Group Blog
 
All Blogs
 

ตอนที่ 4 – งานแปลชิ้นแรก

ไม่มีก้าวแรกก็ไม่มีก้าวต่อไปใช่ไหมครับ นักแปลก็เหมือนกัน การรับงานแปลชิ้นแรกเนี่ยถือเป็นงานที่ตื่นเต้นครับ ผมได้รับงานครั้งแรกจากสำนักงานแปลที่ผมไปสมัครเป็นนักแปลอิสระครับ งานแรกเนี่ยทางผู้จัดการโทรมาบอกว่าต้องเข้าสำนักงานนะครับ เพราะต้องมีการแนะนำการแปลกันก่อน พูดให้เข้าใจงานก่อน แล้วก็จัดการเรื่องค่าจ้างไปด้วย ผมเข้าไปวันเสาร์ครับ ก็ไม่ต้องลางานประจำ สำนักงานแปลเขาเป็นโรงเรียนสอนภาษาด้วย ก็เลยเปิดเสาร์อาทิตย์เหมือนกัน แต่คุณผู้จัดการไม่ได้มาทุกเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องนัดเป็นครั้งๆ ไป

พอเข้าไปที่สำนักงาน เขาก็บอกว่ามีงานเข้ามา และคิดว่าเราน่าจะทำได้ เป็นเอกสารสิทธิบัตรยาครับ เป็นยารักษาโรคหัวใจของบริษัทยาสัญชาติยุโรป เอกสารก็ไม่ค่อยเยอะเท่าไร ประมาณ 20-30 หน้านะครับ ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิบัตรขนาดจิ๋วนะครับ งานสิทธิบัตรยาที่ผมทำในช่วงหลักๆ ถ้าเป็นยาตัวใหม่ๆ เนี่ยอย่างน้อยก็ต้อง 100 หน้าขึ้นไปนะครับ ในกรณีสิทธิบัตรยา ผมก็พลิกเอกสารอ่านคร่าวๆ ดู ก็ตอบตกลงว่า ไม่มีปัญหาครับ คิดว่าทำได้ คุณผู้จัดการก็มาเอาตัวอย่างสิทธิบัตรที่นักแปลคนอื่นๆ เคยแปลมาให้ผมดู แล้วก็ให้เอกสารมาสองหน้าครับ เป็นเอกสารเกี่ยวกับคำศัพท์แปลภาษาไทยที่ใช้กันในวงการสิทธิบัตรยา ซึ่งผมต้องใช้คำตามนี้ เพราะเป็นคำที่่กำหนดโดยหน่วยงานราชการไทยเวลาจดสิทธิบัตร อย่าได้ใช้คำผิดเชียว ไม่งั้นยื่นจดทะเบียนไม่ผ่านหรือไม่งั้นก็ต้องเสียเวลามาแก้ทีหลังอีก แต่งานนี้เขาก็มีผู้ตรวจทานงานแปล หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า editor หรือ proofreader นะครับ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน ซึ่งเขาจะดูเรื่องฟอร์แมทเอกสาร การสะกดคำ ชื่อหัวข้อ แต่คงไม่ได้ลงไปถึงรายละเอียดเอกสาร เพราะมันเป็นเรื่องเภสัชวิทยา เภสัชเคมี เภสัชกรรมซะเยอะ ผมว่าเขาคงไม่สามารถมาตรวจเนื้อหาตรงนั้นได้ สรุปก็เป็นว่า ผมรับทำงานชิ้นแรกครับ คุยกันเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งเขาก็มีอัตราจ้างมาตรฐานอยู่แล้ว จะไปต่อรองก็ไม่ได้ แล้วก็ให้รายละเอียดบัญชีธนาคารต่างๆ ให้ เขาจะได้โอนเงินเข้าบัญชีให้เมื่อลูกค้าอนุมัติงานแล้ว เขาให้เวลาผมหนึ่งอาิทิตย์นะครับ งานชิ้นนี้

กลับมาบ้าน สิ่งแรกที่ทำก็คือ จะแปลยังไงดี เริ่มแรกผมก็ขีดเส้นใต้คำที่ไม่รู้จักความหมาย หรือไม่รู้ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไรดี แล้วก็เปิดพจนานุกรมแปลคำศัพท์ยากๆ ไปก่อน สองสามหน้าแรกผมเขียนเนื้อหาที่ผมจะแปลลงในกระดาษครับ ปรากฎว่าท่าจะไม่ดี ทั้งวันเสาร์นั้นทำได้ไปสองสามหน้าเอง อีกอย่างเนี่ยแค่เขียนร่างแปลเอง ไหนจะเอามาิพิมพ์อีก จะเสร็จทันไหมเนี่ย ความกลัวเริ่มมาเยือน ผมก็เลยเปลี่ยนวิธีใหม่ครับ คราวนี้แปลบนคอมพิวเตอร์ไปเลย คือมีกระดานตั้งเอกสารไว้ข้างๆ คอมพิวเตอร์ แล้วก็เปิด Word แล้วอ่านเอกสารภาษาอังกฤษ แล้วก็แปลเป็นภาษาไทยพิมพ์ไปเลย ปรากฎว่าดีขึ้น งานลื่นขึ้นเยอะ ผมก็กะว่าต้องทำให้ได้มากที่สุดเสาร์อาิทิตย์เนี่ยแหละ เพราะผมคงไม่มีเวลาเยอะตอนวันธรรมดา ไหนจะต้องทำโรงพยาบาล งานประจำ กลับมาก็สลบแล้วครับ ปรากฎทำไปได้เกือบสิบหน้าครับ เรียกว่า อยู่กับคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืนครับ วันธรรมดาผมก็ทำแค่วันหน้าสองหน้าครับ อาศัยว่าตอนว่างๆ ที่ไม่ได้อยู่หน้าคอมพ์ ก็เอาเอกสารมาอ่านครับ คือ ให้เข้าใจเรื่องหาคร่าวๆ ก่อน เวลาแปลจะได้เร็วครับ จริงๆ อ่านตรงหน้าสรุปหน้าสุดท้ายกับบทนำก็ช่วยนะครับ ทำให้เข้าใจว่าเอกสารพูดถึงอะไร

นอกเรื่องนิดหนึ่งครับ บริษัทแรกที่ผมทำงานอยู่นี้ส่วนใหญ่จะส่งงานให้ผมเป็นเอกสาร คือไม่ใช่ไฟล์อิเลคทรอนิคส์ที่เปิดได้ ก็เลยต้องเริ่มแปลจากเวิร์ดแบบขึ้นเอกสารใหม่ แต่ในช่วงสองสามปีหลัง งานที่ผมได้รับจากบริษัทอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเวิร์ดมาครับ ก็เปิดแล้วเซฟงานเป็นอีกชื่ีอหนึ่ง แล้วก็พิมพ์แทรกภาษาอังกฤษไปเลยในเอกสารไปทีละย่อหน้าครับ ก็จะง่ายขึ้น คือ ตามองแต่หน้าจอคอมพ์อย่างเดียว ยิ่งสมัยนี้มีซอฟท์แวร์ใหม่ๆ มาช่วยได้เยอะ มีแบบที่เวลาเราเอาไฮไลท์ไปที่คำภาษาอังกฤษไหน มันจะบอกคำแปลไทยมาให้เลยครับ แต่พวกศัพท์เทคนิคก็ไม่ค่อยมีหรอกครับ แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ผมว่าวิธีแปลแบบนี้เหมาะกับผมมากที่สุดครับ แต่ก็แล้วแต่นักแปลนะครับ คนเรามีเทคนิคไม่เหมือนกัน

มาเข้าเรื่องครับ พอแปลเสร็จคืนวันศุกร์ ผมก็ิพิมพ์งานออกมาอ่าน แก้อะไรนิดๆ หน่อยๆ ให้มันอ่านลื่นครับ แล้วก็ส่งอีเมล์งานไปให้ที่สำนักงานครับ โทรไปคุยอีกรอบเพื่อให้แน่ใจว่าเขาได้งานแล้วเปิดไฟล์ได้ไม่มีปัญหา ผู้ตรวจทานงานแปลก็ดูงานผมก็ไม่ได้ว่าอะไร (อันเนี่ยผมอาจจะทึกทักเอาเอง ก็คือว่าผมไม่ได้ฟีดแบคกลับมานะครับ ก็คงจะผ่าน หรือไม่งั้นเขาคงแก้ให้เสร็จไปเรียบร้อยแล้ว) สรุปว่างานแรกผ่านพ้นไปด้วยดี พอลูกค้าอนุมัติงาน ปกติแล้วผมจะไม่ได้ติดต่อกับลูกค้าที่เป็นบริษัทยาโดยตรง แต่จะผ่านสำนักงานแปล ก็ได้เงินเข้ามาครั้งแรกในชีวิตนักแปลครับ ก็ประมาณ 3000 บาทครับ ถือว่าไม่เลวครับสำหรับนักแปลหน้าใหม่

พอมีงานแรก งานที่สองสามสี่ ก็ตามมาครับ คราวนี้เริ่มผาดโผนมากขึ้น ทำงานทั้งนอกและในสายเภสัชศาสตร์ครับ แต่ก็ยังวนเวียนกับสายวิทยาศาสตร์อยู่ มีงานสิทธิบัตรงานหนึ่ีง ตอนแรกว่าจะไม่รับมาทำแล้ว เพราะว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์ปูนซิเมนต์ผสม แต่สุดท้ายก็ลองเอาทำดูครับ ไม่ยากอย่างที่คิดครับ จริงๆ แล้วทำไปทำมา มันเหมือนวิชา Pharmaceutics เรื่องยาผงมากๆ เลย มีเรื่องการวัดประสิทธิภาพการไหลโดยการทดลองตั้งเป็นกองดูว่ามันจะสูงได้เท่าไร (ยิ่งตั้งกองได้สูงมาก ก็แสดงว่าผงผสมนั้นไหลไม่ดี) ส่วนผสมก็คล้ายๆ กัน คือ ปูนซีเมนต์ ก็ต้องมี bulking agents, binding agents คล้ายๆ ตั้งตำรับยาเม็ดเลย สนุกดีครับ ขาดอย่างเดียวที่ไม่ต้องใส่ในปูนผสมก็คือ disintegrant นะครับ ถ้าใส่ในสูตรตำรับคราวนี้ก็บ้านใครบ้านมันครับ อย่ามาบ้านผมล่ะกัน เนี่ยแหละครับ งานแปลของผมมันก็เลยแตกแขนงไปเรื่อยๆ ตอนนี้ผมทำทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ วิศวกรรม ธุรกิจแล้วก็กฎหมายครับ ผมว่าการเรียนเภสัชศาสตร์ (อย่างน้อยในยุคผม) เนี่ยฝึกให้เราทำอะไรได้หลายอย่างดีครับ เภสัชในยุคเป็ดแบบผมคงจะคิดคล้ายๆ กัน ทำให้เราปรับตัวไปได้เรื่อยๆ




 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2548 7:40:22 น.
Counter : 1103 Pageviews.  

ตอนที่ 3 – คอมพิวเตอร์

ลองมองภาพย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ อะไรมันก็ไม่ทันสมัยทันใจไปเหมือนตอนนี้ เทคโนโลยีก็ไม่ได้เยอะแยะเหมือนตอนนี้ ใครที่เป็นรุ่นใกล้ๆ ผม คงจำได้เวลาเข้าเลคเชอร์ คงคุ้นกับคำที่ว่า “ปิ้งแผ่นใส” นะครับ สมัยนี้ไม่มีแล้วครับ ทุกอย่างเป็น powerpoint slides หมดแล้ว ยุคนั้นคอมพิวเตอร์เรียกกันว่าไม่ได้มีกันทุกคน นิสิตส่วนใหญ่จะพิมพ์รายงานอะไรก็ต้องมาทำที่คณะเท่านั้น แผ่นดิสก์ยังเป็นแผ่นใหญ่ ไม่มียูเอสบีอะไรทั้งสิ้น ตอนผมจบมาเนี่ย ผมก็ไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ไม่รู้จะมีไว้ทำไม ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่บูมด้วย มีแค่คอมพิวเตอร์ที่บริษัทก็โอเคแล้ว ขนาดห้องยาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ผมทำงานก็ยังมีแค่คอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์ฉลากเท่านั้น ผมคิดว่าตอนนี้คงไม่มีห้องยาในโรงพยาบาลไหนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต เรื่องจะอนุญาตให้ใช้ได้หรือเปล่า อันนั้นก็คนละเรื่องครับ

งานแปลที่ผมต้องทำให้กับบริษัทแรกที่ผมทำงานด้วย เขาบอกว่าคุณต้องหาคอมพิวเตอร์มาใช้งานนะ ตอนที่ผมไปรับงาน เพราะงานทุกอย่างต้องพิมพ์ด้วยเวิร์ดโปรเซสเซอร์ นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ผมต้องไปหาคอมพิวเตอร์มาใ้ช้ สมัยนั้นคอมพิวเตอร์ไม่ได้ถูกๆ นะครับ เครื่องหนึ่งก็สามหมื่นขึ้นไป แถมยังเป็นเพนเทียม 2 อีกต่างหาก ขนาดไม่ได้ใช้แบรนด์ดังๆ สักกะหน่อย สรุปว่า ผมลงทุนไปสามหมื่นบาทครับ (ราคาเมื่อสิบปีก่อนนะครับ หมื่นหนึ่งไม่ใช่น้อยๆ) ยิ่งโง่ๆ เรื่องคอมพิวเตอร์ด้วย เลือกอะไรก็ไม่ค่อยถูก ซื้อแบบเขาจัดมาเป็นระบบสำเร็จรูปครับ ซื้อมาก็พอดีให้ที่บ้านได้ใช้ด้วย เพราะพี่ผมตอนนั้นก็เรียนโทพอดี ส่วนน้องก็เรียนมัธยมก็มีรายงาน ส่วนผมก็ใช้ตอนเรียนโทเหมือนกันครับ ก็คุ้มดีครับ จะว่าไปงานทุกอย่างมันก็ต้องมีต้นทุน ผมทำงานแปลจนได้ทุนคืนครับ ก็ทำงานประมาณปีหนึ่งครับ รู้สึกจะประมาณสิบงานนะครับ เห็นไหมครับเป็นนักแปลไส้แห้งนะครับ เงินไม่ได้เยอะแยะทำปีหนึ่งได้ไม่กี่หมื่ีน เศร้าจัง แต่คนที่จะเป็นนักแปลไม่ต้องตกใจครับ เพราะงานไม่ได้ทำทุกวัน ทำอย่างมาก็ตอนเย็น เสาร์อาิทิตย์เท่านั้น แล้วอีกอย่างถือเป็นประสบการณ์ไปสู่งานอื่นๆ ที่ดีกว่า โดยรวมแล้วบริษัทแปลในเมืองไทยจะจ่ายเงินน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับบริษัทในอเมริกาหรือยุโรปที่ตอนนี้ผมทำงานส่วนใหญ่ให้อยู่นะครับ ตอนนี้ตัดขาดบริษัทในเมืองไทยครับ

กลับเข้าเรื่องครับ คอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เน็ตเนี่ยเป็นอะไรที่จำเป็นมากๆ ในวิชาชีพนักแปล โปรแกรมที่คุณต้องมีก็คือ Word สำหรับงานที่เป็นเอกสารปกติ หรือเป็นตารางต่างๆ ซึ่งก็ต้อง Excel หรืองานนำเสนอในรูปสไลด์ Powerpoint ระบบที่ใช้ก็ควรเป็น PC นะครับ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ Mac กันเท่าไรนัก ส่วนเรื่องการจัดรูปแบบพิมพ์งาน (ภาษานักแปลเขาเรียกว่างาน DTP – Desktop Publishing) อันเนี่ย จะทำได้ต้องมีโปรแกรมประเภท PDF converter ต่างๆ ถ้าเป็นการจัดงานแปลของเราให้เป็นรูปแบบหนังสือ ก็ต้องมีโปรแกรมเช่น Pagemaker หรืือ Quark express ครับ งาน DTP เนี่ยเป็นงานขั้นตอนที่สองหลังจากแปลเสร็จแล้ว นักแปลรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ทำครบวงจรกันครับ คือ ทั้งแปลและก็จัดรูปแบบเอกสาร ผมมาเริ่มทำงานพวกนี้เมื่อสามปีที่แล้วเอง หลังจากรักษาโรคกลัวคอมพิวเตอร์หาย คนที่รับทำแต่งาน DTP อย่างเดียวก็มีครับ รายได้พวกนี้ก็ดีเหมือนกัน แต่ผมไม่ค่อยชอบงานแบบนี้หรอกครับ ชอบอ่านแล้วแปลมากกว่านั่งจัดรูปเล่ม สนุกกว่ากันเยอะ

นอกจากโปรแกรมที่น่าจะต้องมีในคอมพิวเตอร์ ก็ต้องติดตั้งอินเตอร์เน็ตนะครับ ถ้าคุณไม่ได้มีพจนานุกรม สารานุกรมอะไรครบถ้วนไว้ที่บ้านคุณเอง อินเตอร์เน็ตเนี่ยแหละให้ข้อมูลทุกอย่าง อย่างเช่น เมื่อวานนี้ผมแปลงานเกี่ยวกับตำราการทำอาหารให้กับเครือโรงแรมแห่งหนึ่งจากอังกฤษมาเป็นไทย ไม่ได้อินเตอร์เน็ตเนี่ยโดยเฉพาะพี่กู้เกิ้ลต้องแย่แน่ๆ อย่างคำว่า Black and blue, ice cake, topside beef, high-ratio คำแบบนี้หาในพจนานุกรมยังไงก็ไม่เจอครับ หรือจะเปิดพจนานุกรมอาหารและเครื่องดื่มมันก็มีไม่ครบ ต้องค้นในเว็บแล้วอาศัยอ่านตีความว่ามันคืออะไรแล้วก็หาคำไทยเทียบเคียง คือ ทำตัวเป็นราชบัณฑิตยสถานไปเลยครับ เพราะคำแบบนี้ไม่มีโอกาสได้รับเชิญเข้าพจนานุกรมไทยแน่ๆ นอกจากนี้ อินเตอร์เน็ตยังช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาของงานแปลดีขึ้น เช่น ผมได้รับงานแปลเกี่ยวกับการประมูลงานสรรหาพนักงานชั่วคราวทั่วโลกแบบเรียลไทม์ งานนี้คืออะไรกันเนี่ย ทำไมรูปแบบธุรกิจมันซับซ้อนแบบนี้ แถมเป็นเอกสารพวกสัญญากฎหมายด้วย เพิ่มความงงไปอีกเท่าตัว พอได้ไปอ่านข้อมูลในเว็ํบบริษัทเขาก็เข้าใจมากขึ้น ทำให้แปลอะไรออกมาได้ตรงเนื้อหามากขึ้น นักแปลที่ดีควรเป็นนักท่องอินเตอร์เน็ตและอ่านอะไรเยอะๆ หลายๆ เรื่อง จะได้จับงานแปลแล้วเข้าใจครับ ผมยึดหลักประจำตัวเวลาทำงาน คือ ถ้าผมจะแปลอะไร ผมจะไม่แปลไปให้แค่เสร็จเท่านั้น แต่ผมจะเรียนรู้และเก็บสาระประโยชน์จากงานนั้นไปด้วยครับ ทำแบบนี้แล้วคุณจะเห็นว่า งานแปลเอกสารนี้จะเป็นงานลับสมองงานหนึ่งเหมือนกัน

ส่วนที่แน่นอนขาดไม่ได้จากการติดตั้งอินเตอร์เน็ต คือ อีเมล์ที่จะใช้สื่อสารกับลูกค้าของเราได้ โดยเฉพาะถ้าคุณเ็ป็นนักแปลอิสระแบบทำงานที่บ้านและรับงานจากที่ไหนในโลกใบนี้ก็ได้ คุณสามารถใช้อีเมล์เป็นสื่อโฆษณาบริการของคุณ รับงาน ส่งงาน ทวงหนี้ และงานลูกค้าสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดีครับ หรือจะเขียนเป็นเว็บของคุณขึ้นมาก็ได้ครับ ส่วนตัวผมเนี่ยก็มีเว็บแนะนำตัวผมและผลงานแปลที่ไปโยงกับเว็บนักแปลอื่นๆเหมือนกัน ประหยัดดีครับ ไม่ต้องเสียค่าโฮส ผมได้ลูกค้าก็มาจากเว็บนี้ก่อนล่ะครับ พอทำงานไปเรื่อยๆ เขารู้จักคุณและยอมรับในผลงานคุณ แล้วคราวนี้ก็จะได้งานประจำเิพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ แต่ยังไงก็ตามนะครับ คอมพิวเตอร์มันก็เป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ถ้านักแปลไม่รู้จักใช้งานให้เกิดคุณค่าเต็มที่ มันก็แค่ทำหน้าที่เหมือนเครื่องพิมพ์ดีดเท่านั้นเอง ว่าแต่วันนี้คุณใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์หรือยังครับ




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2548 21:11:24 น.
Counter : 411 Pageviews.  

ตอนที่ 2 – สอบแปล

ย้อนไปเมื่อครั้งแรกที่ผมได้เป็นนักแปล ก่อนที่จะรับงานชิ้นแรก ผมก็ต้องเข้าสอบแปลครับที่สำนักงาน เพื่อเป็นการตรวจสอบว่านักแปลนั้นมีทักษะในการใช้ภาษามากน้อยเพียงไร เป็นการแปลงานเกี่ยวกับชีววิทยาจากอังกฤษเป็นไทยหนึ่งหน้ากระดาษ บริษัทก็อนุญาตให้เปิดพจนานุกรมได้ครับ จริงๆ ไม่ได้กำหนดเวลา แต่บอกว่าสักชั่วโมงก็น่าจะพอ ผมทำข้อสอบแล้วก็ว่ามันไม่ยากนะครับ อ่านก็เข้าใจดี แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของนักแปลก็คือ การเขียนออกมาเป็นภาษาไทยให้ดูสละสลวย อ่านเข้าใจนั่นแหละที่ต้องใช้เวลาพอสมควร พอทำเสร็จ ผมก็ส่งให้ผู้จัดการ (ตามที่ผมบอกนะครับ ผู้จัดการคนนี้ทำงานทุกอย่างในสำนักงานจริงๆ) ผมไม่รู้ผลในวันนั้นหรอกครับ เขาต้องส่งไปให้นักแปลอีกคนมาตรวจงานผมอีกที แล้วค่อยบอกว่าผลเป็นอย่างไร สุดท้ายผมก็ได้งานแปลมาทำครับ ไม่ได้เกี่ยวกันเลย เป็นงานสิทธิบัตรด้านเคมี แบบนี้ก็คือ สอบผ่านครับ

ปกติแล้วงานทดสอบแปลเนี่ย ไม่มีค่าแรงให้นะครับเป็นการทดสอบฝีมือดูก่อน บริษัทส่วนใหญ่ก็ให้งานมาทดลองแปลไม่เกินหนึ่งหน้า ซึ่งนักแปลส่วนใหญ่ก็ยอมรับงานทดสอบแปล เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้ได้งาน และเป็นการแสดงความสามารถให้บริษัทได้เห็นด้วย โดยเฉพาะถ้าไปเริ่มงานใหม่กับบริษัทใหม่ ก็ต้องมีการสอบแปลด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าจะเป็นนักแปลมือฉมังมานานหลายสิบปีก็ตาม บางบริษัทดีหน่อย ก็มีค่าจ้างให้ด้วยเป็นครึ่งหนึ่งของอัตราปกติ จากประสบการณ์ที่ผมทำงานแปลมาเกือบสิบปีจนถึงปัจจุบัน ผมสอบแปลมาหลายครั้งมากๆ บางครั้งก็สอบไม่ผ่านด้วย ปกติบริษัทเขาจะไม่บอกว่าคุณสอบผ่านหรือเปล่า ถ้าคุณเห็นว่าเขาเงียบไปไม่ติดต่อกลับมา แสดงว่าผลสอบมันต้องไม่ดีแน่ๆ ซึ่งบางครั้งผมว่าผมแปลดีนะครับ แต่สงสัยไม่เข้าตาคนตรวจงาน หรือไม่งั้นคนตรวจงานก็ตรวจงานผิด ซึ่งก็เป็นไปได้ครับ แต่ถ้าคิดจะเป็นนักแปลไม่ต้องไปคิดมาก งานแปลมีให้ทำเยอะแยะ ไม่ง้อก็ได้ว่ะ ไปหางานที่อื่นทำก็ได้ ปลอบใจตัวเองไปเรื่อยๆ

ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องการสอบแปลครับ เวลาผมแปลงาน ผมไม่ชอบใช้คำซ้ำๆ กัน เพราะผมเบื่อ รู้สึกว่ามันเซ็งๆ ไม่มีศิลปะในการเขียน ปรากฎว่าสไตล์การเขียนแบบนี้ ไม่ผ่านการประเมินครับ สาเหตุก็เพราะว่าคนตรวจงานสอบแปลของคุณ จะเน้นที่ความถูกต้อง ซึ่งถ้าคุณเข้าใจเนื้อหาที่แปล ใช้คำถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัว มันไม่มีอะไรตายตัว ภาษาเป็นเรื่องศิลปะนะครับ และอีกอย่างก็คือความคงที่ของสำนวนการแปล สิ่งนี้สำคัญมากๆ เช่น ถ้าใช้คำแปลคำว่า process เป็นไทยว่า กระบวนการ หรือ ขั้นตอน ก็ได้ทั้งนั้น เพราะมันถูกทั้งคู่ แต่คุณเลือกคำว่า กระบวนการ ก็ต้องใช้ตลอดในเอกสารที่ทำการแปล เรื่องสุดท้ายก็คือ สไตล์การเขียน ต้องรักษาความเป็นต้นฉบับไว้ เช่น เอกสารวิชาการ นักแปลก็ต้องทำให้เอกสารแปลภาษาไทยนั้นอ่านแล้วเหมือนเอกสารวิชาการเหมือนกัน หรือเอกสารโฆษณามีภาษาแบบการตลาดจูงใจผู้บริโภค ถ้านักแปลแปลออกมาเป็นเอกสารสำนวนเป็นทางการสุดๆ แบบนี้เรียกว่า สอบตกนะครับ แม้ว่าเนื้อความทั้งหมดจะถูกต้องไม่มีผิดเลย ปกติการสอบแปลเป็นการสอบแบบเปิดหนังสือ ส่วนใหญ่ให้เอากลับมาทำที่บ้านก็ได้ จะเปิดพจนานุกรม เปิดเว็บหาคำศัพท์หรือค้นเนื้อหาเิ่พิ่มก็ได้ งานก็ส่งมาให้ทางอีเมล์ พอทำเสร็จก็ส่งกลับไปทางอีเมล์เหมือนกัน จะว่าไปงานสอบแปลมันเป็นการทดสอบตัวนักแปลตลอดเวลา เหมือนกับที่เราสอบกลางภาคและปลายภาคที่คณะเภสัชนั่นแหละครับ แต่ว่ามันเครียดน้อยกว่าเป็นล้านเท่า

การรับงานสอบแปลเราก็ต้องระวังเหมือนกัน ผมเคยเจอบริษัทที่เอาเรื่องการสอบเนี่ยมาใช้หากินแบบผิดๆ คือ เขามีงานที่ต้องทำ แล้วอยากจะประหยัด ก็เลยแบ่งเอกสารเป็นหน้าๆ แล้วส่งงานนั้นให้นักแปลลองทำดูเป็นการสอบแปลโดยไม่ซ้ำหน้า นักแปลลองได้ทำแบบทดสอบก็ต้องทำสุดฝีมือใช่ไหมครับ บริษัทนี้ก็เลยสบายไป ไม่ต้องจ้างใครสักคน ส่งงานให้นักแปลหลายคนก็ครบจำนวนหน้าพอดี ดังนั้นถ้าผมเจอบริษัทแบบนี้ ผมก็พอจะเดาทางออก เช่น ให้งานมากเกินหนึ่งหน้า (ส่วนใหญ่จะให้มา 2-3 หน้า ทำยังกับไม่ใช่แค่การสอบ) เร่งให้ส่งงานสอบแปล (ลูกค้าเร่งมาแน่ๆ) แล้วก็หายตัวไปไม่กลับมา (ก็แน่ล่ะ งานเสร็จพอดี) แล้วพอเขาได้งานใหม่ ก็กลับส่งงานสอบแปลมาให้เราอีกรอบ (ติดใจฝีมือแปลเราแหงๆ) ถ้าเข้าล็อคแบบนี้ นักแปลกำลังโดยหลอกใช้งานครับ ถ้าบริษัทไม่ตอบกลับมาครั้งแรกแสดงว่าไม่พอใจผลงานนักแปล แล้วจะวนกลับมาหานักแปลคนเดิมให้ทดสอบซ้ำอีกรอบทำไม พวกนี้ผมขึ้นบัญชีดำไว้เลย เขียนอีเมล์กลับไปบอกด้วยว่างานสอบแปลผมก็คิดเงิน ไม่ได้ทำให้ฟรีๆ มันก็เลยไม่วนกลับมาอีก แม้กระทั่งงานแปลมันก็มีสิบแปดมงกุฎเหมือนกัน เพราะว่าบริษัทพวกนี้รู้ว่า นักแปลมองว่าการสอบแปลเป็นประตูไปสู่งาน ไม่เข้าถ้ำเสือไม่ได้ลูกเสือประมาณนั้น เป็นนักแปลต้องรู้ทันคนครับ




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2548 8:28:14 น.
Counter : 734 Pageviews.  

ตอนที่ 1 – ใช้ทุน

หนุ่มนักแปล เป็นชื่องานเขียนที่ผมคิดอยากจะเขียนมานานแล้ว เป็นเหมือนประวัติชีวิตส่วนหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กับพี่ๆ น้องๆ ที่สนใจในงานขีดเขียนแบบสองภาษา เริ่มเรื่องก็ต้องแนะนำตัวผมเองก่อนนะครับ ผมเป็นบัณฑิตเภสัชไฟแรง (ปานกลาง) ในปี 2538 ก็ตามที่ทราบๆ ใช่ไหมครับว่า ตอนนั้นเภสัชกรทุกคนต้องไปใช้ทุนรัฐบาลกับราชการใช่ไหมครับ ไอ้ผมเองเนี่ยยังไม่ได้อยากเป็นข้าราชการในตอนนั้น ก็เลยตัดสินใจใช้เงินครับ แล้วเลือกทำงานบริษัทเอกชนในกรุงเทพแทน วันรับปริญญาก็ได้หนี้ก้อนโตมาเป็นของขวัญครับ เงินสองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน จ่ายให้คณะเภสัชฯ จุฬาฯ สำหรับเด็กจบใหม่ เห็นเงินแสนมันตกใจนะครับ เยอะแบบนี้ จะหามาใช้พ่อกับแม่ได้ครบเมื่อไรล่ะดี ทางออกของบัณฑิตแบบง่ายๆ ตอนนั้นมันก็คือ งานพาร์ทไทม์ครับ เรียกว่าเน้นใช้แรงงานเป็นหลักครับ

ในช่วงตอนดึกกับเสาร์อาทิตย์ ผมทำงานที่ห้องยาโรงพยาบาลเอกชนครับ เหนื่อยครับ ค่าชั่วโมงก็ไม่ได้เยอะแยะอะไร แถมต้องอยู่ดึกดื่นอีกต่างหาก แล้ววันหนึ่งผมก็ได้เห็นประกาศในหนังสือพิมพ์ว่ามีงานอิสระแปลเอกสาร เป็นประกาศเล็กกระจิดริ๊ด แต่ก็ไม่พ้นสายตาผมไปได้ครับ ในประกาศเขาบอกว่าคนที่จบด้านวิทยาศาสตร์ ไม่มีประสบการณ์ก็ไม่เป็นไร อย่างนี้เข้าทางผมครับ ลองไปดูสักตั้ง ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นเดือนมิถุนายนนะครับ ก็เริ่มงานประจำได้สักพัก ก็อยู่ตัวพอสมควร ผมก็ส่งใบสมัครกับประวัติส่วนตัวไปทางไปรษณีย์ครับ ปรากฎเขาเรียกสัมภาษณ์ครับ เสร็จไปหนึ่งขั้นตอนครับ

ผมก็เลยลางานไปครึ่งวันไปสัมภาษณ์ที่สำนักงานที่พหลโยธินครับ ซอยเสนา บริษัทที่ประกาศงานนี้จริงๆ เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษนะครับ แต่รับงานแปลเป็นงานเสริม ผมเห็นที่ทำงานเขาแล้วตกใจครับ มันเป็นตึำกแถวเก่าๆ สองคูหา แล้วก็แบ่งเป็นห้องเรียนเล็กๆ หลายห้อง มีคอมพิวเตอร์กับเครื่องพิมพ์ดีดเต็มไปหมด ไม่น่าไว้ใจครับ มาถึงแล้วก็เข้าไปคุยกับผู้จัดการใหญ่ครับ (คือ เขาเป็นฝ่ายรับพนักงานไปด้วยนะครับ) เขาก็คุยดีครับ เขาบอกว่าตอนนี้มีนักแปลในบริษัทเขาเยอะเหมือนกัน แต่เขาอยากได้คนที่รู้ภาษาไทยกับอังกฤษ และก็มีรู้เรื่องศัพท์วิทยาศาสตร์ ศัพท์การแพทย์ คุยกันสักครึ่งชั่วโมง ถามโน้นถามนี้ ผมก็ตอบไปตามเรื่อง ปรากฎว่าเขารับผมเข้าเป็นนักแปลอิสระครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า อิสระเนี่ย หมายถึง ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้าบริษัท ใช้อีเมล์หรือแฟกซ์เป็นหลักในการส่งเอกสาร ติดต่องานทั่วไปก็โทรศัพท์ครับ ซึ่งผมชอบครับ เพราะ้บ้านผมกับซอยเสนามันไกลไม่ต่างจากเดินทางจากไปโรงพยาบาล ดีแต่ว่าโรงพยาบาลยังไกลกับที่ทำงานประจำ ตอนเย็นก็เลยมาเข้าเวรได้สะดวกดีครับ อีกอย่างก็คือว่างานนี้มันอิสระแบบสองทาง ครับ คือ นักแปลอิสระ แล้วบริษัทก็อิสระเหมือนกันที่จะส่งงานมาให้ทำหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นรายได้มันก็ไม่ประจำ ตอนนั้นผมก็เลยยังไม่ได้ทิ้งงานโรงพยาบาลไปเสียทีเดียว อีกอย่างผมเห็นสภาพบริษัทเขาแล้วก็มันหวั่นใจครับ แต่สุดท้ายผมก็ได้งานจากบริษัทนี้มาเรื่อยๆ ครับ เดือนละงานหรือสองงานครับ ก็เลยลดเวรห้องยาลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายเลิกทำเสาร์อาิทิตย์ไปเลยครับ ทำแต่งานแปล หรือไม่งั้นก็อยู่บ้านพักผ่อนครับ ไม่งั้นตายก่อนใช้ทุนหมดครับ หลังจากทำงานที่นี่ได้สองสามเดือน ผมก็ลองไปสมัครงานแปลตามศูนย์สอนภาษาอังกฤษแถวสยามครับ คือ อยากทำงานใกล้บ้านครับ ปรากฎบริษัทเขาอิสระมากๆ ครับ เขารับผมเป็นนักแปลอิสระเหมือนกัน แต่เขาไม่เคยให้งานผมมาทำเลยตลอดเวลา 4 ปีที่ผมอยู่เมืองไทย แล้วรับผมเข้าทำงานทำไมเนี่ย ตำแหน่งลอยสุดๆ

คงอยากรู้ใช่ไหมครับว่า ตกลงผมใช้ทุนที่บ้านไปเรียบร้อยหรือยัง ไม่ต้องห่วงครับ ทำงานตัวเป็นเกลียวขนาดนี้ ผมเพิ่งมาใช้หมดหลังทำงานมาสามปีครับ เพราะด้วยความงกส่วนตัว ผมใช้คืนแค่เดือนละไม่เกินหมื่นครับ ตอนนั้นเขากำลังฮิตเงินฝากแบบสะสมทรัพย์ ดอกเบี้ยสูง ผมเอาเงินเดือน เงินพาร์ทไทม์ไปโปะตรงนั้นหมด แย่จัง ถ้ารู้ว่าลดค่าเงินบาทในกาลต่อมา ผมคงเก็บเงินในแบบสินทรัพย์อื่นแทนแล้วครับ แม้ว่างานพาร์ทไทม์มันจะไม่ได้ช่วยผมเรื่องใช้ทุนสักเท่าไร แต่มันเป็นประสบการณ์ที่ดี และจนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังเป็นนักแปลอิสระเลี้ยงชีพอยู่ครับ

สุดท้ายผมกะว่าจะทำงานแปลสะสมทรัพย์สร้างบ้าน ซื้อรถก่อนกลับไปเมืองไทย ไม่ว่ากันนะครับ ถ้าจะผมเอาความฝันเมื่อคืนมาเล่าให้คุณฟัง




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2548 19:41:49 น.
Counter : 484 Pageviews.  

หนุ่มนักแปล ปฐมบท

ขอใช้เวทีนี้เป็นเวทีฝึกหัดเขียนหนังสือดูนะครับ มีอะไรวิจารณ์แนะนำเข้ามาได้ครับ กะว่าจะเขียนวันละตอนครับ ก็แวะเข้ามาดูเรื่อยๆ ละกันครับ ในหนังสือออนไลน์เล่มนี้กะว่าจะมีสัก 20 ตอนครับ ซึ่งคิดคร่าวๆ ก็มีตอนเหล่านี้ครับ

1. ใช้ทุน
2. สอบแปล
3. คอมพิวเตอร์
4. งานแปลชิ้นแรก
5. แปลเพื่อชาติ
6. วงการยา
7. กฎหมายกับธุรกิจ
8. เคล็ดลับนักแปล
9. นักแปลกับจรรยาบรรณ
10. งานแปลยุคออนไลน์
11. โกอินเตอร์
12. นักการตลาดงานแปล
13. องค์กรเสมือนกับงานแปล
14. เครื่องแปลงาน
15. นักแปลอารมณ์เสีย
16. เงินๆ ทองๆ
17. สิทธิบัตร
18. แนวโน้มธุรกิจแปล
19. สร้างหนุ่มสาวนักแปลรุ่นใหม่
20. เรียนรู้ตลอดชีวิต




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2548 19:39:20 น.
Counter : 469 Pageviews.  


nhum_nop
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add nhum_nop's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.