Close ur eyes..., Relax ur body and stop breathing as long as U can. Now breath... I miss u as much as u missed the air.

The Secret Garden สวนอยู่ในใจ



เรื่องย่อ “ในสวนศรี” (The Secret Garden)

“ในสวนศรี” แต่งโดยฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เน็ตต์ ตีพิมพ์ในปี คศ. 1909 สตรีชาวอังกฤษผู้แต่งเรื่องนี้สามารถสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่นิยม ในยุคสมัยที่บทบาทของสตรียังไม่เป็นที่ยอมรับได้ “ในสวนศรี” ได้รับการขนานนามว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชน “คลาสสิค” เรื่องหนึ่ง ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง และยังถูกบรรจุในบทเรียนของเด็กๆ ชาวอเมริกันด้วย
ผู้แต่งเริ่มพาเราเข้าสู่เรื่องราวของ”มารี เลนน็อกซ์” หญิงสาวตัวเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจ พ่อของเธอเป็นข้าราชการชั้นสูงในอินเดีย มีงานยุ่งตลอดเวลา ส่วนแม่ผู้รักความสวยงาม ชอบไปปาร์ตี้เป็นประจำนั้นไม่ประสงค์ให้เธอเกิดมาจึงคอยหลบเลี่ยงเธอเสมอ มารีเติบโตมาท่ามกลางเหล่าทาสชาวพื้นเมืองที่คอยเอาใจ ทำให้กลายเป็นคนหน้าตาซีดเซียว โมโหร้าย เอาแต่ใจ และขวางโลกอย่างที่สุด เมื่ออายุได้สิบปี ชีวิตเธอพลิกผัน เกิดเหตุการณ์โรคระบาดและมารีได้สูญเสียพ่อแม่ จึงต้องมาอยู่ที่คฤหาสน์ของลุงชื่อ อาร์ชิบอลด์ คราเวน ในชนบทของอังกฤษ ที่นี่เป็นคฤหาสน์เก่าขนาดใหญ่อยู่กลางทุ่งที่เรียกว่า ทุ่งมัวร์
เมื่อมาถึงคฤหาสน์ มารีได้ทราบเรื่องราวของ “สวนศรีลี้ลับ” สวนนี้เป็นของภรรยาของลุงเธอ แต่หลังจากภรรยาตายลง ลุงคราเวนก็สั่งปิดตายและห้ามไม่ให้ใครเข้าไปอีก ด้วยความช่วยเหลือของนกโรบิน มารีจึงพบกุญแจสวน เธอพยายามจะฟื้นฟูสวนศรีลี้ลับให้กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ต่อมามารีก็ได้พบกับ ”ดิคคอน” เด็กหนุ่มชาวชนบทผู้เป็นที่รักของสัตว์ต่างๆ ดิคคอนได้ช่วยนำอุปกรณ์การทำสวนและแนะนำวิธีการทำสวนให้แก่มารีอีกด้วย ระหว่างนั้นเองที่มารีค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติ รู้จักการรักคนรอบข้างมากขึ้น
กลางดึกคืนหนึ่งมารีได้ยินเสียงร้องไห้ดังจากในคฤหาสน์ เมื่อตามเสียงไปดูกลับพบเด็กชาย เด็กคนนี้คือ “คอลลิน” บุตรชายของลุงเธอซึ่งเกิดหลังจากแม่ตายได้ไม่นาน คอลลินนอนป่วยอยู่บนเตียงแต่เด็ก ดวงตาเขาเหมือนกับของแม่ที่ตายไปมากเสียจนพ่อทนมองหน้าเขาไม่ได้ คอลลินจึงเติบโตมาโดยแทบไม่ได้เจอหน้าพ่อ แต่อยู่ท่ามกลางเหล่าคนใช้ คอลลินมีความคิดที่เศร้าโศกตลอดเวลา เขาเชื่อว่าตนเองจะหลังค่อมเหมือนพ่อ และจะไม่ได้มีชีวิตอยู่จนเป็นผู้ใหญ่ ด้วยความที่ทั้งสองมีหลายสิ่งเหมือนๆกัน มารีกับคอลลินจึงกลายเป็นเพื่อนกัน ต่อมามารีตัดสินใจบอกเรื่องสวนศรีลี้ลับแก่คอลลิน เด็กๆ ทั้งสามซึ่งได้แก่มารี คอลลิน และดิคคอนเริ่มออกไปที่สวนมากขึ้นๆ ทั้งสามใช้เวลาตลอดฤดูร้อนในสวนโดยปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับจากคนในคฤหาสน์
ด้วยการได้ออกกำลังกายวิ่งเล่นในสวน การขุดถอนหญ้า พรวนดิน สูดอากาศบริสุทธิ์ และที่สำคัญคือการได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อน มีคนที่ตนรักและรักตน ทำให้สุขภาพของทั้งมารีและคอลลินดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคอลลินที่ในตอนแรกไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง แต่ภายหลังเขากลับวิ่งเล่นได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป ไม่เฉพาะด้านร่างกายเท่านั้น แต่รวมถึงจิตใจด้วย ทั้งคอลลินและมารีกลายเป็นเด็กสิบขวบที่มองโลกในแง่ดี มีความรักต่อผู้คนรอบข้าง ในตอนสุดท้ายของเรื่อง พ่อของคอลลินกลับมาที่คฤหาสน์ ได้เห็นสวนศรีลี้ลับที่กลับมามีชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นได้พบความอัศจรรย์ที่เกิดแก่ลูกชายตน รวมถึงผู้คนในคฤหาสน์ก็ได้ทราบถึงข่าวดีนี้กันถ้วนหน้า

วิเคราะห์ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่อง

พื้นฐานทางความสัมพันธ์ในครอบครัว(Family relationships)
หลักการที่อธิบายตัวละครทั้งมารี เลนน็อกซ์ และ คอลลิน คราเวน ได้ดีที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว สิ่งที่เหมือนกันระหว่างทั้งสองคือพื้นฐานการเลี้ยงดูที่เติบโตมาอย่างขาดความรัก ในเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก (Parent-child interaction) นั้น กล่าวว่า ”ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับทารกเป็นความสัมพันธ์แรกที่สำคัญของมนุษย์” แต่จะเห็นได้ว่าเด็กทั้งสองขาดการปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่แท้ๆ ของตนเองตั้งแต่เด็ก
มารีนั้นเติบโตมาในประเทศอินเดีย พ่อของเธอเป็นข้าราชการชั้นสูงซึ่งไม่ค่อยมีเวลาว่าง ส่วนแม่ของเธอก็สนใจแต่เรื่องแต่งตัวสวยงามและงานสังสรรค์ แม่ของมารีไม่อยากให้เธอเกิดมาเป็นตัวขัดขวางความสุข ซ้ำร้ายเมื่อได้เห็นว่าลูกหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ จึงยิ่งไม่อยากพบหน้าลูกเข้าไปอีก มารีจึงแทบไม่ได้พบเจอหน้าพ่อแม่ เสมือนไม่มีตัวตน และไม่มีใครรัก
ในกรณีของคอลลินก็เสียแม่ไปตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อพ่อของเขาได้เห็นดวงตาสีเทาที่เหมือนกับของภรรยาที่ตายไปมาก พ่อถึงกับทนมองหน้าเขาไม่ได้ คอลลินจึงเติบโตมาโดยแทบไม่ได้เจอหน้าพ่อ สุขภาพที่ไม่แข็งแรงซึ่งทำให้คอลลินต้องนอนป่วยอยู่บนเตียง ยิ่งทำให้พ่อของเขาเกิดความละอายในตัวลูก สั่งให้ทุกคนปิดเรื่องของลูกเป็นความลับและให้อยู่แต่ในห้อง การกระทำนี้ทำให้ผู้คนซุบซิบนินทาว่าคอลลินเป็นเด็กหลังค่อมพิกลพิการ สติไม่สมประกอบ นับว่าเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อมทั้งสิ้น
รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเด็กทั้งสองกับผู้เลี้ยงดูก็เหมือนกันคือ ทั้งสองถูกเลี้ยงมาโดยคนรับใช้ มารีเติบโตมาท่ามกลางเหล่าข้าทาสบริวารชาวพื้นเมืองซึ่งคอยรุมล้อมทำทุกสิ่งให้ตามที่เธอต้องการ ทางด้านคอลลินก็เช่นกัน เขามีคนใช้คอยบริการทุกสิ่งให้เป็นไปตามสั่ง มารีเคยนึกเปรียบคอลลินกับ “ราชา” ในอินเดียที่เธอเคยพบ ราชาคนนี้มีเพชรพลอยประดับร่างกายผอมๆ เต็มไปหมด เธอเล่าว่าราชาพูดจากับคนอื่นด้วยน้ำเสียงวางอำนาจ และทุกคนต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ราชาบอกให้ทำ ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูแบบเจ้านาย-คนรับใช้นี้ ส่งผมต่อรูปแบบความผูกพัน(Attachment style) ที่เด็กทั้งสองมีต่อผู้อื่นเมื่อโตขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงแรก ทั้งสองยังคงรูปแบบความสัมพันธ์แบบเดิมเมื่อพบปะกับคนอื่นๆ คือเอาแต่ใจและออกคำสั่งตลอดเวลา เหมือนกับที่ได้รับการเลี้ยงดูมา
การปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูยังส่งผลต่อคุณค่าในตนเอง(Self-esteem) และ ความเชื่อใจในผู้อื่น(Interpersonal trust) ของทั้งสองด้วย มารีจัดอยู่ในพวก Dismissing คือมี self-esteem สูง แต่ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพราะรู้สึกไม่ไว้วางใจ ตอนแรกที่มารีมาที่คฤหาสน์ เธอทำหน้าบูดบึ้ง ไม่สนทนากับแม่บ้านที่มารับ ส่วนคอลลินจัดอยู่ในประเภท Fearful-avoidance กล่าวคือมองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า (self-esteem ต่ำ) ไม่มั่นใจ กลัวการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น จะเห็นได้จากการที่เขาพูดบ่อยๆ ว่าตนเองตายไปเสียได้ก็ดี และเกลียดเวลาคนอื่นมองตน พยายามไล่ให้ไปไกลๆ อย่างไรก็ตามในตอนท้ายของเรื่องทั้งสองได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาความไว้วางใจผู้อื่น เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น นับว่าทั้งคู่ได้พัฒนากลายเป็นแบบ Secure ได้ในที่สุด
ลักษณะของมารีและคอลลิน นับว่าแตกต่างจาก ดิคคอน โซลเวอร์บี้ อย่างสิ้นเชิง ดิคคอนเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น มีพี่น้อง 12 คนและมีแม่ที่เข้าใจ ทำให้ดิคคอนเป็นคนอัธยาศัยดี เป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของทุกคน ในสายตาของมารีและคอลลินนั้นเห็นดิคคอนเป็น “เทวดาแห่งยอร์คไชร์” และ “จิตวิญญานของท้องทุ่ง” เลยทีเดียว

ตามหลักสกีมา(Schemas)
ขณะที่มารีมีเจตคติต่อต้านคนรอบข้าง ไม่สนใจใคร ในทางตรงกันข้าม คอลลิน คราเวน กลับหมกมุ่นแต่ความเจ็บป่วยของตน ในด้านจิตใจของเขาเองนั้น คอลลินเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงหลักการของ สกีมา(Schemas) เด็กชายคนนี้มีสกีมาเกี่ยวกับตนเอง (Self-schemas) หรือโครงสร้างข้อมูลความรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างเข้มข้น ยึดถือมานาน กล่าวคือ เขาหมกมุ่นกับความคิดที่สมเพชตัวเองตลอดเวลา คอลลินเชื่อว่าตนเองจะหลังค่อมเหมือนพ่อ และจะไม่ได้มีชีวิตอยู่จนเป็นผู้ใหญ่ การที่เขาเก็บความคิดเหล่านี้ไว้เป็นความลับ ไม่เคยถามใครว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงเพราะเขาไม่เคยได้รู้ความจริงว่า แท้จริงแล้วเขาเป็นเด็กธรรมดาทั่วไปนั่นเอง
การเกิดสกีมาเกี่ยวกับตนเองเช่นนี้ขึ้นอยู่กับตัวแปร 2 ประการ
ประการแรกคือ Availability หรือการได้รับข้อมูล ในตอนเด็กเขาเคยได้ยินบรรดาคนรับใช้พูดกันเขาว่าจะโตมาหลังค่อมเช่นเดียวกับพ่อ ทำให้จำฝังใจและเก็บมาคิดมาก หมอคอยย้ำกับคอลลินอยู่เสมอว่าเขาสุขภาพไม่แข็งแรง ต้องไม่เคลื่อนไหวหรือตื่นเต้นมากเกินไป ในตอนเด็กมีครั้งหนึ่ง ถึงกับเอาเหล็กมาดามหลังไว้เพื่อไม่ให้เขาหลังค่อม นอกจากนี้การปฏิบัติจากผู้คนรอบข้างก็แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นเด็กพิการ ไม่สามารถทำอะไรด้วยตนเองได้ ต้องอยู่บนเตียงตลอดเวลา ข้อมูลทั้งหมดที่คอลลินได้รับชี้ไปในทางเดียวกัน ไม่มีใครเคยใส่ความคิดในแง่ดีให้ จนเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้หลายครั้ง ในที่สุดคอลลินก็เชื่อไปเช่นนั้นจริงๆ ประกอบกับการที่อยู่แต่ในห้อง ไม่มีอะไรทำ ทำให้เขายิ่งจมอยู่กับความคิดดังกล่าว คือเศร้าโศก สมเพชตนเอง ไม่เคยคิดในทางดีว่าจะทำอย่างไรให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้เลย
ประการที่สองคือ Accessibility หรือการสามารถนึกถึงสกีมานี้เมื่อถึงสถานการณ์ที่สอดคล้อง จะเห็นได้จากคอลลินบ่นว่าตนเองป่วยตลอดเวลา ในตอนที่มารีเล่าเรื่องของทุ่งมัวร์ที่สวยงามในฤดูใบไม้ผลิให้ฟัง คอลลินตอบว่า “เธอไม่มีวันจะได้เห็นอะไรทั้งนั้นละ ถ้าเธอต้องเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลาอย่างฉัน” และเมื่อมารีชวนให้เขาออกไปข้างนอก เขาก็ตอบทันทีว่า “ออกไปในทุ่งน่ะรึ จะออกไปได้ยังไง ฉันจะตายยังวันยังพรุ่งอยู่ยังงี้!” จะเห็นได้ว่าเขาสามารถนึกถึงสกีมาเกี่ยวกับตนเองได้อย่างแทบจะอัตโนมัติ
ตัวแปร 2 ประการดังกล่าวทำให้เกิด พฤติกรรมที่ทำให้ความเชื่อเป็นจริงขึ้นมา(Self-fulfilling Prophecy) เมื่อคนอื่นเชื่อว่าเขาป่วยและปฏิบัติต่อเขาแบบคนป่วย ตัวเขาเองก็เชื่อว่าตนเองป่วย ประกอบกับการอยู่แต่บนเตียงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการป่วยขึ้นมาจริงๆ โดยเฉพาะอาการป่วยทางจิตของคอลลินซึ่งในเรื่องเรียกว่า “อาการเก็บกดทำพิษ” ส่งผลให้เขามีอาการของฮิสทีเรีย คือเมื่อมีสิ่งใดไม่ได้อย่างใจก็จะร้องไห้และร้องกรี๊ดๆ อย่างลืมตัวเป็นเวลานาน
สกีมาเกี่ยวกับตนเองของคอลลินได้เข้ามามีอิทธิพลต่อกระบวนการคิด การประมวลผลข้อมูลทางสังคมของเขาอย่างมาก โดยแสดงให้เห็นในด้านพื้นฐาน 3 ประการ ประการแรกคือการเลือกใส่ใจ(Attention) ครั้งหนึ่งหมอที่มาจากลอนดอนบอกว่า เขาจะไม่ตายถ้าตัดสินใจมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่เห็นได้ว่าคอลลินไม่ได้เลือกใส่ใจคำพูดเหล่านี้เพราะมีสกีมาเดิมที่แรงกล้า เขาใส่ใจรับรู้แต่สิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อที่มีอยู่เดิม เช่นเมื่อมีอาการป่วยก็ยิ่งสนใจในอาการปวดหัว ปวดหลัง และยิ่งเชื่อว่าเขาสุขภาพไม่ดี ประการที่สอง การรับข้อมูลเข้าสู่ความทรงจำ(Encoding) จะพบว่าเขารับข้อมูลนี้สู่ความทรงจำตั้งแต่เด็กๆ และประการที่สาม การระลึกถึงข้อมูลจากความทรงจำ(Retrieval) เขาระลึกถึงและเล่าเพียงเรื่องราวของอาการป่วยและคำพูดร้ายๆ ว่าเขาจะตาย
ปัญหาเกี่ยวกับสกีมาที่คอลลินพบอีกอย่างหนึ่งก็คือ สกีมาเกี่ยวกับตนเองที่เขามีอยู่เดิมทำให้เกิดการต้านทานการเปลี่ยนแปลง(Believe preservarance) แม้ว่าจะได้รับข้อมูลใหม่ๆ มาก็ตาม การต้านทานนี้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในตอนที่มารีได้เข้ามาเถียงว่าเขาจะไม่ตาย คอลลินซึ่งมีอาการฮิสทีเรียอยู่นั้นร้องไห้สะอึกสะอื้นเสียงดัง และโต้เถียงอย่างรุนแรง พร่ำพูดว่าเขากำลังจะตาย กำลังมีปุ่มขึ้นที่หลังและจะกลายเป็นคนหลังค่อม เมื่อมารีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าหลังของเขาไม่มีปุ่ม และพยาบาลบอกว่าเขาสามารถมีสุขภาพดีได้หากเปลี่ยนพฤติกรรม เขาก็บังเกิดความโล่งใจขึ้น แต่ยังไม่เชื่ออย่างสมบูรณ์นัก จนเมื่อเขาได้ออกไปที่สวนมากขึ้นเรื่อยๆ และสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจตนเอง จึงเริ่มเชื่อว่าเขาจะหายเป็นปกติได้ ในตอนสุดท้ายคอลลินเชื่ออย่างหมดใจ การที่เขาวางแผนว่าในอนาคตจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะได้มีชีวิตอยู่ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ระยะเวลาที่คอลลินค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสกีมาเกี่ยวกับตนเองนั้นยาวนานหลายสัปดาห์ ทั้งนี้เนื่องจากมีการต้านทานการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเดิมนั่นเอง

ปัจจัยที่กำหนดความชอบพอระหว่างกัน(Interactive Determinants of Attraction)
ตัวละครมารีและคอลลินนั้น ไม่เคยยอมรับหรือเปิดใจให้ใคร แต่เมื่อมาพบกันกลับกลายเป็นเพื่อนกันได้ เป็นไปตามหลักของ Similarity-Dissimilarity effect ที่ว่า “ความเหมือนทำให้คนชอบกัน ความต่างทำให้คนไม่ชอบกัน” เด็กทั้งสองมีความเหมือนกันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านที่อายุเท่ากัน ได้รับการเลี้ยงดูมาคล้ายๆ กัน มีเจตคติ ความคิด ความเชื่อ เป็นเด็กเอาแต่ใจเหมือนกัน ทำให้ทั้งสองเกิดความชอบพอกัน เป็นไปตามทฤษฎี Balance Theory(Heider, 1958) กล่าวคือเมื่อคิดเหมือนกันก็มีความสบายใจที่จะคุยกัน นอกจากนี้ยังเป็นการตอบสนองต่อ Evolutionary perspective(Gould, 1958) ทีกล่าวว่าสิ่งที่คล้ายกับเราไม่มีอันตราย เป็นพวกเดียวกัน

ความสัมพันธ์แบบเพื่อน(Friendships)
เด็กทั้งสามได้แก่มารี คอลลินและดิคคอนพัฒนาความสัมพันธ์จนเป็นแบบเพื่อนสนิทได้ ด้วยสาเหตุหลายประการ
ประการแรก คือ ทั้งสามได้ใช้เวลาร่วมกันในสวนตลอดฤดูร้อน การใช้เวลาร่วมกันมากทำให้เกิดความใกล้ชิดซึ่งพัฒนาไปเป็นเพื่อนสนิทได้
ประการที่สองคือ ทั้งสามมีการปฏิสัมพันธ์กันในสถานการณ์ต่างๆ หลากหลาย เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการสังเกตธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นนกโรบินที่กำลังสร้างรัง กกไข่ในสวน แกะตัวเล็กที่ต้องป้อนนม กระรอกซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของดิคคอน ในบางครั้งที่ฝนตกออกไปเล่นในสวนไม่ได้ก็ชวนกันออกผจญภัยในคฤหาสน์แทน สถานการณ์ที่มีผลต่อความใกล้ชิดกันของเด็กๆ ก็คือการเก็บเรื่องเกี่ยวกับสวน และเรื่องอาการที่ดีขึ้นของคอลลินไว้เป็นความลับ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน มีการหลอกผู้คนที่คฤหาสน์ว่าคอลลินยังไม่หายจากอาการป่วยโดยแกล้งไม่ทานอาหาร แต่ให้แม่ของดิคคอนส่งอาหารมาให้เป็นประจำแทน
ประการที่สาม เด็กๆ สามารถเปิดเผยตนเองให้เพื่อนได้รู้ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องต่างๆ คอลลินได้ประกาศว่าเขาจะต้องหายเป็นปกติ และทุกคนก็ให้การสนับสนุนเขา ในการฟื้นฟูตนเอง มารีภาวนาให้คอลลินเดินได้รอบสวน ส่วนดิคคอนก็ช่วยสอนท่ากายบริหารให้ สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้ทั้งสามรู้สึกสนิทกันมากขึ้นทั้งสิ้น




 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2551 19:01:24 น.   
Counter : 6400 Pageviews.  


Forgiven, but not forgotten
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Forgiven, but not forgotten's blog to your web]