อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ
Tsundoku ภาวะที่ชอบซื้อหนังสือมาไว้มาก ๆ แล้วไม่ได้อ่าน คุณเป็นไหม ?



ดองหนังสือ
ชอบซื้อหนังสือมาดองทิ้งไว้ ทั้ง ๆ ที่หนังสือเล่มเก่า ๆ ในตู้ก็แทบไม่เคยได้อ่าน นี่คืออาการดองหนังสือที่หลายคนเป็น แต่ก็แอบไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไม งั้นมาลองเช็กเหตุผลลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในใจของคุณกัน

          ทุกครั้งที่มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เรามักจะเห็นคนบ่นว่าล้มละลายกันบ่อย ๆ พร้อมบ่นกับตัวเอง กับเพื่อน หรือบนโซเชียลประมาณว่า นี่ซื้อหนังสือเป็นตั้งอีกแล้ว แต่เล่มเก่ายังไม่ได้อ่านเลยจ้า...เอาเป็นว่าใครมีอาการชอบดองหนังสือไว้เฉย ๆ ลองมาอ่านคำอธิบายถึงภาวะชอบดองหนังสือจากคุณหมอแมวกันค่ะ รู้ไหมว่าอาการนี้มีชื่อเรียกด้วยนะ และรับรองว่าอ่านจบแล้วคุณจะเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย

ดองหนังสือ

ในช่วงงานหนังสือ เราจะเห็นภาพคนหลาย ๆ คนที่ซื้อหนังสือแบบเป็นตั้ง ๆ ลากกระเป๋าเดินทาง...จากนั้นผ่านไปหลายเดือน จนจะถึงงานหนังสือครั้งถัดไปแล้ว ก็ยังอ่านไม่จบอยู่ดี แต่ก็ยังซื้อหนังสือใหม่ ๆ มาเพิ่มอยู่ดี

          มันมีชื่อเรียกครับ...

Tsundoku...เป็นภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึงการเสาะหาหนังสือหรือเอกสารมาอ่าน...จากนั้นก็กองทิ้งไว้ ไม่ได้อ่าน (มาจากคำว่า อ่านหนังสือ+หาของมาเตรียมไว้ภายหลังและจากไป) ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Tsundoku

ถือเป็นคำที่ตรงไปตรงมาที่สุดกับพฤติกรรมนี้ เทียบเท่ากับที่คนไทยใช้คำว่า "ดองหนังสือ"

ส่วนในภาษาอังกฤษไม่ได้มีคำเฉพาะเสียทีเดียว...โดยคำที่ตรงที่สุดก็จะเป็น Book Buying addiction : เสพติดการซื้อหนังสือ ซึ่งชื่อเน้นไปที่การซื้อ...แต่ว่ากลุ่มที่สนใจเรื่องนี้ก็จะบ่นเหมือน ๆ กันคือ ชอบซื้อมาแต่ไม่ได้อ่าน

          แต่แม้ว่าทางกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษจะไม่มีคำเฉพาะถึงการซื้อหนังสือมาดอง ทว่าปัญหานี้ก็มีอยู่จริง ถ้าเราค้นหาในอินเทอร์เน็ตก็จะพบว่ามีคนมีปัญหานี้มากมาย

งานหนังสือ
ภาพจาก Aumza2529 / Shutterstock.com

ทำไมคนเราบางคนจึงชอบซื้อหนังสือแต่ไม่อ่านหรืออ่านไม่จบ

1. เรากลัวว่าเราจะไม่เจอหนังสือนี้อีก (ตามธรรมชาติ)

          หลายครั้งเราเจอหนังสือที่เราสนใจ ไม่แน่ใจว่าจะซื้อดีไหม...จากนั้นเมื่อกลับไปหาอีกก็ไม่เจออีกแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบเก็บสิ่งของ เพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับอนาคต ซึ่งความรู้สึกที่ว่าได้เจอบางสิ่งบางอย่างแล้วไม่ได้เก็บไว้ จากนั้นเมื่ออนาคตมาถึงเราต้องใช้แต่ไม่มี มันจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีอย่างมาก ๆ บางคนจึงมีความอยากซื้อทันทีที่เห็นหนังสือที่รู้สึกถูกใจ

2. เรากลัวว่าเราจะไม่เจอหนังสือนี้อีก (เพราะสำนักพิมพ์ไม่พิมพ์เพิ่ม)

          ในกลุ่มนักอ่านหนังสือบางประเภท จะรู้กันดีว่ามีหนังสือบางกลุ่มที่เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วมักจะไม่มีโอกาสได้พิมพ์อีกเป็นครั้งที่ 2...และอาจจะไม่มีทางเจอมันอีกเลยเพราะเฉพาะกลุ่มจนกระทั่งร้านหนังสือใหญ่ ๆ ไม่อยากนำมาขาย ดังนั้นกลุ่มนักอ่านกลุ่มนี้จะซื้อหนังสือพวกนี้มาตุนไว้

3. เราอยากได้ความสุขจากการซื้อ

          คนเรามีความสุขเมื่อได้เลือก และได้จ่ายเงิน เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีอำนาจและควบคุมชีวิตเราเองได้ บางคนจะรู้สึกดีเมื่อเห็นหนังสือที่ตนซื้อมา (คล้าย ๆ กับคนที่ชอบซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับมาเก็บ)

4. เรามีความสุขกับการจินตนาการสิ่งที่จะได้จากการอ่านหนังสือ

          บางคนอยากพัฒนาตนเอง ก็จะซื้อหนังสือพัฒนาตนเองมาเก็บไว้ และคิดว่าเมื่อได้อ่านแล้วจะมีชีวิตที่ดีขึ้น บางคนเห็นไอดอลของตนซื้อหนังสือมาอ่าน ตนอยากเก่งแบบนั้นบ้าง จึงหาหนังสือมาดองไว้ กะว่ามีเวลาจะอ่าน จะได้เก่งแบบนั้นบ้าง

          ซึ่งข้อที่ทำให้แตกต่างกันคือ ถ้าเรา "มีความสุขกับการจินตนาการว่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือ" มากกว่า "ความตั้งใจได้ประโยชน์จากหนังสือ" ความอยากอ่านของเราจะลดลงเพราะเราได้ความสุขจากการซื้อไปแล้ว

5. สิ่งที่ทำให้เราอยากซื้อนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว

          ตัวของเราตอนที่ซื้อ เป็นคนละอารมณ์และความรู้สึกกับตัวเราในตอนนี้ บางเรื่องเป็นเรื่องหายากในอดีต เราจึงอยากอ่าน...แต่เวลาผ่านไป คนอ่านเอามาเขียนต่อมีเยอะ เราก็ลดความอยากอ่าน บางเรื่องเป็นนิยาย เราเจอเพื่อนสปอยล์ เราก็ไม่อยากอ่าน

6. ไม่มีเวลาแต่เราหวังว่าเราอยากจะอ่าน

          ตรงไปตรงมา คือเราให้เวลากับอย่างอื่นมากกว่า และเราหวังว่าเมื่อมีเวลาจะแบ่งให้ เราก็จะอ่านหนังสือ แต่เมื่อเรายังเห็นสิ่งอื่นสำคัญกว่า เราก็จะไม่แบ่งเวลาให้การอ่านหนังสือจนทำให้เราไม่ได้อ่านสักที

7. อยากให้คนอื่นเห็นเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ

          ซื้อมาถ่ายปกอัพ/ซื้อมาเป็นเครื่องประดับบ้าน (จริง ๆ ข้อนี้ไม่นับ เพราะแบบนี้คือเราไม่ได้ตั้งใจจะอ่านมันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว)

ดองหนังสือ

          ผลของการ "ดองหนังสือ" ที่มีต่อเรา แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงมาก แต่การดองหนังสือไว้มาก ๆ ก็อาจจะไม่ดีกับตัวของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น

1. ทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับตนเอง

          การ "ซื้อ" หนังสือจะทำให้เรารู้สึกว่าเราได้สัญญากับตนเองว่าจะอ่าน พอเราไม่ได้อ่าน ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับเราโกหกตนเอง ผิดสัญญากับตนเอง...บางคนจะเกิดความรู้สึกด้อยค่า อาย ไม่พอใจตัวเอง หรือลดความรู้สึกเคารพในตัวตนของตนเอง

2. มีผลต่อความสัมพันธ์

          หนังสือเต็มบ้าน แย่งที่เก็บของของคนอื่น และถ้ามีคนมาต่อว่าว่า "ซื้อมาแต่ไม่ยอมอ่าน"

          มันก็จะเป็นการเปิดบาดแผลในข้อ 1

แล้วเราจะทำอย่างไรดี...

ดองหนังสือ

วิธีแก้ไข

1. ก่อนซื้อทุกครั้ง หาสาเหตุของการซื้อก่อน...และตั้งกติกา

          - ถ้าคุณซื้อเพราะต้องการคุณค่าจากการอ่าน - ให้ตั้งใจ ตั้งกฎกับตนเองเลยว่าจะอ่านมันตอนไหนยังไง

          - ถ้าคุณตั้งใจจะซื้อ เพราะมีความสุขจากการซื้อ แต่คิดได้ว่าไม่ได้อยากอ่าน ก็ยั้ง ๆ ไว้นิดก่อนซื้อ
          - ถ้าตั้งใจจะซื้อ เพื่ออัพลง Social...ไปที่ร้านหนังสือ ถ่ายปกก็พอ

2. เช่าหนังสือ

          คนจำนวนไม่น้อย อ่านหนังสือรอบเดียวแล้วไม่กลับมาอ่านอีก
          การเช่าหรือยืม จะเป็นการกำหนดเวลาไปในตัว เสียเงินไม่มาก และท้ายที่สุดเราไม่เปลืองที่เก็บ

3. หาเวลาบังคับอ่านหนังสือในแต่ละวัน ไม่อ่านขาดและไม่อ่านเกินเวลาที่กำหนด

          หาเวลา 15 นาที ที่จะไม่ทำอะไรเลยนอกจากอ่านหนังสือ คนส่วนมากที่ไม่มีเวลา จริง ๆ มีเวลา แต่เขาให้ความสำคัญกับการอ่านไม่มากพอ...หรือบางคนอาจจะไม่มีเวลาจริง ๆ เพราะว่าการส่องเฟซเพื่อน การอ่านข่าวเรื่องทั่วไป ซุบซิบดารา ดูบอล ดูหนัง ดูละคร ดูเกมโชว์ มันสำคัญกว่าการอ่านหนังสือสำหรับคนคนนั้น

          คืออย่าเข้าใจว่าที่ว่ามาทำไม่ได้นะ แต่อยากให้เรียงความสำคัญกับตนเอง...ว่าเราเห็นอะไรสำคัญกว่า (รอบ ๆ ตัว มีคนหลายคนที่ให้ความสำคัญกับการดูละครและเกมโชว์มากกว่าการอ่านหนังสือ เพราะสำหรับชีวิตเขา การดูละคร มีผลต่อรายได้มากกว่าที่การอ่านหนังสือจะทำได้)

          สำหรับคนที่คิดว่าอ่านหนังสือสำคัญ แบ่งเวลาไว้ 15 นาที แล้วอ่านทุกวันติดกันสักเดือนนึงไม่ต้องอ่านเกิน 15 นาที...อย่าอ่านสะสมแล้วบอกตนเองว่าวันนี้ไม่อ่านเพราะเมื่อวานอ่านแล้ว

          ทำจนเป็นนิสัยสักเดือน แล้วตัดสินใจเองว่าจะอ่านต่อยังไงหรือไม่

4. อ่านอย่างมีจุดหมาย

          ขีดเส้น highlight จดโน้ตย่อ มนุษย์เราไม่มีทางจำทุกอย่างได้หมด...ยังไงก็ต้องจด ยังไงก็ต้องบันทึก เพื่อการกลับมาอ่านใหม่หรือหาข้อมูลซ้ำจะได้ทำได้ง่าย การทำโน้ตย่อจะทำให้เรารู้สึกว่าเราอ่านแล้วได้อะไรบางอย่างกลับมา ไม่รู้สึกสูญเปล่า จะได้อ่านใหม่

5. ซื้อ Ebook/ซื้อออนไลน์/ซื้อมือสอง

          การทำในข้อนี้ จะช่วยลดตัวกระตุ้นความอยากซื้อเพราะกลัวว่าจะหาซื้ออีกไม่ได้

          การเข้าไปดูในออนไลน์จะช่วยให้เราเห็นว่า จริง ๆ หนังสืออาจจะไม่ได้หายากอย่างที่เรากลัว

เป็นแบบนี้ผิดปกติหรือไม่ จะเป็นโรคจิตไหม

          เวลาคุยถึงเรื่องนี้ จะมีคนชอบไปอ้างถึงภาวะ Bibliomania คือคำว่า Bibliomania เป็นอาการทางจิตในกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ ที่มีความอยากได้หนังสืออย่างแรงกล้า ถ้าไม่ได้จะมีความรู้สึกทุกข์ทรมาน ต้องซื้อหรือขโมยหนังสือ...และจะซื้อแม้ว่าจะมีปัญหาทางการเงิน...เอาหนังสือมาเก็บไว้จนมีปัญหาเรื่องพื้นที่ หรือทะเลาะกับคนในครอบครัว ซึ่งหากเป็นระดับนี้ต้องรักษา การที่คนเอาคำว่า Bibliomania มาใช้โยงเข้ากับการ "ดองหนังสือ" ทั้งที่มันเป็นคนละเรื่องกัน เลยทำให้คนอ่านเข้าใจผิดไปจนถึงกังวลว่าจะเป็นโรคจิต หรือกังวลว่าคนใกล้ตัวกำลังเป็นโรคจิตโดยไม่รู้ตัว

          Bibliomania คือการย้ำคิดย้ำทำ เสาะแสวงหาหนังสือมาโดยก่อให้เกิดปัญหา ต่างจากการดองหนังสือ ที่เกือบทั้งหมดเป็นแค่การรักหนังสือ (Bibliophile) เพียงแต่เราไม่มีเวลาหรือไม่ได้อ่านมันเท่านั้นเอง

ถ้าไม่ได้ไปขโมยใครมา ไม่ได้ซื้อจนการเงินขัดสน ไม่ได้ซื้อแล้วไปสุมจนมีหนูมาขึ้นบ้าน ก็ไม่ต้องกังวลครับ ค่อย ๆ หาเวลาอ่านกันไปก็พอ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊กความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
mormaew.blogspot



Create Date : 09 เมษายน 2560
Last Update : 9 เมษายน 2560 12:57:40 น. 0 comments
Counter : 1243 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนี่งหน่อง
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.