Group Blog
 
All Blogs
 

การบาดเจ็บทางการกีฬา

การบาดเจ็บทางการกีฬา ( Sports Injuries )

การบาดเจ็บทางการกีฬาเกิดขึ้นได้เสมอ การบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนสามารถให้การดูแลเบื้องต้นได้เอง แต่ในการบาดเจ็บบางอย่างที่มีความรุนแรงถ้ารู้จักการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีจะช่วยลดอันตรายและป้องกันไม่ให้มีการบาดเจ็บมากขึ้นก่อนมาพบแพทย์

กลไกการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
1. การปะทะ ( direct injury )
เกิดจากแรงกระทำภายนอกมากระทบต่ออวัยวะหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำให้ส่วนนั้นได้รับบาดเจ็บ พบได้บ่อยในกีฬาประเภทปะทะ เช่น ฟุตบอล รักบี้ มวย การบาดเจ็บที่เกิดขึ้น เช่น ฟกช้ำ ถลอก ข้อเคลื่อนหลุด กระดูกหัก สมองและไขสันหลังบาดเจ็บ การบาดเจ็บของอวัยวะภายใน
2. การกระทำซ้ำๆ ( repetitive injury or overuse injury )
บาดเจ็บจากแรงกระทำขนาดน้อย แต่กระทำซ้ำซากเป็นเวลานานจนก่อให้เกิดการอักเสบ เช่น การบาดเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นประกับข้อ และการแตกร้าวของกระดูก ตัวอย่างเช่น rotator cuff tendinitis , tennis elbow
3. การฉีกขาดภายในเนื้อเยื่อ ( soft tissue failure )
เกิดจากแรงภายในร่างกายของนักกีฬาเองมากระทำต่อส่วนของร่างกาย มีการฉีกขาดของเอ็นและกล้ามเนื้อจากการหดตัวอย่างแรงพบในกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ เช่น กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อHamstrings

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บทางการกีฬา
1. ปัจจัยภายใน ได้แก่
- ความไม่สมบูรณ์ของนักกีฬา เช่น ขาดซ้อม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไม่สมดุลกัน
- สภาพจิตใจไม่พร้อม เช่น ตื่นเต้นมากไป ฮึกเหิมเกินความสามารถ ขาดความมั่นใจ
2. ปัจจัยภายนอก ได้แก่
- สถานที่หรืออุปกรณ์ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าไม่เหมาะสมกับกีฬา พื้นสนามไม่เรียบ
- อุปกรณ์ชำรุดหรือหมดอายุการใช้งาน
- เทคนิคการเล่นกีฬาที่ผิดวิธี
- ขาดการสวมใส่เครื่องป้องกันที่เหมาะสม
- สภาวะแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่น วิ่งในอากาศร้อนชื้น ว่ายน้ำในสระเย็นจัด

การป้องกันการบาดเจ็บทางการกีฬา
1. ตรวจสอบปัจจัยภายนอก
2. เตรียมความพร้อมของนักกีฬาก่อนลงเล่นกีฬา เช่น
- การยืดกล้ามเนื้อ ค้างไว้ 10 – 30 วินาที ทำซ้ำท่าละ 8 – 10 ครั้ง
- การwarm up
- การป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ เช่น การพันผ้ายืด, การstrapping

การบาดเจ็บทางการกีฬาที่พบได้บ่อยในอวัยวะต่างๆ
1. การบาดเจ็บที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน
- ผิวหนังถลอก, ผิวหนังพอง, ผิวหนังฟกช้ำ, ผิวหนังฉีกขาด, ผิวหนังถูกของแหลมทิ่มแทง
2. การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
- ตะคริว เป็นการหดเกร็งชั่วคราวของกล้ามเนื้อ สาเหตุเกิดจาก กล้ามเนื้อไม่พร้อมทำงานหนัก, สภาวะอากาศหนาวเย็นที่ไม่คุ้นเคย, การใช้ผ้ายืดหรือสนับรัดกล้ามเนื้อแน่นเกินไป
- กล้ามเนื้อช้ำ
- กล้ามเนื้อฉีกขาด
3. การบาดเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อและเอ็นประกับข้อ
- เอ็นอักเสบ, เอ็นฉีกขาด
4. การบาดเจ็บที่ข้อต่อและกระดูก
- กระดูกหัก โดยมากเกิดจากการปะทะ
- กระดูกหักล้า ( stress fracture ) เกิดจากบาดเจ็บซ้ำๆของกระดูกจนมีกระดูกร้าวภายใน เช่น กระดูกฝ่าเท้า, กระดูกหน้าแข้งในนักกีฬาวิ่งทน
- ข้อหลุดหรือข้อเคลื่อน พบบ่อยที่ข้อไหล่, ข้อหัวนิ้วมือ, ข้อศอก
5. การบาดเจ็บต่ออวัยวะภายใน
- อวัยวะภายในช่องท้อง, อวัยวะภายในช่องทรวงอก, อวัยวะภายในกะโหลกศรีษะและระบบประสาท

การแบ่งขอบเขตของการบาดเจ็บ
1. ศรีษะและคอ
2. ทรวงอก, ช่องท้อง และ หลัง
3. หลังส่วนล่าง, ตะโพก และ ขา
4. ศรีษะ, ไหล่ และ แขน

หลักการ PRICE
P : PREVENTION การป้องกันไม่ให้บาดเจ็บซ้ำที่บริเวณเดิมอีก
R : REST การพักหรือหยุดการใช้งานเฉพาะส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ
I : ICE การใช้ความเย็นประคบบริเวณส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อให้เลือดออกน้อยลง ทำให้ลดอาการบวม และ บรรเทาอาการปวด
C : COMPRESSION การใช้การพันหรือกดรัดที่บริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อลดอาการบวมจากเลือดออก
E : ELEVATION การยกส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน มักเกิดจากกลไกการบาดเจ็บจากการปะทะ และ การฉีกขาดภายในเนื้อเยื่อเป็นส่วนใหญ่
1. ดูขอบเขตของการบาดเจ็บ และ อวัยวะที่สัมพันธ์กัน เช่น
- โดนกระแทกที่ศรีษะนอกจากจะดูเรื่องของการกระทบกระเทือนทางศรีษะแล้วยังต้องระวังเรื่องกระดูกคอด้วย ถ้านักกีฬาสลบเวลาเคลื่อนย้ายให้ประคองคอด้วย และจับในลักษณะเหมือนท่อนซุง
- โดนกระแทกสีข้างต้องนึกถึงอวัยวะภายในด้วย
- โดนกระแทกที่ต้นขาต้องดูตะโพกด้วย
- โดนกระแทกที่แขนต้องดูหัวไหล่ด้วย
2. ดูลักษณะการบาดเจ็บ
- แผลที่ผิวหนัง
: ทำความสะอาดแผล
- ผิวหนังพอง (เกิดจากการเสียดสี)
: ทำความสะอาดเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ เจาะด้วยเข็มsterileโดยไม่ต้องลอกหนังส่วนพองออก หรือ ปล่อยเอาไว้ก็จะยุบหายเอง
- ฟกช้ำ, กล้ามเนื้อช้ำ, กล้ามเนื้อฉีกขาด, เอ็นฉีกขาด
: ใช้หลักการ PRICE
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
: หยุดเล่นกีฬาทันที และ ค่อยๆยืดกล้ามเนื้อมัดนั้นออกช้าๆในทิศทางตรงกันข้ามกับการหดตัวของกล้ามเนื้อมัดนั้น ระวังอย่าฝืนหรือใช้กำลังมากเกินไปกล้ามเนื้ออาจฉีกขาดได้ และอาจประคบด้วยความร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อ
- กระดูกหัก
: สังเกตได้จากการผิดรูปของกระดูก, ความรุนแรงของอาการปวดและบวมบริเวณที่บาดเจ็บ
: ให้ดามกระดูกชั่วคราวเพื่อลดอาการปวดและเพื่อไม่ให้บาดเจ็บเพิ่มเติม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
- ข้อหลุดหรือข้อเคลื่อน
: ให้ดามหรือใช้ผ้ายืดพันไม่ให้ขยับแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

การบาดเจ็บแบบเรื้อรัง มักเป็นการบาดเจ็บแบบซ้ำๆ ต่อเนื่อง
- ให้ใช้ความร้อนประคบ เช่น กระเป๋าน้ำร้อน, hot pack หรือ แช่ในน้ำอุ่น
- ใช้ยาทาเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว เช่น ยานวด, ยาหม่อง, น้ำมันมวย
- นวด เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
- ใช้ผ้ายืดหรือแถบรัด ขณะเล่นกีฬาเพื่อให้กล้ามเนื้อกระชับ กระจายแรงในการหดตัว ลดการเคลื่อนไหวของข้อเพื่อลดการบาดเจ็บ




 

Create Date : 29 กันยายน 2548    
Last Update : 29 กันยายน 2548 19:42:24 น.
Counter : 7419 Pageviews.  


thitiy
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add thitiy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.