พลังงานไทยเพื่อคนไทย ใครว่าโครงสร้างราคาน้ำมัน ไม่สำคัญ ตอนที่ 2
ต่อตอนที่ 2 กันเลยดีกว่าครับ  พอดี คราวก่อนเขียนไม่หมด เพราะจำนวนตัวอักษรเกิน  เชิญนักค้นหาความจริงมา ทัศนากันต่อ จะได้ไม่เสียอรรถรส กันเลยครับ

น้ำมันเตา (Fuel Oil)

ส่วนใหญ่เอาไว้ในโรงงานอุตสาหกรรม รายละเอียดไม่พูดถึงก็แล้วกันครับ เพราะห่างตัวจากปชชทั่วไป

ทำไมต้องมีภาษี (ภาษีสรรพาสามิต+ภาษีเทศบาล+Vat)

ภาษีเป็นหน้าที่ที่เราต้องเสียกันอยู่แล้ว เพื่อให้รัฐเก็บไว้เป็นงบประมาณประเทศเพื่อใช้จ่ายในรัฐบาล หน่วยงานราชการและภาครัฐ นอกจากภาษีนั้นยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้น้ำมันบางชนิด อย่างเช่น เบนซิน 95 รัฐไม่อยากให้ใช้เยอะ ก็คิดอัตราที่สูงให้แพงไปเลย คนจะได้ไม่อยากใช้

ดังนั้น ภาษีสรรพสามิต จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมราคาน้ำมันโดยการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่แตกต่างกันระหว่างน้ำมันชนิดต่างๆเป็นการสะท้อนนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการใช้น้ำมันบางประเภท ส่วนนโยบายอื่นๆที่ไม่ใช่นโยบายทางพลังงานที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ผมไม่อาจจะไปวิจารณ์ตรงจุดนี้ได้ครับ

ทำไมต้องมีกองทุนน้ำมัน

การส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสรรพสามิต (ส่วนน้ำมันกลั่นในประเทศ) และ กรมศุลกากร (ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปนำเข้า) ตามอัตราที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานกำหนด เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน ถ้าไม่มีกองทุนน้ำมันก็จะทำให้ราคาขายปลีกจะแกว่งตามราคาตลาดโลกที่ผันผวน อาจถึงขั้นบริษัทน้ำมันจำเป็นต้องปรับราคากันทุกวัน (นี่ขนาดยังไม่เป็นขนาดนี้ก็มีเสียงบ่นดังอื้ออึง กันไปหมดแล้ว ทั้งที่ก็ทำหน้าที่เป็นบริษัทธรรมาภิบาลที่ดี คิดค้นนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย) ดังนั้นกองทุนน้ำมันจึงมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันขายปลีกโดยการปรับเพิ่มหรือปรับลดของอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

นอกจากนี้กองทุนนี้ก็มีส่วนในการอุดหนุนราคาน้ำมันบางชนิด เช่น E20, E85 ตามที่กล่าวไว้แล้ว ซึ่งก็เป็นนวัตกรรมพลังงานเพื่อมวลชน 

ทำไมต้องมีกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

เก็บในส่วนของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล ในอัตราลิตรละ 0.25 บาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับอนุรักษ์พลังงาน โดยมี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้กำหนดนโยบาย

ทำไมต้องมีค่าการตลาด (Marketing Margin)

หลายๆคนสงสัยว่าค่าการตลาดมีทำไม? คืออะไร? คือกำไรล้วนๆหรือ? จริงๆแล้วทุกๆปั๊มก็จะมีค่าใช้จ่ายการดำเนินการในการขายปลีกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้างปั๊ม การขนส่ง ค่าเช่าที่ ค่าจ้างเด็กปั๊ม ค่าจ้างคนทำงาน ค่าน้ำค่าไฟฟ้า ยิ่งถ้าต่างจังหวัดก็จะมีค่าการตลาดสูงขึ้นเนื่องจากค่าขนส่งที่ไกลขึ้น และถ้าน้ำมันที่คนเติมน้อยเนี่ย เช่น เบนซิน 95, 91, E85 ค่าการตลาดก็ยิ่งสูง เพราะต้องสต๊อกน้ำมันไว้นาน ขายไม่ค่อยออกเลยมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ จะเห็นได้ว่า ส่วนที่เป็นกำไรจริงๆ แทบจะไม่มี หรือมีน้อยจัดๆ คนที่เคยทำธุรกิจปั๊มน้ำมันก็จะรู้ดีครับ กำไรไม่ได้ดีอย่างที่คิดหรอกนะครับ (แถมห้องน้ำก็ต้องให้ใช้ฟรีอีก) ต้องขายให้ได้ปริมาณมากๆๆๆๆจริงๆ

สรุป ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันทุกๆชนิด มันมีโครงสร้างราคาของมันเองและเหตุผลของมันเอง โดยราคาขายหน้าโรงกลั่นจากอ้างอิงตามราคาน้ำมันของตลาดสิงคโปร์ ดังนั้นเวลามีใครอ้างตัวว่าเป็นกูรูน้ำมันก็ให้ฟังหูไว้หูครับ อย่าหลับหูหลับตาเชื่อ แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าสิ่งที่เค้าพูดมันจริงหรือถูกต้องหรือป่าว เพราะเค้ามักจะเล่นเอาราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ มาแปลงเป็นราคาต่อลิตรซะเฉยๆ หรือ บางทีที่หนักกว่านั้นก็เอาราคาน้ำมันดิบ WTI มาอ้างหน้าตาเฉย (ไทยใช้น้ำมันดิบดูไบ)

ทำไมต้องราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดสิงคโปร์ (SIMEX)

น้ำมันเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดหนึ่ง (Commodities) ซี่งมีการแข่งขันสูง การเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายของผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดน้ำมัน จึงทำให้ผู้ค้าน้ำมันต้องปรับราคาให้สามารถแข่งขันกันได้ ดังนั้น ราคาน้ำมันที่เหมาะสมเพื่อใช้ “อ้างอิง” จึงควรจะกำหนดมาจากความต้องการและความสามารถในการผลิต ภายใต้กลไกระบบการค้าเสรีของกลุ่มตลาดซื้อขายน้ำมันที่อยู่ใกล้เคียงกัน คล้ายกับสินค้าทางการเกษตร อย่างเช่น ราคาผลไม้ซึ่งอ้างอิงราคาที่ตลาดไท หรือราคาข้าวซึ่งอ้างอิงราคาที่ท่าข้าวกำนันทรง เป็นต้นสำหรับศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันของโลกกระจายอยู่ใน 3 ภูมิภาค ก็คือ อเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยที่ตลาดกลางการซื้อขายน้ำมันของภูมิภาคเอเชียตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ หรือที่เราเรียกกันว่า "ตลาดสิงคโปร์"(The Singapore International Monetary Exchange หรือ SIMEX) เนื่องจากเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคำว่า “ราคาสิงคโปร์” นั้นไม่ใช่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประกาศโดยรัฐบาลหรือโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์ หรือราคาขายปลีกในประเทศสิงคโปร์ แต่เป็นราคาซื้อขายน้ำมันระหว่างผู้ค้าน้ำมันในภูมิภาคเอเชียที่ตกลงกันผ่านตลาดกลางฯที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและตั้งอยู่ใกล้กับประเทศสิงคโปร์ จึงเลือกที่จะอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนระดับราคาที่สมดุลกับกลไกระบบการค้าเสรีของตลาดในภูมิภาคนี้ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของราคาก็สอดคล้องอย่างเป็นสากลกับตลาดซื้อขายน้ำมันอื่นๆทั่วโลก

การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยขึ้นเอง แทนที่จะอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลในการผลิตและความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ เพราะหากว่าราคาน้ำมันที่กำหนดขึ้นเองในประเทศมีราคาถูกกว่าตลาดสิงคโปร์ ก็จะทำให้ผู้ค้าน้ำมันส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกไปขายเพื่อทำกำไร ซึ่งมีผลให้ประเทศขาดแคลนน้ำมัน ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันที่กำหนดขึ้นเองในประเทศมีราคาแพงกว่าตลาดสิงคโปร์ ผู้ค้าน้ำมันก็จะนำน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาขายแข่ง ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันภายในประเทศและการจ้างงานนอกจากนี้ การอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นภายในประเทศต้องพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการกลั่นน้ำมันให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาคหรือของโลกอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ซึ่งเหล่าโรงกลั่นในไทยจะมีค่าการกลั่นโดยเฉลี่ยอยู่ราวๆลิตรละ 2 บาท ขึ้นอยู่กับบางช่วงเวลาเรียกว่า Gross Refinery Margin ดูข้อมูลได้จาก //www.eppo.go.th/petro/price/index.html

คำอธิบายค่าการกลั่น

//www.marinerthai.com/sara/view.php?No=1115

อ้างอิงคำอธิบายราคาสิงคโปร์ //esso-th.listedcompany.com/faq.html#01

ข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย จาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

//www.eppo.go.th/admin/km/KM-OilPriceStructure.pdf

น้ำมันประเทศไทยแพงที่สุดในโลกจริงเหรอ???

ลองมาดูข้อมูลตรงนี้กันว่า ประเทศไทย เบนซิน 95 ราคาเราอยู่อันดับใดของโลกนี้

//www.bloomberg.com/slideshow/2013-02-13/highest-cheapest-gas-prices-by-country.html#slide48

อยู่อันดับ 47 ของโลกจากข้อมูลล่าสุด จะบอกว่าเราเก็บแพงมันก็แพงอยู่ แต่ประเทศที่เก็บแพงกว่าเราในภูมิภาคนี้มี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ รวมทั้ง จีน ฮ่องกงและอินเดีย ส่วนใหญ่ประเทศยุโรปอยู่ลำดับท๊อป 20 แต่ถ้าเข้าใจว่าทำไมถึงแพงก็จะเข้าใจครับ ว่าเราต้องนำเข้าเยอะ รัฐต้องการรายได้จากส่วนนี้ด้วย และต้องอุดหนุนพลังงานบางชนิดอีกต่างหาก ส่วนประเทศที่ขายได้ถูกก็ต้องเข้าใจว่าถูกเพราะอะไร ต้องดูที่โครงสร้างภาษี,กองทุนน้ำมันและการอุดหนุนพลังงานของแต่ละประเทศ

//www.opec.org/opec_web/en/about_us/171.htm

 *** ทำไมไม่เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำหรือรายได้เฉลี่ยของแต่ละประเทศ ***

น้ำมันเราต้องนำเข้าใช่มั้ยครับ ราคาที่ซื้อมันอิงกับ Demand Supply ของโลก ราคาทั่วโลกจริงๆเค้าซื้อที่ราคาเดียวกันในแต่ละชนิด ณ ตลาดซื้อขายอ้างอิง ในเมื่อเราจำเป็นต้องซื้อมาใช้ เราก็ต้องใช้ตามราคาน้ำมันโลก ไม่มีแบ่งแยกว่าประเทศไหนรวยหรือจนครับ ดังนั้นพอบริษัทน้ำมันซื้อน้ำมันดิบจากตลาดโลกมาใช้ต้นทุนก็เป็นราคาตลาดโลก พอบริษัทน้ำมันกลั่นได้แล้วจะขายได้ตามราคาอ้างอิงออกจากโรงกลั่น (ตามราคาตลาดสิงคโปร์ที่กล่าวไว้ที่สะท้อนถึงต้นทุนน้ำมันดิบตามตลาดโลก) + ค่าการตลาดเท่านั้น (ถ้ารัฐบังคับให้ขายต่ำกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ ผู้ประกอบการก็จะขนออกไปขายที่สิงคโปร์ทันที เพราะได้ราคากว่า) ส่วนราคาที่เพิ่มเติมในโครงสร้างทางภาษีและกองทุนน้ำมัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ ผมไม่สามารถเข้าไปวิจารณ์ในส่วนนี้ได้ครับ

ผมยกตัวอย่าง ทองคำ มีราคาอ้างอิงตามตลาดโลก เราก็ต้องซื้อราคานั้นตราบใดที่เราไม่สามารถผลิตทองคำได้เองถึงขั้นส่งออก หรือเป็นรายใหญ่ขนาดกำหนดราคาเองได้ คือต้องซื้อเข้ามา ไม่เกี่ยวว่า ค่าแรงขั้นต่ำหรือรายได้เฉลี่ยของแต่ละประเทศเป็นเท่าไรครับ ทุกประเทศต้องซื้อราคาเท่ากัน ณ ตลาดซื้อขายอ้างอิง  ที่สะท้อนถึงอุปสงค์อุปทาน (Demand Supply) ของโลก ที่จะต่างกันคือภาษีของแต่ละประเทศ


คราวหน้าเรามาต่อกันครับ ถึงโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศอื่นๆ กันครับ รับรองมันส์พะยะค่ะ




Create Date : 25 ตุลาคม 2556
Last Update : 25 ตุลาคม 2556 2:57:41 น.
Counter : 202 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

sunnyJa
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]