Group Blog
 
All blogs
 
น้ำตาแสงไต้ - โจ้ Pause


น้ำตาแสงไต้


เนื้อร้อง - มารุต - เนรมิตร
ทำนอง - สง่า อารัมภีร
ขับร้อง - โจ้ วง Pause



นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ
ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย
น้ำตาอาบแก้ม เพียงแซมเพชรไสว
แวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้ งามจับตา

นวลแสงเพชร เกล็ดแก้วอันล้ำค่า
ยามเมื่อแสงไฟส่องมา แวววาวชวนชื่นชม

น้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบม
ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวล
นวลเจ้าพี่เอย...นวลเจ้าพี่เอย...


ดิฉันรู้สึกผูกพันกับเพลงนี้บอกไม่ถูก เพิ่งมารู้สึกเมื่อตอนที่ย้ายมาอยู่อเมริกา คือตอนที่อยู่อเมริกา เวลาจะกล่อมลูกนอน มันไม่รู้จะร้องเพลงกล่อมเด็กอะไรดี เพราะตอนที่อยู่เมืองไทย เปิดแต่เทปคาสเซ็สเพลงบรรเลงเปียโนให้เขาฟังเวลาเข้านอน ดิฉันก็สบาย ไม่ต้องเหนื่อยร้องเพลงอะไร แต่ตอนเก็บกระเป๋าย้ายมาที่นี่ กลับลืม ไม่ได้เอาเทปม้วนนั้นมาด้วย ทำยังไงล่ะ ก็ต้องหาเพลงร้องฆ่าเวลาเอาเอง

ขณะที่กำลังนึก ๆ ว่าจะร้องเพลงอะไรดีที่มันทำนองช้า ๆ หวาน ๆ อยู่ ๆ ปากก็ร้องออกมาว่า "...นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย..." เอ้อ ใช้ได้ เพลงนี้ดีนะ ใช้ร้องเป็นเพลงกล่อมได้ ดิฉันก็ร้องไปเรื่อย ๆ ร้องผิดบ้างถูกบ้าง ขณะที่ร้องก็นึกถึงเสียงของก็อต จักพรรณ ที่ร้องไว้ในละครช่องสีรุ้ง ดิฉันว่าเขาร้องเพราะดี

ไป ๆ มา ๆ ดิฉันกลับร้องเพลงนี้ทั้งเช้าทั้งเย็น ไม่ใช่เฉพาะเวลากล่อมลูกเท่านั้น เวลาที่ร้องก็นึกถึงเรื่องของพันท้ายนรสิงห์ไปด้วย เออหนอ ท่านเป็นคนดีจริง ๆ รักสัตย์ยิ่งชีพ ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาคำพูด แล้วดูสิ ท่านเสียชีวิตไปเป็นร้อยปีแล้ว ผู้คนยังกล่าวถึงชื่อของท่านอยู่เลย เป็นดังพุทธสุภาษิตที่ว่า "ร่างกายของสัตว์ย่อยยับได้ แต่ชื่อและสกุลไม่ย่อยยับ" จริง ๆ แล้วแม่นวลในเพลงล่ะ คงจะเจ็บช้ำใจไม่น้อยที่ต้องสูญเสียสามีที่รักไป

เมื่อต้นปี(2007) ดิฉันกลับไปเมืองไทย อยู่ ๆ คุณน้าก็โทรมาบอกว่า อยากจะพาดิฉัน สามี และลูก ๆ ไปสมุทรสาคร ไปไหว้ศาลพันท้ายนรสิงห์ และกินอาหารทะเล ดิฉันก็รู้สึกประหลาดใจ เออหนอ ช่างเป็นความบังเอิญอะไรเช่นนี้ จะว่าคุณน้าได้ยินเราร้องก็ไม่ใช่ เพราะพอถึงเมืองไทย ดิฉันก็ไม่ได้ร้องเพลงนี้เลย เพราะพาเด็กออกไปเที่ยวข้างนอกทุกวัน พอถึงเตียง เด็ก ๆ ก็สลบคาหมอน ไม่จำเป็นต้องร้องเพลงกล่อมแต่อย่างใด หรืออะไรมาดลใจให้เราไปหาสถานที่ของท่านกันหนอ ดวงวิญญาณของท่านหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนจะรู้ว่าเราร้องเพลงของท่านทุกวัน มีความศรัทธา เลยอยากให้เราไปไหว้ท่านงั้นหรือ ช่างเป็นความบังเอิญจริง ๆ

ดิฉันไปไหว้ศาลของท่าน ไปเห็นคลองที่ท่านล่องเรือเป็นครั้งสุดท้าย ไปเห็นหัวโค้งที่เรือพระที่นั่งชน ที่สำคัญคือ ได้เห็นหมวกที่ท่านใส่ขณะทำหน้าที่เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต ถือว่าเป็นบุญตาของดิฉันทีเดียว

ดิฉันขออนุญาตนำเรื่องย่อของพันท้ายนรสิงห์มาจากเว็บไซต์ //www.geocities.com/weerakung/html/l_9.html และที่มาของเพลงนี้จากเว็บไซต์ //www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000080012 ต้องขอขอบคุณผู้เขียนเว็บไซต์มากค่ะ

เรื่องย่อพันท้ายนรสิงห์

ไอ้สิน หรือ พันท้ายนรสิงห์ คนกล้าแห่งวิเศษไชยชาญ ได้แต่งงานอยู่กินกับ นวล คนรัก สินล่วงรู้แผนการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเสือ โดยมีพระพิชัยซึ่งเป็นนายเก่าผู้มีบุญคุณเทียบพ่อเป็นผู้บงการ และแผนร้ายในครั้งนี้จะลงมือที่คลองโคกขาม ช่วงที่น้ำเชี่ยวที่สุด

สินสุดที่จะยับยั้งเรื่องทั้งมวลให้ยุติได้ ตนจึงตัดสินใจเสียสละ สินจึงร่ำลานวลเมียรัก ไอ้สินจัดการคัดท้ายเรือพระที่นั่งให้โขนเรือ (หัวเรือ) กระแทกกับกิ่งไม้จนหัก (คือ มีคนดักรอรอบปลงพระชนม์อยู่ สินเลยพยายามชะลอเรือไม่ให้ไปตามที่กำหนด เลยแถเรือให้หัวเรือชนตลิ่งจนหัวเรือหักเสีย เพื่อปกป้องชีวิตพระเจ้าเสือ แต่ตัวต้องรับอาญาฐานทำเรือหัก - เพิ่มเติมจากเจ้าของบล็อค)

พระเจ้าเสือพยายามจะช่วยให้พ้นผิด ด้วยทรงรู้ว่าพันท้ายนรสิงห์มีความซื่อสัตย์ต่อพระองค์เป็นที่สุด แต่พันท้ายนรสิงห์ก็ยืนกรานที่จะให้พระเจ้าเสือประหารองค์ชีวิตตน พระเจ้าเสือจำต้องสั่งประหารชีวิตพันท้ายผู้สัตย์ซื่อ ต่อมาทรงทราบแผนลอบปลงพระชนม์จากนวล จึงทรงยกย่องพันท้ายนรสิงห์ความว่า..

“ไอ้สินเอ๋ย..
กูขอให้วิญญาณของมึง.. จงสถิตย์เป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่ออยู่ที่นี่
ขอให้หัวของมึง.. จงเป็นพยานแห่งความกตัญญู
ขอให้ร่างของมึง.. จงเป็นอนุสาวรีย์แห่งเกียรติวินัย
ขอให้เลือดของมึง จงเป็นเครื่องหมายแห่งความเสียสละ เป็นเยี่ยงอย่างแก่ชนรุ่นหลังสืบไป
ขอให้ชื่อ พันท้ายนรสิงห์ จงเป็นอมตะ ชั่วนิรันดร์"


ที่มาของเพลงน้ำตาแสงไต้

ครูสง่า อารัมภีร เล่าถึงความเป็นมาของเพลงน้ำตาแสงไต้ นี้ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า

"ผมจำได้แม่นยำว่า "วันนั้น" ในราวเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2487 ศิวารมณ์กำลังซ้อมละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์อยู่ที่ห้องครูเล็กศาลาเฉลิมกรุง ดูเหมือนจะเข้าโปรแกรมวันที่ 10 พฤศจิกายน เราซ้อมกันอย่างหนักเพราะเป็นสมัยที่เริ่มงานกันใหม่ๆ กำลังฟิต สุรสิทธิ์ จก สมพงษ์ และทุกๆ คนมาซ้อมตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกวัน

เนรมิต มารุต สมัยโน้น เข้าคู่กันคร่ำเครียดกับบท และวางคาแร็กเตอร์ตัวละครเป็นการใหญ่ นาฏศิลป์ก็ซ้อมกันไป นักร้องก็ร้องกันไป เสียงแซดไปทั่วห้องเล็กเฉลิมกรุงตั้งแต่ 9 น. ถึง 15.30 น. ทุกวัน

ตอนนั้นผมมีหน้าที่แต่เพียงดีดเปียโนสำหรับนาฎศิลป์ เขาซ้อมและต่อเพลงนักร้องเท่านั้น ผู้แต่งเพลงศิวารมณ์คือ ประกิจ วาทยกร และ โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ผมเป็นนักดนตรีใหม่ๆ ยังไม่ถึงปีเลย เพลงก็ยังแต่งกับเขายังไม่เป็น และไม่เคยคิดว่าจะแต่งกับเขาได้ยังไง ได้แต่ดูเขาแต่งเท่านั้น วันหนึ่งๆ ก็ได้แต่ดีดีดเปียโนจนเมื่อยนิ้วไปหมด..."

เหตุการณ์ต่อมาก็คือเพลงเอกของเรื่องยังแต่งไม่เสร็จ แม้ครูเพลงทั้งสองจะแต่งมาให้แล้ว แต่เจ้าของเรื่องและผู้กำกับยังไม่พอใจ เพราะต้องการให้เพลงนั้นมีท่วงทำนองแบบไทยๆ หวานเย็นและเศร้า โดยที่ทำนองเพลงของครูประกิจออกไปทางฝรั่ง ส่วนของครูโพธิ์ก็เป็นไทยครึ่ง ฝรั่งครึ่ง ทุกคนต่างพากันอึดอัด เพราะเกรงว่าจะเสร็จไม่ทันวันเปิดการแสดง

เย็นวันนั้นครูสง่า อารัมภีร ก็ไปนั่งดื่มเหล้ากับครูเวทางค์ที่ร้านโว่กี่ตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุงและก็ปรารถถึงการแต่งเพลงน้ำตาแสงไต้ ซึ่งเป็นเพลงเอกในละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ที่ยังค้างคาอยู่ไม่แล้วเสร็จ

ครูทองอินหรือเวทางค์ ก็บอกว่า "เพลงไทยนั้นมีแยะ แต่ไอ้รสหวานเย็นและเศร้าที่หง่าว่ามันมีน้อย ที่อั๊วชอบมากและรู้สึกหวานเย็นเศร้าก็เห็นจะมีแต่ เขมรไทรโยค และลาวครวญเท่านั้น"

เมื่อพูดขาดคำ ครูเวทางค์ก็ร้องให้ฟัง เสียงดังลั่นร้านว่า "ร้อยชู้หรือจะสู้เนื้อเมียตน เมียร้อยคนหรือจะสู้พระแม่ได้..." ร้องไม่ทันจบก็ขึ้นเพลงใหม่ "เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดัง หูเราฟัง หูเราฟัง..." ทันที จนคนในร้านพากันขำ หัวร่อกันทุกคน

ซึ่งคืนนั้นครูสง่า อารัมภีร เล่าว่า ตนเองได้ข้ามฟากมานอนที่เก้าอี้ยาวของแผนกฉาก แล้วหลับฝันไปว่า

"...มีคนอยู่ 4 เป็นชาย 3 หญิง 1 แต่งกายแปลกมากเหมือนนักรบไทยโบราณ เขาถอดหมวกวางไว้บนเปียโน คนเล่นเปียโนผิวค่อนข้างขาว หน้าตาคมคาย อีกคนหนึ่งผิวคล้ำ นั่งอยู่ทางขวาของเปียโน คนที่ 3 อายุมากกว่า 2 คนแรก ผมหงอกประปราย ท่าทางเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หน้าตาอิ่มเอิบ ปล่อยผมยาวปรกบ่า กำลังเอามือท้าวเปียโนอยู่ด้านซ้าย..."

ในความฝันนั้นครูสง่า อารัมภีร เล่าว่า ชายคนแรกที่ชื่อเทพ เล่นเปียโนเพลงเขมรไทรโยค ส่วนผู้หญิงที่ชื่อธิดานั้น เล่นเพลงลาวครวญ และชายผิวคล้ำคนที่สามที่ชื่อว่า อมรนั้นนำเอาเพลงทั้งสองเพลงมาผสมกันอย่างไพเราะ และกลมกลืนกัน

ครูสง่า อารัมภีร เขียนเล่าเอาไว้ว่า "...ท่านที่รัก เสียงที่ลอยมาจากเปียโนนั้น สำเนียงไทยแท้มีรส "หวานเย็นเศร้า"

ศิษย์ทั้งสองของเขาจับมือกันอย่างเป็นสุข หน้าของผู้มีอายุยืนยิ้มละไม

คุณครูอมรได้รวมวิญญาณของเขมรไทรโยคและลาวครวญ ให้เป็นเกลียวเขม็งเข้าหากันอย่างสนิทแนบ สำเนียงและวิญญาณถอดออกมาจากเพลงทั้งสองอย่างครบถ้วน โดยที่เพลงเดิมไม่ได้เสียหายอะไรแม้แต่น้อย ดูดุจสองวิญญาณเก่า เข้าเคล้ากันจนเกิดวิญญาณใหม่ที่สวยงามขึ้นอีกวิญญาณหนึ่ง..."

เพราะเหตุที่ครูสง่า อารัมภีร เปงเป็นนักเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับผีๆ สางๆ และวิญญาณต่างๆ และมีแฟนติดตามอ่านกันมากมายหลายเรื่องถึงขนาดพิมพ์รวมเล่มในชื่อว่าหนังสือแจ๋วเจอผี โดยใช้นามปากกาว่า "แจ๋ว วรจักร" เช่นเรื่อง วิญญาณสุนทรภู่ แจ๋วเจอพี่เหม ฯลฯ การเขียนเล่าเรื่องในแนวแบบนี้จึงน่าอ่าน น่าติดตาม

ครูสง่า อารัมภีร เล่าต่อไปอีกว่า
"...บ่าย 3 โมงวันนั้น...เมื่อนาฎศิลป์และละครกลับกันไปแล้ว บนห้องเล็กเหลือ ผม เนรมิต มารุต สุรสิทธิ์ เนรมิตและมารุตพากันบ่นถึงเพลงน้ำตาแสงไต้ว่า ทำนองที่คุณประกิจส่งมายังใช้ไม่ได้ ไม่ตรงกับความประสงค์ สุรสิทธิ์บ่นว่าเหลืออีก 3 วัน เดี๋ยวก็ร้องไม่ทันหรอก

ผมนั่งฟังเขาสักครู่ ก็หันมาดีดเปียโน ท่านที่รัก ความรู้สึกที่บอกไม่ถูกได้พานิ้วมือของผมบรรเลงๆ ไปตามอารมณ์ ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร เพราะเคลิ้มๆ ยังไงพิกล ก็ได้ยิน เนรมิต ถามว่า

"หง่า...นั่นเพลงอะไร?"

ผมสะดุ้งพร้อมกับนึกขึ้นได้ และจำทำนองได้ทันทีว่าเป็นเพลงที่ครูอมรดีด เป็นเพลงที่ผมได้ฟังอย่างประหลาด ผมจำได้หมด

ในบัดนั้น ผมหันไปถามเนรมิตว่า "เพราะหรือฮะ"

เนรมิตพยักหน้า พลางบอกให้ผมเล่นใหม่ ผมก็บรรเลงอีกหนึ่งเที่ยว ทั้ง เนรมิต และมารุตก็พูดขึ้นว่า นี่แหละ "น้ำตาแสงไต้"

ผมดีใจรีบจดโน้ตและประพันธ์คำร้องกันเดี๋ยวนั้น จากพล็อตขององค์ชายใหญ่เจ้าของเรื่อง มารุตเอ่ยขึ้น..."นวล เจ้าพี่เอย..." เนรมิตต่อ "คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ" แล้วก็ช่วยกันต่อ "ถ้อยคำดั่งเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย"

พอจบประโยคแรก สุรสิทธิ์ก็ร้องเกลาทันที ร่วมกันสร้างจบคำร้องในราว 10 นาทีเท่านั้นเอง

สุดท้ายเพลงก็ทันละครแสดง สมัยนั้นฉากสุดท้ายเมื่อทำนองน้ำตาแสงไต้พลิ้วขึ้น คนร้องไห้กันทั้งโรงแม้พันท้ายฯ จะสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ยังใช้ "น้ำตาแสงไต้" เป็นเพลงเอกอยู่"


***************

ดิฉันขอแถมเพลงน้ำตาแสงไต้ในเวอร์ชั่นต่าง ๆ โดยส่วนตัว ดิฉันชอบฉบับของ คุณฉลอง สิมะเสถียร ที่สุดค่ะ


ขับร้องโดย ฉลอง สิมะเสถียร จากเว็บไซต์ //www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=bigpal&topic=156




เพลงบรรเลงโดย นพ โสตถิพันธ์ วงเยื่อไม้ จากเว็บไซต์ //www.thaiblogger.org/2006/06/28/playing-wma-files.html




ขับร้องโดย ก็อต จักรพรรณ อาบครบุรี


ต้องขอขอบคุณเจ้าของเว็บไซต์ทุกเว็บไซต์มากค่ะ



Create Date : 27 พฤษภาคม 2550
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2552 2:05:53 น. 5 comments
Counter : 2123 Pageviews.

 
ชอบเพลงนี้มากๆ เหมือนกันคัรบ


โดย: เก่งกว่าผมตายไปหมดแล้ว วันที่: 27 พฤษภาคม 2550 เวลา:23:09:33 น.  

 
ขอบคุณนะครับ ที่ทำให้ผมได้ฟังเพลงดีดี


โดย: เสถียร IP: 203.188.25.113 วันที่: 2 มิถุนายน 2550 เวลา:9:04:05 น.  

 


โดย: ใหม่ IP: 124.121.194.52 วันที่: 19 กรกฎาคม 2550 เวลา:13:20:11 น.  

 
ชอบมากๆครับ ขอบคุณนะครับ


โดย: ใหม่ IP: 124.121.194.52 วันที่: 19 กรกฎาคม 2550 เวลา:13:20:57 น.  

 
ชอบมากค่ะ เพราะจริงๆ


โดย: ปู IP: 222.123.203.98 วันที่: 31 กรกฎาคม 2551 เวลา:11:42:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Sunny Shiny Day
Location :
WA United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




"โลกสอนมนุษย์ว่าทุกสิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่โลกก็กลับสอนให้มนุษย์ผูกพัน"

โดยพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต
Custom Search

Free Blog Content

WeatherBug
Your weather just got better.
Friends' blogs
[Add Sunny Shiny Day's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.