Group Blog
 
All Blogs
 

ประวัติศาสตร์มีชีวิตและอารมณ์ ยุคล่าอาณานิคม และพระอภัยมณี

วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10664

ประวัติศาสตร์มีชีวิตและอารมณ์ ยุคล่าอาณานิคม และพระอภัยมณี



ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยล้วนเป็น "ประวัติศาสตร์สำเร็จรูป" กลิ่นและรสเดียวกันหมด เหมือนอาหารสำเร็จรูปมีเกลื่อนไปในตลาดล้วนผลิตจากแหล่งคิด (โรงงาน) เดียวกัน หรือต่างโรงงานแต่เครื่องมือและวิธีการผลิตอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่หีบห่อยี่ห้อ

แต่สมุดภาพรัชกาลที่ 4 วิกฤตและโอกาสของรัตนโกสินทร์ ของ ไกรฤกษ์ นานา เป็นหนังสือข้อมูล "ประวัติศาสตร์มีชีวิตและอารมณ์" ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ราว 150 ปีมาแล้ว เพราะข้อมูลเหล่านั้นเป็นรูปลายเส้นฝีมือฝรั่งจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งยุคนั้นมากกว่า 300 รูป (ล้วนมีอายุราว 150 ปีมาแล้วทั้งนั้น) ที่ผู้อ่านต้องดูรูปลายเส้นพร้อมคำใต้ภาพ แล้วคิดปรุงเอง ลงมือปรุงเอง ว่าชอบประวัติศาสตร์แบบไหนตาม "จินตนาการ" ความต้องการและฝีมือปรุงของตัวเอง

รูปลายเส้นที่คุณไกรฤกษ์รวบรวมจากต้นฉบับจริงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝรั่ง เป็นงานไม่เคยมีใครทำจริงจังมาก่อน เพราะใช้เวลาของความรักและศรัทธาสูงมาก ต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อย ซึ่งคุณไกรฤกษ์มีเหลือเฟือทุกอย่าง เลยได้งานมีคุณภาพมาก

ประวัติศาสตร์มีชีวิต จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึกเล่มนี้ เป็นยุคล่าเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมยุโรปยุคแรก ที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ต้องอ่านวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณีของสุนทรภู่ (ขณะเดียวผู้ศึกษาวรรณคดีก็ต้องอ่านประวัติศาสตร์จากเล่มนี้) ประกอบด้วย ถึงจะ "อร่อย" เพราะสุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีให้มี "นัยยะ" ต่อต้านการล่าอาณานิคม แล้ว "แปลงสนามรบเป็นสนามรัก" ดังเพลงปี่เกี้ยวนางละเวงและอื่นๆ เพราะนางละเวงคือสัญลักษณ์ของพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ล่าเมืองขึ้นปกครองลังกาและอินเดียหมดแล้ว

สิ่งที่คุณไกรฤกษ์ นานา ควรทำต่อไป คือย่อเล่มใหญ่ลงเล่มเล็ก (ขนาด 16 หน้ายกธรรมดา) เป็นหนังสือภาพเล่าเรื่องหรือเล่าเรื่องด้วยภาพอย่างง่ายๆ ให้คนทั่วไป "เข้าถึง" กว้างขึ้น ก็จะเป็นกุศลมหาศาลต่อการแบ่งปันความรู้และเผยแพร่สู่สาธารณะด้วยราคาไม่แพง

หน้า 34




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 25 พฤษภาคม 2550 15:30:53 น.
Counter : 614 Pageviews.  

ห้องหนังสือกับมิวเซียม สร้างความรู้ด้วยความรัก

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10666

ห้องหนังสือกับมิวเซียม สร้างความรู้ด้วยความรัก

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ



ความรู้ต่างกับความรู้สึก มีตัวอย่างความต่างอยู่ในสังคมไทยที่แสดงออกด้วยความรู้สึกอันมีที่มาจากความเชื่อ แล้วเสนอความเห็นจากความรู้สึกนั้นโดยไม่ให้ความสำคัญต่อความรู้ข้อมูลและพยานหลักฐานที่มีจริงๆ (ไม่ใช่รู้สึกเองว่ามี แต่จริงๆ ไม่มี)

สังคมความรู้สึกย่อมตกเป็นเหยื่อของประชานิยมที่กล้า "เล่น" แล้วเอาความรู้สึกของสังคมเป็นเครื่องมือได้ง่ายๆ เห็นได้ชัดจากความรู้สึกยกย่องเชิดชู "ผู้มีบุญ" ที่ทำทานอย่างพระเวสสันดร โดยไม่ติดใจสงสัยใดๆ ว่าทานที่ได้รับมาจากไหน? แม้เป็นทานจากความคดโกงยังใช้ความรู้สึกกำหนดว่า "ก็ยังดีกว่าโกงแล้วไม่ทำทาน"

ความรู้สึกของสังคมอย่างนี้มีอันตรายไร้อนาคต ต้องหาช่องทางกำจัดหรือจำกัดให้ความรู้สึกหมดไปหรือลดลง แล้วให้ความสำคัญต่อความรู้ที่ได้จากการศึกษาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งจากวิจัยวิจารณ์และประสบการณ์ด้วยตัวเอง

ห้องหนังสือกับมิวเซียมเป็นเครื่องมือดีที่สุดจำนวนหนึ่ง (ในบรรดาเครื่องมือดีๆ อีกหลายอย่าง เช่น สื่อ ฯลฯ) ที่กำจัดและ/หรือจำกัดความรู้สึกได้

แต่สังคมความรู้สึกอย่างสังคมไทยก็โชคร้ายซ้ำอีก เพราะกิจการของห้องหนังสือ (คือห้องสมุด) กับมิวเซียม (คือพิพิธภัณฑ์) ตกอยู่ในบ่วงกรรมอำนาจวิธีคิดและวิธีทำของระบบราชการแบบอาณานิคม (ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5) ที่เห็นว่าพลเมืองไม่มีสติปัญญาสมควรจะได้ความรู้ ส่งผลให้กิจการหนังสือกับมิวเซียมในสังคมไทยเป็นสถานที่ต้องห้ามที่ไม่ควรย่างกรายเฉียดใกล้ราวสถานที่ดับจิต

กทม. (กรุงเทพมหานคร) มีบ้านหนังสือกระจายทั่วไป (แต่ไม่มีใครรู้จักนักและมักไม่มีคนเข้าใช้บริการ) และเคยมีมิวเซียมกระจายอยู่บางเขต แต่ปิดแล้วเกือบหมด (เพราะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ) ก็มีเหตุจากคิดแล้วทำตามระบบราชการแบบอาณานิคมนั่นแหละ คือไม่มีจิตสาธารณะ และไม่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลพลเมือง จึงไม่มีกิจกรรมความรู้สู่สาธารณะ

มีผู้ส่งเอกสารแผ่นพับ 2 พับมาให้อ่าน พับหนึ่งเรื่องบ้านหนังสือ สุกันยา อิศรางกูร ณ อยุธยา (ตรงพรานนก ใกล้โรงพยาบาลศิริราช) อีกพับหนึ่งเรื่อง ศูนย์ฝึกอาชีพวัดสุทธาวาส (ใกล้สถานีรถไฟบางกอกน้อย) แล้วมีชื่อชนินทร์ รุ่งแสง รองประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการ เมื่ออ่านหมดแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นงานทำตามแบบแผนราชการ กทม. เหมือนที่เคยมีมาก่อน และทยอยปิดไปก่อนอย่างเป็นปกติ

นักวิชาการเพ้อเจ้อไร้สาระจะแอบอ้างทฤษฎีบ้าบอคอแตกว่าห้องสมุดกับพิพิธภัณฑ์แตกต่างกันเพราะฝรั่งบอกไว้อย่างนั้น แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันคือเผยแพร่ความรู้ ฉะนั้น รวมอยู่ด้วยกันได้และดีมากถ้ารวมกันเท่าที่จะจัดการได้ กระทั่งงานบ้านหนังสือสุกันยาฯกับศูนย์ฝึกอาชีพฯถ้ามีกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เสริมเข้าไปด้วยจะยิ่งดีวิเศษนัก เพราะเท่ากับค่อยๆ สร้างความรู้เพื่อลดความรู้สึกที่บอกไว้แต่แรก

อุปสรรคสำคัญมีอย่างเดียวคือระบบราชการแบบอาณานิคมที่ กทม. มีเต็มเปี่ยมทุกระดับ จึงไม่ต้องการเผยแพร่ความรู้ด้วยความรัก แต่จะเชิดชูความ รู้สึกและความเชื่อเพื่อประชานิยม




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 25 พฤษภาคม 2550 15:27:46 น.
Counter : 610 Pageviews.  

ศาสนาประจำชาติ ในคำปรารภรัฐธรรมนูญ

ศาสนาประจำชาติ ในคำปรารภรัฐธรรมนูญ

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



"พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" เป็นข้อความที่พระสงฆ์กับญาติโยมประสกสีกาจำนวนมาก เรียกร้องให้ตราเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีคนจำนวนมากคัดค้านว่าไม่สมควรต้องทำอย่างนั้น เพราะรังแต่จะก่อให้เกิดความร้าวฉานบาดหมางอย่างรุนแรงในเวลาข้างหน้า ดังมีในประเทศอื่นๆ เป็นตัวอย่างเห็นชัดอยู่แล้ว

อาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต (ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและการเมือง) ได้ชี้ทางบรรเทาทุกข์เสนอให้พระสงฆ์กับข้าพระโยมสงฆ์ร่วมกันพิจารณาอย่างละมุนละม่อม แล้วทีมข่าวการเมืองของกรุงเทพธุรกิจเอามาพิมพ์เผยแพร่ (ในเกาะกระแส หน้า 3 ฉบับวันอังคารที่ 24 เมษายน 2550) จะขอยกบางตอนมาบอกต่อดังนี้

"เมื่อองค์กรเพื่อพระพุทธศาสนาออกมาเรียกร้องกันอย่างแข็งขันเช่นนี้ ก็สามารถเพิ่มถ้อยคำลงไปใน "คำปรารภ" ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยถ้อยคำที่เสนอให้บรรจุไว้ก็คือ

"ศุภมัสดุ จำเดิมแต่ชนชาติไทยได้ตั้งประเทศสยามเป็นหลักฐานมั่นคงในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี อันมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก พระพุทธศาสนายุกาลในครั้งกระนั้นเป็นอดีตภาค 1,781 พรรษา" (ตามหลักฐานใหม่ในหนังสือสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 2526 หน้า 23)

"ครั้นกาลล่วงมาจนถึงพระพุทธศาสนายุกาลเป็นอดีตภาค 2,475 พรรษา ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรเป็นลายลักษณ์อักษรโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ได้พระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ให้ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์"

"บัดนี้กาลสมัยก็ได้เปลี่ยนแปลงไป...มีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อพระพุทธศาสนายุกาลเป็นอดีตภาค 2550 พรรษา..."

ความในคำปรารภทำนองนี้จะเป็นการรับรองว่า "ศาสนาพุทธ" เป็นศาสนา ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาตั้งแต่โบราณกาลโดยไม่จำเป็นต้องไปใส่ไว้ในบทบัญญัติและไม่ต้องเขียนว่าเป็น "ศาสนาประจำชาติ" เพราะจะเข้าใจได้โดยนัยอยู่แล้ว และความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อประเทศก็จะปรากฏอยู่ตลอดไปไม่ว่าจะในรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือฉบับที่จะยกร่างในอนาคต"

ผมไม่ขอเกี่ยวข้องเรื่องศาสนาประจำชาติ เพราะไม่เห็นความจำเป็นต้องตราไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ขออนุญาตทำความเข้าใจให้รู้ว่า

1.กรุงสุโขทัยไม่ได้มีชื่อว่าประเทศสยาม แต่ตั้งอยู่ในดินแดนสยาม

2.ไม่เคยมีหลักฐานว่าชนชาติไทยตั้งประเทศสยาม เพราะไม่มีประเทศสยามในความหมายอย่างปัจจุบัน จะมีก็แต่ชื่อในตำนานบาลีว่าสยามเทสสะ แปลว่าสยามประเทศ หมายถึงดินแดน (ชื่อ) สยาม ครอบคลุมสองฝั่งโขงตอนบนกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น มีร่องรอยเรียกดินแดนในสยามอยู่ในเอกสารจีนตั้งแต่ 2,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย คนทุกเผ่าพันธุ์ในดินแดนสยามเรียก ชาวสยาม (ไม่ใช่ชนชาติไทย) ศูนย์กลางชาวสยามเก่าสุดอยู่เวียงจัน มีภาพชาวสยามเก่าสุดราว พ.ศ.1650 อยู่ที่ปราสาทนครวัด (ก่อนมีกรุงสุโขทัยเกือบ 100 ปี)

3.กษัตริย์พระองค์แรกของกรุงสุโขทัยชื่ออะไร? ไม่เคยมีพยานหลักฐานตรงๆ ไม่เคยมีจารึกบอก แต่จารึกวัดศรีชุมระบุว่าพ่อขุนศรีนาวนำถุม (บิดาของพ่อขุนผาเมือง) เป็นผู้สถาปนารัฐศรีสัชนาลัยสุโขทัย (ในจารึกบอกชื่อคู่อย่างนี้) ส่วนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (เดิมชื่อบางกลางหาวเป็นสหายขุนผาเมือง) เป็นกษัตริย์องค์หลังๆ ต่อมา แสดงว่าไม่ใช่องค์แรก

ถ้าไม่เชื่อพยานหลักฐานที่มีจริง แต่จะเชื่อจินตนาการล้าหลัง-คลั่งชาติของตัวเอง ก็ตามใจ

หน้า 34




 

Create Date : 30 เมษายน 2550    
Last Update : 30 เมษายน 2550 7:39:59 น.
Counter : 526 Pageviews.  

ความเป็นมาทางสังคมวัฒนธรรม ของ ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง เริ่มแรกเรียกตัวเองว่า"คนไทย

คอลัมน์ สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม





*ลายเส้นแผนที่ประกอบ โดย วรพงศ์ ผดุงชอบ



ประเทศไทยมีต้นกระแสประวัติศาสตร์จากดินแดนและผู้คนบริเวณสุวรรณภูมิ หรืออุษาคเนย์ทุกวันนี้ คนพวกหนึ่งบริเวณภาคกลางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่งสมมุติชื่อเรียกตัวเองว่า "คนไทย" เมื่อราวหลัง พ.ศ.1700-1800 สืบจนปัจจุบัน



ชุมชนต้นตระกูลไทย-ลาวในภาคกลาง

1) 5,000 ปีมาแล้ว บรรพชนคนภาคกลาง (ที่ต่อไปข้างหน้าจะสมมุติชื่อเรียกตัวเองว่า "คนไทย" เป็นครั้งแรกเมื่อราวหลัง พ.ศ.1700) เริ่มตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนร่อนเร่อยู่ตามขอบอ่าวไทยดึกดำบรรพ์ เช่น บ้านเก่า ตำบลจรเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี, บ้านโคกพนดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี, และบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดลพบุรี

คนพวกนี้ปลูกเรือนเสาสูง, ปลูกข้าวเหนียวแล้วกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก, เลี้ยงสัตว์, ทำเครื่องมือหินและโลหะ, ทำภาชนะดินเผามีทั้งหม้อสามขาและแบบอื่นๆ, ทำลูกปัดด้วยดิน, รู้จักทอผ้าหยาบๆ, มีพิธีศพเฉพาะหัวหน้าเผ่าพันธุ์บริเวณศักดิ์สิทธิ์กลางลานหมู่บ้าน ฯลฯ

อ่าวไทยยุคนี้กว้างกว่าปัจจุบัน ขอบเหนือสุดอยู่ชัยนาท, สิงห์บุรี, ลพบุรี ทางตะวันออกอยู่ถึงนครนายก, ปราจีนบุรี ทางตะวันตกอยู่ถึงสุพรรณบุรี, นครปฐม, ราชบุรี ส่วนมากเป็นทะเลโคลนตมที่เกิดจากตะกอนแม่น้ำพัดพามาทับถม

2) 4,000 ปีมาแล้ว แรกถลุงโลหะ เช่น สัมฤทธิ์ (ที่ต่อไปข้างหน้าจะหล่อ พระพุทธรูปและเทวรูป) พบมากทางลุ่มน้ำยม-น่าน เช่น สุโขทัย, พิษณุโลก ฯลฯ กับลุ่มน้ำป่าสัก เช่น ลพบุรี, เพชรบูรณ์ ฯลฯ

3) 3,000 ปีมาแล้ว มีคนจากภายนอกเคลื่อนย้ายเข้ามาทุกทิศทางทั้งทางบกและทางทะเล เช่น ทางเหนือ แถบยูนนาน, ทางตะวันออก แถบกวางตุ้ง-กวางสี-เวียดนาม, ทางตะวันตก แถบอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน, ทางใต้ แถบชวา-มลายู ทำให้บริเวณภาคกลางมีผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ ตั้งหลักแหล่งประสมประสานอยู่ด้วยกันมากกว่าเดิม แล้วกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ แต่หนาแน่นมากสุดอยู่ทางอีสานสองฝั่งโขง

กลองทองหรือมโหระทึกหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ร่วมของคนยุคนี้ มีพบทั่วไป แต่มีศูนย์กลางการผลิตที่ยูนนาน-กวางสี-เวียดนาม (ต่อไปข้างหน้าคือ ฆ้อง, ระฆัง)

แหล่งสำคัญของยุคนี้อยู่ที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ต่อเนื่องถึงเมืองจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดลพบุรี กับบริเวณเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ยุคนี้มี "ภาษาร่วม" ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันที่เป็นรากเหง้าภาษาตระกูล ม้ง-เย้า, มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, และไทย-ลาว (ภาษาไทยเริ่มมีหลักฐานในยุคนี้)



ชุมชนบ้านเมืองแรกสุด ใน "สุวรรณภูมิ"

4) หลัง พ.ศ.1 หรือมากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว แรกมีชุมชนบ้านเมืองมีชื่อเรียกในคัมภีร์อินเดีย-ลังกาว่าสุวรรณภูมิ หมายถึงผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ทุกวันนี้ รวมทั้งประเทศไทย ตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มน้ำโขง-สาละวิน โดยเฉพาะทางใต้ มีแผ่นดินคาบสมุทรเชื่อมโยงการค้าโลก

ด้วยเหตุนี้เอง บริเวณผืนแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิที่เป็นดินแดนคาบสมุทร จึงกลายเป็นจุดเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียตะวันตก กับมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก ส่งผลให้มีผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ จากตะวันตกและตะวันออกเข้ามาตั้งหลักแหล่งทั้งถาวรและชั่วคราวไม่ขาดสาย มีการประสมประสานทั้งทางเผ่าพันธุ์และทางสังคมวัฒนธรรม กลายเป็นบรรพบุรุษหรือต้นแบบของคนปัจจุบัน มีชุมชนใหญ่ถลุงเหล็กเกิดขึ้นทางลุ่มน้ำน่าน (ทุ่งยั้ง คลองโพ จังหวัดอุตรดิตถ์) ลุ่มน้ำยม (บ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย) โดยเฉพาะทางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยามีกระจายเต็มไปทุกลุ่มน้ำ

อารยธรรมจากตะวันตกที่ผ่านมาทางอินเดีย เช่น ศาสนา อักษร วรรณคดี และอาหารการกิน (ข้าวเจ้า) จะเริ่มแพร่เข้ามาอย่างช้าๆ ให้หัวหน้าคนพื้นเมืองใช้เป็นเครื่องมือ (เทคโนโลยี) ทางการปกครอง รวบรวมผู้คนและชุมชนบ้านเมืองที่มีมาก่อนค่อยๆ เติบโตก้าวหน้าขึ้นเป็นรัฐน้อย-ใหญ่ กระจัดกระจายทั่วสุวรรณภูมิต่อไปข้างหน้า

อารยธรรมจากตะวันออกจากจีนฮั่นทางภาคเหนือ และ "เจ๊ก" ภาคใต้ของจีน เช่น ภาษาพูด เครื่องมือทอผ้า เครื่องมือโลหะ อาการการกิน (ผัก) ฯลฯ คลุกคลีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนพื้นเมืองทั่วไป

5)หลัง พ.ศ.500 หรือราว 2,000 ปีมาแล้ว บริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีนกับลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำบางปะกง เป็นบ้านเมืองศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระหว่างตะวันตก คือ อินเดีย, ลังกา, เปอร์เซีย, อาหรับ ฯลฯ กับตะวันออก จีน (ฮั่น) ฯลฯ

บริเวณลำน้ำท่าจีน-แม่กลอง มีชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมืองตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณดอนตาเพชร (อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี) และอู่ทอง (อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี) ที่ดอนตาเพชร-อู่ทอง นี่เอง ศาสนาพุทธจะแพร่หลายออกไปถึงที่อื่นๆ เช่น บริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก, ลุ่มน้ำบางปะกง-พานทอง, ลุ่มน้ำชี-มูล, ลุ่มน้ำโขง ฯลฯ

คนพื้นเมืองดั้งเดิมนับถือ "ศาสนาผี" มาก่อนนานแล้ว มีผู้หญิงเป็นหัวหน้า ทำพิธีกรรม เท่ากับผู้หญิงเป็นผู้สืบทอดพิธีกรรมในศาสนาผี เมื่อศาสนาพุทธ-พราหมณ์ที่มีผู้ชายสืบทอดพิธีกรรมแผ่มาถึงสุวรรณภูมิก็เกิดปะทะขัดแย้งก่อน แล้วประนีประนอมประสมประสานเข้าด้วยกันในภายหลัง โดยมีศาสนาพุทธ-พราหมณ์เป็นแกนนำหลัก และเป็นเครื่องมือทันสมัยในการปกครองรวบรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ให้มีศูนย์รวมร่วมกันอยู่ที่พุทธ-พราหมณ์

นับแต่นี้ไป คือราวหลัง พ.ศ.500 ชุมชนบ้านเมืองในศาสนาผีที่รับพุทธ-พราหมณ์ จะเติบโตขึ้นเป็นบ้านเมือง แล้วมีพัฒนาการขึ้นเป็นรัฐขนาดเล็กบริเวณทะเลโคลนตมอย่างน้อย 2 แห่ง คือ บริเวณอู่ทองกับลพบุรี ปากน้ำเจ้าพระยาในประเทศไทย

ผู้คนพลเมืองของ 2 บริเวณนี้ มีหลายเผ่าพันธุ์ผสมผสานอยู่ด้วยกันมาก่อนและจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีภาษาพูดคล้ายคลึงกัน ถือเป็นภาษาร่วมสุวรรณภูมิ ใช้สื่อสารกันได้ทั่วไป แต่จะเริ่มรับภาษาอื่นเข้ามาใช้งาน เช่น ภาษาจากอินเดีย ภาษาจากจีน ฯลฯ จากนั้นก็รับตัวอักษรที่มากับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ยกย่องเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม ใช้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ

ทางตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยายังว่างเปล่า จะมีเพียงชุมชนขนาดเล็กถลุงเหล็กอยู่ทางลุ่มน้ำยมที่สุโขทัย กับมีผู้คนเคลื่อนย้ายจากบริเวณสองฝั่งโขง ผ่านลงมาทางลุ่มน้ำน่านที่อุตรดิตถ์-พิษณุโลก นานเข้าก็เริ่มเป็นชุมชนสถานีการค้าบนเส้นทางคมนาคม



รัฐสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา

6) หลัง พ.ศ.1000 แรกมีรัฐขนาดเล็กก่อรูปขึ้นจากการค้าโลกตะวันตก-ตะวันออก แล้วเติบโตเป็นรัฐขนาดใหญ่ มีชื่อในเอกสารจีนว่าหลั่งยะสิว (ลังเกียฉู่) อยู่ทางลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ฟากตะวันตกทะเลโคลนตมอ่าวไทย กับโถโลโปตี (ทวารวดี) อยู่ทางลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก ฟากตะวันออกทะเลโคลนตมอ่าวไทย

ต่อมาอีกนานทะเลโคลนตมในอ่าวไทยดึกดำบรรพ์ตื้นเขินเป็นดินดอนอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าเป็นแกนกลาง ทำให้เกิดบ้านเมืองและรัฐเอกราชขึ้นบริเวณที่ราบลุ่มสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา คือ

รัฐหลังยะสิว อยู่ที่นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเครือข่ายอยู่เมืองคูบัว (จังหวัดราชบุรี) และบริเวณจังหวัดเพชรบุรี

รัฐโถโลโปตี อยู่ที่ลพบุรี ฟากตะวันออกลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเครือข่ายอยู่เมืองศรีมโหสถ (จังหวัดปราจีนบุรี) เมืองพระรถ (จังหวัดชลบุรี) และบริเวณจังหวัดจันทบุรี

บ้านเมืองและรัฐเหล่านี้ต่างเลือกรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ และตัวอักษรจากอินเดียมาใช้เป็นเครื่องมือทางการปกครองรวบรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ให้อยู่ร่วมในอำนาจเดียวกัน มีคนพวกหนึ่งเรียกสาม คือสยามอยู่ด้วย

ส่วนตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางบริเวณแม่น้ำน่าน-ยม อยู่บนเส้นทางคมนาคมระหว่างแม่น้ำโขง-อ่าวเมาะตะมะ-อ่าวไทย ทำให้มีผู้คนเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งชั่วคราว แต่บางพวกตั้งหลักแหล่งถาวรเป็นบ้านเมืองขึ้นต่อไปข้างหน้า



แรกมี"ขอม"ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

7) หลัง พ.ศ.1500 รัฐพื้นเมืองทั้งหมดในสุวรรณภูมิต่างปรับตัวทางการค้า แล้วควบคุมการค้าด้วยตัวเอง ทำให้เติบโตเข้มแข็งมีเครือข่ายกว้างขวาง เกิดบ้านเมืองน้อยใหญ่ทั้งชายฝั่งทะเลและภายในลุ่มน้ำลำคลอง ต่างสร้างความสัมพันธ์เป็นเครือญาติพี่น้องผู้ใหญ่ผู้น้อยผ่านการแต่งงาน มีผู้คนจากทุกทิศทางเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม แล้วตั้งหลักแหล่งบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่างรอบอ่าวไทย

ฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการรวมตัวของผู้คนชาวสยามแล้วสมมุติชื่อดินแดนสยามประเทศ ติดต่อกับพุกามประเทศ (พม่า), รามัญประเทศ (มอญ), มาลัยประเทศ (มลายู)

ฟากตะวันออกลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นพวกละโว้หรือมีชื่อที่คนอื่นเรียกอย่างยกย่องว่าขอม สังกัดกัมพุชประเทศ (กัมพูชา)

ครั้นหลัง พ.ศ.1600 การค้าสำเภากับจีนหนาแน่นมากขึ้น แต่เส้นทางคมนาคมทางน้ำโดยเฉพาะแม่น้ำลพบุรีคับแคบและอยู่ห่างไกลปากน้ำอ่าวไทยที่โคลนตมถมทับยื่นลงไปมากกว่าแต่ก่อน ดินดอนเกิดขึ้นกว้างขวาง รัฐละโว้จึงย้ายศูนย์กลางมาอยู่ลำน้ำเจ้าพระยาบริเวณที่สบกันของลำน้ำลพบุรี-ป่าสัก แล้วสถาปนาเมืองมีนามศักดิ์สิทธิ์ว่าอโยธยาศรีรามเทพนคร ที่ต่อไปข้างหน้าจะเป็นกรุงศรีอยุธยา

ภาษาพูดของผู้คนทั้งภาคพื้นแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิกับบริเวณหมู่เกาะเป็นภาษาร่วม แต่แตกต่างเล็กน้อยตามภูมิประเทศ โดยมีภาษากลางใช้สื่อสารทางการค้า 2 เขตใหญ่ๆ คือ ภาษาตระกูลไทย-ลาว ของดินแดนภายใน และภาษาตระกูลชวา-มลายู ของดินแดนภาคพื้นทวีปริมทะเลและหมู่เกาะ

นับแต่ พ.ศ.1500 เป็นต้นไป อักษรทางศาสนาที่รับจากอินเดียใต้ (ทมิฬ) ตั้งแต่แรก จะคลี่คลายไปในลักษณะเฉพาะของรัฐพื้นเมืองอย่างน้อย 3 แบบ คืออักษรมอญ ใช้ในรามัญประเทศทางรัฐพุกาม อักษรเขมร ใช้ในกัมพุชประเทศทางรัฐกัมพูชา แต่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีพวกสยามเรียกอักษรขอม อักษรกวิ ใช้ทางมาลัยประเทศทางใต้ถึงมาเลเซีย



แรกมีอักษรไทยและคนไทย

8) หลัง พ.ศ.1700 มีศาสนามวลชนแพร่หลายออกไปกว้างขวางคือ ศาสนาพุทธใช้ภาษาไทย กับศาสนาอิสลามใช้ภาษามลายู บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีรัฐเอกราชอย่างน้อย 2 แห่ง คือ รัฐละโว้-อโยธยา (ลพบุรี), รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี เป็นชื่อสืบเนื่องจากสุวรรณภูมิ) แล้วยังมีรัฐย่อยๆ คือ รัฐเจนลีฟู (ชัยนาท), รัฐเพชรบุรี (เพชรบุรี) ฯลฯ

รัฐอโยธยาศรีรามเทพ บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สนับสนุนผลักดันให้เกิดรัฐสุโขทัยขึ้นตอนบนบริเวณลุ่มน้ำยม-น่าน นับถือศาสนาพุทธเถรวาท ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง มีเครือข่ายถึงบริเวณสองฝั่งโขงที่เรียกภายหลังว่า ล้านช้าง-ล้านนา



แรกมีราชอาณาจักรสยาม

9) ครั้งหลัง พ.ศ.1800 บริเวณอโยธยามศรีรามเทพนคร เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ โดยเฉพาะสำเภาจีน จนเติบโตเปลี่ยนราชวงศ์และเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงศรีอยุธยา ทำให้คนพื้นเมืองจากอีสานและสองฝั่งโขงเคลื่อนย้ายลงมาเป็นประชากรหนาแน่น แล้วมีอักษรไทยได้แบบจากอักษรขอม (เขมร) ใช้งานทางศาสนา-การเมือง แล้วสมมุติเรียกชื่อตนเองว่า "คนไทย" เป็นครั้งแรก ต่อมาชาวต่างชาติเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าราชอาณาจักรสยาม ใช้ภาษาเขมรในราชสำนัก (จะเป็นราชาศัพท์ต่อไปข้างหน้า)

ขณะเดียวกันก็ขยายเครือข่ายลงไปควบคุมรัฐเพชรบุรีกับรัฐนครศรีธรรมราชประชิดกับรัฐปัตตานีที่เป็นเอกเทศ

10) หลัง พ.ศ.2000 กรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยามมีนามเป็นทางการว่ากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา (หมายถึงสืบจากทวารวดีของพระรามจากเมืองละโว้) แผ่อำนาจยึดครองรัฐสุโขทัยได้ทั้งหมด แล้วลดฐานะเจ้านายราชวงศ์สุโขทัยลงเป็นขุนนางให้ไปอยู่ใกล้ชิดในพระนครศรีอยุธยา แล้วเผชิญหน้ากับรัฐล้านนาต่อไปอีกนาน

ขณะเดียวกันก็แผ่อำนาจไปที่ราบสูงบริเวณลำน้ำมูล มีศูนย์กลางอยู่เมืองนครราชสีมา ควบคุมเส้นทางคมนาคมการค้ากับสองฝั่งโขงและทะเลสาบเขมร

ผลของการสร้างราชอาณาจักรสยามแผ่ไปควบคุมเส้นทางการค้าทางบก-ทะเลกว้างขวาง ทำให้เกิดสงครามกับหงสาวดี-อังวะ

11) หลัง พ.ศ.2300 หงสาวดียกมาตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตากย้ายราชธานีลงไปอยู่เมืองบางกอกแล้วตั้งกรุงธนบุรีขึ้นใหม่ ขยายอำนาจถึงล้านนา, อีสาน-ลาว, ลงใต้ถึงนครศรีธรรมราชประชิดรัฐปัตตานีที่เป็นเอกเทศ หลังจากนั้นราชวงศ์จักรีสถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานีแผ่อำนาจครองรัฐปัตตานีเป็นครั้งแรก



แรกมีชื่อประเทศไทย

12) หลังจาก พ.ศ.2400 กรุงสยามเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมอังกฤษ-ฝรั่งเศส ต้องยอมรับวิทยาการจากยุโรป เริ่มปรับตัวเองเป็นรัฐชาติ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นประเทศไทย แล้วบังคับให้ทุกชาติพันธุ์ต้องเป็นคนไทยเมื่อ 24 มิถุนายน 2482

หน้า 34
//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra04200450&day=2007/04/20§ionid=0131




 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 22 เมษายน 2550 9:34:33 น.
Counter : 995 Pageviews.  

เริ่มเรียกตัวเองว่า "คนไทย"

เริ่มเรียกตัวเองว่า "คนไทย"



กลุ่มชนที่เรียกตัวเองว่า คนไทย แล้วเรียกประเทศของตนว่า เมืองไทย มีหลักฐานเก่าสุดอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่รัฐอยุธยาและรัฐสุพรรณภูมิ ถึงรัฐสุโขทัย โดยลักษณะเด่นชัดที่บอกความเป็นคนไทยคือพูด ภาษาไทย เขียน อักษรไทย ล้วนจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทย-ลาว

ภาษาพูดมีมาก่อนหลายพันปีหรือมีมาพร้อมกำเนิดคน แต่อักษรไทยเพิ่งมีเมื่อหลัง พ.ศ.1700 โดยรับแบบแผนจาก อักษรเขมร หรือที่รู้จักทั่วไปว่า อักษรขอม แห่งรัฐละโว้ (ลพบุรี) หมายความว่าแต่เดิมเมื่อตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนย้ายมาอยู่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มจากราว 3,000 ปีมาแล้ว ปะปนกับตระกูลมอญ-เขมร ที่พัฒนาอักษรขึ้นใช้ก่อน

จากอักษรปัลลวะ (ทมิฬ อินเดียใต้) พวกไทย-ลาวก็ใช้อักษรเขมร แต่เขียนเป็นภาษาไทย แล้วเรียกอักษรขอมไทย (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ อักษรไทยมาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2548)

ภาษาไทยยุคแรกๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1700 หรือก่อนมีอักษรไทย จนหลัง พ.ศ.1700 หรือหลังมีอักษรไทยยุคต้นๆ ยังจัดอยู่ในวัฒนธรรมลาว หรือ ภาษาลาว เพราะมีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าคนพวกนี้มีบรรพชนเป็นลาวตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว (มีรายละเอียดในหนังสือ คนไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2549)

สอดคล้องกับเอกสารลาลูแบร์ที่เป็นราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสเข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แล้วจดปากคำชาวสยามพระนครศรีอยุธยา บอกว่ามีบรรพบุรุษเป็น ไทยน้อย คือลาว แล้วยังมีคนอีกพวกหนึ่งเป็น ไทยใหญ่ ที่ไม่ใช่บรรพชนของตน แสดงว่าชาวสยามกรุงศรีอยุธยามีความทรงจำว่าบรรพชนเป็นคนลาว แต่เรีกยพวก ลาว ทั้งหมดว่า ไทย เหมือนพวกตน คือ ไทยน้อยกับไทยใหญ่ ส่วนคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สืบมาจากลาวล้วนเป็น ไทยสยาม (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ ไทยน้อย ไทยใหญ่) ไทยสยาม โดย ศรีศักร วัลลิโภดม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2534)

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีบรรพชนสายหนึ่งเป็นลาว ก็คือ ภาษาลาว ยังมีเค้าอยู่ในภาษาไทยในกลุ่ม คำซ้อน ที่ประกอบด้วยคำอย่างน้อย 2 คำมารวมกัน คำหนึ่งจะเป็นคำลาว แต่อีกคำหนึ่งอาจเป็นมอญหรือเขมรก็ได้ (มีรายละเอียดในรายงานการวิจัยเรื่อง ลักษณะคำไทยที่มาจากภาษามอญ โดย วัฒนา บุรกสิกร สถาบันไทยศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2541) ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยใกล้ชิด เช่น

ทองคำ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า gold คำมอญใช้ "ทอง" คำเดียวก็เท่ากับ gold ส่วนลาวใช้ "คำ" เท่านั้น

ฝาละมี ฝาเป็นคำลาว ละมีเป็นคำมอญ หมายถึง ฝาหม้อดิน

สั่นคลอน สั่นคำลาว คลอนคำมอญ หมายถึง หลวม ง่อนแง่น

ฟ้อนรำ ฟ้อนคำลาว รำเป็นคำเขมร

เต้นระบำ เต้นคำลาว ระบำเป็นคำเขมร

ดั้งจมูก ดั้งคำลาว จมูกเป็นคำเขมร

ฯลฯ



#(ที่มา : "พลังลาว" ชาวอีสาน มาจากไหน? ของ




 

Create Date : 12 มีนาคม 2550    
Last Update : 12 มีนาคม 2550 20:51:01 น.
Counter : 633 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  

win_mma
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add win_mma's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.