+ + จุดดวงประทีปในดวงจิตด้วยแสงสว่างแห่งพระธรรม + +
จุดดวงประทีปในดวงจิตด้วยแสงสว่างแห่งพระธรรม แก่นธรรมของพระพุทธศาสนาที่นำมาซึ่งความสุข ปราศจากความทุกข์ และสามารถดึงจิตออกจากความคิดและอวิชชา

มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

1.การส่องดูภายในสภาวะจิตของตนเอง

เมื่อมองย้อนเข้าไปมองสภาวะจิตของตนเอง เราจะเห็นความคิดผุดขึ้นมากมาย ซึ่งออกมาในรูปของภาพและเสียงในใจ ความคิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเพราะเป็นสิ่งที่สมมติขึ้นมา แม้จะเป็นความคิดที่ดีก็ตาม เช่น หลักธรรมต่าง ๆ นั่นก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้จิตใจสงบ อย่างไรก็ตาม การมองว่าทุกอย่างไม่ควรยึดมั่นถือมั่นหรือความว่างนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่าทุกอย่างไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิเช่นเดียวกันเพราะเป็นการยึดมั่น “ความว่าง” นั่นเอง ฉะนั้น สิ่งที่พูด ทำ และคิดนั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมและความถูกต้อง การปฏิบัติธรรมนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องออกบวชหรือหนีเข้าไปในป่าทิ้งการงานหรือครอบครัวไป เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือ การปฏิบัติจิตซึ่งสามารถทำได้ทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา การปฏิบัติจิตในที่นี้ก็คือการฝึกพลังแห่งความรู้สึกเพราะความรู้สึกคือจิต จิตคือความรู้สึก จิตมิใช่ความคิด วิธีการปฏิบัติดังกล่าวก็คือการดึงจิตออกจากความคิดอันประกอบด้วย การทำสมาธิ การฝึกสติ และการเจริญปัญญา

2.การทำสมาธิ

การฝึกสมาธิคือ การฝึกจิตใจให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่คิดเรื่องอื่นเป็นระยะเวลานานตามที่เราต้องการซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีเช่น การตั้งใจทำ ตั้งใจมองตั้งใจพูดในอิริยาบถประจำวัน และการทำอานาปาณสติโดยเพ่งดูลมหายใจ รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถหาอ่านได้จากหนังสืออานาปาณสติ 16 ขั้นของท่านพุทธทาสภิกขุ ในการฝึกสมาธินั้นจะต้องมีสติมีความรู้เนื้อรู้ตัวกำกับอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นโมหะหรือความหลง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้จิตเกิดสมาธิคือการรักษาศีลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีล 5 เพราะศีลจะทำให้จิตเป็นปกติ เมื่อใดที่ศีลขาด สมาธิจะพร่อง เช่น เมื่อใดที่เราลักขโมยหรือนอกใจคู่ครองของตนจิตใจเราจะว้าวุ่นเพราะกลัวถูกจับได้ เป็นต้น นอกจากนั้น ในขณะที่ฝึกจิตนั้นจะต้องมีสัมมาวายามะคือความเพียรชอบด้วย ในที่นี้คือการเพียรละวางและไม่นึกถึงเรื่องอกุศลกรรมทั้งหลาย หรือเราอาจจะใช้การคิดตรงข้ามเช่น เมื่อเรามีความโกรธเกลียดบังเกิดขึ้นในจิตใจให้เจริญเมตตา เมื่อมีความอิจฉาริษยาให้เจริญมุทิตาคือ ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี เป็นต้น

3.การฝึกสติ

การฝึกสติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วย กาย เวทนา จิต ธรรม

(1) กายคือ การรู้เนื้อรู้ตัวในทุกอิริยาบถ รวมถึงการรู้ลมหายใจของตนเองด้วย
(2) เวทนาคือ การรับรู้ถึงอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแบ่งเป็นสามประเภทใหญ่ ๆ คือ สุข ทุกข์ เฉย
(3) จิตคือ การมองดูสภาวะจิตของตนเอง เช่น ขณะนี้จิตสงบหรือว้าวุ่น เป็นต้น
(4) ธรรมคือ การนำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสอนจิตให้ตระหนักถึงความเป็นจริงของสัจจธรรมที่ว่า ไม่มีสิ่งใดควรยึดมั่นถือมั่นซึ่งในที่นี้ก็คือการสอนจิตให้มีสัมมาทิฏฐินั่นเอง

4.การสร้างสัมมาทิฏฐิหรือการเจริญปัญญา

4.1 การปลูกฝังสัมมาทิฏฐิไว้ในจิตใจนั้นควรเริ่มต้นที่หลักไตรลักษณ์ซึ่งประกอบด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กล่าวคือ
(1) อนิจจังคือสรรพสิ่งในโลกล้วนเกิดดับและเปลี่ยนแปลงไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน
(2) ทุกขังคือผลแห่งการยึดมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และ
(3) อนัตตาคือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนบังคับไม่ได้

4.2 หลักอิทัปปัจจยตาหรือสิ่งทั้งหลายในโลกล้วนเกิดจากเหตุและปัจจัย ฉะนั้น สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางอายาตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตใจล้วนเป็นของปลอมเป็นสิ่งสมมติ เพราะมันต้องพึ่งเหตุและปัจจัยมาประกอบรวมกันทั้งนั้น นอกจากนั้น เราไม่ควรเชื่อถือพลังภายนอกหรือพิธีรีตองใด ๆ โดยขาดปัญญาว่าสิ่งนั้นจะช่วยให้ดลบันดาลให้เรามีความสุขเจริญรุ่งเรืองโดยไม่ต้องลงมือกระทำสิ่งใด

4.3 หลักโลกธรรม 8 กล่าวคือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนหนีไม่พ้นแปดสภาวะดังนี้ มีสุข-มีทุกข์ มีได้-มีเสีย มีสรรเสริญ-มีนินทา และมีสมหวัง-มีผิดหวัง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราไม่สามารถบังคับสิ่งทั้งหลายให้เป็นไปตามที่ใจต้องการได้แต่เราสามารถสร้างเหตุและปัจจัยให้สิ่งที่เราปรารถนาเกิดขึ้นได้ เช่น ถ้าเราอยากให้คนอื่นพูดดีกับเรา เราก็ต้องพูดดีกับคนนั้นก่อน เป็นต้น

4.4 พลังแห่งความรู้สึกนี้จะเป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมทั้งหลาย จิตใจจะเบาสบาย ว่องไว มีความสุขปราศจากความทุกข์และการปรุงแต่งทั้งปวงซึ่งพลังนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจิตมีความสงบและรู้เนื้อรู้ตัว ถ้านำการฝึกจิตนี้มาเปรียบเทียบกับหลักทางวิทยาศาสตร์แล้วก็คือ สมองทั้งสามส่วนอันได้แก่ สมองส่วนขวาคือความสงบสบาย สมองส่วนกลางคือการรู้เนื้อรู้ตัวในทุกอิริยาบถ และส่วนส่วนซ้ายคือการจดจำได้ถึงหลักธรรมต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อสมองทั้งสามส่วนมีการเชื่อมติดต่อกันเพราะการปฏิบัติจิต เมื่อทำจนเกิดความชำนาญจิตจะมีพลังและเกิดเป็นปัญญาญาณนั่นเอง


******************************************************************************
เครดิตเว็บ : ดร.บุญชัย โกศลธนากุล



Create Date : 27 มีนาคม 2554
Last Update : 27 มีนาคม 2554 0:22:03 น.
Counter : 593 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลามูเต้
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]



ไทป์ 5....การง่วนอยู่กับรูปแบบที่คุ้นเคยจนสามารถมองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เคยเห็นมาก่อนได้
All Blog