Group Blog
 
All blogs
 

สิงโตมะรุย (Cirr. dentiferum) ชมพูหวาน

หวานจับใจ ชมพูใส สิงโตมะรุย

สิงโตชนิดนี้ เมื่อเข้าเรือนกล้วยไม้พันทิปใหม่ๆ หลายคนบอกว่าเป็นกล้วยไม้ที่เพิ่งค้นพบในประเทศไทย แต่ความจริงแล้ว มีการค้นพบมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยแพร่หลาย เพราะกล้วยไม้สกุลนี้ ที่ดอกเล็กๆ สีหวานๆ ไม่ค่อยได้รับความนิยมในสมัยก่อน

แต่สี่ห้าปีมานี้ สิงโตดอกเล็กๆ ได้รับความนิยมมาก มีการผสมข้ามพันธุ์ และผสมพันธุ์แท้เป็นจำนวนมาก



ตอนแรกเห็นครั้งแรก ผมก็ตกหลุมครับ หลุมรัก หลุมเบ้อเร่อเลย

แล้วก็มีหนุ่มตี๋คนใต้ ใจดีหิ้วมาฝาก ปีแรกที่ได้มานั้นก็ออกดอกทันทีเลยเหมือนกัน แต่ปีต่อมา ต่อมา ก็ไร้วี่แวว นี่เข้าปีที่ 4 ของการเลี้ยงชนิดนี้ นำไปแขวนไว้ใต้ต้นแก้ว แสงน้อย แล้วผมก็หนีไปต่างจังหวัดนาน ไม่ค่อยได้รดน้ำ เขาก็เลยเริ่มออกดอก แทงช่อมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน

ผมไปสังเกตเห็นเอาดอกที่โรยไปเมื่อต้นเดือน พค. 2550 นี่เอง ซึ่งขณะนี้ก็ยังทะยอยบานอยู่สี่ห้าช่อ สงสัยจะบานไปจนถึงสิ้นเดือน แต่สิงโตอย่างนี้ บานไม่นานครับ สี่ห้าวันก็โรยแล้ว



Cirrhopetalum dentiferum สิงโตมะรุย (สิงโตฟันจัก)

ชนิดนี้เป็นไม้ถิ่นใต้ครับ พบเจอตั้งแต่แถบระนอง พังงา กระบี่ อยู่ในป่าดงดิบชื้น พบเจอเขายากพอควร ระดับความสูงขนาดไหนยังไม่แน่ชัด เริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนพฤษภาคม ตามตำราว่าไว้

ชื่อภาษาละติน มีคำว่า Denti ผมก็แปลไม่ออกหรอกครับ แต่คิดถึงคำว่า Dentis เกี่ยวกับ "ฟัน" แน่ๆ ออกดอกเรียงกันเป็นช่อแบบซี่ร่ม กลีบเรียวคล้ายฟัน สีชมพู มีกระนิดๆ น่ารัก หลายคนก็เลยเรียกว่า "ฟันจัก" แต่ดูแข็งๆ นะครับ

บางคนเรียกว่า "สิงโตมะรุย" ตามสถานที่ที่มีคนเจอแรกๆ คือแถบคลองมะรุย จ. พังงา

สมัยก่อนผมเคยเดินทางไปแถบนี้บ้าง อ่านหนังสือเกี่ยวกับรอยเลื่อนคลองมะรุยก็พอควร แถบระนอง พังงา น่าเที่ยวครับ ด้านหนึ่งเป็นทะเลตะวันตก ด้านหนึ่งเป็นภูเขาสูง ป่าดิบชื้น แต่เสียดายเหลือเกินว่า ขนาดมีสึนามิกวาดเก็บ พื้นที่ชายหาดไปเมื่อสองสามปีก่อนนี้

เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนสร้างตึกสูง ชิดติดริมทะเลกันอีกแล้ว

ดอกไม้เล็กๆ ดอกนี้ บางทีก็ทำให้ผมค้นคว้าอะไรได้เยอะแยะเหมือนกันนะครับ ไว้จะไปค้นเรื่อง "คลองมะรุย" มาคุยกันอีกที




 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 30 สิงหาคม 2550 17:45:24 น.
Counter : 2043 Pageviews.  

สิงโตพัด จากพัทลุง

เปล่าหรอกครับ
ยังไม่ได้มีชื่อไทยอย่างที่ผมเขียนหรอกครับ

แต่ว่า ยังไม่ทราบชื่อชนิด แต่มีเรื่องเล่าของที่มา
ปกตินอกจากพันทิป ผมยังเป็นสมาชิกของชมรมนักนิยมธรรมชาติ

แล้วก็ไปเล่นในเวบบอร์ดของ "เฟินสยาม"
คราวนี้มีเพื่อนสมาชิกเฟินสยามท่านหนึ่งอยู่พัทลุง มีกล้วยไม้ดอกนี้ ด้วยความที่สนใจกลุ่มสิงโตเป็นทุนเดิม ก็เลยอ้อนวอนขอแบ่งมาชื่นชมสักหน่อย



ได้มานานหลายเดือนแล้วครับ จนเมื่อเช้าวันศุกร์ต้นเดือนเมษายนนี้เอง รดน้ำต้นไม้ตอนเช้า ไปจ๊ะเอ๋เข้า อ้าว ดอกบานเสียแล้ว ดอกบานเต็มที่แล้วด้วย

ก็เลยคว้าออกมาแขวน วิ่งไปหยิบกล้อง แล้วก็รัวถ่าย ถ่าย ถ่าย ถ่าย
บันทึกภาพออกมาอย่างรวดเร็ว กดไปยี่สิบกว่าครั้ง
ได้รูปที่พอดูได้มาสามสี่ภาพ

ยังไม่รู้ชนิดที่แน่นอนครับ กำลังสอบถามผู้คนไปทั่วเหมือนกัน

แต่ที่แน่ๆ เป็นสิงโตชนิดหนึ่งแน่นอน ลักษณะหัวเหมือนสิงโตเหยี่ยวพัทลุง หรือสิงโตดอกคู่ ช่อดอกออกมาแบ่งเป็นสอง แล้วบานสองดอก
ผมเลยเรียกว่า สิงโตคู่พัทลุง ไปก่อน จนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าชื่อเรียงเสียงไร

สิงโตชนิดนี้ผมแขวนไว้ใต้ร่มชมพู่น้ำดอกไม้ ได้รับร่มเงาตลอดทั้งวัน
อีกทั้งความชื้นก็สูง ไม่ปรากฏว่าจะทิ้งใบ แต่ช่อดอกแทงมากจากหัวที่ทิ้งใบไปแล้ว

ดอกมีขนาดเล็กมาก สีขาวมีจุดประสีชมพูเต็มไปหมด กลีบดอกสองกลีบล่างติดกัน เหมือนกับกลุ่มสิงโตพัดทั่วไป กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก กลีบดอกด้านบนชูตั้งขึ้น มีลายเปรอะเล็กน้อย กลีบปาที่กระดกได้มีสีเหลืองถึงส้ม มีจุดประสีแดงเป็นปื้นบริเวณโคนปาก

ก้านดอกยาวประมาณ 3 ซม. ดอกเดี่ยวมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาว 1.2 ซม.

ปลูกเลี้ยงเอาใจจดใจจ่อ อยากได้เห็นดอก อยากได้ชื่นชม เพราะว่าเป็นช่วงที่สิงโตพัดแดงบานจนผ่านไปนานแล้ว

ขอบคุณเพื่อนคนพัทลุงผู้ใจดีแบ่งปันมาให้เลี้ยง และดีใจที่ต้นไม้ออกดอกเบ่งบาน แม้ว่าในขณะนี้ที่บ้านจะมีกล้วยไม้หลายชนิดแย่งกันผลิดอกให้ชื่นชม

แต่พอเห็นสิงโตชนิดนี้ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพของคนที่ไม่เคยพบตัวกัน
ใจผมกับชื่นบาน




 

Create Date : 10 เมษายน 2549    
Last Update : 30 สิงหาคม 2550 17:30:36 น.
Counter : 1015 Pageviews.  

Cirr. curtisii "พัดโบก"

Cirrhopetalum curtisii

สิงโตในกลุ่มพัดชนิดนี้ จำแนกไม่ยากเลยจากดอก แต่จำแนกยากมากหากสังเกตที่หัวและใบ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันทั้ง พัดแดง พัดโบก ร่ม แต่ถ้าออกดอกเมื่อไร สีสันอันสดใสก็จะบ่งชี้ได้เองว่าเป็น "พัดโบก"




จากการสังเกต ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะพบทุกต้นหรือไม่ แต่ต้นที่บ้านเลี้ยงในร่มพอสมควร ซึ่งเป็นร่มไม้ แสงผ่านได้ประมาณ 50 เปอร์เซนต์ เมื่อแทงดอกออกมาจนถึงระยะเวลาเปิดดอกเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ดอกบาน3-4 วัน โดยเมื่อดอกบานเต็มที่เหมือนกับมีน้ำใสๆ อยู่เต็มทั้งช่อดอก ทำให้ดอกมันวาว



สิงโตที่มักพบในพื้นที่ป่าดงดิบทาางภาคใต้ชนิดนี้ เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่มีดอกขนาดเล็ก ช่อดอกแบบซี่ร่ม สีแดงสดใส กลีบเลี้ยงด้านบนจะมีชายเป็นเส้นยาว กลีบเลี้ยงคู่ข้างแนบติดกันรูปทรงค่อนข้างอ้วน โค้งลงนิดๆ ปลายเว้าหรือเต็ม แต่ไม่แหลม กลีบดอกเล็กมาก กลีบปากมีสีแดงปลายปากเป็นสีเหลือง ดูเหมือนจุดเล็กๆ สีเหลือง ทำให้น่าสนใจ

มีรายงานว่าพบมากแถบระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา
ออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ในพื้นที่ภาคใต้ออกดอกได้มากกว่านั้น ในการปลูกเลี้ยงที่กรุงเทพ เมื่อต้นสมบูรณ์เต็มที่สามารถออกดอกได้ตามฤดูกาล และในขณะที่ออกดอก ก็ยังมีการแทงลำใหม่ออกมาในช่วงเดียวกัน



แม้ว่าสิงโตชนิดนี้จะพบมากในภาคใต้ แต่สามารถเลี้ยงให้ออกดอกได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย

สำหรับการผสมเกสรโดยฝีมือมนุษย์นั้น ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก เพราะว่าเกสรมีขนาดเล็กมาก ดอกยาวเพียง 1 ซม. และกว้าง 0.5 ซม. เกสรมีขนาดเพียง 2 มิลลิเมตร

ผมพยายามทดลองติดฝักหลายหน แต่ก็ยังไม่สำเร็จ แต่ผู้มีประสบการณ์บอกว่า อาจจำเป็นจะต้องใช้แว่นขยายแบบที่ช่างซ่อมแว่นตาใช้ มาช่วยในการเขี่ยเกสร ซึ่งก็คงจะจริงเพราะว่าเพ่งแล้วเพ่งอีก ก็ยังหาไม่ค่อยจะเจอ

ถึงว่า เวลาที่ดีที่สุดในการผสมเกสรสิงโตคือตอนเช้าๆ ก่อน 10 โมง เพราะแสงกำลังดีมองเห็นได้ชัดนั่นเอง




 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 30 สิงหาคม 2550 17:27:46 น.
Counter : 1088 Pageviews.  

สกุล : ซิร์โรห์เปะตาลุม

Cirrhopetalum สิงโตใบพัด

นานๆ จะคว้าหนังสือ"ตำราเล่นกล้วยไม้" พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต มาอ่าน

พออ่านเจอ สกุล : ซิร์โรห์เปะตาลุม ก็สงสัย พอเปิดเข้าไปก็ถึงบางอ้อ
เลยอยากนำเนื้อความมาให้หลายๆ ท่านที่อาจจะไม่เคยได้อ่าน
หรือไม่เคยได้เห็นหนังสือเล่มนี้มานำเสนอ โดยคงตัวหนังสือตามต้นฉบับเดิมไว้



" เปนกล้วยไม้อากาศของชมภูทวีปสกุลหนึ่ง, ซึ่งไปข้างแปลกมากกว่างาม, ไม่น่าเล่น ;
ลูกกล้วยไม้รูปกลมมักเล็กขนาดผลพุทรา, บางชนิดเขื่องกว่านั้น, แลบางชนิดใบยาวตั้งคืบก็ได้;
มีใบลูกกล้วยละ ๑ ใบสีเขียวแก่ด้านๆ.
ดอกลำพังตัวกลีบนอก ๒ ข้างนั้นใหญ่ยาวเกินส่วนรวบปลายแหลม, แลพับเบื้องโคนกลีบทบไปข้างหน้า, ปลายกลีบซ้อนกันฤามาประสานติดกันเอง ทำนองห่มสะใบคล้องคอ.
ปากเล็กเกือบแลไม่เห็น, แลรังเกษร กระดิกได้ดังดอกไม้ไหว, ซึ่งเป็นเหตให้เรียกกันในนี้ว่า "สิงห์โตกลอกตา",

บางชนิดเป็นช่อแลดอกแขวนอยู่เปนวงในแนวเดียวกันเปนรูปร่มระย้าครึ่งซีก.

อนึ่ง ไม้สกุลนี้เปนพวกเดียวกันกับสกุล บุล'โบฝึลลุม, ลินด์เลย์เปนคนแยกไปตั้งสกุลใหม่ขึ้นมาเปนซีร์โรห์เปะตาลุมเสียพวกหนึ่ง, โดยเห็นแก่ช่อดอกที่วงเปนร่มระย้า; แต่ก็ดูไม่สู้แน่, จำพวกดอกเดียวก็ยกไปเข้าสกุลนี้บ้าง, ซ้ำอาจารย์ชั้นหลังคือ ไรค์เซ็นบาค เปนต้น ได้ยกซีร์โรห์เปะตาลุมของลินด์เลย์บางชนิดกลับคืนไปเป็น บุล'โลฝึลลุมเสียใหม่ก็มี; จึงยังออกจะเลอะๆ ชี้ขาดไม่ลงว่าอะไรเปนอะไร, ทั้งหลักฐานที่จะตรวจค้นชื่อในมือข้าพเจ้าก็บกพร่องมากในเรื่องนี้, จึงขอออกตัวไว้ว่าอาจจะหลงได้มากๆ,

จะชักมาลงทำเนียบแต่ชนิดเดียวที่รู้แน่ว่ามีในประเทศเรา (แต่อาจจะผิดชื่อก็ได้ ไม่รับรอง) คือ :

ซ. ปุลฆรุม (ร) = C. pulchrum
ตามหนังสือที่พบ (วิลเลียมส์) มีข้อความเพียงว่า "ไม้ชนิดนี้สวยดี, กลีบในประสานติดกันสีเหลืองฟาง, ประอย่างหนาแน่นด้วยสีม่วงชมภูด้านๆ; กลีบนอกบนรูปหมวกครอบ ปลายยืดยาวออกไปเปนหางรูปเส้นด้าย, สีม่วงชมภู, ด้านในประจุดเลอียดสีเดียวกันแต่เปนสีแก่, กลีบในแลปากสีม่วงชมภูแก่. - ฮัลมา เฮรา หมู่เกาะมลายู" ได้ความเพียงเท่านี้ จะสันนิษฐานเอาความแน่ยังไม่ได้ ว่าตรงกับชนิดที่ข้าพเจ้ามุ่งหมายนั้นฤาไม่, ซึ่งมีช่อเปนวงร่มน้อยๆ จำนวราว ๗ ดอกต่อช่อ และซึ่งเรียกว่า "สิงห์โตกลอกตา" .

ฤดูดอกปีหนึ่ง ดูหลายคราว




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2548    
Last Update : 26 ตุลาคม 2548 11:31:50 น.
Counter : 673 Pageviews.  

Cirrhopetalum สิงโตพัด

เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๘ได้ไปเดินเล่นที่ภูเก็ต
เจอสวนกล้วยไม้ของคุณป้าบุญเสนอ คุณป้าเก็บสิงโตไว้หลายชนิด แต่มีดอกบานอยู่เพียงชนิดเดียว เป็นสิงโตร่มชมพู (Cirrhopetalum auratum)
ที่สวยมาก เลยเอาภาพมาฝาก

สิงโตชนิดนี้พบมากทางภาคใต้ มีรูปทรงที่น่ารัก ได้ข่าวว่าเลี้ยงง่าย ออกดอกตลอด (เพราะผมเองยังไม่มี) คราวนี้เอามาให้ชมกันก่อน แล้วจะเพิ่มเติมส่วนวิชาการภายหลัง



Cirrhopetlum Lindl. สกุลสิงโตใบพัด
เมื่อนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ john Lindlay พบกับกล้วยไม้สกุลนี้ และตั้งชื่อให้ ก็เมื่อปี ค.ศ. 1830 (พ.ศ. 2373) เกือบสองร้อยปีมาแล้ว
ชื่อสกุลนั้นมาจากภาษาละติน cirrho แปลว่า ม้วนพัน
petalum แปลว่า กลีบดอก รวมหมายถึง กลีบดอกที่โค้ง
ยังไม่มีการศึกษาที่แน่นอนลงไปว่า มีกี่ชนิดกันแน่ในโลกสีน้ำเงินใบนี้ เพราะบางทีชนิดใหม่ๆ
อาจอยู่ในป่าของเมืองไทย หรือเพื่อนบ้านเรานี้เอง แต่ที่แน่ๆ เมืองไทยค้นพบแล้ว 13 ชนิด
และมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย

ที่พบเห็นบ่อยๆ เช่น สิงโตพัดแดง สิงโตร่ม สิงโตพัดเหลือง สิงโตมะรุย เป็นต้น



ถามว่าปลูกเลี้ยงยากไหม ไม่ยากเลย โดยเฉพาะสิงโตพัดแดง และสิงโตร่ม ออกดอกบานได้ในหลายแห่ง ถ้าที่บ้านมีความชื้นสูง จะเกาะไม้ หรือใส่กระถางดินเผา ก็ทำได้ ชอบแสงสว่าง แต่ไม่ควรถูกแดดร้อนตอนเที่ยงตรงๆ ใบจะไหม้ได้

หัวมีลักษณะเป็นรูปหยดน้ำ บางชนิดถ้าไม่สมบูรณ์อาจออกเป็นรูปเหลี่ยม ใบยาวตั้งแต่ 5-15 ซม. แล้วแต่ชนิด สีใบมีความหลากหลาย ตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวเข้ม ไปจนถึงเกือบแดง

ระมัดระวังเชื้อรา เวลาเกิดหัวใหม่ รวมถึงโรคเน่าจากแบคทีเรีย ถ้ามีความชื้นสูงเกินไป แต่ถ้าเลี้ยงแห้งๆ หน่อย หัวอาจจะเล็ก แต่รับรองว่า เมื่อสมบูรณ์ จะได้เห็นดอกแน่นอน




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2548    
Last Update : 30 สิงหาคม 2550 17:20:36 น.
Counter : 1179 Pageviews.  


เสือจุ่น
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add เสือจุ่น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.