ตะลุยโคลนไปปลูกป่าบ้านคลองโคน



เราเริ่มกิจกรรมที่ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน
ฟังบรรยายสรุปเรื่องการปลูกป่า และโปรแกรมท่องเที่ยว
จัดการเปลี่ยนเสื้อผ้าเตรียมออกไปลุยทะเลโคลน
แล้วนั่งเรืออีป๊าบผ่านปากคลองออกไปทะเล
ริมฝั่งมีบ้านเรือนยกพื้นสูงเหมาะกับภูมิประเทศให้ดูตลอดทาง


   ผ่านปากคลองมาไม่นาน ทางเรือวิ่งแทนที่จะเป็นน้ำ กลับเป็นเลนนิ่มๆ
ซึ่งเวลาวิ่งเรือบนเลนต้องวิ่งไปจนสุดทางหยุดไม่ได้
เพราะถ้าเรือติดหล่มขึ้นมาก็ต้องรอจนกว่าน้ำขึ้นถึงจะออกจากตรงนั้นได้


   ก่อนไปปลูกป่า เราเลี้ยวเข้าคลองไปดูลิงแสม
มีกล้วยติดไม้ติดมือไปนิดหน่อยจึงเอาไปฝากลิงด้วย
จะว่าไปลิงแถวนั้นก็มารยาทดีรอเราโยนกล้วยให้ไม่ลงมาแย่งกันให้วุ่นวาย
ให้อาหารลิงจนกล้วยหมด เราก็ออกไปปลูกป่ากัน ต้นไม้ที่ปลูกก็มีทั้งต้นแสม
โกงกาง และลำพู


   แม้เดี๋ยวนี้จะมีคนมาช่วยกันปลูกป่าชายเลนกันอย่างคับคั่ง
แต่ก็ใช่ว่าต้นไม้จะรอดทั้งหมด ปลูกแล้วตายก็มีอยู่ไม่น้อย
อีกทั้งพื้นที่ที่ถูกทำลายก็กว้างใหญ่ การลงมือปลูกอย่างต่อเนื่อง
และมุ่งมั่นจึงช่วยสร้างป่าบนพื้นน้ำได้ดีที่สุด
บริเวณที่เราปลูกป่าเป็นตะกอนดินปากแม่น้ำผืนใหญ่
ถัดไปเป็นพื้นที่สาธารณะให้ชาวบ้านทำกินกว้างยาวกว่า 3 กิโลเมตร
ใครมีแรงเท่าไรจะทำกินมากแค่ไหนก็ไม่มีใครว่า


   ระหว่างปลูกป่าเหลือบไปเห็นสัตว์ตัวดำๆ จมอยู่ในเลน
หยิบขึ้นมาดูปรากฏว่าเป็นแมงดาทะเล
เป็นที่ตื่นเต้นสำหรับคนไม่เคยเห็นเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งพอมองไปรอบๆ
เห็นชาวบ้านถีบกระดานเลนหาหอยแครงเป็นกลุ่มๆ
ยิ่งเห็นค่าของทะเลตมและดินดอนปากแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น
เพราะการปลูกป่าไม่เพียงช่วยคนแม่กลองเท่านั้น
แต่ยังเป็นแหล่งอาหารให้คนทั่วประเทศอีกทางหนึ่ง



   ปลูกต้นไม้กันพอหอมปากหอมคอ เราก็ล่องเรือออกทะเลต่อไปเรื่อยๆ
ช่วงที่เราไปเป็นช่วงน้ำแห้งตอนกลางวัน ชาวบ้านจึงออกงมหอย หาปลาเป็นระยะ
เรานั่งเรือผ่านกล่ำปลาดุก
ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำกิ่งไม้มาปักไว้รอปลาดุกเข้าไปติดแล้วล้อมจับอย่าง
สะดวก


   ก่อนจะถึงกระเตงพักกินข้าว เราผ่านฟาร์มหอย
นางรม ฟาร์มหอยแมลงภู่

สอบถามได้ข้อมูลว่ากว่าจะเก็บหอยขายได้ก็ต้องใช้เวลานานนับปีขึ้นไป
ถ้าปีไหนโชคร้าย เกิดมีน้ำเสียไหลลงทะเลมาก หอยก็ตายหมด
แทนที่จะได้เงินชาวบ้านอาจถึงขั้นล้มละลายเป็นหนี้เป็นสิน
แต่ถ้าปีไหนไม่มีน้ำเสีย ชาวบ้านก็มีรายได้เป็นกอบเป็นกำกันเลยทีเดียว
จึงเป็นเรื่องจิตสำนึกของคนต้นน้ำด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด
อย่าลืมว่าทุกชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพากันนะคะ


   เที่ยวชมนั่นนี่มาค่อนวัน รู้ตัวอีกทีท้องร้องเสียแล้ว
เราจึงแวะขึ้นกระเตงของศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคนเพื่อกินข้าวเที่ยงกัน
ด้านบนมีลักษณะคล้ายศาลาขนาดใหญ่
สร้างเลียนแบบกระเตงเฝ้าฟาร์มหอยของชาวบ้าน มีห้องนอนได้
มื้อนี้มีเมนูเป็นอาหารพื้นบ้านง่ายๆ อย่างต้มส้มปลากระบอก น้ำพริกปลาทู
กุ้งย่าง หมึกย่าง ปูต้ม ปลาทอด แต่ขอบอกว่าอร่อยเด็ดจริงๆ
ใช้เวลาไม่นานเราก็กินอาหารทุกอย่างจนเรียบจาน ตบท้ายด้วยแตงโมหวานๆ ชื่นใจ
นั่งคุยกันไป รับลมเย็นๆ ไป
รอจนข้าวเรียงเม็ดดีแล้วก็ถึงเวลาออกไปเที่ยวกันต่อ


   เริ่มจากถีบกระดานเลนหาหอยแครง วิธีเล่นคือนั่งบนไม้กระดานยาวๆ
ลักษณะคล้าย สเก็ตบอร์ด แล้วใช้เท้าข้างหนึ่งถีบลงไปในเลน
เพื่อให้ไม้กระดานเคลื่อนไปข้างหน้า
ต้องบอกว่ากิจกรรมนี้เหนื่อยเอาการเพราะกว่าจะถีบให้กระดานเลื่อนไปแต่ละ
ครั้งใช้แรงไม่น้อย เล่นได้ 3 รอบต้องขอตัวไปเดินเก็บหอยเองง่ายกว่า
เพราะแค่เอามือควานๆ ลงไปในเลนก็มีหอยติดมือขึ้นมาแล้ว


   ซ้อมถีบกระดานได้ที่เราก็มาเล่นวินเซิร์ฟ
อุปกรณ์มีแค่กระดานเลนและฝากล่องพลาสติกเท่านั้น
คุณอาจสงสัยว่าจะเล่นวินเซิร์ฟบนเลนได้อย่างไร
ลองมาดูกันค่ะเริ่มจากไถกระดานไปต้นลม
ได้ระยะพอสมควรก็ถีบกระดานให้เลื่อนไปข้างหน้า แล้วยืนถือฝากล่อง
ลมจะพัดประทะฝากล่อง เป็นแรงเคลื่อนไปข้างหน้าจะเลี้ยวซ้าย
เลี้ยวขวาแค่เอี้ยวตัวก็เลี้ยวได้ง่ายๆ


   สุดท้ายเราปิดกิจกรรมด้วยการเล่นสกี
ผลัดกันนั่งผลัดกันยืนเป็นที่สนุกสนาน จนลมฝนหอบใหญ่เริ่มพัดมา
เราจึงล่องเรือกลับที่พัก การเที่ยวครั้งนี้ไม่เพียงให้ความสนุกเท่านั้น
แต่ยังสอนให้เรารู้จักคุณค่านานัปการของธรรมชาติ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
การพึ่งพิงกัน และการใช้ชีวิตเรียบง่าย
แม้จะไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแต่ก็มีความสุขได้จริงๆ ค่ะ







Free TextEditor







































































































Create Date : 05 พฤษภาคม 2553
Last Update : 5 พฤษภาคม 2553 7:39:56 น. 0 comments
Counter : 273 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tongsehow
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add tongsehow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.