@ @ @ ดึงพลังสมองออกมาใช้ทั้งหมดด้วยพลังสติ @ @ @
ดึงพลังสมองออกมาใช้ทั้งหมดด้วยพลังสติ


บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นจากหนังสือชื่อ Classics of Buddhism and Zen แต่งโดย Thomas Cleary ผู้แต่งกล่าวถึงพระสูตรของท่านปรมาจารย์หุ้ยเหนิง (Hui Neng) สังคปรินายกองค์ที่หกของพุทธศาสนาสายมหายานผู้สอนการบรรลุธรรมแบบลัดสั้น ท่านสามารถสั่งสอนสานุศิษย์จนบรรลุธรรมได้ถึง 43 รูป ท่านหุ้ยเหนิงกล่าวว่า จิตใจของมนุษย์นั้นเปรียบดั่งอากาศธาตุที่สามารถแทรกซึมไปได้ทุกสถานที่และอยู่ได้ในทุกสภาวะ โดยไม่มีการกระทบกระเทือนหรือหวั่นไหวแต่อย่างใด เป็นพลังแห่งความรู้สึกที่ไร้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงมีแต่อาการรับรู้อย่างเดียว มีแต่ความสุขสงบเบาสบายและว่องไว แต่คนส่่วนใหญ่กลับไม่สามารถสัมผัสถึงสภาวะจิตแท้ดั้งเดิมนี้ได้เลยเพราะโดนครอบงำด้วยความคิดที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา และอุปาทาน อย่างไรก็ตาม ท่านหุ้ยเหนิงสอนว่าจิตเป็นสิ่งที่ฝึกได้ ท่านจึงอธิบายวิธีฝึกจิตไว้

ดังต่อไปนี้

1.ควบคุมความคิดทุก ๆ ความคิดที่ผุดขึ้นมาในจิตใจไม่ให้ตอบสนองและเกิดขึ้นตามความเคยชินหรือตามนิสัยเดิม

หลักคำสอนของท่านหุ้ยเหนิงคือ ให้ทิ้งความคิดในอดีตทั้งหมด อยู่กับปัจจุบัน และให้เอาใจไปจดจ่อกับความคิดอันถัดไปที่กำลังจะเกิดขึ้น หากมีความคิดอกุศลใดผุดขึ้นมาให้ตัดทิ้งทันที ความคิดดังกล่าวได้แก่
1) ความคิดอาฆาตพยาบาท ความโกรธเกลียดไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ
2) ความคิดที่เต็มไปด้วยความอวดดี ถือเนื้อถือตัว ยกตนข่มท่าน ดูถูกดูแคลนผู้อื่น
3) ความคิดอิจฉาริษยาหรือความน้อยเนื้อต่ำใจเมื่อเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
4) ความคิดปรุงแต่งที่เกิดจากการจับผิดและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น
5) ความคิดยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมาย คิดว่าทุกอย่างจะต้องเหมือนเดิม
6) ความคิดปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดไปเกินจริง วิตกกังวล
7) ความคิดยึดมั่นถือมั่นในความรักที่มากเกินพอดีและความเกลียดชัง
8) ความคิดยึดมั่นถือมั่นในความดีความชั่ว การทำความดีละเว้นความชั่วเป็นสิ่งที่ควรทำแต่ต้องไม่ยึดมั่นว่าฉันเป็นคนดีกว่าคนอื่นเหนือกว่าคนอื่น และไม่เจ็บแค้นหรือด่าทอคนที่ทำความชั่วจนจิตใจเราต้องหม่นหมองและเศร้าโศกไปด้วย เราควรปล่อยวางเพราะคนทำดีย่อมได้ดี คนทำความชั่วกรรมย่อมตามสนอง
9) ความคิดยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู
10) ความคิดยึดมั่นถือมั่นในความว่าง คนที่ยึดมั่นในความว่างและมองว่าทุกอย่างเป็นสิ่งสมมติและคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ ถือว่าเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิงและจะนำมาซึ่งบาปกรรมและอกุศลจิตทั้งปวง

2. กำจัดความคิดอกุศลเดิม ๆ ที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจ คนเรามักมีเรื่องที่ทุกข์ใจหนัก ๆ ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 4-5 เรื่อง ท่านหุ้ยเหนิงได้สอนวิธีฝึกจิตให้เข้มแข็งและมีกำลังสามารถต่อสู้กับความคิดปรุงแต่งที่ฝังแน่นในจิตใจไว้สามประการคือ

- กระทบแต่ไม่กระเทือน
เมื่อเรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และมีความคิดผุดขึ้นในใจถือว่าเป็นการกระทบผ่านทางอายาตนะทั้งหก ให้เราทำกิริยารับรู้ ไม่ให้คำจำกัดความว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ

- กระทบแต่ไม่ปรุงแต่ง
เมื่อเกิดการกระทบเราควรมีสติหยุดนิ่ง ไม่คิดเสริมต่อเติมใด ๆ ให้หยุดอยู่ที่การรับรู้และไม่คิดต่อ

- กระทบแต่ไม่นำกลับมาคิดซ้ำอีก
เมื่ออยู่ว่าง ๆ ไม่ควรดึงเรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้วมาคิดอีกเพราะจะทำให้เราไม่ได้อยู่กับปัจจุบันและถือว่าเป็นการปรุงแต่งฟุ้งซ่านและเป็นการกระตุ้นความคิดให้มีพลังครอบงำจิตมากยิ่งขึ้น

การปฏิบัติตามแนวทางของท่านอาจารย์หุ้ยเหนิงนั้นจะเป็นการรวมเอาสติ สมาธิ และปัญญาเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน สติคือการรู้เท่าทันความคิดที่เป็นอกุศลที่กำลังผุดขึ้นมา........... สมาธิคือการจดจ่อกับการกำจัดความคิดที่เป็นอกุศล........... และปัญญาคือการสอนวิธีให้จิตรับมือกับการกระทบที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รวมถึงการเข้าใจและตระหนักถึงโทษของการยึดมั่นถือมั่นซึ่งก็คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อฝึกอย่างต่อเนื่องจิตจะสงบและมีกำลัง เมื่อนั้นจะมีปัญญาญาณผุดขึ้นให้เรารู้ว่าควรตอบโต้อย่างไร ควรพูดอย่างไร และควรทำอย่างไรโดยปราศจากซึ่งความทุกข์และความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง




Create Date : 23 พฤษภาคม 2554
Last Update : 23 พฤษภาคม 2554 9:23:23 น.
Counter : 915 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลามูเต้
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]



ไทป์ 5....การง่วนอยู่กับรูปแบบที่คุ้นเคยจนสามารถมองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เคยเห็นมาก่อนได้
All Blog