สุภารัตถะ บล็อก
Group Blog
 
All Blogs
 

วิภาษวิธีของท่านนาคารชุนะ (ต่อ)


วิภาษวิธี (Dialectic)

“ไม่อาจยืนยันใดๆ ได้ว่า ว่าง ไม่ว่าง ทั้งว่าง และไม่ว่าง และไม่ใช่ทั้งว่างหรือไม่ว่าง เหล่านี้ถูกแสดงไว้เพื่อจุดประสงค์ในการสื่อสาร (หรือเพื่อความเข้าใจในเชิงปฏิบัติ) เท่านั้น”

พูดง่ายๆ ก็คือ อย่ายึดติดที่ถ้อยความ แต่ทะลวงไปถึงสิ่งที่ผู้สื่อต้องการจะบอก ไม่ว่าจะอคติชอบชังคนพูดก็ดี หรือยึดกับภาษาจนเกินไปว่าถูกไม่ถูก ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้รับสารหลุดจากการรับสารนั้นอย่างตรงไปตรงมาทันที การเข้าใจไปเองอย่างที่ตัวเองคิดมีความเป็นไปได้สูง จึงจำเป็นจะต้องรับสารอย่างเป็นกลาง ปล่อยวาง (จขบ.อธิบายเพิ่มเอง)

คำว่า “วิภาษวิธี” หมายถึงการดำเนินการอภิปรายหรือโต้วาที เป็นกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การตระหนักรู้อย่างแจ่มแจ้งถึงข้อจำกัดของเหตุผล ถูกนำมาใช้ในการโต้แย้งความคิดผู้อื่น เป็นไปในเชิงปฏิเสธหรือหักล้าง (negative / destructive dialectic) หรือเพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดของผู้เสนอ โดยพยายามหาบทสรุปหรือเป้าหมายที่เป็นสัจจะ ให้หยั่งเห็นความจริง (constructive dialectic)

วิภาษวิธี มีจุดหมายหลักคือให้บุคคลตระหนักรู้ในข้อจำกัดของเหตุผล ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ทุกๆ ความเห็นหรือทฤษฎีบัญญัติต่างๆ จะประสบกับสภาวะการขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดทางภาษาหรือความคิด เหตุผลอาจเป็นวิถีทางที่ทำให้เกิดปัญญา แต่ที่สุดแห่งปัญญาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อละวางความเป็นเหตุเป็นผลที่มีข้อจำกัดทั้งปวงลง การละวางเหตุผลไม่ใช่การทิ้งเหตุผล แต่คือการหยั่งรู้ว่าเหตุผลเป็นเพียงวิถีแต่ไม่ใช่เป้าหมาย ดังนั้นการละวางเหตุผลก็คือการถอนอุปาทานที่เกิดจากความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งในทุกแง่มุม

วิภาษวิธี เป็นเครื่องมือที่ท่านนาคารชุนะนำมาใช้ “จุดประสงค์คือชี้ให้เห็นข้อจำกัดของปรัชญาอันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสมัยของท่าน” หลักๆ ได้แก่คำสอนของสำนักสรวาสสติวาทะ เสาตรานติกะ มหาสังฆิกะ รวมถึงฮินดู เช่น สางขยะ เป็นต้น (ถ้าเป็นยุคไอทีปัจจุบัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีแต่พวกยึดความรู้ที่เป็นขยะเต็มไปหมด -_-“)

นับว่าวิภาษวิธี เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ตรวจสอบคำสอนของพุทธศาสนา ด้วยการริเริ่มให้เห็นในเชิงรูปธรรมของท่านนาคารชุนะโดยแท้


ฉะนั้นยิ่งพูดมากอาจยิ่งปวดหัว ไม่มีใครยอมใคร พวกมีปัญญาบรรลุธรรมไปจากการวิภาษวิธี (ปล่อยวางในที่สุด) พวกด้อยปัญญาเถียงกันหน้าดำหน้าแดง ถอนอุปาทานจากความคิดไม่ได้ .... โฮ้ ... ซวยจริงๆ ก็อัตตานี่ ถอนไม่ง่าย ไม่งั้น จขบ. คงไม่ต้องมาสร้างบล็อกอยู่ตอนนี้ Y_Y

เขียนยาวเดี๋ยวไม่มีใครอ่าน แค่นี้ก่อนนะ


.......................
เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งในหนังสือ พระนาคารชุนะ ของคุณสุมาลี มหณรงค์ชัย
หาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ พระนาคารชุนะ

ใครดูสารคดีตามรอยพระพุทธเจ้า จะเห็นว่า ผู้ที่เข้ามาศึกษาที่นาลันทา (ในนวนาลันทามหาวิทยาลัย โดยถูกสร้างแทนนาลันทามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเดิม ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของโลก แต่ถูกพวกมุสลิมทำลายไปหลายศตวรรตมาแล้ว และพระไปสร้างนวนาลันทามหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ ใกล้ๆ กับที่เดิม) ทั้งภิกษุและภิกษุณีที่มาศึกษาที่นี่ (แต่งกายอย่างกับพระทิเบต) ใช้วิธีวิภาษวิธีนี้ ในการปุจฉา-วิสัชนา ซึ่งกันและกัน คือถามตอบกันจนหมดความสงสัย ได้ประโยชน์มากๆ

การถามตอบเพื่อค้นเอาสัจธรรมจากการโต้ตอบกัน ท่านกฤษณะมูรติเรียวว่า เสวนาธรรม คือถามตอบกันอย่างไม่มีอัตตา แต่เพียงจะหาความจริงจากสนทนานั้น ที่สุด ก็จะเห็นว่า ความคิดนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่ง ล้วนแต่ขัดแย้งกันเองโดยสิ้นเชิง ไม่มีความคิดความเชื่อใดยึดถือได้ และจะได้ทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดของขอบข่ายความคิดที่กว้างใหญ่แต่คับแคบ

คนรู้ ไม่พูด เพราะพูดไปไม่มีวันจบ.. แต่ที่พูด เพราะเป็นวิถีแต่ไม่ใช่จุดหมาย




 

Create Date : 16 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2551 13:20:18 น.
Counter : 3027 Pageviews.  

วิภาษวิธีของท่านนาคารชุนะ (..เกริ่นนำ..)



...นั บ เ นื่ อ ง จ า ก การปฐมสังคายนา ในยุคพระเจ้าอชาตศัตรู โดยพระมหากัสสปะเป็นประธาน หลังพุทธปรินิพพานล่วงแล้วประมาณ 40 ปี

เข้าสู่ทุติยสังคายนา ในยุคพระเจ้ากาฬาโศก โดยพระสัมภูตสาณวาสีเป็นประธาน หลังพุทธปรินิพพานล่วงแล้วประมาณ 100 ปี (ทำให้แบ่งออกเป็น 2 นิกาย คือเถรวาทหรือสถีรวาท และมหาสังฆิกวาท ก่อนแตกออกเป็น 18 นิกายในภายหลัง)

จนถึงตติยสังคายนา ในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน หลังพุทธปรินิพพานล่วงแล้วประมาณเกือบ 300 ปี (คือสองร้อยกว่าปี) ในคัมภีร์มหาวังสะ ให้ความสำคัญแก่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ในฐานะเป็นประธานสงฆ์ผู้ทำตติยสังคายนา แต่ในคัมภีร์อโศกอวทาน (อโศกาวทาน) ยกความสำคัญให้แก่พระอุปคุปต์ ในฐานะเป็นผู้ชักนำให้พระเจ้าอโศกเสด็จบูชาพุทธานุสสรณียสถาน (พระอุปคุปต์เป็นพระบรมโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ได้รับนิมนต์ให้ออกมาช่วยปราบมารที่จะมาทำลายพิธีฉลองพระบรมธาตุเจดีย์ของพระเจ้าอโศก (เอาไว้จะหาตำนานการปราบพญามารมาลงให้อ่าน บางคนอาจคุ้นกับชื่อของท่านและเคยได้รู้กันบ้างแล้ว (บ้างว่าท่านเป็นพระอชิตะหนุ่มซึ่งเหาะขึ้นไปรับบาตรของพระพุทธองค์สมัยยังทรงมีชีวิต ครั้งเมื่อพระน้านางถวายจีวรให้พระพุทธองค์แต่ไม่อาจรับไว้ได้ จำได้ลางๆ นะ เอาไว้มาว่ากันอีกที..))

...และความที่พระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพาน ทำให้สงฆ์ทั้งหลายแตกเป็นหลายนิกาย แต่ละฝักฝ่ายไม่มีใครแก้ความคิดเห็นทางธรรมได้เป็นที่สุด ต่างถือทิฏฐิไปด้วยภูมิความรู้ของตนว่าใช่ แตกแยกไปตามความเชื่อ ซึ่งแต่ละลัทธิมีข้อปลีกย่อยทางธรรมซึ่งมีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน

หลังตติยสังคายนาในสมัยพระเจ้าอโศก นิกายในพุทธศาสนาซึ่งแยกย่อยออกมาถึง 18 นิกายนั้น มี 4 สำนักใหญ่ๆ ที่ได้รับการยอมรับคือ 1.สถวิรวาทะ 2.สรวาสติวาทะ 3.มหาสังฆิกะ 4.สามมิตียะหรือวาตสีปุตรียะ
หรือแบ่งเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ คือ สถวิรวาทะ เป็นฝ่ายหินยานหรือเถรวาท มุ่งสูทางนิพพานโดยตรง และ มหาสังฆิกะ เป็นฝ่ายมหายาน มุ่งพุทธภูมิและการช่วยเหลือสรรพสัตว์

มหาสังฆิกะมีส่วนสำคัญในการเกิดขึ้นของมหายาน ซึ่งมาธยมิกะก็ถูกมองว่าเป็นมหายานสายหนึ่ง (ในแง่หลักการศูนยตาของสำนักนี้กบายเป็นพื้นฐานของสำนักมหายานทั้งหมด) แต่ถ้าจะยอมรับว่าแนวคิดของมหาสังฆิกะมีบทบาทต่อมาธยมิกะ ก็เป็นไปได้ในช่วงหลังๆ เป็นลักษณะการซึมซับแนวคิดบางอย่างอย่างค่อยเป็นค่อยไป (เช่นแนวคิดโพธิสัตว์หรือตรีกาย) กว่าจะวิวัฒนาการมาเป็นมหายานเต็มรูปแบบก็กินเวลามาอีกหลายร้อยปี หล่อหลอมให้มาธยมิกะเป็นส่วนหนึ่งของมหายานต่อมา ซึ่งไม่ได้มีอิทธิพลมากนักในช่วงเริ่ม

มาธยมิกะอาจไม่ได้เกิดขึ้น ถ้าสำนักพุทธอื่นๆ ปฏิเสธความมีอยู่ทั้งหลายของธรรม ปฏิเสธความจริงของบุคคล เห็นว่าบุคคลที่รวมของขันธ์ห้า ไม่มีอยู่จริง แต่ธรรมที่รองรับความเป็นบุคคล เช่น ธาตุ ขันธ์ อายตนะ จิต หรือนิพพาน กลับว่ามีอยู่ ลักษณะดังกล่าว เป็นประเด็นที่ภายหลังมหายานใช้โจมตีคำสอนพุทธฝ่ายดั้งเดิม เพราะสอนให้เห็นความว่างในบุคคล (ปุคคลศูนยตา) แต่ไม่สอนให้เห็นความว่างในธรรม (ธรรมศูนยตา)

การยอมรับโดยขาดความพิจารณารอบคอบ เป็นการเชื่อตามกันมาอย่างเหนียวแน่น โดยปราศจากการตั้งคำถาม ว่าเชื่อแล้วดีอย่างไร หลุดพ้นอย่างไร เข้ากับคำสอนของพระพุทธเจ้าได้หรือไม่ ท่านนาคารชุนะ คือบุคคลแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับคำสอนของพุทธศาสนาในยุคของท่าน เป้าหมายคือ ต้องการชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับการกับการอธิบายคำสอนของบางสำนักโดยเฉพาะสรวาสติวาทะและเสาตานติกะ โดยวิธีตั้งคำถามและค้นหาคำตอบนี้เรียกว่า “วิภาษวิธี”


......
แล้วจะมาต่อ..
**คิดถึง ปุชฉา-วิสัชนา หรือโกอานของเซนขึ้นมาทันใดนะ
**ศูนยตาในเซน จขบ.คิดว่า ต้องเกี่ยวข้องกันกับศูนยตาของท่านนาคารชุนะ เพราะเป็นสายมหายาน ซึ่งน่าจะมีรากเดียวกันที่มาจากฝ่ายมหาสังฆิกวาทที่แอบกำเนิดขึ้นลับๆ มาตั้งแต่ปฐมสังคายนา และมาแยกนิกายกันออกอย่างเด่นชัดในสังคายนาครั้งที่สองและสาม โดยฝ่ายมหาสังฆิกวาทหรือมหายานเน้นพุทธภูมิ ส่วนฝ่ายสถีรวาทหรือหินยานคงมีความเชื่อในข้อปลีกย่อยที่เห็นต่างกันไปซึ่งจะเน้นอรหันตภูมิเป็นหลัก
ง่ายๆ เลยก็คือ ท่านมหากัสสปะ องค์ประธานสงฆ์ในปฐมสังคายนา น่าจะมีผลต่อระบบทางความคิดสืบมาถึงการสังคายครั้งที่ 2 และ 3 ในฝ่ายมหาสังฆิกวาท เชื่อมมาจนถึงท่านนาคารชุนะ ซึ่งพัฒนามาในความเป็นมาธยมิกะ ก่อนจะกลายเป็นมหายานสมบูรณ์แบบ จนถึงช่วงที่อินเดียมีปัญหาเรื่องสงครามภายใน ท่านตักม้อจึงเดินทางไปจีนเพื่อเผยแพร่ศาสนา คาดว่าท่านอาจจะนำเอาวัชรปรัชญาปารมิตาสูตรเข้าไปเผยแพร่ด้วย หากไม่ใช่จากคัมภีร์ก็ต้องมาจากแนวคิดของท่านเอง และกลายมาเป็นศูนยตาสายเซนแบบจีนที่รุ่งเรืองมากในยุคท่านเว่ยหล่าง (แบบว่าอย่าเชื่อกันมาก จขบ.สันนิษฐานเอาตามความน่าจะเป็นไปได้)
***สรุปมาเหลือนิดเดียว แต่อ่านมาจากหนังสือ 3 เล่ม คือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ของท่านเสถียรโพธินันทะ อโศกาวทาน เรียบเรียงโดยอาจารย์ ส.ศิวลักษณ์ และนาคารชุนะ ของคุณสุมาลี มหณรงค์ชัย.. ออกตัวว่าเอามาจากหนังสือ 3 เล่ม จะได้ไม่งงว่า ทำไมเขียนศัทพ์นิกายต่างๆ ไม่ยักจะเหมือนกัน




 

Create Date : 08 เมษายน 2549    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2551 13:22:44 น.
Counter : 1624 Pageviews.  

ท่านนาคารชุนะ


....ภายใต้กรอบของอภิธรรม ความเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเพียงเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสาย เป็นคำสอนที่เกิดขึ้นเพื่ออธิบายกฎไตรลักษณ์ มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อสร้างเหตุผลที่ดีที่สุดในการอธิบายความมีอยู่แบบชั่วขณะจิต สำนักพุทธใหญ่ๆ ที่ได้รับการยอมรับมีคำอธิบายที่ต่างกันไปในเรื่องนี้ และนั่นนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมสงฆ์ก่อนหน้าที่ท่านนาคารชุนะจะถือกำเนิด

มาธยมิกะคือกลุ่มของชาวพุทธที่ยอมรับคำสอนว่าด้วยเรื่องของความว่าง ทางสายกลาง และการอิงอาศัยกันและกันในการมีอยู่ของสรรพสิ่ง โดยบุคคลที่วางรากฐานคำสอนคือนาคารชุนะ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง สำนักพุทธมหายานทุกแห่งทั้งที่อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และทิเบต ต่างได้รับอิทธิพลคำสอนของท่าน

สำนักพุทธในยุคหลังโดยมากจะพัฒนาหลักคำสอนเชิงปรัชญา โดยเชื่อมโยงกับหลักศูนยตา (สุญญตา) ของสำนักนี้ ท่านนาคารชุนนะจึงได้รับการยกย่องให้อยู่ในฐานเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง การศึกษาเรื่องของท่านจึงมีความสำคัญ หากต้องการรู้จักพุทธศาสนาให้กว้างกว่าที่คุ้นเคย

เหตุที่ดลใจให้ปฐมาจารย์ของสำนักคือท่านนาคารชุนะ เขียนงานอธิบายคำสอนว่าด้วยหลักการสายกลาง เพราะเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอก อันได้แก่แนวคิดของฮินดูโบราณเช่นเรื่องสางขยะ เรื่อยไปถึงการอิทธิพลของพระสูตรชิ้นสำคัญ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ที่ได้รับการอ้างว่าค้นพบโดยท่านนาคารชุนะ ไปถึงปัจจัยภายใน อันได้แก่ความขัดแย้งในการตีความหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่มีการให้ความสำคัญกับตัวพระพุทธเจ้าแทนที่พระธรรมและคำสั่งสอน ซึ่งเบี่ยงเบนออกจากพระพุทธประสงค์ เหล่านี้.. จึงนำให้ไปสู่การแสวงหาทางสายกลางในศาสนาพุทธ

น่าสังเกตว่าปัจจัยภายในคือแรงผลักดันแท้จริงที่มีผลทำให้เกิดสำนักมาธยมิกะ ปัจจัยภายนอกนั้นเป็นเพียงแรงเสริม มาธยมิกะหรือเรียกอีกอย่างว่า ศูนยตาวาท หมายถึงคำสอนที่ประกาศความว่างในสิ่งทั้งหลาย หรือแปลว่าผู้นับถือคำสอนเรื่องทางสายกลาง เนื้อหาคำสอนในเรื่องทางสายกลางจะเรียกว่า “มัธยมกะ” (ความเป็นมาของสำนักนี้สามารถสืบย้อนไปในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (หลังพุทธปรินิพพานประมาณสองร้อยกว่าปี ซึ่งมีการสังคายนาพุทธศาสนาครั้งที่สาม))

นักปราชญ์หลายคนเชื่อว่ามัธยมกะ เกิดขึ้นจากการที่พยายามจะอธิบายท่าทีของพระพุทธองค์เมื่อไม่ทรงตอบคำถามบางอย่าง ซึ่งเรียกว่า"ปัญหาอัพยากฤติ" ทั้งนี้ไม่ใช่ทรงตอบไม่ได้ แต่เป็นเพราะไม่ว่าจะตอบอย่างไรก็คงไม่อาจพ้นไปจากการทำให้คนฟังเข้าใจผิด ยิ่งถ้าผู้ฟังยอมรับสมมติฐานบางอย่างล่วงหน้าอยู่ในใจแล้ว จะทำให้เข้าใจตำตอบไปตามจริตตน

ความเห็นที่เป็นปัญหาอัพยากฤติ

ในทางเถรวาทมีอยู่ 10 ข้อ ได้แก่ 1.โลกเที่ยง 2.โลกไม่เที่ยง 3.โลกมีที่สุดหรือมีข้อจำกัด 4.โลกไม่มีที่สุดหรือไม่มีข้อจำกัด 5.ชีวะเหมือนกับสรีระ 6.ชีวะต่างกับสรีระ 7.ตถาคตตายแล้วเกิด 8.ตถาคตตายแล้วไม่เกิด 9. ตถาคตตายแล้วทั้งเกิดและไม่เกิด 10.ตถาคตตายแล้วเกิดก็ไม่ใช่ไม่เกิดก็ไม่ใช่

ในทางมหายานแบ่งออกเป็น 14 ข้อ จัดได้ 4 กลุ่ม
กลุ่มแรก 1.โลกเที่ยง 2.โลกไม่เที่ยง 3.โลกทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง 4.โลกไม่ใช่ทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง กลุ่มสอง 5.โลกมีที่สุด 6.โลกไม่มีที่สุด 7.โลกทั้งมีที่สุดและไม่มีที่สุด 8.โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ กลุ่มสาม 9.วิญญาณเหมือนกับร่างกาย 10.วิญญาณต่างจากร่างกาย กลุ่มสี่ 11.ตถาคตมีอยู่หลังปรินิพพาน 12.ตถาคตไม่มีอยู่หลังปรินิพพาน 13.ตถาคตทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่ภายหลังปรินิพพาน 14.ตถาคตภายหลังปรินิพพานมีอยู่ก็ไม่ใช่ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่

อาการนิ่งของพระพุทธเจ้าก่อให้เกิดความเข้าใจผิดมากมายในสายตาคนนอก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่รู้จริง หรือรู้แต่ไม่สามารถอธิบาย เหตุผลของการไม่ชี้แจงนี้เป็นเรื่องที่พุทธฝ่ายเดิมไม่สนใจ แต่สงฆ์บางกลุ่มเห็นว่าประเด็นนี้มองข้ามไม่ได้ เพราะเชื่อในความเป็นผู้รู้ทุกอย่างของพระพุทธองค์ กลุ่มเหล่านี้จึงเป็นพวกแรกที่ทำให้พระพุทธเจ้ามีสถานะเหนือมนุษย์ธรรมดา ความสามารถของพระองค์ท่านเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่อาจหยั่งถึง นานวัน พวกเขาก็ยิ่งทำให้พระพุทธเจ้ากับพระธรรมคำสั่งสอนเป็นภาวะเหนือโลก แยกความจริงทางโลกทางธรรมออกจากกันเด็ดขาด

ประเด็นก็คือ หากโลกิยวิถีแยกขาดจากโลกุตรวิถี แล้วคนจะหลุดพ้นได้อย่างไร ท่านนาคารชุนะมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นผู้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของความเชื่อเช่นนี้

วิภาษวิธีของท่านคือตัวอย่างอันดีเยี่ยมที่ใช้ทำลายมิจฉาทิฐิในใจคน ในแง่หนึ่งช่วยอธิบายอาการนิ่งของพระพุทธองค์ โดยให้เห็นอาการนิ่งเชื่อมโยงกับคำสอนว่าด้วยเรื่องทางสายกลาง และเพราะเหตุนี้ทำให้บางท่านสรุปว่า นาคารชุนะเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติในระดับลึก (profound revolution) จากอาการนิ่งของพระพุทธองค์ ท่านสามารถอธิบายไปสู่การวิพากษ์ทัศนะทั้งหลายไปอย่างกว้างขวาง

พระนาคารชุนะ (นาคารชุน) เป็นที่รู้จักและกล่าวถึงเรื่อยมาตั้งแต่อดีต ประวัติศาสตร์ของพุทธมหายาน มักปรากฏชื่อของท่านในฐานะครูผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเสมอ ท่านได้รับการยกย่องอย่างมาก แต่ในขณะที่ได้รับการสรรเสริญ ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยก็วิพากษ์ตัวท่านและงานของท่าน นับว่านาคารชุนะคือปราชญ์ชาวพุทธที่ได้รับความสนใจในระดับต้นๆ เสมอมา

เป็นเรื่องยากมากที่จะถ่ายทอดคำสอนของท่านนาคารชุนะ เหตุเพราะความคิดของท่านเป็นนามธรรมเข้าใจยาก ถ้าอธิบายไม่ดีคำสอนของท่านจะถูกโต้แย้งว่าเป็นทิฐิอันหนึ่งทันที

ปรัชญาปารมิตา เป็นคัมภีร์เก่าแก่ของชาวพุทธที่ไม่ปรากฏผู้แต่ง ตำนานฝ่ายมหายานเชื่อว่า นาคารชุนะได้รับพระสูตรนี้มาจากดินแดนของนาค เป็นบทรวบรวมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนลึกซึ้งที่จะได้รับการค้นพบโดยบุคคลที่มีปัญญาเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร พระสูตรความยาวหนึ่งแสนโศลกนี้ก็ได้เชื่อว่าเป็นสื่อแห่งปัญญาของชาวพุทธโดยแท้ เนื่องจากพระสูตรเผยให้เห็นความไร้แก่นสารของสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรที่ใครจะยึดถือได้ จึงเข้ากับกฎไตรลักษณ์

ปรัชญาปารมิตาจึงชื่อว่าเป็นคำสอนที่ประกาศความว่างในธรรม (ธรรมศูนยตา) ลึกซึ้งกว่าคำสอนพุทธทั่วไป ที่ประกาศความว่างในบุคคลเท่านั้น (ปุคคลศูนยตา)

ส่วนของปรัชญาปารมิตาสูตรที่ชาวพุทธนิยมอ่านและได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วหลายสำนวนคือ วัชรเฉทิก (วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร) กับ ปรัชญาปารมิตาหฤทัย

เนื้อหาสำคัญคือ ผู้ฝึกฝนเป็นโพธิสัตว์ จะต้องหมั่นพิจารณาความจริงที่ว่า แม้ว่าโลกนี้จะมีสัตว์อุบัติขึ้นมากมาย มีทั้งที่ประกอบด้วยสัญญาหรือไม่ก็ตาม มีการรับรู้หรือไม่มี กำเนิดแบบไหนก็ตาม หน้าที่ของโพธิสัตว์คือช่วยสัตว์เหล่านั้นให้หลุดพ้นโดยไม่ละเว้นใคร และแม้จะช่วยสัตว์ให้หลุดพ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริง หาได้มีสัตว์ใดที่โพธิสัตว์ช่วยให้หลุดพ้น ไม่มีผู้ช่วยให้หลุดพ้น ไม่มีกระทั่งการหลุดพ้น โพธิสัตว์จะต้องมองทุกอย่างโดยว่างไปหมด ไม่เช่นนั้นแล้วจะเท่ากับกำลังสร้างทวิภาวะระหว่างตนกับผู้อื่น หรือจิตกับธรรม

ง่ายๆ คือ หากมีความคิดปรุงแต่งตัวเรา-เขาอยู่ในการฝึกฝน อาทิ มีตัวเราคอยช่วย มีผู้อื่นถูกช่วย การคิดแบบนี้ถือว่าเป็นการแบ่งแยกในระดับละเอียด แม้ไม่เกี่ยวกับเรื่องดีชั่ว แต่ทวิภาวะก็เกิดขึ้นจากการหล่อเลี้ยงอัตตา ตัวตน บุคคล สิ่งของ


...........
จากส่วนหนึ่งในหนังสือ พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง เขียนโดย คุณสุมาลี มหณรงค์ชัย เรียบเรียงเพื่อเผยแพร่ทางเน็ตโดย สุภารัตถะ
อ่านเพิ่มเติมจากหนังสือพระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง เขียนโดย คุณสุมาลี มหณรงค์ชัย





 

Create Date : 21 มีนาคม 2549    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2551 13:17:07 น.
Counter : 3148 Pageviews.  

ในความหลง.. มีความรัก..


ทุกครั้งที่ความรักแท้กลับมาให้เราได้สัมผัส เราจะลืมความโกรธเกลียด ไม่ต้องการครอบครอง รักใครต่อใครได้มากแม้แต่คนที่ชิงชัง และเป็นช่วงเวลาที่หัวใจเบิกบานอย่างที่สุด เพราะเป็นช่วงที่หัวใจแย้มยิ้ม

แม้เราจะสัมผัสความรักแท้ได้บ้างเล็กๆ ในช่วงเวลาที่จิตสงบ ปล่อยวางอย่างเข้าใจชีวิต เข้าใจคนอื่นๆ อย่างไม่ถือโกรธกับเรื่องที่ผ่านมา แต่น่าแปลก.. ในช่วงเวลาเล็กๆ อย่างนั้น เราสามารถสัมผัสความรักได้ในขณะที่มีความรักแบบหลงด้วย

บางทีในช่วงเวลาที่มีความรักแบบหลง ความรักจริงๆ ก็แอบย่องเข้ามาหาเรา ไม่ว่าจะเป็นตอนเห็นดอกไม้สวย เสียงนกร้อง ธรรมชาติสวยงาม หรือแม้ช่วงตกหลุมรักใครเข้าอย่างจัง ธรรมชาติของจิตเดิมแอบมาแสดงตัวอยู่หลายๆ ครั้ง บางคนถึงเข้าใจความรักแท้ได้อย่างฉับพลัน ทำลายรักหลงหรือปล่อยวางได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่มันยากมากที่จะทำเช่นนั้นได้

คนหลายคนเริ่มด้านชาเหนื่อยหน่ายกับชีวิต ลืมธรรมชาติรอบตัว มีแต่ความกังวลท้อถอยกับชีวิตซ้ำวน ลืมแม้กระทั่งธรรมชาติของจิตเดิมที่เป็นประภัสสร สว่างไหว อิ่มเอิบ

แต่บางครั้งปาฏิหาริย์ก็กลับเกิดขึ้นได้อีกเมื่อได้ตกหลุมรักใครเข้า ในสมมุติเช่นนี้ ความรักแท้ก็แอบย่องมาแย้มพรายตัวเองอย่างเอียงอาย สร้างพลังชีวิตให้ได้อย่างมหัศจรรย์ และหากจะลองสัมผัสจิตเดิมอันอ่อนโยนของตัวเองที่ปรากฏขึ้นได้แล้วไม่ลืมเลือน โดยใช้สติทบทวนอย่างจริงจัง การก้าวข้ามรักหลงเป็นรักแท้แม้จะผ่านความเจ็บปวดขนาดไหน ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้

จิตมีพลังขนาดไหนความรักก็มีพลังขนาดนั้น แต่ผู้ที่ก้าวข้ามไม่ได้ ไม่อาจเรียนรู้รักแท้ได้ ก็อาจกลับไปสู่ความหดหู่ท้อแท้เมื่อความรักหลงภินท์พัง ถึงกับบ้าคลั่งได้อีก รักแบบนั้นเกิดขึ้นที่ไหนก็เป็นทุกข์หนัก แต่บางคนเกิดความเข้าใจต่อธรรมชาติของจิตที่หลงได้ก็เพราะเจ้าตัวความรักนี่เอง บางทีมันชัดจนพาเราก้าวไปสู่ความเข้าใจถึงธาตุแท้ของจิตเดิม

บ่อยครั้งที่เราเห็นคู่สามีภรรยาที่หย่าร้าง หลังใช้เวลาเยียวยา หลายคนกลับมาเป็นเพื่อนแท้ที่ให้กันได้แม้แต่ชีวิต บริสุทธิ์กว่าตอนหึงหวงกัน กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ห่วงใยคล้ายแม่กับลูกหรือเพื่อนแท้ เป็นมากกว่าเป็นพี่น้องกันเสียอีก และน้อยคนที่จะเข้าใจถึงจุดนี้ได้

ผู้ที่ไม่รักอย่างหลงอีกเลยเพราะค้นพบความจริงแท้แล้ว แม้จะมีแต่พระอรหันต์ที่ทำลายอวิชชาสิ้นไป แต่สำหรับคนอย่างเราๆ ที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกมายาที่ถูกปิดด้วยเยื่อบางๆ จากความจริง หลงวนอยู่ใน โลภ โกรธ หลง และต้องใช้สติเป็นตัวตั้งไม่ให้ล่วงลงสู่ความไร้ปัญญาจนตกเป็นทาสอารมณ์ของกิเลสจนกว่าวันหนึ่งจะทะลวงผ่านภาพมายานี้ไปได้ ก็มีสิทธิ์จะค้นพบความรักได้ในหลายๆ ขณะ จิตเดิมแอบมาเยือนเราเสมอๆ

…ในความสัมพันธ์กันด้วยสมมุติอย่างชาวเรานี้ จิตเดิมที่เปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตาก็พยายามแสดงตัวตนออกมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะสมมุติของการเป็นแม่ลูกนั้น จิตมาแสดงความรักความอาทรได้มาก สมมุติของการเป็นคนรักก็ได้โขอยู่ สมมุติของการเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูง หรือคนเคยรู้จัก จิตของความรักก็สำแดงตัวออกมาได้บ้าง แม้จะต้องถูกความเห็นแก่ตัว ความกลัว ความโกรธเกลียด ฯลฯ ซึ่งรุนแรงอย่างยิ่งก้าวเข้ามาบดบังจิตของความรักลง แต่บางครั้ง.. มันก็มากพอที่จะทำให้เราเห็นสัจธรรมของชีวิตที่มาร่วมทุกข์กันอยู่กลายๆ ขนาดรักใครต่อใครที่ไม่เคยรู้จักกันก็ได้ เราเองก็อยากช่วยคนอื่นที่ว่ายวนอยู่ในกลลวงของพยับแดดบ้าง อย่างน้อยก็ในยามที่เขาเป็นทุกข์

และถ้าลองสังเกตดูสักนิด ยามที่คุณได้สัมผัสช่วงขณะที่ความรักบังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะโดยสาเหตุใด สมมุติใด แม้จะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที พลังความรักก็เผยตัวค่อนข้างชัดเจน การจดจำความรู้สึกตรงนั้นไว้ให้ได้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด เพราะความรักเกิดได้ไม่ง่าย สำแดงตัวได้ไม่ง่าย ส่วนใหญ่ความหลง ความโกรธ ความโลภจะรุนแรง และพร้อมก้าวเข้ามาแทรกแซงทันที คนที่จับความรักนี้ได้ จะรู้ว่า ความรักมีแต่การช่วยที่ปรารถนาดี ทั้งยังปล่อยวางอย่างยิ่ง มันจะกลับมาเมื่อเราไม่ใจดำจนเกินไป

และเวลาที่มันกลับมา เรานั่นเองที่ได้รับความสุขก่อนคนอื่น

ในช่วงเวลาเล็กๆ ที่ความสวยงามของรักแท้บังเกิดขึ้นภายใน เป็นความสุขใจเล็กๆ ที่เราสามารถเก็บเกี่ยวไว้เป็นพลังต่อสู้ความทุกข์ยากลำบากในชีวิตอีกยาวนานได้ เพราะความรัก.. ทำให้เห็นว่าในโลกมายาที่ไร้แก่นสาร ก็ยังมีความงามที่เราเป็นทั้งผู้ให้และเป็นผู้รับ เป็นผู้ร่วมเดินทางไปกับคนอื่นๆ

มีแต่ความรักเท่านั้น ที่จะทำให้เราเรียนรู้การให้เป็น รวมถึงการอภัยกับผู้ที่หลงอยู่ ปล่อยวางความยึดถืออันขัดแย้งเจ็บปวด และเฝ้ามองสิ่งรอบตัวได้อย่างเข้าใจ




 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2548 13:27:07 น.
Counter : 1336 Pageviews.  

ความฝัน 16 ประการของพระเจ้าปเสนทิโกศล


ข่าวสารบ้านเมืองตอนนี้ มีแต่เรื่องร้ายๆ แล้วก็ดูจะแก้ปัญหากันไม่ตรงประเด็น ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์เบื้องหลัง ที่ทำให้ใครต่อใครพูดเฉไฉ ภาพดีแต่ไม่รู้มีอะไรอยู่ลับหลัง... ที่สำคัญ คนฟังกลับมีทัศนคติที่ทำให้จขบ. หวั่นๆ หวั่นว่าจะมีความคิดเห็นที่เป็นบริโภคนิยมเกินไป ทำให้คนเห็นถูกคิดถูกยิ่งมีจำนวนน้อยลงไปอีก.. ยังไงก่อนตัดสินใจอะไร ก็คงต้องหาข้อมูลและใช้วิจารณญาณกันมากๆ

เอาเรื่องความฝัน 16 ประการฯ ที่เก็บไว้นานแล้ว มาแปะ ไม่รู้จะเครียดไปหรือเปล่า ลองอ่านเป็นอุทธาหรณ์


ความฝัน 16 ประการของพระเจ้าปเสนทิโกศล

มหาสุบินชาดก… ในคัมภีร์อรรถกถาชาดก (อธิบายชาดก) เล่มที่ ๑

เล่าว่า.. พระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ครองกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล บรรทมหลับในราตรีกาล เวลาปัจฉิมยามใกล้รุ่ง ทรงฝันเห็นภาพประหลาด ๑๖ ประการ จึงทรงตกพระทัย ตรัสเล่าความฝันนั้นให้พราหมณ์ปุโรหิตประจำราชสำนักทำนาย พราหมณ์เหล่านั้นกราบทูลเป็นเสียงเดียวกันว่า ความฝันนี้ร้ายแรงนัก ทำนายว่า พระองค์จะต้องทรงประสบอันตรายสามประการ คือ เสียราชสมบัติ โรคาพยาธิเบียดเบียน หรือสวรรคต ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง และทูลถวายคำแนะนำให้ทรงทำพิธีฆ่าสัตว์บูชายัญเพื่อสะเดาะห์พระเคราะห์

เมื่อพระนางมัลลิกาทรงทราบเหตุการณ์ จึงทูลให้พระองค์ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า เหตุร้ายจักมีแน่ แต่มิใช่แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือแว่นแคว้นของพระองค์ แต่เหตุร้ายนั้นจักมีแก่สัตว์โลกทั่วๆ ไป และแก่ศาสนาของตถาคตในอนาคตกาล

ความฝัน ๑๖ ประการ ประกอบด้วย ๑.โคล่ำสัน ๒.ต้นไม้ ๓.แม่โค ๔.โคสามัญ ๕. ม้าสองปาก ๖.ถาดทองคำ ๗.สุนัขจิ้งจอก ๘.ตุ่มน้ำ ๙.สระโบกขรณี ๑๐.ข้าวสารที่หุงไม่สุก ๑๑.แก่นจันทน์ ๑๒.น้ำเต้าจมน้ำ ๑๓.ศิลาลอยน้ำ ๑๔.เขียดกินงู ๑๕.หงส์ล้อมกา ๑๖.เสือกลัวแพะ



"ข้อ ๑.โคล่ำสัน ข้อ๑๐.ข่าวสารที่หุงไม่สุก" เป็นภาวะวิกฤติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นและคร่าชีวิตมนุษย์จำนวนไม่น้อย

โคล่ำสัน มีโควิ่งมาจากสี่ทิศ เหมือนจะเข้ามาทำร้าย แต่พอใกล้กัน ก็ถอยหนีจากกันไป หมายถึง เมื่อชนชั้นปกครองและประชาชนไม่ตั้งอยู่ในธรรม ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ข้าวก็จะยากหมากก็จะแพง หากมาลองคิดดู..การทำลายทรัพยากรแบบล้างผลาญของกลุ่มนายทุนสมัยนี้ ทั้งกระทำต่อสัตว์และธรรมชาติเพื่อสนองการบริโภคอุปโภคแบบบ้าคลั่ง จนโลกต้องเผชิญภัยจากธรรมชาติ และโรคร้ายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ความน่ากลัวของโรคเอดส์ ไข้หวัดนก ภัยแล้ง และอีกมากมาย ที่ฮือฮาตามกระแส แต่แล้วก็เงียบไปเพราะสิ่งบันเทิงอื่นๆ เร้าให้ผู้คนสนใจมากกว่า ประดุจวัวดุดันทั้งสี่ทำท่าจะวิ่งเข้าชนกันให้มอดม้วย แต่กลับหนีจากกันไป

ข้าวสารหุงไม่สุก ทั้งๆ ที่หุงในหม้อเดียวกัน มีทั้งดิบ สุก และแฉะเกินไป หมายถึงเมื่อชนทั้งหลาย ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ นักบวช ประชาชน ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ฝนตกไม่ทั่วบ้านทั่วเมือง บางที่ตกน้อยข้าวกล้าพืชพันธุ์แห้งเหี่ยว บางที่ตกพอดีข้าวกล้าพืชพันธุ์ก็งอกงาม บางที่ตกมากข้าวกล้าพืชพันธุ์ก็เสียหาย


"ข้อ ๓.แม่โค" แม่โคจะกินนมลูกโคที่เพิ่งออกจากท้อง เกี่ยวกับความกตัญญูที่แทบจะหายไปจากผู้ที่เป็นลูก

แม่โค ข้อนี้หมายถึงเด็กๆ ต่างหาทรัพย์เพื่อตนเอง ทอดทิ้งพ่อแม่ ใจดำ ไม่ตอบแทนพระคุณ พ่อแม่แก่ๆ ต้องมาขอให้ลูกช่วย ความจริงการดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าเป็นหน้าที่ของลูกที่ดี ไม่ใช่ปล่อยให้คนแก่ลำบาก นึกถึงพ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่เลี้ยงลูกหลายคนได้ แต่ไม่มีลูกคนไหนจะมาเลี้ยงดูท่านเอาเสียเลย เด็กยุคที่เห็นว่าเงินสำคัญ พยายามหาเงินมาสนองตัณหาอย่างขาดศีลธรรม ไม่สนใจอาชีพสุจริต ราวไม่รู้ว่า มีแต่บุญกับบาปเท่านั้น ที่จะติดตัวไปได้หลังความตาย ไม่ใช่ทรัพย์สมมุติที่แย่งชิงกันเอาเป็นเอาตายจนเกินความพอเหมาะพอควร สำนึกแห่งความกตัญญูกำลังจืดจางลงไป


"ข้อ ๒.ต้นไม้ ข้อ ๖.ถาดทองคำ ข้อ ๗.สุนัขจิ้งจอก ข้อ ๑๔.เขียดกินงู" เกี่ยวกับศีลธรรมจริยธรรมและมโนธรรมของคนรุ่นใหม่ที่อ่อนแอลง

ต้นไม้ กลับจะออกดอกผลตั้งแต่ยังไม่เจริญเต็มที่ ทำให้ผลที่ได้เน่าเสียและไม่สมบูรณ์ หมายถึง คนในอนาคตจะมีลูกกันตั้งแต่อายุน้อย ทำให้ลูกตายในท้องบ้าง ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องบ้าง ไม่อยากพูดถึงเรื่องเด็กเพิ่งเกิดแต่ถูกแม่แท้ๆ ฆ่าทิ้งลงตามถังขยะ มันไม่ใช่เรื่องอนาคตอีกแล้ว แต่กลายเป็นยุคนี้นี่เอง

ถาดทองคำ ซึ่งถือว่าเป็นวัตถุมีค่ามาก กลับถูกประชาชนนำไปให้สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งถ่ายปัสสาวะรดใส่ หมายถึง ชนชั้นปกครองหรือคนมีตระกูล ให้ยศตำแหน่งกับคนต่ำช้า หรือยกบุตรสาวให้คนต่ำทราม ที่ไม่เห็นคุณค่า แน่นอนหลายตระกูลใหญ่ขาดลูกหลานที่กล้าหาญตั้งมั่นในคุณธรรม นอกจากจะสนใจแต่อำนาจวาสนาและชื่อเสียง กำลังมีพฤติกรรมน่ารังเกียจอยู่เช่นนี้จริงๆ

สุนัขจิ้งจอก แทนคนชั่วร้ายหรือเจ้าเล่ห์ ที่แอบซ่อนตัวอยู่ และคอยกัดแทะเชือกซึ่งชายคนหนึ่งฟั่นไว้ใช้งานโดยเขาไม่รู้ตัว ทำให้เชือกเส้นนั้นไม่สามารถถูกถักทอจนเสร็จเพื่อเอาไว้ใช้งานได้ หมายถึง ผู้หญิงที่เป็นภรรยา ในกาลข้างหน้าจะคบชู้สู่ชาย ไม่ดูแลสามีผู้หาเลี้ยงครอบครัวด้วยความยากลำบาก ไม่สนใจการบ้านการเรือน แต่กลับนำทรัพย์ไปเลี้ยงชายชู้ ผู้หญิงรักนวลสงวนตัวที่เคยหาง่ายกลับจะหาได้ยากขึ้นทุกวัน หญิงชั่วในยุคอิสระทางกามารมณ์ แทบจะมีมากไม่แพ้ชายชั่วเสียแล้ว กามที่สุขเพียงน้อยแต่สร้างทุกข์ให้มหาศาล

เขียดกินงู โดยเขียดนั้นกลับรู้จักใช้เล่ห์เหลี่ยมจนทำให้งูพ่ายแพ้ หมายถึง เมื่อเข้าสู่ยุคที่โลกเสื่อมจากศีลธรรม ชายผู้มีกิเลสหนา ปล่อยตัวให้ตกอยู่อำนาจราคะของภรรยาสาวๆ ทำให้ตัวเองหมดอำนาจลงไป ภรรยานั้นจะใช้เล่ห์เพทุบายหลอกล่อสามีให้อยู่ในอำนาจ ผู้ชายดีๆ ก็หาได้ยากอยู่แล้ว หรือผู้หญิงเองกลับจะเลือกกระทำตัวในแนวทางดุจเดียวกัน โดยเรียกมันว่าสิทธิเสมอภาคด้วยความเข้าใจผิด


"ความฝัน ข้อ ๑๑.แก่นจันทร์ ข้อ ๑๒.น้าเต้าจมน้ำ ข้อ ๑๓.ศิลาลอยน้ำ" สามข้อนี้เกี่ยวพันกับปัญหาของพุทธบริษัทโดยตรง ไม่รู้กันแล้วว่าใครพูดดีพูดถูก กลับจะสนับสนุนคนพูดถูกใจว่าพูดดีไปเสียแล้ว

แก่นจันทร์ ประชาชนเอาแก่นจันทร์หอมไปแลกกับนมโคเสียง่าย หมายถึง ภิกษุอลัชชี เห็นแก่ปัจจัยไทยธรรม ไม่ได้แสดงธรรมเพื่อให้สัตว์หลุดพ้น แต่ทำเพื่อชื่อเสียงเงินทอง”

น้ำเต้าจมน้ำ น้ำเต้าที่เบาๆ ควรลอยน้ำกลับจมน้ำ หมายถึง ผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่ให้ตำแหน่งกับคนมีความสามารถ ความคิดเห็นของคนพาลหรือพระทุศีลจะได้รับการยอมรับ”

ศิลาลอยน้ำ ศิลาหนักแน่นแทนที่จะจมน้ำกลับลอยน้ำ หมายถึง ผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม ให้ตำแหน่งกับคนไม่ดี คนชั่วได้รับการยอมรับ คำพูดของคนดีมีความสามารถ หรือพระผู้มีศีล กลับไม่ได้รับการยอมรับ” หรือที่ได้คุ้นกันดีกับสำนวนว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟู น้ำเต้าน้อยจะถอยจม”


"ข้อ ๔.โคสามัญ ข้อ ๕.ม้าสองปาก ข้อ ๘.ตุ่มน้ำ ข้อ ๙.สระโบกขรณี ข้อ ๑๕.หงส์ล้อมกา และข้อ ๑๖.เสือกลัวแพะ" หกข้อที่เหลือนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกครองและเศรษฐกิจ

โคสามัญ กลับถูกปล่อยแล้วเอาโคเด็กมาแทนที่ หมายถึง ผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม ปลดเสนาอำมาตย์ที่รู้งานออกไป แล้วเอาคนไม่รู้งานมาแทน”

ม้าสองปาก กินหญ้าสองทาง หมายถึง ผู้ปกครองโง่เขลาเบาปัญญา โลเลไม่ยุติธรรม รับสินบนทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย ได้สินบนทั้งสองฝ่าย แล้วก็ตัดสินคดีตามผลประโยชน์และความพอใจ”

ตุ่มน้ำ มากมายไม่มีใครสนใจ ชาวบ้านต้องช่วยกันหาน้ำมาเทใส่ตุ่มใหญ่ หมายถึง กาลข้างหน้า ผู้ปกครองก็ตกยาก สั่งให้ประชาชนเอาข้าวมาใส่ยุ้งฉางของหลวง ทำให้ชาวบ้านไม่มีเวลาดูแลยุ้งฉางที่ว่างเปล่าของตนเอง”

สระโบกขรณี กลางสระใหญ่กลับขุ่น แต่ริมสระกลับใสสะอาดน่าแปลกประหลาด หมายถึง เมื่อผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรมหวังประโยชน์ส่วนตน หาวิธีหลอกล่อเก็บภาษีจากประชาชนในรูปแบบต่างๆ จนเกินกำลังชาวบ้านจะหามาให้ได้ ประชาชนหลายคนหนีออกจากเมืองไปอยู่ในชนบท ซึ่งยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ในที่ห่างไกลจากบ้านเมือง”

หงส์ล้อมกา คนชั้นสูงเชิดชูคนต่ำต้อย หมายถึง ชนชั้นผู้ปกครองเป็นผู้ไร้ความสามารถ แต่แทนที่จะนำคนเก่งมาช่วยเหลือกลับเกรงจะสูญเสียอำนาจ จึงเอาพวกข้าทาสที่รับใช้ใกล้ตัวขึ้นมาเป็นใหญ่”

เสือกลัวแพะ พวกแพะกลับไล่เสือเข้าป่าไป หมายถึง ชนชั้นผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม กลับพาพวกคนต่ำมาเป็นผู้ปกครอง ยึดทรัพย์สมบัติคนดีหรือคนมีตระกูล จนต้องหาที่หลบซ่อน พวกภิกษุอลัชชีขึ้นมาเป็นใหญ่เบียดเบียนพวกภิกษุมีศีลตามอำเภอใจ จนต้องหนีเข้าป่า”


ความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกสน หรือความฝันสุดน่ากลัวนี้กำลังกลายเป็นเรื่องจริงในยุคครึ่งหลังพุทธกาล?? ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเรา และคงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวเพื่อคอยเตือนสติ ให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูบุตรหลานในการรู้จักแก้ปัญหาในยามเติบโตท่ามกลางกระแสสังคมที่นับวันจะเชี่ยวกรากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้.........




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2548 15:51:08 น.
Counter : 1725 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

suparatta
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




..วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร..
..ท่านนาคารชุนะ..
วิภาษวิธี..เกริ่นนำ..ตอนจบ..

๐ สมุดเยี่ยมและบ่นได้..
**ทางลัด**
๐ สารบัญทักทาย(ทั้งหมด)
๐ ชวนคุย&ฟังเพลงปี48(ทั้งหมด)
๐ นอนดูจันทร์..(ส่วนตัว)

**log in หน่อยน่า..



Google.co.th
Friends' blogs
[Add suparatta's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.