เห็ดเผาะในม่านฝน


จุด
หมายปลาทางของเราคราวนี้อยู่ที่หมู่บ้านปางแดง
ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปกากะญอ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 
บนถนนหลวงที่มุ่งสู่จังหวัดเชียงราย
ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อแยกเข้ามาตามทางเล็กๆด้วยระยะทางเพียง200เมตรให้หลัง
เราจะพบหมู่บ้านที่ยังคงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติและถูกโอบล้อมด้วยภูเขา
ราวกับถูกเนรมิตไว้ให้คงสภาพของเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน

  
ชาวบ้านที่นี่อยู่กันอย่างเรียบง่าย
บ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างด้วยไม่ไผ่ยกพื้นสูง มุงหลังคาด้วยใบตองตึงเลี้ยงไก่
เลี้ยงหมูไว้สำหรับเป็นอาหาร 
คนเฒ่าคนแก่ยังคงแต่งตัวแบบดั้งเดิมด้วยผ้าทอสีดำปักลวดลายสีสันสดใส
ผู้คนเต็มไปด้วยความเอื้ออาทร
พูดจาถามไถ่ทุกข์สุขโดยไม่มีสายตาเคลือบแคลงต่อคนแปลกหน้าอย่างเราแม้แต่
น้อย สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่
เคยชินกับบรรยากาศที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง
สิ่งเหล่านี้นับเป็นความอุ่นใจอย่างดีทีเดียว



   ชาวปกากะญอนั้นถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนของความเป็นอยู่อย่างพอเพียง
พวกเขาทำงานพอประมาณและจัดการชีวิตส่วนตัวได้อย่างเหมาะสม 
ในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นหน้านา ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ทำนา
หากมีเวลาว่างก็เข้าป่าหาเห็ด หาหน่อไม้มาขายเป็นรายได้เสริม
ตามบริเวณเชิงเขาหลังหมู่บ้านก็สามารถเก็บผักกูด-ซึ่งเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งมา
กินเป็นอาหารหรือส่งขายได้ด้วย  ส่วนหน้าแล้งที่เป็นช่วงว่างจากการทำงาน
ผู้ชายจะออกไปรับจ้างดูแลสวนในรีสอร์ทใกล้ๆหมู่บ้าน
รวมทั้งซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้จำเป็น ส่วนผู้หญิงก็จะทอผ้าเอาไว้ใช้
ส่วนกุ้งหรือปลาก็หาจับเอาได้จากลำธารข้างๆหมู่บ้านนี่เอง

  
กุ้งที่ว่าเป็นแม่น้ำตัวเล็กๆแต่ใหญ่กว่ากุ้งฝอย 
ชาวบ้านบอกว่าต้องทำตอนกลางคืนเพราะจะหาได้ง่ายกว่า 
วิธีการหากุ้งของเขาคือการใช้ไฟฉายส่องลงไปในน้ำ
ตาของกุ้งจะสะท้อนกับแสงไฟเป็นจุดเล็กๆสีส้มๆแดงๆ
จากนั้นก็ค่อยๆใช้สวิงชนิดที่ไม่มีด้ามจับช้อนขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย
กุ้งชนิดนี้เป็นกุ้งธรรมชาติ ว่ากันว่ารสชาติดีทีเดียว
มีคนเคยพยายามจะนำไปเพาะเลี้ยงหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ
เพราะมันชอบแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ต้องน้ำต้องไหลและสะอาด ดังนั้น
การรักษาแหล่งน้ำจึงเท่ากับเป็นการรักษาแหล่งอาหารไปด้วยในตัว

  
แม้จะเหน็ดเหนื่อยกับการจับกุ้ง 
แต่พอเงยหน้าขึ้นไปท้องฟ้าที่ดำขลับขับให้ประกายดวงดาวเปล่งแสงระยิบระยับ
แถมยังมีฝูงหิ่งห้อยล้อมรอบตัวอีก ...มีความสุขจังค่ะ

 
 หน้าฝนของคนที่นี่ถือเป็น "ช่วงทำเงิน"
ถ้าหากขยันเข้าป่าสักหน่อยก็จะมีรายได้มาก เพราะมีเห็ดหลายชนิด
รวมทั้งหน่อไม้บง และผักกูดขึ้นอยู่มากมาย 
ลำพังแค่เห็ดเผาะในฤดูกาลออกใหม่ขายได้ราคา(ส่ง)สูงถึงลิตรละ 100
บาททีเดียว แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์ราคาอาจลดฮวบเหลือเพียงลิตรละ 20 บาท
เพราะฉะนั้นต้องรีบเก็บในช่วงแรกๆ  ไม่เช่นนั้นอาจได้ราคาไม่คุ้มเหนื่อย 

  
เห็ดเผาะจึงเหมือนเป็นของขวัญจากฟ้า  เพราะนำมากินก็อร่อย  ขายก็ได้ราคา 
แต่จะออกเพียงปีละครั้งและครั้งละไม่นานด้วย 
อย่างปีนี้เห็ดเผาะหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เห็ดถอบ" นั้น
ออกดอกเยอะมากเป็นประวัติการณ์ 
เด็กๆเอามาเสียบไม้กินกันอร่อยแถมเรียกชื่อเสียน่าเอ็นดูว่า "ลูกชิ้นดอย"
เพราะความที่เป็นลูกกลมเกลี้ยง เนื้อกรุบกรอบแข็งนอกนุ่มใน ชวนให้น้ำลายสอ
การเลือกเห็ดเผาะให้อร่อยจึงต้องเลือกกินเสียตั้งแต่ต้นฤดู เห็ดจะยังอ่อน
กินอร่อย เห็ดที่อ่อนนั้น เนื้อข้างในจะเป็นสีขาว แต่ถ้าย่างเข้าปลายฤดู
เห็ดเริ่มแก่ เนื้อข้างในจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เหนียวและเคี้ยวยาก
(ราคาจึงถูกลง)

   สำหรับการเก็บเห็ดเผาะ 
ต้องตื่นกันตั้งแต่เช้ามืด
เพราะการเดินเก็บเห็ดสำหรับคนที่นี่นั้นเป็นการเดินขึ้นเขาคราวละหลายๆลูก 
การตื่นไปเก็บเห็ดแต่เช้าอากาศจึงเย็นสบาย เดินไปได้เรื่อยๆ
และสามารถกลับลงมาได้ในช่วงเวลาที่ไม่เย็นย่ำจนเกินไป  
ยิ่งถ้าเป็นช่วงต้นฤดูที่เห็ดเผาะเริ่มออกแล้วละก็ 
ชาวบ้านจะออกไปกันตั้งแต่ตีหนึ่งเพื่อกลับลงมาให้ทันเช้ามืดซึ่งเป็นช่วง
เวลาที่แม่ค้าเข้ามารับซื้อเห็ดในหมู่บ้านพอดี

  
เส้นทางเดินขึ้นเขาอาจจะเป็นทางธรรมดาๆสำหรับชาวบ้านที่นี่
แต่มันช่างหฤโหดสำหรับเราเหลือเกิน ด้วยความที่สูงชันเกือบเก้าสิบองศา
แถมยังเป็นดินหลังฝนตกเสียด้วย
แต่ในที่สุดเราก็ตะเกียกตะกายมาถึงยอดเขาจนได้ 
จากคำบอกเล่าเห็ดเผาะมักจะขึ้นอยู่ในที่เดิม 
บริเวณที่พบได้มากคือโคนต้นไม้ที่ทับถมด้วยขี้เถ้า หากปีไหนมีไฟไหม้
ปีนั้นเห็ดเผาะจะออกเยอะกว่าปกติ
การหาเห็ดเผาะจึงต้องใช้ความชำนาญในการจดจำบริเวณที่เห็ดเคยเกิดเมื่อปี
ก่อนๆ 
และยังต้องอาศัยสายตาที่ฉับไวเพราะรูปร่างกลมๆของมันนั้นบางทีก็แฝงตัวกลม
กลืนกันก้อนกรวดอยู่เหมือนกัน

   ในระหว่างทางเดินกลับ
เราได้มีโอกาสเห็นดอกกระเจียวขาว กระเจียวแดง เห็ดไข่ห่านที่บานแล้ว
(นิยมกินชนิดที่ยังตูมอยู่) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารจากหน้าฝน
ชาวบ้านนิยมนำไปลวกจิ้มน้ำพริกกินกันบ่อยๆ  
พร้อมบอกชื่อต้นไม้-ใบนั้นใบนี้ว่า ใช้ส่วนไหนทำยารักษาโรค 
ความรู้อย่างนี้ก็ได้มาจากการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นนี่แหละค่ะ 
เด็กทุกคนเมื่อโตพอที่จะช่วยพ่อแม่เข้าป่าหาเห็ดหาหน่อไม้
ก็จะได้รับการบอกเล่าเรื่องต่างๆเหล่านี้
นี่คือวิถีชีวิตที่น่านับถือยิ่งนัก
เพราะเท่ากับเขาสามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้ รู้ว่าอะไรเป็นอาหาร
แม้ในยามเจ็บป่วยก็รู้ว่าจะใช้ป่าหลังบ้านมาเยียวยาได้อย่างไร 
ป่าของชาวบ้านปกากะญอจึงเป็นมากกว่าป่า
เพราะนี่คือศูนย์รวมทุกสรรพสิ่งของชีวิต 

  
ครึ่งวันของการเดินป่าจึงไม่ได้เป็นเพียงการเก็บเห็ด 
หากเป็นการเรียนลัดเรื่องชีวิต  การได้อยู่แนบชิดขุนเขา  ฟังเสียงสายน้ำ
ภายใต้โอบล้อมของป่าเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา และมีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ
บอกให้เรารู้ว่า "ตัวตน"  ที่หลงคิดว่าใหญ่โต
แท้จริงแล้วก็เป็นแค่เพียงเศษเถ้าของจักรวาลเท่านั้นเอง







Free TextEditor







































































































Create Date : 05 พฤษภาคม 2553
Last Update : 5 พฤษภาคม 2553 21:06:42 น. 0 comments
Counter : 217 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tongsehow
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add tongsehow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.