Group Blog
 
All Blogs
 
สองรุ้ง (จดหมายเล่าเรื่องทำบุญเมืองตาลหวาน)

Dear...สายรุ้ง;

อาทิตย์นี้ ฉันไปทำบุญไหว้พระที่วัดพระแก้วน้อย (เขาวัง) เมืองตาลหวานมา นี่ก็เป็นครั้งที่สามของรอบสองเดือนที่ผ่านมา ที่เทียวไปเทียวมาแบบเช้าเย็นกลับ ที่จังหวัดแห่งนี้ จ.เพชรบุรีที่นี่ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องชายทะเล และขนมหวานเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีพุทธสถานแผ่นดินธรรมที่เลื่องลือทั้งด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอีกมากมาย



อาทิตย์นี้ฉันเลือกไปอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขาวัง” เขาวังตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด จุดที่น่าสนใจก็คือ วัดพระแก้วน้อย วัดประจำพระตำหนัก, พระธาตุจอมเพชร และหมู่ที่นั่งอันผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ที่เหมาะกับการถ่ายภาพ Portrait สวยๆ..จริงๆ



ที่นี่ลิงไม่มากเหมือนเมื่อก่อนที่มากับครอบครัวสมัยเมื่อตอนเด็กนะ สิ่งที่สะดุดตาที่สุดเมื่อขึ้นมาโดยรถรางไฟฟ้า ก็คือต้นลีลาวดีที่เรียงรายอยู่สองข้างทาง กอดกันเป็นซุ้ม และถนนซึ่งปูด้วยบล็อคสีแดง เป็นลูกคลื่นบนพื้นที่ที่ลาดบ้าง ชันบ้าง





การจะเดินทางไปแต่ละยอดก็เหนื่อยเอาพอสมควร แต่ก็ชื่นใจมาก เพราะมีแต่ต้นไม้ ดอกไม้ สองข้างทางก็มองเห็นทิวทัศน์เมืองเพชรตลอดทาง โดยเฉพาะเมื่อถึงยอดแต่ละยอดก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง สิ่งที่มองเห็นไม่อยากจะเชื่อเลยว่าฉันได้มายืนตรงจุดๆนี้จริงๆ และจนเกือบจะนึกว่าที่นี่เป็นมหาสวรรค์เสียอีก



และชื่นใจที่สุดเมื่อได้ก้มกราบพระประธานที่วัดพระแก้วน้อย สายลมอ่อนๆจากยอดเขาปลิวผ่านหน้าต่างบานที่เปิดอยู่เข้ามากระทบใบหน้า ฉันกอบเหรียญที่ตระเตรียมมาใส่ตู้ทำบุญเสียกอบใหญ่ นึกปิติใจจริงๆที่มีโอกาสได้ขึ้นมาไหว้พระบนนี้



สถานที่น่าเคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนแบบนี้ ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงก็ดีแล้วนะ สิ่งที่สูงส่งก็สมควรที่จะประดิษฐานบนที่สูงส่ง กาลเวลาผ่านไปหลายพันปี ก็อาจจะยังมีร่องรอยให้ชนรุ่นต่อไปศึกษา และหันมาสนใจพระพุทธศาสนาบ้างก็ได้ ว่าเหตุใดหมู่ชนรุ่นก่อนถึงมีความเคารพความศรัทธาจนต้องมาสร้างวัด ณ ยอดเขาสูงเช่นนี้



ลงจากยอดเขาด้วยความอิ่มบุญ จากนั้นก็เดินทางไปแก่งกระจาน ด้วยความตั้งใจว่าจะต้องมาเก็บภาพพระอาทิตย์ตกน้ำที่นี่ให้ได้


ไปคราวนี้คิดว่าแย่ เพราะฝนตกตอนอยู่ที่แก่งกระจาน..แต่โชคดีที่ตกแป๊บเดียวเท่านั้น และหลังฝนตกฉันก็ได้เห็นสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ได้เมานานเกือบ 20 ปี นั้นก็คือ... สายรุ้ง 2 ชั้น !!!!!




ธรรมดา กว่าจะเห็นสายรุ้งก็ยากมากแล้ว แต่ นี่เป็นรุ้งแบบโค้งเต็มฟ้า และเป็นสายรุ้ง 2 สายที่ซ้อนกันเสียด้วยสิ ฝรั่งเรียกว่า “Double Rainbow” รุ้งสองสายที่มีสีตรงข้ามกัน (เหมือนภาพสายรุ้งในกระจก) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยากมาก



ภาพที่อยู่ตรงหน้า เหนือคำบรรยายจริง ถ้าเล่าอย่างเดียว เธออาจจะจินตนาการไม่เห็น... เข้าใจแล้วซินะว่า ทำไม ฉันถึงรักการถ่ายภาพเสียจริงๆ





รุ้งเริ่มหายไปแล้วแต่ก็มีสิ่งน่าสนใจใหม่เข้ามาแทน นั่นก็คือ น้ำเปลี่ยนสีเพราะแสงจากพระอาทิตย์ที่กำลังตกดิน เกิดเป็นสีเขียวมรกตบ้าง สีทองบ้าง สีม่วงบ้าง สีแดงบ้าง งามสมคำล่ำลือจริงๆ



ฉันนั่งอยู่บนสันเขื่อน สวมเสื้อสีแดงตัวเก่ง พร้อมทั้งดึงฮู้ดขึ้นมาสวมบนศีรษะเพราะละอองฝนเม็ดเล็กๆ(เล็กจริงๆ ) ยังปลิวตามลมโปรยปรายไปทั่ว พระอาทิตย์ตกน้ำไปแล้ว พร้อมสาดส่องสีแดงจ้าเป็นประกายบนผิวน้ำ ได้ยินเสียง.. ฉ่าไหม


คิดถึงมากนะ


-น้อม-

๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓



ภาพชุด "สองรุ้งในแดนสรวง" โดย น้อมเศียรเกล้า



Create Date : 13 ธันวาคม 2553
Last Update : 14 ธันวาคม 2553 12:48:42 น. 3 comments
Counter : 3045 Pageviews.

 
ตำนานของเรื่องรุ้งค่ะ น่าสนใจอ่านเป็นความรู้ เล่าเป็นตำนาน ให้เด็กๆฟังก็ได้

"มีคนเลยเล่าว่า...แต่เดิมรุ้งนั้นมีสีเดียว คือสีโปร่งใส ยามหิวก็ทอดตัวลงมาแอบกินน้ำจากทุ่งนา จนวันหนึ่งเมื่อฝนตกจึงทำให้ปรากฏเห็นเป็นเส้นสีขาว ทุกคนจึงเห็นหมด รุ้งอายมากที่คนอื่นรู้ว่าตนอยู่ตรงนี้ จึงร้องไห้ จนกระทั่งดวงตะวันสงสาร จึงเนรมิตให้เกิดสีแดง เขียว ฟ้า น้ำเงิน และสีอื่นๆ รวม 7 สีเข้าไปยังรุ้งจนเกิดสีสันสวยงาม โค้งเป็นวงกลม สร้างความตื่นใจแก่ต้นไม้ใบหญ้าและสัตว์ต่างๆ

ตั้งแต่นั้นมา รุ้งก็ไม่ปรากฏตัวบ่อยนัก หรือแอบมาโดยไม่บอกใคร หากมีฝนตกครั้งใด ก็จะมีพระอาทิตย์คอยติดตามสาดแสงอยู่ร่ำไป หากดวงอาทิตย์ไม่มาเราก็จะไม่เห็นแสงสีรุ้งนั้น"
++
“ซองคำถาม” ยังค้นตำนานรุ้งกินน้ำไม่ได้ มีแต่ข้อมูลเรื่องความเชื่อ คิดว่าคงพอบรรเทาความอยากรู้ในเรื่องนี้ได้บ้างหลายท้องถิ่นมีความเชื่อเรื่องรุ้งกินน้ำคล้ายคลึงกัน และมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป ที่เก๋ไก๋เห็นจะเป็นเขมรที่เรียกรุ้งกินน้ำในความหมายว่า ธนูพระอินทร์ เพราะมีรัศมีโค้งข้ามฟ้าเหมือนคันธนูที่โก่งจนเต็มที่

ไทยและไทใหญ่เชื่อตรงกันว่า ถ้าเอามือชี้รุ้งกินน้ำแล้วนิ้วจะด้วน ต้องแก้เคล็ดด้วยการเอามือเช็ดก้น ชาวมอญเชื่อว่าถ้าชี้รุ้งกินน้ำแล้วจะโชคร้าย แต่ไม่ได้ระบุว่าจะโชคร้ายอย่างไร ส่วนคนจีนก็เชื่อเช่นเดียวกันว่า รุ้งกินน้ำเกิดขึ้นทางตะวันออกไม่มีใครกล้าชี้ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดโชคร้าย และมักจะทำให้เป็นแผลที่มือที่ชี้นั้น ชาวจีนยังเชื่ออีกว่า ถ้าเมื่อใดเกิดมีรุ้งกินน้ำ เมื่อนั้นฝนจะหยุดตก จนมีคำกล่าวที่ว่า “เหมือนมองหาเมฆเพื่อให้ได้ฝน แต่พอเห็นเมฆมาแล้วก็ไม่สบายใจกลัวรุ้งกินน้ำจะตามมาด้วย แล้วฝนก็จะเหือดหายไปเสีย”

ในลัทธิบอน (Bon) ของทิเบตเชื่อว่า ชาวทิเบตคนแรกลงมาจากท้องฟ้าสู่ขุนเขาสูงด้วยบันไดวิเศษของรุ้งกินน้ำ ครั้นเมื่อได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนา ชาวทิเบตก็ยังเชื่อว่า เมื่อผู้บรรลุมรรคผลได้สิ้นชีวิตลง สังขารก็จะสลายกลายเป็นแสงงดงามของรุ้งกินน้ำ

ความจริงแล้วรุ้งกินน้ำเกิดเป็นวง แต่ที่เราเห็นรุ้งกินน้ำเพียงส่วนหนึ่งของวงกลมเท่านั้น ก็เพราะขอบโลกบังแสงอาทิตย์เสีย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารเครื่องบินอาจจะเคยเห็นรุ้งกินน้ำครบทั้งวงแผ่กระจายออกบนก้อนเมฆ โดยมีเงาของเครื่องบินที่โดยสารไปนั้นเป็นจุดศูนย์กลาง

“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”

ขอขอบพระคุณคุณ "สติง"

//guru.google.co.th/guru/thread?tid=49ca364e6c8a4771


โดย: น้อมเศียรเกล้า วันที่: 14 ธันวาคม 2553 เวลา:17:46:34 น.  

 
อธิบาย ปรากฏการณ์ "รุ้ง" ทางวิทยาศาตร์ และวิธีถ่ายภาพรุ้งค่ะ


รุ้งกินน้ำ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากฝนตก โดยเกิดขึ้นจากแสงแดดส่องผ่านละอองน้ำในอากาศ ทำให้แสงสีต่าง ๆ เกิดการหักเหขึ้น จึงเห็นเป็นแถบสีต่าง ๆ ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า รุ้งปฐมภูมิจะประกอบด้วยสีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง โดยมีสีม่วงอยู่ชั้นในสุดและสีแดงอยู่ชั้นนอกสุด ส่วนรุ้งทุติยภูมิจะมีสีเช่นเดียวกันแต่เรียงลำดับในทิศทางตรงกันข้าม

เราสามารถมองเห็นรุ้งกินน้ำได้เมื่อมีละอองน้ำในอากาศและมีแสงอาทิตย์ส่องมาจากด้านหลังของผู้สังเกตการณ์ในมุมที่สูงจากพื้นไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่รุ้งกินน้ำจะปรากฏให้เห็นชัดเจนเมื่อท้องฟ้าส่วนมากค่อนข้างมืดครึ้มด้วยเมฆฝน ส่วนผู้สังเกตการณ์อยู่ในที่พื้นที่สว่างซึ่งมีแสงส่องจากดวงอาทิตย์ จะทำให้มองเห็นรุ้งกินน้ำพาดผ่านฉากหลังสีเข้ม

ปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำยังอาจพบเห็นได้ในบริเวณใกล้กับน้ำตกและน้ำพุ หรืออาจสร้างขึ้นเองได้โดยการพ่นละอองน้ำไปในอากาศกลางแสงแดด รุ้งกินน้ำยังอาจเกิดจากแสงอื่นนอกจากแสงอาทิตย์ ในคืนที่แสงจันทร์มีความสว่างมากๆ อาจทำให้เกิดรุ้งกินน้ำก็ได้ เรียกว่า moonbow แต่ภาพรุ้งที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างจางมองเห็นได้ไม่ชัด และมักมองเห็นเป็นสีขาวมากกว่าจะเห็นเป็นเจ็ดสี

การถ่ายภาพวงโค้งสมบูรณ์ของรุ้งกินน้ำทำได้ยาก เพราะจำเป็นต้องกระทำในมุมมองประมาณ 84° ถ้าใช้กล้องถ่ายภาพแบบปกติ (35 mm) จะต้องใช้เลนส์ขนาดความยาว 19 mm หรือเลนส์ไวด์แองเกิลจึงจะใช้ได้ ถ้าผู้สังเกตการณ์อยู่บนเครื่องบิน อาจมีโอกาสมองเห็นรุ้งกินน้ำแบบเต็มวงได้ โดยมีเงาของเครื่องบินอยู่ที่ศูนย์กลางวง


โดย: น้อมเศียรเกล้า วันที่: 14 ธันวาคม 2553 เวลา:17:48:39 น.  

 
เราก็อัศจรรยมากเลยค่ะเจอรุ่ง 2 เส้นที่แก่งกระจานเหมือนกันตอนนั้งเรือออกไปตื่นเต้นมากค่ะ


โดย: Joyly IP: 1.46.2.177 วันที่: 16 มิถุนายน 2561 เวลา:23:16:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.