นักปรัชญา.....เบอร์ทรานด์ รัสเซิลล์

เบอร์ทรานด์ อาเธอร์ วิลเลียม รัสเซลล์ (Bertrand Arthur William Russell, 18 พ.ค. พ.ศ. 2415 - 2 ก.พ. พ.ศ. 2513) เป็นหนึ่งในนักคณิตศาสตร์ นักปรัชญา นักตรรกวิทยา ที่มีอิทธิพลอย่างสูงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นนักปรัชญาการศึกษาหัวรุนแรงที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคนหนึ่งของอังกฤษ เป็นผู้ที่ได้สร้างผลงานด้านการศึกษาในแนวปฏิรูปไว้มากมายหลายแขนง ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีอิทธิพลต่อการศึกษาในปัจจุบันอย่างมาก บรรดานักปรัชญารู้จักเขาในฐานะของผู้ให้กำเนิดทฤษฎีความรู้ (Epistemology หรือ Theory of Knowledge) นักคณิตศาสตร์รู้จักรัสเซลในฐานะบิดาแห่งตรรกวิทยา ผู้เขียนตำราคลาสสิกทางคณิตศาสตร์ คือหนังสือชื่อ Principia Mathematica นักฟิสิกส์รู้จักเขาในฐานะของผู้แต่งตำรา ABC of Relativity สำหรับคนทั่วไปรู้จักรัสเซลล์ในฐานะของนักจิตวิทยา นักการศึกษา นักการเมือง และนักเขียนผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2493

ประวัติ
รัสเซลล์ เกิดที่เมืองเทรลเลค (Trelleck) แคว้นมอนเมาธ์ไชร์ (Monmouthshire) สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2415 (ค.ศ. 1872) บิดาเป็นขุนนางชั้นวิสเคานท์ชื่ออัมเบอร์เลย์ (Amberley) ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของลอร์ด จอห์น รัสเซลล์ (Lord John Russell) อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ผู้สนับสนุนพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรก และยังเป็นผู้ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนมาตลอดชีวิต เป็นผู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยมจัด ท่านลอร์ด จอห์น รัสเซลล์ ผู้นี้เองเป็นคนริเริ่มส่งเสริมและเปิดให้มีการค้าโดยเสรี ให้คนยิวทำมาหากินอย่างอิสระในอังกฤษ และส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนาอีกด้วย ส่วนมารดาของรัสเซลล์ ชื่อนางแคทธริน เป็นบุตรีของท่านบารอน สแตนเลย์ ขุนนางแห่งเมืองอัลเตอร์เลย์ (Alterley)

รัสเซลล์ เป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบ มารดาของเขาถึงแก่กรรมด้วยโรคคอตีบ อีกปีครึ่งต่อมาบิดาก็ลาโลกไปอีกคน ทิ้งให้รัสเซลล์กับพี่ชายชื่อ แฟรงค์ ซึ่งมีอายุมากกว่าเขา 10 ปี อยู่ในความดูแลของปู่กับย่าที่คฤหาสน์เพรมโปรค ชีวิตในวัยเด็กของรัสเชลจึงค่อนข้างที่จะสุขสบายกว่าเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน แต่ปู่กับย่าของเขาไม่ยอมส่งไปเข้าโรงเรียนด้วยเกรงว่ารัสเซลล์จะได้รับความลำบาก ย่าของเขาได้ว่าจ้างครูพิเศษไปสอนที่บ้าน ทำให้รัสเซลล์ไม่ค่อยมีโอกาสได้คบหาสมาคมกับเด็กอื่นๆ บ่อยนัก ผู้เป็นย่าเข้มงวดกวดขันในเรื่องวินัย ศาสนา และการศึกษาเป็นอย่างมาก ทำให้เขากลายเป็นเด็กที่มีปมด้อย และมีความคิดรุนแรง แต่กระนั้นเขาก็ได้รับการศึกษาอย่างดียิ่ง และด้วยเหตุที่เขาเป็นเด็กที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม จึงเรียนหนังสือได้เร็วและมากกว่าเด็กอื่นๆ เขาอ่านหนังสือแทบทุกประเภท และมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับศาสนา ปรากฏว่าอายุเพียง 11 ขวบเศษเท่านั้น รัสเซลก็เมมีความสงสัยในเรื่องศาสนา ว่านรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ สงสัยในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า แต่ปู่กับย่าก็มิได้ให้คำตอบที่ถูกต้องแก่เขาเท่าที่ควร

จนกระทั่งอายุได้ 18 ปีเต็ม (ค.ศ. 1890) รัสเซลจึงได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อเข้าเรียนได้ปีแรกเท่านั้น เขาก็แสดงความไม่พอใจต่อการสอนแบบโบราณ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เขาจึงพยายามหาทางปรับปรุงวิธีการสอนคณิตศาสตร์แบบเก่าที่น่าเบื่อหน่าย โดยการศึกษาค้นคว้าตำราคณิตศาสตร์อย่างกว้างขวาง อีก 3 ปีต่อมา เขาก็ไดรับปริญญาเกียรตินิยมสาขาคณิตศาสตร์ และในระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น รัสเซลได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนาชื่อ “The Apostles”

ปีถัดมา รัสเซลหันมาสนใจเรียนวิชาปรัชญาอีกสาขาหนึ่ง นักปรัชญาที่เขาสนใจผลงานมากที่สุด คือ เฮเกล และบรัดเลย์ ด้วยความตั้งใจเรียนอย่างดีเยี่ยม ประกอบกับมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เขาจึงคว้าปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาปรัชญามาครองอย่างไม่ยากเย็นนัก หลังจากจบการศึกษาแล้ว รัสเซลได้ตัดสินใจแต่งงานกับ Alys Pearsall Smith น้องสาวของโลแกน เพียร์เซล สมิธ (Logan Pearsall Smith) นักประพันธ์ชื่อดังแห่งยุคนั้น โดยมิได้ฟังคำทัดทานจากปู่และย่า

ขณะเดียวกัน รัสเซลก็ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยทำการสอนวิชาปรัชญาและคณิตศาสตร์ อีก 2 ปีต่อมาเขาได้รับเชิญให้ไปบรรยายวิชาคณิตศาสตร์แผนใหม่ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังเป็นที่รู้จักเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น สำหรับวิชาคณิตศาสตร์นั้น เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนของยูคลิด(Euclid) เขากล่าวว่า “เจตนารมณ์ที่ถูกต้องของวิชาคณิตศาตร์นั้น มิได้มีเพียงความจริงเท่านั้น หากยังประกอบด้วยความงามอย่างลึกซึ้งอีกด้วย คือความงามอย่างประหยัด ปราศจากเครื่องตกแต่งอันหรูหรา ”เขารู้สึกภาคภูมิใจและมั่นใจเป็นอย่างยิ่ง ที่การสอนคณิตศาสตร์ของเขาประสบความสำเร็จ และมีสาระสำคัญยิ่งในสมัยศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะการแก้ปัญหายุ่งยากต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งนี้ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักของยูคลิด) ยังอยู่กับที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับยุคสมัย

ในขณะเดียวกันรัสเซลก็ได้เดินทางไปศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และการปกครองที่ประเทศเยอรมนี ณ ที่นี้เองที่รัสเซลได้รับอิทธิพลจากลัทธิมาร์กซิสม์มาจนท่วมสมอง ครั้นเขากลับมายังสหราชอาณาจักร ก็ได้ทำการสอนที่เดิม และมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายแห่งในลอนดอน

ในปี พ.ศ. 2439 รัสเซลได้แต่งตำราออกมาเล่มหนึ่งชื่อ German Social Democracy ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903) เขาประสบปัญหาทางด้านครอบครัว จนถึงกับต้องแยกทางกับภรรยาคนแรก รัสเซลรู้สึกมีความเสียใจมาก ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาเขียนหนังสือออกมาในลักษณะประณามสตรีที่หลงใหลแต่ความสุขจนมิได้เหลียวแลสังคม ทำให้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรง ต่อมาอีก 2 ปี รัสเซลได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม Royal Society และยังคงตำแหน่งอาจารย์ผู้บรรยายวิชาตรรกวิทยาและปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ต่อมา

ระหว่างที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซลได้เป็นตัวตั้งตัวตีทำการคัดค้านสงคราม และประณามรัฐบาลอังกฤษที่เกณฑ์เด็กหนุ่มไปรบกับเยอรมนี เขาเห็นว่าเด็กหนุ่มเหล่านั้นจะต้องถูกฆ่าตายโดยปราศจากความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้เขาจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมแสวงหาสันติภาพ และไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร (No Conscription Fellowship) และในที่สุด สมาคมดังกล่าวก็ถูกรัฐบาลอังกฤษสั่งให้ยุบเลิก และได้จับกุมสมาชิกของสมาคมแทบทุกคนเข้าคุกตามระเบียบ แต่ปรากฏว่ารัสเซลรอดพ้นตะรางมาได้ด้วยบารมีของผู้เป็นปู่นั่นเอง แต่กระนั้นเขาก็ยังยืนหยัดต่อสู้ และเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษยกเลิกกฎหมายบังคับให้คนหนุ่มไปเป็นทหารอีกต่อไป

เขาได้เขียนบทความลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Tribunel ซึ่งออกโดยสมาคมดังกล่าว โดยได้กล่าวประนามรัฐบาลอย่างรุนแรง ในกรณีที่ได้นำประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม ด้วยการประกาศตัวเป็นปรปักษ์และทำสงครามกับประเทศเยอรมนี ผลปรากฏว่าเขาถูกจับไปกุมขังเป็นเวลาร่วม 6 เดือนเศษ แต่การที่เขาถูกจับไปกุมขังคราวนี้กลับเป็นผลดีต่อการศึกษาอย่างมาก เพราะรัสเซลได้ใช้เวลาทั้งหมดในคุก เขียนตำราชื่อ Introduction of Mathematical Philosophy จนสำเร็จ และตำราเล่มนี้เองที่ถือว่าเป็นบรมครูของวิชาตรรกวิทยา ที่บรรดานักการศึกษาและนักศึกษาในปัจจุบันอาศัยเรียนและอ้างอิงอยู่มิได้ขาด ต่อจากนั้นรัสเซลก็ได้เริ่มงานเขียนขึ้นใหม่ชื่อ The Analysis of Mind (ค.ศ. 1921) เมื่อได้อิสรภาพแล้วรัสเซลก็ได้พบรักครั้งใหม่กับ Dora Black และได้ตัดสินใจแต่งงานกันในปี ค.ศ. 1921 ระหว่างนั้นรัสเซลได้ผลิตผลงานเขียนออกมามิได้หยุดทั้งด้านปรัชญา ตรรกวิทยา คณิตศาสตร์ จริยศาสตร์และการปกครอง

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) รัสเซลกับภรรยาได้เปิดโรงเรียนทดลองขึ้นแห่งหนึ่งที่ Telegraph Houst ใกล้ ๆ กับเมืองปีเตอร์สฟิลด์ โดยทำการสอนเด็กเล็กตามแนวความคิดของเขา ปีเดียวกันนี้เองเขาได้สร้างผลงานเขียนอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ ทำไมฉันถึงไม่ใช่คริสเตียน (Why I am not a Christian) ซึ่งเป็นหนังสือต่อต้านความเชื่อเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า เรื่องนรกสวรรค์ใน คริสตศานา โดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ตรงไปตรงมา จนทำให้เหล่าอนุรักษ์นิยมและนักวิจารณ์ประนามว่าเขาเป็นคนนอกศาสนา ไร้ศีลธรรม เป็นคนต่อต้านพระเจ้า (Anti Christ) แต่เขาไม่แยแสกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น

ปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) รัสเซลได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ Marriage and Moral นอกจากจะเขียนวิจารณ์สตรีเพศแล้ว เขายังได้แสดงความคิดเห็นที่ค่อนข้างจะล้ำยุค และอีกเช่นเคยที่เขาจะหลีกเลี่ยงนิสัยส่วนตัวมิได้ คือใช้ถ้อยคำรุนแรง ตรงไปตรงมาอย่างที่สุด ทั้งยังได้แทรกแง่คิดทางด้านจริยศึกษาและทางสังคม ไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องกามารมณ์ ความตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เขาเขียนไว้ว่า “ตัณหาของมนุษย์จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายผู้นั้น แต่ในขณะเดียวกันสภาพสังคมที่เขาอาศัยอยู่นั้น ก็ย่อมมีส่วนอย่างมากทีเดียว ที่จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศให้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรียนั้น ผู้ชายอังกฤษเพียงแต่เห็นหัวเข่าของสตรี ก็เกิดความรู้สึกทางเพศแล้ว แต่สำหรับปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่รู้สึกอะไรเลย ทั้งนี้เป็นผลมาจากแฟชั่นการแต่งกายของสตรีที่ล้ำยุคอยู่เสมอ นี่ถ้าหากเปลือยกายล่อนจ้อนเป็นแฟชั่นขึ้นมา มันอาจจะไม่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศของผู้ชายเลยซักนิดเดียวก็ได้ และถ้าถึงเวลานั้นอาจจะต้องมีการออกกฎหมายบังคับให้ผู้หญิงสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ เพื่อล่อใจผู้ชายขึ้นก็ได้ เหมือนคนป่าบางจำพวก เก้าในสิบของแรงกระตุ้นจากนวนิยายประเภทยั่วยุกามารมณ์ (Porrography) นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากความรู้สึกหื่นกระหายที่จะเสพกาม ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วนนั้นเกิดจากด้านสรีรวิทยา ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วยกับข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรออกกฎหมายห้ามตีพิมพ์สิ่งยั่วยุกามารมณ์”

ในระหว่างนั้น รัสเซลยังได้รับเชิญให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษตามสถาบันต่างๆ ทั้งในสหราชอาณาจักร และในสหรัฐอเมริกาเป็นประจำ เขายังคงดำเนินกิจการโรงเรียนทดลองเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2478 ก็เกิดระหองระแหงกันขึ้นกับภรรยา ในที่สุดต้องหย่าขาดจากกัน รุ่งขึ้นอีก 1 ปี รัสเซลได้พบรักกับพาตริเซีย สเปนซ์ (Patricia Spence) และได้แต่งงานอีกเป็นครั้งที่ 3 ส่วนโรงเรียนทดลองของเขานั้น ได้มอบให้ โดรา แบร็ค (Dora Black) ดำเนินการต่อไป

ต่อมารัสเซลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ณ นครนิวยอร์ก และยังคงทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยู่เหมือนเดิม พร้อมทั้งได้สร้างงานเขียนขึ้นหลายเล่ม นอกจากนั้นรัสเซลยังได้รวบรวมคำบรรยายของเขาตีพิมพ์เป็นเล่ม ชื่อ ประวัติศาสตร์แห่งปรัชญาตะวันตก (History of Western Philosophy) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) และได้กลายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ในปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) รัสเซลได้กระทำสิ่งพิเรนๆ อีกประการหนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยปรากฏว่ามีผู้ใดเคยทำมาก่อน คือการเขียนคำไว้อาลัยมรณกรรมของตัวเอง ทั้งยังได้แนะว่าควรจะตีพิมพ์ในนิตยสารไทมส์ ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2505 โดยเขาได้ทำนายชีวิตของตัวเองไว้ว่าจะถึงแก่กรรมเมื่ออายุครบ 90 ปี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าคำไว้อาลัยของเขาได้ตีพิมพ์ตามกำหนดนั้น เนื่องจากเขามีอายุต่อมาอีกถึง 8 ปี

ระหว่างที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น (พ.ศ. 2481 - 2488) รัสเซลได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมต่อต้านสงคราม เขาได้เขียนบทความโจมตี และประณามประเทศมหาอำนาจที่ก่อภาวะสงครามขึ้นอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ในขณะเดียวกันรัสเซลยังคงทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่นเคย ทั้งยังได้รับเชิญไปบรรยายออกอากาศในรายการ Brains Trust ทางสถานีวิทยุ บี.บี.ซี.เป็นประจำ ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ประกอบกับตำราและหนังสือต่างๆ ที่เขาแต่งขึ้นนั้น ใช้ภาษาได้สละสลวย ใช้ถ้อยคำง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่ใจความลึกซึ้งกินใจ พรสวรรค์ในเรื่องนี้เองที่ทำให้รัสเซลได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950)

ชีวิตครอบครัวของรัสเซลนั้นออกจะลุ่มๆ ดอนๆ และเกิดปัญหาแตกร้าวกันหลายครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้าย เขาได้หย่าขาดจากพราติเซีย สเปนซ์อีกเมื่อปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) และได้พบรักครั้งที่ 4 กับเอดิธ ฟินซ์ (Edith Finch) สตรีชาวอเมริกัน ต่อมาอีก 2 ปี เขาได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองครั้งสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสถาบันค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาตร์ของสหรัฐ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่ ๆ จนสามารถสร้างระเบิดไฮโดรเจนได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954)

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) รัชเซลได้เข้าร่วมกับกลุ่มชน แสดงการไว้อาลัยต่อชีวิตของชาวญี่ปุ่นนับแสนๆ คน ที่ถูกระเบิดปรมาณูลูกแรกของสหรัฐฯ โดยที่เขาได้เปิดการปราศัยขึ้นท่ามกลางฝูงชนนับหมื่นๆ คน ซึ่งเป็นการละเมิดข้อห้ามของรัฐบาลอังกฤษในเวลานั้น ผลที่ได้รับก็คือเขาถูกจับเข้าคุกเป็นเวลาถึง 2 เดือนเศษ ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุร่วม 88 ปีเศษแล้ว บรรดาฝูงชนที่ไปฟังคำพิพากษาตัดสินจำคุกเขาในวันนั้น ต่างอุทานว่าเป็นการกระทำที่น่าอับอายที่สุดของรัฐบาลอังกฤษ ที่จับคนแก่ไปทรมาน แต่สำหรับตัวเขาเองกลับมองไปในแง่ที่ปราศจากอคติ โดยเขาได้เขียนบันทึกไว้ในอัตตชีวประวัติเล่มที่ 3 ของเขาว่า “คำกล่าวประณามรัฐบาลของผู้ที่มาฟังคำพิพากษาในวันนั้นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกไม่พอใจจริง ๆ ข้าพเจ้าทราบดีว่าผู้คนเหล่านั้นปรารถนาดีต่อข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็ได้ตั้งใจทำความผิดทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นว่าอายุของคนจะช่วยระงับยับยั้งมิให้เขาทำผิดได้อย่างไร หากแต่จะมีส่วนส่งเสริมให้ทำผิดบ่อยยิ่งขึ้นเสียมากกว่า ผู้พิพากษาก็คงเข้าใจเรื่องนี้ดี ว่าอะไรควรไม่ควร จึงตัดสินให้ข้าพเจ้าต้องโทษตามกระบิลเมือง”


ปรัชญาของรัสเซล
รัสเซลล์เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษ เป็นนักปรัชญาที่สำคัญที่สุดชองลัทธิสัจนิยมใหม่แบบธรรมชาติ เกิดและเติบโตในบรรยากาศที่หดหู่ เคร่งเครียด และว้าเหว่จนน่าเบื่อ จึงไม่ชอบและมีจิตใจเป็นปฏิปักษ์ อายุ 14 ปีเท่านั้นก็คัดค้านคำสอนของศาสนาอายุ 18 ปีเลิกนับถือศาสนา เข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เรียนคณิตศาสตร์และปรัชญา ขณะนั้นลัทธิเฮเก็ลใหม่กำลังรุ่งโรจน์ รัสเซลติดใจและจะยึดเหนี่ยวแทนศาสนาได้ ต่อมาได้รู้จักกับมัวร์ จึงเป็นแนวความคิดมาทางสัจนิยมใหม่ของมัวร์ ครั้นไม่พอใจก็ปรับปรุงแก้ไขเรื่อยไปเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา มีความตระหนักว่าความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติเปิดโอกาสให้คนฉลาดเอาเปรียบคนโง่ และเป็นฉนวนให้เกิดสงคราม จึงตั้งหน้าล้มล้างศาสนาและความศรัทธาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติทุกแบบจนสิ้นอายุขัย คัดค้านสงครามจนถูกจำคุก 2 ครั้ง ตอนปลายชีวิตได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ใฝ่หาสันติภาพตัวอย่าง ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ปรัชญา ได้เป็นราชบัญฑิต และได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมสาขาวรรณกรรมประจำปี พ.ศ. 2493 โดยคณะกรรมการแถลงเหตุผลว่า “ท่านเป็นคนหนึ่งในสมัยของเราที่เป็นปากเป็นเสียงดังที่สุดให้กับปัญหาธรรมและมนุษยธรรม ท่านไม่กลัวที่จะประท้วงเรียกร้องสิทธิในการพูดและคิดอย่างอิสระในซีกโลกตะวันตก”

รัสเซลได้สมญาว่าเป็นว่า “Philosophical Everryman” ของสมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่า ความคิดปรัชญาของรัสเซล เราจะพบปัญญาที่สำคัญของปัญหาของปรัชญาปัจจุบัน นับตั้งแต่ปัญหาในระดับสามัญชนขึ้นไปจนถึงปัญญาชน รัสเซลเป็นผู้รอบรู้ในทุกๆด้าน เรื่องราววิชาการปัจจุบันและรู้อย่างดีในทุกๆเรื่อง มิใช่เพียงรู้ งูๆ ปลาๆ สักแต่ว่าพอสำหรับเห็นปัญหาของปรัชญาเท่านั้น รัสเซลล์จึงมองเห็นปัญหาถูกจุดจริงๆ สำหรับมนุษย์ในปัจจุบัน การเข้าถึงปัญหาปรัชญาของรัสเซล จึงเท่ากับเข้าถึงปัญหาอันแท้จริงของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันนั้นเอง คำตอบของรัสเซลสำหรับแต่ละปัญหามีหลายมุม สมกับสภาพทางปัญหาของผู้รอยรู้หลายด้าน ปรัชญาของรัสเซลจึงสังกัดอยู่ในหลายลัทธิ แล้วแต่จะพิจารณาคำตอบส่วนไหนของรัสเซล อย่างไรก็ตาม ตลอดอายุแห่งวิวัฒนาการทางความคิดจของปรัชญาของรัสเซลนั้น รัสเซลมีแนวยืนพื้นพอจะสรุปได้ด้วยคำว่าสัจนิยมแบบธรรมชาติ (natural realism)

ขอขอบคุณ.....//th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%8C_%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%8C


Create Date : 03 มกราคม 2551
Last Update : 3 มกราคม 2551 15:18:08 น. 0 comments
Counter : 782 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ตติตา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ผู้รักชีวิตอิสระ
[Add ตติตา's blog to your web]