าส่วนใหญ่ของกำไรจากการค้าและเทคโนโลยีกลับไปตกอยู่แก่เจ้าของที่ดินในรูปของค่าเช่า เพราะค่าแรงทุกแห่งมีแนวโน้มที่จะตกลงไปเป็นเท่ากับระดับค่าแรงที่ที่ดินชายขอบหรือขอบริมแห่งการผลิต (margin of production) ซึ่งให้ผลผลิตต่ำสุด

เฮนรี จอร์จพยายามนำปัจจัยที่ดินกลับคืนมา เขาตระหนักว่าความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในเศรษฐทรัพย์และรายได้จะมาจากการได้ครองที่ดินไม่เท่าเทียมกันเสมอ นี่ไม่ใช่การค้นพบใหม่ แต่ได้เป็นที่รับรู้กันทุกแห่งนานมาแล้ว ในหนังสือ Progress and Poverty (ค.ศ.1879) จอร์จได้อ้างคำกล่าวของพราห์มณ์อินเดียโบราณไว้ว่า “ผู้ใดได้ครอบครองที่ดินไม่ว่า ณ กาลใด ผู้นั้นย่อมจักได้ครอบครองผลแห่งที่ดินด้วย เศวตฉัตรและช้างสารอันเมามันไปด้วยความลำพองใจคือดอกผลแห่งการให้สิทธิ์ในที่ดิน”

จอร์จไปไกลกว่าสำนักคลาสสิกและฟิสิโอแครต โดยเพิ่มด้านศีลธรรมเข้าไปในเศรษฐศาสตร์ในข้อที่ว่า คนงานมีสิทธิตามธรรมชาติในแรงงานและค่าแรงของตน และเนื่องจากไม่มีมนุษย์ผู้ใดสร้างที่ดินขึ้นมา เพื่อความเท่าเทียมกันจึงต้องให้ทุกคนมีส่วนโดยเท่าเทียมกันในผลประโยชน์ของที่ดินตามที่แสดงออกในรูปค่าเช่า ยิ่งไปกว่านั้น โดยที่มูลค่าที่ดินสูงขึ้นเพราะกิจการสาธารณะของรัฐบาล จึงเป็นความยุติธรรมที่จะจ่ายค่าเช่าที่สูงขึ้นนั้นกลับคืนเพื่อบำรุงกิจการเหล่านั้น

ดังนั้นวิธีแก้ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันจึงแจ่มชัด ความไม่เท่าเทียมกันและการตกต่ำของค่าแรงสามารถแก้ได้ด้วยการให้ทุกคนมีส่วนเท่าเทียมกันในค่าเช่าที่ดินโดยให้ค่าเช่าเป็นรายได้สาธารณะและรายได้ของรัฐบาล หรือ แจกให้ราษฎรทุกคนเท่า ๆ กัน ความไม่เท่าเทียมกันจากค่าแรงที่ต่างกันในส่วนที่เหลือก็จะมีความรุนแรงน้อยลงมากและมีเหตุผลสมควรในฐานะเป็นรางวัลสำหรับการใช้ความพยายาม ความสามารถพิเศษ และ ทักษะของมนุษย์

ขณะนี้มีผู้เรียกนโยบายของจอร์จว่าลัทธิ "geoism" คำว่า geo หมายถึงแผ่นดิน geoism ซ่อมแซมลัทธิ “ทุนนิยม” โดยแก้ที่สาเหตุของความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน ทำให้รัฐบาลไม่ต้องปรับการกระจายรายได้ใหม่ ไม่ต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการ และไม่ต้องกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ geoism ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในขณะเดียวกับที่ทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย โดยการกำจัดภาษีที่เก็บจากค่าแรง กำไร สินค้า และการลงทุน ซึ่งภาษีเหล่านี้ล้วนแต่ทำร้ายระบบตลาดเสรี geoism ยังทำให้เกิดการประสานสอดคล้องกันระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม โดยปล่อยให้ปัจเจกบุคคลได้ค่าแรงไปเต็มที่ในขณะที่ให้ความเป็นปึกแผ่นแก่สังคมด้วยผลประโยชน์จากธรรมชาติและพระผู้เป็นเจ้า

บรรดานักปฏิรูปสังคมอย่าง Calvez จากทุกศาสนาได้แสวงหาระบบเศรษฐกิจที่ทั้งยุติธรรมและก่อผลผลิต ถ้าท่านเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกและมนุษย์แล้วจะเป็นไปได้หรือที่พระผู้ทรงความยุติธรรมจะให้มนุษย์มาอยู่ในโลกโดยไร้เครื่องมือที่จะทำให้ชีวิตเศรษฐกิจอุดมสมบูรณ์สำหรับทุกคน ? นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคิดได้ ดังนั้นจะต้องมีกฎเศรษฐศาสตร์ธรรมชาติที่จะทำให้เกิดความรุ่งเรืองเป็นการทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น กฎธรรมชาติเหล่านี้จะต้องไม่ลึกลับเสียจนกระทั่งมนุษย์ไม่สามารถค้นพบและเข้าใจได้ง่าย ๆ กฎแห่งความรุ่งเรืองมีอยู่ในพระคัมภีร์มาแล้วกว่า 2,000 ปี - “ผลกำไรของแผ่นดินโลกนั้นสำหรับทุกคน” (Ecclesiastes 5:9)

John Locke ปราชญ์ด้านกฎธรรมชาติรับรองเมื่อ ค.ศ.1690 ว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานโลกนี้แก่มนุษย์เป็นส่วนรวมร่วมกัน และรับรองด้วยว่าถ้าจะไม่ให้มนุษย์แต่ละคนต้องตกเป็นทาสแก่ผู้อื่น เขาก็ต้องมีสิทธิทางศีลธรรมต่อร่างกายของเขาเองและแรงงานของเขา ดังนี้ กฎทางศีลธรรมซึ่งให้ความยุติธรรมก็สอดคล้องกับกฎต่าง ๆ ทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งให้ความรุ่งเรือง - จงมีส่วนร่วมกันในแผ่นดินและรับส่วนที่ตนทำมาหาได้ไว้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินที่ผลิตขึ้นมา ถ้าเราทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินโลก

ลัทธิทุนนิยมปัจจุบันมีการแทรกแซงที่ทำร้ายระบบตลาดเสรี ซึ่งเก็บภาษีไปจากรายได้ของแรงงานเพื่อสนับสนุนกิจการสาธารณะ ซึ่งปรับการกระจายเศรษฐทรัพย์ไปให้แก่เจ้าของที่ดินในรูปของค่าเช่าและมูลค่าที่ดินที่สูงขึ้น เพื่อความยุติธรรมทางสังคม จะต้องมีการซ่อมแซมและกำจัดการแทรกแซงแทนที่จะขัดขวางการกระทำที่เป็นการสมัครใจ ถ้าสัจจะอันยิ่งใหญ่นี้ได้เป็นที่รับรู้กัน ก็แน่นอนว่าการปฏิบัติที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นตามมากับความคิดที่ชอบธรรม.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทุนนิยมแท้คือรัฐสวัสดิการที่ไม่มีภาษีก้าวหน้า
//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=267&c=1
ผลดีและความเป็นธรรมของภาษีที่ดิน
//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=242&c=1




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2552    
Last Update : 12 มิถุนายน 2552 6:59:22 น.
Counter : 732 Pageviews.  

Join the End of Poverty Campaign !!

In a world with so much wealth, why is there still so much poverty?

Welcome to The End Of Poverty Social Network. We created this network as a space for individuals and organizations worldwide to collaborate resources and ideas for the purpose of eliminating global poverty. We hope this network will become a worldwide social forum to examine and critically analyze all current financial policies and any other issues contributing to global poverty. Discuss eliminating international debt, tax reform, agrarian reform, ceasing the privatization of natural resources, de-growth, and other ways we can end poverty. Join the network, share your ideas, discuss the causes of poverty, debate, join forces, organize campaigns, and start making a difference.

//endpoverty.ning.com




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2552 8:31:20 น.
Counter : 743 Pageviews.  

ทุนนิยมแท้คือรัฐสวัสดิการที่ไม่มีภาษีก้าวหน้า

ทุนนิยมแท้คือรัฐสวัสดิการที่ไม่มีภาษีก้าวหน้า
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์ เม.ย. 2552)

ระบบรัฐสวัสดิการไม่มีความจำเป็นหรือความสมควรที่จะต้องใช้วิธีหารายได้เข้ารัฐจากภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้าหรือภาษีมูลค่า เพิ่มที่รุนแรงแบบสวีเดนแต่อย่างใด ที่จริงก็คือไม่ต้องเก็บภาษีจากการลงแรงลงทุนเลยด้วยซ้ำ ภาษีที่รุนแรงแบบสวีเดนน่าจะทำให้พลเมืองออกไปต่างประเทศที่ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่รุนแรงและถ้าอยู่ในประเทศสวีเดนเองไม่ถึงครึ่งปีในแต่ละปีก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้สวีเดนด้วย

ก่อนอื่นผมอยากให้พวกเราเลิกความเชื่ออันเกิดจากความเคยชินกับระบบภาษีปัจจุบันหรือความคิดที่ว่าภาษีที่เก็บจากแหล่งที่มาหลาย ๆ อย่าง อย่างละเล็กละน้อยนั้น ปรับปรุงกันมาเรื่อย ๆ ย่อมยุติธรรมหรือดีอยู่แล้วเสีย

แหล่งที่มาของภาษีมี 3 ทางเท่านั้นคือรายได้หรือทรัพย์สินอันเกิดจากปัจจัยการผลิตทั้ง 3 ปัจจัย ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน และ ทุน
(ส่วนที่บางคนถือว่ามีปัจจัยที่ 4 คือ การประกอบการ นั้น ที่จริงก็คือแรงงาน ซึ่งอาจจะเป็นแรงสมองมาก แรงกายน้อย)
ไม่ว่าเราจะคิดเก็บภาษีจากขั้นตอนใดหรือจากแหล่งใด ผู้จ่ายก็มึเพียง 3 ประเภท
คือ เจ้าของที่ดิน, ผู้ใช้แรงงานหรือเจ้าของแรงงาน, และเจ้าของทุนหรือนายทุน
(เจ้าของปัจจัยการผลิตปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอื่นด้วยก็ได้ แต่ในการคิดหาเหตุผลเราต้องแยกความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้ง 3 ปัจจัยออกจากกัน)

ทีนี้เราก็มาตรองดูว่า ในบรรดาปัจจัยการผลิต 3 ปัจจัยนี้ เราควรเก็บภาษีจากปัจจัยไหน

ตลอดเวลามานานแล้ว ระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรมของแทบทุกรัฐในโลกกำลังเบียดเบียนผู้ลงแรงลงทุนทั้งหลาย
ที่สาหัสคือคนจน
ผู้ได้ประโยชน์คือเจ้าของที่ดิน และทำให้มีการเก็งกำไรสะสมที่ดิน ซึ่งซ้ำเติมให้การเบียดเบียนรุนแรงทับทวี
ราคา-ค่าเช่าที่ดินแพงเกินจริง ทำให้ผลตอบแทนต่อแรงงานและทุนต่ำเกินจริง
เมื่อรวมกับการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ก็ทำให้แรงงานและทุนพลอยไม่ค่อยมีงานทำไปด้วย
ผลผลิตและความเจริญของชาติต่ำกว่าที่ควร ค่าแรงยิ่งต่ำ
อีกทั้งการเก็งกำไรที่ดินอย่างกว้างขวาง ผสมกับสาเหตุทางการเงิน ยังก่อวัฏจักรเศรษฐกิจที่เหวี่ยงตัวรุนแรง
เกิดความเสียหายใหญ่หลวงดังเช่นปี 2552 นี้ในสหรัฐฯ และลามไปทั่วโลก

ภาษีเงินได้และภาษีกำไรยิ่งไปลดรายได้
ภาษีการผลิตการค้าทำให้ของแพง
คนจนยิ่งเดือดร้อน อ่อนแอ กลายเป็นเหยื่อนายทุนผู้จ้าง นายทุนเงินกู้ และผู้หลอกลวงโดยง่าย

ที่ดินคือทุกสิ่งนอกจากตัวมนุษย์และผลผลิตหรือทรัพย์ที่เขาลงทุนลงแรงผลิตและค้าขายแลกเปลี่ยน
ที่จริง ที่ดินควรเป็นสิทธิของทุกคนเท่าเทียมกัน รวมทั้งเด็กแรกเกิด
เพราะชีวิตมนุษย์จะคงอยู่ได้ ต้องมีที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน
ที่ดินนั้นไม่มีมนุษย์ผู้ใดสร้าง จึงไม่มีใครจะอ้างได้ว่าเป็นของตน
ที่ดินส่วนใหญ่ทีเดียวมีราคาสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะกิจกรรมของส่วนรวมและความเจริญของชุมชน
การซื้อที่ดินมิใช่การลงแรงลงทุนผลิต แต่เป็นการสืบต่อสิทธิ์ถือครอง
ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น ๆ เรียกกันว่า ส่วนเพิ่มที่มิได้ลงทุนลงแรง (unearned increment)

แต่ที่ดินมีถูกแพงดีเลวตามแต่สิ่งที่อยู่ในที่ดินนั้น และที่สำคัญคือทำเล
การจัดสรรให้ย่อมยากที่จะเป็นธรรม และยากที่จะให้เหมาะสมกับแต่ละคน
และคนมีเกิดมีตาย จะจัดสรรใหม่ก็ยาก
วิธีที่ให้ความเป็นธรรมได้ดีคือเก็บภาษีที่ดินให้สูงเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่าศักย์ ซึ่งจะทำให้ที่ดินราคาถูกลง
แรงงานและทุนจะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ง่ายขึ้น การว่างงานลด ค่าแรงเพิ่ม
ผลตอบแทนทุนก็เพิ่ม ผลผลิตและความเจริญของชาติจะสูงขึ้น
(แต่ควรค่อยเป็นค่อยไป เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป
อาจใช้เวลานาน 25-30 ปี เพิ่มภาษีปีละ 3-4 % ของค่าเช่าศักย์)

ในสหรัฐฯ มีผู้เห็นว่าค่าเช่าที่ดิน (คือภาษีที่ดินที่เห็นควรให้รัฐเก็บจากเจ้าของที่ดินเท่าหรือเกือบเท่ากับค่าเช่าศักย์) นั้นเพียงพอสำหรับงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ทั้งนี้หมายรวมถึง ค่านำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป และค่าก่อความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม อีกส่วนหนึ่งก็คือค่าสัมปทานซึ่งให้สิทธิผูกขาดแก่ผู้ประกอบการเฉพาะบางรายเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเร็ว ๆ นี้คือ บทความ 112 หน้าของ ศ. Mason Gaffney เรื่อง The Hidden Taxable Capacity of Land: Enough and to Spare ที่ //www.uvm.edu/~gflomenh/PA395-CMN-ASSTS/articles/gaffney/MASTER-Gaffney-rent.doc

นั่นคือสวัสดิการขั้นที่ 1
สวัสดิการขั้นที่ 2 คือ ค่อย ๆ ลดเลิกภาษีทั้งสิ้นที่เก็บจากแรงงานและทุน เพราะได้ภาษีจากที่ดินมาแทนแล้ว
และเพราะเอกชนควรได้รับผลตอบแทนเต็มที่จากการลงแรงลงทุนของตน
เพราะความร่วมมือในการผลิต โดยเฉพาะคือการแบ่งงานกันทำ (division of labor) แล้วค้าขายแลกเปลี่ยนกัน
ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงจากการเล่าเรียนฝึกฝนความรู้ทักษะเฉพาะทาง ทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้ของดีราคาถูก
ซึ่งเป็นไปด้วย *มือที่มองไม่เห็น* ของแอดัม สมิธ นับเป็นสวัสดิการชั้นดี แต่ที่ผ่านมาแทนที่รัฐจะให้รางวัล
กลับลงโทษด้วยภาษีต่าง ๆ นานา รายได้ต่ำลงเพราะภาษี ของแพงขึ้นก็เพราะภาษี

หลังจากผ่านสวัสดิการ 2 ขั้นแรกมาแล้ว สวัสดิการขั้นที่ 3 ส่วนที่ต้องช่วยเหลือเพิ่มเติม จะลดลงมาก
เราก็สามารถจัดสวัสดิการได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น


ลัทธิทุนนิยมแท้ ๆ ไม่ควรจะมีที่ดินนิยมหรือลัทธิเจ้าที่ดินมาร่วมอยู่ด้วย
เพราะที่ดินนิยมจะเป็นกาฝากร้ายที่บ่อนเบียนลัทธิทุนนิยมเองให้เกิดผลร้ายแก่ผู้คนที่อยู่กับลัทธินี้
ไม่มีการเก็งกำไรใดอื่นจะกว้างขวางและส่งผลเสียหายรุนแรงเท่าเทียมการเก็งกำไรที่ดิน
(ขนาดที่ไปไหน ๆ ก็เจอแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้ว)
เพราะที่ดินมิใช่ผลผลิต แต่เป็นมารดาแห่งผลผลิตของมนุษย์ (โภคทรัพย์และทุน)
การกักตุนที่ดินกันทั่วไปจึงเป็นการปิดกั้นแรงงานและทุนจากการสร้างผลผลิตหรือสินค้าอย่างมาก
ส่วนการกักตุนสินค้า อาจมีสินค้าอื่นใช้แทนได้ และอาจมีผู้อื่นหันมาผลิตสินค้านั้นออกขายแทน
การเก็งกำไรกักตุนสินค้าจึงไม่เกิดผลร้ายกว้างขวางรุนแรงเท่าการเก็งกำไรกักตุนที่ดิน

ถ้าไม่มีการเก็งกำไรที่ดินอย่างกว้างขวาง ก็ไม่มีการกู้เงินอย่างกว้างขวาง
ถ้าไม่มีการเก็งกำไรที่ดินอย่างกว้างขวาง ก็ไม่มีวัฏจักรธุรกิจที่ดินที่ราคาเหวี่ยงตัวรุนแรง
วิกฤตการเงินที่รุนแรงลามไปทั่วโลกก็ไม่เกิด
เก็งกำไรที่ดินมีในที่ดินนิยม ที่ดินนิยมไม่ได้หายไปไหนขณะที่มีความเชื่อกันผิด ๆ ว่าโลกเราเปลี่ยนเป็นทุนนิยมแล้ว
และหลง (หรือเจตนา ? ) โทษว่าลัทธิทุนนิยมหรือระบบตลาดเสรีล้มเหลว


เชิญอ่าน
ผลดีและความเป็นธรรมของภาษีที่ดิน
//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=242&c=1
ผสมสองทฤษฎีสกัดเศรษฐกิจฟองสบู่
//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=46&c=1
นายทุนกับผู้ใช้แรงงานมีผลประโยชน์ร่วมกัน
//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=96&c=1
แก้ปัญหาที่ดินได้ปัญหานายทุนกดค่าแรงจะหมดไปด้วย
//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=4&c=1

สุธน หิญ //geocities.com/utopiathai




 

Create Date : 28 เมษายน 2552    
Last Update : 28 เมษายน 2552 7:59:28 น.
Counter : 599 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com