Group Blog
 
All Blogs
 

ประเทศญี่ปุ่นเจ้าแห่งการล่าปลาวาฬ

ปลาวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ตามปกติปลาวาฬจะตั้งครรภ์นานถึง 1 ปี ปลาวาฬเป็นสัตว์ที่มีจำนวนน้อยอาศัยอยู่ทั่วไปตามมหาสมุทร ปัจจุบันมีการสำราจปลาวาฬในทะเลแอนตาร์กติก (แถบขั้วโลกใต้) ซึ่งเป็นแหล่งปลาวาฬขนาดใหญ่ของโลกนั้น พบว่าเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น และจำนวนปลาวาฬก็กำลังลดลงอย่างมากจนคาดการณ์ว่าจะสูญพันธุ์ไปในอีกไม่ถึง 200 ปีข้างหน้านี้ เพราะทุกวันนี้ปลาวาฬกำลังถูกไล่ล่าฆ่ามากมายปลาวาฬบางตัวได้รับเสียงรบกวนจากเรือ จากเครื่องยนต์ในทะเลหรือจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เมื่อมีการสำรวจพบในปี พ.ศ.2509 ว่าจำนวนประชากรปลาวาฬกำลังร่อยหรอเหลือเพียง 12,000 ตัว เท่านั้น ปลาวาฬจึงได้รับการประกาศว่าเป็นสัตว์ที่โลกควรอนุรักษ์ตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ยังมีการล่าปลาวาฬไปเพื่อบริโภคกันอย่างน้อยปีละเกือบ 2,000 ตัว แม้จะมีการจัดตั้งองกรค์อนุรักษ์ปลาวาฬและออกห้ามล่าแล้วก็ตามโดยเจ้าแห่งการล่าปลาวาฬนี้ก็หนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

การล่าปลาวาฬมีมาตั้งแต่อดีตเมื่อ 1,000 ปีก่อน โดยชนเผ่าในยุโรปเป็นชนเผ่าแรกที่ดำรงชีวิตโดยการจับปลาวาฬมาเป็นอาหาร ต่อมากิจกรรมล่าปลาวาฬจึงมีการดำเนินการกันอย่างกว้างขวางและจริงจังทั่วโลก มีการล่าปลาวาฬเพื่อการค้า เพราะมนุษย์พบว่าแทบทุกส่วนของปลาวาฬมีประโยชน์ เช่น ไขใช้ทำสบู่ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงจุดตะเกียง เนื้อใช้บริโภคและกระดูกปลาวาฬใช้ทำเป็นปุ๋ย

สำหรับประเทศญี่ปุ่นการล่าและกินเนื้อปลาวาฬมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 8 ซึ่งกล่าวถึงการเสวยเนื้อปลาวาฬของจักรพรรดิจิมมุ โดยทุกส่วนของปลาวาฬจะถูกนำไปใช้ประโยชน์เกือบทั้งหมด ในญี่ปุ่นมีกระทั่งสำนวนที่ว่า “ไม่มีส่วนใดที่สูญเปล่า นอกจากเสียง” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงปลาวาฬที่สามารถนำทุกส่วนไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าต่อการล่า

การล่าปลาวาฬของญี่ปุ่นเริ่มจากการใช้กองเรือขนาดเล็กนับสิบลำและมีฉมวกมือเป็นอาวุธ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการใช้เรือกลไฟขนาดใหญ่และปืนยิงฉมวก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นขาดแคลนอาหารอย่างหนักแต่เด็กๆ ในประเทศรอดชีวิตมาได้ด้วยเนื้อของปลาวาฬ ดังนั้นการบริโภคปลาวาฬจึงได้กลายเป็นประเพณีไป โดยในยุคหนึ่งถึงกับกำหนดไว้ว่า ทุกวันที่ 9 ของเดือน ถือเป็น “วันกินเนื้อปลาวาฬ”

ในอดีตการล่าปลาวาฬเพื่อการค้า มีจุดประสงค์หลักเพื่อเอาน้ำมันจากปลาวาฬไปทำเทียนไข เครื่องสำอาง น้ำหอม รวมถึงนำเนื้อไปบริโภค แต่การล่าปลาวาฬเพื่อการค้าได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนเป็นสาเหตุให้จำนวนปลาวาฬทั่วโลก ลดลงอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดปลาวาฬบางชนิดอย่างเช่น ปลาวาฬฟิน และปลาวาฬฮัมแบ็ก และโดยเฉพาะปลาวาฬสีน้ำเงิน เหลือน้อยเต็มที จนกลายเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ดังเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นจึงได้เกิดโครงการ "Save the Whales" ในระดับนานาชาติขึ้น โดยเริ่มขึ้นในช่วงปีพ.ศ 2518 และประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อองค์การสมาพันธ์ปลาวาฬสากล หรือ International Whaling Commission (IWC) ได้ลงมติเกิดเป็นสนธิสัญญาห้ามการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2529 แต่อนุญาตให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้แรงคนซัดฉมวกล่าปลาวาฬได้ รวมทั้งการล่าเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศตะวันตกโดยส่วนใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศ"ผู้ล่า"ก็กลับกลายมาเป็น"ผู้ให้ความคุ้มครอง"ปลาวาฬมาจนกระทั่งในปัจจุบัน

แม้จะมีการกำหนดกฎกติกาเพื่อป้องกันการล่าปลาวาฬ แต่ปลาวาฬยังคงถูกล่าเฉลี่ยปีละ 1,000 ตัว โดยประเทศที่เป็นนักล่าตัวฉกาจก็คือ ญี่ปุ่นและนอร์เวย์ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งใช้ช่องว่างของสนธิสัญญาซึ่งอนุญาตให้ล่าเพื่อวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ นำมาอ้างการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าเพื่อนำไปบริโภค โดยใช้ใบอนุญาตทางการวิจัยเป็นเครื่องมือบังหน้า

การล่าปลาวาฬ เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีที่ผ่านมา กรมประมงของญี่ปุ่นให้สัมปทานล่าปลาวาฬไปมากกว่า 1,000 ตัวและในปีข้างหน้าคาดว่าจำนวนปลาวาฬทั้งหมดที่จะถูกล่าโดยเรือของญี่ปุ่นจะมีมากถึง 1,300 ตัว

ประเทศสมาชิกสมาพันธ์ปลาวาฬสากลได้ลงมติร่วมกัน ให้เขตมหาสมุทรทางซีกโลกใต้ เป็นเขตปลอดการล่าปลาวาฬทุกชนิด แต่ญี่ปุ่นก็ปฏิเสธที่จะลงมติ เป็นผลให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศสมาชิกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในการประชุมประจำปีสมาพันธ์ปลาวาฬสากลในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 ที่ผ่านมา

หลายปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ยังเป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มประเทศที่สนับสนุนการล่าปลาวาฬ ในการยกเลิกสนธิสัญญาการห้ามล่าปลาวาฬเพื่อการค้าโดยอ้างว่า ปลาวาฬบางชนิดมีจำนวนมากเกินพอที่จะเปิดการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าได้ เพียงแต่ต้องมีระบบการจัดการและควบคุมดูแลที่ดีเพียงพอ และความพยายามในเรื่องนี้ก็คล้ายจะประสบความสำเร็จเมื่อประเทศที่สนับสนุนการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าได้รับชัยชนะในการลงคะแนนเสียงต่อสมาชิกสมาพันธ์ปลาวาฬสากลไปหนึ่งเสียง แต่ก็ยังไม่สามารถจะยกเลิกสนธิสัญญานี้ได้เพราะต้องได้เสียงมากกว่า 3 ใน 4 เสียง ชัยชนะครั้งนี้ของญี่ปุ่น ถูกมองว่ามีการซื้อเสียงในรูปแบบของเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ ที่ให้กับประเทศขนาดเล็กใน ทะเลแคริบเบียน และประเทศในทะเลแปซิฟิก อื่นๆ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ในเอเชียและแอฟริกาด้วย ซึ่งเชื่อว่าหลายประเทศเหล่านี้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกสมาพันธ์ปลาวาฬสากล ด้วยการสนับสนุนของญี่ปุ่น โดยหลายประเทศในกลุ่มนี้ ไม่มีแม้กระทั่งความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์กับปลาวาฬแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งพรมแดนที่ติดทะเลด้วยซ้ำ (อย่างเช่น มองโกเลีย )

นอกจากนี้ปีนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังออกมาอนุญาตให้นำปลาวาฬที่ติดอวนมาโดยไม่ตั้งใจ สามารถนำออกขายในตลาดได้ ทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์ปลาวาฬออกมาวิจารณ์ว่า นี่เป็นช่องทาง ที่จะทำให้มีการล่าปลาวาฬมากขึ้น และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการสุ่มตัวอย่างเนื้อปลาวาฬ ในตลาดของญี่ปุ่นมาตรวจดีเอ็นเอ พบว่าตัวอย่างเนื้อปลาวาฬที่ได้มาบางชิ้น เป็นเนื้อของปลาวาฬชนิดใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาวาฬสีน้ำเงิน ปลาวาฬฟิน และปลาวาฬฮัมแบ็กซึ่งแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นลักลอบล่าปลาวาฬหลายชนิดที่ห้ามล่าเด็ดขาด

แม้ญี่ปุ่นจะถูกรุมตำหนิจากผู้ต่อต้านการล่าปลาวาฬเพื่อการค้าทั่วโลก แต่ดูเหมือนญี่ปุ่นไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไร ที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ทำผิดกฎ กติกา มารยาทของการล่าปลาวาฬมาโดยตลอด แต่ประเทศสมาชิกก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ ด้านผู้นำญี่ปุ่นก็ได้ออกมากล่าวโดยที่ไม่ได้รู้สึกผิดใดๆว่า ในมุมมองของคนญี่ปุ่นแล้ว ปลาวาฬเป็นสัตว์ทะเล ที่มนุษย์สามารถล่า เพื่อนำมาเป็นอาหารได้ คนญี่ปุ่นนั้น ไม่ค่อยบริโภคสัตว์บกขนาดใหญ่เป็นอาหาร ประกอบกับประเทศมีพื้นที่น้อย ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ทุกวันนี้เนื้อสัตว์ที่คนญี่ปุ่นบริโภค ร้อยละ 75 นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องออกเรือ ไปหาอาหารในทะเล " ไม่แปลกอะไรที่อาหารในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น เป็นอาหารทะเล ขณะที่อาหารในวัฒนธรรมของคนยุโรป และคนอเมริกัน คืออาหารจากปศุสัตว์ " นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมี องค์กรเกี่ยวกับปลาวาฬ (Japan Organizing Council of the International Whaling Commission) ซึ่งจัดงานสนับสนุนกิจการค้าปลาวาฬ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มาลองชิมเนื้อปลาวาฬทอดกันกันอย่างเต็มที่ ทางด้านประชาชนชาวญี่ปุ่นเองเกือบ 2 ใน 3 ก็ยังคงสนับสนุนให้มีการล่าปลาวาฬ ผลสำรวจความคิดเห็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งจัดทำขึ้นโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชี้ว่า ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 65 สนับสนุนให้มีการล่าปลาวาฬต่อไป มีเพียงร้อยละ 21 ที่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56 เห็นด้วยกับการนำเนื้อปลาวาฬมาประกอบอาหาร โดยผู้เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นชายอายุระหว่าง 40-70 ปี ซึ่งชื่นชอบการรับประทานเนื้อปลาวาฬ เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้จักและผูกพันกับการรับประทานเนื้อปลาวาฬมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่การล่าปลาวาฬเพื่อการค้ายังสามารถทำได้อยู่ จากผลสำรวจนี้ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนการล่าปลาวาฬส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นเก่า ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อไปส่วนหนึ่งก็มีความรู้สึกไม่เห็นด้วยต่อการล่าปลาวาฬ ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดีว่าอาจเป็นไปได้ที่ในอนาคตญี่ปุ่นจะเลิกการล่าปลาวาฬมาเพื่อบริโภค หากแต่ก็ยังมีข่าวออกมาว่าโรงเรียนประถมกว่าร้อยละ 85 ของญี่ปุ่นได้นำอาหาร เช่น เบอร์เกอร์ และลูกชิ้น ซึ่งทำจากเนื้อปลาวาฬมาเสิร์ฟให้แก่เด็กนักเรียน เพื่อทำให้เด็กๆ รู้จักวัฒนธรรมการล่าปลาวาฬและวัฒนธรรมการกินเนื้อปลาวาฬของญี่ปุ่นและให้ประเพณีการกินเนื้อปลาวาฬยังคงอยู่ต่อไป

จากนี้ไปปลาวาฬที่ใกล้จะสูญพันธุ์ของเราจะมีอนาคตเป็นเช่นไรก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับการร่วมมือกันต่อต้านการล่าปลาวาฬอย่างจริงจัง รวมถึงการน้อมรับต่อมติต่างๆของประชาคมโลกของญี่ปุ่น ชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะเจริญแต่เพียงวัตถุจนกระทั่งละเลยที่จะยกระดับความเจริญทางจิตใจไปบ้างรึเปล่า


ที่มา : //www.sarakadee.com/feature/2001/07/editor.htm
//bbs.pramool.com/webboard/view.php3?katoo=C21476
//www.sakid.com/2006/07/27/2182/
//www.nicaonline.com/webboard/index.php?topic=2378.0
//blitblog.com/2008/02/24/whale/
//www.hokutoda.com/varietyboard/detail.php?WebID=3223
//www.businessthai.co.th/content.php?data=402440_LifeStyle
//www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=52459




 

Create Date : 03 มีนาคม 2552    
Last Update : 16 กันยายน 2552 21:05:14 น.
Counter : 3235 Pageviews.  

ญี่ปุ่น- บราซิล หลังฉากความสัมพันธ์อันลึกซึ้งและยาวนาน

หากพูดถึงจังหวัดที่ 77 ของไทยแล้วเราก็คงจะนึกไปถึงเมือง Los Angeles ในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุที่มีประชากรคนไทยไปอาศัยอยู่กันมาก คนที่ไปอยู่นั้นก็อยู่รวมตัวกันมีร้านขายของไทย ร้านอาหารไทย เกิดขึ้นอย่างมากมายจนกลายเป็นเมืองไทยเล็กๆหรือที่เรียกกันว่า Little Thailand ท่ามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นแล้วหากจะพูดถึงจังหวัดที่ 48 ของประเทศญี่ปุ่น ก็คงจะไม่ผิดนักที่จะนึกไปถึงเมือง เซาท์ เปาโล ในประเทศบราซิล ด้วยจำนวนคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ถึงประมาณ 1,500,000 คน ถือได้ว่าเป็นเมืองที่คนญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีคนบราซิลจำนวนไม่ใช่น้อยมาอาศัยอยู่จนมีการจัดงานขบวนแห่เต้นแซมบ้าของบราซิลเกิดขึ้น และเมื่อปีค.ศ. 2008 ที่ผ่านมานี้เองก็ได้มีการ จัดงานฉลองครบ100ปีของการย้ายถิ่นมาที่ประเทศบราซิล เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่ความสัมพันธ์อันยาวนานนี้ หากแต่ฉากหลังของความสัมพันธ์อันยาวนานกว่า100ปี ญี่ปุ่น-บราซิลนี้กลับเจือไปด้วยความยากลำบากมากมายที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้

นับจาก ค.ศ.1908 จนถึงปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นสืบเชื้อสายกันมากว่า 4-5รุ่นในบราซิล ด้วยจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,500,000 คน เข้าไปมีบทบาทในเกือบทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะในงานด้านบริการ และการเกษตร ถือเป็นกลุ่มคนอพยพอีกกลุ่มหนึ่งที่ช่วยสร้าง และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศบราซิล
จุดเริ่มต้นการอพยพของคนญี่ปุ่นสู่บราซิลนั้นอยู่ที่ปี ค.ศ. 1908 ขณะนั้นบราซิลกำลังเปิดประเทศต้อนรับผู้อพยพกลุ่มใหม่จากเอเชีย และอัฟริกา เนื่องจากต้องการแรงงานมาพัฒนาที่ดินที่มีอยู่มากมาย ด้านญี่ปุ่นเองก็มีปัญหาการขาดแคลนอาหาร และยากจน หลังจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศเซ็นข้อตกลงให้มีการอพยพคนญี่ปุ่นไปยังประเทศบราซิลได้ คนญี่ปุ่นกลุ่มแรกประมาณ 700คน จึงเริ่มเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อความหวังสู่ชีวิตที่ดีกว่า โดยเดินทางทางเรือ Kasato Maru นานถึง 52 วัน จากท่าเรือโกเบประเทศญี่ปุ่น ผ่านสิงคโปร์ อัฟริกาใต้ และสิ้นสุดที่เมือง เซาท์ เปาโล ในประเทศบราซิล

เมื่อเดินทางมาถึงคนญี่ปุ่นได้มาทำงานใช้แรงงานในไร่กาแฟ ทว่าความหวังที่จะมาสู่ประเทศใหม่ ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าของคนญี่ปุ่นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะงานในไร่กาแฟเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก ได้เงินเดือนน้อย มีคุณภาพชีวิตต่ำ หนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งเด็ก ๆ ก็ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา บวกกับความแตกต่างของภาษา ศาสนา วิถีการดำรงชีวิต ก็ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่อพยพมานี้ต้องประสบกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัส หลายคนพยายามจะย้ายกลับไปยังญี่ปุ่น แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะการกีดกันของนายจ้าง

ในปีถัดมาพวกเขาเริ่มขยับขยายออกจากไร่กาแฟในเขตชนบทของเมืองเซาท์ เปาโล เดินทางต่อไปทางใต้ ถึงเมืองปารานา เพื่อบุกเบิกที่ดินทำสวนผลไม้ และสวนผัก ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าเขตเมืองเซาท์ เปาโล ทำงานในอุตสาหกรรมหนัก เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก บางกลุ่มริเริ่มก่อสร้างกิจการด้านงานบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจการซักรีด การพิมพ์ ฯลฯ เริ่มรวมกลุ่มกันเป็นสังคมญี่ปุ่น สร้างโรงเรียนญี่ปุ่น เพื่อให้ลูกๆของตนซึ่งถือเป็นกลุ่มคนรุ่นที่ 2 (二世(にせい)) ให้ได้เรียนรู้ และใช้ภาษาญี่ปุ่นในการสื่อสารประจำวัน
การอพยพย้ายถิ่นฐานจากญี่ปุ่นยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงปี ค.ศ.1952 จำนวนคนญี่ปุ่นอพยพในบราซิลทั้งหมดก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 500,000 คน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 จนถึง 1945 นั้นกลุ่มคนญี่ปุ่นอพยพในบราซิลมีความเป็นอยู่กันอย่างยากลำบาก เนื่องจากประเทศบราซิลอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนประเทศญี่ปุ่นอยู่ฝ่ายอักษะ หนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่น และโรงเรียนภาษาญี่ปุ่นถูกสั่งปิด หลานๆของผู้อพยพรุ่นแรกหรือกลุ่มคนรุ่นที่ 3 (三世(さんせい)) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-บราซิล ถูกบังคับให้เรียนในโรงเรียนของบราซิล และใช้ภาษาบราซิล เป็นผลให้ในช่วงสงครามจนถึงหลังสงครามเลิกแล้ว มีผู้อพยพจำนวนหนึ่งย้ายถิ่นฐานกลับญี่ปุ่น ในขณะที่คลื่นการอพยพลูกที่สองจากญี่ปุ่นมาบราซิล ก็เริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อหนีสภาพของการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

คลื่นอพยพลูกที่สองเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1952 จนถึง 1970 ซึ่งขณะนั้นประเทศบราซิลมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก คล้ายประเทศจีนทุกวันนี้ ภาคอุตสาหกรรมในรัฐเซาท์ เปาโล ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนเกิดการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ คนญี่ปุ่นจึงพากันย้ายถิ่นฐานมาที่บราซิลอีกครั้งเพื่อทำงานในภาคอุตสาหกรรม เกิดการพัฒนาเป็นเขตชุมชนชาวญี่ปุ่นในเมืองเซาท์ เปาโล ขนาดใหญ่ขึ้น ชื่อว่า ลิเบอร์ดาจี (Liberdade) ซึ่งแปลว่าอิสรภาพ ช่วงปี ค.ศ.1960–1990 ถือเป็นช่วงสำคัญสำหรับการขยายตัวของชุมชน กลายเป็นเขตชุมชนผู้อพยพชาวญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น Little Japan ในดินแดนอเมริกาใต้

หนทางไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เศรษฐกิจของบราซิลเกิดวิกฤติอย่างหนักในปี ค.ศ.1980–1990 กลุ่มคนญี่ปุ่น-บราซิล ซึ่งขณะนั้นเป็นเป็นกลุ่มคนรุ่นที่สอง หรือรุ่นที่สาม บางส่วนย้ายถิ่นฐานกลับไปประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ออกวีซ่าทำงานให้ คนญี่ปุ่น-บราซิลเหล่านี้ ถูกเรียกว่า พวกเดคาเซกิ (出稼(でかせ)ぎ) ซึ่งแปลว่าคนที่ออกไปทำงานต่างถิ่น
กลุ่มคนญี่ปุ่น-บราซิลที่ย้ายกลับมาจากบราซิลซึ่งถูกเรียกว่าพวก เดคาเซกิ นี้โดยมากจะเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเลคโทรนิกส์ กลุ่มคนเหล่านี้รวมตัวกันอยู่ในเมืองต่างๆของญี่ปุ่นเช่น เมือง ฮานามัทสึ ไอชิ ชิชุโอะกะ คานากาวะ ไซตามะ และ กุมมะนี้รวมเป็นจำนวนประมาณ 300,000 คน นับเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 3 รองจากเกาหลีและจีน กลายเป็น Little Brazil ย่อยๆในประเทศญี่ปุ่น ทุกปีจะมีการจัดขบวนพาเหรด แซมบ้าของบราซิลขึ้น แห่ไปตามถนนในกรุงโตเกียว ทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981

ท่ามกลางฉากหน้าอันแสนสุข กลุ่มคนเดคาเซกิที่ย้ายกลับมายังญี่ปุ่นด้วยความหวังเพื่อชีวิตที่ดีกว่านี้ กลับต้องเผชิญกับความยากลำบากและการดูถูกจากคนญี่ปุ่นด้วยกัน เนื่องจากไม่สามารถพูดและเขียนภาษาญี่ปุ่นอย่างภาษาแม่ ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความเป็นกลุ่มก้อน และมีความเหนียวแน่นทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง จนกระทั่งทำให้คนญี่ปุ่นมีความรู้สึกเรียกร้อง และคาดหวังให้แรงงานต่างวัฒนธรรมที่มาอาศัยอยู่ "เป็นญี่ปุ่น พูดญี่ปุ่น และมีวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น" กลุ่มคนเหล่านี้ต้องทำงานอย่างหนัก ค่าแรงน้อย อีกทั้งต้องเผชิญปัญหาที่ว่า วิถีชีวิตของตนไม่อาจจะผสมกลมกลืนได้กับคนท้องถิ่นชาวญี่ปุ่นได้

ที่เมืองโออิซูมิ แม้จะมีชาวญี่ปุ่น-บราซิลอยู่มาก แต่พวกเขาก็บอกว่า เขาถูกชาวบ้านมองและปฏิบัติต่อพวกเขาเป็น คนนอก ตลอดมา อย่างคนบราซิลที่มีโอกาสเข้าเรียนในวิทยาลัยญี่ปุ่นก็เล่าว่า พวกเพื่อนนักศึกษาญี่ปุ่นจะแกล้งทำเป็นจำพวกเขาไม่ได้เวลาเจอหรือเดินสวนกัน ขณะที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในถิ่นของเพื่อนบ้านชาวญี่ปุ่นต่าง บอกว่า พวกเขาอยากมีโอกาสทักทาย สังคมกับเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน แต่ก็ทำได้ยากเพราะผลสำรวจล่าสุดเมื่อปีที่แล้วก็พบว่า มีคนญี่ปุ่นเพียง 10% เท่านั้นที่รู้สึกแบบเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้กลุ่มคนเดคาเซกิจึงมีการแยกตัวออกจากวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นให้เห็นได้ชัดมากขึ้น มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาสเปน-ปอร์ตุเกส ให้กับลูก มากถึง 6 แห่งในเมืองโอตะ ที่อยู่ไม่ห่างจากเมืองโออิซูมิ เพื่อการเตรียมความพร้อมในการที่จะให้ลูกกลับไปใช้ชีวิตในบราซิลต่อไป

ท่ามกลางปัญหาที่ยากจะแก้ไขจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมของทั้งคนญี่ปุ่นในบราซิล และคนญี่ปุ่น-บราซิลในญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลรวมทั้งกลุ่มคนญี่ปุ่นบางกลุ่มก็พยายามที่จะแก้ไขให้หมดไป เมื่อเดือนมิถุนายน ปีค.ศ 2008 ที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดการเฉลิมฉลอง100ปีการย้ายถิ่นฐานจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเซาท์ เปาโล โดยสิ่งที่สำคัญคือการเสด็จมาของเจ้าชายมงกุฏราชกุมาร นารูฮิโต เพื่อเข้าร่วมงาน และการแสดงพาเหรดขนาดใหญ่เพื่อเผยแผ่ศิลปะ และวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น ในงานกลุ่มคนญี่ปุ่นที่อพยพไปอยู่บราซิลต่างก็มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ทั้ง กลุ่มคนรุ่นสองสูงอายุที่มารำลึกความหลัง หรือลูกหลานรุ่นถัดมาซึ่งอาจผสมผสานสาย เลือดกับคนอิตาเลี่ยน เยอรมัน หรือโปรตุเกส ไปแล้ว คนเหล่านี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรม ญี่ปุ่นในบราซิลอย่างกลมกลืน ทั้งวัฒนธรรมด้านอาหาร และสถาปัตยกรรม ภัตตาคารญี่ปุ่น หรือซูชิไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมของที่นี่ ภาษาญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมในการเรียนเป็นภาษาที่สอง หรือที่สามจากคนบราซิล

ด้านปัญหาการถูกดูถูกของคนญี่ปุ่น-บราซิลจากคนญี่ปุ่นด้วยกันเองในประเทศญี่ปุ่น ก็มีการพยายามแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกัน มีการรวมตัวกันระหว่างคนญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่น-บราซิล ตั้งกลุ่มชื่อว่า คิโมบิก หรือ ที่รักขึ้นมา เพื่อช่วยกันทลายกำแพงความไม่เข้าใจ และเพื่อสรรค์สร้างกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อย่างเช่นการเปิดห้องเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น และภาษาบราซิล แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับความพยายามที่กลุ่มคิโมบิกพยายามทำ พวกเขาเคยได้รับทั้งโทรศัพท์ตอบว่า และอี-เมลรังควานที่ส่งมาจากทั้งคนญี่ปุ่นและคนบราซิล

อย่างไรก็ตามพวกเขาได้กล่าวว่ายังไม่หมดกำลังใจและรู้สึกว่าชาวบ้านเริ่มมีความคุ้นเคย กับเพื่อนบ้านชาวบราซิลมากขึ้น ขณะที่คนเมืองก็เริ่มเปิดใจรับดนตรี จังหวะเต้นรำ และอาหารของบราซิลมากขึ้น

ขอเพียงแค่ความร่วมมือจากทุกฝ่าย และความเชื่อที่ว่าสักวันช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมของทั้งสองจะได้รับการเติมเต็มคงอีกไม่นานที่เราจะได้เห็นทั้งหน้าฉากและหลังฉากของความสัมพันธ์อันลึกซึ้งและยาวนาน ญี่ปุ่น-บราซิลนี้เปี่ยมไปด้วยความสุข




 

Create Date : 03 มีนาคม 2552    
Last Update : 16 กันยายน 2552 21:04:57 น.
Counter : 5606 Pageviews.  


ผึ้งหวานโบว์
Location :
tokyo Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




2009 โอกาสหนึ่งปีเพื่อพัฒนาภาษาญี่ปุ่น ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน Chuo University

ผ่านไป 6 เดือนแล้ว ดูเหมือนจะไม่มีอะไรพัฒนา!!! ห้าๆๆๆๆๆๆๆๆ
Friends' blogs
[Add ผึ้งหวานโบว์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.