Group Blog
 
All Blogs
 

ฟาแลนอปซิสของฟิลิปปินส์

ฟาแลนอปซิสของฟิลิปปินส์


บรรยายในการชุมนุมกล้วยไม้อาเซียนครั้งที่ 1 เมื่อประมาณปี 2518
โดย ดร. ฮีเลน วัลมายอ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ลอสบันโยส

ประเทศฟิลิปปินส์ มีพันธุ์กล้วยไม้ที่เกิดเองตามธรรมชาติหลายสกุล และที่นับว่าเป็นโชคดีมากกว่าประเทศอื่น ๆ ก็คือ ในจำหนวนหลายสกุลนั้นมี สกุลฟาแลนอปซิส (Phalaenopsis) รวมอยู่ด้วย ซึ่งมีมากทั้งชนิดและปริมาณ ถ้าเปรียบแวนด้าแซนเดอเรียนาเป็นเสมือนเพชรเม็ดแรกแล้วละก็ ฟาแลนอปซิสก็คือเพชรเม็ดที่สองของฟิลิปปินส์เลยเชียว ซึ่งได้มีบทบาทช่วยให้วงการกล้วยไม้ได้ชื่นชมและคึกคักขึ้นอีกไม่น้อย

ด้วยความสวยงามละเมียดละไมของดอกและความสูงสง่าของช่อทำให้นักเลี้ยงกล้วยไม้ทั้งเพื่อการค้าและงานอดิเรก อดที่จะซื้อหามาเป็นเจ้าของเสียมิได้ เห็นได้ชัดในฤดูให้ดอก เรือนรังต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์จะมีกล้วยไม้ฟาแลนอปซิสชูช่อไสวพรั่งพรูไปด้วยดอกฟาแลนอปซิสงามจับจิตอย่างที่จะหากล้วยไม้สกุลอื่นเทียบได้ยาก

แรกทีเดียวมีการปรับปรุงฟอร์มและระเบียบดอกฟาแลนอปซิสสีขาว เพื่อจะใช้เป็นไม้ตัดดอก ระยะนี้(สมัยนั้น) มีพันธุ์ลูกผสมสีขาวดี ๆ หลายพันธุ์ เช่น ดอรีส(Doris) เกรซปาล์ม (Grace Palm) ราโมนา (Ramona) และจวนนิต้า (Juanita) เป็นต้น

ระยะต่อมามีการผสมพันธุ์เพื่อให้ได้ลูกผสมที่มีสีอื่น ๆ เช่น ขาวปากแดง สีเหลือง สีชมพู สีม่วง ประจุดหรือเป็นริ้วเป็นแถบ เป็นต้น การค้นคว้าในเรื่องของสี ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ หวังที่จะให้ได้ฟาแลนอปซิสหลาย ๆ สี จึงอยู่ไม่ห่างไกลนัก ยิ่งมีหลายสีก็ยิ่งทำให้ไม้สกุลฟาแลนอปซิส มีความหมายและได้รับความสนใจยิ่งขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฟาแลนอปซิสสีดี ๆ กลีบหนา ๆ แม้ขนาดของดอกจะเล็กได้ถูกคัดเลือกมาใช้เป็นคู่ผสมพันธุ์แล้วจำนวนมาก สิ่งที่นักผสมพันธุ์ยึดถือเป็นลักษณะสำคัญอีกอันหนึ่ง นอกจากจะเรื่องของสีและฟอร์มก็คือ ดอกมีกลีบหนา

เกี่ยวกับการเรียกชื่อของไม้ต้นนี้ เอกสารเก่า ๆ เขียนบอกไว้ว่าได้มาจากศัพท์ภาษากรีกสองคำคือ ฟาแลนน่า คำหนึ่ง กับ ออปซิส อีกคำหนึ่ง ฟาแลนน่าหมายถึงผีเสื้อ ออปซิสหมายถึงลักษณะที่ปรากฎ สองคำรวมกันเป็น ฟาแลนอปซิส หมายถึง สิ่งที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายผีเสื้อ ส่วนชาวฟิลิปปินส์เรียกตามภาษาของตนเองว่า มารีโพซา ซึ่งก็แปลว่า ผีเสื้อแสนสวย เช่นเดียวกัน

ตามประวัติศาสตร์ฟาแลนอปซิสต้นแรกนั้น พระชื่อคาเมลเป็นผู้พบในปี ค.ศ. 1704 ได้อธิบายไว้ว่าเป็นกล้วยไม้มีดอกสีขาว พบบนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เรียกชื่อไม้ต้นนั้นว่า ฟาแลนอปซิส อะโฟรไดท์ (Phalaenopsis aphrodite) ต่อมาในปี ค.ศ. 1752 ปีเตอร์ ออสเบค พบกล้วยไม้ที่มีลักษณะคล้ายกันในเกาะชวา และนำส่งไปให้นักพฤกษศาสตร์ชื่อลินเนียสเพื่อขอตั้งชื่อ ลินเนียสบันทึกลักษณะต่าง ๆ แล้ว ตั้งชื่อว่า อีพิเดนดรัม อมาบิลี (Epidendrum amabilii) ซึ่งได้ตีพิมพ์เป็นเอกสารภายได้ชื่อว่า สปีชี่ แพลนทามัน ในปี 1753
ต่อมานักพฤกษศาสตร์ชื่อ บลูมเม ได้ตั้งชื่อสกุลของไม้นี้ใหม่ว่าเป็นสกุลฟาแลนอปซิส ขึ้นในปี ค.ศ. 1885 และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ของไม้ต้นนี้ว่า ฟาแลนอปซิส อมาบิลิส (Phalaenopsis amabilis) นานปีเข้าก็ยิ่งค้นพบกล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซิสมากขึ้นทั้งชนิดและจำนวนต้น จึงมีการตั้งชื่อและแบ่งหมวดหมู่ไว้มาก

จนกระทั่งบัดนี้ (สมัยนั้น พ.ศ.2518) นักจำแนกพันธุ์ไม้ชาวฟิลิปปินส์ได้รายงานไว้ว่า มีกล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซิสแล้วถึง 67 ชนิด และในเวลาใกล้เคียงกันทางพิพิธภัณฑ์กล้วยไม้ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาด สหรัฐอเมริการายงานโดย ดร.เฮอร์แมน สวีท ว่าได้รวบรวมกล้วยไม้ฟาแลนอปซิสไว้แล้วถึง 43 ชนิด ในจำนวนนี้ พบว่าเป็นฟาแลนอปซิสที่มีแหล่งกำเนิดในฟิลิปปินส์ถึง 19 ชนิด นอกนั้นพบในแหล่งอื่น ๆ เช่น สุมาตรา ชวา บอร์เนียว ซิลิบิส มอลลัคคัช แอมโบอินา นิวกินี และควีนแลนด์ ออสเตรเลีย สรุปได้ว่าฟิลิปปินส์เป็นถิ่นแรกก่อให้เกิดสกุลฟาแลนอปซิส ส่วนชนิดหรือพันธุ์อื่น ๆ มากมายนั้นพบทั้งในฟิลิปปินส์และแหล่งอื่น ๆ

การเกิดและอยู่ตามธรรมชาติ
ฟิลิปปินส์ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 7000 เกาะ กล้วยไม้ฟาแลนอปซิสกระจายอยู่ทั่วไป แต่ที่พบมากคือ บนเกาะลูซอนและมินดาเนา ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่มีเนื้อที่กว้างกว่า 1500 ตารางไมล์ จึงอาจกล่าวอย่างกว้าง ๆ ได้ว่า ฟาแลนอปซิสมีถิ่นกำเนิดบนเกาะทั้งสองเกาะนี้ บางพันธุ์มีอยู่กระจายทั่วเกาะ แต่บางพันธุ์ก็มีน้อย และพบเพียงบางตำบลเท่านั้น ตัวอย่างเช่น พวกดอกขาว ฟาแลนอปซิส อะโฟร์ไดท์ พบกระจายอยู่ทั่วไปในที่ต่าง ๆ เช่น ควิซอน ลากูนา ซัมบาลีส เลเต้ โบฮอล มินดาเนาและซีบู ขณะที่ฟาแลนอปซิส อะมาบิลิส ขึ้นอยู่เฉพาะบางที่ คือ ปาลาวัน ซูลูและตาไว-ตาไวเท่านั้น
สำหรับชนิดที่มีดอกสีชมพูที่มีชื่อว่า ฟาแลนอปซิส ชิลเลอร์เลียน่า พบที่ควิซอน ลากูนา มารินดุก และวิสายัส ขณะที่ฟาแลนอปซิส แซนเดอเรียนา เกิดอยู่เฉพาะบางตำบลในเกาะมินดาเนาเท่านั้น

การแบ่งหมู่ของฟาแลนอปซิส

กล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซิส อาจแบ่งได้เป็น 5 หมู่ โดยอาศัยลักษณะเด่นของดอกเป็นสำคัญ

หมู่ที่ 1 หมู่นี้ได้แก่ฟาแลนอปซิสดอกใหญ่ สีขาวและดอกใหญ่สีชมพูมี 8 ชนิด

1. ฟาแลนอปซิส อะมาบิลิส (Phalaenopsis amabilis) ดอกใหญ่สีขาว ใบเขียวพบที่ปาลาวัน ซูลู ตาไว-ตาไว บาลาแบกของฟิลิปปินส์

2. ฟาแลนอปซิส อะโฟรไดท์ (Phalaenopsis aphrodite) ดอกสีขาวขนาดปานกลาง ใบเขียว ใต้ใบออกสีม่วงแดง พบได้ทั่วไปในเกาะลูซอน และวิสายัส ฤดูออกดอก เกือบตลอดปี

3. ฟาแลนอปซิส แซนเดอเรียนา (Phalaenopsis sanderiana) ดอกสีชมพูอ่อนจนถึงชมพูเข้ม ขนาดดอกปานกลาง ใบเขียวใต้ใบสีม่วงแดง หรือบางพันธุ์ใบเป็นแต้มต่างสีบรอนซ์ พบที่ดาเวา โคตาบาโต ลาเนา ซัมโบงกาและบูคิตนอน ฤดูออกดอก ออกดอกตลอดปีในมินดาเนา มีที่บันทึกลักษณะไว้แล้วสองพันธุ์คือ
  • พันธุ์ อัลบา ดอกสีขาวประจุดสีชมพู/li>

  • พันธุ์ มามอราตา ดอกสีขาวอมเหลือง บางทีเขียวใบไม้ปะปน


4. ฟาแลนอปซิส ชิลเลอร์เรียนา (Phalaenopsis schilleriana) ดอกมีขนาดปานกลาง สีชมพูยิ่งใกล้ริมกลีบดอกสีชมพูจางมีประจุดสีชมพูจัดที่โคนกลีบในมีกลิ่นหอม ใบมีแต้มสีบรอนซ์ พบทีลากูนา ควิซอน ลูซอนและทางตะวันออกของวิสายัส ฤดูออกดอก เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม บานอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ไม่ใคร่ทน มีอยู่ 3 พันธุ์ดังนี้
  • พันธุ์ อิมมาคูลาต้า สีดอกเป็นพื้นเดียวไม่มีประจุดสีเหลืองปลอด

  • พันธุ์ เพอร์เพอร์เรีย สีดอกสีชมพูเข้ม เมื่อบานนาน ๆ เข้าจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีม่วงน้ำเงิน

  • พันธุ์ สเปรนเด้นส์ สีชมพูดอกใหญ่ ใบแต้มสีบรอนซ์ หรือด่างเป็นทางยาวขนานกัน


5. ฟาแลนอปซิส สจ๊วตเตียนา (Phalaenopsis staurtiana) ขนาดดอกเล็ก ดอกดกสีขาวครีม กลีบใน ดอกสีเหลืองอ่อน ๆ โคนกลีบประจุด อาจเป็นสีเขียวหรือสีม่วง ใบมีแต้มสีบรอนซ์ พบที่ซูริเกา อากูซอน มิสอามิส บัคคิดนอน ฤดูออกดอก เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม มี 2 พันธุ์ดังนี้
  • พันธุ์ เบลลา ดอกมีปากใหญ่สีแดง

  • พันธุ์ เพอโรตาติสสิม่า ดอกมีประจุดทั้งกลีบในและกลีบนอก


    6. ฟาแลนอปซิส อินเทอร์มีเดีย (Phalaenopsis Intermedia) ขนาดดอกเล็ก ปากเป็นสีต่าง ๆ จากชมพูอ่อนถึงชมพูแก่และม่วง และจากสีเหลืองถึงสีส้ม ฟาแลนชนิดนี้เป็นลูกผสมธรรมชาติ ระหว่างฟาแลนอปซิส อะโฟรไดท์ กับ อีเควสตรีส ผลการพิสูจน์เป็นที่แน่ชัด เมื่อลูกผสมที่มีพ่อแม่อย่างเดียวกัน ทำการผสมเกสรด้วยคน เริ่มให้ดอกมีลักษณะเหมือนต้นที่เกิดตามธรรมชาติ พบบนเกาะลูซอนและวิสายัส ฤดูออกดอก ออกดอกได้ตลอดปี

    7. ฟาแลนอปซิส ลูโคโรดา (Phalaenopsis Leucorrhoda) ดอกขนาดปานกลาง กลีบนอกกลีบใน มีตั้งแต่สีขาวปลอดจนถึงสีชมพู ปากมีสีต่าง ๆ ใบมีแต้มสีบรอนซ์ เชื่อว่าเป็นลูกผสมธรรมชาติระหว่าง ฟาแลนอปซิส ชิลเลอเรียนา กับ อะโฟรไดท์ พบที่ไรซาล ลากูนา ควิซอน ฤดูออกดอก ไม่ไคร่ออกดอก เวลาออกดอกในเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม

    8. ฟาแลนอปซิส เวทเชียนา (Phalaenopsis Vietchiana) ดอกขนาดเล็กสีม่วงและจางลงทางริมกลีบ หรือขอบกลีบขาว เชื่อว่าเป็นลูกผสมกันระหว่าง ฟาแลนอปซิส อีเควสตรีส กับ ชิลเลอเรียนา การพิสูจน์แน่ชัด เมื่อลูกผสมที่เกิดจากฝีมือคนให้ดอกเหมือนกัน ถิ่นที่พบตอนใต้ของเกาะลูซอน

    หมู่ที่ 2 เรียกว่า หมู่สตอโรกลอติส เป็นฟาแลนอปซิสที่มีดอกขนาดเล็กดอกสีชมพูมี 2 ชนิด

    1. ฟาแลนอปซิส อีเควสตรีส (Phalaenopsis equestris) ลักษณะดอกเล็ก กลีบดอกและกลีบในสีชมพูอ่อน ปากรูปเหลี่ยมสีชมพูอ่อนถึงเข้ม ใบเขียว พบทั่วไปในที่ต่ำตั้งแต่บริเวณเกาะบาทาเรสถึงมินดาเนา ฤดูออกดอก ออกดอกได้ตลอดปี มี 3 พันธุ์
    • พันธุ์ อัลบา ดอกมีสีขาว ปากเหลืองหรือมีสีม่วงอ่อนก็มี

    • พันธุ์ ลูคอทแอนเซ่ กลีบนอกและกลีบในสีขาวก็มี สีชมพูอ่อนก็มี ส่วนดอกตอนกลางดอกจะมีสีเข้ม

    • พันธุ์ ลูแคปซิส ดอกเล็กกลีบแคบตรงกลางดอกสีชมพูเข้ม


    2. ฟาแลนอปซิส ลินดีนิไอ (Phalaenopsis lindenii) ลักษณะดอกเล็ก สีขมพูอ่อน ปากกว้าง สะดุดตา ประกอบด้วยเส้นลายรัศมี 5-7 เส้น เส้นลายนี้มีสีม่วง ใบมีแต้มสีบรอนซ์ พบเฉพาะที่สูงตามยอดเขา นิววาวิสคายาและอิสสาเบลล่า การออกดอกไม่เลือกฤดู คือออกได้ตลอดปี

    หมู่ที่ 3 เรียกว่าหมู่ฟัสเคตี มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ ฟาแลนอปซิส ฟัสคาต้า ซึ่งเป็นของฟิลิปปินส์ มีผู้พบฟาแลนอปซิส ในหมู่ที่สามนี้ สามชนิดในสุมาตราและมาเลเซีย

    หมู่ที่ 4 เรียกว่าหมู่ แอมโมเอียนซิส ฟาแลนอปซิสในหมู่นี้มีกำเนิดในฟิลิปปินส์เพียงชนิดเดียว คือ ฟาแลนอปซิส มิโคลิตชิไอ (Phalaenopsis micholitzii) เป็นชนิดที่หายากมาก พบครั้งแรกโดยนายมิโคลิตซ์ บนเกาะมินดาเนา แต่มีผู้นำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ไว้มากในสหรัฐ ดอกสีขาวครีมและขาวอมเขียว นอกนั้นมีอีก 4 ชนิด พบในชวา สุมาตรา บอร์เนียว แอมโบอีนาและ มัลลัคคาส

    หมู่ที่ 5 เรียกว่า หมู่ซีบรินี่ แบ่งเป็น 2 หมู่ย่อย

    • หมู่ย่อยซีบรินี่
    ฟาแลนอปซิสในหมู่ย่อยนี้ มิได้มีพื้นเพอยู่ในฟิลิปปินส์ แต่พบในหมู่เกาะในทะเลอันดามัน บนเกาะสุมาตราและบอร์เนียว มีหลายชนิดดังนี้

    1. ฟาแลนอปซิส พัลชรา (Phalaenopsis pulchra) ดอกมีสีม่วงสดใส ใบสีเขียวอ่อน

    2. ฟาแลนอปซิส ไรเคนบาเกียนา (Phalaenopsis reichenbechiana) ดอกสีเหลืองอมเขียว กลีบนอกและกลีบในสีปูน ปากสีส้ม ส่วนปลายปากสีม่วง

    3. ฟาแลนอปซิส ไฮโรกลีพิกา (Phalaenopsis hieroglyphica) ดอกสีขาว กลีบนอกและกลีบในประจุดสีน้ำตาล

    4. ฟาแลนอปซิส ลุดดีแมนเนียนา (Phalaenopsis lueddemanniana) ดอกสีขาวถึงเหลือง คือขาวก็มี ขาวอมเหลืองก็มี ที่โคนกลีบนอกและกลีบในมีสีม่วงปากชมพูสดใส ส่วนโคนสีเหลือง

    5. ฟาแลนอปซิส ฟาสซิอาตา (Phalaenopsis fasciata) ดอกสีเขียวอมเหลืองคล้าย ฟาแลนอปซิส ไรเคนบาเกียนา ต่างกันที่มีประจุดสีแดง และมีขนที่ปาก

    • หมู่ย่อยเฮอซูตี
    มีอยู่ 2 ชนิด

    1. ฟาแลนอปซิส พอลเลนส์ (Phalaenopsis pallens) แต่แรกจากรายงานยืนยันว่าเป็นของฟิลิปปินส์ ต่อมานักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน อ้างว่ามิใช่ไม้ที่กำเนิดในฟิลิปปินส์ จึงตัดออกจากทำเนียบพันธุ์ไม้ฟิลิปปินส์เสีย ลักษณะต้นเล็กช่อสั้น ตั้งตรงมีดอกเล็ก ๆ เพียง 2-3 ดอก สีของกลีบดอกเขียวอมเหลืองปากเล็กแบบบางสีน้ำตาล มีสามพันธุ์ คือพันธุ์อัลบา พันธุ์เคนติคูลาตาและพันธุ์ทรัลลิเฟอรา

    2. ฟาแลนอปซิส มาริอี (Phalaenopsis mariae) เจ้าหน้าที่สวนพฤกษชาติของมหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์เป็นผู้ค้นพบเป็นครั้งแรก และขอตั้งชื่อตามชื่อภรรยาของเขา คือมารี ลักษณะดอกเล็กสีครีมปากสีม่วง ปากกว้างรูปไข่ พบในบูคิดนอน อะกูซาน สูริเกา มาเวาและซูลู


    การเลี้ยงกล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซิส


    ในฟิลิปปินส์มีกล้วยไม้ฟาแลนอปซิสมากทั้งชนิดและจำนวนต้น ดังนั้นนักเลี้ยงกล้วยไม้จึงมีเลี้ยงกันคนละมาก ๆ แม้กระทั่งในเมืองเล็ก ๆ ก็จะมีชาวเมืองใช้ผลมะพร้าว ตัดครึ่ง ปลูกฟาแลนอปซิส แขวนไว้ใต้ชายคาบ้านเกลื่อนไป ว่ากันถึงตำแหน่งที่ควรจะเลี้ยง หรือแขวนฟาแลนอปซิสแล้วละก็ ให้เป็นที่ ๆ ได้แดดตอนเช้า และพ้นจากแดดบ่ายที่ร้อนจัดได้เป็นอย่างดี เพราะแดดจัดในตอนบ่าย จะทำให้ใบไหม้เสียส่วนมาก โดยเฉพาะแดดในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ต้องระวังให้มาก ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ลอสบันโยส ทำการทดลองเลี้ยงภายใต้เรือนรังที่ได้รับแสงประมาณ 60 % ซึ่งมีหลังคาคลุมพลาสติกอีกทีหนึ่ง เพื่อป้องกันฝนกระแทก ยิ่งเรือนสำหรับเลี้ยงลูกฟาแลนอปซิสแล้ว ยิ่งต้องระวังทั้งแดดจัดและฝนหนัก มิฉะนั้น จะเกิดปัญหายอดเน่า ใบเน่า อันเนื่องจากถูกฝนแรง ๆ ทำให้ใบช้ำยอดช้ำและเน่าในเวลาต่อมา ต้นที่ได้รับการดูแลดี รดน้ำได้มากจนแลดูอวบนั้น ยิ่งจะมีโอกาสเน่าได้ง่ายกว่าต้นที่ไม่รดน้ำ ในธรรมชาตินั้นฟาแลนอปซิสเกาะอยู่ตามต้นไม้ มีกิ่งและใบไม้ช่วยเป็นหลังคำบังแดดฝนให้ นอกจากนั้นการอยู่ห่าง ๆ กัน ช่วยให้แห้งเร็วและพ้นจากการเน่ายอดไปได้

    การถ่ายเทอากาศ

    ในเรือนรังที่อากาศถ่ายเทสะดวก แขวนต้นไม้ไม่หนาแน่นจนเกินไป ลมโกรกหรือถ่ายเทสะดวก ต้นไม้แห้งเร็วเชื้อโรคเจริญได้ยาก ฟาแลนอปซิสก็ไม่เน่า ตรงกันข้ามกับเรือนรังที่อับทึบ ต้นไม้เปียกแฉะอยู่นาน ๆ เท่ากับเป็นสถานที่เกื้อกูล เชื้อโรคต้นไม้จะเน่าได้ง่ายมาก
    อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาตินั้น ฟาแลนอปซิสก็เป็นกล้วยไม้ที่ต้องการความชื้นมากกว่าสกุลอื่น ๆ เมื่อกล่าวเช่นนี้ ก็ดูเหมือนจะไปขัดกับความที่ได้กล่าวมาแล้วว่า น้ำมากจะเน่า การจะให้น้ำแก่ฟาแลนอปซิส พึงมีความเข้าใจและสังเกตความพอเหมาะพอดี เช่น ในวันที่อากาศร้อน ฝนไม่ตก ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าครั้งหนึ่ง ในตอนบ่ายอ่อนอีกครั้งหนึ่ง ใกล้ค่ำแล้วไม่ควรรดน้ำ สภาพของน้ำที่จะรดควรเป็นฝอยละเอียด และต้องกระทำด้วยความนุ่มนวล ใบและดอกจะได้ไม่ชอกช้ำ ตรงกันข้ามกันเม็ดใหญ่ ๆ เครื่องฉีดน้ำที่มีแรงอัดสูง แต่หัวฉีดไม่สามารถปรับให้เป็นฝอยได้นับว่าเป็นอันตรายมาก การรดน้ำลงที่พื้นเรือนรังให้ชุ่มแล้วปล่อยให้ระเหยไปหาราก และใบของฟาแลนอปซิส นับว่าเป็นวิธีอีกอย่างหนึ่งที่จะป้องกันการเน่ายอดได้ดี การปลูกพันธุ์ไม้ในร่มปกคลุมพื้นเรือนรังก็ช่วยได้มาก
    เครื่องปลูกและการรดน้ำ
    ชาวฟิลิปปินส์ใช้เครื่องปลูกต่าง ๆ กันแล้วแต่ความชอบความสะดวกในการหาได้ และจำนวนครั้งของการรดน้ำเป็นสำคัญ ถ้ารดน้ำได้บ่อยครั้งก็อาจปลูกด้วยอิฐและถ่าน ถ้าไม่ค่อยมีเวลารดน้ำ ไม่ค่อยได้อยู่บ้านก็ต้องปลูกด้วยเครื่องปลูกที่อมความชื้นได้ดี เช่น ออสมันด้า กาบมะพร้าวและชายผ้าสีดา ในเรื่องเครื่องปลูกและการดน้ำนี้ พอจับสังเกตได้ว่า ฟาแลนอปซิสชอบเครื่องปลูกที่อุ้มความชื้นได้ดีมากกว่า สำหรับข้อปฏิบัตินั้น ถ้าคิดจะรดน้ำครั้งที่สองหรือสามในหนึ่งวันนั้น ก่อนรดน้ำต้องดูว่าเครื่องปลูกแห้งหรือเปล่า ถ้าเครื่องปลูกยังชื้นดีก็ไม่ควรรด ถ้าแห้งจึงรดน้ำครั้งที่สองหรือครั้งถัดไป อย่างไรก็ตามการปล่อยให้อดน้ำนานวันจนเครื่องปลูกแห้งกรอบ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก

    แสงแดดและการให้ปุ๋ย

    จากการสังเกตทั้งฟาแลนอปซิส ของมหาวิทยาลัยและของผู้ปลูกอื่น ๆ พบว่าฟาแลนอปซิสสามารถทนทานต่อแสงแดดได้มากกว่าที่นักวิชาการก่อน ๆ กล่าวไว้คือ ต้นโตต้องการแสงประมาณ 1000 ถึง 1500 แรงเทียน
    การได้รับแสงในระดับเช่นว่านี้ ทำให้ใบเขียวจัด อวบน้ำมากเป็นโรคเน่าได้ง่า ยอดดอกน้อยช่อเล็ก ตรงข้ามถ้าได้แสงมากขึ้น จะได้ช่อดอกยาว จำนวนดอกมาก
    ถ้ามีกระแสลมอยู่เสมอ แม้จะให้แสงมากไปหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีลมโกรกแล้วให้แสงมาก ใบจะไหม้ ต้นจะแกรนใบจะหยาบกร้าน จากที่กล่าวมานี้ ใคร่จะแนะนำว่า สำหรับฟาแลนอปซิสต้นโตควรให้แสง 2000 แรงเทียนและลูกไม้ออกจากขวดควรให้แสง 500 ถึง 1000 แรงเทียนและควรถือเป็นหลักปฏิบัติว่า ถ้าเพิ่มแสงให้ต้นไม้ก็จะต้องการปุ๋ยมากขึ้น เพื่อสมดุลกับอัตราการปรุงอาหารของใบหรือจำไว้ว่าแสงเพิ่ม-น้ำเพิ่ม-ปุ๋ยเพิ่ม
    ตามปกติในฟิลิปปินส์ให้ปุ๋ยสำเร็จรูปที่พร้อมมูล แร่ธาตุปลีกย่อยละลายน้ำจาง ๆ พ่นสัปดาห์ละครั้งในเดือนที่มีแสงแดดดี สำหรับเดือนอื่น ๆ ที่อาจครึ้มฝนก็ให้ปุ๋ยสองสัปดาห์ต่อครั้งก็เพียงพอ

    โรคและแมลงศัตรู

    โรคที่พบบ่อยมากที่สุดก็คือ โรคยอดเน่าและจะหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในฤดูฝน ทางที่จะช่วยให้หนักเป็นเบาคือ ปรับปรุงหลังคาเรือนรัง หรือเก็บไม้เข้าชายคาบ้านชั่วคราว ซึ่งถ้ามีมาก ๆ ก็ทำได้ยาก เมื่ออาการยอดเน่าปรากฎขึ้นแล้ว ไม่มีวิธีใดจะดีกว่าการแยกออกจากหมู่แล้วตัดยอด หยุดรดน้ำใช้ปูนแดงหรือยาป้องกันโรคเน่าอื่น ๆ ทาแผล
    แมลงศัตรูที่สำคัญคือ ไรแดง เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และหนอนบางชนิดกัดกินยอดอ่อนและใบ ในจำพวกเหล่านี้ ไรแดงร้ายแรงกว่าเพื่อน มีอัตราการทำลายสูง อาจปราบได้ด้วยเคลเทนหรือ คลอโรเบนซิเลท ส่วนพวกเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอยและหนอนใช้มาลาไธออนหรืออะโซดริน อย่างใดอย่างหนึ่งพ่นในระยะที่เกิดการทำลายสองสัปดาห์ต่อครั้ง

    ท้ายที่สุดใคร่จะขอแสดงความคิดเห็นว่าการมีฟาแลนอปซิส ซึ่งเป็นกล้วยไม้ป่าพื้นเมืองของมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียนั้น เป็นที่ภาคภูมิใจของเจ้าของประเทศอย่างมาก และได้รับความเอาใจใส่ ทะนุบำรุงค้นคว้าเป็นอย่างดี จนเป็นไม้ที่มีคุณค่าเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ประเทศเหล่านั้นต่างก็มีฟาแลนอปซิสดกดื่นเป็นจำนวนมากมายเหมือน ๆ กับที่ไทยมีกล้วยไม้ช้าง ทั้งช้างกระ ช้างแดง ช้างเผือก ถ้าเราคนไทยหันมาให้ความรัก ความสนใจแก่กล้วยไม้ช้างอันเป็นของพื้นเมืองของเรา โดยช่วยกันคัดเลือกและปรับปรุงให้สูงค่าขึ้นตามลำดับ ก็คงจะมีความสุขและความภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน

    ถอดความโดย นายเฉลิม สุกปลั่ง ประธานชมรมกล้วยไม้สุรินทร์ วิทยาลัยเกษตรกรรมสุรินทร์ (สมัยนั้น)







     

    Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2549    
    Last Update : 30 เมษายน 2549 7:35:59 น.
    Counter : 3923 Pageviews.  

ผมหลงรักกล้วยไม้




ในอดีต ผมเป็นคนที่รักในธรรมชาติตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองหลวงก็ตาม ชอบเกี่ยวกับต้นไม้ใบหญ้า สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ไม่ว่า สุนัข แมว ปลาสวยงาม
แต่ตั้งแต่มารู้จักกล้วยไม้ เมื่อสมัยยังเรียนที่พระจอมเกล้าลาดกระบัง เริ่มสนใจมากขึ้น หาหนังสือต่าง ๆ มาอ่าน มาศึกษา จนกระทั่งได้ไปเดินที่จตุจักร จุดประสงค์ก็เพื่อดูกล้วยไม้ ก็ไปเจอในส่วนที่เขาขายกล้วยไม้ป่า มีดอกบานอยู่ กลิ่นหอมมาก ก็ทั้งรักทั้งหลงเลยล่ะ
ในที่สุดก็ตัดสินใจซื้อไม้ป่ามาเลี้ยง (คงทำนองเดียวกันกับหลาย ๆ คน) แต่ต้นแรกที่ซื้อกลับเป็นรองเท้านารีเหลืองตรังป่า ที่ปลูกแล้วในกระถาง (เนื่องจากกลัวว่ามันจะปลูกยาก ปลูกไม่เป็น)
แล้วก็ตามมาด้วยหวายป่าอีกหลายชนิด แวนด้า ช้าง กุหลาบ ...... จนมาพบปัญหาคือทำไมหลายชนิดมันเลี้ยงแล้วตาย บางชนิดมันเลี้ยงรอดได้ ทั้ง ๆ ที่เลี้ยงดูเหมือน ๆกัน ก็เลยต้องกลับไปเน้นที่หนังสืออีกพักใหญ่ ๆ เลยล่ะ
จนต้องหยุดซื้อไปนานมากเลย คือพยายามเอาที่เหลือให้มันรอดก่อน
จนกระทั่งมาทำงานที่ระยอง ก็อยู่ห่างไกลจากจตุจักรมาก ก็เลยไม่ค่อยได้ซื้อหา แต่ก็ยังไปตามงานประกวดอยู่เสมอ ๆ ไม่ว่าจะที่แม่โจ้เชียงใหม่ อุทยานสวรรค์นครสวรรค์ ที่BFC ที่พุทธมณฑล ก็ตามไปดูหมด
แล้วก็เกิดมีตลาดนัดขึ้นมาที่ระยอง มีกล้วยไม้ป่ามาขาย ก็เผอิญเข้าไปดูชม ก็เริ่มซื้อหามาเลี้ยงบ้าง ประกอบกับมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ก็พอจะจัดหาที่เลี้ยงได้แล้ว เริ่มจากราวไม้ไผ่ผูกระหว่างต้นไม้สองต้น ก็นำไม้ป่ามาแขวน ๆ จนเต็ม ก็ได้ฤกษ์สร้างโรงเรือนแรก ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร แบบไม่มีความรู้เท่าไร ก็คิดเอาเองว่า ควรจะสูงเท่าไร ราวควรห่างกันเท่าไร ก็เป็นไปแบบงู ๆ ปลา ๆ ก็พอได้ จากนั้นก็มีไม้ป่าเต็มไปหมด แล้วก็เริ่มมาหาพวกแวนด้า แอสโคมาเลี้ยง แล้วก็ตามมาด้วยแคทลียา แล้วก็รองเท้านารี มีฟาแลนมาบ้างประปราย ก็เริ่มมาชอบพวกลูกผสมไม้ไทยคือพวกลูกผสมชั้นแรกของกล้วยไม้ป่า ทั้งภายในสกุลหรือข้ามสกุล




 

Create Date : 05 กันยายน 2548    
Last Update : 16 ตุลาคม 2548 20:20:00 น.
Counter : 1162 Pageviews.  


บ้านค่าย
Location :
ระยอง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add บ้านค่าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.