"ข้าพเจ้าไม่ขอพบเจอกับคนพาล เพราะคนพาลย่อมแนะนำในสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ ย่อมชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำคนพาลถึงจะแนะนำดีเขาก็โกรธ" (กฤษฏ์ ธรรมกฤตกรณ์)

สวรรค์ชั้นที่ ๔ ดุสิต

เป็นที่สถิตแห่งเทพยดาทั้งหลาย ผู้ไม่มีความทุกข์ ปราศจากความร้อนใจ มีความยินดี และแช่มชื่นอยู่เป็นนิจ เป็นภูมิที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เป็นเทวดาที่ประเสริฐกว่าเทวดาในภูมิอื่น ๆ เป็นเทวดาที่มีจิตใจรู้บุญรู้ธรรมเป็นอย่างดี มีจิตยินดีต่อการฟังธรรมเป็นยิ่งนัก

เพราะเมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่มีศีลทำบุญให้ทาน มีจิตใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่องยุติธรรม ได้ฟังธรรมบ่อย ๆ มีปัญญาดี ปฏิบัติดีตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มองเห็นธรรมได้อย่างถ่องแท้ รู้จักหลักในการใช้สติปัญญา ทบทวนและไตร่ตรองในธรรมที่มีประโยชน์และคุณค่าที่แท้จริง

เป็นชั้นสูงสุดของผู้ที่มีคู่ครองประจำ ส่วนใครที่ไม่มีคู่ก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอันใดเหมือนเทวดาที่อยู่ชั้นต่ำกว่า




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 31 กรกฎาคม 2552 11:23:27 น.   
Counter : 799 Pageviews.  

สวรรค์ชั้นที่ ๕ นิมมานรดี



เป็นที่สถิตของเทพยดาผู้มีความยินดีเพลิดเพลินในกามคุณ ที่เนรมิตขึ้นมาตามความพอใจของตนเอง จะไม่มีคู่ครองประจำ เมื่อใดอยากเสวยกามคุณก็เนรมิตขึ้นมาเอง เมื่อไม่ต้องการก็ให้หายไป อยากจะได้อะไรก็เนรมิตเองได้ทุกอย่าง




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 2 สิงหาคม 2552 11:53:07 น.   
Counter : 1926 Pageviews.  

สวรรค์ชั้นที่ ๖ ปรนิมมิตวสวัตตี

เป็นที่สถิตของเทพยดาที่เมื่อต้องการเสวยในกามคุณ อย่างใดเวลาใด จะมีเทวดาที่รู้ความต้องการจัดการเนรมิตให้ เมื่อได้เสวยกามคุณสมความปรารถนาแล้ว สิ่งที่เนรมิตมาก็จะหายไป เทพยดาชั้นนี้จึงไม่มีคู่ครองประจำ เช่นเดียวกับเทวดาในชั้นนิมมานรดี อยากได้อะไรก็มีผู้เนรมิตให้ทุกอย่าง

สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตอยู่ของเหล่าเทพยดาจำพวกมารทั้งหลายด้วย แต่แบ่งเขตแดนกัน ต่างฝ่ายต่างอยู่

แดนเทพยดา มี สมเด็จพระปรนิมมิตเทวราช ทรงเป็นพระเทวาธิราชปกครอง

ส่วน แดนมาร มี ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช ปกครอง



เทวดาทั้ง ๖ ชั้นนี้ เทวดาที่อยู่ชั้นสูงกว่าร่างกายจะละเอียดกว่าเทวดาที่อยู่ชั้นต่ำกว่า ดังนั้นเทวดาที่อยู่ชั้นต่ำกว่าจะไม่สามารถมองเห็นเทวดาชั้นสูง แต่เทวดาชั้นสูงสามารถมองเห็นชั้นต่ำกว่าได้ เช่นเดียวกันกับมนุษย์ที่ไม่สามารถมองเห็นเทวดา แต่เทวดามองเห็นมนุษย์ได้.




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 2 สิงหาคม 2552 11:56:15 น.   
Counter : 3887 Pageviews.  

อายุขัยในเทวภูมิทั้ง ๖

ชั้นจาตุมหาราชิกา มีอายุของเทวดา ๕๐๐ ปีทิพย์ เท่ากับ ๙,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์
(วันหนึ่งคืนหนึ่งของเทวดาจาตุมหาราชิกา เท่ากับ ๕๐ ปีมนุษย์ นับจำนวนวัน เดือน ปี เหมือนกัน ๑ ชั่วโมงในจาตุมหาราชิกา ประมาณได้ ๒ ปี ๑ เดือน ในมนุษย์)

ชั้นดาวดึงส์ มีกำหนด ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นสี่เท่าของจาตุมหาราชิกา เทียบได้ ๓๖ ล้านปีมนุษย์

ชั้นยามา มีกำหนด ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นสี่เท่าของดาวดึงส์ เทียบได้ ๑๔๔ ล้านปีมนุษย์

ชั้นดุสิต มีกำหนด ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นสี่เท่าของยามา เทียบได้ ๕๗๖ ล้านปีมนุษย์

ชั้นนิมมานรตี มีกำหนด ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นสี่เท่าของดุสิต เทียบได้ ๒,๓๐๔ ล้านปีมนุษย์

ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มีกำหนด ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ เทียบได้ ๙,๒๑๖ ล้านปีมนุษย์

เทวดาบางองค์ก็ไม่ยินดีเสวยทิพยสมบัติจนสิ้นอายุขัย จึงจุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อสร้างบารมีต่อก็มี บางองค์จุติก่อนหมดอายุขัยเพราะหมดบุญเสียก่อนก็มี

เทวดาที่จะจุติจากเทวโลก จะมีนิมิต ๕ ประการปรากฏขึ้น คือ

๑. ดอกไม้ที่มีอยู่ในทิพยวิมานเหี่ยวแห้ง
๒. เครื่องทรง เครื่องประดับ ภูษาอาภรณ์เศร้าหมอง
๓. เหงื่อไคลออกจากรักแร้
๔. ผิวพรรณตลอดจนรัศมีกายเศร้าหมอง
๕. เบื่อหน่าย ไม่ยินดีในทิพยสมบัติของตน

เมื่อเทวดาองค์อื่น ๆ รู้เข้า จะพากันมาแสดงความยินดี กล่าวว่าเมื่อจากไปแล้ว ขอให้ไปสู่สุคติ คือหมายถึงให้ได้ไปบังเกิดในแดนมนุษย์ เป็นคนที่มีศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรมที่พระตถาคตเจ้าประกาศแล้ว ได้เป็นผู้ละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่น อันประกอบด้วยโทษ ให้กระทำแต่กุศลกรรมทั้งกาย วาจา ใจ หาประมาณมิได้ เมื่อมีสมบัติก็จงให้ทาน แล้วชักชวน ช่วยเหลือให้ผู้อื่นตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ประพฤติพรหมจรรย์อีกด้วย

เทวดาเป็นสัตว์ประเภทที่มีกำเนิดแบบโอปปาติกะ คือเกิดแล้วโตเต็มที่ทันที เมื่อเวลาตายคือจุติ รูปร่างกายทั้งสิ้นย่อมดับ โดยไม่มีอะไรเหลือปรากฏ ไม่มีซากศพ หายวับไปเหมือนแสงไฟที่ดับวูบลง

ยกเว้นเทวดาชั้นต่ำที่มีกำเนิดโดย คัพภเสยยกะ (เกิดในครรภ์) หรือ สังเสทชะ (เกิดในที่ชื้นแฉะ) พวกนี้เวลาตายมีซากศพเหลืออยู่ได้

ส่วนเทวดายักษ์ เปรตยักษ์ที่เป็นพวกเกิดโดยกำเนิดทั้งสองที่กล่าวนี้ เมื่อเวลาตายร่างกายปรากฏเหลืออยู่ได้ แต่จะเปลี่ยนสภาพจากร่างเดิมเป็นร่างของสัตว์อื่น ๆ เช่น กลายเป็นร่างของ ตุ๊กแก จิ้งจก งู นก เหล่านี้เป็นต้น

โดยปกติการตายของสรรพสัตว์ทั้งปวง ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด มีสาเหตุอยู่ ๔ ประการคือ

๑. อายุกฺขย เพราะสิ้นอายุ
๒. กมฺมกฺขย เพราะสิ้นกรรม
๓. อุภยกฺขย เพราะสิ้นทั้งอายุและกรรม
๔. อุปจฺเฉทก เพราะประสบอุปัทวเหตุ ยังไม่สิ้นกรรมและอายุ

เหล่าเทวดาทั้งปวงเมื่อเวลาตาย ก็ตายด้วยเหตุทั้ง ๔ เหล่านี้ แต่สำหรับประการสุดท้าย การประสบอุบัติเหตุนั้น มิใช่เหมือนการตายของมนุษย์ที่ตายเพราะอุบัติเหตุ แต่อุบัติเหตุของเทวดามีดังนี้

๑. ถูกทำลายที่อยู่อาศัย เช่นเทวดาที่อยู่ตามต้นไม้ (โดยเฉพาะที่เป็นเทวดาเด็ก) เมื่อมนุษย์ตัดต้นไม้ จึงไปตัดถูกอวัยวะของเทวดานั้นก็มี

๒. มัวเพลิดเพลินในการเล่นจนลืมบริโภคอาหาร เมื่อนึกขึ้นได้ก็บริโภคไม่ทันเสียแล้ว เทวดาที่ตายเพราะมัวเพลิดเพลินในความสนุกสนานจนลืมบริโภคอาหารนี้ เรียกว่า “ขิฑฑาปโทสิกะ”

ร่างกายของเทวดาเป็นกายทิพย์ ซึ่งเป็นของประณีตละเอียด ไม่แข็งแรงเท่ากายที่บริโภคอาหารหยาบ ดังเช่นร่างกายของมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน ซึ่งสามารถอดทนต่อความหิวได้นานกว่า โดยที่ร่างยังไม่ทันเหี่ยวแห้งแตกสลาย เหมือนต้นไม้ดอกไม้บางชนิด ที่เด็ดจากต้นวางทิ้งไว้จนเหี่ยว แต่พอถูกแช่น้ำกลับสดชื่น แข็งแรงดังเดิม

ส่วนร่างของเทวดา เมื่อขาดการบริโภคอาหารตามกำหนดเวลา จนร่างกายถูกเตโชธาตุเผาผลาญเสียแล้ว แม้จะบริโภคอาหารตามในภายหลัง ก็ไม่สามารถทำให้ร่างที่เป็นอันตรายไปแล้วกลับคืนมาได้ เหมือนต้นไม้ ดอกไม้บางอย่างที่บอบบาง เด็ดจากต้นวางทิ้งไว้เหี่ยวแห้ง แม้จะนำไปแช่น้ำใหม่ก็ไม่คืนสดชื่นได้ดังเดิม

๓. ถูกเทวดาด้วยกันทำให้โกรธ ทำให้เสียใจ ในเทวภูมิแม้จะมีทิพยสมบัติที่ล้วนเป็นอิฏฐารมณ์ (อารมณ์หรือสิ่งที่น่าปรารถนาน่าพอใจ) ทั้งนั้น แต่ในหมู่เทวดาด้วยกันเอง ยังมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน เพราะล้วนแต่ยังมีกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น จึงมีการขัดใจขุ่นเคืองกันด้วยเรื่องต่าง ๆ

เทวดาองค์ใดที่มีความอดกลั้นน้อย เมื่อเกิดความโกรธรุนแรง หัวใจจะถูกเผาจนถึงตายได้ ความเสียใจก็เป็นในทำนองเดียวกัน พวกที่ตายดังนี้เรียกว่า “มโนปโทสิกะ”

๔. อธิษฐานให้ตายเองทั้งที่ยังไม่สิ้นอายุและสิ้นกรรม เพื่อไปเกิดสร้างบารมีในภูมิอื่น เพราะที่ภูมิเดิมสร้างบารมีเพิ่มไม่ได้ ประเภทนี้เรียกว่า “อธิมุตตติกาลังกิริยะ” แปลว่า ชีวิตดับลงด้วยการอธิษฐานใจ

เรื่องทิพยสมบัติในเทวภูมินั้น แตกต่างกันไปตามระดับชั้นของสวรรค์ สวรรค์ชั้นสูง ร่างกาย ความเป็นอยู่ และสมบัติต่าง ๆ ก็ประณีตกว่าสวรรค์ชั้นต่ำกว่า แต่จะอย่างไรก็ตามในสวรรค์ทุกชั้น แทบทุกสิ่งทุกอย่าง มีคุณสมบัติพิเศษกว่าในเมืองมนุษย์ทั้งสิ้น พอจะยกตัวอย่างกล่าวได้โดยย่อ เช่น

ในทางรูปร่างกาย เทพบุตรเทพธิดา มีรูปร่างผิวพรรณและลักษณะอันเป็นส่วนประกอบรวมทั้งอวัยวะน้อยใหญ่ ได้รูปทรงสวยงามเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการพิกลพิการไม่สมประกอบแต่อย่างใด ทั้งแข็งแรง และมีความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เปรียบกับมนุษย์แล้วเหมือนคนอายุประมาณ ๒๐ ปี สำหรับเทพบุตร ส่วนเทพธิดาเหมือนสตรีอายุ ๑๖ ปี เป็นอยู่ดังนี้จนกว่าจะจุติเพราะสิ้นบุญหรือสิ้นอายุขัย ปราศจากการแก่ชรา อ่อนกำลัง หรือเจ็บไข้ได้ป่วย

ร่างกายไม่มีเหงื่อไคล ไม่มีความสกปรกหรือสิ่งปฏิกูลใด ๆ จะมีเหงื่อไคลออกจากรักแร้เพียงครั้งเดียวเมื่อใกล้จุติ ในวิมานของเทวดาจึงไม่มีห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัวเหมือนมนุษย์

เมื่อร่างกายไม่มีความสกปรกอยู่เป็นนิจ เครื่องแต่งกายก็ไม่จำเป็น ต้องเปลี่ยน คงเป็นของที่เกิดประดับตนขึ้นด้วยบุญเฉพาะที่ได้กระทำเอาไว้ ส่วนจะสวยงามประณีตมากน้อยเพียงใด อาจมีแตกต่างกันไป

สำหรับเทพบุตร อาภรณ์ที่ใช้เหมือนใส่เสื้อคอกลม แต่มีเครื่องประดับสวยงามมากปกปิดรอบคอ จึงเหมือนปิดคอเสื้อไปด้วย มีเครื่องประดับที่ทรวงอกพร้อมสายสังวาลห้อยพาดไขว้สลับ ปลายแขนเสื้อซึ่งอยู่เหนือข้อศอกก็ตกแต่งสวยงาม ศีรษะขมวดมุ่นผมไว้บนกระหม่อม สวมด้วยเครื่องประดับในลักษณะมงกุฎอันงดงาม เครื่องทรงท่อนล่างเป็นทรงแบบกางเกงแต่ยาวเพียงแข้ง มีเครื่องประดับทั้งที่เอวและที่ขอบขากางเกง

ส่วนเทพธิดา เกล้ามวยผมไว้คล้อยต่ำไปเบื้องหลัง มงกุฎเป็นแบบลักษณะกระบังหน้าล้อมมาถึงใบหู เสื้อแขนยาวสามส่วน ผ้าถุงยาวเลยแข้งลงไป เครื่องประดับประดามีทั้งที่นิ้วมือ ข้อมือ ลำแขน คอ ทรวงอก ข้อเท้า

ที่เรียกว่า เสื้อผ้านั้น เพียงอาศัยคำในภาษามนุษย์เรียก แต่ความจริงแล้วเป็นวัสดุที่สวยงาม อ่อนนิ่ม มีประกายใสสว่างอยู่ในตัว เครื่องประดับที่กล่าวว่าเป็นเพชรนิลจินดา หรืออัญมณีใดก็ตาม ล้วนอาศัยของในโลกมนุษย์พูดเปรียบ

สำหรับของในเทวโลก สิ่งเหล่านั้นมีลักษณะสวยงามอย่างเทียบกันมิได้ มีรัศมีสว่างไสวออกมาได้จากตัวเอง ทั้งไม่มีลักษณะแข็งกระด้าง หรือมีน้ำหนักให้น่ารำคาญแต่ประการใด

การเดินทางไปไหนมาไหนของเทพบุตรเทพธิดาเป็นได้ ๓ ประการคือ

๑. โดยเหาะไป คือไม่ต้องก้าวเท้าเหมือนยืนอยู่นิ่ง ๆ ตัวลอยไปถึงที่หมายได้เอง

๒. โดยยานพาหนะ เมื่อนั่งบนยานพาหนะแล้ว ไม่ต้องใช้แรงจักรกลหรือแรงสัตว์ ยานนั้นลอยไปได้เอง

๓. โดยวิธีนึก เมื่อจะไปที่ใดก็นึกถึงสถานที่นั้น กายก็ปรากฏยังที่นั่นได้เอง

สิ่งของเครื่องใช้ในวิมาน เช่นเตียงตั่ง ที่นั่งที่นอน ไม่ต้องมีขาตั้งให้ดูเกะกะ เมื่อประสงค์ใช้สิ่งใด เวลาใด ของนั้นจะลอยไปให้ได้ดังปรารถนา เมื่อนั่งหรือนอนลง สิ่งของเครื่องใช้ย่อมให้สุขสัมผัสตามต้องการ

ในทิพยวิมานมิต้องมีเสาค้ำยันพื้นหลังคาให้รกรุงรัง ทุกอย่างทรงตัวอยู่เองได้ เพราะเป็นของไม่มีน้ำหนัก ไม่มีแรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วงอย่างโลกมนุษย์ ไม่มีแดดร้อน ลมแรง ฝนตกชื้นแฉะให้เป็นที่เดือดร้อน อุณหภูมิกำลังพอดีอยู่สม่ำเสมอตลอดเวลา

จากรัศมีร่างกายของบรรดาเหล่าเทพและความสว่างไสวของทิพยวิมาน เทวภูมิจึงไม่มีเวลากลางคืน และเนื่องจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ก็โคจรอยู่เพียงแนวยอดเขายุคันธร อันอยู่ต่ำกว่าเขาสิเนรุถึงครึ่งหนึ่ง แสงอาทิตย์จึงไม่แรงกล้า เพียงให้รู้ว่าขณะนี้โลกมนุษย์เป็นเวลากลางวันกลางคืน ข้างขึ้นข้างแรมเท่านั้น



อาหารทิพย์ทั้งปวงเกิดขึ้นจากทานบารมี ที่เจ้าของวิมานสร้างสมไว้ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ เมื่ออยู่ในสวรรค์จะนึกรับประทานเพียงอย่างเดียวแต่ให้มีรสที่ต้องการก็ได้ หรือจะให้มีอาหารหลาย ๆ อย่างก็ได้ตามแต่ปรารถนา อาหารสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นสุธาโภชน์ หรือขนม ผลไม้ เมื่อรับประทานไปแล้ว สิ่งของเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นใหม่แทนที่ตามเดิมทันที ไม่มีสูญหาย ส่วนที่เหลือทิ้งไม่ต้องการก็จะหายไป เป็นอยู่ดังนี้แม้แต่ดอกไม้ ผลไม้ที่มีอยู่ในสวนประจำวิมานหรือสวนสาธารณะ เมื่อถูกตัดก็จะมีใหม่เกิดแทนทันที

เรื่องต้นไม้ ดอกไม้ ผลไม้ ในเทวภูมิจะมีแต่ของที่สวยงามกำลังดี ไม่สูงไป เตี้ยไป อ่อนไป แก่ไป ไม่มีของเหี่ยวแห้ง ของเน่าเสีย ถ้าเป็นไม้ดอกก็จะเบ่งบานกำลังงาม ไม่มีดอกตูมอ่อนเกินไปหรือบานเกินไป ผลไม้ก็จะมีผลกำลังน่ารับประทาน และคงอยู่สภาพเช่นนั้น เมื่อถูกเก็บก็จะมีดอก มีผลใหม่ในลักษณะเดิมแทนที่ ต้นไม้ใดที่สูงเกินไปเมื่อต้องการเด็ด กิ่งจะน้อมลงให้เอง ต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้ ขึ้นกันเองอย่างสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีส่วนเกินที่รกรุงรัง หรือไม่น่าชมเกิดขึ้น สีของดอกไม้ ผลไม้ เหมือนมีชีวิต เป็นประกายส่องแสงสุกใส เป็นที่ชื่นตาชื่นใจ ถ้ามีลมโชยอ่อน ยามกระทบกันเกิดเป็นเสียงดนตรีอันไพเราะ

พื้นของเทวภูมิอันเป็นที่ตั้งของต้นไม้ ไม่เหลวไม่แข็ง อ่อนนุ่มกำลังดี ไม่มีฝุ่นละอองให้สกปรก

ตรงที่เป็นน้ำ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ จะให้ความรู้สึกชุ่มชื่นเยือกเย็นเป็นพิเศษ น้ำใสสะอาด ละเอียด โปร่งเบา เมื่อลงไปในน้ำ น้ำไม่เปียกเปื้อน แม้จะอยู่ใต้น้ำนาน ๆ ก็ไม่สำลักอึดอัดเหมือนน้ำในพื้นมนุษย์ กลับได้ความสบายเย็นกายเย็นใจ

ขนาดวิมาน บริเวณอาณาเขตต่าง ๆ ในเทวภูมิไม่มีการจับจอง หรือต้องแบ่งสันปันส่วน หากมีบุญกุศลเพิ่ม ดังเช่นพระอินทร์ลงมาฟังพระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือใส่บาตรพระมหากัสสปเถระเจ้าขณะออกจากนิโรธสมาบัติ ทิพยวิมานก็ขยายได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่ล้ำเขตแดนเทวดาองค์อื่น

เรื่องบริวารรับใช้ที่เกิดขึ้นภายในวิมาน เป็นเพราะเมื่อเวลากระทำการกุศลขณะเกิดเป็นมนุษย์ ได้ช่วยชักชวนให้ผู้อื่นได้มีโอกาสร่วมบุญด้วย บริวารจึงเกิดขึ้นด้วยบุญประเภทนี้ แต่มิใช่ว่าคนที่ถูกเราชักชวนจะไปเกิดเป็นบริวารของเรา เขาก็มีวิถีทางการเกิดตามบุญตามบาปของเขาเอง แต่ถ้ามีกุศลเสมอ ๆ กัน อาจไปเกิดเป็นสหายในเทวภูมิเดียวกันได้



ทิพยวิมานบางแห่งพร้อมบริวารบังเกิดรอคอยอยู่ที่เทวภูมิก่อน ทั้งที่เจ้าของยังเป็นมนุษย์อยู่ในโลกและยังไม่ตายก็มี หรือบางวิมานเจ้าของยังไม่สิ้นบุญแต่ปรารถนาจะสร้างบารมีเพิ่มเติม จึงจุติลงไปเกิดในโลกมนุษย์ วิมานพร้อมบริวารยังคงมีอยู่คอยเจ้าของอยู่ ณ เทวภูมินั้น ๆ

ยกเว้นเจ้าของเกิดประมาท แทนที่จะได้สร้างบารมีเพิ่มเติมกลับสร้างอกุศลกรรมที่จะเป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ ถ้าเป็นดังนี้ทิพยวิมานพร้อมบริวารนั้นย่อมหายไปเอง

ในทางตรงข้ามถ้าเจ้าของสร้างกุศลกรรมอันไพบูลย์ เมื่อถึงคราวตายจะต้องได้เกิดในเทวภูมิที่สูงกว่าเดิมแล้ว ทิพยวิมานเดิมจะหายไป แต่บังเกิดทิพยวิมานใหม่ในเทวภูมิที่สมควรต่อกุศลกรรมนั้น ๆ

ที่กล่าวนี้เป็นเพียงทิพยสุขในเทวภูมิโดยย่อ หากท่านใดปฏิบัติธรรมสมควรต่อเหตุแล้ว ย่อมสามารถพบเห็นและพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง แม้ในขณะยังมีชีวิตอยู่นี้.




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 2 สิงหาคม 2552 8:20:50 น.   
Counter : 1974 Pageviews.  

รูปพรหม ๑๖

พรหมโลก



ผู้ที่จะมาเกิดในพรหมโลกนี้ จะต้องเป็นผู้เจริญสมถภาวนาจนได้ รูปฌาน เมื่อตายลงขณะฌานยังไม่เสื่อมจะบังเกิดในรูปพรหมภูมิ ส่วนจะอยู่ชั้นใดนั้นขึ้นอยู่กับระดับฌานที่ตนได้

พรหม มีอายุยืนนาน มีความสุขอันประณีต กำลังร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใส มีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากร่างกายสว่างสวยงาม

พรหมมิได้มี ๔ มือ ๔ หน้า อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน รูปร่างของพรหมทุกชั้นจะไม่ปรากฏว่าเป็นหญิงหรือชาย เพราะพรหมไม่มีกามฉันทนิวรณ์อย่างหยาบ แม้ตั้งแต่ในสมัยที่เป็นมนุษย์ก็ข่มได้อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดียังมีรูปร่างคล้ายชายมากกว่า

ความเป็นอยู่ของพรหมแต่ละองค์ อยู่ด้วยการเจริญพรหมวิหาร ๔ บางองค์เข้าฌานสมาบัติ สำหรับรูปพรหมที่เป็นอริยะนั้นเข้าผลสมาบัติ

พรหมไม่จำเป็นต้องเสวยอาหาร เพราะมีปีติเป็นอาหารแทนอยู่แล้ว มีพรหมสมบัติวิจิตร เช่น วิมาน รูปร่าง อุทยานสวนดอกไม้ สระโบกขรณี และเครื่องประดับ ของใช้ของรูปพรหมทั้งหลายนั้น มีความสวยงามประณีตกว่าในชั้นเทวโลก

รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น แบ่งย่อยออกเป็นภูมิชั้นต่าง ๆ ดังนี้

ปฐมฌานภูมิ ๓ ประกอบด้วย

๑. พรหมปาริสัชชาภูมิ
พรหมปาริสัชชา เป็นพรหมธรรมดาสามัญ ไม่มีอำนาจพิเศษอันใด เป็นบริวารของท้าวมหาพรหม

๒. พรหมปุโรหิตาภูมิ
พรหมปุโรหิตา เป็นพรหมปุโรหิตของมหาพรหม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา และอยู่ในตำแหน่งผู้นำในกิจการทั้งหลายของมหาพรหม

๓. มหาพรหมาภูมิ
มหาพรหม คือพรหมที่เป็นใหญ่ ยิ่งกว่าพรหมปาริสัชชาและพรหมปุโรหิตา

ปฐมฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่กลางอากาศในพื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของมหาพรหม ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของปุโรหิตะพรหม และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของปาริสัชชะพรหม

มหาพรหมที่เป็นใหญ่อยู่ในชั้นปฐมฌานภูมิ ๓ นั้น มีอยู่องค์เดียว เมื่อเวลาโลกถูกทำลายด้วย ไฟ น้ำ หรือลมก็ดี ปฐมฌานภูมินี้จะถูกทำลายลงด้วยทุกครั้ง เมื่อเวลาโลกเกิดขึ้นใหม่ ชั้นปฐมฌานภูมิก็มีมหาพรหมองค์เดียวเกิดขึ้นก่อน ส่วนพรหมปุโรหิตะ และปาริสัชชะ เกิดตามมาในภายหลัง

ทุติยฌานภูมิ ๓ ประกอบด้วย

๔. ปริตตาภาภูมิ
ปริตตาภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน (ปริตตะ แปลว่า น้อย อาภา แปลว่า รัศมี ความสว่าง)

๕. อัปปมาณาภาภูมิ
อัปปมาณาภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีหาประมาณมิได้ (อัปปมาณ แปลว่า หาประมาณมิได้)

๖. อาภัสสราภูมิ
อาภัสสราพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากร่างกาย พรหมจำพวกนี้มีความยินดีในฌานของตนอย่างเต็มที่ เป็นไปด้วยอำนาจของปีติอยู่เสมอ จิตใจจึงมีความผ่องใสมากอยู่เสมอ

ทุติยภูมิ ๓ ตั้งอยู่กลางอากาศในพื้นที่เดียวกัน แต่แบ่งออกเป็นเขต ทิพยสมบัติย่อมประณีตยิ่งขึ้นทุก ๆ ประการ

ปริตตาภะพรหม มีตำแหน่งเท่ากับ ปาริสัชชะพรหม
อัปปมาณาภะพรหม เท่ากับ ปุโรหิตะพรหม
อาภัสสระพรหม เท่ากับ มหาพรหม


ตติยฌานภูมิ ๓ ประกอบด้วย

๗. ปริตตสุภาภูมิ
ปริตตสุภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีสวยงาม แต่ยังน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน

๘. อัปปมาณสุภาภูมิ
อัปปมาณสุภาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีสวยงามหาประมาณมิได้

๙. สุภกิณหาภูมิ
สุภกิณหาพรหม เป็นพรหมที่มีรัศมีสวยงามตลอดทั่วร่างกาย

ตติยฌานภูมิ ตั้งอยู่กลางอากาศในพื้นที่เดียวกัน แบ่งเป็นเขตเหมือนทุติยฌานภูมิ

ปริตตสุภะพรหม มีตำแหน่งเท่ากับ ปาริสัชชะพรหม
อัปปมาณสุภะพรหม เท่ากับ ปุโรหิตะพรหม
สุภกิณหะพรหม เท่ากับ มหาพรหม


จตุตถฌานภูมิ ๗ ประกอบด้วย

๑๐. เวหัปผลาภูมิ
เวหัปผละพรหม เป็นพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือเป็นผลของกุศลที่มั่นคงไพบูลย์ ไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษ ตามอำนาจฌาน

๑๑. อสัญญสัตตาภูมิ
อสัญญสัตตาพรหม คือพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ ๔ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีแต่รูปขันธ์

พรหมในภูมนี้มีรูปร่างผิวพรรณงดงาม คล้ายพระพุทธรูปทองคำ มีอิริยาบถ ๓ อย่าง นั่ง นอน หรือยืน แล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนิ่ง ๆ อย่างนั้น จนครบอายุขัยคือ ๕๐๐ มหากัป คนโดยมากเรียกพรหมชนิดนี้ว่า “พรหมลูกฟัก”

จตุตถฌานภูมิทั้ง ๒ นี้ตั้งอยู่กลางอากาศในพื้นที่ระดับเดียวกัน สำเร็จไปด้วยทิพยสมบัติอันประณีตกว่าภูมิเบื้องต้น

พรหมในชั้นเวหัปผลาแบ่งออกเป็น ๓ จำพวกเช่นเดียวกัน

ปัญจมฌานกุศลอย่างต่ำ ก็บังเกิดเป็นพรหมในตำแหน่งเทียบเท่า ปาริสัชชะพรหม
ถ้ากุศลเป็นอย่างกลาง ก็บังเกิดในตำแหน่งเทียบเท่า ปุโรหิตะพรหม
ถ้าเป็นกุศลชั้นสูง ก็บังเกิดเทียบเท่า มหาพรหม


พรหมในชั้นเวหัปผลานี้สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน เห็นอสัญญสัตตาพรหม และพรหมชั้นที่อยู่ต่ำ ๆ กว่า ส่วนพรหมชั้นต่ำไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้

รูปพรหมที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๑๑ ชั้นเหล่านี้ แม้จะเสวยความสุขอันประณีตและมีอายุยืนยาวมากก็ตาม อย่างมากที่สุดไม่เกิน ๘๔,๐๐๐ มหากัป ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็นพรหมด้วยกันทั้งสิ้น

ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิทั้ง ๔ ก็เป็นได้ ทิพยสมบัติ อิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืน ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย


จตุตถฌานภูมิที่เหลืออีก ๕ ชั้น เรียกว่า สุทธาวาสภูมิ ๕

สุทธาวาสภูมิ ๕

บุคคลที่จะไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาสภูมิได้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม อย่างใดก็ตามจะต้องเป็น พระอนาคามีปัญจมฌานลาภีบุคคล บุคคลอื่นนอกจากนี้แม้จะได้ปัญจมฌานก็ตามบังเกิดที่นี้ไม่ได้

สุทธาวาสภูมิ แบ่งออกเป็น ๕ ชั้น ตามอำนาจของอินทรีย์ ๕

๑๒. อวิหาภูมิ
อวิหาพรหม คือพรหมที่ สัทธินทรีย์ มีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น

อวิหาพรหม เป็นพรหมที่ไม่ละทิ้งสถานที่ของตน (คือต้องอยู่ในภูมินี้จนครบอายุขัยจึงจุติ) และไม่เสื่อมจากสมบัติของตน มีทิพยสมบัติบริบูรณ์เต็มที่อยู่เสมอจนตลอดอายุขัย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใด

สำหรับพรหมชั้นสูงที่เหลืออีก ๔ ชั้น ไม่ได้อยู่จนครบอายุขัย มีการจุติได้ก่อน

๑๓. อตัปปาภูมิ
อตัปปะพรหม คือพรหมที่ วีริยินทรีย์ มีกำลังมาก

อตัปปะพรหม เป็นพรหมที่ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะย่อมเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมที่เป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนไม่อาจเกิดขึ้น จิตใจของพรหมชนิดนี้จึงมีแต่ความสงบเยือกเย็น

๑๔. สุทัสสาภูมิ
สุทัสสะพรหม คือพรหมที่ สตินทรีย์ มีกำลังมาก

สุทัสสะพรหม เป็นพรหมที่เห็นสิ่งต่าง ๆ โดยปรากฏชัด เพราะบริบูรณ์ด้วยปสาทจักขุ ทิพยจักขุ ธัมมจักขุ ปัญญาจักขุ ที่บริสุทธิ์

พรหมในชั้นนี้ร่างกายสวยงามมาก ผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมเกิดความสุขใจ สุทัสสา จึงหมายความว่า ผู้ที่ผู้อื่นเห็นด้วยความเป็นสุข

๑๕. สุทัสสีภูมิ
สุทัสสีพรหม คือพรหมที่ สมาธินทรีย์ มีกำลังมาก

สุทัสสีพรหม เป็นพรหมที่แลเห็นสิ่งต่าง ๆ โดยสะดวก มีการเห็นบริบูรณ์ด้วยดียิ่งกว่าสุทัสสะพรหม

๑๖. อกนิฏฐาภูมิ
อกนิฏฐะพรหม คือพรหมที่ ปัญญินทรีย์ มีกำลังมาก

อกนิฏฐะพรหม เป็นพรหมที่มีทิพยสมบัติและความสุขที่ยอดเยี่ยม มีคุณสมบัติยิ่งกว่าพรหมที่มีรูปทุกชั้นทั้งหมด

พรหมชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๔ ในสุทธาวาสภูมินี้ ขณะยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติในชั้นของตน ๆ จะเลื่อนไปบังเกิดในชั้นสูงขึ้นไป ไม่เกิดซ้ำภูมิ หรือไม่เกิดในภูมิที่ต่ำกว่า

แต่สำหรับอกนิฏฐาพรหมย่อมไม่ไปบังเกิดในภูมิอื่นอีกเลย จะต้องปรินิพพานอยู่ในอกนิฏฐาภูมินี้นั้นเอง


ในอกนิฏฐาภูมิ มีปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง คือ ทุสสะเจดีย์ เป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อยังทรงเป็นพระสิทธัตถะราชกุมารทรงสวมใส่ในขณะเสด็จออกจากพระนครเพื่อสู่มหาภิเนษกรมณ์

ขณะทรงเปลื้องฉลองพระองค์ออกท้าวฆฏิการะพรหมเสด็จลงมาจากชั้นอกนิฏฐาภูมิ นำเอาเครื่องบริขารทั้ง ๘ ถวายแก่พระสิทธัตถะ และรับเอาเครื่องฉลองพระองค์ทั้งหมด ไปบรรจุไว้ในเจดีย์ชื่อทุสสะเจดีย์ มีความสูง ๑๒ โยชน์

อายุโดยประมาณของรูปพรหม ๑๖ ชั้น

๑. พรหมปาริสัชชา มีอายุประมาณ ๑ ใน ๓ ของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป (คือนับแต่จักรวาลตั้งขึ้นจนเรียบร้อย)
๒. พรหมปุโรหิตา มีอายุประมาณ ๑ ใน ๒ ของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
๓. มหาพรหมา มีอายุประมาณ ๑ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
๔. ปริตตาภะพรหม มีอายุประมาณ ๒ มหากัป
๕. อัปปมาณาภะพรหม มีอายุประมาณ ๔ มหากัป
๖. อาภัสสระพรหม มีอายุประมาณ ๘ มหากัป
๗. ปริตตสุภะพรหม มีอายุประมาณ ๑๖ มหากัป
๘. อัปปมาณสุภะพรหม มีอายุประมาณ ๓๒ มหากัป
๙. สุภกิณหะพรหม มีอายุประมาณ ๖๔ มหากัป
๑๐. เวหัปผละพรหม มีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป
๑๑. อสัญญสัตตะพรหม มีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป
๑๒. อวิหะพรหม มีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ มหากัป
๑๓. อตัปปะพรหม มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ มหากัป
๑๔. สุทัสสะพรหม มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ มหากัป
๑๕. สุทัสสีพรหม มีอายุประมาณ ๘,๐๐๐ มหากัป
๑๖. อกนิฏฐะพรหม มีอายุประมาณ ๑๖,๐๐๐ มหากัป




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 2 สิงหาคม 2552 8:00:47 น.   
Counter : 5377 Pageviews.  

1  2  3  4  

thammakittakon
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




[Add thammakittakon's blog to your web]