Group Blog
 
All Blogs
 

ตะลุยเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ 2548 (ตอนที่ 2)

Electric Shadows / Land of Plenty




20 ม.ค. 2548
ก่อนจะเขียนถึงเรื่องนี้ มีคำเตือนคือว่า ถ้าคุณกลัวว่าการอ่านสิ่งที่ผมเขียน อาจจะทำให้คุณคาดหวังหนังเรื่องนี้มากเกินไป จนคุณกลัวจะผิดหวังเมื่อได้ดู ก็อย่าอ่านเลยครับ เพราะต่อไปนี้คงจะเป็นคำยกย่องชมเชยที่ลำเอียงอย่างเต็มใจเป็นที่สุด หรือถ้าคุณตัดสินใจจะอ่าน ถ้าดูแล้วผิดหวัง ผมถือว่าเตือนแล้ว จะว่ากันไม่ได้นะครับ :)
เคยรู้สึกไหมกับหนังบางเรื่องที่คุณเข้าไปดูแบบที่แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมัน คุณไม่เคยรู้จักผู้กำกับหรือนักแสดงซักคน แค่รู้สึกว่าเรื่องนี้น่าจะดีนะ แล้วเดินเข้าไปดู แล้วช่วงเวลาชั่วโมงสองชั่วโมงถัดมากลับกลายเป็นว่าคุณแทบจะละลายไปกับเรื่องราวและภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า นั่นคือกรณีของผมกับ Electric Shadows ครับ
Electric Shadows เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนส่งน้ำคนนึงที่ชอบดูหนัง อยู่ๆวันนึงเค้าก็เกิดอุบัติเหตุเล็กๆขณะขี่จักรยานส่งน้ำ แล้วก็โดนผู้หญิงที่ดูไม่ค่อยปกติเอาอิฐทุบหัวจนสลบ ระหว่างที่ผู้หญิงโดนจับไปสอบสวน เค้ากลับยอมดูแลอพาร์ตเมนต์และให้อาหารปลาที่เธอเลี้ยงไว้ ก่อนที่จะได้พบว่า อพาร์ตเมนต์ของเธอเหมือนเป็นสวรรค์ของคนรักหนัง และได้อ่านบันทึกที่เปิดเผยเรื่องราวหลายอารมณ์ในอดีตของเธอ
Electric Shadows ไม่ได้มีความแปลกใหม่หรือเทคนิคพิเศษในการเล่าเรื่องและนำเสนอใดๆเลย ตรงกันข้าม มันเป็นหนังที่เหมือนจะเดินตามสูตรสำเร็จของหนังเมโลดรามา, Coming of Age และถวิลหาอดีต (Nostalgia) แต่ด้วยเนื้อเรื่องและรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในหนังที่เรียกได้ว่าจูนติดกับผมอย่างจัง หนังใช้ความเรียบง่ายและสูตรสำเร็จเหล่านั้นเองขโมยหัวใจผมไปเลยก็ว่าได้
หนังนับว่าเป็นจดหมายรักแด่ช่วงเวลาดีๆในอดีตและแด่ภาพยนตร์ของผู้กำกับ จุดที่โดนใจผมก็คือการที่ดูแล้วรู้เลยว่าผู้กำกับรักในสิ่งที่ตัวเองทำและเรื่องราวที่ตัวเองถ่ายทอดอย่างแท้จริง และสิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็คือ นี่คืองานกำกับหนังใหญ่ชิ้นแรกของเธอผู้นี้ที่ผมคงต้องจำชื่อไปอีกนาน เธอชื่อ Jiang Xiao ครับ (ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆมันอ่านว่าอะไร)
สิ่งที่ต้องชมกันต่อไป คืองานด้านภาพที่บางคนอาจจะบอกว่าดูจงใจให้สวยกันเกินไปรึเปล่า...แต่มันสวยจริงๆนี่ครับ และสวยในแบบที่ควรจะสวยซะด้วย หนังที่เปี่ยมไปด้วยความรักทั้งเรื่องอย่างนี้ ภาพก็ต้องสวยอย่างนี้แหละเหมาะที่สุดแล้ว และอีกฝ่ายที่ต้องชมกันแบบยกนิ้วให้เลยก็คือผู้คัดเลือกนักแสดง ที่คัดเลือกนักแสดงแต่ละคนมานี่แบบว่า ทั้งมีเสน่ห์มากๆ และเหมาะสมกับบทมากๆจริงๆ ทั้งๆที่เป็นการแสดงครั้งแรกของหลายๆคนเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้นงานทุกด้านต้องเรียกว่าเนี้ยบและไม่มีที่ให้ติกัน
นี่เพิ่งจะกลางเดือนมกรา แต่ผมมั่นใจทีเดียวว่าพอถึงปลายปีแล้ว หนังเรื่องนี้จะยังคงเป็น 1 ใน 5 หนังประทับใจที่สุดของผมในปีนี้เป็นอย่างต่ำ หนังทำให้ผมน้ำตาไหลออกมาด้วยความซาบซึ้งเป็นพักๆ และตอนจบมันก็ทำให้น้ำตาผมไหลออกมาไม่หยุด จนกระทั่ง End Credit จบไปแล้ว ไฟในโรงสว่างแล้ว ผมยังนั่งพยายามกลั้นน้ำตาอยู่เลย พอออกจากโรงผมรีบพลิกหาโปรแกรมเพื่อจะแนะนำให้เพื่อนๆมาดู แต่กลับพบว่ามันฉายในเทศกาลนี้เพียงรอบเดียวที่ผมเพิ่งดูไปเท่านั้น ได้แต่หวังเล็กๆว่าอาจจะมีค่ายหนังตาไวซื้อมาฉายให้ดูกัน เพราะว่า Electric Shadows เป็นหนังที่ดูง่ายมากๆ และน่าจะเข้าถึงคนรักหนังทั่วไปได้สบายๆเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆในเทศกาล
ถ้าให้คะแนนเต็ม 10 ในความคิดของผมมีเหตุผลที่จะหักคะแนนเรื่องนี้ออกได้เพราะการเป็นเมโลดรามาตามสูตรที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่ อาศัยความบังเอิญที่ดูจะจงใจ และมีบางฉากที่บีบคั้นทางอารมณ์จนเกินธรรมชาติ แต่หัวใจผมชนะครับ มันบอกว่า เอาไปเลย เต็ม 10 เท่านั้น ห้ามเถียงเด็ดขาด

โปรแกรมถัดมาคือ Land of Plenty ผมต้องยอมรับว่าดูไม่รู้เรื่องทั้งหมด เพราะเป็นหนังพูดอังกฤษไม่มีซับ แต่ราวๆ 75 - 80% ก็รู้เรื่องแหละครับ และผมไม่เคยดูหนังของ วิม เวนเดอร์ มาก่อนเลย ที่ดูก็เพราะอยากดูหนังของเขาในโรงซะทีนี่แหละ แต่ที่สำคัญคือ ช่วงแรกๆของหนังเรื่องนี้ อารมณ์ผมยังติดกับหนังเรื่องที่แล้วอยู่เลย ยังไม่พร้อมเท่าไหร่นัก ที่จริงอยากได้เวลาปรับอารมณ์ซักสองชั่วโมงก่อนที่จะดู ยังดีที่ฉากเปิดหนังเรื่องนี้เรียกร้องความสนใจผมได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพลงประกอบที่ขึ้นมาถูกจังหวะเวลาและโดนใจจริงๆ
เพลงประกอบภาพ คงเป็นสิ่งแรกที่ผมนึกถึงหนังเรื่องนี้เลยทีเดียว เพราะเพลงทุกเพลงที่เลือกมา มันเข้ากับภาพอย่างดีเยี่ยม และมาในจังหวะที่ต้องเรียกว่าเอาตายเลยทีเดียว แถมเพลงส่วนใหญ่ ยังร้องโดย Thom Yorke ซึ่งแค่นั้นหนังก็ได้เปรียบในการเอาชนะผมไปแล้วล่ะ
Land of Plenty เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนางเอกวัยปลายวัยรุ่น ที่แทบจะตลอดชีวิตของเธออยู่ในต่างประเทศกับแม่ผู้เป็นมิสชันนารี กับลุงของเธอที่อยู่ในอเมริกาในฐานะทหารผ่านศึกที่ยังคงใช้ชีวิตเหมือนกับยังติดอยู่ในสงครามโดยการสอดแนมจับตาหาผู้ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายด้วยตัวเอง หนังเปิดเรื่องด้วยการกลับมาอเมริกาของนางเอก และความพยายามที่จะค้นหาและผูกสัมพันธ์กับลุงของเธอ
สิ่งที่ขัดแย้งกันจนโดดเด่นในหนังเรื่องนี้ก็คือ ในขณะที่หนังให้ภาพมุมที่เสื่อมโทรมของอเมริกาเกือบตลอดเวลา แต่ตัวหนังทั้งอารมณ์และเรื่องราวกลับเป็นความรู้สึกในแง่บวกมากๆที่เรียกว่าเปี่ยมด้วยความหวังแห่งสันติภาพ ไม่แปลกใจที่หลายๆคนบอกว่าหนังเรื่องนี้คือจดหมายรักของวิม เวนเดอร์ต่ออเมริกา และเป็นหนังที่สร้างขึ้นจากผลพวงของเหตุการณ์ 9/11 โดยตรง ซึ่งเห็นได้ชัดยิ่งในฉากสุดท้ายที่ตัวละครพูดกันเรื่องนี้ตรงๆ
ผมว่าคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ คือคนที่ดู น่าจะรักโลกมากขึ้นนะครับ หนังไม่ได้ให้ภาพโลกสวยงามที่น่าอยู่สงบสุข ตรงกันข้ามกลับนำเสนอความจริงที่โหดร้ายของโลกได้ในแบบที่เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วมในการที่จะช่วยกันทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้นโดยไม่ได้ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนโดนบังคับให้เชื่อแต่อย่างใด
นอกจากงานภาพและเพลงประกอบที่โดดเด่นมากๆแล้ว การแสดงในบทหลักๆก็อยู่ในขั้นเยี่ยมครับ โดยเฉพาะนักแสดงนำทั้งสองคนทั้ง มิเชล วิลเลียมส์ ดาราสาววัย 20 กลางๆที่เห็นเธอตีบทแตกกระจายในหนังเรื่องนี้ และ จอห์น ดีล ที่ดูเหมาะกับบททหารผ่านศึกผู้ยังติดอยู่กับสงครามเป็นอย่างดี


2046




19 ม.ค. 2548 กับ 2046 ที่พี่หว่องกาไวเบี้ยวซะแล้ว เค้าบอกว่าป่วยครับ จะมาที่งาน press conference วันอื่น วันนี้ส่งคริสโตเฟอร์ ดอยล์ มาแทน
พูดถึงตัวหนังกันก่อน 2046 เป็นไปในแบบที่ผมคาดหวังครับ...หนังเป็นบทสรุปและจุดเชื่อมต่อของทั้ง Days of Being Wild และ In the Mood for Love เรียกได้ว่า แนะนำเป็นอย่างยิ่งให้คนที่คิดจะไปดู ดู 2 เรื่องนี้ก่อน ผมคิดว่า การดู 2046 โดดๆเรื่องเดียว มันก็ดูได้ในแบบจบในเรื่องแหละครับ แต่คนที่ดู 2046 โดยไม่เคยดูทั้งสองเรื่องมาก่อน น่าจะรู้สึกแตกต่างกับคนที่ดูครบ เหมือนดูหนังคนละเรื่องเลยก็ว่าได้
2046 ว่าด้วยเรื่องของนักเขียนเพลย์บอยที่มาพักในห้องของโรงแรมและใกล้ชิดผู้หญิงมากหน้าหลายตา บางคนสำคัญกับเรื่อง บางคนก็เป็นแค่ส่วนประกอบ และเค้ากำลังเขียนนิยายเรื่อง 2046 ว่าด้วยที่ที่คนไปเพื่อหาความทรงจำที่หายไป และรถไฟที่นำไปสู่ และนำกลับมาจากที่นั้น (ตัวเองของเรื่องเป็นคนเดียวที่กลับมา) หนังมีจุดให้คนเอาไปเชื่อมต่อกับหนังทั้งสองเรื่องนั้นเรียกว่ามากมายตลอดทั้งเรื่อง แต่วิธีดูหนัง 3 เรื่องนี้ของผม ผมคงไม่พยายามคิดว่าไอ้นี่คือไอ้นู่นในเรื่องนั้นรึเปล่ายังไงหรอกครับ ผมว่าจะรอแผ่นทั้งสามเรื่องออกแล้วเอามาเปิดดูต่อๆกันโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ให้มันซึมไปเองดีกว่า
ผมว่าเราน่าจะตั้งประเภทหนังใหม่ว่าหนังหว่องกาไวขึ้นมาได้อีกประเภท เพราะมันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และได้รับความนิยมเหมือนเป็น Idol ของ Generation นี้เลยทีเดียว ถ้าจะบอกว่าหนังเรื่องนี้คือสรุปบทเรียนของหนังหว่องกาไวก็ย่อมได้ เพราะมันรวมเอาองค์ประกอบจากหนังเรื่องก่อนๆ และความละมุนละไมทางภาพ และทั้งเสียงและความเงียบ จนถึงจังหวะที่ลงตัวในการตัดต่อแต่ละฉากเข้าด้วยกัน
สิ่งที่ได้เห็นตลอดเรื่อง จนสังเกตได้ หลักๆได้แก่ ภาพสโลโมชันที่โผล่มาอย่างน้อยแทบทุก 5 นาที บางครั้งมีติดๆกันหลายๆฉาก ซึ่งตรงนี้เหมาะกับเนื้อเรื่องที่ตอกย้ำเกี่ยวกับความทรงจำดีครับ ตัดกับภาพไฮสปีดที่นานๆโผล่มาที รับกับความสับสนวุ่นวายของฉากบางฉาก และเราได้เห็นการฟรีซภาพด้วย กับความทรงจำที่เหมือนเป็นภาพถ่าย หรือถ้าให้ผมเปรียบเทียบ ผมจะเปรียบเป็นฉากที่เราจำได้แม่นยำจากในฝัน นอกจากนั้นก็คือการจัดองค์ประกอบภาพและการถ่ายทำที่ประณีตบรรจงทุกช็อต ในเรื่องนี้เน้นไปที่การให้ภาพตัวละครบนพื้นที่ริมๆจอ ราวๆครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสาม แล้วทิ้งที่เหลือเป็น background ซึ่งหลายๆครั้งเป็นสีดำ นอกจากนั้นอีกสิ่งคือควันบุหรี่ที่ล่องลอยสวยงามยังกับเค้ากำกับกระทั่งควันบุหรี่ และเพลงเก่าๆที่แต่ละเพลงก็เข้ากับแต่ละฉากเป็นอย่างดี ผมว่าทั้งหมดนี้ทำให้หว่องกาไว เหมือนผู้กำกับที่เอาทั้งการวาดภาพศิลปะสีน้ำ, บทกวี และบทเพลงมาขึ้นบนจอได้ (ด้วยความเคยชิน)
ข้อแตกต่างระหว่างหนังที่เหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสามเรื่อง มีอยู่ที่เห็นชัดนะครับ ใน Days of Being Wild ตัวละครจะพูดสิ่งที่คิดอยู่ ใน In the Mood for Love ตัวละครแทบจะไม่พูดสิ่งที่คิดเลย และเรื่องราวก็ไม่ได้เกิดขึ้นในจอด้วยซ้ำ...คนดูเหมือนเป็นคนนอกที่'เกือบ'จะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจากคำของคุณคริส ดอยล์ บอกว่า เรื่องนี้เหมือนเราอยากให้มันเกิดในจอบ้าง ก็เลยนำภาพเข้ามาริมๆจอ (อีก 2-3 เหตุผลที่เค้าบอกเรื่องการให้ภาพเหตุการณ์และตัวละครเกิดขึ้นริมๆจอด้วยอารมณ์ขันคือ เค้าเพิ่งทำ Hero ให้จางอี้โหมว แล้วตัวละครอยู่กลางจอตลอดทั้งเรื่องเลย เค้าเบื่อแล้ว และศิลปะควรจะอยู่ริมขอบ) สรุปคือเรื่องนี้เราได้เห็นเหตุการณ์จริงๆ แต่ยังเป็นในฐานะผู้สังเกตการณ์อยู่ และตัวละครก็มีทั้งที่พูดและไม่พูดสิ่งที่คิด
สำหรับการแสดง เรื่องนี้ก็เป็นสวรรค์สำหรับผมเหมือนกัน เพราะเหลียงเฉาเหว่ยคือดาราชายที่ผมชื่นชอบระดับต้นๆของโลก แถมความสวยน่ารัก และฝีมือของจางซียี่ ที่เรื่องนี้เรียกได้ว่าได้ปล่อยฝีมือพอสมควรเลยทีเดียว และดาราประกอบทุกคนก็รับบทบาทของตนได้เป็นอย่างดี อ้อ! สำหรับเรื่องพี่เบิร์ดนี่...ผมเห็นแล้วอึ้งครับ คือถ้าผมไม่ได้ยินภาษาไทยแว้บๆนี่ผมไม่รู้ว่าเป็นพี่เบิร์ด แต่สุดท้ายที่ได้ดูก็มีฉากนี้อยู่ ไม่รู้ว่าสรุปว่าเค้าตกลงกันได้หรือยังไง แต่ดีใจที่ในที่สุดก็ได้ดูซะที และจากฉากที่เค้าออกมา ขอบ่นแรงๆว่าเป็นเรื่องน่าเซ็งมากของคนที่อยากดูหนังแล้วต้องรอจนเกือบอดดูเพราะเรื่องอย่างนี้...เอาเถอะครับ สุดท้ายก็ได้ดู
สรุปว่า 2046 เหมือนการเฉลิมฉลอง และการสรุปรวบยอดหนังเก่าๆของหว่องกาไวอย่างที่ว่า ผมพูดได้เต็มปากว่ามันเป็นหนังที่ดีค่อนข้างมากเรื่องหนึ่ง แล้วมันก็ดีในระดับที่น่าพอใจและคาดหวังไว้สำหรับผม แต่ยังห่างกับ In The Mood for Love ที่ผมคิดว่าเป็นความงดงามที่สุดครั้งหนึ่งแล้วที่ผมเคยเห็นในภาพยนตร์ และ 2046 ก็คือหนังหว่องกาไว สำหรับคนที่รักหว่องกาไวนั่นแหละครับ
หลังหนังจบมีการพูดคุยกับ คริส ดอยล์ อย่างที่เอ่ยถึงไปแล้วนิดๆ ผมเห็นว่าเค้าเป็นคนอารมณ์ดีน่าสนใจยิ่งทีเดียว ตั้งแต่คำถามว่า หนังเรื่องนี้ต่างจาก In The Mood for Love ยังไง ในแง่มุมไหนบ้าง พี่ท่านตอบว่า 'In that film we didn't know if they fucked or not, but in this one we saw them fuck!' ฮากันครืนนนน นอกนั้นเค้าก็บอกบทบาทของผู้กำกับภาพในการทำหนังว่าจากที่ได้คุยกันส่วนใหญ่จะกะตือรือร้น อยากลงมือทำงาน เข้าลุยกับนักแสดง ส่วนผู้กำกับคือคนที่คอยบอกว่า 'หยุด, พอแล้ว, ถอยหน่อย, ทำได้แค่นี้เองหรอ, เอาอีก' ซึ่งเค้าบอกว่าเค้าเป็นผู้กำกับภาพ เพราะหว่องกาไว สั้นๆ ง่ายๆ แต่สื่อถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของผู้ยิ่งใหญ่ในวงการหนังโลกสองคนนี้ได้ดีครับ


The Motorcycle Diaries / Clean




18 ม.ค. 2548 วันแห่งหนัง Coming of Age ชั้นดี
โปรแกรมแรกเวลา 18.00 ที่ Central World Plazaกับเรื่อง The Motorcycle Diaries เรื่องราวของเช กูวารา ในช่วงวัย 20 ต้นๆสมัยที่เป็นนักศึกษาแพทย์ ที่เขาและเพื่อนสนิทแพ็คของกระโดดขึ้นมอเตอร์ไซค์ซึ่งวางแผนจะเดินทางจากบ้านที่อาร์เจนตินาผ่านชิลี, เปรู, โคลัมเบีย ไปยังปลายทางที่เวเนซูเอลา
หนังจัดว่าเป็น Road Movie และ Coming of Age ที่สวยงามมากๆเรื่องหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงการเดินทางเพื่อการศึกษาความเป็นคนที่แท้จริง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลก โดยที่เรียกได้ว่าหนังเรื่องนี้ฉลาดตรงที่ไม่มีส่วนใดที่เป็นการฟูมฟายเกินเหตุ ทั้งเรื่องแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่างๆทั้งดีทั้งร้ายที่เกิดขึ้นตลอดเดินทางของทั้งสอง และในขณะที่การพบเจอและการจากลากับผู้คนมากหน้าแต่ละครั้ง ล้วนเป็นไปอย่างรวบรัด ไม่รำพึงรำพัน แต่เรารู้สึกได้ชัดเจนมากว่าบางสิ่งจากการพบกันแต่ละครั้งนั้น จะยังคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของทั้งสองคนตลอดไป หนังทำให้คนดูเข้าใจได้เลยจริงๆว่า ถ้าไม่มีการเดินทางครั้งนี้ขึ้น ก็อาจจะไม่มี เช กูวารา รัฐบุรุษของคิวบาในหน้าประวัติศาสตร์โลก เราสามารถสัมผัสได้ถึงจิตใจอันดีงาม และความรักเพื่อนมนุษย์ของเช ตลอดการเดินทาง ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นนิสัยของเชอยู่นานแล้ว และอีกส่วนหนึ่งที่การเป็นนักศึกษาแพทย์อาจจะปลูกฝังเข้ามา
จากหลายๆฉากที่ผมชอบ ตัวอย่างที่สำคัญของการเป็นหนังที่ลงตัวคือฉากหนึ่งซึ่งเชได้จดหมายจากแฟนของเขา ปฏิกิริยาที่เราเห็นเขามีต่อจดหมาย สามารถสื่อข้อความในจดหมายได้ทันที โดยที่หนังไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมเลย และหนังก็ฉลาดที่ไม่มาเสียเวลากับสิ่งนี้ให้มากเกินไป หลังจากนั้นเพียงไม่นาน เราก็ได้รับรู้จากตัวละครว่าเขา(และหนัง)พร้อมจะเดินหน้าต่อไปแล้ว
ฉากท้ายๆของหนังเรื่องนี้ นับว่ามีผลต่อความรู้สึกของคนดูอย่างมาก ในการทำให้เชื่อว่าเชคนนี้ คือคนเดียวกับที่ประวัติศาสตร์โลกรู้จัก และทำไมเขาถึงเป็นที่รักของประชาชนนัก ในขณะที่การแสดงทั้งหมดก็เป็นไปในระดับที่ไม่ต้องติกัน ส่วนที่ต้องชมกันมากๆก็คือการถ่ายภาพ ที่ให้ภาพทั้งที่สวยงามและเรียบง่าย รวมถึงดนตรีประกอบที่ไปกันได้อย่างดีกับเรื่อง และเพราะเหลือเกิน
หลังหนังจบมี Q&A กับผู้กำกับภาพหนังเรื่องนี้คือ เอริก กอติแยร์ แต่น่าเสียดายที่จากความยาว 128 นาทีของหนัง ผมจำเป็นต้องรีบวิ่ง (ยืนยันว่าวิ่งจริงๆครับ) ไปดูหนังเรื่องต่อไป คือ Clean ที่โรงหนังสยาม

Clean เป็นหนัง Coming of Age เช่นเดียวกับเรื่องแรก และสิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งคือหนังใช้ความพอดี ไม่ฟูมฟายมากเกินไปกับเหตุการณ์ต่างๆตลอดเวลาของหนัง หนังว่าด้วยเรื่องของ Rock Star คู่รักคู่หนึ่งที่อยู่ในวังวนของการใช้ยา โดยที่ทั้งคู่มีลูกเล็กๆที่ทิ้งไว้ให้พ่อแม่ของฝ่ายชายเลี้ยง หนังเปิดเรื่องด้วยความตายของฝ่ายชายจากการใช้ยามากเกินขนาด และนางเอกต้องติดคุก 6 เดือนจากข้อหาที่เกี่ยวข้องกับเฮโรอีนนี้ และเมื่อออกมา สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเธอ นอกเหนือจากการค้นหาที่ทางที่จะดำรงชีวิตต่อไป ก็คือการผูกสานสัมพันธ์ที่หายไปกับลูกชายของเธอ โดยที่แม่ของฝ่ายชาย โทษเธอว่าเป็นฝ่ายผิดในความตายของลูกชายผู้เป็นพ่อเด็ก พ่อของเขากลับยอมให้อภัย เพราะเชื่อมั่นการให้โอกาสแก้ตัว และในความสัมพันธ์สายเลือดของเธอกับลูกชาย
ตลอดเรื่องถึงกว่า 90% ของฉากทั้งหมด เราจะได้เห็นจางมันอวี้รับบทผู้หญิงที่พยายามทำใจกับการผ่านไปของอดีตของตัวเอง ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาที่ของเธอในปัจจุบัน และทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง สำหรับคนที่ชอบจางมั่นอวี้อย่างผม หนังเรื่องนี้คงเป็นโบนัส (เธอชนะรางวัลดารานำหญิงจาก Cannes ปีล่าสุดจากบทในหนังเรื่องนี้ด้วย) ผู้กำกับอัสซายาสผู้ที่เคยเป็นคนรักของจางมั่นอวี้เอง แสดงให้เห็นว่าเก่งในเรื่องของจังหวะต่างๆ เขาทำได้พอดีในทุกๆฉากว่าจะให้เรื่องดำเนินถึงตรงไหนจึงจะตัดไปเข้าฉากต่อไป ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องให้เครดิตผู้ตัดต่อ ลุค บานิแยร์กับเรื่องนี้ด้วย ตลอดเรื่องหนังมีภาพที่ออกสดใส สว่าง และสวยงามเรียบง่าย ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นฝีมือการกำกับภาพของ เอริก กอติแยร์อีกแล้ว และผมต้องบอกว่าเป็นเรื่องถูกต้องอย่างยิ่งที่เขาได้รางวัล Technical Grand Prize ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษของ Cannes ที่มอบให้สำหรับผลงานทั้งสองเรื่องนี้ ส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างก็คือดนตรีและเพลงประกอบ เพราะหนังเรียกว่ามีหลายๆส่วนโดยเฉพาะตอนจบที่ขับเคลื่อนด้วยบทเพลงอย่างแท้จริง
สิ่งที่ผมประทับใจมากๆเกี่ยวกับ Clean ก็คือตอนจบ ซึ่งอาศัยการแสดงที่วิเศษของจางมั่นอวี้ ฉากสั้นๆฉากเดียวเป็นบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดของหนังได้อย่างดีจริงๆ เมื่อในที่สุดเราก็มั่นใจได้ว่าเธอได้พบที่ทางของตนบนโลกใบนี้แล้ว
หลังหนังจบมี Q&A กับผู้กำกับอัสซายาส และผู้กำกับภาพ กอติแยร์ที่ผมได้ร่วมด้วยในที่สุด แต่มันยาวมาก ราวๆชั่วโมงเลยมั้ง คนดูก็สนใจถามกันในเรื่องการกำกับ โดยเฉพาะกลางเรื่องมี long shot ฉากหนึ่ง (ฉากที่ไม่มีการตัดต่อ เป็นการถ่ายยาวๆ) แล้วก็เรื่องเพลงด้วย แต่ที่สำคัญคือผู้กำกับพูดประมาณว่า จางมั่นอวี้ คือหัวใจของหนังเรื่องนี้เลย เพราะจริงๆเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับเธอ มีจุดกำเนิดมาจากเธอ และเธอก็เป็นผู้แบกรับหนังแทบจะทั้งเรื่องเอาไว้...อืม...เป็นคู่รักที่เลิกกันไปแล้วก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจริงๆ


Zelary




17 ม.ค. 2548 กับบทสรุปว่า ดู Zelary เรื่องเดียวแล้วกัน เพราะผู้กำกับมาทำ Q&A ด้วย ก็ดูกันจนจบงานดีกว่า แต่คนดูน้อยจังครับ เมื่อเทียบกับโรง ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อาจเป็นเพราะมันเป็นหนังของปี 2003 ที่มีแผ่นออกมาระยะนึงแล้วมั้ง
Zelary เป็น 1 ใน 5 ชื่อสุดท้ายที่เข้าชิงออสการ์ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมร่วมกับ The Barbarian Invasions, Evil, The Twilight Samurai และ Twin Sisters ซึ่งในที่สุดแพ้ให้กับ The Barbarian Invasions แต่การที่มันฝ่าด่านอรหันต์ทั้งหลายมาเป็น 1 ใน 5 ชื่อก็น่าจะรับประกันคุณภาพระดับหนึ่ง ยิ่งเมื่อพิจารณาจาก 3 ชื่ออื่นๆที่เข้าชิง (ยกเว้น Twin Sisters ไว้เรื่องนึง เพราะผมยังไม่ได้ดู) และหนังเรื่องนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ
Zelary เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักศึกษาแพทย์เพศหญิงคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มต่อต้านนาซี จนเมื่อเกสตาโปค้นพบกลุ่มต่อต้าน เธอจึงต้องหนีไปหลบอยู่ในชุมชนชนบทที่ชื่อ Zelary นี้ ซึ่งมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ห่างไกลจากชีวิตชาวเมืองที่เธอคุ้นเคยโดนสิ้นเชิง เธอได้รับความช่วยเหลือจากคนไข้ที่เธอเคยให้เลือด ต้องจำใจยอมแต่งงานกับเค้าเพื่อซ่อนตัวจากเกสตาโป และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตใหม่ของเธออย่างสงบ
หนังยังมีพล็อตรองอีกเยอะเหมือนกัน เช่นเรื่องของเด็กชายที่ถูกมองเป็นเด็กเหลือขอแต่กลายเป็นตัวแปรสำคัญตอนท้ายเรื่อง, เรื่องของชายขี้เมากักขระในหมู่บ้านที่จ้องจะครองครองร่างกายของนางเอก
ต้องเรียกว่า Zelary เป็นหนังละเมียดละไมบอกเล่าเรื่องที่เรียบง่ายแบบหนังยุโรปสไตล์ที่รู้จักกันทั่วไป แต่ว่าทำได้ถึงและกินใจเป็นอย่างมากทีเดียว และมันอาจจะยิ่งเข้มข้นยิ่งขึ้นอีกเมื่อได้ทราบว่า Zelary ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง (ผู้กำกับบอกว่าประมาณ 75% เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง)
ส่วนที่ดีเยี่ยมของหนัง คงจะเป็นภาพที่สวยงามเหลือเกิน จนผมที่ออกจะติดเทคโนโลยีอย่างนี้ ยังอยากจะไปใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นบ้างเลย นอกจากนั้น การแสดงทั้งหมดโดยเฉพาะพระเอกและนางเอก นับว่ายอดเยี่ยมมากๆ เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่บทของพระเอกเรียกได้ว่าเป็นเหมือน'เทวดา' นั่นคือเป็นคนดีแทบไม่มีที่ติ คนในแบบที่โลกต้องการ อะไรประมาณนั้น แต่นั่นไม่ได้ทำให้ตัวละครนี้แบนราบไร้มิติเลยครับ หนำซ้ำยังเป็นตัวละครที่เรียกว่าคนดูต้องให้ใจอย่างจริงๆจังๆด้วย
ข้อเสียที่นึกออกก็คือหนังมีความยาว 150 นาที และชั่วโมงสุดท้าย...ผมต้องใช้ความพยายามสูงมากที่จะไม่ลุกออกไปห้องน้ำ แต่ก็สำเร็จเนื่องจากถ้าลุกคงเสียดายสิ่งที่พลาดไปแน่ๆ
หลังหนังฉายผู้กำกับมาทำ Q&A ตามที่บอกไว้ก่อน และผู้กำกับคือคุณ อองเดรย์ โทรยัน ดูเป็นกันเองมาก น่ารักดี เดินไปให้คนถามคำถามกันเลย ถึงแม้จะต้องมีล่ามก็เถอะ เค้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นนานแล้วโดยเป็นนิยายอัตชีวประวัติของ ควิตา เลกาโตวา ซึ่งเธอเขียนไว้แต่ตีพิมพ์ไม่ได้เนื่องจากเรื่องการเมืองในเชก และเพิ่งได้ตีพิมพ์เมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนชื่อดังเลยทีเดียว นอกจากนั้นเค้ายังบอกว่าหนังถ่ายทำใน Zelary จริงๆ แต่ป้จจุบันมันเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิมอยู่แล้ว
หลังออกจากโรงแล้ว ผู้กำกับเค้ายังยืนให้คนเข้ามาถามคำถามกันข้างนอกตัวต่อตัวต่ออีกซักครู่ครับ ผมเดินออกมาเห็นเค้าว่างๆ เลยเข้าไปแสดงความยินดี แล้วก็ขอลายเซ็นมาซะเลย หวังว่าเค้าคงไม่เสียใจว่าคนดูน้อยนะ เพราะผมชอบหนังเค้าจริงๆนะเนี่ย


Boats out of Watermelon Rinds / Two Syllables Behind / Oldboy / Heaven & Earth





16 ม.ค. 2548 กับหนังเต็มโปรแกรม 4 เรื่อง เริ่มด้วย Boats out of Watermelond Rinds หนังตุรกีที่ผู้กำกับนำประสบการณ์ในวัยเด็กของตัวเองมาเป็นแรงบันดาลใจ เรื่องของเด็กชายสองคนที่ใฝ่ฝันอยากจะทำหนังจนประดิษฐ์เครื่องฉายภาพยนตร์ขึ้นมาเองแบบลองผิดลองถูก เค้าทั้งสองเป็นเด็กจนๆที่เหมือนติดอยู่ในเมืองเส็งเคร็ง คนนึงทำงานเป็นผู้ช่วยคนขายแตงโมที่ตกหลุมรักกับสาววัยรุ่นบ้านใกล้ๆร้าน แต่เธอกลับไม่สนใจ เป็นน้องสาวเธอต่างหากที่ชอบเขา ส่วนอีกคนเป็นผู้ช่วยช่างตัดผมสุดเฮี้ยบ
หนังนับว่าเป็นทั้งจดหมายรักต่อการเป็นคนทำหนัง และการหวนคิดถึงต้นตอที่ลำบากของตนเอง สิ่งที่น่าประทับใจคือเนื้อเรื่องที่เรียบง่ายกับภาพหลายๆภาพที่สวยงาม ในขณะที่บางตอนก็ตลกจนแทบจะหยุดหัวเราะไม่ได้ นอกจากนี้ การแสดงทั้งหมดนับได้ว่าดีเยี่ยมเลยทีเดียว แถมยังมีฉากการกินวอลนัทที่เซ็กซี่ที่สุดที่เคยเห็นมาอีกต่างหาก

โปรแกรมถัดมา Two Syllables Behind หนังสัญชาติสโลวักของผู้กำกับหน้าใหม่ ที่เรียนจบมาได้ด้วยหนังเรื่องนี้ แถมนี่เป็นรอบแรกในโลกที่มีคนดูจริงๆอีกด้วย (ก่อนหน้านี้หนังของเธอชนะรางวัลอะไรซักอย่างในเทศกาลที่บ้านเกิด แต่เธอยอมรับหน้าซื่อว่า กรรมการพวกนั้นเป็นเพื่อนเธอเอง :P) หนังเรื่องนี้ทั้งเรื่องเกี่ยวกับสาววัยรุ่นที่พยายามค้นหาทางเดินชีวิตของตัวเองบนโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปแบบไฮสปีดนี้ ระหว่างที่ดู ผมไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ มันเหมือนโฆษณาหลายๆชิ้นที่มาตัดต่อเข้าด้วยกันโดยใช้พล็อตเรื่องง่ายๆผูก แต่ที่ประทับใจคือการแสดงของดารานำ ผู้ซึ่งทราบจาก Q&A กับผู้กำกับหลังหนังจบว่า คือน้องสาวของเธอเอง และฉากจบของหนังน่ารักดี ทำให้หนังดูดีขึ้นเป็นกอง รวมถึงเมื่อคิดไปคิดมา ชื่อหนังก็ตั้งได้เข้าท่าทีเดียว (นางเอกเป็นนักพากย์) ก็น่าคิดเหมือนกันว่าในเมื่อโลกมันเปลี่ยนแปลงฉับไวขนาดนี้ เราจำเป็นรึเปล่าที่ต้องไปวิ่งไล่ตามมัน เหมือนนางเอกที่สับสนจนพากย์เสียงช้าไปสองพยางค์ตลอด อาจเป็นเพราะเธอพยายามไล่ตามทุกสิ่งทุกอย่างมากเกินไป

ตกเย็นไปดูหนังเกาหลีที่กระหึ่มเทศกาล Cannes เรื่อง Oldboy ซึ่งที่จริงผมดูจากแผ่นนานแล้ว แต่อยากดูโรงอีกที เพราะถ้าใครได้ดู น่าจะคิดเหมือนกันว่า มันสนุกเหลือเกิน มีเรื่องต้องบ่นกันนิดหน่อยเมื่อ subtitle เรื่องนี้ไม่ได้ทำมาในฟิล์มที่ฉายอีกแล้ว ทำให้ต้องเอา notebook มาเปิดซับตามไปขณะฉายหนัง จึงเกิดแถบขาวๆที่น่ารำคาญบริเวณกลางจอด้านล่าง แต่ว่าเรื่องนี้คนใส่ซับใส่ตรงดี ไม่เหมือน The Keys to the House
ตัวหนังนั้นหมดห่วงไปเลย นี่คือหนังแบบที่น็อคคนดูจริงๆ มีฉากโหดๆบ้าง แต่ก็ไม่ได้เห็นภาพโหดร้ายมากเกินไปถึงกับรับไม่ได้ แต่ตัวเนื้อเรื่อง บท การแสดง โปรดักชั่น ทุกอย่างล้วนอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม ระหว่างที่ดูผมรู้สึกเหมือนโดนน็อคครั้งแล้วครั้งเล่ากับเรื่องราวที่คาดเดาไม่ได้เอาซะเลย บทสรุปของหนังเรื่องนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกอึ้งทึ่งอย่างจริงจัง ใครยังไม่เคยดู แนะนำว่าไปดูเลยครับ ยังมีฉายอีกรอบ หรือถ้าติดธุระ ก็หาแผ่นดูกันได้แล้ว

สุดท้ายที่ดูก็คือ Heaven & Earth หนังเรื่องสุดท้ายในไตรภาคสงครามเวียตนามของผู้กำกับ Oliver Stone ตัวหนังผมคงพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะดูแบบไม่มีซับ มันรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เรื่องนี้ดูเพราะได้บัตรฟรีมา แต่ที่ต้องพูดก็คือผู้กำกับ Oliver Stone โผล่มาตัวเป็นๆและนั่งอยู่ห่างจากผมไม่ถึง 10 เมตร!!! เค้ามาทำ Q&A แต่เป็นการทำ Q&A ก่อนหนังฉายครับ คิดว่าคงเพราะเค้าจะรีบไปที่อื่น ไป่หลิงก็มาร่วม Q&A ด้วย แต่ในฐานะคนดูเท่านั้นนะ ผมขำนิดๆตอนที่ Oliver Stone นั่งเก้าอี้ที่เตรียมไว้ข้างหน้า แล้วไป่หลิงนั่งเก้าอี้คนดู แต่ตากล้องกรูกันมาถ่ายเธอ (แต่อาจจะช่างสังเกตไปเอง เพราะเธอเข้ามาช้ากว่า Oliver Stone ตากล้องอาจได้ภาพผู้กำกับชื่อดังไปพอใจแล้ว) หลังจาก Q&A Oliver Stone ได้รับเสียงปรบมือค่อนข้างนานและเสียงกรี๊ดกร๊าดเล็กๆจากคนดูครับ แต่ที่เหนื่อยหน่อยคือหนังที่ยาวกว่า 2 ชั่วโมงเรื่องนี้ กว่าจะได้ฉายก็ปาเข้าไป 3 ทุ่มกว่าแล้วนั่น เอาเป็นว่าที่ผมดูและสรุปได้คือนี่เป็นหนังที่ Oliver Stone แสดงให้เห็นว่าเค้ารู้ซึ้งถึงความเลวร้ายของสงคราม และสนใจในปรัชญาของพุทธศาสนา และการปะทะกันของโลกตะวันตกและตะวันออกจริงๆ ส่วนที่ต้องชมกันที่สุดก็น่าจะเป็นงานด้านภาพที่สวยงาม และดนตรีประกอบที่เข้ากับเรื่องได้เป็นอย่างดี
วันที่สองของผมกับเทศกาลก็จบลงอย่างนี้ล่ะครับ ดึกแล้ว ไปนอนดีกว่า

พรุ่งนี้ผมคงต้องปวดหัว เพราะตอนแรกกะจะดู Zelary และต่อด้วย Absolut แต่เพิ่งเหลือบไปเห็นว่า Zelary ยาวถึง 150 นาที ซึ่ง 150 นาทีคือเวลาที่สองเรื่องนี้เริ่มฉายห่างกันพอดีเช่นกัน แต่ดันฉายคนละที่...เลยยังไม่รู้เหมือนกันว่าสรุปแล้วจะดูเรื่องไหนมั่ง

The Keys to the House / Kontroll




วันนี้ (15 ม.ค.) นับว่าเป็นวันแรกที่ได้ดูหนังในเทศกาลนี้ และเรื่องที่ประเดิมก็คือ The Keys to the House หนังที่อิตาลีส่งเป็นตัวแทนชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม แต่เนื่องจากเกิดความผิดพลาดบางอย่าง(อีกแล้ว) ทำให้ฟิล์มที่ส่งมาฉาย ไม่มี subtitle และผู้จัดได้พยายามนำ subtitle ที่แยกออกมาฉายทับลงไป ซึ่งมันก็ทันบ้าง ไม่ทันบ้าง บางทีพูดตั้งนานไม่มีซับ พอผ่านไปหลายนาที ซับเพิ่งโผล่มาติดๆกัน เสียอรรถรสในการดูหนังไปพอสมควรทีเดียว
เนื่องด้วยสาเหตุข้างต้น คงพูดอะไรเกี่ยวกับหนังไม่ได้เต็มที่ บอกได้แค่ว่าชอบหนังเรื่องนี้ประมาณนึงเลยทีเดียว ขนาดดูแบบเสียอรรถรสอย่างนั้น นับว่าสมควรเป็นตัวแทนของอีตาลีดีเหมือนกัน

อีกเรื่องที่ได้ดู คือ Kontroll หนังจากฮังการีที่ได้รางวัลแห่งคนรุ่นใหม่ (หรืออะไรประมาณนั้น มันแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Prize of the youth) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes มา
เกี่ยวกับเรื่องลึกลับในแวดวงรถไฟใต้ดิน ที่มีชายลึกลับใน hood ดำ คอยผลักคนลงไปโดนรถไฟทับตาย หนังมาในแนว Comedy Thriller ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิต(บัดซบ) ของอาชีพผู้ตรวจตั๋วรถไฟ โดยรวมแล้ว มีบางส่วนที่คงต้องตีความกันพอสมควรเหมือนกัน เพราะหนังไม่ได้บอกอะไรตรงๆ แต่ที่ถูกใจมากก็คือดนตรีประกอบที่เมามัน และการผูกเรื่องจนหนังทั้งเรื่อง ไม่ได้โผล่ขึ้นเหนือพื้นดินเลย

ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ :D




 

Create Date : 26 มกราคม 2548    
Last Update : 26 มกราคม 2548 10:42:43 น.
Counter : 773 Pageviews.  

10 อันดับหนังในดวงใจ 2547

A Year in Review




1. The Barbarian Invasions (Canada) - นี่เป็นประสบการณ์การดูหนังที่เต็มอิ่มที่สุดในรอบปี ราวๆครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนัง ผมนั่งน้ำตาไหลตลอดเวลา ด้วยความรู้สึกที่ปะปน ทั้งเสียใจ, ปลื้มปิติ, เต็มอิ่ม, ซาบซึ้ง และการเข้าไปดูเรื่องนี้เป็นครั้งที่สองก็ยังให้ความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน นี่คือหนังที่สดุดีชีวิตและช่วยยกระดับจิตใจอย่างแท้จริง
2. Lost Embrace (Argentina) - หนังชนะรางวัลจากเทศกาล World Film Bangkok หนังทั้งเรื่องมาในอารมณ์สดใส เบาๆ งานทางด้านภาพค่อนข้างหวือหวา แต่ซาบซึ้งกินใจ โดยเฉพาะบทสรุป ที่เป็นเพียงฉากง่ายๆสั้นๆ แต่ทำให้รู้สึกอะไรได้มากเหลือเกิน จนกระทั่ง end credit ที่ทำให้ผมนั่งฮัมเพลงต่อไปได้อย่างอารมณ์ดี
3. The Incredibles (USA) - นี่คือ Animation ที่ดีที่สุดของ Pixar และนั่นย่อมมีความหมายแน่ๆเมื่อพิจารณาว่า Pixar มีผลงานที่ดีเข้าขั้นยอดเยี่ยมทุกเรื่อง ขอลอกคำพูดของคุณประวิทย์ แต่งอักษร ที่ว่าครั้งสุดท้ายที่ผมสนุกขนาดนี้ น่าจะเป็นตอนที่แม่พาไปเล่นรถไฟเหาะครั้งแรกสมัยประถม
4. Oldboy (Korea) - ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมหัวหน้ากรรมการเทศกาลหนังเมืองคานส์อย่างตารันติโนถึงปลื้มหนังเรื่องนี้นัก จนต้องตบรางวัลให้ หนังใช้ภาพและการตัดต่อที่มีสไตล์ บอกเล่าเรื่องราวที่รุนแรง ชวนช็อค และมีการหักมุมที่เหมือนการปล่อยหมัดฮุคในแบบที่คนดูน็อคไปได้เลยทีเดียว
5. Eternal Sunshine of the Spotless Mind (USA) - ผู้กำกับมิเชล กอนดรี และนักเขียนบท แอนดี คอฟแมน ให้กำเนิดงานที่มีสไตล์โดดเด่นเป็นที่สุด กับงานด้านภาพที่เหมือนมิวสิควีดีโอเก๋ๆ การเล่าเรื่องที่ไม่ได้ตามลำดับเวลา ซึ่งไปกันได้ดีกับเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับความทรงจำ และงานเทคนิคสุดเนี้ยบเหล่านั้นจะไม่ได้น่าประทับใจเลยถ้าขาดเรื่องราวและอารมณ์ที่เต็มเปี่ยมอย่างที่หนังเรื่องนี้ทำได้
6. Spider-Man 2 (USA) - หนังฮอลลีวูดที่ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบที่สุดเรื่องหนึ่ง หนังซูเปอร์ฮีโรที่ดีที่สุดที่เคยสร้างมา หนังแอ็คชันที่เต็มไปด้วยเรื่องราวดรามาและทำได้ดีทั้งสองส่วน หนังภาคต่อที่เยี่ยมกว่าภาคแรก ทั้งหมดนี้เป็นคำกล่าวที่เหมาะสมกับหนังเรื่องนี้เป็นที่สุด
7. Lost in Translation (USA) - หนังที่มีบรรยากาศเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเรื่องและใช้ประโยชน์จากเสน่ห์ของดารานำได้ดีที่สุดโดยเฉพาะการแสดงที่ยอดเยี่ยมของ บิล เมอเรย์ และความน่ารักสดใสแบบปัญญาชนของ สกาเลต โจฮันสัน ภาพที่นำมาซึ่งอารมณ์เหงาๆ หนังทั้งเรื่องสร้างตัวตนให้ตัวละครจนเสียงกระซิบร่ำลาที่พระเอกมีให้นางเอกตอนจบ กลายเป็นเรื่องส่วนตัวที่คนดูได้แต่คาดเดา ผู้กำกับหญิง โซเฟีย คอปโปลา ได้พ้นจากเงาของผู้กำกับชั้นครู ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ซึ่งเป็นพ่อของตัวเองอย่างเต็มตัว กับงานหนังที่ไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกับผู้พ่อแต่อย่างใด และทำให้คนที่คิดว่าเธอเป็นเด็กเส้นของวงการ ต้องปิดปากเงียบไปโดยสงบ
8. In America (UK) - ผู้กำกับ เขียนบท จิม เชอริแดน นำประสบการณ์ส่วนตัวมาทำเป็นหนังที่'ซึม'เข้าไปในหัวใจของคนดู การแสดงที่ยอดเยี่ยมของนักแสดงนำทุกคน และเรื่องราวที่งดงามคือจุดเด่นของหนัง เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มุมมองสุดโต่งต่อชีวิตทั้งความโหดร้ายและความงดงามได้ถูกนำมารวมกันไว้อย่างกลมกลืนที่สุด
9. 21 Grams (USA) - ผู้กำกับชาวเม็กซิโก อิงนาริตู ก้าวเข้ามาแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์กับหนังอเมริกาพูดอังกฤษเรื่องแรก ที่พล็อตอาจจะคล้ายหนังเม็กซิโกสร้างชื่อของเขาเรื่อง Amores Perros ว่าด้วยอุบัติเหตุทางรถยนตร์ที่ส่งผลต่อชีวิตหรือครอบครัวของคน 3 คนที่เกี่ยวข้อง แต่ตัดความหวือหวาตื่นเต้นออกไป คงไว้ซึ่งการเล่าเรื่องที่เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ให้คนดูปะติดปะต่อ และเพิ่มความหนักแน่นเคร่งเครียดเข้ากับเรื่องราว โดยได้การแสดงที่หนักแน่นของ 3 นักแสดงนำเป็นส่วนช่วยให้ 21 Grams เป็นหนังดรามาที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งปี
10. Cold Mountain (USA) - หนังที่มีเรื่องราวเหมือนนิยาย และเล่าด้วยท่วงทำนองที่บางครั้งทำให้นึกไปถึงบทกวี แสดงความงี่เง่าไร้สาระของสงคราม และผลกระทบของมันต่อทุกชีวิตที่เกี่ยวข้อง ฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งของปีคือฉากที่เกี่ยวข้องกับชะตากรรมของหญิงม่ายที่สามีหายไปในสงคราม (นาตาลี พอร์ตแมน) พระเอกซึ่งเป็นทหารหนีสงคราม และทหารอีกสองสามคนที่เกี่ยวข้อง

และหนังเรื่องอื่นๆที่เป็นประสบการณ์การดูหนังที่ดีมากๆในปี 2547
Nobody Knows, The Last Samurai, City of God, School of Rock, Dogville, Spring Summer Fall Winter...and Spring, Zatoichi, 50 First Dates, Troy, Kill Bill V.2, The Village, The Bourne Supremacy, Collateral, House of Flying Daggers, The Terminal, House of Sand and Fog, Evil, Fahrenheit 9/11, Love Me If You Dare, Bridget Jones: The Edge of Reasons, Ocean's Twelve, หมอเจ็บ, โหมโรง, ทวิภพ, ขุนกระบี่ ผีระบาด, ทวารยังหวานอยู่, สัตว์ประหลาด, ชัตเตอร์ กด ติด วิญญาณ, The Letter จดหมายรัก
มีความสุขกับการดูหนังครับ :)




 

Create Date : 14 มกราคม 2548    
Last Update : 17 มกราคม 2548 13:36:47 น.
Counter : 846 Pageviews.  

1  2  

Dr Syntax
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Dr Syntax's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.