ชะตาชีวิตลิขิตให้ขีดเส้น 100 วัน 1000 ล้านเส้น บ่(สุด)หน่ายแหน่
 
กฎหมายอาคาร (โดยย่อ) 2.(ต่อ)

กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2528) และข้อบัญญัติกรุงเทพมหา-นคร (พ.ศ. 2522) กำหนดองค์ประกอบ และรายละเอียดของแบบแปลนไว้ดังนี้
(1) ให้ใช้มาตราเมตริก
(2) ให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า 1 ใน 100
(3) รายละเอียดที่ต้องแสดง
(4) แผนผังบริเวณ (ดูเรื่องแผนผังบริเวณ)
(5) ผังคานรับพื้น (ตามจำนวนชั้น)
(6) ผังฐานราก
(7) รูปด้าน (ไม่น้อยกว่า 2 ด้าน)
(8) รูปตัดทางขวาง
(9) รูปตัดทางยาว

โดยต้องมีรายละเอียดส่วนสำคัญ ขนาด เครื่องหมาย วัสดุ และการใช้สอยต่าง ๆ ของอาคารอย่างชัดเจนเพียงพอที่จะพิจารณาตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และจะต้องชัดเจนพอที่จะ "คิดรายการ" และ "สอบรายการคำนวณ" ได้
แบบแปลนสำหรับการดัดแปลงอาคาร ให้แสดงส่วนที่มีอยู่เดิม และส่วนที่จะดัดแปลงให้ชัดเจน (ดูรูปที่ 2 ประกอบ)


17. แบบก่อสร้าง
แบบก่อสร้าง หมายถึง "แบบของตัวอาคาร เพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง" ปกติประกอบด้วย แผนอาคาร รูปด้าน และรูปตัด ดังนี้
(1) แผนอาคาร (Plan) คือ แบบแสดงลักษณะส่วนราบของอาคาร จำนวนแผนอาคารขึ้นอยู่กับจำนวนชั้นของอาคาร เช่น แผนชั้นหลังคา ชั้นพื้น และฐานราก (ดูรูปที่ 3)



(2) รูปด้าน (Elevation) คือ แบบที่แสดงลักษณะส่วนตั้งภายนอกของอาคาร ปกติแต่ละอาคารจะประกอบด้วยรูปด้าน 4 ด้าน หรือ4 ทิศ (ดูรูปที่ 4)


(3) รูปตัด (Section) คือ แบบแสดงลักษณะส่วนตั้งภายในของอาคาร (ดูรูปที่ 5)



18. ระบบระบายน้ำ
นอกจากอาคาร หรือโครงสร้างแล้ว กฎหมายอาคารยังกำหนดให้ต้องดำเนินการอันเกี่ยวแก่สาธารณูปโภคที่จำเป็น โดยเฉพาะการระบายน้ำ ทั้งน้ำฝน และน้ำทิ้งจากอาคาร ซึ่งจะต้องระบายออกสู่ภายนอก คือระบบระบายน้ำสาธารณะ

ตัวอย่างเช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2522 กำหนดให้อาคารที่จะปลูกสร้างต้องมีระบบระบายน้ำฝน และระบายน้ำที่ใช้แล้ว หรือน้ำโสโครกได้โดยสะดวก และเพียงพอ
ทางระบายน้ำจากอาคารไปสู่ทางระบายน้ำสาธารณะต้องให้มีส่วนลาดไม่ต่ำกว่า 1 ใน 200 ตามแนวตรงที่สุดที่จะทำได้ ถ้าใช้ท่อกลมเป็นทางระบายน้ำ ต้องมีบ่อตรวจระบายน้ำทุกระยะไม่เกิน 12 เมตร ทุกมุมเลี้ยว และที่จุดก่อนออกจากที่ดินเอกชนลงไปสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ

ทางระบายน้ำใช้แล้วในบริเวณอาคารต้องมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร ก่อนระบายลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะต้อมีบ่อตรวจระบายน้ำ และตะแกรงดักขยะอยู่ในที่สามารถตรวจสอบได้สะดวก และเจ้าของอาคารต้องจัดเปลี่ยนให้มีสภาพดีอยู่เสมอ
19. ส้วม และสุขภัณฑ์
กฎหมายอาคารจะระบุให้อาคารแต่ละประเภทจะต้องมีส้วมและสุขภัณฑ์เพียงพอ ต่อการใช้งาน ตัวอย่างเช่นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2522) ข้อ 88 อาคารที่บุคคลอาจเข้าพักอาศัย หรือใช้สอยได้ ให้มีเครื่องสุขภัณฑ์ไว้ตามจำนวนอันสมควร แต่ต้องไม่น้อยกว่าอัตราต่อไปนี้(ดูรูป)



ข้อ 89 ห้องส้วมต้องมีขนาดเนื้อที่ภายในไม่น้อยกว่า 0.90 ตารางเมตร และต้องมีความกว้างภายในไม่น้อยกว่า 0.90 ตารางเมตร ถ้าเป็นห้องอาบน้ำด้วยต้องมีเนื้อที่ภายในไม่น้อยกว่า 1.50 ตารางเมตร (ไม่ระบุกว้างยาว) มีลักษณะที่จะรักษาความสะอาดได้ง่าย และต้องมีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศ

ข้อ 90 ส้วมต้องเป็นชนิดชำระสิ่งปฏิกูลด้วยน้ำลงบ่อเกรอะ บ่อซึม การสร้างส้วมภายในระยะ 20 เมตร จากเขตคูคลองสาธารณะต้องสร้างเป็นส้วมถังเก็บชนิดน้ำซึมไม่ได้
20. น้ำหนักบรรทุกจร
อาคารแต่ละประเภทคำนวณออกแบบโดยใช้น้ำหนักบรรทุกจรแตกต่างกัน เนื่องจากประโยชน์ใช้สอยต่างกัน ผู้ใช้อาคารจึงต้องใช้อาคารให้ตรงวัตถุประสงค์ การใช้อาคารผิดประเภท และ/หรือดัดแปลงอาคารเดิมโดยพละการ นอกจากจะเสี่ยงอันตรายแล้ว ยังผิดกฎหมายด้วย กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) และข้อบัญญัติกรุงเทพ-มหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร (พ.ศ. 2522) กำหนดน้ำหนักบรรทุกจรต่ำสุด (กิโลกรัมต่อตารางเมตร) สำหรับอาคารแต่ละประเภท ดังแสดงในตาราง ที่ 2(ดูรูป)


21. มรรยาทแห่งวิชาชีพของวิศวกรฯ
ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า งานอาคาร จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างหลายฝ่าย โดยเฉพาะสถาปนิกและวิศวกร ที่ปฏิบัติวิชาชีพ กรณีของวิศวกร ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จะต้องมีมรรยาทในการประกอบวิชาชีพ ขณะเดียวกันผู้ว่าจ้างมิควรโน้มน้าว ร้องขอ บังคับ หรือส่งเสริมให้วิศวกรผู้รับจ้างออกแบบก่อสร้าง หรือควบคุมงานก่อสร้างให้ต้องละเมิดมรรยาทแห่งวิชาชีพ

กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2529) โดยอาศัยความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 ว่าด้วยเรื่องมรรยาทแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ดังนี้

(1) ไม่กระทำการใด ๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
(2) ต้องปฏิบัติงานที่ได้รับทำอย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติ และวิชาการ
(3) ต้องประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
(4) ไม่ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม หรือใช้อิทธิพล หรือให้ผลประโยชน์แก่บุคคลใด เพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นได้รับ หรือไม่ได้รับงาน
(5) ไม่เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบจากผู้รับเหมา หรือบุคคลใดซึ่งเกี่ยวข้องในงานที่ทำอยู่กับผู้ว่าจ้าง
(6) ไม่โฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นโฆษณา ซึ่งการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิ ที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้นั้น
(7) ไม่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เกินความสามารถที่ตนเองจะกระทำได้
(8) ไม่ละทิ้งงานที่ได้รับทำโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(9) ไม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในงานที่ตนไม่ได้รับทำ ตรวจสอบ หรือควบคุมด้วยตนเอง
(10) ไม่เปิดเผยความลับของงานที่ตนได้รับทำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง
(11) ไม่แย่งงานจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น
(12) ไม่รับทำงาน หรือตรวจสอบงานชิ้นเดียวกันกับที่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นทำอยู่ เว้นแต่เป็นการทำงาน หรือตรวจสอบตามหน้าที่ หรือได้แจ้งให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นนั้นทราบล่วงหน้าแล้ว
(13) ไม่รับดำเนินงานชิ้นเดียวกันให้แก่ผู้ว่าจ้างรายอื่น เพื่อการแข่งขันราคา เว้นแต่ได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายแรกทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาผู้ว่าจ้างรายแรก และได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายอื่นนั้นทราบล่วงหน้าแล้ว
(14) ไม่ใช้ หรือคัดลอกแบบ รูป แผนผัง หรือเอกสารที่เกี่ยวกับงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นนั้น
(15) ไม่กระทำการใด ๆ โดยจงใจให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่ชื่อเสียง หรืองานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น
22. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
ขณะก่อสร้าง ซ่อมแซม ดัดแปลง ต่อเติม รื้อถอน หรือใช้งานอาคาร เจ้าของอาคาร ผู้ก่อสร้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) หรือวิศวกร อาจมรความผิดในทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ดังตัวอย่างตามมาตราต่อไปนี้

มาตรา 226 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่โรงเรือน อู่เรือ ที่จอดรถ หรือเรือสาธารณะ ทุ่นจอดเรือ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร เครื่องกล สายไฟฟ้า หรือสิ่งที่ทำไว้เพื่อป้องกันอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์ จนน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 227 ผู้ใดเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซม หรือรื้อถอน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีอันพึงกระทำการนั้น ๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 238 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 226 ถึงมาตรา 237 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

มาตรา 239 ถ้าการกระทำดังกล่าวในมาตรา 226 ถึงมาตรา 237 เป็นการกระทำโดยประมาท และใกล้จะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 291 ผู้ใดกระทำการโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนความผิด ลหุโทษ อาจได้แก่มาตราต่อไปนี้
มาตรา 368 ผู้ใคทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการสั่งเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งให้ช่วยทำกิจการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้สั่ง ให้ช่วยได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 375 ผู้ใดทำให้รางระบายน้ำ ร่องน้ำหรือท่อระบายของโสโครก อันเป็นสิ่งสาธารณะเกิดขัดข้อง หรือไม่สะดวก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 380 ผู้ใดทำให้เกิดปฏิกูลแก่น้ำในบ่อ สระ หรือที่ขังน้ำอันมีไว้สำหรับประชาชนใช้สอย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 385 ผู้ใดโดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมาย กีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัย หริอความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 386 ผู้ใดขุดหลุม หรือราง หรือปลูก ปัก หรือวางของเกะกะไว้ในทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมาย หรือทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ละเลยไม่แสดงสัญญาณตามสมควร เพื่อป้องกันอุปัทวเหตุ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 387 ผู้ใดแขวน หรือติดตั้ง หรือวางสิ่งใดไว้โดยประการที่น่าจะตก หรือพังลง ซึ่งจะเป็นเหตุอันตราย เปรอะเปื้อน หรือเดือดร้อนแก่ผู้สัญจรในทางสาธารณะ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 389 ผู้ใดกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้ของแข็งตกลง ณ ที่ใด ๆ โดยประการที่น่าจะเป็นอันตราย หรือเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคล หรือเป็นอันตรายแก่ทรัพย์ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อน หรือน่าจะเปรอะเปื้อน ตัวบุคคล หรือทรัพย์ หรือแกล้งทำให้ของโสโครกเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
23. ความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์
ขณะก่อสร้าง ซ่อมแซม ดัดแปลง ต่อเติม รื้อถอน หรือใช้งานอาคาร เจ้าของอาคาร ผู้ก่อสร้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) หรือวิศวกร อาจมีความผิดในทางอาญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังตัวอย่างตามมาตราต่อไปนี้
มาตรา 1335 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกินทั้งเหนือพื้นดิน และใต้พื้นดินด้วย

มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่ง ทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืน ซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้อง กับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 1337 บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับ
ความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ และเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึง ประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือ เดือดร้อน นั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน

มาตรา 1338 ข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้นั้นท่านว่าไม่ จำต้องจดทะเบียนข้อจำกัดเช่นนี้ ท่านว่าจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงโดยนิติกรรมไม่ได้ นอกจาก จะได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อจำกัดซึ่งกำหนดไว้เพื่อสาธารณประโยชน์นั้น ท่านว่าจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงมิได้เลย

มาตรา 1339 เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่
ดินนของตน น้ำไหลตามธรรมดามายังที่ดินต่ำ และจำเป็นแก่ที่ดินนั้นไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดิน ซึ่งอยู่สูงกว่าจะกันเอาไว้ได้เพียงที่จำเป็นแก่ที่ดินของตน

มาตรา 1340 เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน ถ้าก่อนที่ระบายนั้นน้ำได้ไหลเข้ามาในที่ดินของตนตามธรรมดาอยู่แล้ว
ถ้าได้รับความเสียหายเพราะการระบายน้ำ ท่านว่าเจ้าของที่ดินต่ำอาจเรียกร้อง ให้เจ้าของที่ดินสูงทำทางระบายน้ำและออกค่าใช้จ่ายในการนั้น เพื่อระบายน้ำไปให้ตลอดที่ดินต่ำจนถึงทางน้ำ หรือท่อน้ำสาธารณะ ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิแห่งเจ้าของที่ดินต่ำ ในอันจะเรียกเอาค่าทดแทน

มาตรา 1341 ท่านมิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือการปลูกสร้าง อย่างอื่น ซึ่งทำให้น้ำฝนตกลงยังทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่อกัน

มาตรา 1342 บ่อ สระ หลุมรับน้ำโสโครก หรือหลุมรับปุ๋ย หรือขยะมูลฝอยนั้น

ท่านว่าจะขุดในระยะสองเมตรจากแนวเขตที่ดินไม่ได้ คูหรือการขุดร่องเพื่อวางท่อน้ำใต้ดินหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันนั้นท่านว่า จะทำใกล้แนวเขตที่ดินกว่าครึ่งหนึ่งแห่งส่วนลึก ของคูหรือร่องนั้นไม่ได้ แต่ถ้าทำห่างแนวเขตหนึ่งเมตร หรือกว่านั้น ท่านว่าทำได้

ถ้ากระทำการดั่งกล่าวไว้ในสองวรรคก่อนใกล้แนวเขตไซร้ ท่านว่าต้องใช้ ความระมัดระวังตามควรเพื่อป้องกันมิให้ดินหรือทรายพังลง หรือมิให้น้ำหรือสิ่งโสโครกซึมเข้าไป
มาตรา 1343 ห้ามมิให้ขุดดินหรือบรรทุกน้ำหนักบนที่ดินเกินควรจนอาจเป็นเหตุอันตรายแก่ ความอยู่มั่นแห่งที่ดินติดต่อ เว้นแต่จะจัดการเพียงพอเพื่อป้องกันความเสียหาย

มาตรา 1344 รั้ว กำแพง รั้วต้นไม้ คู ซึ่งหมายเขตที่ดินนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของที่ดินทั้งสองข้างเป็นเจ้าของรวมกัน

มาตรา 1345 เมื่อรั้วต้นไม้ หรือคูซึ่งมิได้ใช้เป็นทางระบายน้ำเป็นของเจ้าของที่ดินทั้งสองข้างรวมกัน ท่านว่าเจ้าของข้างใดข้างหนึ่งมีสิทธิที่จะตัดรั้วต้นไม้ หรือถมคูนั้นได้ถึงแนวเขตที่ดินของตน แต่ต้องก่อกำแพง หรือทำรั้วตามแนวเขตนั้น

มาตรา 1347 เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อและเอาไว้เสีย ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควร แล้ว แต่ผู้นั้นไม่ตัด ท่านว่าเจ้าของที่ดินตัดเอาเสียได้

มาตรา 1349 ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินติดกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ
ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นจะต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิ จะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยสุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่าน จะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้

ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อ ความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้

มาตรา 1351 เจ้าของที่ดิน เมื่อบอกล่วงหน้าตามสมควรแล้ว อาจใช้ที่ดินติดต่อเพียงที่จำเป็นในการปลูกสร้างหรือซ่อมแซมรั้ว กำแพง หรือโรงเรือน ตรงหรือใกล้แนวเขตของตน แต่จะเข้าไปในเรือนที่อยู่ของเพื่อนบ้านข้างเคียงไม่ได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอม ถ้าได้ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นไซร้ ท่านว่าเพื่อนบ้านข้างเคียงจะเรียกเอาค่าทดแทนก็ได้

มาตรา 1352 ท่านว่าถ้าเจ้าของที่ดินได้รับค่าทดแทนตามสมควรแล้ว ต้องยอมให้ผู้อื่นวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟ หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินของตน เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่ติดต่อ ซึ่งถ้าไม่ยอมให้ผ่านก็ไม่มีทางจะวางได้ หรือถ้าจะวางได้ก็สิ้นเปลืองเงินมากเกินควร แต่เจ้าของที่ดินอาจให้ยกเอาประโยชน์ของตนขึ้นพิจารณาด้วย
เมื่อมีเหตุผลพิเศษ ถ้าจะต้องวางเหนือพื้นดินไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินอาจเรียกให้ซื้อที่ดินของตนบางส่วนตามสมควรที่จะใช้ใน การนั้น โดยราคาคุ้มค่าที่ดินและค่าทดแทนความเสียหาย ซึ่งอาจมีเพราะการขายนั้นด้วย
ถ้าพฤติการณ์เปลี่ยนไป เจ้าของที่ดินอาจเรียกให้ย้ายถอนสิ่งที่วางนั้นไปไว้ ณ ส่วนอื่นแห่งที่ดินของตนตามแต่จะเหมาะแก่ประโยชน์แห่งเจ้าของที่ดิน
ค่าย้ายถอนนั้น เจ้าของที่ดินติดต่อเป็นผู้เสีย แต่ถ้ามีพฤติการณ์พิเศษไซร้ ท่านว่าจะให้เจ้าของที่ดินอีกฝ่ายหนึ่งช่วยเสียค่าย้ายถอนตามส่วนอันควรก็ ได้

มาตรา 1355 เจ้าของที่ดินริมทางน้ำ หรือมีทางน้ำผ่านไม่มีสิทธิจะชักเอาน้ำไว้เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของ ตนตามสมควร ให้เป็นเหตุเสื่อมเสียแก่ที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ตามทางน้ำนั้น
24. สรุป
เป็นที่น่าสังเกตว่ากฎหมายอาคาร มีเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากกฎหมายหลัก หรือพระราชบัญญัติควบคุมอาคารแล้ว ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจ หรือความตามกฎหมายดังกล่าว และยังมีกฎหมายพิเศษที่ออกโดยหน่วยงาน หรือเจ้าพนักงานต่าง ๆ กัน บางเรื่องปลีกย่อย และไม่คุ้นเคย อีกทั้งกฎหมายเหล่านี้มักเปลี่ยนแปลงแก้ไขเสมอให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จ จริงที่เปลี่ยนไป ดังนั้นหากเจ้าของอาคาร หรือผู้เกี่ยวข้องจะทำการใด ๆ ควรศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายดังกล่าว หรือสอบถามจากผู้รู้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดเสียหายอันอาจเกิดขั้น อีกทั้ง เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย กำหนด เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของอาคาร หรือผู้เกี่ยวข้องทั้งปวง ในการที่เกี่ยวแก่อาคาร เช่นปลูกสร้าง ต่อเติม เพิ่ม ลด ขยาย แก้ไขดัดแปลง ซ่อมแซม เคลื่อนย้าย รื้อถอน หรืออื่น ๆ รวมทั้งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม


Create Date : 12 กันยายน 2553
Last Update : 12 กันยายน 2553 22:39:52 น. 0 comments
Counter : 1406 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

tzu149
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add tzu149's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com