**** ใช่หรือที่พรสวรรค์หรือความเชี่ยวชาญ ****
ใช่หรือที่พรสวรรค์หรือความเชี่ยวชาญ


บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นจากหนังสือเรื่อง Talent is Overrated: What Really Separates World-Class Performers from Everybody Else. แต่งโดย Geoff Colvin ผู้แต่งเชื่อว่า คนที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์หรือต้องทำงานหนักเสมอไป แต่ต้องมีความใส่ใจและจดจ่อกับงานที่ทำ จนมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในทุกแง่ทุกมุมจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นอย่างแท้จริง หากใครเอ่ยถึงชื่องานหรือสาขานั้น ๆ เมื่อไรจะต้องมีชื่อของเราเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้วย เช่นนี้จึงจะเรียกได้ว่า เก่งจริง และคุณสมบัตินี้เองจึงจะสามารถนำพาเราไปสู่ความสำเร็จได้ รายละเอียดเกี่ยวกับพรสวรรค์ การทำงานหนัก และการเอาใจใส่และจดจ่อกับงานดังกล่าว มีดังต่อไปนี้


1. ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องพึ่งพรสวรรค์

ผู้แต่งได้สัมภาษณ์ผู้ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกเช่น ไทเกอร์ วูดส์ ซึ่งผู้แต่งพบว่า นักกอล์ฟฝีมือระดับโลกผู้นี้ ก็ไม่ได้มีพรสวรรค์อะไรมากนัก เพียงแต่ได้รับการฝึกฝนให้เล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุสองขวบ ซึ่งนั่นก็คือการจดจ่อและเอาใจใส่ในสิ่งที่ทำอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เขาได้สัมภาษณ์แจ็ค เวลส์ อดีตผู้บริหารองค์กรระดับโลกอย่าง จี.อี.และพบว่าเขาไม่ได้จบสาขาวิชาการบริหารจัดการเสียด้วยซ้ำ แต่กลับบริการองค์กรจนประสบความสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะด้วยความมุ่งมั่นและเอาจริงของแจ็ค เวลช์ ที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความเป็นหนึ่ง จี.อี.จึงกลายเป็นบริษัทข้ามชาติบริษัทเดียวที่บริษัทญี่ปุ่นยอมศิโรราบ สำหรับ บิล เกตส์ เจ้าพ่อแห่งวงการคอมพิวเตอร์นั้นก็ไม่ได้มีพรสวรรค์มาตั้งแต่เกิดเช่นเดียวกัน แต่เขามีความชื่นชอบคอมพิวเตอร์อย่างมากจนสามารถเขียนซอฟแวร์ได้ตั้งแต่อายุ 13 ปี ด้วยความรักในสิ่งที่เขาทำ ความเอาใจใส่ ความทุ่มเทแรงกายแรงใจให้เวลากับสิ่ง ๆ นั้นอย่างแท้จริง สิ่งนี้เองจึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ที่ประสบความสำเร็จระดับโลก


2. แม้ทำงานหนักมากก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป

ผู้แต่งเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ที่ทำงานมานาน ความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้มีความเก่งฉกาจหรือมีความสามารถอย่างแท้จริง แต่ที่ดูเหมือนคล่องแคล่วและเชี่ยวชาญก็เพียงเพราะทำงานมานานจนเคยชิน แต่ประสบการณ์อันยาวนานกลับไม่มีความสอดคล้องกับผลงานที่ปรากฏเลย กล่าวคือ แม้ทำงานมานานแต่ก็ไม่มีนวัตกรรมใหม่ใด ๆ ไม่มีการพัฒนาการทำงานให้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นจนเป็นที่หนึ่งในสาขานั้น ๆ และไม่มีการขวนขวายเพื่อเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ มาพัฒนาขีดความสามารถของตนเอง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่า มีคนอีกมากมายที่ทำงานมานานแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที คอยแต่จะรอให้โชคช่วยหรือไม่ก็คอยแต่จะกล่าวโทษผู้อื่น โดยลืมมองตัวเองว่าความสามารถในการทำงานของตนเองมีผลในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพกันแน่



3. ไอคิวสูงไม่ได้บ่งชี้ว่าเราจะประสบความสำเร็จ

ผู้แต่งกล่าวว่า การมีสติปัญญาที่ยอดเยี่ยมหรือการมีความจำอันเป็นเลิศไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า เราจะประสบความสำเร็จ แต่ยังรวมถึงเหตุปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่น การมีความสามารถในการทำงานเป็นทีม ความมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การเข้าอกเข้าใจลูกน้อง ลูกค้า และเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้แต่งเชื่อมั่นว่า เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกคือ ความเอาใจใส่และจดจ่อต่อสิ่งที่กำลังทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ทำตามความเคยชิน แต่ทำอย่างรู้เนื้อรู้ตัว ในงานนั้น ๆ สิ่งนี้จะช่วยให้เราคิดค้นนวัตกรรมใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเราก็จะไม่ตื่นตระหนกมากนัก และเมื่อคู่แข่งหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เราก็จะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จากเหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม


4. วิธีการสร้างความจดจ่อและความเอาใจใส่เพื่อเป็นปัจจัยไปสู่ความสำเร็จ

1) ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและมีความถนัด
การค้นหาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไรจริง ๆ ทำได้โดยการทำใจให้สงบสบาย โดยการสวดมนต์หรือทำสมาธิ เมื่อจิตนิ่งแล้วจึงค้นหาว่าตนเองชอบอะไรอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถเลือกได้ ให้สร้างฉันทะหรือความรักในสิ่งที่ตนเองทำเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานดังกล่าว

2) ทำเพื่อคนอื่น ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อประเทศชาติ
การทำเพื่อผู้อื่นหรือเพื่อทดแทนคุณจะทำให้จิตมีพลัง เมื่อเกิดปัญหาจะไม่ท้อแท้หรือถอดใจไปโดยง่าย

3) ทำในสิ่งที่ตนเองภูมิใจการทำในสิ่งที่เราภูมิใจและรู้สึกดีที่ได้ทำ จะทำให้เรามีความสุขในการทำงาน มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือสูงค่าอะไรมากนัก แต่ถ้ามันมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับตัวเรา บุคคลรอบข้าง หรือแม้แต่คนที่เรารัก เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นกำลังใจ เป็นพลังให้เราสู้ต่อ ให้เราเอาใจใส่และจดจ่อกับสิ่งที่เราทำต่อไปจนประสบผลสำเร็จ


4) พยายามจดจ่อในสิ่งที่ทำอย่างแท้จริงเมื่อเรามีฉันทะต่อสิ่งที่จะทำแล้ว ให้เราพากเพียรและเอาใจใส่ต่อสิ่งที่ทำ ในช่วงแรกเราอาจจะต้องพึ่งพาผู้มีประสบการณ์หรือครูบาอาจารย์ก่อนเพื่อช่วยชี้แนะนำแนวทางบ้าง เพื่อป้องกันการเสียเวลาในการลองผิดลองถูก

5) พัฒนาตนเองจนเป็นที่หนึ่งในงานนั้น ๆ ให้จงได้
ในขณะที่เราจดจ่อในงานที่เรากระทำอยู่นั้นให้เราเปิดหูเปิดตา รับฟังความคิดเห็น ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนางานของเราให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น หากยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดในทุกแง่ทุกมุม จนเป็นที่หนึ่งในงานนั้น เราก็จะไม่ถอดใจหรือเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นแทน เพราะถ้าเราถอดใจเสียตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะมีแนวโน้มที่จะทำไม่สำเร็จเช่นนี้อีกในงานต่อ ๆ ไป เพราะมันเกิดจากคุณภาพจิตที่ท้อถอยไม่เอาจริงเหมือน ๆ กัน ผลที่ออกมาก็ย่อมไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ฉะนั้น การที่เรามุ่งมั่นและจดจ่อจนงานสำเร็จลุล่วงไป ไม่เพียงแต่เราจะได้ผลงานออกมาเท่านั้น เรายังจะได้กำลังของจิตที่เข้มแข็งมากขึ้น ได้ความมั่นใจ และพร้อมที่จะทำงานต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นไปอีกในอนาคต



************************************************************************************************
เครดิตเว็บ : ดร.บุญชัย โกศลธนากุล




Create Date : 02 เมษายน 2554
Last Update : 2 เมษายน 2554 0:13:31 น.
Counter : 585 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลามูเต้
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]



ไทป์ 5....การง่วนอยู่กับรูปแบบที่คุ้นเคยจนสามารถมองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เคยเห็นมาก่อนได้
All Blog