Welcome to twojay's weblog...
Group Blog
 
All Blogs
 
ตอนที่ ๓ ประวัติตอนรับราชการในกระทรวงมหาดไทย. (พ.ศ. ๒๔๓๗ - ๒๔๔๙)

ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์

ตอนที่ ๓ ประวัติตอนรับราชการในกระทรวงมหาดไทย. (พ.ศ. ๒๔๓๗ - ๒๔๔๙)
พระยาสุขุมนัยวินิต
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช
นามสกุล "สุขุม"
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"เมืองแขกทั้งเจ็ด"
พระบรมสาริกธาตุ
พระราชโทรเลข


เขียนประวัติเจ้าพระยายมราชตอนนี้ จำต้องกล่าวถึงเรื่องกระทรวงมหาดไทย คล้ายกับเล่าเรื่องประวัติของตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อแรกเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก่อน จึงจะเข้าใจเรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชเมื่อทำราชการกระทรวงมหาดไทยได้ชัดเจนเมื่อก่อนข้าพเจ้าไปยุโรปสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกำลังทรงพระราชดำริห์จะจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองพระราชอาณาเขตต์ให้สมสมัย เริ่มด้วยแก้ไขตำแหน่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ จะทรงตั้งกระทรวงเสนาบดีเพิ่มขึ้นอีกให้เป็น ๑๒ กระทรวงด้วยกัน ตัวข้าพเจ้าในเวลานั้นเป็นกรมหมื่นและเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการซึ่งจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดีอันหนึ่งตามพระราชดำริห์ เหมือนกับเทียบที่จะเป็นเสนาบดีอยู่แล้ว เมื่อไปยุโรปข้าพเจ้าจึงเอาใจใส่หาความรู้เห็นซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่กระทรวงธรรมการมาเป็นพื้นเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ยังไม่ถึง ๗ วันก็ประกาศพระบรมราชโองการให้ตั้งกระทรวงเสนาบดีดังทรงพระราชดำริห์นั้น แต่ในประกาศส่วนทรงตั้งตัวเสนาบดีประจำกระทรวงต่างๆ โปรดฯ ให้ปลดเจ้าพระยารัตนบดินทรที่สมุหนายกเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยซึ่งแก่ชราออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ และทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพเจ้าย้ายไปเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นไป การที่จะทรงตั้งข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มิได้มีพระราชดำรัสถามความสมัคร์ของข้าพเจ้า หรือแม้แต่ดำรัสให้ทราบก่อน ข้าพเจ้าต้องย้ายกระทรวงไปในทันทีมิได้เตรียมตัว และยังไม่คุ้นเคยกับราชการกระทรวงมหาดไทยก็เกิดวิตก แต่เมื่อมีพระบรมราชโองการเป็นเด็ดขาดแล้วก็ต้องย้ายจากกระทรวงธรรมการไปตามรับสั่ง ต่อมาในเดือนเมษายนนั้น วันหนึ่งมีรับสั่งให้หาข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าในที่ระโหฐาน ข้าพเจ้าได้โอกาสจึงกราบทูลปรับทุกข์ถึงที่โปรดฯ ให้ย้ายไปว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าข้าพเจ้าได้พยายามก่อสร้างกระทรวงธรรมการมา ฝังใจอยู่แต่ในกระทรวงนั้น นึกว่าถ้าโปรดให้สนองพระเดชพระคุณในกระทรวงธรรมการต่อไป เห็นจะสามารถจัดให้ดีได้ แต่ราชการกระทรวงมหาดไทยข้าพเจ้าไม่ได้เคยเอาใจใส่ศึกษา รู้แต่ว่าเป็นกระทรวงใหญ่มีหน้าที่บังคับบัญชาการกว้างขวางยากกว่ากระทรวงธรรมการมาก เกรงจะไม่สามารถทำการกระทรวงมหาดไทยได้สมพระราชประสงค์ ถ้าหากไปพลาดพลั้งให้เสียหายอย่างไรก็จะเสียพระเกียรติยศจึงมีความวิตกนัก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัสตอบ ว่าทรงเชื่อแน่ว่าถ้าให้ข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการคงสามารถจัดการได้ดี แต่กรณีย์ที่สำคัญกว่านั้นมีอีกอย่างหนึ่ง บางทีข้าพเจ้าจะยังไม่ได้คิด ด้วยเวลานั้นต่างประเทศกำลังตั้งท่าจะรุกพระราชอาณาเขตต์เข้ามา ถ้าไม่จัดการปกครองบ้านเมืองให้เรียบร้อย ปล่อยให้เป็นอยู่อย่างเดิมต่อไป อาจจะเกิดเหตุถึงเสียอิสสระบ้านเมือง ถ้าบ้านเมืองเสียอิสสระแล้วกระทรวงธรรมการของข้าพเจ้าจะดีอยู่ได้หรือ การปกครองบ้านเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยทั่วพระราชอาณาเขตต์สำคัญกว่า ด้วยเป็นการใหญ่และยาก ตกอยู่ในหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเป็นสำคัญ เพราะมีหัวเมืองอยู่ในบังคับบัญชามาก ได้ทรงพิจารณาหาตัวผู้จะเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้จัดการได้ดังพระราชประสงค์มานานแล้วยังหาไม่ได้ จนมาทรงสังเกตเห็นว่าตัวข้าพเจ้ามีความสามารถเหมาะกว่าผู้อื่น จึงได้ทรงตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ข้อที่ข้าพเจ้าวิตกด้วยไม่เคยคุ้นกับราชการกระทรวงมหาดไทยนั้นก็เป็นธรรมดา แต่ตัวข้าพเจ้าก็คงเคยทราบอยู่แก่ใจ ว่าราชการกระทรวงมหาดไทยนั้น พระองค์ต้องทรงรับเป็นภาระยิ่งกว่ากระทรวงอื่นๆ มานานแล้ว ถ้าข้าพเจ้าอยากรู้นโยบายและกระบวรราชการกระทรวงมหาดไทย หรือมีความสงสัยอย่างไรก็ให้กราบบังคมทูลถาม จะทรงพระกรุณาโปรดชี้แจงและอุดหนุนทุกอย่าง พระราชดำรัสข้อหลัง อย่างว่า "ทรงรับเป็นครู" นี้เป็นข้อสำคัญแก่ตัวข้าพเจ้ามาก ได้ถือเป็นหลักและเป็นกำลังสืบมาจนตลอดรัชชกาลที่ ๕ ถึงกระนั้นตอนแรกข้าพเจ้าไปบัญชาการกระทรวงมหาดไทยก็ลำบากมิใช่น้อย ด้วยย้ายไปแต่ตัวกับเจ้าพระยาพระเสด็จ (ม.ร.ว. เปีย มาลากูล) เมื่อยังเป็นที่หลวงไพศาลศิลปสาตร์ เลขานุการสำหรับตัวข้าพเจ้าด้วยกัน ๒ คน เท่านั้น เวลาจะบัญชาการข้าพเจ้าต้องเชิญพระยาราชวรานุกูล (อ่วม) ปลัดทูลฉลองมานั่งกำกับ เมื่อเจ้าหน้าที่มาเสนอราชการอันใดข้าพเจ้าถามพระยาราชวรานุกูลก่อน ว่าการเช่นนั้นแต่ก่อนเคยบังคับบัญชากันมาอย่างไรและท่านเห็นควรจะสั่งอย่างไร น่าชมความอารีของพระยาราช วรานุกูล ท่านบอกแบบแผนเยี่ยงอย่างและความคิดของท่านให้โดยมิได้รังเกียจ ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยหรือไม่เห็นมีทางเสียหายอย่างใดก็สั่งทางที่ท่านแนะนำ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยก็โต้แย้งและปรึกษากับท่านจนเป็นยุติแล้วจึงสั่งไป ถ้าความเห็นแตกต่างกันเป็นข้อสำคัญ หรือเห็นว่าเป็นข้อสำคัญไม่ควรจะทำไปแต่โดยลำพัง ข้าพเจ้าก็กราบทูลขอเรียนพระราชปฏิบัติแล้วจึงสั่งไป ส่วนข้าราชการในกระทรวงใครเคยทำการอย่างไรมาแต่ก่อนก็ให้คงทำไปอย่างเดิม แก้ไขเพียงให้ส่งการงานต่างๆ อันตกเป็นหน้าที่ของกระทรวงอื่นตามประกาศไปยังกระทรวงนั้นๆ เช่นส่งการชำระความอุทธรณ์ศาลหัวเมืองไปยังกระทรวงยุติธรรม (แต่ศาลตามหัวเมืองกระทรวงยุติธรรมว่ายังรับไม่ได้ก็ต้องคงอยู่ในกระทรวงมหาดไทย) และส่งการบัตรหมายสั่งกรมพลเรือนเวลามีการพระราชพิธีในกรุงเทพฯ ไปยังกระทรวงวังเป็นต้น แต่กระบวรทำราชการในกระทรวง ซึ่งแต่ก่อนเคยนำข้อราชการไปเสนอเสนาบดีที่บ้านตามแบบโบราณ ข้าพเจ้าให้เจ้าหน้าที่มาเสนอในศาลาลูกขุนเวลาข้าพเจ้าเข้าไปทำการพร้อมกันทุกวัน ได้สมาคมไต่ถามการงานต่อเจ้าหน้าที่จนคุ้นและรู้อัทยาศัยข้าราชการตั้งแต่ชั้นผู้ใหญ่ลงไปจนผู้น้อยทั้งกระทรวง ข้าพเจ้าบัญชาการอย่างศึกษาดังว่ามาอยู่สัก ๓ เดือน จึงสามารถสั่งราชการได้โดยลำพังตนแล้วปรารภจะศึกษาหาความรู้เห็นถิ่นที่และวิธีบังคับบัญชาราชการตามหัวเมืองต่อไป พอถึงเดือนตุลาคมใน พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น ข้าพเจ้าจึงกราบถวายบังคมลาไปเที่ยวตรวจราชการทางหัวเมืองเหนือไปทางเรือตรวจตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาและจังหวัดอื่นตามรายทางขึ้นไปทุกจังหวัดจนถึงจังหวัดอุตรดิษฐ ขึ้นเดินบกไปยังจังหวัดสวรรคโลก สุโขทัย ตาก แล้วลงเรือล่องลงมาทางจังหวัดกำแพงเพ็ชร์จนถึงจังหวัดอ่างทอง ขึ้นเดินบกจากที่นั่นไปถึงจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นที่สุด ด้วยเวลานั้นจังหวัดนครไชยศรียังขึ้นอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศจึงเป็นแต่ผ่านกลับมากรุงเทพฯ (ข้าพเจ้าได้รู้จักกับพวกญาติวงศ์และได้ไปถึงบ้านเดิมของเจ้าพระยายมราชเมื่อไปตรวจราชการเมืองสุพรรณครั้งนั้นเป็นหนแรก)


เมื่อไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ข้าพเจ้าไปแลเห็นความลำบากเป็นข้อสำคัญแก่การที่จะจัดวิธีปกครองหัวเมือง ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ หัวเมืองมีมากด้วยกัน ทางคมนาคมกับกรุงเทพฯ กว่าจะไปมาถึงกันก็หลายวันและหลายทาง พ้นวิสัยที่เสนาบดีเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ จะจัดการด้วยตนเองและจะไปตรวจตราการงานได้ทั่วถึงทุกแห่งเสมอ จะได้แต่มีท้องตราสั่งและตั้งข้อบังคับส่งไปในแผ่นกระดาษ พวกเจ้าเมืองกรมการทำอย่างไรก็ยากที่จะรู้ ก็ในเวลานั้น หัวเมืองชายพระราชอาณาเขตต์ที่ขึ้นกระทรวงมหาดไทยได้โปรดฯ ให้จัดรวมกันเป็นมณฑลมีเจ้านายต่างกรมและข้าราชการผู้ใหญ่ออกไปเป็น "ข้าหลวงใหญ่" ประจำกำกับอยู่แล้ว ๔ มณฑล คือ เจ้าพระยารัตนาธิ เบศ (พุ่ม) เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพมณฑล ๑ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลอุดร มณฑล ๑ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลอิสาณ มณฑล ๑ และกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลนครราชสิมา มณฑล ๑ ข้าพเจ้ายังไม่ต้องเป็นห่วงถึง ๔ มณฑลนั้นแต่คิดเห็นว่าถึงหัวเมืองชั้นในถ้าจะจัดการปกครองให้เรียบร้อยก็จะต้องรวมเป็นมณฑลละ ๔ เมือง ๕ เมือง และให้มีเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ มียศในระหว่างเสนาบดีกับผู้ว่าราชการจังหวัดไปประจำจัดการตามคำสั่งของเสนาบดีอยู่ในท้องที่มณฑลละคนเรียกว่า "ข้าหลวงเทศาภิบาล" (ซึ่งมาแปลงเป็นสมุหเทศาภิบาลเมื่อภายหลัง) และเปลื้องหน้าที่ของเสนาบดีส่วนบังคับบัญชาการภายในมณฑลนั้นๆ ให้เป็นหน้าที่ข้าหลวงเทศาภิบาล แบ่งเบาภาระให้เสนาบดีมีหน้าที่แต่คิดระเบียบการที่จะจัด และช่วยแก้ไขความขัดข้องของข้าหลวงเทศาภิบาล กับออกไปเที่ยวตรวจตราการที่จัดตามหัวเมืองเป็นครั้งเป็นคราว หรือว่าโดยย่อให้เสนาบดีเป็นผู้คิดและตรวจตรา ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ทำ ดังนี้จึงจะจัดการได้สำเร็จ แต่ยังมีความลำบากข้อสำคัญอีกอย่าง ๑ ด้วยในเวลานั้นการปกครองตามหัวเมืองยังใช้แบบโบราณที่เรียกว่า "กินเมือง" (อาจจะได้แบบมาจากเมืองจีนแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะ จีนก็เรียกว่า "กินเมือง" เหมือนกัน) ถือว่าเผู้เป็นเจ้าเมืองกรมการต้องละการทำมาหากินมาประจำทำการปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรมีความสุขปราศจากภยันตราย เพราะฉะนั้นราษฎรต้องตอบแทนด้วยอุปการะเลี้ยงดูเจ้าเมืองกรมการอย่าให้ต้องอดอยากเดือดร้อนคือ ให้ใช้แรง อย่าง ๑ กับแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้ เช่นเข้าปลาอาหารเป็นต้น ที่มีเหลือใช้ให้เป็นของกำนันสำหรับเจ้าเมืองกรมการเลี้ยงชีพจนเพียงพอ อย่าง ๑ แต่เดิมมาเจ้าเมืองกรมการได้ผลประโยชน์เป็นตัวเงินแต่ค่าธรรมเนียมความและส่วนลดภาษีอากรบางอย่าง เช่นค่านาเป็นต้น คนละเล็กละน้อย ครั้นการเลี้ยงชีพต้องอาศัยใช้เงินตรายิ่งขึ้น ข้าราชการกรมต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นใหม่ก็เปลี่ยนเป็นได้เงินเดือนเลี้ยงชีพ แต่ตามหัวเมืองยัง "กินเมือง" อยู่อย่างเดิม เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจราชการได้ความว่าเจ้าเมืองกรมการต้องทำมาหากินเลี้ยงตัวด้วยอาศัยตำแหน่งในราชการโดยมาก เป็นข้อขัดข้องจะแก้ไขได้แต่ด้วยให้ข้าราชการหัวเมืองรับเงินเดือนเหมือนข้าราชการในกรุงเทพฯ จึงจะบังคับให้ตั้งหน้าทำราชการบ้านเมืองแต่อย่างเดียว และเลิกวิธีใช้อำนาจในตำแหน่งหาผลประโยชน์ได้ ข้าพเจ้ากลับมาจากตรวจราชการหัวเมืองครั้งนั้น เมื่อเข้าเฝ้าถวายรายงานแล้ว กราบบังคมทูลถึงความขัดข้อง ๒ ข้อที่กล่าวมาเห็นว่าจะต้องแก้ไขก่อนอย่างอื่น ก็ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย เรื่องตั้งมณฑลเทศาภิบาลโปรดฯ ให้ข้าพเจ้าคิดหาตัวผู้จะเป็นข้าหลวงถวาย และเรื่องจะให้ข้าราชการหัวเมืองได้เงินเดือนนั้นก็จะทรงสั่งกระทรวงพระคลังให้มาปรึกษาหารือกับข้าพเจ้าให้ตกลงกัน


การเลือกหาผู้จะเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลชั้นแรกก็ลำบากมิใช่น้อย เพราะต้องพิจารณาหาผู้ที่มีสติปัญญาสามารถ และเป็นผู้ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยประกอบกัน ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้นหาตัวได้เหมาะแต่ ๒ คน คือเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิทธศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย ข้าพเจ้าไปพบและชอบมาแต่เมื่อไปตรวจราชการหัวเมืองเหนือ คน ๑ กับนายพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) ซึ่งข้าพเจ้าเคยคุ้นมาตั้งแต่เป็นนายทหารมหาดเล็กอยู่ด้วยกัน คน ๑ ถวายชื่อก็พอพระราชหฤทัย โปรดให้พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิศณุโลก และให้พระยาฤทธรงค์รณเฉทเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจิณ แรกตั้งแต่ ๒ มณฑล ต่อมาถึงปีหลังโปรดให้กรมขุนมรุพงศ ศิริพัฒน์ (แต่เมื่อยังไม่ได้รับกรม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาและให้นายพันเอก พระยาดัษกรประลาด (อยู่) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ จึงมีเป็น ๔ มณฑลด้วยกัน


เรื่องเงินเดือนข้าราชการหัวเมืองนั้น ข้าพเจ้าปรึกษากับกรมพระนราธิปปรพันธพงศ (เมื่อยังไม่ได้รับกรม) ซึ่งทรงบัญชาการกระทรวงพระคลัง ท่านทรงเห็นชอบด้วยว่าข้าราชการหัวเมืองทำการตามหน้าที่ในระเบียบที่จัดใหม่ควรได้รับเงินเดือนเหมือนข้าราชการในกรุงฯ แต่ในเวลานั้นเงินแผ่นดินซึ่งสำหรับใช้จ่ายใช้ราชการยังมีน้อย ตรัสขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยกระทรวงพระคลัง ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ อย่าเพิ่งตั้งข้าราชการตำแหน่งรับเงินเดือนเพิ่มจำนวนให้มากเร็วนัก และขอให้กำหนดอัตราเงินเดือนไว้ให้ต่ำสักหน่อย ข้อ ๒ เมื่อจัดการไปขอให้มหาดไทยเอาเป็นธุระพิจารณาหาทางที่จะได้ผลประโยชน์แผ่นดินเพิ่มขึ้นด้วย ข้าพเจ้าก็รับตกลงตามพระประสงค์


มณฑลเทศาภิบาลมีแต่ ๔ มณฑล มาจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่าการปกครองหัวเมืองจะจัดสำเร็จได้ จึงโปรดให้ประกาศโอนบรรดาหัวเมืองซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมารวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด เว้นแต่พระนครกับหัวเมืองที่อยู่ติดต่อใกล้เคียงให้รวมกันเป็นมณฑลกรุงเทพฯ ขึ้นในกระทรวงนครบาลต่างหาก หาได้อยู่ในบังคับรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยไม่ เรื่องกระทรวงมหาดไทยเมื่อเริ่มตั้งมณฑลเทศาภิบาลมีมาดังนี้ แต่นี้จะกล่าวถึงเรื่องประวัติเจ้าพระยายมราชต่อไป


เมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นที่พระวิจิตรวรสาสน์กลับมาจากยุโรปในตอนต้น พ.ศ. ๒๔๓๗ นั้น ขาดจากหน้าที่และตำแหน่งเดิมทั้งที่เป็นครูพระเจ้าลูกเธอและเป็นเลขานุการในสถานทูต ฐานะเป็นผู้ว่างราชการ ทั้งตัวท่านก็อยากจะมาทำราชการอยู่ด้วยกันกับข้าพเจ้าตัวข้าพเจ้าก็อยากได้ท่านด้วย เพราะกำลังเสาะหาคนสำหรับส่งไปรับราชการหัวเมือง ก็รีบกราบบังคมทูลขอและได้พระวิจิตรวรสาสน์มารับราชการในกระทรวงมหาดไทย แต่ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าตัวท่านเคยรับราชการในกรุงแต่เป็นครู และเป็นอยู่ไม่ช้านักก็ออกไปอยู่ในยุโรปเสียช้านาน ควรให้มีเวลาศึกษาหาความรู้ที่ยังบกพร่องเสียก่อน เผอิญในเวลานั้นตำแหน่งเลขานุการประจำตัวเสนาบดีว่าง ด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีดำรัสขอเจ้าพระยาพระเสด็จ (ม.ร.ว.เปีย มาลากูล) เมื่อยังเป็นพระมนตรีพจนกิจไปเป็นพระครูสอนหนังสือไทยถวายสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงศึกษาอยู่ในยุโรป ได้พระวิจิตรวรสาสน์มาก็พอดี จึงให้เป็นตำแหน่งเลขานุการประจำตัวข้าพเจ้าแทนพระมนตรีพจนกิจ เป็นตำแหน่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเจ้าพระยายมราชในเวลานั้น เพราะอยู่ใกล้ชิดติดตัวเสนาบดีอยู่เสมอ ได้เห็นการงานในกระทรวงและได้รู้นโยบายที่จัดการปกครองหัวเมืองยิ่งกว่าเป็นตำแหน่งอื่น ถ้าทำการในตำแหน่งเลขานุการไป ผู้ทรงคุณวุฒิเช่นท่านคงจะได้เป็นตำแหน่งชั้นสูงมิเร็วก็ช้า แต่เผอิญมีเหตุเกิดขึ้นคล้ายกับบุญมาหนุนหลังเจ้าพระยายมราชอีกโดยมิได้มีใครคาด ด้วยเมื่อท่านเป็นตำแหน่งเลขานุการยังไม่ทันถึงปี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้รวมหัวเมืองทั้งหมดมาขึ้นกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมาแล้ว พอรวมหัวเมืองแล้วไม่ช้าพระยาทิพโกษา (มหาโต โชติกเสถียร) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกอยู่ ณ เมืองภูเก็ตแต่เมื่อยังขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม มีใบบอกเข้ามายังข้าพเจ้าว่าเกิดอาการเจ็บป่วยขอลาพักรักษาตัวสัก ๖ เดือน ขอให้ข้าพเจ้าส่งใครไปรักษาราชการแทนในเวลาที่ป่วยนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกน้อยใจเพราะหัวเมืองทางนั้นเพิ่งโปรดให้โอนมาขึ้นกระทรวงมหาดไทยข้าพเจ้ายังไม่ทันจะรู้การงาน ควรที่พระยาทิพฯ ซึ่งเคยเป็นมิตรกับข้าพเจ้ามาแต่ก่อนจะอยู่ช่วยข้าพเจ้า กลับมาลาพักเสีย ถ้าจะไม่รับลาก็จะต้องอ้อนวอนห้ามปราม นึกว่าข้าพเจ้าเป็นตำแหน่งเสนาบดีเจ้ากระทรวง ถ้าต้องอ้อนวอนงอนง้อผู้น้อยก็เหมือนตัวอย่างไม่ดีให้เกิดขึ้น จึงตกลงปลงใจว่าจะยอมรับลาและส่งคนอื่นไปแทนตามประสงค์ แต่เมื่อคิดหาตัวผู้ที่จะส่งไปรั้งการมณฑลภูเก็ตยังคิดไม่เห็นใคร เวลานั้นเผอิญเจ้าพระยายมราชเอาหนังสือเข้าไปเสนอตามหน้าที่เลขานุการ พอข้าพเจ้าเห็นก็นึกได้ว่าพระวิจิตรนี้เองเป็นเหมาะดี ด้วยมีสติปัญญาอัธยาศัยพอจะไม่ไปทำให้เสื่อมเสียอย่างใดได้ จึงเล่าเรื่องความลำบากของข้าพเจ้าให้ท่านฟังดังกล่ามาแล้ว ถามท่านว่าจะรับอาสาไปได้หรือไม่ ท่านตอบว่าข้าพเจ้าเห็นท่านจะทำราชการอย่างใดได้ก็แล้วแต่ข้าพเจ้าจะใช้ ส่วนตัวท่านเองนั้นหามีความรังเกียจไม่ ข้าพเจ้าก็กราบทูลเรื่องพระยาทิพฯ ขอลาพักรักษาตัวและจะให้พระวิจตรฯ ออกไปรักษาราชการแทนชั่วคราว ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตจึงมีท้องตราอนุญาตไปยังพระยาทิพฯ และจัดการหาเรือให้พระวิจิตรฯ จากกรุงเทพฯ ไป เพราะการเดินทางไปเมืองภูเก็ตในสมัยนั้นทางใกล้กว่าทางอื่นต้องไปเรือจากกรุงเทพฯ ไปขึ้นที่เมืองสงขลาแล้วเดินบกไปผ่านเมืองไทรบุรีไปลงเรือเมล์ที่เมืองปินังไปยังเมืองภูเก็ต พอเจ้าพระยายมราชลงเรือออกจากกรุงเทพฯ ไปแล้ว ทางฝ่ายเมืองภูเก็ตพระยาทิพฯ (ชรอยจะทราบว่าข้าพเจ้าขัดใจ) ก็มีใบบอกเข้ามาว่าจะงดการลา ข้าพเจ้าไม่ต้องส่งใครไปรักษาการแทนก็ได้เจ้าพระยายมราชออกไปถึงเมืองสงขลาก็ได้ทราบข่าวนั้น บางทีพระยาทิพฯ จะบอกมาให้ทราบด้วยถึงถามมาว่าจะให้กลับกรุงเทพฯหรือทำอย่างไรต่อไป ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าเมื่อเจ้าพระยายมราชจะไปก็ได้กราบถวายบังคมลา คนทั้งหลายรู้อยู่ทั่วกัน ออกไปครึ่งทางยังไม่ทันได้ทำอะไรจะสั่งให้กลับเข้ามาเปล่าๆ ดูน่าละอายอยู่ จะทูลเสนอให้ท่านเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชก็ขัดข้องอยู่ เพราะตัวท่านเป็นแต่พระวิจิตรวรสาสน์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ยังไม่สู้เคยคุ้นนัก เกรงจะไม่โปรดข้าพเจ้าจึงกราบบังคมทูลขอให้เจ้าพระยายมราช (เมื่อยังเป็นพระวิจิตรวรสาสน์) เป็นข้าหลวงพิเศษตรวจการที่เมืองสงขลาและเมืองนครศรีธรรมราชให้รู้ว่าระเบียบการปกครองท้องที่ใน ๒ จังหวัดนั้นจัดกันมาอย่างไรให้ทำรายงานมาเสนอ เพื่อประกอบความคิดที่จะจัดมณฑลเทศาภิบาลต่อไป ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตจึงสั่งไปยังเจ้าพระยายมราชให้พักอยู่เมืองสงขลาเที่ยวตรวจราชการ ๒ จังหวัดนั้นเสียก่อน เสร็จแล้วจึงกลับมา


ตรงนี้จะต้องเล่าเรื่องประวัติ ๒ จังหวัดนั้นแทรกลงสักหน่อยจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลาเป็นคู่แข่งกันมาตั้งแต่รัชชกาลที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชก็อยู่แต่ในสกุลณนครผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาก็อยู่แต่ในสกุลณสงขลาสืบมาตั้งแต่รัชชกาลที่ ๑ ไม่เคยมีคนสกุลอื่นเข้าไปแทรกแซง เวลาเมื่อโอนหัวเมืองทั้ง ๒ นั้นมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาว่าง พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา) เมื่อยังเป็นที่พระยาสุนทรานุรักษเป็นผู้รั้งราชการจังหวัด ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัด (แต่มีผู้ฟ้องต้องถูกกักตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หลายปี จนรวมหัวเมืองมาขึ้นกระทรวงมหาดไทยข้าพเจ้าจึงให้ท่านกลับออกไปว่าราชการตามเดิม) เวลานั้นรู้กันอยู่แล้วว่าคงรวมจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุงเป็นมณฑลเทศาภิบาลอันหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ข้าพเจ้าอยากจะสงสัยต่อไป ว่าในเวลานั้นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีก็เกรงว่าพระยาวิเชียรคิรีจะได้เป็นเทศาฯ เพราะตัวท่านแก่ชราเสียแล้ว ฝ่ายข้างพระยาวิเชียรคิรีก็เกรงว่าเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจะได้เป็นเทศาฯ เพราะมีบรรดาศักดิ์สูงกว่าผู้อื่นในมณฑลนั้น ที่จริงข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้คิดหาตัวผู้จะเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช แต่ชอบพอคุ้นเคยกับเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีและพระยาวิเชียรคิรีอยู่แล้วทั้ง ๒ คน


เมื่อเจ้าพระยายมราชแรกไปถึงเมืองสงขลาในตอนที่จะไปเมืองภูเก็ต พระยาวิเชียรคิรีได้รู้จักก็ชอบอัธยาศัยเริ่มสมัคร์สมานเป็นมิตรกันมากับพระวิจิตรวรสาส์นแต่ชั้นนั้นแล้ว แต่ทั้ง ๒ คนก็เห็นจะยังไม่ได้คิดว่าเจ้าพระยายมราชจะได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลเพราะยศยังเป็นแต่ชั้นพระและจะไปราชการทางหนึ่งต่างหาก แต่เมื่อมีตราตั้งพระวิจิตรวรสาส์นเป็นข้าหลวงตรวจการ ชรอยพระยาวิเชียรฯ จะนึกคาดการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเป็นคนฉลาดและมีมิตรสหายในกรุงเทพฯ มาก แม้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระเมตตาปราณี พระยาวิเชียรฯ ก็เข้าอุดหนุนพระวิจิตรวรสาส์นให้ตรวจการได้สดวก และแสดงความประสงค์ต่อไป ว่าอยากจะจัดการเมืองสงขลาให้เข้าระเบียบใหม่ที่กระทรวงมหาดไทยจัดทางหัวเมืองชั้นใน ขอให้เจ้าพระยายมราชช่วยชี้แจงแบบแผนให้ทราบว่าควรจะจัดอย่างไร เจ้าพระยายมราชมีจดหมายลับมาหารือ ข้าพเจ้าก็ตอบไปให้ช่วยแนะนำพระยาวิเชียรคิรีตามประสงค์แต่นั้นที่เมืองสงขลาก็เริ่มจัดการปกครองท้องที่ตามระเบียบใหม่ด้วยอาศัยพระวิจิตรวรสาส์นออกความคิดและพระยาวิเชียรคิรีเป็นผู้จัด ความเจริญก็เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาก่อน ครั้นข่าวเล่าลือไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีก็เร่งพระวิจิตรวรสาส์นให้ไปเมืองนครศรีธรรมราช อาศัยกรณีย์อันมิได้คาดไว้ก่อนเกิดขึ้นอย่างนั้น เกียรติคุณของเจ้าพระยายมราชก็ปรากฎแพร่หลายไปตลอดมณฑล ตั้งแต่ยังเป็นที่พระวิจตรวรสาส์น


ถึง พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสงขลาทรงสังเกตเห็นบ้านเมืองเจริญขึ้นกว่าได้เคยทอดพระเนตรเห็นมาแต่ก่อน และได้ตรัสไต่ถามการงานต่างๆ เจ้าพระยายมราชกราบทูลชี้แจงชอบพระราชอัธยาศัยในคราวนี้ ก็ทรงหยั่งเห็นว่าพระวิจิตรวรสาส์นเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถ เมื่อเสด็จกลับจึงโปรดฯ ให้ประกาศตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์พระวิจตรวรสาส์นขึ้นเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต และทรงตั้งให้เป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชด้วย ส่วนพระยาสุนทรานุรักษ์ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาวิเชียรคิรีฯ และพระราชทานพานทองเต็มตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสงขลา แต่ส่วนพระยาสุขุมนัยวินิตต่อมาอีกปี ๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงได้รับพระราชทานพานทองเครื่องยศเป็นชั้นขุนนางผู้ใหญ่ มีอธิบายควรกล่าวแทรกตรงนี้ว่าด้วยราชทินนาม "พระยาสุขุมนัยวินิต" ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานนั้น เป็นนามทรงสถาปนาขึ้นใหม่ให้สมกับคุณสมบัติของเจ้าพระยายมราช ด้วยทรงสังเกตเห็นว่าท่านมีสติปัญญาอย่างสุขุมสามารถทำการได้ด้วยผูกใจคน ไม่ชอบใช้อำนาจด้วยอาญา เมื่อพระราชทานนามนั้นผู้อื่นที่รู้จักท่านก็เห็นสมโดยมากบางคนถึงกล่าวต่อไปว่า เพราะท่านเคยบวชอยู่นานจึงได้อัธยาศัยของพระติดตัวมาจากวัด แต่ส่วนตัวท่านเองนับถือนามที่ได้พระราชทานนั้นมาก ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชบัญญัติให้มีนามสกุล เวลานั้นท่านเป็นเจ้าพระยายมราชแล้ว กราบบังคมทูลขอให้พระราชทานคำ "สุขุม" เป็นนามสกุล บรรดาญาติวงศ์ทางเมืองสุพรรณฯ ก็ขอเข้าชื่ออยู่ในสกุล "สุขุม" ด้วย ท่านจึงมีฐานะเป็นต้นสกุล "สุขุม" ด้วยประการฉะนี้


มณฑลนครศรีธรรมราชตั้งในคราวเดียวกันกับมณฑลอื่นอีกหลายมณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลชุมพร และมณฑลภูเก็ต เว้นแต่มณฑลจันทบุรียังมิได้ตั้งเพราะยังมีความขัดข้องต้องรออยู่หลายปี เมื่อมีมณฑลมากขึ้นก็โปรดให้ตั้งประเพณีมีการประชุมข้าหลวงเทศาภิบาลพร้อมกันที่ในกรุงเทพฯปีละครั้ง ๑ นับแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นต้นมา ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลมีโอกาสเข้ามาเสนอรายงานการที่ได้จัดไป และปรึกษาความขัดข้องต่อเจ้ากระทรวง ทั้งเสนอความคิดเห็นในกิจการต่างๆ ในมณฑลของตน และที่สุดปรึกษาลงมติสำหรับการต่างๆ ที่จะจัดต่อไปในปีหน้า ประชุมกันที่ศาลาลูกขุนในราวปีละ ๗ วัน รายงานการประชุมพิมพ์ลงในหนังสือ "เทศาภิบาล" แจกจ่ายไปตามหัวเมืองด้วยทุกปี เนื่องในการประชุมเทศาภิบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเลี้ยงเวลาค่ำและเสด็จเสวยกับข้าหลวงเทศาภิบาลด้วยทุกปี นอกจากนั้นฉายรูปหมู่เป็นที่ระลึกด้วย บางปีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จประทับในรูปหมู่นั้นด้วย อาศัยพระบรมราชูปถัมภ์ด้วยประการต่างๆ การจัดหัวเมืองซึ่งตั้งต้นด้วยจัดการปกครองท้องที่ แล้วขยายออกไปถึงจัดการอื่นๆ แก้ไขแบบเดิมตั้งเป็นระเบียบใหม่ เป็นต้น แต่วิธีเก็บภาษีอากร ตั้งสาขาพระคลัง ทำการโยธาในท้องที่ และที่สุดจัดการศาลยุติธรรมตามหัวเมือง ข้าหลวงเทศาภิบาลมีหน้าที่และต้องรับผิดชอบมากขึ้นเป็นลำดับมา แต่เมื่อการปกครองหัวเมืองมีการงานเพิ่มเติมมากขึ้นความลำบากก็เกิดขึ้นอีกอย่าง ๑ ด้วยไม่มีตัวคนสำหรับรับหน้าที่ต่างๆ พอแก่การ ข้าหลวงเทศาภิบาลต้องขอคนจากกระทรวงมหาดไทยๆ ก็เที่ยวเสาะหานักเรียนที่สอบความรู้แล้วส่งไปปีละหลายๆ คน ที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กในรัชชกาลที่ ๕ ซึ่งกลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบัดนี้ ก็เกิดแต่หาคนรับราชการ แต่ในสมัยนั้นก็ยังหาได้น้อยนัก เรื่องนี้เป็นมูลที่จะแสดงความสามารถของผู้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ ให้เห็นว่าใครหัดคนเป็นหรือหัดไม่เป็น ใครรู้จักหัดคนในมณฑลของตนใช้ได้ ก็สามารถจัดการได้สดวกกว่าที่ไม่รู้จักหัดเจ้าพระยายมราชอยู่ในพวกสันทัดหัดคนมาแต่แรก ด้วยท่านได้หลักสำคัญที่คนในมณฑลนับถือมาแต่ยังเป็นที่พระวิจิตรวรสาส์นแล้ว ก็สามารถชักชวนคนชาวเมืองที่ท่านสังเกตเห็นว่าแววดี เป็นต้นแต่ลูกหลานเจ้าเมืองกรมการ ตลอดจนลูกพ่อค้าและคฤหบดีเอาเข้ามาหัดทำราชการได้มาก แต่อุบายอย่างนี้ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอื่นๆ ก็ทำอย่างเดียวกันโดยมาก ที่แปลกฉะเพาะตัวเจ้าพระยายมราชนั้น พอท่านเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว เวลาไปตรวจท้องที่ต่างๆ ชอบสั่งสอนราษฎรตามท้องที่คล้ายกับพวกมิชชันนารีสอนศาสนา ผิดกันแต่ท่านสอนให้เป็นสามัคคีช่วยทำนุบำรุงกันและกัน และช่วยรัฐบาลทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความสุข ใครได้พบปะสนทนากับท่านจะเป็นพระตามวัดก็ดี พวกกำนัลผู้ใหญ่บ้านก็ดี ตลอดจนราษฎรและชนชาติอื่นที่อยู่ในบ้านเมืองก็พากันเลื่อมใส ท่านจะทำการอันใดเป็นแต่ชี้แจงประโยชน์ของการที่จะทำนั้นให้เข้าใจ คนก็เต็มใจช่วยมิพักต้องกะเกณฑ์จับกุม


คุณวิเศษของเจ้าพระยายมราชในข้อที่มีอัธยาศัย "เข้าคน" ได้ทุกชะนิด มีเป็นอย่างแปลกปลาดจะเอามาเล่าพอให้เห็นเป็นอุทาหรณ์เรื่อง ๑ คือ เมื่อก่อนท่านจะได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลเกิดไฟไหม้ที่วัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชจนปรักหักพัง มีพระภิกษุองค์ ๑ เรียกกันว่า "อาจารย์ปาน" ศรัทธาเที่ยวชักชวนผู้คนให้ช่วยกันบูรณปฎิสังขรณ์ให้คืนดีอย่างเดิม ก็พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชนั้น นับอยู่ในเจดีย์วัตถุอันเป็นหลักของประเทศสยามแห่ง ๑ บรรดาพุทธสาสนิกชนในแหลมมลายูนับถือทั่วไปจนถึงเมืองปินัง เมืองสิงคโปร์ และเมืองมอญ เมื่อทราบข่าวว่าอาจารย์ปานจะบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุให้คืนดี คนทั้งหลายก็พากันเลื่อมใสศรัทธาที่จะช่วย ที่เป็นคนมั่งมีศรีสุขก็บริจาคเงินถวายอาจารย์ปานให้เป็นทุน ที่ไม่มีเงินก็เอาแรงของตนมาช่วยให้อาจารย์ใช้สอย บางพวกก็ถวายสะเบียงอาหารสำหรับเลี้ยงคนทำงาน เวลาทำการปฏิสังขรณ์นั้นตัวอาจารย์พักอยู่ในวิหารน้อยที่วัดร้างตรงหน้าวัดมหาธาตุออกมา และปลูกเพิงมุงจากให้คนทำงานอาศัยเต็มไปในลานวัดนั้น มีพวกผู้ช่วยที่รับเป็นกรรมกรผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่ประจำทำงานคราวละหลายๆ ร้อย พวกที่เป็นผู้หญิงก็พากันไปรับทำครัวเลี้ยงพวกกรรมกรที่ทำงาน ว่าโดยย่อคนนับถืออาจารย์ปานเมืองนครศรีธรรมราชครั้งนั้น เป็นทำนองเดียวกันกับนับถือพระศรีวิชัยในมณฑลพายัพเมื่อภายหลัง เมื่อเจ้าพระยายมราชไปพบอาจารย์ปาน แทนที่จะแสดงความรังเกียจในทางการเมืองกลับเข้าคบหาวิสาสะช่วยเหลือจนอาจารย์ปานนับถือ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชครั้ง ๑ อาจารย์ปานรับช่วยเจ้าพระยายมราชในการหากรรมกรหาบขน คือชักชวนพวกราษฎรที่มาทำการปฏิสังขรณ์นั้นเอง ให้ช่วยกันสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คนเหล่านั้นก็เต็มใจไม่มีใครรังเกียจ ถึงเจ้าพระยายมราชให้พาดสายโทรศัพท์แต่จวนของท่านไปจนถึงวิหารน้อยที่อาจารย์อยู่ จะต้องการแรงงานเมื่อใดพูดโทรศัพท์ไปถึงอาจารย์ปานก็ขอแรงคนส่งมาให้ได้ในทันที ครั้นนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเลยเสด็จไปทอดพระเนตรถึงโรงงานของอาจารย์ปาน ทรงอนุโมทนาแล้วโปรดตั้งอาจารย์ปานเป็นที่พระครูเทพมุนี ตำแหน่งพิเศษในคณะสงฆ์เมืองนครศรีธรรมราชต่อมา เรื่องนี้ถ้าเปรียบกับเรื่องประวัติพระศรีวิชัยก็เห็นได้ ว่าผู้มีสติปัญญาอัธยาศัยเช่นเจ้าพระยายมราชอาจจะใช้อุบายแปรเหตุอันอาจจะให้ร้ายให้กลายเป็นดีได้ มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าคิดเห็นว่าจะเกิดผลจากที่คนทั้งหลายในมณฑลนับถือเจ้าพระยายมราชเหมือนกัน คือตลอดเวลาที่ท่านเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชอยู่ ๑๐ ปี นั้นโจรผู้ร้ายสงบมิได้กำเริบทั่วทั้งมณฑล ข้อนี้หยั่งรู้ได้ด้วยสังเกตเห็นแต่เริ่มจัดการปกครองท้องที่มา ตำบลใดได้สาธุชนชั้นคฤหบดีที่ราษฎรในท้องที่นับถือเป็นกำนัล แม้โจรผู้ร้ายเคยชุกชุมมาแต่ก่อนก็สงบลงทันทีแต่มีข้อสำคัญอันหนึ่ง คือที่ต้องยกย่องเอาใจกำนัล ให้รู้สึกว่าความดีอยู่ที่ปกครองลูกบ้านให้เป็นสุข ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือแม้จนข้าหลวงเทศาภิบาลเข้าใจว่ากำนัลผู้ใหญ่บ้านเป็นแต่คนสำหรับรับใช้ อะไรๆ ก็จะเอาแต่กับกำนัลผู้ใหญ่ตะบันไปอย่างว่า "ไม่แลเห็นอก" คนดีก็มักพากันหลีกเลี่ยงไม่รับเป็นกำนัลผู้ใหญ่บ้าน ถ้าแห่งใดเป็นเช่นนั้นโจรผู้ร้ายก็ไม่ราบคาบบางทีท่านผู้อ่านจะสงสัยว่า เพราะเหตุใดกำนัลดีจึงคุ้มโจรภัยได้ข้อนี้อธิบายว่าธรรมดาราษฎรไม่มีใครอยากจะให้มีโจรผู้ร้ายทั้งนั้นถ้ามีหัวหน้าที่นับถือราษฎรก็เต็มใจช่วย เช่นกระซิบบอกให้รู้ตัวว่าพวกโจรจะปล้นสดมภ์ ได้เตรียมป้องกันแต่ก่อนเหตุ หรือมิฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุแล้วก็พากันช่วยสืบเสาะจับกุมโดยเต็มกำลังกำนัลเช่นว่ามา ราษฎรในตำบลมักเรียกกันว่า "คุณพ่อ" กำนัลที่ข้าพเจ้าได้เคยพบในมณฑลนครศรีธรรมราช เจ้าพระยายมราชสามารถหาคนชั้น "คุณพ่อ" ได้เป็นพื้น และรู้จักเอาอกเอาใจด้วยอัธยาศัยของท่านอยู่เสมอ จึงเห็นว่าโจรผู้ร้ายจะสงบด้วยเหตุนั้น ในสมัยเมื่อยังไม่ได้ตั้งกรมตำรวจภูธร


เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ชอบทำการโยธาที่เป็นสาธารณประโยชน์ด้วยอีกสถานหนึ่ง มีสิ่งซึ่งท่านทำยังปรากฎอยู่หลายแห่ง นอกจากทำถนนใช้รถใน บริเวรเมือง ทำถนนหลวงข้ามแหลมมลายู แต่เมืองนครศรีธรรมราชข้ามเทือกเขาบันทัดไปต่อแดนจังหวัดตรัง สาย ๑ ทำถนนเช่นเดียวกันแต่เมืองพัทลุงไปต่อแดนจังหวัดตรัง สาย ๑ ขุดคลองก็หลายสาย คือขุดคลองจากเมืองนครศรีธรรมราชชักสายน้ำจืดลงไปให้ราษฎรชาวปากพนังบริโภค ข้าพเจ้าขนานนามว่า "คลองสุขุม" สาย ๑ ขุดคลองเรือแต่ลำน้ำปากพญาไปถึงลำน้ำปากนครในจังหวัดนครศรีธรรมราชขนานนามว่า "คลองนครพญา" สาย ๑ ขุดชำระคลองท่าแพทางเรือสินค้าเข้าเมืองนครศรีธรรมราช สาย ๑ ขุดชำระคลองรโนดทางเรือในระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลา สาย ๑ ขุดคลองชลประทานแต่ทะเลสาบขึ้นไป ถึงตำบลคอกช้างในจังหวัดพัทลุงเรียกว่า "คลองคอกช้าง" สาย ๑ ขุดคลองลัดแหลมเกาะใหญ่ในจังหวัดสงขลา เรียกว่า "คลองเกาะใหญ่" สาย ๑ ยังสถานที่สำหรับราชการต่างๆ และที่พักข้าราชการก็สร้างในสมัยเจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลโดยมาก


ข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้นเรื่องประวัติตอนนี้ ว่าเมื่อจะจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล กระทรวงพระคลังขอให้กระทรวงมหาดไทยประหยัดเงินรายจ่ายด้วยเงินแผ่นดินรายได้ยังมีน้อยนัก และขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยพิจารณาทางที่จะบำรุงผลประโยชน์ให้ได้เงินแผ่นดินมากขึ้น ถ้าทำได้เช่นนั้นก็จะยอมจ่ายเงินเพิ่มจำนวนให้กระทรวงมหาดไทยจัดการหัวเมืองสดวกขึ้น เรื่องนี้ข้าพเจ้าขอย้อนความขึ้นไปกล่าวเพื่อให้เป็นยุติธรรมและเป็นอนุสรณ์แก่เกียรติคุณของพระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) ซึ่งถึงอนิจกรรมไปช้านานแล้วให้ปรากฏ พระยาฤทธิรงค์ฯ ได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจิณแต่แรกตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ไปสังเกตเห็นขึ้นก่อน ว่าวิธีเก็บภาษีอากรที่รัฐบาลให้มีผู้ประมูลกันเป็นเจ้าภาษีนายอากรไปเก็บเป็นปีๆ นั้น ไม่ดีทั้งได้เงินหลวงน้อยกว่าที่ควรจะได้และไม่เป็นยุติธรรมแก่ราษฎร เพราะเจ้าภาษีนายอากร (อันเป็นจีนแทบทั้งนั้น) รับประมูลไปเพื่อแสวงหากำไรอย่างเดียวใครได้อำนาจออกไปก็รีบบังคับเก็บภาษีอากร สุดแต่ให้ได้กำไรแต่ก่อนสิ้นปี มักใช้อุบายบีบคั้นและเก็บเกินพิกัดอัตรา ราษฎรจะฟ้องร้องก็เห็นว่าป่วยการทำมาหากินมักยอมให้ตามใจเจ้าภาษีเหมือนซื้อรำคาญ แต่ที่จริงภาษีเก็บได้แต่เพียงราษฎรที่อยู่ใกล้ๆ พอจะเก็บถึง ราษฎรที่อยู่ห่างไกลเจ้าภาษีออกไปเก็บไม่ถึงไม่ต้องเสียภาษีอากรตามพระราชบัญญัติมีอยู่มาก พระยาฤทธิ์รงค์เห็นว่าเทศาภิบาลมีกรมการอำเภอกับทั้งกำนัลผู้ใหญ่บ้านปกครองราษฎรอยู่ทั่วทุกแห่ง ถ้าเลิกวิธีที่ให้เจ้าภาษีผูกขาดโอนการเก็บภาษีอากรมาให้เทศาภิบาลเก็บ จะได้เงินแผ่นดินเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมากโดยมิต้องเพิ่มพิกัดอัตราอย่างไร และราษฎรก็จะไม่เดือดร้อนเหมือนเช่นเจ้าภาษีอากรเก็บด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นความคิดดีจึงไปพูดกับกระทรวงพระคลัง (แต่เวลานั้นกรมพระนราธิปเสด็จออกจากตำแหน่งเสียแล้ว) กระทรวงพระคลังยังไม่เห็นชอบด้วยอ้างว่าถ้าเทศาภิบาลเก็บเงินไม่ได้จริงอย่างว่า จะเร่งเรียกอย่างเจ้าภาษีนายอากรไม่ได้ ข้าพเจ้าก็จนใจ แต่เผอิญพอสิ้นปีนั้นนายอากรค่าน้ำเมืองปราจิณร้องขาด (ทุน) ขอลดเงินหลวงในปีหน้า กระทรวงพระคลังหาใครรับทำเท่าจำนวนเงินปีก่อนไม่ได้ กลัวเงินแผ่นดินจะตกจึงหันมายอมให้พระยาฤทธิรงค์เก็บอากรค่าน้ำมณฑลปราจิณทดลองดูสักปี ๑ และยอมตกลงว่าถ้าเทศาภิบาลเก็บอากรค่าน้ำได้เงินมากกว่าปีที่ล่วงมามากน้อยเท่าใดจะให้ใช้ในการเทศาภิบาล พระยาฤทธิรงค์ไปจัดการเก็บอากรค่าน้ำได้เงินมากขึ้นสักสองสามเท่าเกินคาดหมายโดยมิต้องเพิ่มพิกัดอัตรา พอประจวบเวลากรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยได้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ก็ทรงเห็นทันทีว่าควรเลิกการผูกขาดเก็บภาษีอากรจากราษฎรเปลี่ยนมาให้เทศาภิบาลเก็บเหมือนกันทุกมณฑล จึงทรงพระดำริให้ตั้งกรมสรรพากรนอกขึ้นในกระทรวงมหาดไทย และตั้งกรมสรรพากรในขึ้นในกระทรวงนครบาล เป็นพนักงานจัดการเก็บภาษาอากรแต่นั้นมา จำนวนเงินผลประโยชน์แผ่นดินก็ได้มากขึ้นนับปีละหลายล้านติดต่อกันมาหลายปี กระทรวงพระคลังก็ยอมจ่ายเงินในการปกครองมากขึ้นเป็นลำดับมา ตามที่กรมพระนราธิปฯ ได้ตรัสรับไว้แต่แรกเมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นพระยาสุขุมนัยวินิตข้าหลวงเทศาภิบาลก็สามารถจัดการเก็บภาษีอากรถ้วนถี่ ได้เงินหลวงในมณฑลนครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่ต้องจ่ายใช้ในการตั้งมณฑลมาก กระทรวงพระคลังจึงเพิ่มเงินรายจ่ายให้ท่านทำการโยธาต่างๆ ที่พรรณนามาแล้ว แล้วยอมให้สร้างเรือกำปั่นไฟชื่อ "นครศรีธรรมราช" ขึ้นลำ ๑ สำหรับตัวท่านไปเที่ยวตรวจการในมณฑล เพราะสมัยเมื่อยังไม่ได้สร้างทางรถไฟไปมายาก ต้องใช้เรือแจวพายเป็นพาหนะไปทางทะเลลำบาก เรือศรีธรรมราชนั้นได้ใช้สำหรับขนเงินแผ่นดินเข้ามาสู่กรุงเทพฯ และมารับเสนาบดีไปตรวจราชการตามมณฑลชายทะเลด้วย


เมื่อเจ้าพระยายมราชจัดการปกครองจังหวัดสงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราชเป็นระเบียบ และมีเรือศรีธรรมราชเป็นพาหนะ อาจจะไปมาตามหัวเมืองในมณฑลได้สดวกแล้ว ข้าพเจ้าจึงให้ท่านคิดจัดการปกครองมณฑลปัตตานี ในสมัยนั้นยังเรียกว่า "เมืองแขกทั้งเจ็ด" ซึ่งขึ้นต่อเมืองสงขลา ต่อลงไป เรื่องเจ้าพระยายมราชจัดเมืองแขกทั้งเจ็ดควรนับเป็นข้อสำคัญในเรื่องประวัติของท่านอย่าง ๑ ด้วยเป็นเหตุให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าท่านมีสติปัญญาสามารถชั้นสูง และเป็นปัจจัยอันหนึ่งซึ่งท่านได้เป็นเสนาบดีในสมัยต่อมา แต่จะต้องเล่าเรื่องพงศาวดารเมืองแขกทั้ง ๗ ให้ผู้อ่านทราบเสียก่อน


เมืองแขกทั้งเจ็ดนั้นเดิมรวมกันเป็นเมืองเดียว เรียกว่าเมือง "ปัตตานี" เจ้าเมืองเป็นมลายูถือสาสนาอิสลาม มียศเป็นสุลต่านบางสมัยก็เป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา บางสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสื่อมอำนาจก็ตั้งตัวเป็นอิสระ เมื่อเสียกรุงศรียอุธยาแก่พะม่า สุลต่านเมืองปัตตานีตั้งตัวเป็นอิสระมาจนถึงรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ไม่ยอมกลับมาเป็นประเทศราชอย่างเดิม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอมฟ้าจุฬาโลกจึงดำรัสสั่งให้ พระมหาอุปราชยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานี เมื่อได้เมืองแล้วทรงตั้งเจ้าชาวเมืองนั้นคนหนึ่งซึ่งมาอ่อนน้อมต่อไทยให้เป็นพระยาปัตตานีครองเมืองเป็นประเทศราชต่อมาอย่างเดิม แต่เมื่อในรัชชกาลที่ ๑ นั้นเองมีแขกอรับคนหนึ่งซึ่งอ้างตัวว่าเป็นซาหยัด (คือสืบสายโลหิตลงมาจากนาบีมหมัดผู้ตั้งสาสนาอิสลาม) มาสอนสาสนาอิสลามที่เมืองปัตตามีพวกมลายูเลื่อมใสมาก เลยชวนพระยาปัตตานีให้เป็นขบถ รวบรวมชาวเมืองปัตตานีสมทบกับพวกแขกสลัดยกเป็นกองทัพมาตีเมืองสงขลา แต่กองทัพไทยที่เมืองสงขลากับเมืองนครศรีธรรมราชช่วยกันตีพวกขบถแตกพ่ายไป แล้วเลยลงไปตีเมืองปัตตานีได้อีกครั้ง ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริเห็นว่าจะให้เมืองปัตตานีเป็นเมืองใหญ่อย่างแต่ก่อนต่อไปไว้ใจไม่ได้ จึงดำรัสสั่งให้แยกอาณาเขตต์เมืองปัตตานีเดิมออกเป็น ๗ เมือง คือ เมืองตานี ๑ เมืองยิหริ่ง ๑ เมืองสายบุรี ๑ เมืองระแงะ ๑ เมืองราห์มัน ๑ เมืองยะลา ๑ และเมืองหนองจิก ๑ ให้ขึ้นต่อเมืองสงขลาทั้ง ๗ เมือง ส่วนผู้ปกครองเมืองเหล่านั้นทรงตั้งผู้ที่มีความชอบช่วยปราบขบถครั้งนั้นเป็นไทยบ้าง เป็นมลายูชาวเมืองบ้าง ให้เป็นเจ้าเมืองมียศเป็นพระยาใช้วิธีปกครองอย่างเคยเป็นมาแต่ก่อน คือ (อย่างเมืองประเทศราช) เก็บภาษีอากรและใช้กฎหมายเดิมได้โดยลำพัง เป็นแต่ต้องถวายต้นไม้ทองเงินและเครื่องบรรณาการ ๓ ปี ครั้ง ๑ เหมือนกันทั้ง ๗ เมือง นอกจากนั้นก็แล้วแต่เจ้าเมืองสงขลาจะบังคับบัญชาหรือถ้าว่าอีกอย่าง ๑ ก็เหมือนเป็นกำลังของเจ้าเมืองสงขลาอย่าง "กินเมือง" ทั้ง ๗ นั้น เป็นเช่นนั้นมากว่า ๑๐๐ ปี


เมื่อก่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าได้เคยลงไปถึงเมืองเหล่านั้นบางเมือง สังเกตเห็นราษฎรเป็นไทยกับเป็นมลายูมากไล่เลี่ยกัน และตั้งบ้านเมืองอยู่ด้วยกันโดยปรองดองเป็นแต่ถือสาสนาผิดกันและใช้ภาษาต่างกัน เพราะเหตุนั้นจึงคิดว่าจัดการปกครองเมืองแขกทั้งเจ็ดจะต้องใช้นโยบายให้เหมาะกับท้องที่ คือรวมหัวเมืองแขกทั้งเจ็ดเข้าด้วยกันคล้ายกับมณฑลแต่ให้เรียกว่า "บริเวณ" เพราะยังขึ้นอยู่ในจังหวัดสงขลา และจะต้องแก้ไขระเบียบการปกครองให้ผิดกับเมืองอื่นบ้าง จึงให้เจ้าพระยายมราชลงไปตรวจตามเมืองทั้งเจ็ดให้รู้ลักษณการที่เป็นอยู่อย่างไร และทำรายงานมาเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเสียก่อน แล้วปรึกษาหานโยบายที่จะจัดต่อไป เจ้าพระยายมราชตรวจแล้วเสนอรายงานมีเนื้อความ ว่า


๑) วิธีปกครองเมืองทั้งเจ็ดยังเป็นอย่างที่เรียกกันว่า "กินเมือง" เจ้าเมืองจะทำอย่างไรก็ได้สุดแต่อย่าขัดขืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเท่านั้น
๒) ภาษีอากรยังเก็บอย่างโบราณก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทรยกตัวอย่างเช่น เก็บค่านาด้วยเอาจำนวนโคสำหรับใช้ไถนาเป็นเกณฑ์เก็บภาษีโคคู่ละเท่านั้นๆ ไม่ต้องรางวัดเนื้อนา (วิธีอย่างนี้เป็นมูลที่เรียกว่า "นาคู่โค" ภาษีอากรอย่างอื่นก็ให้จีนรับผูกขาดไปเก็บ ใช้ทั้งวิธีชักส่วนสินค้า และวิธีให้ซื้อขายได้แต่เจ้าภาษี
๓) การปกครองราษฎรในท้องที่ก็แล้วแต่เจ้าเมืองจะตั้งใครเป็นนายตำบล และจะต้องการใช้แรงงานเมื่อใด หรือให้ราษฎรหาสิ่งของอย่างไรให้เมื่อใดก็เกณฑ์ตามใจเจ้าเมือง
๔) การชำระตัดสินความอยู่ในอำนาจ "โต๊ะกาลี" คืออาจารย์ทางฝ่ายสาสนาเป็นผู้ชำระตัดสินตามกฎหมายอิสลาม มีเมืองหนองจิกเมืองเดียวที่ใช้กฎหมายไทยเพราะเจ้าเมืองเป็นไทยมาหลายชั่วคนแล้ว

เมื่อเสนอรายงานแล้วเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าปรึกษากันเห็นว่าการปกครองท้องที่ตามแบบมณฑลเทศาภิบาลชั้นในจะจัดในเมืองทั้งเจ็ดได้สดวก แต่จะต้องใช้นโยบายผ่อนผันในอย่างอื่นบ้างบางอย่าง อย่าให้พวกมลายูชาวเมืองรู้สึกว่าไทยลงไปจัดการให้เดือดร้อนกว่าแต่ก่อน ในเรื่องนี้เห็นเป็นข้อสำคัญมีอยู่ ๓ ข้อ คือ


๑) การเก็บภาษีอากรยังไม่ควรแก้ไขให้เหมือนกับเมืองอื่นในมณฑล ให้ราษฎรเสียภาษีอากรแต่ตามที่เคยเสียอยู่อย่างเดิมเป็นแต่เลิกผูกขาด แม้จะลดพิกัดลงบ้างก็เชื่อว่าคงจะได้จำนวนเงินมากขึ้นเหมือนเคยปรากฎในมณฑลอื่น
๒) ยังไม่ควรเลิกศาลโต๊ะกาลี เพราะราษฎรนับถือสาสนาอิสลามมีอยู่มาก เป็นแต่จะแก้ไขด้วยเลือกตั้งพวกอาจารย์สาสนาอิสลามที่คนนับถือมาก เป็น "ดาโต๊ะยุติธรรม" ขึ้นไว้คณะ ๑ ราว ๒๐ คน ถ้าคนถือสาสนาอิสลามเป็นความกัน หรือเป็นจำเลยในคดีที่ต้องตัดสินด้วยกฎหมายทางสาสนา คือความผัวเมียอย่าง ๑ ความมรดกอย่าง ๑ ให้คู่ความเลือกดาโต๊ะยุติธรรมที่ได้ตั้งไว้เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนหนึ่งหรือหลายคนตามตกลงกันมานั่งชำระตัดสินในศาลไทย ถ้าคู่ความเป็นไทยหรือเป็นความประเภทอื่นศาลไทยชำระและตัดสินตามกฎหมายไทยทั้งสิ้น
๓) ไม่ควรให้ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองอยู่ในเวลานั้น (อันเป็นมลายู ๖ คน เป็นไทย คน ๑) ได้ความเดือดร้อนเพราะที่ไปจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครอง ข้อนี้ปรึกษากันเห็นว่ามีทางที่จะแก้ไขอย่างเดียวแต่ให้เงินบำนาญทดแทนให้พอเพียงผลประโยชน์ที่ต้องขาดไป


ปรึกษากันแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตามความคิดที่ปรึกษาตกลงกันนั้น ก็ให้เจ้าพระยายมราชไปแก้ไขวิธีปกครองบริเวณเจ็ดเมือง ตามหลักดังกล่าวมา


เจ้าพระยายมราชลงไปจัดการตั้งบริเวณเจ็ดเมืองครั้งนั้นท่านใช้อุบายอย่าง "สุขุมคัมภีรภาพ" สมกับนามที่ท่านได้พระราชทานจะกล่าวแต่รายการที่เป็นข้อสำคัญ เมื่อประกาศพระบรมราชโองการให้รวมเมืองทั้ง ๗ ตั้งเป็นบริเวณแล้วท่านแสดงความให้ปรากฏแพร่หลายต่อไป ว่าระเบียบการที่จะจัดนั้นจะถือว่าชาวเมืองที่เป็นไทยกับมลายูเสมอกันหมด ผู้ที่เป็นเจ้าพนักงานปกครองตามระเบียบใหม่ก็จะเลือกแต่ผู้มีความสามารถ จะเป็นไทยหรือมลายูก็เป็นได้เหมือนกัน ท่านพยายามระวังป้องกันมิให้เกิดรังเกียจกันว่าต่างชาติต่างสาสนาหรือว่าจะให้ไทยไปเป็นมลายู เป็นข้อสำคัญอย่าง ๑ ส่วนการที่เกี่ยวกับเจ้าเมืองในเวลานั้น ท่านก็ชี้แจงให้ทราบรายตัวทั่วทุกคนว่าระเบียบการปกครองที่จัดใหม่ดังเช่นได้จัดในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลานั้น ต้องแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรและผ่อนการใช้แรงราษฎรผิดกับอย่างเดิมท่านเกรงว่าผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองเคยได้มาแต่ก่อนจะขาดไปมิมากก็น้อย เพื่อจะมิให้เดือดร้อนจะให้เป็นตัวเงินประจำปีทดแทนเท่าผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองเคยได้จากภาษีอากร และค่าธรรมเนียมอย่างแต่ก่อน ขอให้เจ้าเมืองจดบัญชีมาให้ท่านทราบเป็นรายการว่าเคยได้ผลประโยชน์จากการอย่างใดเป็นเงินเท่าใด จะได้ตั้งเป็นจำนวนเงินบำนาญ ว่าเจ้าเมืองคนไหนจะได้ปีละเท่าใด พวกเจ้าเมืองก็พากันยินดีที่จะได้เงินโดยมิต้องขวนขวาย หรือต้องถูกคนเก็บภาษีอากรยักยอกเหมือนแต่ก่อน ต่างก็ยอมรับด้วยความยินดีและพากันไปทำบัญชีผลประโยชน์ที่ตนได้เคยรับมายื่น เจ้าพระยายมราชเห็นบัญชีก็รู้เท่าว่าจำนวนเงินที่ตั้งมาสูงกว่าที่เคยได้รับจริงโดยมาก แต่ท่านก็ยอมรับเพราะประสงค์จะให้ตกลงโดยพอใจด้วยกันทุกฝ่าย และเห็นว่าให้ฉะเพาะชั่วอายุเดียว ทั้งเชื้อว่าคงเก็บผลประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นคุ้มหรือเกินจำนวนเงินที่ยอมให้ แต่ก็มีขบขันอยู่บ้าง เช่นพระยาเพชราภิบาล (พ่วง ณ สงขลา) เป็นเจ้าเมืองหนองจิกได้เงินบำนาญมากกว่าเงินเดือนของเจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลได้รับเกือบเท่าหนึ่ง แต่พระยาหนองจิกก็ช่วยเจ้าพระยายมราชมาก เพราะเป็นเจ้าเมืองหนึ่งใน ๗ เมืองนั้นพระยาหนองจิกทำอย่างไร เจ้าเมืองอีก ๖ เมืองก็ต้องทำด้วย ช่วยให้การที่จัดสดวกขึ้นอย่าง ๑ ข้อสำคัญที่เจ้าพระยายมราชจัด "บริเวณ" ครั้งนั้น อีกอย่าง ๑ คือ เอาข้าราชการไทยจากจังหวัดอื่นไปเป็นตำแหน่งในบริเวณน้อยที่สุด เลือกหาแต่ผู้ชำนาญการอันหาตัวไม่ได้ในท้องถิ่น ถ้าคนในท้องถิ่น ไทยก็ตามมลายูก็ตามสามารถจะทำได้ แม้จะทำไม่ได้ดีทีเดียวก็ใช้คนในท้องถิ่น ท่านได้คนสำคัญไปจากต่างถิ่นอันควรจะกล่าวถึง คน ๑ คือ พระยาเดชานุชิต (หนา บุนนาค) เมื่อยังเป็นที่พระศักดิ์เสนี ลงไปเป็นข้าหลวงประจำบริเวณ (และภายหลังได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลเมื่อตั้งบริเวณเป็นมณฑลปัตตานี) อยู่ประจำทำการต่างหูต่างตาเจ้าพระยาราช ข้าราชการไทยเอาไปจากที่อื่นเวลานั้นเป็นชั้นกรมการอำเภอแลเจ้าหน้าที่สรรพากรเป็นพื้น มีปลาดอยู่ที่การเลือกตั้งกำนัลผู้ใหญ่บ้านพวกมลายูพากันชอบมาก ได้คนดีดีที่เป็นชนิด "คุณพ่อ" ดังกล่าวมาแล้วแทบทั้งนั้น เรียกตามเสียงมลายูว่า "กำแนร์" "พูเยแบร์" ทำการตามหน้าที่ด้วยใจสมัคร์อย่างแข็งแรง ถ้ารวมความว่าโดยย่อ เจ้าพระยายมราชจัดหัวเมืองทั้งเจ็ดครั้งนั้น สามารถทำการยากให้เป็นง่ายได้ด้วยสติปัญญาและความเพียรของท่านสมควรจะยกเป็นเอกเทศในเกียรติคุณของท่านได้อย่าง ๑


เมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้รับราชการพิเศษนอกหน้าที่ในตำแหน่งหลายครั้ง จะกล่าวแต่โดยย่อ


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ โปรดให้เป็นข้าหลวงไปรับพระบรมสาริกธาตุส่วนที่สักยราชบรรจุพระสถูปไว้ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งอังกฤษขุดพบและลอร์ดเคอสันอุปราชอินเดียทูลถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงเป็นประมุขของพุทธสาสนิกชนทั้งหลาย


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เป็นข้าหลวงพิเศษลงไปเมืองกลันตันเมื่อเจ้าเมืองคนก่อนถึงอนิจกรรม


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ โปรดให้ล่วงหน้าไปจัดการรับเสด็จเมืองชวาด้วยกันกับพระยาปฏิพัทภูบาล (คอยุเหล ณ ระนอง) ครั้งนั้นเมื่อเสด็จไปถึงเมืองบันดุงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (กรมหลวงนครราชสีมา) ไปประชวรหนัก ต้องเสด็จพักอยู่ที่เมืองบันดุงเกือบเดือน ในระหว่างนั้นเผอิญกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธ์ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) ก็ประชวร เจ้าพระยายมราชก็ป่วยลงด้วย ก็ยิ่งเกิดลำบากขึ้นในกระบวรเสด็จพอเจ้าพระยายมราชหายป่วยแต่ยังอ่อนกำลัง พระอาการกรมหลวงราชบุรีค่อยคลายขึ้น หมอเห็นว่าพอจะกลับได้ จึงโปรดให้กรมหลวงราชบุรีกับเจ้าพระยายมราชกลับมาก่อน มิได้ตามเสด็จตลอดทาง


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ โปรดฯ ให้เป็นข้าหลวงไปทำหนังสือสัญญาที่เมืองกลันตัน


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ โปรดให้พระยามหาอำมาตย์ (เส็ง วิริยสิริ) เมื่อยังเป็นพระยาศรีสหเทพปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ตามเสด็จกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) ไปราชการถึงยุโรป พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าพเจ้าเรียกพระยาสุขุมนัยวินิตเข้าไปรับราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยชั่วคราวแล้วกลับออกไปรับราชการตามเดิม และในปีนั้นโปรดให้เป็นข้าหลวงไปรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ที่เมืองปินังเมื่อเสร็จการทรงศึกษาในยุโรปเสด็จกลับคืนมายังพระนคร นอกจากนั้นในเวลาเมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลได้สนองพระเดชพระคุณรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาศมณฑลนครศรีธรรมราชถึง ๔ ครั้ง เป็นเหตุให้ทรงพระเมตตาปราณีทั้งเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา


ถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ ข้าพเจ้ากำหนดว่าจะออกไปตรวจราชการมณฑลนครศรีธรรมราช สั่งให้เจ้าพระยายมราชส่งเรือศรีธรรมราชเข้ามารับ และให้เตรียมพาหนะสำหรับเดินบกไว้ ณ เมืองนครศรีธรรมราช จะไปตรวจถนนสายที่จะไปจังหวัดตรังด้วยกันกับตัวท่านเมื่อก่อนข้าพเจ้าจะออกจากกรุงเทพฯ กรมหมื่นมหิสรราชหฤทัยเสนาบดีกระทรวงพระคลังทรงเวรคืนตำแหน่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง แต่ยังหาได้ทรงตั้งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการไม่ ข้าพเจ้าไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชเจ้าพระยายมราชก็มาคอยอยู่ที่นั่น และจัดพาหนะเตรียมไว้พร้อมแล้ว ข้าพเจ้ากำหนดว่าจะพักอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ วันแล้วจึงเดินทางไป แต่พอไปถึงได้วัน ๑ ก็ได้รับพระราชโทรเลขว่า "ฉันเห็นว่าพระยาสุขุมจะว่าการกระทรวงโยธาธิการได้ เธอจะให้ได้หรือไม่ถ้าให้ได้ก็สั่งให้เข้ามาโดยเร็ว" ดังนี้ ข้าพเจ้าอ่านพระราชโทรเลขก็เข้าใจเหตุที่ดำรัสถามข้าพเจ้าว่าถวายพระยาสุขุมได้หรือไม่ คงเป็นเพราะทรงพระราชดำริห์เกรงว่าข้าพเจ้าจะหาตัวแทนถวายไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้คิดเห็นว่าจะได้ผู้ใดแทน แต่เห็นว่าตำแหน่งเสนาบดีสำคัญกว่าเทศา และบุญมาถึงพระยาสุขุมจะได้มีเกียรติยศยิ่งขึ้นไป ไม่ควรข้าพเจ้าจะขัดขวาง ถึงจะลำบากในการหาตัวแทนก็ต้องทนเอา จึงให้เชิญพระยาสุขุมฯ มาหาแล้วส่งพระราชโทรเลขให้ดู ท่านอ่านแล้วก็นิ่งอยู่มิได้ว่าประการใด คงเป็นเพราะเห็นว่าเป็นพระราชโทรเลขถามความเห็นข้าพเจ้าโดยฉะเพาะตัวข้าพเจ้าเป็นผู้พูดก่อนก็แสดงความยินดีต่อท่าน และสั่งให้ท่านรีบกลับเข้าไปกรุงเทพฯ ตามพระราชประสงค์ แล้วจึงมีโทรเลขกราบทูลสนองว่า "ข้าพระพุทธเจ้าเห็นตามพระราชดำริห์ ได้สั่งให้พระยาสุขุมรีบเข้าไปกรุงเทพฯ แล้ว" วันรุ่งขึ้นเมื่อข้าพเจ้าจะออกเดินทางเจ้าพระยายมราชมาส่ง เมื่อจับมือลากันน้ำตาหลั่งตาด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะในใจมีทั้งความยินดีและความอาลัยระคนปนกัน พอข้าพเจ้าออกเดินทางไปแล้วท่านก็ลงเรือไปรับครอบครัวที่เมืองสงขลาพากันเข้าไปกรุงเทพฯ ไปอยู่บ้านเดิมซึ่งได้รับมรดกพระยาชัยวิชิต ณ ตำบลบางขุนพรหม


Create Date : 25 มิถุนายน 2550
Last Update : 25 มิถุนายน 2550 3:14:08 น. 5 comments
Counter : 955 Pageviews.

 
ขอบคุณครับที่ให้ความรู้

ผมเป็นลูกหลานของ พระยาฤทธิรอนรณเฉท คุณแม่ เป็นชูโต หลนแท้ๆ สายตรงจาก เจ้าคุณทวดครับ

ขอบคุณครับ

อนันต์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา

anant_thep@yahoo.co.th


โดย: อนันต์ IP: 125.24.218.240 วันที่: 4 ธันวาคม 2550 เวลา:0:51:08 น.  

 
สวัสดีครับคุณอนันต์ ผมตอบไว้ในบล็อก miscellaneous ครับ ยินดีที่ได้รู้จักครับ


โดย: twojay วันที่: 16 ธันวาคม 2550 เวลา:7:05:24 น.  

 
หม่อมชั้นเป็นลูกชาววังอย่างแท้เพคะ*~
หม่อมชั้นอายุราวๆ23พรรษาเพคะ
อยากติดต่อหม่อมชั้นโทรมาที่
087-954xxxx


โดย: ศรีฤทัย IP: 125.24.41.108 วันที่: 21 เมษายน 2551 เวลา:22:18:02 น.  

 
ขอถามอะไรหน่อยได้มั้ยคะ (ได้ไม่ได้ไม่รู้แต่ก็จะถามนะคะ
ถ้าต้องการจะหาข้อมูลของขุนธนะผลบริหาร จะหาได้จากที่ไหนคะ ถ้าข้อมูลไม่ผิดน่าจะเคยเป็นนายอำเภอที่อุตรดิตถ์มั้งคะ รบกวนช่วยให้ข้อมูลหน่อยได้มั้ยคะ
ขอถามอีกคนนะคะ จะหาประวัติของพลตรีสุภชัย สุรวรรธนะ เคยเป็นเจ้ากรมการสื่อสารค่ะ คนนี้เป็นคุณตาเบียร์เองค่ะ แล้วจู่ๆก็มีแม่ชีคนหนึ่ง บอกว่าเค้าเป็นลูกบุญธรรมของตา แต่ถามแม่แล้วแม่บอกว่าไม่มีค่ะ เลยต้องการทราบประวัติค่ะ (ตอนนี้ไม่ได้อยู่กับแม่ค่ะ ถ้ามีเวลาจะไปเอารูปถ่ายของตากะแม่มาให้ดูนะคะ) แม่ชื่อพันตรีหญิงสุมาลี สุรวรรธนะ เสนารักษ์มทบ.14ค่ะ ขุนธนะผลบริหาร(ทิม) เป็นทวดค่ะ มีภรรยาชื่อช้อย ลองหาดูแล้วก็ยังหาไม่เจอสักที รบกวนหน่อยนะคะ ขอบคุณมากๆๆเลยค่ะ
เมลมาก็ได้นะคะbabybeer64@hotmail.com ค่ะ เบอร์โทร.089-2522251,081-5750500 เบียร์ค่ะ


โดย: babybeer64 IP: 125.27.114.230 วันที่: 25 เมษายน 2551 เวลา:22:55:34 น.  

 
Thanks for all good history information.I can find out more about my great grand father(เส็ง วิริยสิริ)


โดย: Opaniti Onyx Viryasiri IP: 124.120.37.240 วันที่: 14 สิงหาคม 2553 เวลา:20:30:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

twojay
Location :
Clermont, FL United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




***Enjoy your visit!!***

New Comments
Friends' blogs
[Add twojay's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.