Group Blog
 
All Blogs
 

คนไทย และความเป็นไทยใน SEA

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




ชาวสุวรรณภูมิพวกนี้ ล้วนเป็นเครือญาติบรรพชนคนไทยทั้งนั้น

สยามประเทศไทย เป็นชื่อคอลัมน์ที่เคยเขียนอธิบายเมื่อแรกมีคอลัมน์นี้หลายปีแล้วว่ามาจากชื่อสยามประเทศ (คำบาลีว่า สยามเทสส) บวกกับชื่อประเทศไทยแล้วลดคำประเทศไปคำหนึ่งจึงเหลือแค่สยามประเทศไทย มีความหมายกว้างๆ และง่ายๆ ว่าเดิมเรียกสยาม ต่อมาได้นามว่าไทย ใครชอบหรือชังก็ช่างปะไร ตามใจไม่ว่ากัน

แผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) พิมพ์เผยแพร่ขณะนี้ ก็ได้จากแนวคิดเดียวกันกับชื่อคอลัมน์สยามประเทศไทย แต่เพิ่มวงเล็บใส่คำว่าสยามไว้ข้างหน้าชื่อประเทศไทย เพราะเป็นชื่อเก่ามีมาก่อน

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ แนะนำว่ากล่าวตักเตือนเนื้อหาหนังสือแผนที่ประวัติศาสตร์เล่มนี้หลายประเด็น ได้ปรับปรุงแก้ไขให้ราบรื่นเรียบร้อยแล้วตามที่ท่านว่ากล่าวไว้ หากมีอะไรขาดตกบกพร่องเหลืออยู่นั่นเป็นปัญหาของคนเขียนที่ไม่รอบคอบ

ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์เล่าเรื่องผ่านแผนที่สยามประเทศไทยเล่มนี้ ทำขึ้นมาอธิบายพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าโลกซึ่งไม่มีในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย เพราะประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยให้ความสำคัญเรื่องสงครามและวังกับวัดเท่านั้น ไม่มีชุมชนหมู่บ้าน และไม่มีการค้า ไม่ว่าการค้าโลกหรือการค้าข้ามภูมิภาค

ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ ฉะนั้นประวัติศาสตร์ไทยย่อมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อุษาคเนย์อย่างแยกไม่ได้ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่า ลาว, กัมพูชา, พม่า, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย ล้วนแยกโดดๆ ไม่ได้ ทุกประเทศต้องร่วมมือกันศึกษาให้เป็นแนวทางหนึ่งเพื่อสันติภาพอย่างเครือญาติดั้งเดิม หากไม่ร่วมกันปรับเปลี่ยนประวัติศาสตร์เครือญาติทางสังคมวัฒนธรรมให้ถูกต้องด้วยตนเอง กรณีวิวาทบาดหมางก็ไม่หมดลงได้

คนไทยและความเป็นไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งของคนสุวรรณภูมิและความเป็นอุษาคเนย์ ที่แยกออกไปเป็นเผ่าพันธุ์พิเศษเหนือคนอื่นหาได้ไม่

หน้า 34




 

Create Date : 29 กันยายน 2550    
Last Update : 29 กันยายน 2550 10:25:06 น.
Counter : 593 Pageviews.  

คนไทยเป็นใคร มาจากไหน? ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย

อลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม




กระดาษอาร์ตด้าน ขนาด A4 พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม หนา 88 หน้า ไม่มีจำหน่าย แต่จ่ายแจกให้สถาบันทั่วประเทศ ทำหนังสือขอรับได้ ที่ กลุ่มภูมิหลัง สำนักวิจัยและส่งเสริมวัฒนธรรมวิถีชน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กทม. 10320 โทรศัพท์ 0-2247-0013 ต่อ 1209, 1219 โทรสาร 0-2247-0022 หรือไปรับด้วยตนเองในงานนี้

...สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม

ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

จัดเสวนาแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่สู่สาธารณะ

ณ ท้องพระโรง และสวนแก้ว บริเวณวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2550 ตั้งแต่ 15.00 น. เป็นต้นไป



หลัง พ.ศ. 1700 เริ่มมีอักษรไทย และคนไทย

พลังสำคัญที่ผลักดันกระตุ้นให้มีราชอาณาจักรสยามแห่งแรก, มีอักษรไทยครั้งแรก, แล้วมีคนไทยอย่างแท้จริง เมื่อหลัง พ.ศ.1700 คือพลัง 3 อย่าง ได้แก่ ศาสนามวลชน, ภาษากลาง และสำเภาจีน

ศาสนามวลชน ได้แก่พระพุทธศาสนา (ลังกาวงศ์) และศาสนาอิสลาม (แพร่หลายถึงรัฐปัตตานีตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2000) ภาษากลาง ได้แก่ภาษาไทยและภาษามลายู สำเภาจีน คือเรือเดินสมุทรของจีน



ไทย, มลายู เป็นภาษากลาง

ภาษาไทยและภาษามลายู ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ภาษาไท-ไตเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการค้าภายใน เนื่องจากพวกไท-ไตตั้งภูมิลำเนาในหุบเขาขนาดเล็กมาก่อน เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงผลิตอาหารไม่พอ ต้องพึ่งพิงการค้าทางไกลเข้ามาช่วยในการดำรงชีพ ฉะนั้นจึงน่าจะมีบทบาทมากในการค้าภายในซึ่งเฟื่องฟูเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทำให้ภาษาไท-ไตกลายเป็นภาษากลางอย่างน้อยก็ในการค้าภายใน ประชาชนที่มีชาติพันธุ์อันหลากหลาย ทั้งที่อยู่ในที่ราบลุ่มหรือบนที่สูง พอจะเข้าใจภาษาไท-ไตได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนภาษามลายูคงจะแพร่หลายในวงการค้าของภูมิภาคอยู่แล้ว เพราะประชาชนที่พูดภาษามลายูมีบทบาทในการค้าทางทะเลมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์

ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาสำนักลังกาตัดสินใจใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางสำหรับการเผยแผ่ อย่างน้อยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง จึงยิ่งทำให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษากลางของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในดินแดนแถบนี้มากขึ้น

ในอยุธยา ราชสำนักอาจใช้ภาษาเขมร แต่เมื่อไรที่เป็นเอกสารสำหรับอ่านกันในวงกว้างกว่าชนชั้นสูง เช่น โองการแช่งน้ำหรือกฎหมายหรือจารึกแสดงบุญบารมีของผู้สร้างศาสนสถานก็ใช้ภาษาไทย รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับศาสนาด้วย เช่น จารึกที่เกี่ยวกับศาสนา รวมไปถึงวรรณกรรมศาสนา เช่น มหาชาติคำหลวง เป็นต้น เช่นเดียวกับเวียงจัน, หลวงพระบาง และเชียงใหม่ ซึ่งผลิตกฎหมายในระยะเริ่มต้นด้วยภาษาไท-ไตเช่นกัน

เช่นเดียวกับผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม เพราะภาษามลายูถูกใช้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ภาษามลายูจึงถูกนำมาใช้สำหรับการเผยแผ่ศาสนาเช่นกัน วรรณกรรมทางศาสนาซึ่งเขียนในระยะแรกๆ แม้แต่ที่เขียนในรัฐที่ไม่ได้ใช้ภาษามลายูก็ยังเป็นภาษามลายู

ความสัมพันธ์กับศาสนาใหม่นี้ทำให้สถานะของภาษาทั้งสองสูงขึ้นในสังคม เพราะภาษาทั้งสองถูกนำไปใช้เขียนวรรณกรรมหลากหลายประเภทมากขึ้นนอกจากศาสนา จนทำให้ภาษาอื่นๆ ในคาบสมุทรมลายูและในดินแดนที่เป็นประเทศไทยถูกภาษาทั้งสองเข้าไปแทนที่ในแทบทุกเรื่อง

ความเป็น "คนไทย" มีขึ้นคราวเดียวกับอักษรไทยที่ดัดแปลงจากอักษรขอม (เขมร) แล้วคนบางกลุ่มเรียกตัวเองว่าคนไทย หรือถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่ากำหนดให้เรียกตัวเองว่าคนไทยก็ได้ แต่คนอีกหลายกลุ่มเรียกตัวเองเป็นอย่างอื่น เช่น ลาว, มอญ, เขมร, จาม, มลายู ฯลฯ คนในล้านนาและล้านช้าง เรียกตัวเองว่าลาว คนในรัฐปัตตานีเรียกตัวเองว่ามลายู

ศาสนามวลชนที่เหมือนกัน และการร่วมใช้ภาษากลาง ที่ใช้เคียงกันเช่นนี้ ทำให้เกิดภาพของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นในหมู่ประชากร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างสูง



หลัง พ.ศ.2000 เรียกประเทศว่า เมืองไทย เรียกตังเองว่าคนไทย

ราชอาณาจักรสยาม (แห่งแรก) เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติและมีนามราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หมายถึงบ้านเมืองศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่องจาก "ทวารวดี" มีศูนย์กลางอยู่พระนครศรีอยุธยา แล้วเรียกกันย่อๆ ว่าอยุธยา (แปลว่าไม่แพ้ หมายถึงชนะ) หรือสยาม แต่มีชาวสยามส่วนหนึ่งเรียกตัวเองอย่างมั่นใจว่าคนไทย

ราชอาณาจักรสยามเกิดจากการรวมกันของรัฐใหญ่ 2 แห่ง คือ รัฐละโว้ (ลพบุรี) อยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่มีชื่อในตำนานว่าสยามประเทศ มีขอบเขตกว้างขวางเชื่อมโยงตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มน้ำโขง

นอกจากนั้นราชอาณาจักรสยามยังผนวกรัฐเล็กๆ เข้ามารวม เช่น รัฐสุโขทัย รัฐเพชรบุรี จนถึงรัฐนครศรีธรรมราช ฯลฯ โดยมีเมืองนครราชสีมาเป็นศูนย์กลาง รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยบริเวณสองฝั่งโขงกับมูล-ชี สบกัน เช่น เมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง เมืองโคตรตะบอง เมืองเรอแดว ฯลฯ

แต่รัฐล้านนาทางเหนือสุด กับรัฐปัตตานีทางใต้สุด เป็นรัฐเอกเทศอยู่นอกราชอาณาจักรสยามแห่งแรกนี้



เรียกตัวเองว่า "คนไทย"

กลุ่มชนที่เรียกตัวเองว่าคนไทย แล้วเรียกประเทศของตนว่าเมืองไทย มีหลักฐานเก่าสุดอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่รัฐอยุธยาและรัฐสุพรรณภูมิ ถึงรัฐสุโขทัย โดยลักษณะเด่นชัดที่บอกความเป็นคนไทยคือ พูดภาษาไทย เขียนอักษรไทย ล้วนจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทย-ลาว

ภาษาพูดมีมาก่อนหลายพันปีหรือมีมาพร้อมกำเนิดคนแต่อักษรไทยเพิ่งมีเมื่อหลัง พ.ศ.1700 โดยรับแบบแผนจากอักษรเขมรหรือที่รู้จักทั่วไปว่าอักษรขอม แห่งรัฐละโว้ (ลพบุรี) หมายความว่าแต่เดิมเมื่อตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนย้ายมาอยู่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มจากราว 3,000 ปีมาแล้ว ปะปนกับตระกูลมอญ-เขมร ที่พัฒนาอักษรขึ้นใช้ก่อนจากอักษรปัลลวะ (ทมิฬอินเดียใต้) พวกไทย-ลาวก็ใช้อักษรเขมร แต่เขียนเป็นภาษาไทย แล้วเรียกอักษรขอมไทย (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสืออักษรไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2548)

ภาษาไทยยุคแรกๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1700 หรือก่อนมีอักษรไทย จนหลัง พ.ศ.1700 หรือหลังมีอักษรไทยยุคต้นๆ ยังจัดอยู่ในวัฒนธรรมลาว หรือภาษาลาวเพราะมีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าคนพวกนี้มีบรรพชนเป็นลาวตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว

สอดคล้องกับเอกสารลาลูแบร์ที่เป็นราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสเข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แล้วจดปากคำชาวสยามพระนครศรีอยุธยา บอกว่ามีบรรพบุรุษเป็นไทยน้อยคือลาว แล้วยังมีคนอีกพวกหนึ่งเป็นไทยใหญ่ ที่ไม่ใช่บรรพชนของตน แสดงว่าชาวสยามกรุงศรีอยุธยามีความทรงจำว่าบรรพชนเป็นคนลาว แต่เรียกพวกลาวทั้งหมดว่าไทยเหมือนพวกตน คือไทยน้อยกับไทยใหญ่ ส่วนคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สืบมาจากลาวล้วนเป็นไทยสยาม

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีบรรพชนสายหนึ่งเป็นลาว ก็คือภาษาลาวยังมีเค้าอยู่ในภาษาไทยในกลุ่มคำซ้อนที่ประกอบด้วยคำอย่างน้อย 2 คำมารวมกัน คำหนึ่งจะเป็นคำลาว แต่อีกคำหนึ่งอาจเป็นมอญหรือเขมรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยใกล้ชิด เช่น

ทองคำ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า gold คำมอญใช้ "ทอง" คำเดียวก็เท่ากับ gold ส่วนลาวใช้ "คำ" เท่านั้น, ฝาละมี ฝาเป็นคำลาว ละมีเป็นคำมอญ หมายถึง ฝาหม้อดิน, สั่นคลอน สั่นคำลาว คลอนคำมอญ หมายถึง หลวม ง่อนแง่น, ฟ้อนรำ ฟ้อนคำลาว รำเป็นคำเขมร, เต้นระบำ เต้นคำลาว ระบำเป็นคำเขมร, ดั้งจมูก ดั้งคำลาว จมูกเป็นคำเขมร ฯลฯ

หน้า 34




 

Create Date : 29 กันยายน 2550    
Last Update : 29 กันยายน 2550 10:24:11 น.
Counter : 1451 Pageviews.  

ดัดสันดานใคร? ครูหรือนักเรียน

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




ภาพเหตุการณ์ นักเรียนหญิง ม.4 โรงเรียนอุโมงค์วิทยาคม จังหวัดลำพูน ล้อมวงรุมทำร้ายรุ่นน้องผู้หญิง ม.3 จนได้รับบาดเจ็บ ต้องนอนโรงพยาบาลร่วมสัปดาห์ แถมยังถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ แม่เข้าแจ้งความตำรวจ ยืนยันเอาเรื่องถึงที่สุด (ภาพและคำบรรยายภาพจาก ข่าวสด ฉบับวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2550)

เด็กไม่ดีในทรรศนะของครูบาอาจารย์ก็จะดัดสันดานเด็ก ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ดีจะดัดสันดานใคร? เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งครูบาอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษามีปัญหาเรื้อรังระบาดถึงกันหมด จะขอคัดข่าวจากมติชน (หน้า 16 วันอังคารที่ 25 กันยายน 2550) มาให้อ่านดังนี้

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน กรณี คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีแนวคิดการแก้ปัญหาความรุนแรงของเด็กในสถานศึกษา โดยนำเด็กที่มีปัญหาไปแยกปรับพฤติกรรมว่าไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นวิธีคิดทางลบ เพราะพฤติกรรมของทุกคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจ เช่น คำว่าเด็กเปรต เด็กเกเร ผู้เชี่ยวชาญเคยกล่าวว่า เด็กกลุ่มนี้หมายถึงเด็กที่มีพลังงานเยอะ ดังนั้น ถ้าเด็กได้มีโอกาสแสดงออก มีเรื่องศิลปะ ดนตรี และกีฬา เข้ามาเกี่ยวข้อง เด็กกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นคนที่สร้างสรรค์

"ทุกวันนี้กระบวนการเรียนรู้ของเราไม่ดีพอ ทั้งนี้ การจะจัดค่ายพฤติกรรมหรือทำโรงเรียนดัดสันดาน เป็นสิ่งที่ไม่ดี ถือเป็นการดูถูกคนๆ นั้นว่าสันดานไม่ดี" นพ.ประเวศกล่าว และว่า การแก้ไขปัญหาเด็กที่มีพฤติกรรมไม่ดีนั้น จะต้องเริ่มจากการมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีความคิดรอบคอบ ต้องแก้ไขด้วยความรัก ไม่ใช่การลงโทษ

ความรุนแรงของเด็กในสถานศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เป็นผลจากสภาพแวดล้อมทางสังคมสนับสนุนให้เป็นอย่างนั้น เพราะครูบาอาจารย์ทุกระดับจนถึงมหาวิทยาลัย ไม่ได้น่าเคารพนับถือเหมือนแต่ก่อน หรือเหมือนที่ควรจะเป็น แม้แต่วิชาดนตรีและวิชาศิลปะ ก็กลายเป็นสิ่งที่ครูอาจารย์ใช้ "เซ็งลี้" เป็นที่รู้กัน

มหาวิทยาลัยบางแห่งทำตัวเหมือนนายหน้าค้าความรู้ ติง สกอ. ดูแลปลายทางขณะที่ สมศ. ประเมินแบบหลงทิศผิดประเด็น มีในคมชัดลึก (หน้า 12 วันอังคารที่ 25 กันยายน 2550) ว่า

ผศ.ดร.สุรวุฒิ ปัดไธสง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยบูชาปริญญาบัตร จึงเกิดปรากฏการณ์ปริญญานิยมขึ้น บนถนนสายต่างๆ จึงมีสถาบันการศึกษาเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ โดยที่สถาบันไม่มีภูมิความรู้ในวิชานั้นๆ อาจารย์ประจำหลักสูตรและหลักสูตรในรายวิชาต่างๆ ก็ไม่มีเช่นกัน ที่เปิดสอนได้เพราะใช้วิธีเชิญอาจารย์จากภายนอกไปสอน สถาบันการศึกษาที่ดำเนินการในลักษณะนี้ ทำตัวเสมือนนายหน้าในการจัดการความรู้ จึงเห็นสถาบันการศึกษาเช่าพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเปิดสอนในสาขาวิชาและคณะต่างๆ ตามถนนหนทางสถาบันการศึกษาก็เปิดสอน

"ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดูแลแค่ปลายทาง และไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง รวมถึงสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ประเมินมหาวิทยาลัยบางเรื่องยังหลงประเด็น เช่น การประเมินงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ ทำไปเพื่อสนองตอบต่อประเทศ อุตสาหกรรม ขณะที่ไทยไม่ได้เป็นสังคมอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยหลงทิศทางน่าห่วง ซึ่งมหาวิทยาลัยจำนวนมากพยายามบริหารองค์กรเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ สมศ.จนลืมความเป็นจริงในสังคมไทย" ผศ.ดร.สุรวุฒิกล่าว

สถาบันการศึกษาทุกระดับกลายเป็นแหล่ง "เซ็งลี้วิชาการ" รวมทั้งบรรดาที่อวดสอนดนตรีทั้งหลายก็ไม่เว้น อย่างนี้แล้วจะให้เด็กเยาวชนทั้งหลายคิดถึงอะไร ถ้าไม่ใช่กอบโกยเห็นแก่ได้อย่างรุนแรง แถมความรู้ประวัติศาสตร์ไทยยังให้แต่รณรงค์สงคราม "ไทยรบพม่า" (ลาว, เขมร, มลายู) ครูอาจารย์ไม่สนใจประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หล่อหลอมให้รักชุมชนท้องถิ่นอย่างทะนุถนอม แล้วจะเหลือความสุภาพอ่อนน้อมที่ไหน?

นี่เราจะดัดสันดานใครดี?

หน้า 34




 

Create Date : 29 กันยายน 2550    
Last Update : 29 กันยายน 2550 10:21:19 น.
Counter : 493 Pageviews.  

ผู้พิทักษ์ความเป็นไทย และผู้ทรงภูมิเพี้ยนๆ

อลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




ความเป็นไทยไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของกาละและเทศะ

"ความเป็นไทย" เป็นทั้งเครื่องมือเอาเปรียบเบียดเบียนและกำจัดฝ่ายตรงข้าม กับเป็นทั้งหลุมหลบภัยหรือเกราะกำบังจากความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ ที่ตัวเองควบคุมไม่ได้ และไม่กล้าเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลงนั้น

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนเรื่อง แปล-ปรับ-เปลี่ยน ในมติชนสุดสัปดาห์ แล้วสรุปตอนท้ายบอกอาการฟูมฟายถึงความเป็นไทยจากภาษาไทยว่า

"ภาษาอังกฤษถูกจับจองเป็นสมบัติของผู้ดีไทยอย่างเหนียวแน่น เพราะภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแผนใหม่ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เปิดโอกาสให้คนนอกกลุ่มผู้ดีได้รับอย่างเท่าเทียม ภาษาอังกฤษในประเทศไทยจึงผูกพันอยู่กับผู้ได้เปรียบในระบบอย่างมาก

นักแปลหรือตัวกรองก็ถูกคัดเลือกออกมาจากกลุ่มนี้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นักแปลได้กรองให้ภาษาอังกฤษที่แปลเป็นไทยแล้วเป็นภาษาที่เซื่องลง ในขณะเดียวกันก็พยายามกักกันภาษาอังกฤษในเมืองไทยไว้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการประกอบอาชีพ (นับตั้งแต่เป็นไก๊ด์ไปจนถึงอ่านตำราฝรั่งออก) แต่ไม่ใช่สื่อสำหรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม และการเมือง

สถานการณ์ดังกล่าวนี้เริ่มเปลี่ยนไปนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออิทธิพลอเมริกาเข้ามาแทนที่อิทธิพลอังกฤษ มีคนหน้าใหม่ซึ่งไม่ได้สังกัดกลุ่มชนชั้นนำจำนวนมากที่ได้เรียนภาษาอังกฤษ หรือรู้ภาษาอังกฤษอย่างดี คนเหล่านี้เป็นผู้ "แปล" แนวคิดในภาษาอังกฤษออกเป็นไทย ทั้งในรูปภาษาหรือพฤติกรรมและระบบค่านิยม

เครื่องกรองภาษาอังกฤษที่ครั้งหนึ่งเป็นของผู้ดีเท่านั้น ถูกคนอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ "ผู้ดี" แย่งไปใช้ อันทำให้สิ่งที่ไหลเข้ามาสู่สังคมไทยผ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ถูกกรองด้วยวิธีเก่า สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกรองไว้ในการแปล กลับไหลเข้ามาโดยไม่ได้กรอง

คำที่ไม่เคยมีในภาษาไทยถูกสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้ปลอดพ้นจากความหมายเก่า เช่น "ชายขอบ", "โครงสร้าง", "พื้นที่", "สมัชชา", "กระบวนทรรศน์" ฯลฯ

หลุมหลบภัยจากความเปลี่ยนแปลงที่คุมไม่ได้ของ "ผู้ดี" ในกระทรวงวัฒนธรรม, มหาวิทยาลัย, สื่อ และคณะรัฐประหาร จึงเหลืออยู่ที่เดียวคือภาษาไทยตามแบบแผนประเพณี และนั่นคือกระแสของการฟื้นฟูอนุรักษ์ภาษาไทยที่เราได้ยินหนาหูขึ้นในระยะสอง-สามทศวรรษที่ผ่านมา"

แต่เมื่อเขียนเรื่อง ชื่อเล่นจริงๆ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สรุปตอนท้ายว่า "ความเป็นไทย" (หากมีสิ่งนี้อยู่จริง) ย่อมเป็นสังขตธรรม จึงตกอยู่ภายใต้อานุภาพของพระไตรลักษณ์ หาความเที่ยงแท้ไม่ได้ หาความคงทนถาวรไม่ได้ หาความเป็นแก่นสารตัวตนไม่ได้ "ความเป็นไทย" (หากมีสิ่งนี้อยู่จริง) จึงแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ ตลอดมาไม่เคยหยุดนิ่ง

"น่าเสียดายที่เรามีกระทรวงวัฒนธรรมเพียงเพื่อตราให้ความเขลา, ความล้าสมัย, ความสมยอม, ความสยบยอม คือ "ความเป็นไทย" อย่างสถิตสถาพร กระทรวงวัฒนธรรมจึงเป็นเพียงเครื่องมือแห่งอำนาจที่ฉ้อฉล ซ้ำร้ายกว่านั้นยังเป็นเครื่องมือที่น่าหัวแก่คนไทยทั่วไปเสียด้วย"

ช่องทางแก้ไขให้งานวัฒนธรรมของราชการไม่กลายเป็นขอนไม้ลอยเท้งเต้งกลางห้วงมหรรณพ ก็คือราชการต้องเลิกทำตัวเป็นผู้พิทักษ์สิ่งทั้งหลาย แล้วหันกลับมาร่วมกันแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วเผยแพร่สู่สาธารณะไปพร้อมกัน โดยไม่หลงตนเป็นผู้ทรงภูมิอย่างเพี้ยนๆ เลอะเทอะ

หน้า 34




 

Create Date : 29 กันยายน 2550    
Last Update : 29 กันยายน 2550 10:18:59 น.
Counter : 607 Pageviews.  

เสียงค้าน "ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น" ไม่ถึง 120 ปี

โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช




ร.7 ทรงฉลองพระองค์กิโมโนในโอกาสที่นายคิชิโร โอกุระ (ไม่มีหนวด) ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ พ.ศ.2467

วันพุธที่ 26 กันยายนที่จะถึงนี้ นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

กล่าวคือ ย้อนกลับไปเมื่อ 120 ปีก่อน วันนี้คือวันเปิดศักราชแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการ

ครั้งนั้น สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ลงพระนามใน "หนังสือปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขายในระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น" ร่วมกับ นายชูวโซ อาโอกิ รองเสนาบดีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น

นับแต่นั้นมาทั้งสองชาติได้เกื้อกูลอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมหนักแน่น สม่ำเสมอ และลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพระราชวงศ์ รัฐบาล นักธุรกิจ ประชาชน ฯลฯ และครอบคลุมความสัมพันธ์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว การศึกษา การค้นคว้าวิจัย ฯลฯ

เพื่อฉลองโอกาสอันสำคัญนี้ ภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศจึงร่วมมือกันจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี 2550 เพื่อสร้างเสริมมิตรภาพและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนของสองประเทศ นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นทยอยกันจัดงานมาเรื่อยๆ เช่น การแสดงนาฏศิลป์ที่เมืองโอซากา และที่เมืองโตเกียว

สำหรับวันที่ 26 กันยายน 2550 ซึ่งเป็นวันครบรอบความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 120 ปี ไทยจะเปิด ศาลาไทย ที่สวนสาธารณะอูเอโนะ กรุงโตเกียว และญี่ปุ่น จะจัดงานแสดงคอนเสิร์ตที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

หนังสือปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขายในระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น



เรอิโกะ ฮาดะ สตรีญี่ปุ่นซึ่งมาอยู่เมืองไทยกว่า 10 ปี เจ้าของงานเขียนเรื่อง "สายธารแห่งแดนดาวใต้ : เรื่องจริงของจารชนสตรีที่ถูกส่งมาเมืองไทย" ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดงานฉลอง 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในปีนี้ว่า

ถ้าจะนับกันจริงๆ แล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นไม่ถึง 120 ปี เหตุเพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทยต้องปิดลง

ถือเป็นการสิ้นสุดความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

"คุณทราบมั้ยว่ามีชาวญี่ปุ่นจำนวนเท่าไรในเมืองไทยขณะนั้น

พวกเขาเหล่านี้ถูกกวาดต้อนเข้าไปอยู่รวมกันในเรือลำหนึ่ง เพื่อเดินทางไปยังแคมป์บางบัวทอง แคมป์ซึ่งปกครองโดยชาวอังกฤษ ที่ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งนั้น ญี่ปุ่นต่อสู้กับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยก็เป็นฐานทัพของกองทัพญี่ปุ่น

"แคมป์แห่งนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลไทยเพื่อเป็นสำนักงานชั่วคราว ถ้าสงครามลุกลามกลายเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่

"อย่างไรก็ตาม หลังจากสงครามสิ้นสุดลง และเป็นความโชคร้ายของชาวญี่ปุ่นที่ต้องเข้าไปอยู่ในแคมป์แห่งนั้น ขณะที่ชาวญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกาถูกส่งตัวไปยังแคมป์แมนซานาร์ แถบหุบเขาโอเวนส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย


"ฉันได้ทราบเรื่องราวมาจากชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่อยู่ในแคมป์บางบัวทอง เขาเล่าว่า..." เรอิโกะเริ่มต้นเล่าถึงเรื่องที่ได้รับฟังมา

"รัฐบาลไทยใจดีมาก ดูแลผู้ที่อยู่ในแคมป์เป็นอย่างดี รวมทั้งเรื่องอาหารการกินก็มีให้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นข้าว เนื้อ ผัก และปลา ซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นในแคมป์แมนซานาร์"

หลังจากออกจากแคมป์ในปี พ.ศ.2489 ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตให้กลับประเทศของตนได้ ยกเว้นชาวญี่ปุ่นจำนวน 126 คนที่ยังคงอยู่ในเมืองไทย เช่น ผู้ถือใบอนุญาตให้พักอาศัยในไทยได้อย่างถาวร ผู้ที่มีอาชีพเป็นแพทย์ ศิลปิน วิศวกร และครู

กระทั่งปี พ.ศ.2493 ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเซ็นสัญญาใน "สนธิสัญญาสันติภาพ" สถานทูตญี่ปุ่นจึงเปิดความสัมพันธ์อีกครั้งกับประเทศไทย นับจนถึงตอนนี้รวมแล้ว 56 ปี

เรอิโกะบอกว่า เธอรักเมืองไทยและมีความผูกพันกับเมืองไทยมาก ขณะเดียวกันเธอก็รู้สึกอิจฉาคนไทยที่ไม่เคยรู้สึกถึงความสูญเสียเหมือนอย่างคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามที่ญี่ปุ่น แม้ว่าจะเซ็นสัญญาในสนธิสัญญาสันติภาพแล้วก็จริง แต่สัญญานั้นกลับปิดกั้นอิสรภาพทั้งหลายทั้งปวงของคนญี่ปุ่น

เธออธิบายถึงเงื่อนไขอันเนื่องมาจากสนธิสัญญาสันติภาพที่เซ็นขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488 ว่า นั่นหมายถึงญี่ปุ่นต้องยอมจำนนต่อสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

"เป็นการเริ่มต้นการถือครองประเทศญี่ปุ่นโดยคนอเมริกัน ทุกอย่างเป็นไปภายใต้วิถีของอเมริกัน เราเรียกว่านโยบาย จี.เอช.คิว. (สำนักงานของนายพลแม็คอาเธอร์ในญี่ปุ่น)

"กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2489 มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย จี.เอช.คิว มีสาระสำคัญ คือ ไม่มีกองทัพอีกต่อไป-เป็นสันติประเทศ (ประชาธิปไตย), เปลี่ยนระบบกสิกรรมแบบเก่า, การศึกษาเป็นแบบใหม่โดยใช้ตำราแบบของอเมริกัน ฯลฯ

เดือนกันยายน 2494 มีการเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างญี่ปุ่นและอเมริกา ซึ่งสถานภาพนี้รวมไปถึงความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

"สหรัฐอเมริกาควบคุมญี่ปุ่นด้วยสัญญาสันติภาพ แต่ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นก็ต้องเชื่อฟังกองทัพอเมริกัน ปัญหาต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป

"แม้ว่าหลังจากที่เราเป็นอิสระแล้ว แต่ก็ยังดำเนินรอยตามนโยบายเตรียมความพร้อมทางทหารของอเมริกัน"

เรอิโกะย้ำว่า จะบอกว่าปีนี้เป็นปีครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นไม่ได้

เพราะญี่ปุ่นต้องปิดความสัมพันธ์กับไทยลงในปี 2488-2494 ฉะนั้น ถ้าจะนับระยะเวลาของความสัมพันธ์แล้วควรจะว่า 114 ปีจึงจะถูกต้อง

เธอบอกว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อฉลองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ 120 ปี เธอไม่ได้ต่อต้าน แต่ลึกๆ แล้วยังอดรู้สึกไม่ได้ว่า

"ไม่จำเป็นต้องตีกลองฉลองกันเสียงดังขนาดนั้นก็ได้"

หน้า 34




 

Create Date : 29 กันยายน 2550    
Last Update : 29 กันยายน 2550 10:17:33 น.
Counter : 891 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  

win_mma
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add win_mma's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.