รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย และวิศิษฏศิลปิน

เม.ย. ๔๘




เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๒ เมษายน ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ด้วยตระหนักในพระปรีชาสามารถในด้านศิลปวัฒนธรรม และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุเคราะห์สนับสนุนกิจกรรมอันเนื่องด้วยงานวัฒนธรรมของชาติเสมอมา โดยเฉพาะทรงเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยาวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เช่น วรรณศิลป์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาไทย สถาปัตยกรรม ดนตรีไทยและพุทธศาสนา รวมทั้งได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการสร้างสรรค์และธำรงรักษามรดกของชาติให้ยั่งยืนตกทอดต่อไปถึงลูกหลาน
สำหรับคำว่า “มรดกไทย” ในที่นี้ คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ให้ความหมายไว้ว่า “มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่างๆอันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้รับการทูลเกล้าฯถวายพระสมัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ ว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ วันศิลปินแห่งชาติ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก็ได้ทูลเกล้าฯถวายพระสมัญญา “วิศิษฏศิลปิน” (อ่านว่า วิ-สิด-สิน-ละ-ปิน) แด่พระองค์ท่าน ซึ่งมีความหมายว่าทรงมีพระอัจฉริยะภาพและทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขา ทรงมีคุณูปการต่อเหล่าศิลปินและศิลปวัฒนธรรมของชาติ และยังทรงเป็นเมธีทางด้านวัฒนธรรม คือทรงเป็นปราชญ์ที่มีความรอบรู้ในวัฒนธรรมด้านต่างๆ
ภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานด้านศิลปวัฒนธรรม นับเป็นภาพที่คุ้นตาพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขาก็ล้วนเป็นที่ประจักษ์ อาทิ
ด้านวรรณศิลป์ ทรงได้พระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีความหลากหลายในแนวเรื่องและลีลา งามด้วยรสถ้อยทางภาษา เปี่ยมด้วยสุนทรียะและเนื้อหาสาระ ในหนังสือ “เทพรัตนบรรณศิลป์” ของ รศ.ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล ได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระปรีชาสามารถแต่งคำประพันธ์ได้ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย แต่ทรงแต่งโคลงสี่สุภาพได้ดียิ่งเช่น เรื่องอยุธยา กษัตริยานุสรณ์ พุทธศาสนสุภาษิต เป็นต้น พระราชนิพนธ์ร้อยกรองที่มีอยู่จำนวนมากได้สะท้อนให้เห็นเด่นชัดถึงการทรงเป็นกวีและปราชญ์ทางภาษาแห่งรัตนโกสินทร์ร่วมสมัย ผู้ทรงสืบทอดความงามความชื่นชมแห่งวรรณศิลป์ไทยได้อย่างดีเลิศ และยังทรงเป็นตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นว่า การเป็นกวีนั้นผสานกลมกลืนกันระหว่าง “พรสวรรค์” และ “ความวิริยะในการฝึกฝน” เป็นศาสตร์และศิลป์อันสร้างสรรค์จากปัญญาและหัวใจร่วมกัน ในด้านพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วนั้น ทรงเริ่มต้นเรียงร้อยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และทรงฝึกฝนเรื่อยมา ทรงเริ่มจากเรียงความ สารคดี งานวิชาการสั้นๆ และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆตามลำดับความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้น พระราชนิพนธ์ร้อยแก้วที่มีอยู่มากคือ สารคดีเสด็จเยือนต่างประเทศ ซึ่งเรื่องแรกก็คือ “การเดินทางไปร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุสตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ” นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชนิพนธ์ที่แปลจากภาษาจีน เช่น นวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ จากเรื่องหูเตี๋ย ของ หวังเหมิง นักประพันธ์ชื่อดังของจีน หยกใสร่ายคำ อันเป็นกวีจีนโบราณ จำนวน ๓๔ บท เป็นต้น ซึ่งภาษาจีนนี้ใช่จะเรียนกันง่ายๆ ส่วนใหญ่จะล้มเลิกเสียกลางคัน แต่พระองค์กลับทรงศึกษาและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจนอ่าน พูดและเขียนได้คล่อง
ในด้านพระนามแฝง มี ๔ พระนาม ซึ่งได้รับสั่งถึงที่มาของพระนามด้วย คือ ก้อนหิน-ก้อนกรวด ก้อนหินคือพระองค์เอง รับสั่งว่าเพราะพระองค์ท่านตัวโตเลยใช้ชื่อก้อนหิน ใช้ร่วมกับก้อนกรวดคือ กุณฑิกา ไกรฤกษ์ ที่ตัวเล็กกว่า แว่นแก้ว เป็นชื่อที่ทรงตั้งขึ้นเอง เพราะตอนทรงพระเยาว์มีชื่อว่า ลูกแก้ว และทรงโปรดเพลงน้อยใจยาที่นางเอกชื่อ แว่นแก้ว หนูน้อย เป็นชื่อเล่นที่เรียกในครอบครัวว่าน้อย เลยใช้พระนามแฝงว่า หนูน้อย และบันดาล เป็นคำที่ผุดขึ้นมาในสมอง ไม่มีเหตุผลอะไร
ลายสือศิลป์พู่กันจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในการเขียนหนังสือจีนด้วยพู่กัน ดังลายสือฝีพระหัตถ์ที่เขียนว่า “เซิ่ง โซ่ว อู๋ เจียง” แปลว่า “ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” ที่ประดับเด่นเป็นสง่า ณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา ณ บริเวณวงเวียนโอเดียน
ในด้านศิลปะ ภาพวาดการ์ตูน ทรงเขียนไว้มากมาย หลายลักษณะ ล้วนสื่อความคิด จินตนาการ อารมณ์ขันจากใจสู่ใจได้อย่างน่ารักและสนุกสนาน เช่น ภาพช้อปปิ้ง ที่ล้อถึงการซื้อของมากมายจนต้องใช้ปากคาบ หรือภาพการ์ตูนล้อพระองค์เองที่ทรงวาดประกอบ ในพระราชนิพนธ์ “คนแขนหัก” ที่ลงในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อเร็วๆนี้
นอกจากพระราชนิพนธ์ดังกล่าวแล้ว ยังทรงเป็นนักร้อง นักดนตรีไทยที่มีความสามารถรอบด้าน ทรงพระราชนิพนธ์เนื้อเพลงไทยไว้หลายเพลง รวมทั้งเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเพลงแรกก็คือ “ส้มตำ” ที่เรารู้จักกันดี และยังทรงมี งานปั้น อีกจำนวนหนึ่ง ณ สถาบันการศึกษาและโรงงานเซรามิคหลายแห่ง ทรงเขียน ภาพจิตรกรรม ไว้ถึง ๑๐๐ ภาพ เช่น ภาพกลับบ้านเกิด มิตรภาพ รวมถึงภาพจิตรกรรมที่วัดท่าสุทธาวาส และวัดอัมพวันเจติยาราม อันเป็นงานศิลป์ที่งดงามยิ่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชูปถัมภ์อันหลากหลาย และประกอบพระราชกิจมากมายเพื่อช่วยอนุรักษ์ พัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นสมบัติของชาติอย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องการช่างไทย ดนตรีไทย นาฏศิลป์ งานพิพิธภัณฑ์ โบราณสถานในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนเรื่องอาหารไทย และวิถีชีวิตไทยในด้านอื่นๆ เช่น ด้านสุขภาพอนามัย ด้านสังคมสงเคราะห์ช่วยเด็กพิการและด้อยโอกาส ฯลฯ โดยเฉพาะทรงพระราชทานพระราชูปถัมภ์แก่เหล่าศิลปินน้อยใหญ่มากมาย ทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินเพลงลูกทุ่ง ฯลฯ เช่น เสด็จฯไปเป็นประธานในงานด้านวัฒนธรรม เสด็จฯไปเยี่ยมเยียนศิลปินที่เจ็บป่วยหรือพระราชทานของเยี่ยม พระราชทานรางวัลแก่ศิลปิน เป็นต้น ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวล้วนสร้างขวัญกำลังใจ และก่อให้เกิดการตื่นต้วในวงการศิลปวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ โบราณคดีและพิพิธภัณฑวิทยา อีกทั้งได้พระราชทานปัญญาความรู้ในเรื่องเหล่านี้แก่วงวิชาการ ที่สำคัญยิ่งก็คือ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานวัฒนธรรม ทั้งในด้านการอนุรักษ์ พัฒนา การปลูกฝังเผยแพร่ การถ่ายทอดสืบสาน และการจัดเก็บข้อมูลต่างๆอย่างเป็นระบบอีกด้วย
พระมหากรุณาธิคุณและพระเกียรติคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หากจะกล่าวโดยสรุปคงต้องยกกลอนเทิดพระเกียรติของ นายประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล มาดังนี้
หนึ่งนักปราชญ์อัจฉริยะรัตนโกสินทร์ หนึ่งคีตศิลปินปิ่นสยาม
หนึ่งกวีลีลาสง่างาม หนึ่งนงรามวิจิตรศิลป์ระบิลไกล
ดุจแก้วเก้าวาววับระยับฟ้า “เทพรัตนา” แห่งรัฐวิวัฒน์สมัย
ชุบชีวินศิลปะวัฒนธรรมไทย เกริกเกรียงไกรคู่หล้าคู่ฟ้าดิน
……………………………………………………….
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม




 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 0:15:06 น.
Counter : 1988 Pageviews.  

ศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขน



ปัญญา นิตยสุวรรณ
ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
________________________________________
ในการประกอบอาชีพการงานแต่ละชนิด ผู้ร่วมทำงานมักจะมีศัพท์เรียกขานกันเป็นที่รู้ในหมู่ผู้ร่วมงานนั้นๆ นานๆ ไปก็เลยกลายเป็นศัพท์เฉพาะวิชาชีพหรือการงานนั้นไปโดยปริยาย การแสดงนาฏศิลป์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโขน ละคร ลิเก และการแสดงนาฏศิลป์ชุดต่างๆ ก็มีศัพท์สำหรับเรียกขานโดยเฉพาะเป็นที่รู่ของผู้ที่อยู่ในวงการแสดงตามที่กล่าวมาแล้ว สำหรับการแสดงโขนดูออกจะมีศัพท์มากอยู่สักหน่อย ผู้เขียนอยู่ในวงการโขนมานานพอสมควร จึงพอจะทราบถึงศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดงโขนอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นจึงขอเล่าถึงศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขนเท่าที่สติปัญญามีอยู่ ให้ท่านผู้อ่านบางท่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการนาฏศิลป์โขนและอาจจะไม่ทราบถึงศัพท์นั้นๆ ได้อ่านกันในครั้งนี้ ส่วนท่านที่ทราบแล้วและทราบดีกว่าผู้เขียนก็โปรดผ่านไปเสีย
ศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขนมีตั้งแต่การเรียกตัวโขนในเรื่องรามเกียรติ์ ไม่ว่าจะออกแสดงหรือไม่แสดงก็ต้องเรียกศัพท์อย่างนั้น จะยกตัวอย่างทางฝ่ายยักษ์เสียก่อน ดังนี้
ฝ่ายยักษ์ คือ ทศกัณฐ์และญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดจนไพร่พลมีศัพท์เรียกเป็นที่รู้อยู่หลายคำ เช่น
ยักษ์ตัวดี หมายถึง ผู้แสดงโขนหรือตัวโขนฝ่ายยักษ์ที่เป็นท้าวพญามหากษัตริย์ในเรื่องรามเกียรติ์ เช่น ทศกัณฐ์ สหัสเดชะ กุมภกรรณ อินทรชิต เป็นต้น ในบรรดายักษ์ตัวดีนั้นแบ่งเป็น ยัก์ใหญ่ ยักษ์ต่างเมือง และยักษ์น้อย อีกด้วย
ยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ทศกัณฐ์ สหัสเดชะ ยักษ์ต่างเมือง คือ มังกรกัณฐ์ แสงอาทิตย์ สัทธาสูร วิรุญจำบัง ไมยราพณ์ เป็นต้น ส่วนยักษ์น้อย ก็คือ อินทรชิต ไพนาสุริยวงศ์ วิรุญมุข ที่เรียกว่ายักษ์น้อย คือยักษ์กุมาร ไพนาสุริย์วงศ์ เป็นยักษ์กุมารที่ไว้ผมจุก อินทรชิตนั้นถึงแม้ว่าหัวโขนจะมิได้ทำเป็นผมจุกแบบยักษ์กุมารแต่ทำให้ทรงมงกุฎยอดเดินหน หน้าของอินทรชิตก็ยังเป็นหน้ายักษ์แบบยักษ์กุมาร มีเขี้ยวตุ้ม หรือที่เรียกว่า เขี้ยวดอกมะลิ เหตุที่เรียกอย่างนั้น เพราะลักษณะเขี้ยวคล้ายดอกมะลิตูม
เมื่อมียักษ์ตัวดีแล้วก็มียักษ์เสนา นักวิชาการด้านนาฏศิลป์บางท่านยังแบ่งออกเป็น ยักษ์เสนา และเสนายักษ์อีกด้วย โดยอธิบายว่ายักษ์เสนาคือยักษ์ที่เป็นเสนาชั้นผู้ใหญ่ เช่น มโหธร เสนาบดีของทศกัณฐ์ฝ่ายกลาโหม และเปาวนาสูร เสนาบดีของทศกัณฐ์ฝ่านมหาดไทย ส่วนเสนายักษ์ก็คือพวกเสนาทั่วๆ ไป หัวโขนทำเป็นหัวยักษ์โล้น ไม่มีมงกุฎมีแต่กรอบพักตร์ หน้าสีต่างๆ สำหรับยักษ์เสนา คือ มโหธร หน้าสีเขียว มงกุฎน้ำเต้ากลม และเปาวนาสูร หน้าสีขาว มงกุฎน้ำเต้ากลมเช่นเดียวกัน
พวกยักษ์ที่มียศต่ำกว่าเสนายักษ์คือ พวกเขน ศัพท์ในการแสดงโขนเรียกว่า เขนยักษ์ นับเป็นไพร่พลยักษ์ระดับพลทหาร นอกจากจะมีเขนยักษ์แล้วยังต้องมีคนธงยักษ์ แต่เดิมวงการโขนเรียกผู้ถือธงนำทัพยักษ์ว่า คนธงยักษ์ ในสมัยต่อมาพิจารณาเห็นว่า มิใช่เป็นคนแต่เป็นยักษ์ จึงใช้ศัพท์เรียกเสียใหม่ว่ายักษ์ธง คือยักษ์ที่ถือธงนั่นเอง ยักษ์ธงมีศักดิ์ศรีดีกว่าเขนยักษ์ เวลาแต่งเครื่องก็จะดีกว่าเขนยักษ์ มิหนำซ้ำหัวโขนตัวยักษ์ธง ยังมีมงกุฎแบบยอดน้ำเต้าเตี้ยๆ ส่วนเขนยักษ์เป็นยักษ์โล้น เขียนสีแดงแทนผ้าพันรอบหัวโขน บางทีก็ใช้ผ้าสีแดงขลิบกระดาบสีทองพันรองหัวเขนยักษ์แทนการใช้สีเขียน
กล่าวทางฝ่ายยักษ์แล้ว ก็ต้องกล่าวทางฝ่ายพระ คือพระรามและพระลักษมณ์กันบ้าง เนื้อเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนใหญ่กล่าวถึงการทำศึกกรุงลงกา โดยมีนายทัพฝ่ายธรรมะคือ พระรามและพระลักษมณ์ ตัวโขนฝ่ายพระจึงมักจะเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ชมการแสดงโขนว่าพระรามกับพระลักษมณ์ ศัพท์ที่ใช้เรียกตัวพระรามก็คือ พระใหญ่ และเรียกพระลักษมณ์ว่า พระน้อย การที่ศัพท์ในการแสดงโขนเรียกพระรามว่าพระใหญ่และเรียกพระลักษมณ์ว่าพระน้อยนั้น เป็นเพราะว่าผู้แสดงเป็นพระรามตามปกติจะต้องตัวโตกว่าผู้แสดงเป็นพระลักษมณ์ ในเวลาคัดเลือกนักเรียนที่หัดโขนเป็นตัวพระก็มีกฎกำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีรูปร่างใหญ่ให้หัดเป็นตัวพระราม ส่วนผู้ที่มีรูปร่างเล็กกว่าให้หัดเป็นตัวพระลักษมณ์ การเรียกว่าพระใหญ่พระน้อย นอกจากจะเรียกเพราะรูปร่างผิดกันตามที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกอย่างหนึ่งคือพระใหญ่นั้นเป็นพี่และพระน้อยเป็นน้อง ศักดิ์ศรียศถาบรรดาศักดิ์และบทบาทในเวลาแสดงโขนก็แตกต่างกันตามรูปศัพท์ที่เรียก ตั้วโผโขนบางรายยังถือโอกาสจ่ายค่าตัวพระใหญ่กับพระน้อยไม่เท่ากันเสียอีก คือให้พระรามซึ่งเป็นพระใหญ่มากกว่าพระลักษมณ์ซึ่งเป็นพระน้อย
ท่านที่รู้เรื่องรามเกียรติ์ หรือเคยชมโขนมาแล้วก็จะต้องทราบว่ากองทัพพระรามพระลักษมณ์ที่ยกไปรบทศกัณฐ์และพวกยักษ์ต่างๆ คือวานรหรือเรียกง่ายๆ ว่า ลิง ในบรรดาตัวโขนที่เป็นลิงยังมีการแบ่งชั้นกันอีก เช่น ลิงตัวดี หรือบางทีก็เรียกว่า ลิงพญา ได้แก่ สุครีพ หนุมาน ชมพูพาน นิลพัท นิลนนท์ องคต ฯลฯ เมื่อมีลิงตัวดีหรือลิงพญา เวลาเขียนบทโขนผู้เขียนจะใช้ศัพท์ว่าพญาวานร ก็ต้องมีลิงเสนาหรือเสนาลิง คำว่าเสนาลิงใช้เรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เข้าใจว่าคงจะให้เข้ากับเสนายักษ์ เวลาเรียกก็เรียกว่าเสนายักษ์เสนาลิง แต่ความจริงศัพท์ที่ถูกต้องที่ใช้เรียกเสนาลิงจะต้องเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ ใน พ.ศ.๒๔๙๘ กรมศิลปากร จัดคณะนาฏศิลป์ไทยไปแสดง ณ สหภาพพม่า เนื่องในโอกาสที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นหัวหน้าคณะวัฒนธรรมไทยไปเยือนสหภาพพม่าในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ในเวลานั้นนายธนิต อยู่โพธิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการสังคีต กรมศิลปากร มีหน้าที่ต้องคุมคณะนาฏศิลป์ไทยของกรมศิลปากรไปแสดง ก็จัดเตรียมการแสดงทั้งโขน ละคร ฟ้อนรำ มากมายหลายชุด พร้อมกันนั้นนายธนิต อยู่โพธิ์ ก็คิดการแสดงชุดใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อไปแสดงที่สหภาพพม่า คือ ระบำวีรชัยยักษ์และระบำวีรชัยลิง ผู้แสดงแต่งเครื่องเสนายักษ์และเสนาลิง คือ สิบแปดมงกุฎ กำหนดชื่อระบำทั้งสองนี้ว่า ระบำวีรชัยเสนายักษ์และระบำวีรชัยสิบแปดมงกุฎ
พวกลิงสิบแปดมงกุฎเป็นลิงประเภทเสนา ในสมัยโบราณจึงเรียกว่าเสนาลิงดังได้กล่าวมาแล้ว ลิงที่มีศักดิ์ต่ำกว่าเสนาลิงหรือสิบแปดมงกุฎตามที่กล่าวไว้ในพงศ์เรื่องรามเกียรติ์ก็คือ เตียวเพชร ลักษณะการแต่งกายก็เหมือนสิบแปดมงกุฎ ต่างกันตรงที่เครื่องประดับศีรษะสิบแปดมงกุฎ หัวโขนที่ทำเป็นเกี้ยวสีทอง แต่เตียวเพชรทำเป็นผ้าตระบิดสีทองโพกศีรษะแทนเกี้ยว ในปัจจุบันนี้เวลามีการแสดงโขนะไม่จัดตัวแสดงเป็นเตียวเพชรกันแล้ว คงจะเป็นเพราะใช้ผู้แสดงมากไป หรือไม่ก็ซ้ำซ้อนกับสิบแปดมงกุฎ เช่นเดียวกับตัวโขนฝ่ายลิงที่ชื่อจังเกียงที่รองลงมาจากเตียวเพชรก็ไม่มีในเวลาแสดงโขน ถัดจากลิงสิบแปดมงกุฎลงไปก็เป็นเขนลิงและมีลิงธงถือธงนำทัพ เกี่ยวกับตัวโขนที่เป็นลิงถือธงนำทัพพระรามนี้ บางครั้งก็ใช้สิบแปดมงกุฎตนหนึ่งชื่อ ไชยามพวาน ถือธงนำทัพ ความจริงไชยามพวานจะถือธงนำทัพพระรามตอนยกไพร่พลข้ามมหาสมุทรตามที่พระอิศวรสั่งมาเท่านั้น ส่วนในเวลายกทัพไปรบกับฝ่ายยักษ์ทุกครั้งนั้นไชยามพวานไม่ได้เป็นผู้ถือธงนำทัพ ดังนั้นจึงมีลิงประเภทเขนลิงแต่มีศักดิ์เหนือกว่าเขนลิงมาเป็นผู้ถือธงเรียกกันว่า ลิงธง
ศัพท์ที่ใช้เรียกตัวโขนในกองทัพฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิงยังมีอีก ๒ อย่างคือ ราชสีห์ ราชสีห์เป็นผู้ลากรถฝ่ายยักษ์ และม้าเป็นผู้ลากรถฝ่ายพระราม
ในการแสดงโขนแต่ละครั้งจะขาดตัวโขนพวกที่จะกล่าวถึงนี้ไปไม่ได้ เพราะมีความจำเป็นและสำคัญในการแสดงโขนมาก ศัพท์ที่ใช้เรียกตัวโขนพวกนี้คือ ตลกยกเตียง กางกลด ศัพท์ที่ใช้เรียกผู้แสดงโขนพวกนี้ถูกต้องและตรงกับความเป็นจริงทุกประการ เพราะผู้ที่แสดงโขนเป็นตลกยกเตียง กางกลดนี้ จะทำหน้าที่ตามศัพท์ที่เรียกทุกประการ เวลาจะเคลื่อนย้ายเตียงจากซ้ายไปขวา ขวามาซ้าย หรือย้ายไปอยู่กลางโรง ผู้แสดงโขนพวกนี้จะออกไปแสดงเป็นตัวตลก ในเวลายกทัพไม่ว่าจะเป็นฝ่ายยักษ์ ฝ่ายพระ ตลกพวกนี้จะต้องออกไปกางกลดให้ตัวนายทัพด้วย
เท่าที่เล่าถึงศัพท์ที่ใช้เรียกตัวโขนที่ผ่านมามียักษ์ พระและลิง ยังขาดตัวนางอีกอย่างหนึ่ง ตัวโขนจะสมบูรณ์ได้จะต้องมีผู้แสดงทั้งพระ นาง ยักษ์และลิง ตัวนางในการแสดงโขนถ้าเป็นยักษ์จะเรียกว่านางยักษ์ เช่น นางสำมะนักขา นางผีเสื้อสมุทร พวกนางฟ้า ได้แก่ นางวานรินทร์ นางบุษมาลี และนางมนุษย์ ก็คือ นางสีดา นางมณโฑ ส่วนนางยักษ์ประเภทที่มีลักษณะเป็นแบบนางมนุษย์ คือ นางเบญกาย นางตรีชฎา นางสุวรรณกันยุมา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนางกำนัล แต่งกายแบบเดียวกัน สวมกระบังหน้า และแสดงได้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายยักษ์ หรือฝ่ายลิง ยังมีศัพท์เรียกฝ่ายนางเป็นการเฉพาะอยู่คำหนึ่งคือ นางปากกระทะ ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่านางปากระทะเป็นอย่างไร ผู้เขียนก็จะเรียนให้ทราบ
ในการแสดงโขนชุดไมยราพณ์สะกดทัพ ก่อนที่ไมยราพณ์จะสะกดทัพเป่ายาให้บรรดาไพร่พลวานร และพระราม พระลักษมณ์นอนหลับ ไมยราพณ์ต้องเข้าไปทำพิธีหุงสรรพยาเสียก่อน กว่าจะเสร็จกิจพิธีและได้สรรพยาสมความปรารถนา ไมยราพณ์ต้องร่ายมนต์หุงสรรพยาถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกเกิดเป็นสองนางขึ้นกลางกระทะยา ในตอนนี้จะมีนางกำนัล ๒ คน ออกไปนั่งในกระทะยาหน้าโรงพีของไมยราพณ์ พอไมยราพณ์ใช้พระขรรค์ทำท่าตัดคอสองนางเพราะไม่ถูกต้องตามตำรับที่ระบุไว้ในพิธี นางทั้งสองก็เข้าโรงไป นางที่ออกมานั่งในกระทะยาของไมยราพณ์ในตอนนี้เรียกเป็นศัพท์ว่า นางปากกระทะ
ยังมีศัพท์เรียกตัวโขนฝ่ายยักษ์ระดับเสนายักษ์อีกคำหนึ่ง คือ สองกองหรือสองกองคอยเหตุ ตัวโขนที่แสดงเป็นสองกองหรือสองกองคอยเหตุนี้ จะใช้เสนายักษ์แสดง ในบรรดาผู้ที่แสดงโขนเป็นเสนายักษ์ ถ้ามีฝีมือและความสามารถมากกว่าผู้แสดงคนอื่นๆ จะได้รับเลือกให้เหตุสองกองคอยเหตุ ตามเรื่องรามเกียรติ์สองกองคอยเหตุมีหน้าที่ลาดตระเวนอยู่แถวสนามรบ พอเห็นฝ่ายยักษ์มีชัยหรือพ่ายแพ้ และฝ่ายพลับพลากระทำการอย่างใดบ้าง ก็จะรีบไปเฝ้าทศกัณฐ์ทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ ในการแสดงโขนแต่ละครั้งหรือแต่ละคืนนั้นถ้าแสดงหลายศึก คือฝ่ายยักษ์หลายทัพออกไปรบ ผู้แสดงเป็นตัวสองกองคอยเหตุจะเหนื่อยหน่อย เพราะต้องเต้นผ่านเวทีเป็นความหมายว่ารู้เรื่องยักษ์ตนใดตายจะได้นำเรื่องไปทูลทศกัณฐ์ นายทัพยักษ์ตายทีหนึ่งสองกองคอยเหตุก็ไปทูลทศกัณฐ์เสียทีหนึ่ง และผู้แสดงตัวสองกองคอยเหตุนี้ยังมีบทบาทที่จะต้องออกไปแสดงก่อนผู้แสดงตัวอื่นๆ ในระหว่างโหมโรงถึงเพลงกราวในอีกด้วย พอปี่พาทย์โหมโรงมาถึงเพลงกราวในผู้แสดงเป็นตัวสองกองคอยเหตุก็จะเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ทูลว่าผู้ใดออกไปรบและล้มตาย ทศกัณฐ์จะได้มีบัญชาให้ยักษ์ตนอื่นออกรบต่อไป
เวลาที่ตัวโขนออกไปแสดงบนเวที จอกจากจะรำและเต้นไปตามบทแล้ว ถ้าเป็นการแสดงโขนหน้าจอที่แสดงบนเวทีกลางแจ้ง บางครั้งไม่ได้ซ้อมมาก่อน คนพากย์เจรจาหรือผู้บอกกับตัวแสดงซึ่งพอได้ยินศัพท์นั้นๆ ผู้แสดงโขนจะทราบได้ทันทีว่าให้ทำอะไร จะยกตัวอย่างให้ทราบดังต่อไปนี้
ป้องหน้า การป้องหน้าของตัวโขนเพื่อให้ดนตรีหยุดการบรรเลง เพื่อจะได้เจรจาหรือขับร้องดำเนินเรื่องต่อไป ตามธรรมดาในเวลาแสดงโขนนั้น ตัวโขนนอกจากจะทำท่าทางตามบทพากย์เจรจาและขับร้องแล้ว ยังต้องเต้นและร่ายรำตามทำนองเพลงหน้าพาทย์ด้วย เพลงหน้าพาทย์คือการบรรเลงเพลงโดยไม่มีการขับร้อง เพลงหน้าพาทย์บางเพลงมีทำนองสั้นยาวตามที่กำหนดไว้ ตัวโขนร่ายรำตามทำนองและจังหวะของเพลงหน้าพาทย์นั้นๆ จนจบแล้วถึงไม่ป้องหน้าปี่พาทย์ก็ต้องหยุดบรรเลงอยู่ดีเพราะจบเพลง แต่เพลงหน้าพาทย์หลายๆ เพลง เช่น เพลงเชิด เพลงพญาเดิน เพลงฉิ่ง ฯลฯ มีทำนองเพลงที่สามารถบรรเลงวนไปวนมาได้หลายเที่ยว เมื่อตัวโขนร่ายรำหรือเต้นจนจบกระบวนท่าหรือว่าต้องการให้ดำเนินเรื่องต่อไป ก็จะยกมือซ้ายขึ้นป้องหน้า เป็นอาณัติสัญญาณให้ดนตรีหยุด
ถึง คำว่าถึงเป็นศัพท์ในการแสดงโขนอีกคำหนึ่ง ซึ่งมีความหมายว่าตัวโขนเต้นหรือร่ายรำมาถึงที่หมายตามท้องเรื่องแล้ว ถ้าเป็นตัวยักษ์กับตัวลิงจะหันด้านข้างเหยียดแขนขวาออกไปแล้วทำท่าเก็บคือซอยเท้าถี่ๆ ยกขาขวาขึ้นแล้วยืดขาวางเท้าขวาลงและทำท่าขึ้นก็เป็นท่าถึง ส่วนตัวพระกับตัวนางจำทำท่ารำร่าย รำแล้วป้องหน้า
ล้ม ในเวลาทีแดงโขนถึงตอนยักษ์กับลิง หรือยักษ์กับยักษ์ หรือยักษ์กับพระ กำลังรบกันอยู่นั้น ถ้าคนพากย์โขนหรือผู้กำกับร้องสั่งออกไปจากในโรงว่า “ล้ม” ไม่ได้หมายความว่าให้ผู้แสดงโขนทำท่าล้ม แต่การสั่งให้ทำท่าตาย ส่วนใครจะเป็นฝ่ายตายก็แล้วแต่เรื่องที่กำลังแสดงอยู่ ถ้าไม่มีเสียงร้องลั่นจากในโรง ผู้แสดงจะทำท่ารบกันจนหมดกระบวนท่าแล้วอาจจะทำท่าล้มหรือท่าตาย หรือไม่ก็ป้องหน้าเพื่อให้คนพากย์เจรจาดำเนินเรื่องต่อไปว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ แต่ถ้าได้ยินเสียงว่าล้มละก็ ไม่จำเป็นต้องรบกันให้ครบทุกท่าก็ได้ ตัวโขนจะทำท่ารบท่าตายเลยทีเดียว เพราะผู้กำกับเห็นว่าได้เวลาพอสมควรที่จะยุติการรบกันแค่นั้น โดยไม่ต้องยืดเวลาอีกต่อไป
ในตอนรบกันนั้นยังมีศัพท์อักคำหนึ่งคือ “สองท่าตาย” หรือ “สามท่าตาย” ศัพท์คำนี้ใช้สำหรับเสนายักษ์รบสิบแปดมงกุฎมีอยู่ ๔ ท่า คือ ท่า ๑ ท่า ๒ ท่า ๓ และท่า ๔ ซึ่งเป็นท่าล้มหรือท่าตาย แล้วเสนายักษ์ก็ทำท่าเซเข้าโรง ในความหมายว่าตาย ในเวลาแสดงโขนถึงตอนเสนายักษ์รบสิบแปดมงกุฎนี้ ถ้าผู้กำกับการแสดงต้องการให้รบกันไปครบทั้ง ๔ ท่า จะให้เหลือเพียง ๒ ท่า หรือ ๓ ท่า ก็สั่งว่าสองท่าตาย หรือสามท่าตายผู้แสดงเป็นเสนายักษ์กับสิบแปดมงกุฎก็จะทราบความหมายและแสดงไปตามที่สั่ง
ปะทะทัพ เป็นศัพท์ที่ใช้สั่งในตอนที่กองทัพฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามประจันหน้ากัน เช่น ฝ่ายยักษ์ยกทัพวนรอบเวที ผู้กำกับการแสดงจะสั่งว่า “ปะทะทัพ” ทัพของฝ่ายพระรามก็ต้องออกจากในโรงเข้าปะทะกับทัพของฝ่ายยักษ์กลางเวที
สามโอด ศัพท์คำนี้มีความหมายว่าให้ตัวโขนทำท่าร้องไห้สามครั้งและดนตรีก็บรรเลงเพลงโอด ๓ ครั้ง การแสดงแบบนี้นิยมกันมากในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันนี้เป็นการเยิ่นเย้อและเปลืองเวลามากไป ทำให้คนดูเบื่อก็เลยเหลือเพียงโอดเดียว ตัวโขนทำท่าร้องไห้ครั้งเดียวและดนตรีบรรเลงเพลงโอดครั้งเดียวเช่นกัน อาจจะมีผู้สงสัยว่าการใช้ศัพท์คำนี้มาแสดงโขนมา “สามโอด” ดังกล่าวมานี้ มีอยู่ในการแสดงตอนใดบ้าง ผู้เขียนก็จะขอยกตัวอย่างเพียง ๒ ตอนเท่านั้น เพราะความจริงยังมีมากกว่าที่กล่าวถึง
การใช้ศัพท์ว่าสามโอด และการแสดงกับบรรเลงดนตรี ๒ ครั้งดังที่กล่าวมาแล้ว ตอนแรกก็คือตอนหนุมานพบกับมัจฉานุผู้เป็นลกของตนเกิดจากนางสุพรรณมัจฉา มัจฉานุไม่ทราบว่าหนุมานเป็นพ่อของตนจึงเกิดการรบกัน เมื่อทราบว่าเป็นพ่อลูกกันแล้ว หนุมานจะต้องลาจากไปสังหารไมยราพณ์ มัจฉานุมีความอาลัย อาวรณ์ไม่อยากให้บิดาจากไป หนุมานต้องหาทางเห่กล่อมให้มัจฉานุนอนหลับเพื่อจะได้หนีไป ในตอนนี้ปี่พาทย์จะทำเพลงเชิดฉิ่งและเพลงโอด ๓ ครั้ง หนุมานทำท่ากล่อมมัจฉานุนอนหลับ เมื่อเห็นว่าลูกหลับแล้วหนุมานจึงทำท่าแผลงฤทธิ์จะหักก้านดอกบัวแทรกายลงไปเมืองบาดาล มัจฉานุรู้สึกตัวตื่นขึ้น จึงตรงเข้ากอดขาหนุมานแล้วร้องไห้ ในตอนนี้ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโอดครั้งที่ ๑ แล้วบรรเลงเพลงเชิดฉิ่งต่อ หนุมานโอบอุ้ม มุจฉานุกลับไปนั่งบนเตียงแล้วทำท่าปลอบประโลมและเห่กล่อมจนมัจฉานุนอนหลับ หนุมานค่อยๆ ลงจากเตียงย่องไปที่สระบัว พอทำท่าจะหักก้านดอกบัว มัจฉานุก็ตื่นขึ้น วิ่งเข้ากอดขาหนุมาน ทำท่าร้องไห้ ปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงโอดครั้งที่ ๒ แล้วบรรเลงเพลงเชิดฉิ่งต่อ หนุมานปลอบโยนแล้วแล้วพามัจฉานุไปนอนบนเตียงทำท่าเห่กล่อม จนมัจฉานุนอนหลับอีกครั้ง คราวนี้หนุมานทำท่าหักใจว่าจะต้องจากไปแน่นอน ตรงไปที่ดอกบัวทำท่าแผลงฤทธิ์หักก้านดอกบัวแล้วแทรกกายลงไปบาดาล โดยการเข้าโรงไป มัจฉานุตื่นขึ้นวิ่งมาที่ดอกบัวแล้วทำท่าร้องไห้ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงโอดครั้งที่ ๓ แล้วบรรเลงเพลงเชิด มัจฉานุเห็นบิดาจากไปแล้วจึงจำใจเข้าโรง
การแสดงโขนตอนที่ใช้ศัพท์ว่าสามโอกที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นของฝ่ายยักษ์บ้าง เป็นตอนที่กุมภกรรณออกรบแล้วจับสุครีพหนีบรักแร้พามาใกล้จะถึงประตูกรุงลงกา ขณะนั้นหนุมานกับองคตติดตามข่าวมาช่วยแก้ไขให้สุครีพรอดพ้นไปได้ มิหนำซ้ำสามพญาวานรยังรุมกัดกุมภกรรณ ได้รับบาดเจ็บจนต้องหลบหนีเข้ากรุงลงกา ในระหว่างทางนั้นกุมภกรรณต้องร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด เวลาแสดงโขนในตอนนี้แหละที่มีศัพท์ว่าสามโอด กุมภกรรณจะออกจะออกมากลางเวทีด้วยท่าทางลุกลนหวาดระแวงว่าสุครีพหนุมานและองคตจะติดตามมาทำร้ายตนอีก ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิด พอกุมภกรรณใช้ฝ่ามือแตะจมูกเป็นความหมายว่าโดนสามพญาวานรกัด แล้วทำท่าสะดุ้งเพราะเจ็บแผล ปี่พาทย์ก็ทำเพลงโอด กุมภกรรณทำท่าร้องไห้ จากนั้นปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิดต่อ กุมภกรรณทำท่าตกใจลนลาน แล้วเอาฝ่ามือ แตะที่หูซ้ายและหูขวา และมองดูฝ่ามือทำท่าตกใจที่แลเห็นเลือด ก็ทำท่าร้องไห้ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงโอด และเพลงเชิดต่อ ตอนนี้กุมภกรรณทำท่าเอาฝ่ามือแตะที่สีข้างทั้งซ้ายและขวาทำท่าเจ็บแล้วเอามือมาดู ทำท่าเห็นเลือดก็ซบหน้าร้องไห้ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงโอดเป็นครั้งที่ ๓ ต่อจากนั้นกุมภกรรณจึงเข้าโรงไป เป็นอันจบตอนสามโอดของกุมภกรรณ
การแสดงโขนแบบศิลปะการแสดงโขนกลางแปลง โขนหน้าจอ นิยมแสดงชุดศึกต่างๆ นายทัพของฝ่ายยักษ์ก็คือ ทศกัณฐ์และญาติสนิทมิตรสหาย ส่วนนายทัพทางฝ่ายธรรมะก็คือพระรามและพระลักษมณ์ ก่อนที่จะถึงตอนทำสงครามคือรบกัน จะต้องแสดงการยกทัพของทั้งสองฝ่ายเสียก่อน เพลงที่บรรเลงประกอบการยกทัพทางฝ่ายยักษ์คือเพลงกราวใน เพลงที่บรรเลงประกอบการยกทัพฝ่ายพระรามคือเพลงกราวนอก การออกแสดงของตัวนายทัพและและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เช่น พวกพญาวานรนั้น เรียกว่าออกฉาก คำว่า “ออกฉาก” เป็นศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขนมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ทั้งๆ ที่ในสมัยก่อนการแสดงโขนจะแสดงกันกลางสนามหญ้าบ้าง บนเวทียกพื้นสูงมีจอผ้าขาวขึงอยู่ด้านหลังบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำฉากประกอบ เพิ่งจะมาทำฉากประกอบการแสดงโขนในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเรียกกันว่าโขนฉาก แต่ศัพท์ในการแสดงโขนคำว่าออกฉากสำหรับตัวโขนที่เป็นแม่ทัพหรือนายทัพนายกองออกตรวจก่อนจะยกทัพไปสนามรบมานานดังกล่าวแล้ว
ออกฉาก ศัพท์คำว่าออกฉากคงจะหมายถึงว่าตัวโขนออกจากที่บังสายตาคนดู คืออยู่หลังโรงในหารแสดงโขนหน้าจอ และอยู่ทางที่พักผู้แสดงในการแสดงโขนกลางแปลง คำว่าฉากคงจะมีความหมายว่าที่กั้นมิให้แลเห็นตัว เมื่อตัวโขนยังมิได้ออกมาปรากฏกายให้คนดูแลเห็นจึงเรียกว่าอยู่ในฉาก แต่พอออกมาแสดงจึงเรียกว่าออกฉาก แต่ก็น่าแปลกใจว่าในกรณีอื่นๆ ที่ตัวโขนออกมาเต้นหรือออกมารำบทอื่นๆ ที่มิใช่ตอนยกทัพตรวจพล เหตุใดจึงไม่เรียกว่าออกฉาก ถ้าเช่นนั้นความเข้าใจของผู้เขียนเกี่ยวกับคำว่าออกฉากคงจะใช้ไม่ได้
สืบเนื่องจากการออกฉากของตัวโขนที่เป็นแม่ทัพนายกองทั้งฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามตามที่กล่าวมานี้ ยังมีศัพท์ที่เกี่ยวกับการออกฉากอีก ๓ คำ คือ ออกฉาก ๑ ออกฉาก ๒ และออกฉาก ๓
ลักษณะการออกฉาก ๑ ฉาก ๒ และฉาก ๓ เป็นลีลาท่าทีของตัวโขนฝ่ายยักษ์ ฝ่ายพระและฝ่ายลิง เวลาที่ตัวโขนดังกล่าวนี้ออกรำหรือออกเต้นในหน้าพาทย์ เพลงกราวในหรือกราวนอก ซึ่งใช้ในตอนตรวจพลยกทัพไปสนามรบจะมีการออกมาแสดง ๓ ครั้ง รวมเรียกว่า ๓ ฉาก จะยกตัวอย่างฝ่ายยักษ์ เช่น ตอนศึกสามทัพ นายทัพยักษ์มีสามคน คือ สหัสเดชะ มูลพลัมและทศกัณฐ์ ในกรณีเช่นนี้ มูลพลัมจะออกฉาก ๑ ทศกัณฐ์ออกฉาก ๒ และสหัสเดชะออกฉาก ๓ แต่ถ้าเป็นศึกใดศึกหนึ่งซึ่งนายทัพมีเพียงคนเดียว เช่น ทศกัณฐ์ หรือกุมภกรรณ หรืออินทรชิต การออกฉากตรวจพลในสมัยโบราณจะออกทั้ง ๓ ฉาก แต่ในปัจจุบันนี้ต้องการความรวดเร็ว จึงออกเพียงฉากเดียว
ทางด้านฝ่ายพระ ในการตรวจพลก่อนจะยกทัพของพระรามและพระลักษมณ์นั้น สมัยโบราณพระรามออกฉาก ๑ พระลักษมณ์ออกฉาก ๒ แล้วพระรามและพระลักษมณ์ออกฉาก ๓ ด้วยกัน แต่ในปัจจุบันนี้นิยมให้พระรามและพระลักษมณ์ออกฉาก ๓ โดยให้พระรามออกรำก่อน แล้วพระลักษมณ์จึงออกตามและรำด้วยกัน
ฝ่ายพญาวานรก็มีการออกฉาก ๑ ฉาก ๒ และฉาก ๓ เช่นเดียวกัน ตามปกติในเวลายกทัพทางฝ่ายพระราม จะมีพญาวานรที่ออกตรวจพลอยู่ ๕ คน คือ สุครีพ หนุมาน ชมพูพาน องคตและนิลนนท์ ผู้ที่ออกฉาก ๑ คือ สุครีพ ต่อมาหนุมานกับชมพูพานออกฉาก ๑ อีก แล้วหลบฉากเข้าโรงไป ให้องคตกับนิลนนท์ออกฉาก ๒ แล้วก็หลบฉากเข้าโรงไปอีก ต่อไปเป็นการออกฉาก ๓ โดนหนุมานนำหน้าออกมาตามด้วย ชมพูพาน องคตและนิลนนท์ ต่อจากนั้นสุครีพก็จะออกเต้นรับ เมื่อทำบทใบ้ไต่ถามเรื่องกองทัพพร้อมที่จะยกไปรบแล้ว พญาวานรทั้ง ๕ ก็นั่งลงกราบไหว้พระรามที่จะออกตรวจพลต่อไป
หลบฉาก ศัพท์ในการแสดงโขน คำว่า “หลบฉาก” นี้ ผู้เขียนกล่าวถึงในตอนที่หนุมานและองคตทำท่าหลบฉากในตอนตรวจ หรือเรียกตามศัพท์โขนว่า “ออกกราว” การหลบฉาก ก็คือการที่ตัวโขนฝ่ายพระออกฉากในเพลงกราวนอกแล้วกลับเข้าโรงไป ปล่อยให้เวทีว่างชั่วขณะแล้วออกมาแสดงต่อ ทางฝ่ายยักษ์ก็มีการหลบฉากเช่นเดียวกัน
เท้าฉาก เป็นคำศัพท์ในการแสดงโขน หมายถึงการที่ตัวโขนใช้มือเท้าขอบประตูโรงโขน ในตอนออกฉากตรวจพลก่อนจะยกทัพ ครูอาคม สายาคม เคยเล่าว่า ในสมัยโบราณตัวโขนที่จะทำท่าเท้าฉากได้ก็คือพระรามหรือพระลักษมณ์ ในตอนที่เป็นนายทัพออกรบแทนพระราม ส่วนทศกัณฐ์หรือนายทัพฝ่ายยักษ์จะไม่ทำท่าเท้าฉากแล้วประเท้า เป็นกิริยาอาการอ่อนช้อยนุ่มนวลเหมาะสำหรับกิริยาของตัวพระมิใช่ตัวยักษ์ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นทศกัณฐ์หรือยักษ์ต่างเมือง เวลาออกฉากจะทำท่าเท้าฉากและประเท้ากันทุกตัว แต่ถึงอย่างไรก็ตามการทำท่าเท้าฉากของพวกยักษ์ก็ยังมีทีท่าองอาจกว่าท่าเท้าฉากของฝ่ายพระ
เหยียบฉาก เป็นท่าทีหลังจากท่าเท้าฉากแล้ว ตัวโขนจะยกเท้าซ้ายเหยียบขอบประตูโรงโขนเวลาที่ตัวโขนไม่ว่าจะเป็นพระ ยักษ์ และลิง ทำท่าเหยียบฉาก ก็จะทำบทถามไพร่พลถึงความพร้อมเพรียงของกองทัพที่จะยกไปรบ เมื่อได้รับคำตอบว่าไพร่พลพร้อมแล้วจึงร่ายรำหรือเต้นตามกระบวนการตรวจพลต่อไป
การทำท่าใช้เท้าเหยียบฉากนี้ในสมัยต่อมามีการเหยียบคันกลดแทนเหยียบขอบประตูโรงโขน ตัวตลกที่ทำหน้าที่กางกลดให้ตัวนายทัพนั้น ตามปกติจะคอยกางกลดอยู่ทางด้านหลังตัวนายทัพ แต่ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลป์โขนบางท่านในสมัยปัจจุบัน ให้ตัวตลกที่กางกลดถือกลดไปนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของตัวพระรามแล้วเอาด้ามกลดวางไว้บนหัวเข่าของตน เมื่อพระรามออกแกมาก็จะใช้เท้าซ้ายเหยียบคันกลดแล้วร่ายรำเหมือนอย่างที่เหยียบขอบประตูโรงโขน บางครั้งผู้แสดงเป็นพระรามก็เหยียบหัวเข่าของคนกางกลดก็มี ซึ่งการเหยียบคันกลดหรือเหยียบหัวเข่าคนกางกลดดังกล่าวนี้ในสมัยโบราณไม่มี เพิ่งจะมามีในสมัยหลัง ถ้าผู้แสดงโขนในสมัยโบราณมาเห็นเข้า ก็จะต้องว่าผิด แต่เมื่อสมัยนี้นิยมแสดงกันจนเป็นที่คุ้นตาของผู้ชมแล้วก็เลยกลายเป็นถูกไป ถึงอย่างไรก็ขอให้คนดูโขนสมัยนี้ได้ทราบว่าการเหยียบฉากกับการเหยียบคันกลดและเหยียบหัวเข่าคนกางกลดนั้นมีความเป็นมาอย่างไร
หนีฉาก ศัพท์นี้ใช้ในการแสดงโขน คำว่า “หนีฉาก” นี้ใช้ตอนที่ทศกัณฐ์สู้รบกับฝ่ายพระรามแล้วเกิดพลาดท่าเสียทีจึงต้องหลบหนีไปจากสนามรบ ฝ่ายพระรามก็ยกพลติดตามไป สมัยโบราณในการรบกันของฝ่ายยักษ์กับฝ่ายพระราม ไม่ว่ายักษ์ตนใดจะเป็นนายทัพจะไม่มีการหนีฉาก เว้นแต่ทศกัณฐ์ การหนีฉากของทศกัณฐ์คงจะเป็นการถ่วงเวลาการแสดงโขนให้ยาวขึ้น ขั้นตอนการแสดงโขนตอนหนีฉากอยู่ในระหว่างการรบกันของพระรามกับทศกัณฐ์ ถ้าเป็นการแสดงตามปกติ เมื่อพระรามรบกับทศกัณฐ์คนถึงท่าสุดท้ายแล้ว พระรามจะใช้คันศรหวดที่ก้นของทศกัณฐ์จนเซถลาไป ต่อจากนั้นทศกัณฐ์จะทำท่าป้องหน้า คนเจรจาอาจจะเจรจาดำเนินเรื่องต่อไปว่าพระรามแผลงศรไปถูกทศกัณฐ์ แต่ถ้าในระหว่างที่พระรามกับทศกัณฐ์กำลังรบกันอยู่นั้น ผู้กำกับการแสดงหรือคนพากย์เจรจาโขนร้องบอกออกไปว่า “หนีฉาก” ผู้แสดงเป็นพระรามและทศกัณฐ์จะทราบความหมายได้ทันที การแสดงท่าหนีฉากก็คือพระรามกับทศกัณฐ์เข้ารบกันแล้วทำท่าตีพลาด ทศกัณฐ์กระทืบเท้าเป็นสัญญาณ เสนายักษ์จะพากันหนีเข้าโรง พระรามใช้คันศรตี ทศกัณฐ์ก็จะใช้คันศรรับแล้วถอยเข้าโรงไป ท่ารบอย่างนี้เรียกว่าตีหนีฉาก เมื่อทศกัณฐ์หนีไปแล้ว พระรามจึงสั่งไพร่พลวานรติดตามไป
ต่อจากการตีหนีฉากแล้ว กองทัพทศกัณฐ์ก็จะออกมา โดยมีตัวตลกทำท่าแหวกไปข้างหน้า ตามความหมายว่าแหวกพงหญ้า เพราะกองทัพทศกัณฐ์หลบหนีข้าศึกเข้ามาในพงหญ้า เพื่อพรางตัวมิให้ฝ่ายพระรามแลเห็น ต่อจากนั้นกองทัพฝ่ายพระรามนำโดนหนุมานก็ติดตามออกมา จนทัพทั้งสองปะทะกัน ตอนนี้จะเป็นการรบท่าลอยสูง
ลอยสูง เป็นท่ารบอย่างหนึ่งของการแสดงโขนสมัยโบราณ ใช้เฉพาะพระรามรบทศกัณฐ์เท่านั้น ลอยสูงเป็นท่ารบพิเศษมีอยู่ ๒ ท่าท่าแรกพระรามเหยียบอยู่บนหน้าขาของหนุมาน ส่วนท่าที่ ๒ พระรามใช้เท้าขวาเหยียบบนท่อนแขนของทศกัณฐ์ ต่อจากนั้นพระรามก็จะลงจากท่าเหยียบแล้วเข้ารบกับทศกัณฐ์ต่อไปตามกระบวนท่ารบ เหตุที่เรียกท่ารบพิเศษนี้ว่าลอยสูงนั้น คงเป็นเพราะการขึ้นลอยของพระรามในท่าที่ ๒ สูงกว่าการขึ้นลอยตามปกติที่มีการขึ้นลอยอยู่ ๓ ลอย คือ ลอย ๑ ลอย ๒ และลอย ๓
เต้นผ่าน เป็นศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขน ตอนที่ฝ่ายยักษ์หรือฝ่ายลิง เต้นผ่านหน้าเวทีโดยไม่มีการพากย์เจรจา เช่น ตอนสองกองคอยเหตุจะไปเฝ้าทศกัณฐ์ หลังจากพระรามสังหารแม่ทัพยักษ์ตาย และพระรามยกทัพกลับไปแล้ว สองกองคอยเหตุจะออกผ่านหน้าเวทีแล้วเข้าโรง จากนั้นจึงตั้งทศกัณฐ์ดำเนินเรื่องต่อไป หรือฝ่ายลิงหลังจากรับบัญชาจากพระรามก่อนไปกระทำการตามบัญชาก็เต้นผ่านเวทีเสียรอบหนึ่ง เพื่อให้คนดูทราบว่ากำลังเดินทางไปทำการตามที่พระรามมีบัญชา การเต้นผ่านเช่นนี้บางครั้งก็เพื่อทำให้เวทีไม่ว่าง ในกรณีที่ยังไม่พร้อมกล่าวถึงฝ่ายยักษ์หรือฝ่ายพระ
แยก หรือแยกแถว ใช้ในตอนที่เสนายักษ์หรือสิบแปดมงกุฎเต้นกันมาเป็นคู่ๆ แต่ถ้าผู้กำกับการแสดงต้องการจะให้ทำท่าถึง ซึ่งมีความหมายว่ากองทัพนั้นยกมาถึงที่หมายแล้วก็จะสั่งว่า “แยกแถว” เสนายักษ์หรือสิบแปดมงกุฎที่เต้นกันมาเป็นคู่ๆ ก็จะแยกออกไปอยู่ทางด้านนอกแถวหนึ่งกับอยู่ทางด้านในแถวหนึ่ง
ทบแถว ใช้ในตอนที่เสนายักษ์หรือสิบแปดมงกุฎเต้นแยกกันมาในลักษณะของการแยกแถวตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าผู้กำกับการแสดงต้องการให้เต้นเข้ามาเป็นคู่ก็จะสั่งว่าทบแถวเสนายักษ์หรือสิบแปดมงกุฎที่กำลังเต้นแบบแยกแถวกันอยู่ ก็จะทบแถวเข้ามาเต้นคู่กัน
ศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขนยังมีอีกหลายคำแต่เท่าที่เล่ามานี้ก็พอสมควรแล้ว จึงขอยุติเพียงแค่นี้...




 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:46:24 น.
Counter : 5461 Pageviews.  

วิธีดูโขน


ธนิต อยู่โพธิ์

ภาษาท่า
การดูโขน ถ้าจะให้เกิดรสสนุก ก็ควรสนใจในบทบาทท่าเต้นท่ารำ เพราะท่าเต้นท่ารำนั้นเป็นหัวใจของโขน เท่ากับเป็นภาษาพูด การฝึกหัดโขนที่กล่าวมาโดยย่อและเฉพาะวิธีฝึกหัดเบื้องต้นในบทที่ ๙ นั้น ก็เท่ากับฝึกหัดแสดงภาษาโขนด้วยท่าทาง เช่นเดียวกับเราหัดภาษาที่เราแสดงออกด้วยคำพูด ถ้าเทียบกับภาษาที่เราใช้เป็นประจำวันก็จะเห็นได้ว่า ภาษาประจำวันของเรานั้น มิใช่มีแต่คำพูดซึ่งเปล่งเป็นเสียงออกมาทางปากประเภทเดียวเท่านั้น แต่อาจมีเป็นอันมากที่เรามิได้ใช้ปากใช้ลิ้นและอวัยวะเครื่องเปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูด หากแต่เราใช้ท่า คือ ใช้อวัยวะส่วนอื่น แสดงออกมาเป็นกิริยาท่าทางแทน เราก็สามารถรับรู้ภาษาและรู้ความหมายกันได้และท่าทางบางอย่างบอกความหมายได้รวบรัดดีเสียกว่าคำพูดที่เปล่งเสียงออกมาทางปากเสียด้วยซ้ำไป ลิ้น, ฟัน, ปุ่มเหงือก, จมูก, ลูกกระเดือก, หลอดคอ, ปอดและริมฝีปาก เป็นต้น เป็นอวัยวะเครื่องเปล่งเสียงให้เป็นคำพูดออกมาทางปากฉันใด อวัยวะของเราอีกส่วนหนึ่งเป็นต้นว่า ลำตัว, มือ, แขน, ขา , เท้า, ไหล่ ลำคอ, ใบหน้า และศีรษะ ก็เป็นเครื่องสำแดงกิริยาท่าทางออกมาเป็นภาษาได้ฉันนั้น นดูง่ายๆ เช่น คนไข้สามารถใช้กริยาท่าทางส่งภาษาออกมาให้รู้ความหมายได้เกือบทุกอย่าง ซึ่งเคยทราบว่าในต่างประเทศบางประเทศเขามีสมาคมใบ้ เมื่อถึงคราวประชุม มีสมาชิกร่วมประชุมกันนับร้อยๆ พันๆ และก็สามารถร่วมประชุมกันรู้เรื่องเป็นอย่างดี โดยมิต้องใช้เครื่องขยายเสียงให้เป็นที่รบกวนรำคาญด้วยซ้ำ สัญญาธงและสัญญามือนั้น ความจริงก็เป็นภาษาท่าอย่างหนึ่งนั่นเอง ตัวอย่างภาษาท่าที่เราใช้อยู่ประจำวันก็ยังมี เช่น เมื่อมีใครเอาของมายื่นส่งให้เรา แล้วเราส่ายศีรษะเร็วๆ หรือสั่นหัวของเรา ผู้ให้ก็ย่อมทราบดีว่าเราไม่เอาหรือไม่รับ หรือไม่ต้องการสิ่งนั้นและถ้าเรายกแขนข้างหนึ่งขึ้นแบฝ่ามือหันเข้ามาทางตัวเราแล้วโบกออกไปก็หมายความว่า นอกจากเราไม่ต้องการแล้วให้ผู้นั้นรีบนำเอาสิ่งของนั้นไปเสียให้พ้น แต่ตรงข้าม ถ้าเราผงกศีรษะของเราไปข้างหน้า คือ พยักศีรษะ หรือแบมือแม้ข้างเดียว หันฝ่ามือโบกเข้ามาทางตัวของเรา ก็หมายความว่า ให้ผู้นั้นนำเอาสิ่งนั้นเข้ามา เพราะเราต้องการและยินดีรับ หรือถ้าเราไปพบเพื่อนฝูงหรือใครๆ ก็ตาม ยืนหรือนั่งส่ายศีรษะไปมาช้าๆ หรือโคลงศีรษะ ตีหน้าเศร้าๆ แม้เขาจะไม่ออกปากพูด เราก็ได้ทันทีว่า เขาบอกว่า ไม่ไหว, แย่, เต็มที หรืออะไรเทือกนั้น
ภาษาท่าเหล่านี้ ถ้าเราลองย้อนรำลึกดู เราก็จะนึกได้ว่าเราใช้กันอยู่ทุกวี่ทุกวัน นอกจากนั้น กิริยาท่าทางของคนเราก็ย่อมมีความหมายอยู่ในตัว แม้ไม่ต้องพูดต้องบอกออกมาทางปาก แต่เมื่อเราเห็นกิริยาท่าทางด้วยสายตา เราก็ย่อมรู้เห็นได้เช่น คนนี้ท่าทางผึ่งผาย, คนนั้นท่าทางหลุกหลิก, คนโน้นท่าทางหยิ่งผยอง, คนนั้นท่าทางปึ่งชา, คนนี้ท่าทางกรุ้มกริ่ม, คนโน้นท่าทางจ๋องๆ, คนนั้นท่าทางกวนๆ, คนโน้นท่าทางภูมิฐาน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องมที่เราสังเกตรู้ได้ด้วยกิริยาท่าทางของเขาเป็นอย่างดี ภาษาท่าเหล่านี้ บางอย่างก็เป็นที่หมายรู้กันเป็นอันดี จนวางลงไว้เป็นแบบแผน เช่นท่าของพระพุทธรูปที่เรียกกันว่า พระปาง ล้วนมีท่าทางและอิริยาบถต่างๆ กัน มีปางลีลา, ปางห้ามญาติ, ปางประทานอภัย, ปางสมาธิและปางมารวิชัย เป็นต้น ท่าที่ใช้เป็นภาษาประจำวันของเรา ดังที่ยกมากล่าวข้างต้นก็เช่นกัน ย่อมมีทั้งท่ารับ, ท่าปฏิเสธ, ท่าแสดงความเคารพ เช่น ท่าไหว้, ท่าอัญชลี, ท่าคำนับ, ท่ากราบเบญจางคประดิษฐ์ และท่าอื่นๆ มีอยู่เป็นบัญญัตินิยม ซึ่งบางหมู่บางชุมนุม และบางชาติบางภาษา อาจใช้ในความหมายต่างแตกแผกเพี้ยนกันไปบ้าง ตามจารีตและประเพณีนิยมของชาตินั้นๆ ท่านผู้รู้อธิบายไว้ว่า ภาษาที่ใช้แสดงออกมาด้วยกิริยาท่าทางนั้น มีมากเท่าๆ กับภาษาที่เปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูด และบางอย่างก็วิจิตรพิสดารเสียยิ่งกว่า จนแม้ภาษาพูดก็ไม่สามารถพรรณนาให้ดีได้เท่าเทียม
กิริยาท่าทางจึงนับเป็นภาษาส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับถ้อยคำที่เปล่งเสียงเป็นคำพูดออกมาทางปาก แต่ท่าทางต่างๆ ที่แสดงออกเป็นภาษาดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นอาจจำแนกได้ออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ท่าซึ่งใช้แทนคำพูด เช่น รับ, ปฏิเสธ, สั่ง, เรียก เหล่านี้ เป็นต้น
๒. ท่าซึ่งเป็นอิริยาบถและกิริยาอาการ เช่น ยืน, เดิน, นั่ง, นอน, เคารพและการกระทำอื่นๆ
๓. ท่าซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายในของคนเราว่ามีอยู่อย่างไร เช่น รัก, โกรธ, ดีใจ, เสียใจ, โศกเศร้า, ร่าเริง เป็นต้น
แต่ลักษณะของท่าที่ลองแยกออกให้เห็นเป็น ๓ ประเภทดังกล่าวนี้ ก็มีเหลื่อมล้ำคาบเกี่ยวกันอยู่ จะแยกให้เด็ดขาดลงไปทีเดียวก็หาได้ไม่ ในที่นี้จะไม่พยายามบรรยายถึงความเป็นมาของท่าและภาษาของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร และมีอยู่กี่ประเภท เพราะเป็นเรื่องพิสดารเกินกว่าที่จะนำมาพูดในที่นี้ แต่ท่านก็ย่อมทราบว่ากิริยาท่าทางของเรา ซึ่งได้ลองแยกไว้เป็น ๓ ประเภทดังกล่าวข้างต้น เป็นภาษาอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ภาษานาฏศิลป
แต่ในศิลปะทางนาฏกรรม เขาประดิษฐ์ดัดแปลงท่าต่างๆ ให้วิจิตรพิสดารและสวยงามยิ่งกว่าท่าธรรมดา โดยให้สอดคล้องประสานประสมกลมกลืนกันไปกับศิลปะที่เป็นส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เพลงดนตรีและคำขับร้อง เป็นต้น แต่ก็ประดิษฐ์ดัดแปลงขึ้นมาจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญ ๓ ประเภทดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง นอกจากเพื่อเป็นส่งภาษาให้หมายรู้กันด้วยสายตาแล้ว ในศิลปะทางนาฏกรรม เขาจำเป็นต้องมุ่งให้เต้นและรำได้งดงงามและเป็นสง่า ที่เรียกกันว่า “สุนทรียรส” อีกด้วย เพราะความงดงามหรือสุนทรียรสเป็นหลักสำคัญของศิลปะ ถ้าประดิษฐ์ดัดแปลงท่าทางออกมาแล้ว ไม่เป็นไปทางแสดงความงาม ก็ผิดหลักศิลปะและต้องประดิษฐ์ดัดแปลงกันใหม่ ท่าเต้นท่ารำของโขนและละครรำของไทยเราก็ดี ท่าเต้นอันเป็นศิลปะบางชนิดของชาติอื่นก็ดี เป็นการประดิษฐ์โดยอาศัยหลักความงามของศิลปะดังกล่าวนี้ ซึ่งเป็นการส่งภาษาโดยเฉพาะของมัน อย่างที่เรียกว่า นาฏยภาษาหรือภาษานาฏศิลป กล่าวคือ Dance-Language ทุกท่าจึงมีความหมายแสดงออกมาเช่นเดียวกับคำพูดที่เราได้ยินได้ฟังด้วยหูของเรา แต่เป็นคำพูดที่พูดด้วย มือ แขน เท้า ขา ลำตัว ลำคอ ใบหน้า และศีรษะเป็นต้น มิใช่ด้วยอวัยวะเครื่องเปล่งเสียง เช่น ปากและลิ้น ด้วยเหตุนี้ การดูโขนจึงอยู่ที่ดู “ท่าเต้นท่ารำ” เพราะท่าเต้นท่ารำนั้น เป็นคำพูดของโขน โขนจึงพูดด้วยท่าเต้นท่ารำท่าทำบท ซึ่งเป็นภาษาท่า อันเป็นนาฏยภาษาหรือภาษานาฏศิลปของการแสดงศิลปะชนิดนี้

ภาษาโขน
การที่เราเห็นผู้เล่นโขนออกมาเต้นและรำอยู่เป็นเวลานานๆ นั้น ก็คือ ผู้แสดงโขนกำลังพูดอยู่ตลอดเวลา มิได้หยุดเลย เขาพูว่าอย่างไรบ้าง ถ้าเรารู้ภาษาโขน เราก็ย่อมเข้าใจความหมายและรู้เรื่อง ยิ่งศิลปินผู้เล่นโขนเป็นผู้ได้รับฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และมีฝีไม้ลายมือในการส่งภาษานาฏศิลปด้วยแล้ว รสสนุกในการดูก็จะทวียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเราไปฟังนักพูดคารมดีหรือฟังนักเพลงฝีปากดีพูดและร้องฉะนั้น และถ้าเราดูโขนรู้เรื่องแล้ว บางทีเราจะเห็นว่า ดูโขนออกรสสนุกและไม่เบื่อ ทั้งอาจเกิดเสียดายที่หมดชุดหมดตอนเร็วไป แต่ทั้งนี้ เราต้องวางใจและตั้งแง่คิดเปลี่ยนประสาทรู้สึกของเราเสียใหม่ว่า เรากำลังดูภาษาท่าเป็นหลักสำคัญ เช่นเดียวกับเราไปดูหนังเงียบในเมื่อยังไม่มีหนังเสียง เราก็สามารถรู้ความหมายและเข้าใจเรื่องได้ด้วยท่าทางของผู้แสดงภาพยนตร์ เมื่อเราไปฟังนักพูดหรือนักร้อง เราก็ย่อมจะสำเหนียกว่า เขาพูดหรือร้องได้ชัดถ้อยชัดคำและมีน้ำเสียงไพเราะเพียงใด แต่เมื่อเราไปดูโขนและละคอนรำ เราก็จะต้องตั้งแง่คิดไว้ว่า ผู้เล่นโขนและละคอนรำคนใดจะส่งภาษาท่า คือ แสดงท่าเต้นท่ารำออกมาได้ชัดเจนและสวยงามเพียงใด นักเพลงคนใดที่ร้องได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่วไม่ติดขัด เขาก็ยกย่องนักเพลงคนนั้นว่า “มุตโตแตก” หรือ “หม้อโตแตก” ผู้เล่นโขนและละคอนรำคนใดที่เต้นและรำได้ถูกต้องงดงามดีเขาก็ยกย่องผู้เล่นโขนละครคนนั้นว่า “ตีบทแตก” ถ้าเทียบหลักศิลปะของชาวตะวันตก ก็ว่าผู้แสดงแปลความหมาย (Interpretation) ของเรื่องตอนที่ตนแสดงได้ถูกต้อง กล่าวคือ เข้าถึงบทอย่างที่เรียกว่า Attack his parts
แต่โดยเหตุที่โขนต้องเต้นและรำไปตามบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้องและเพลงดนตรีปี่พาทย์ ซึ่งในชั้นหลังนี้นับเป็นศิลปะส่วนประกอบที่สำคัญในการเล่นโขนโดยปรกติ เขาจึงจำแนกการเต้นการรำของโขนและละคอนรำออกเป็น ๒ ชนิด เรียกว่า รำหน้าพาทย์ อย่างหนึ่ง และรำบทหรือรำใช้บท อีกอย่างหนึ่ง

รำหน้าพาทย์
รำหน้าพาทย์ ได้แก่ การรำตามทำนองเพลงดนตรีปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการเล่นโขน กล่าวคือ ผู้เล่นโขนต้องเต้นต้องรำไปตามจังหวะและทำนองเพลงดนตรีซึ่งมีบัญญัติเรียกอยู่ในวงวิชาการดนตรีอีกส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เพลงที่มีชื่อเรียก เชิด, เสมอ, รัว, ลา, ตระ, คุกพาทย์, กราวนอก, กราวใน, แผละและโอด เป็น การที่นักเรียนฝึกหัดนาฏศิลปเริ่มต้นด้วยหัดรำ “เพลงช้า” และ “เพลงเร็ว” นั้นก็คือ รำหน้าพาทย์ นั่นเอง
ในการแสดงโขนและละครรำ เมื่อถึงตอนปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์เพลงหนึ่งเพลงใดในเรื่องแล้ว ผู้เล่นโขนจะต้องเล่นเต้นรำโดยถือรสนิยมหรือความหมายและจังหวะ ทำนองของดนตรีนั้นๆ เป็นหลัก เช่นเดียวกับทหารเวลาเดินแถวหรือทำเคารพผู้บังคับบัญชา ก็ต้องเดินและทำความเคารพโดยมีจังหวะ เราเองเมื่อเดินหรือแกว่งแขนไปมา แม้ทำด้วยความเคยชินโดยไม่รู้สึกตัว แต่ถ้าเราลองนับ 1-2-3 กำกับไปด้วย เราก็จะเดินและแกว่นแขนให้ลงกับจังหวะนับของเรา การเต้นการรำตามทำนองเพลงที่เรียกกันว่า “ เพลงหน้าพาทย์” ก็ต้องทำตามรสนิยมและจังหวะทำนองเพลงดนตรี เพลงหน้าพาทย์ จึงอาจอธิบายได้ว่า เพลงที่มีปี่พาทย์เป็นหลักเป็นประธาน เพลงปี่พาทย์แต่ละเพลง ก็มีรสนิยมหรือความหมายและจังหวะทำนองเป็นแบบอย่างต่างกัน นายมนตรี ตราโมท ศิลปินเอก ในกรมศิลปากร ได้เอื้อเฟื้อเขียนอธิบายเพลงหน้าพาทย์บางเพลงมอบให้ไว้ ขอนำมาเสนอในที่นี่สัก 3 - 4 เพลง ดังต่อไปนี้
1. ท่านคงจะเคยได้ยินว่า “ นอก “ กับ “ใน” ซึ่งใช้ประกอบชื่อเพลงปี่พาทย์ของเราอยู่เนือง ๆ แล้ว คำทั้งสองนี้ ในภาษาดนตรีไทย นอกจากหมายถึงเพลงสำหรับประกอบละคอนนอกและละคอนในแล้ว ยังมีที่หมายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ระดับเสียง อันตรงกับกับภาษาของดนตรีสากลว่า Key ระดับเสียงนอกมีระดับเสียงสูงกว่าระดับเสียงใน 4 เสียง แม้ปี่ที่เรียกว่า ปี่นอกปี่ใน ก็เป็นเช่นนี้ เพลงทุก ๆ เพลงอาจบรรเลงในระดับเสียงนอกหรือในก็ได้ เมื่อบรรเลงในระดับเสียงนอกก็เรียกว่า “ทางนอก” หากบรรเลงในระดับเสียงใน ก็เรียกว่า “ทางใน” แต่เพลงที่เรียกว่า “กราวนอก” กับ “กราวใน” นั้น ไม่ใช่เป็นเพลงเดียวกัน และมิใช่เพียงแต่เปลี่ยนระดับเสียงบรรเลงเท่านั้น เพลงกราวนอกกับกราวในต่างกันเป็นคนละเพลงที่เดียว แต่ทำนองอันเป็นเนื้อแท้ของทั้งสองเพลงนั้น คงอยู่ในระดับเสียงอันเป็นทางนอกทางในพร้อมมูลอยู่ในตัว เพลงทั้งสองนี้เป็นเพลงหน้าพาทย์สำหรับประกอบการตรวจพล ซึ่งได้แบ่งแยกชนิดของตัวโขนละคอนสำหรับประกอบไว้คนละประเภทเพลงกราวนอก มีทำนองรื่นเริง ฮึกเหิม ไว้สง่า แต่เป็นไปด้วยอาการงดงามและแคล่วคล่องว่องไว จึงจัดไว้สำหรับประกอบการตรวจพลของฝ่ายมนุษย์และวานร ส่วนเพลงกราวใน มีทำนองดำเนินมากไปในทางเสียงต่ำ กังวานกว้าง ทั้งทำนองเพลงก็แสดงถึงความรื่นเริงกล้าหาญอย่างแกร่งกล้าดุดันบึกบึน วิธีตีกลองของเพลงกราวในก็แสดงความใหญ่โตและอืดอาด จึงจัดไว้สำหรับเป็นเพลงประกอบการตรวจพลหรือการไปมาของฝ่ายอสูรยักษ์มาร ซึ่งนับว่าท่านนักปราชญ์โบราณได้คิดค้นส่วนอันเป็นอุปกรณ์ทั้งหลายเข้ามาผสมผสานกันอย่างได้ส่วนสัด และเข้าใจว่าเป็นศิลปที่จะไม่มีใครแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าหรือเท่าเทียมได้เลย
2. แต่ถ้าบรรเลงประกอบการไปมาของสัตว์จำพวกมีปีกที่เหินไปในกลางหาว เช่น พระยาครุฑในนิยาย หรือวิหคนกบินทั้งหลายแล้ว ท่านกำหนดให้ใช้เพลง “แผละ” ซึ่งจังหวะของเพลงอยู่ที่เสียงกลองเดินไป โดยสม่ำเสมอแต่ค่อนข้างเร็วนั้นเสมือนการกวักปีกขึ้นลงตามกิริยาโบกบินของวิหคซึ่งมีอาการฉวัดเฉวียนอยู่กลางเวหาท่ารำจึงแสดงถึงอาการถาบถลาร่อน และเล่นพลิ้วลมตามวิสัยการโบกบินของสัตว์จำพวกนั้น อันก่อให้เกิดศิลปแบบหนึ่งขึ้นในวงการนาฏศิลป
3. แต่ถ้าการบรรเลงประกอบโขนละคอนขณะที่สำแดงเดช ตามปรกติก็กำหนดใช้เพลง “คุกพาทย์” เพราะเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่แสดงมหิทธิฤทธิ์ จังหวะของเพลงมีช้ามีเร็ว มีรุกเร้าเป็นตอน ๆ ทำนองเพลงกระตุ้นให้บังเกิดอารมณ์รู้สึกเสมือนว่าอาการในขณะนั้นวิปริต ประกอบด้วยเสียงฟ้าคำรามร้องและพุ่งแสงแลบแปลบปลาบ มีพายุปั่นป่วนผงคลีมืดคลุ้ม โลกธาตุแปรปรวนอย่างน่าสะพรึงกลัว เมื่อบรรเลงประกอบเข้ากับตัวรำ ก็ยิ่งกระตุ้นความรู้สึกให้แลเห็นเป็นว่า ตัวรำนั้นมีฤทธิ์มีอำนาจอย่างมหึมา หน้าโขนที่สวมก็ดูประหนึ่งเปลี่ยนแปลงให้เห็นเป็นน่าครั่นคร้านขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์
4. แต่ถ้าเป็นการบรรเลงประกอบกิริยาร้องไห้คร่ำครวญ ก็ใช้เพลงโอด ซึ่งเป็นหน้าพาทย์สำหรับประกอบกิริยาร้องไห้ หรือตาย เพราะการร้องไห้ย่อมมีการสะอึกสะอื้น ถี่บ้าง ห่างบ้าง กระชั้นติด ๆ กันบ้าง และเวลาคนหรือสัตว์จะตาย ก็ ย่อมมีสะอึกหรือชักหรือกระตุก ตามแต่โรคที่จะทำให้ตาย ถี่บ้าง ห่างบ้าง กระชั้นติดๆกันบ้าง เช่นเดียวกับสะอึกสะอื้นในการ้องไห้ นักปราชญ์ทางดนตรีได้นำเอาระยะลุ่มๆ ดอน ๆ ของกิริยาสะอึกสะอื้น นี้เข้ามาบรรจุไว้ในเพลง และแต่ทำนองเข้าประกอบให้เหมาะสม ซึ่งจะฟังได้จากวิธีตีกลองประจำเพลงโอด ศิลปะที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยกลบซ่อนเสียงลึกเช่นนี้ จึงยากที่จะมองเห็นได้ แต่ผู้ที่ใช้ความพินิจพิจารณาโดยถ้วนถี่ ก็ย่อมจะเข้าถึงศิลปะได้ไม่ยาก
เมื่อรสนิยม และจังหวะทำนองของเพลงหน้าพาทย์ทางดนตรีมีอยู่แตกต่างกันดังนำมาเสนอเป็นตัวอย่างนี้ ท่าเต้นท่ารำตามเพลงหน้าพาทย์ ซึ่งครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลปไทยแต่ก่อน ได้ประดิษฐ์และเลือกคัดจัดสรรขึ้นไว้ ก็ต้องให้ประสานสอดคล้องกันกับเพลง ถ้าเพลงหน้าพาทย์มีรสนิยมหรือความมหมายแสดงถึงการคึกคักตึงตังเกรี้ยวกราดดุเดือดของธรรมชาติหรือผู้มีมหิทธิฤทธิ์ เช่น เพลงคุกพาทย์ ท่าซึ่งเป็นอากัปกิริยาของผู้แสดง ก็ต้องตึงตังเผ็ดร้อนไปตามรสนิยมของเพลงนั้น ถ้ารสนิยมของเพลงไปในทางโสกเศร้า ท่าเต้นท่ารำก็ต้องแสดงให้เห็นเป็นโศกเศร้าตามไปด้วย ถ้ารสนิยมของเพลงไปในทางร่าเริงบันเทิงใจ ท่าเต้นท่ารำก็ต้องแสดงให้เห็นเป็นร่าเริงบันเทิง ใจไปด้วย ถ้ารสนิยมของเพลงเป็นไปในทางให้รู้สึกสง่าท่าภูมมิฐาน ท่าเต้นท่ารำและกิริยาอาการของตัวโขนละคอนก็ต้องประดิษฐ์ให้ผู้ดูเห็นเป็นสง่าท่าภูมิฐานไปด้วยจะประดิษฐ์และเลือกคัดจัดท่าโศกเศร้าไปให้ไว้ในเพลงซึ่งมีรสนิยมร่าเริง หรือจะประดิษฐ์และเลือกคัดจัดท่ากริ้วโกรธ ไปไว้ในเพลงซึ่งมีรสนิยมทางรัก ก็ย่อมจะไม่ถูกต้องกลมกลืนกัน และถ้าเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงนั้นยังไม่หมดจังหวะไม่สิ้นกระบวนเพลง ผู้เต้นผู้รำจะหยุดยืนเสียเลยก็ไม่ได้และไม่งาม ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลปะก็ต้องประดิษฐ์คิดจัดท่าอันมีรสนิยมกลมกลืนกันสอดแทรกไว้ให้เต็มกระบวนเพลง นอกจากนั้น ท่าตัวโขนแต่ละตัวแต่ละประเภท ก็ยังจะต้องประดิษฐ์ดัดแปลงหรือเลือกคัดจัดท่าให้แตกต่างกันอีก เช่น ท่าของพระ, ท่าของนาง, ท่าของยักษ์, ท่าของลิงและท่าของตัวอื่น ๆ อันมีลักษณะนิสัยต่าง ๆ กัน ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลปผู้เป็นโบราณบัณฑิต จึงประดิษฐ์สร้างสรรค์และเลือกคัดจัดท่า สอดแทรกไว้ด้วยลวดลายอันวิจิตรบรรจง และให้มีความหมายสอดคล้องต้องกันกับเพลงดนตรีปี่พาทย์เป็นอันดี พระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตรัสเล่าถึง “การเล่นโขน” หรือ “วายังโอรัง” ของชวา เปรียบเทียบกับโขนของเรา แล้วทรงสรุปท้ายว่า “นับว่าเรื่องโขน (ของชวา) สู้ของเราไม่ได้แน่นอน บางท่าว่าออกจะคล้ายงิ้วเอาส่ง ท่ารำไม่มีอะไรที่จะต้องเรียนจากเขาเลย”

รำบท
ส่วนการรำอีกอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “รำบท” หรือ “รำใช้บท” นั้น ได้แก่การรำตามบทร้อง บทเจรจาและบทพาทย์ กล่าวคือ รำทำบทไปตามถ้อยคำ ซึ่งมีผู้ร้องผู้เจรจาและพาทย์อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ผู้แสดงโขนจะต้องแสดงภาษาท่าไปตามคำนั้น ๆ จะลองนำภาษาท่าบางท่าของโขนมาอธิบายเป็นถ้อยคำเสนอไว้พอเป็นตัวอย่างแต่ขอได้โปรดทราบว่า การอธิบายท่าของอวัยวะร่างกายด้วยคำพูดหรือคำเขียนนั้นอาจไม่แจ่มแจ้งชัดเจนเท่ากับได้ดูเห็นด้วยตา ขอได้โปรดกำหนดนึกถึงท่าต่างๆ ที่จะกล่าวถึงนี้ไปตามคำเป็นที่หมายรู้

1. ถ้าผู้เล่นโขนและละคอนรำ ทอดแขนไปข้างหน้า งอศอกนิด ๆตั้งข้อมือให้ฝ่ามือหันออกไปข้างนอก แล้วสั่นฝ่ามือไปมา หมายความว่า ปฏิเสธ หรือเท่ากับ พูดว่า ไม่มี, ไม่ดี, ไม่เอา,ไม่ใช่, ไม่รู้, ไม่กลัว, หรือคำปฏิเสธอื่น ๆ พวกเดียวกันนี้
2. แบมือทอดแขนกวักฝ่ามือเข้ามาหาตัว หมายความว่าเรียก ( ให้เข้ามาหา )
3. ม้วนมือแบโบกออกไป หมายความว่า สั่ง ( หรือบอกให้ออกไป)
4. แบมือทั้งสองทอดแขนออกไปข้างหน้า แล้วม้วนข้อมือพลิกแบผาย หงายฝ่ามือทั้งสองออกไปข้างหน้า หมายความว่า ตาย หรือวายวาง
5. แบฝ่ามือทั้งสองไขว้ข้อมือก่ายซ้อนกัน แล้วเอาฝ่ามือทั้งสองนั้นประทับไว้ที่ทรวงอก หมายความว่า รัก หรือ มีความรัก
6. แต่ถ้าเอาฝ่ามือทั้งสองที่ประทับอยู่ ณ ทรวงอกนั้น ตบลงถี่ ๆ ที่หน้าอก หมายถึงว่า กำลังเดือดเนื้อร้องใจ
7. เอามือทั้งสองไขว้โอบไว้ที่สะเอวของตนแล้วเดินช้า ๆ หมายถึงว่า กำลังมีทุกข์โศก
8. แต่ถ้ายกมือขวาขึ้นแล้วกางนิ้วหัวแม่มือออกไปจากนิ้วทั้ง 4 แล้วใช่ช่วงระหว่างนิ้วหัวแม่มือชี้คร่อมแตะไว้ที่หน้าผากอีกด้วย หมายความว่ากำลังร้องไห้
9. ทำตามข้อ 8 แล้วสะท้อนลำตัวขึ้นลงไปพร้อมกันด้วย หมายความว่า กำลังสะอึกสะอื้น
10. ใช้มือซ้ายจีบนิ้วยกขึ้นมาใกล้ริมฝีปากบน หมายความว่า ยิ้ม หรือ ดีใจ
11. ทำตามข้อ 10 แล้วสะท้อนลำตัวขึ้นลงพร้อมกันด้วย หมายความว่า กำลังหัวเราะ
12. ใช้ฝ่ามือมือหนึ่งมือใดสีไปมาที่ก้านคอตอนใต้หู ส่วนอีกมือหนึ่งกำนิ้วทั้งสี่ไว้แล้วชี้นิ้วฟาดแขนลงไปข้างหน้า พร้อมกับกระทืบเท้าลงไปบนพื้น หมายความว่าโกรธ

คราวนี้สมมติว่า เราไปดูโขนกำลังแสดงการรบระหว่างยักษ์กับลิง เมื่อเราเห็นยักษ์กระทืบเท้าแล้วชี้นิ้วตรงไปทางลิง ก็เท่ากับยักษ์เปล่งเสียงออกไปทางปากให้ได้ยินว่า “ เหม่!…” เมื่อยักษ์กวักมือโบกเข้ามาหาตัว ก็เท่ากับพูดท้าทายว่า “ มาซิวะ ๆ, มาสู้กัน” ถ้ายักษ์กำมือชูนิ้วชี้ แล้วตั้งแขนสั่งนิ้วชี้ไปมาหรือตีนิ้วอยู่ตรงหน้าของตน ก็เท่ากับพูดด้วยอารมณ์เคียดแค้นว่า “มึงๆ, ดีละๆ” และเมื่อลิงชี้นิ้วชี้ไปที่อกของตน แล้วเงยหน้าไปทางยักษ์ ก็เท่ากับถามยักษ์ว่า “มึงท้ากูนี่น่ะรึ ? “ ครั้นยักษ์พะยักหน้า ก็เท่ากับรับว่า “เออ, มึงน่ะแหละ” แล้วฝ่ายลิงก็จะยื่นแขนไปข้างหน้า ตั้งข้อมือตรงแบฝ่ายมือโบกสั่น ๆ ซึ่งเท่ากับตอบไปว่า “กูไม่กลัว ๆ” และท่าๆ อื่น ๆ ซึ่งใช้แทนภาษาอันมีความหมายทำนองเดียวกันนี้ แล้วทั้งสองฝ่ายก็ตรงเข้าสัปยุทธ์กัน เช่นนี้เป็นต้น ที่กล่าวมาว่า ท่านาฏศิลปของอินเดียที่แตกต่างกันนับด้วยพัน มากกว่าท่านาฏศิลปของชาติใด ๆ หมด

การประดิษฐ์ท่า
ท่ารำหน้าพาทย์และท่ารำบท ดังที่นำมากล่าวพอเป็นตัวอย่างนี้ ความจริงก็ประดิษฐ์เลือกเลือกสรรค์ขึ้นมาจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญของมนุษย์ เช่นที่ เราใช้กันอยู่เป็นประจำวัน 3 ประเภท ดังได้กล่าวมาข้างต้นนั่งเอง แต่ที่มีท่า แผกเพี้ยนไปจากท่าธรรมดา ก็มุ่งความสวยงามตามแนวคิดของศิลปินไทย เช่น เดียวกับลวดลายจิตรกรรมที่ช่างศิลปประดษฐ์เขียนรวงข้าวและเครือเถาเป็นต้นนั้น ให้มีลวดลายแผกผิดไปจากรวงข้าวและเครือเถาจริง ๆแต่ผู้ที่เป็นช่างสังเกตก็ย่อมรู้ได้ว่าลวดลายกระหนกนั้นๆ ประดิษฐ์ดัดแปลงมาจากอะไร ท่าเต้นท่ารำของโขนและละคอนไทยก็เช่นกัน และเนื่องจากท่าและเพลงหน้าพาทย์บางอย่างบางชนิด โบราณบัณฑิตได้ประดิษฐ์และเลือกคัดสรรไว้เป็นเวลานาน และจดจำสืบต่อกันมาหลายชั่วคน บางท่าจึงเป็นการยากที่จะอธิบายความหมายให้เข้าใจกันได้ในสมัยนี้ เช่นเดียวกับลวดลายจิตรกรรมบางชนิด ก็ยากที่จะชี้แจงให้ทราบกันได้ว่าประดิษฐ์ขึ้นมาจากอะไร หน้าที่ของศิลปินผู้ฉลาดในยุคต่อมา ก็คือ รู้จักเลือกคัดจัดท่าหรือประดิษฐ์ดัดแปลงนำไปใช้ให้เหมาะสมแก่การแสดงอารมณ์ในท้องเรื่องและโอกาสอีกประการหนึ่ง ท่าของโขนและละคอนรำนั้น ผู้เล่นผู้แสดงจะแสดงจะเต้นรำและทำท่าประสมกลมกลืนกันไปกันไปกับจังหวะของคำพาทย์,คำเจรจา , คำขับร้องและเพลงหน้าพาทย์ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเต้นรำ ท่าทางเหล่านั้นจึงแผกเพี้ยนไปจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญ
ท่าเต้นท่ารำของผู้เล่นผู้แสดงโขนดังกล่าวมานี้ นับว่าเป็นนาฏศิลปชั้นสูงที่โบราณบัณฑิตของเราได้ประดิษฐ์เลือกคัดสรรไว้ และยกย่องกันต่อมาว่าเป็นนาฏศิลปที่วิจิตรบรรจงประจุลวดลายจิตรกรรมอันงดงาม ยากที่จะอธิบายด้วยถ้อยคำให้ละเอียดถี่ถ้วยและขัดเจน แ จ่มแจ้งได้ ที่นำมากล่าวไว้ในบทนี้ ก็เพียงเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับผู้สนใจใคร่รู้เท่านั้น




 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:45:29 น.
Counter : 3695 Pageviews.  

ว่าด้วยคำบอกหน้าพาทย์แผลง


จาก คำบรรยายวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย โดย นายบุญธรรม ตราโมท พ.ศ.๒๔๘๑

อันคำบอกหน้าพาทย์แผลงนี้ คนเจรจาโขนและหนังใหญ่ในสมัยก่อนได้นิยมใช้กันอยู่โดยทั่วไป ซึ่งแทนที่จะบอกปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์อะไรตรงๆ ก็แผลงบอกเสียอีกอย่างหนึ่งเพื่อลองเชาว์นักปี่พาทย์อีกชั้นหนึ่ง คำแผลงที่บอกนี้ มิได้แผลงด้วยตัวอักษรดังคำแผลงในอักษรศาสตร์ เป็นการแผลงด้วยคำต่อคำทีเดียว มีหลักอยู่ที่จะให้ความหมายของคำแผลงนั้นตรงกับชื่อหน้าพาทย์เท่านั้น ที่จริงก็เป็นคำบอกใบ้เรานี่เอง
สมัยก่อนๆ ถ้าผู้ใดทำให้ปี่พาทย์จนเพลงได้มากเท่าใด ก็มักจะเห็นกันว่าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยความรู้ความสามารถมากเท่านั้น ทั้งดูเหมือนจะเป็นที่น่าเกรงขามของบรรดาหมู่นักปี่พาทย์ด้วย ตลอดจนคนร้องส่งก็เช่นเดียวกัน แต่มาสมัยนี้เป็นสมัยที่นิยมความเรียบร้อยและความพร้อมเพรียงเป็นใหญ่ ความเห็นจึงออกจะเป็นไปในทางว่า ผู้ที่ทำให้ปี่พาทย์จนเพลงก็คือผู้นำมาซึ่งความไม่เรียบร้อยของการแสดงนั้น ถ้าเป็นคนร้องส่ง เมื่อร้องไปแล้วปี่พาทย์รับไม่ได้ ตัวผู้ร้องส่งเองก็เคอะเขิน ผู้ฟังก็ไม่ได้ฟังสิ่งที่ไพเราะ ถ้าเป็นคนเจรจา เมื่อบอกหน้าพาทย์ไปแล้ว ปี่พาทย์ทำไม่ได้ตัวโขนหรือหนังก็จะยืนเก้ออยู่โดยไม่มีเพลงที่จะรำ เป็นเครื่องขลุกขลักมาก คนดูก็ชักจะเบื่อ ฉะนั้นการบอกหน้าพาทย์แผลงจึงได้ศูนย์ไปจนเกือบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว จะมีอยู่บ้างก็ในต่างจังหวัดบางจังหวัดเท่านั้น แต่ก็น้อยตามที
อย่างไรก็ตาม การบอกหน้าพาทย์แผลงนี้ ย่อมเป็นการฝึกหัดใช้ความคิดฝึกฝนเชาวน์ให้ว่องไว ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องนำมาซึ่งความเจริญแห่งปัญญาได้อย่างหนึ่ง อันควรรักษาไว้
สี่ศอก – คำแผลงคำนี้ก็ใช้มาตราวัดทางยาขงไทยเรานี้เองเป็นที่ตั้ง คือ ...........๒ คืบ เป็น ๑ ศอก ๔ ศอก เป็น ๑ วา.........ฯลฯ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินคำบอกหน้าพาทย์แผลงว่า ๔ อก ผู้บรรเลงก็ต้องบรรเลงเพลงวา
การบอกคำแผลงให้ทำเพลงวานี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เคยทรงแผลงเป็นกิริยาอีกวิธีหนึ่ง คือเมื่อมีพระราชประสงค์จะให้ปี่พาทย์ทำเพลงวาก็ทรงกางพระพาหาเหยียดตรงออกไปข้างๆ ทั้งสองข้าง แทนที่จะรับสั่งด้วยพระโอษฐ์ เพราะการวัดความยาวของไทยเราในสมัยที่ยังไม่มีไม้วัดที่แน่นอนก็ใช้วิธีวัดด้วยการเหยียดแขนให้ตรงออกไปทั้งสองข้าง และนับจากปลายนิ้วกลางของข้อมือข้างหนึ่งมาถึงอีกข้างหนึ่งเป็นหนึ่งวา ฉะนั้นการที่ทรงแผลงเช่นนี้ ก็เป็นนัยเดียวกันกับคำที่บอกว่าสี่ศอกนั่นเอง
ไม่ได้ไม่เสีย สมัยก่อนนี้บ่อนการพนันโปและถั่วมีอยู่ทั่วๆ ไป แทบทุกหัวระแหง และทุกบ่อนก็มีมหรสพแสดงเป็นประจำอยู่ทุกวัน พวกมหรสพต่างๆ ถึงจะเป็นคนที่ชอบการพนันหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมได้ยินการไต่ถามถึงผลขอๆงการเล่นการพนันมาแล้วเสมอๆ และก็มีคำตอบอยู่ ๓ อย่างเท่านั้นคือได้เท่านั้นเท่านี้ เสียเท่านั้นเท่านี้และไม่ได้ไม่เสีย คำว่าไม่ได้ไม่เสีย หมายถึงว่าได้กับเสียเสมอเท่ากัน จึงนำมาใช้เป็นคำบอกหน้าพาทย์แผลงซึ่งหมายถึงให้ปี่พาทย์ทำเพลงเสมอ
ลูกกระสุน ลูกกระสุนคืออะไร? มีลักษณะอย่างไร? ถ้ามีคำถามเช่นนี้ ทุกท่านคงจะตอบได้ดีว่า ลูกกระสุนคือดินเหนียวปั้นตากแห้ว มีลักษณะกลมรอบตัว ไม่มีเหลี่ยม เมื่อเช่นนั้น คำบอกหน้าพาทย์แผลงที่บอกว่าลูกกระสุนก็คือแทนคำบอกว่ากลมนั่นเอง
ชวย หรือ ทวย เมื่อคนเจรจาบอกหน้าพาทย์ชวย หรือบางคนก็บอกว่าทวย ปี่พาทย์จะต้องทำเพลงเชิดเป็นประเพณีกันมาเช่นนี้ แต่ว่าคำแผลงคำนี้ตีความไม่ออกว่าจะอย่างไร ชวยตาม ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ แปลว่าลมพัดอ่อนๆ พัดเรื่อยๆ ค่อยๆ ยกย่าง ดูไม่เห็นจะเข้ากันอย่างไรซึ่งจะหมายถึงเชิดได้ และทวยแปลว่าหมู่ เหล่า ไม่เท้าที่รับเต้าบางทีมทำเป็นรูปนาค บางที ก็เรียกว่าคันทวยก็มี ก็เป็นเช่นเดียวกัน หรือจะหมายความถึงการไปเป็นหมวดหมู่ ก็ไม่แน่นัก แม้แต่จะไปคนเดียว หรือรรบกัน ก็บอกชวยหรือทวยให้ทำเชิดได้ อีกประการหนึ่งการบอกหน้าพาทย์แผลงมิได้เอากิริยาของเรื่องมาบอก
ในคำพากย์เบิกหน้าพระของการแสดงหนังใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “พากย์สามตระ” เมื่อจบบทหนึ่งๆ ก็บอก “ทวย” ให้ปี่พาทย์ทำเชิดครั้งหนึ่ง และยังเรียกกันว่า ทวย ๑ ทวย ๒ และทวย ๓ คล้ายกับจะเป็นคำบอกว่าหมวดที่ ๑ – ๒ – ๓ นั้นเอง แต่ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่เรียกว่า ตระ ๑ ตระ ๒ และตระ ๓ เพราะเรียกรวมแล้วว่าพากย์สามตระ ที่เรียกทวย ๑ – ๒ – ๓ ก็หมายความว่า เชิดครั้งที่ ๑ – ๒ – ๓ นั้นเอง แต่ทวยทำไมแปลว่าเชิด เป็นข้อที่น่าสงสัยอยู่
ข้อสันนิษฐานของข้าพเจ้าเข้าใจว่า คำบอกหน้าพาทย์แผลงให้ทำเพลงเชิดนี้ แต่เดิมคงบอกว่า “ชูไว้” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า “เชิด” และคำว่าชูไว้นี้ถ้าพูดเร็วๆ หรือฟังไม่ถนัดก็ฟังเป็นชวยได้ ผู้ตามหลังต่อๆ มาก็ทึกทักเอาเป็นชวยทีเดียว ซึ่งเข้าใจว่าถูกต้องกว่า จึงยังใช้อยู่ทั้งชวยและทวย ซึ่งก็ไม่ตรงกับคำแผลงเดิมทั้งคู่ ทั้งนี้เป็นแต่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น
แสวงหา การจะไปไหนๆ ถ้าไม่ต้องห่วงอะไรๆ ก็ย่อมไปได้โดยเร็ว แต่ถ้าเมื่อจะไปไหนแล้วยังต้องหาสิ่งโน้นสิ่งนี้อยู่ นุ่งกางเกงแล้วยังหาเข็มขัดไม่พบ แว่นตาอยู่บนหน้าผากเทียวหาในกระเป๋าเสื้อและลิ้นชักโต๊ะ หรือเมื่อเดินไปได้สักหน่อยดุมเชิ้ตหล่นหายเสียแล้วต้องเที่ยวเดินหาอยู่อีก ดังนี้การไปนั้นก็ย่อมช้าเป็นธรรมดาเพราะฉะนั้น เมื่อคำอกหน้าพาทย์แผลงว่าแสวงหา ปี่พาทย์จึงต้องทำเพลงช้า เพลงช้าบางท่านเข้าใจว่าควรจะทำเพลงฉิ่ง แต่การบอกหน้าพาทย์แผลงมิได้เอากิริยาอาการของเรื่องนั้นๆ มาบอกให้ทำหน้าพาทย์ประกอบ เป็นการบอกแผลงให้มีความหมายตรงกับชื่อหน้าพาทย์นั้นต่างหาก
นางพระยาดำเนิน นี่ก็เป็นคำบอกหน้าพาทย์แผลงอีกคำหนึ่งซึ่งประสงค์ให้ปี่พาทย์ทำเพลงช้า เช่นเดียวกับคำว่าแสวงหา คือถือกันว่านางท้าวนางพระยานั้น การที่จะทรงพระดำเนินไปไหนๆ ก็ย่อมไปโดยมารยาทอันแช่มช้า กรีดกราย ถึงแม้จะเสด็จโดยมีขบวนๆ นั้นก็ต้องเดินไปอย่างช้าๆ เพื่อให้สมแก่สภาพแห่งนางกษัตริย์เหตุดังนี้แหละคำที่บอกว่านางพระยาดำเนินจึงหมายถึงเพลงช้า
แม่ลูกอ่อนไปตลาด คำว่าแม่ลูกอ่อนนี้ ทุกท่านคงทราบดีว่าหมายถึงมารดาของเด็กอ่อน อันมารดาของเด็กอ่อนนั้นย่อมมีความห่วงใยในบุตรน้อยๆ ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่การไปตลสาดเพื่อซื้อหาอาหารมาบริโภคก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อแม่ลูกอ่อนจำเป็นต้องไปตลาด ก็จำต้องรีบไปเร็วๆ เมื่อถึงตลาดแล้วก็รีบซื้อโดยมิต้องพิถีพิถันมากนัก ครั้นซื้อเสร็จแล้วก็ต้องรีบกลับดังที่พูดกันเสมอๆ ว่ารีบไปรีบมา ทั้งนี้เพราะความเป็นห่วงบุตรจะหิวโหยหรือร้องไห้ ถ้าจะพูดโดยกิริยาอาการของแม่ลูกอ่อนที่ไปตลาดก็คือไปเร็วมาเร็วนั่นเอง เพราะฉะนั้น คำแผลงหน้าพาทย์นี้ก็หมายถึงให้ปี่พาทย์ทำ เพลงเร็ว ซึ่งเป็นคู่กับคำว่านางพระยาดำเนินที่กล่าวแล้ว
เหลืองอ่อน พอได้ยินคำนี้บางท่านก็คงนึกไปถึงนกขมิ้นทีเดียว เพราะได้ยินร้องส่งกันอยู่เสมอๆ ว่า “นกขมิ้นเหลืองอ่อน คงหมายถึงเพลงนกขมิ้นเป็นแน่ แต่มิใช่เช่นนั้น ที่จริงคำนี้ออกจะตรงและง่ายมาก สีที่เหลืองอ่อนๆ เราเรียกกันว่าอย่างไร? โดยมากเรามักเรียกกันว่าสีนวลมิใช่หรือ แล้วจะมีอะไรอีกเล่า คำแผลงที่บอกว่าเหลืองอ่อนก็หมายถึงความประสงค์จะให้ทำหน้าพาทย์ สีนวล เท่านั้นเอง
ผัวตาย ผู้หญิงเมื่อสามีตายเราก็เรียกหญิงนั้นว่าแม่หม้าย และแม่หม้ายที่ผัวตายใหม่ ก็ย่อมคร่ำครวญหวลไห้ถึงผัวต่างๆ นานา เพลงแม่หม้ายคร่ำครวญนั้นก็เป็นเพลงช้าเพลงหนึ่งนั่นเอง แต่ถ้าเขาจะบอกตรงๆ ว่า เพลงช้า หรือ จะบอกแผลงว่า แสวงหา หรือ นางพระยาดำเนิน ดังที่กล่าวมาแล้ว ปี่พาทย์ก็ย่อมมีอิสระที่จะทำเพลงช้าเรื่องใดๆ ก็ได้ตามพอใจ แต่ในที่นี้เขาต้องการให้ทำเพลงช้าด้วยเพลงแม่หม้ายคร่ำครวญโดยเฉพาะ เขาจึงบอกเป็นคำแผลงว่าผัวตายเสีย เพลงแม่หม้ายคร่ำครวญนี้อยู่ในตอนกลางของเรื่องนกขมิ้น เรียกอีกชื่อหนึ่งว่านกขมิ้นตัวเมีย
สาดทราย เสียงที่ได้ยินจากการเอาทรายสาดจะดังอย่างไรก็ตาม แต่เรามักพุดกันติดปากว่าดังกราวๆ คนเจรจาจึงถือเอาคำสาดทรายนี้มาเป็นคำบอกหน้าพาทย์แผลงให้ปี่พาทย์ทำเพลงกราว กราว ณ ที่นี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือ กราวนอกกับกราวใน ฉะนั้น ในเมื่อผู้บรรเลงได้ยินคำบอกสาดทราย ซึ่งเข้าใจว่ากราวแล้ว ยังจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนั้นอีกขั้นหนึ่งว่า ที่จะต้องทำเพลงกราวนั้นตัวอะไรจะออก มนุษย์หรือลิง ยักษ์อย่างไร ถ้าเป็นจำพวกมนุษย์หรือลิงก็ทำกราวนอก ถ้าเป็นจำพวกยักษ์ก็ทำกราวใน
บาทสกุณี ผู้บอกหน้าพาทย์แผลงเพลงนี้ได้ใช้ศัพท์ตรงๆ นี้เอง คือเมื่อบอกว่าบาทสกุณีก็หมายถึงจะให้ทำเพลงเสมอตีนนก แต่เพลงเสมอตีนนกนี้เป็นเพลงขั้นสูงเพลงหนึ่งที่นักนาฏศิลปและดุริยางคศิลปเคารพ ครั้นเห็นว่าคำแผลงคำนี้แปลได้ความโดยตรงและสุภาพน่าเคารพดีขึ้นจึงได้เรียกด้วยคำแผลงนี้กันอยู่เสมอๆ จนเวลานี้กลายเป็นชื่อเพลงโดยตรงไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อเวลาทรงเล่นโขนยังเคยรับสั่งเรียกหน้าพาทย์เป็นชื่อเดิมอยู่บ่อยๆ ว่าเสมอตีนนก ว่าโดยทั่วๆ ไป สมัยนี้เกือบจะไม่รู้จักกันอยู่แล้วว่าเสมอตีนนกคือเพลงไหน แต่ว่ารู้จักเพลงบาทสกุณี
(คำบอกหน้าพาทย์แผลงเท่าที่ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาก็ดูเหมือนจะมีอยู่เท่านี้ เพราะได้หมดความนิยมเสีย จึงยังมิได้มีใครคิดแผลงเพิ่มเติมขึ้นอีกถ้าหากการนิยมการบิอกหน้าพาทย์แผลงยังมีอยู่เรื่อยๆ มาจนบัดนี้ เข้าใจว่าคงจะมีครบหน้าพาทย์ทุกเพลง)




 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:44:39 น.
Counter : 3061 Pageviews.  

ลักษณะทั่วไปและลักษณะร่วมของระบำและละครในเอเชีย


รศ.ดร.มาลินี ดิลกวานิช

จากการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับนาฏศิลป์และการละครในเอเชีย สืบสาวสาระความรู้ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา การพัฒนาการตามยุคสมัยมาจนถึงพินิจพิเคราะห์ลักษณะรูปแบบการแสดงที่ปรากฏเป็นขนบและแบบแผนในปัจจุบัน ศึกษาประเภทของระบำ-ละครที่สำคัญประจำชาติ องค์ประกอบของการแสดงที่ควรทำความเข้าใจ และอีกหลากหลายประเด็นที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ หากนำมาพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นภาพรวมแล้ว จะได้ข้อสรุปบางประการที่น่าสนใจดังนี้
๑. จุดกำเนิดของระบำและละครในเอเชียมาจากแรงบันดาลใจทางศาสนา จัดการแสดงเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อต่างๆ ในแต่ละชาติ แต่ละท้องที่ แต่ละยุคสมัย จนค่อยๆ พัฒนาขัดเกลาและกลายเป็นศิลปะการแสดงบริสุทธิ์และศิลปะการแสดงเชิงพาณิชย์ในภายหลัง ศาสนาและปรัชญาและความเชื่อของชาวเอเชียจึงแยกไม่ออกจากศิลปะการแสดง นาฏศิลป์อินเดียซึ่งเป็นต้นตำรับทั้งด้านทฤษฎีและนาฏลีลาของหลายประเทศในเอเชียได้วางรากฐานทางความคิดไว้ชัดเจนว่า พระอิศวรหรือพระศิวะ หนึ่งในเทพเจ้าสูงสุดของชาวฮินดูเป็นองค์นาฏราชาผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และท่ารำให้แก่มวลมนุษย์ เรื่องราวที่ปรากฏในระบำและละครเอเชียจึงมักเกี่ยวของกับเทพเทวาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยกล่าวถึงเรื่องการอวตารขององค์พระศาสดาหรือพระอรหันต์ หรือเทพเจ้าซึ่งลงมาโปรดสัตว์โลก ขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยอันเกิดตากความรุนแรงและอุบัติภัยทางธรรมชาติหรือเกิดจากปรากฏการณ์เลวร้ายในสังคม เห็นได้จากการแสดงรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รำอวยพรเทพเทวดาเพื่อความสิริมงคล การจัดพิธีกราบไหว้ครูและการรำเพื่อขอพรจากเทพเจ้าเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยและคุ้มครองปกปักรักษาชีวิต เป็นต้น
๒. ผู้อุปถัมภ์การแสดง ตามประเพณีดั้งเดิมในเอเชียมักเป็นระดับผู้นำในสังคมและชุมชน เช่น จักรพรรดิ กษัตริย์ สุลต่าน โชกุน เจ้าเมือง ผู้นำตระกูลชั้นสูง หัวหน้าชุมชน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ
ประการแรก เป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้นำเหล่านั้นที่จะจัดพิธีกรรมทางศาสนาหรือพิธีกรรมตามประเพณีความเชื่อในชุมชนของตนเพื่อความสบายใจของพสกนิกรและผู้พึ่งพิงบารมีในประเทศและชุมชนของตน
ประการที่สอง เป็นวิธีเสริมสร้างความมั่นคงและบุญบารมีของผู้นำ เพราะการอุปถัมภ์ค้ำจุนศิลปินคณะใหญ่ไว้ในกลุ่มบริวารของตนได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าตนมีฐานะมั่งคั่ง สามารถเป็นที่พึ่งพาอาศัยและเป็นที่เคารพยำเกรงของประชากรด้วย
ประการที่สาม ในด้านภาพลักษณ์ของประเทศของสังคมชุมชนนั้นๆ ย่อมหายถึงความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมและความมีหน้ามีตา
นอกจากนี้ในสายตาของชาวต่างประเทศผู้ได้พบเห็นการแสดงอันวิจิตรประณีตงดงาม ย่อมบังเกิดความประทับใจและช่วยเสริมสร้างมิตรไมตรีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย ผลประโยชน์ทั้งสามประการดังกล่าวนับว่ามหาศาลคุ้มค่า
๓. ระบำและละครในเอเชียล้วนมีขนบประเพณีและแบบแผนในเชิงปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานไม่ว่าจะด้านใดก็ตามจะพบว่ามีกฎเกณฑ์ รูปแบบ วิธีการและเทคนิคต่างๆ กำหนดไว้แล้วโดยครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นต้นว่า ขั้นตอนและหลักสูตรของการเรียนรู้และการฝึกฝนต้องมีระเบียบวิธีที่เคร่งครัด ในด้านนาฏลีลาหรือภาษาท่าทาง การแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนการสื่อคำพูด ความคิด และความหมายตามบทขับร้อง ล้วนต้องเรียนรู้ไปตามขนบแบบแผนทั้งสิ้น การสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงคิดขึ้นใหม่โดยผู้เรียนถือเป็นสิ่งผิดประเพณีอย่างยิ่ง การขับร้องและกรเปล่งของตัวละครมีจังหวะลีลาที่กำหนดไว้เฉพาะแบบ ส่วนมากมิค่อยนิยมเป็นธรรมชาติมากนัก การกำหนดเครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงมีการบ่งบอกไว้เฉพาะประเภทเฉพาะวาระ แสดงถึงความพิถีพิถันในการเลือกเสียงดนตรีประกอบการแสดง การแต่งกาย การแต่งหน้า และเครื่องประดับต่างๆ มีสูตรสำเร็จชัดเจน ตัวละครใดแต่งอาภรณ์เครื่องประดับแบบใด บรรพบุรุษท่านกำหนดลักษณะรูปแบบไว้แล้ว และแม้กระทั่งการจัดเวทีและฉากจะพบว่ามีแบบแผนสืบทอดต่อๆ กันมาเช่นกัน
๔. นักแสดงในอุดมคติ คือ ผู้ที่สามารถแสดงได้สวยสง่างดงามถูกต้องทุกประการตามแบบแผนประเพณี เป้าประสงค์ของการแสดงอยู่ที่ผู้แสดงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความคิด ความหมายและเนื้อเรื่องด้วยลีลาท่าทางที่ถูกแบบแผน หากทำได้ดีความวิจิตรประณีตงดงามก็จะตามมาเอง ดังนั้นนักแสดงระบำและละครในเอเชียจึงไม่สนใจการพัฒนาด้านการตีบทตัวละครในมิติของจิตวิญญาณ ไม่สนใจสำรวจความลุ่มลึกและซับซ้อนของจิตใจตัวละคร ส่วนมากตัวละครปรากฏเพียงมิติเดียว เช่น บทคนดี บริสุทธิ์ หือคนชั่วที่มีแต่กิเลสตัณหา เพื่อจะได้สอดแทรกคติธรรมคำสั่งสอน เรื่องราวที่นิยมแสดงเป็นเนื้อเรื่องที่รู้จักกันดีใช้แสดงสืบทอดกันมาช้านาน การสร้างบทและเนื้อเรื่องใหม่จึงไม่ใช่วิสัยปกติของนักเขียนบทละครในเอเชีย ละครที่เป็นแบบแผนประเพณีประจำชาตินิยมแสดงเรื่องราวที่ได้มาจากวรรณกรรมอมตะหรือตำนานเก่าที่เป็นที่นิยมชมชอบของผู้ชมมาแต่โบราณ สรุปก็คือ ทั้งเนื้อเรื่องและวิธีการสื่อ ยึดถือตามประเพณีนั่นเอง
๕. ระบำและละครในเอเชียเป็นศิลปะการแสดงที่มีวิธีสื่อในลีลาที่ไม่ค่อยสมจริง หากไม่ใช้แนวการสื่อด้วยรูปของสัญลักษณ์ ซึ่งมักจะเรียบง่ายก็ใช้วิธีตรงกันข้ามคือ ความอลังการหรูหราเกินจริง ไม่มีความพอดีที่สมจริง ทั้งนี้จะเห็นได้จากการจัดฉากที่มีทั้งแบบที่เรียบง่ายใช้วัสดุสองสามสิ่งเป็นสัญลักษณ์แทนทุกสิ่งทุกอย่าง และมีทั้งแบบหรูหราสิ้นเปลือง สร้างความตื่นตะลึงน่าประทับใจแก่ผู้ชม การแสดงออกด้วยท่าทางของผู้แสดงมีสองแนวคือ มีทั้งแบบที่แสดงออกน้อย ทำท่านิ่งเฉยเงียบขรึม อาศัยท่าละครใบ้ง่ายๆ เป็นสื่อบ้าง และมีทั้งแบบที่แสดงท่าทางเกินจริงผิดธรรมชาติของมนุษย์ ชุดเครื่องแต่งกายก็เช่นกัน มักอาศัยเครื่องหมาย ตรา ภาพสัตว์ ดอกไม้ สีสันและลวดลายเป็นสื่อสัญลักษณ์บอกให้ทราบถึงฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งเครื่องประดับศีรษะและหน้ากากก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้บอกฐานะด้วย อุปกรณ์และเครื่องแต่งกายของชาวเอเชียมักจะเน้นความหรูหรางดงามมากกว่าความสมจริงตามยุคสมัย การใช้หน้ากากและการวาดสีสันลวดลายบนใบหน้า ยังเป็นการแสดงถึงรสนิยมของชาวเอเชียที่ชอบการสร้างบรรยากาศขลัง ลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์แต่ก็สวยงามอลังการมีเสน่ห์จับใจ
๖. ระบำและละครของเอเชียขาดไม่ได้ซึ่งเสียงเพลงและการขับร้อง การแสดงใดๆ ก็ตามจะต้องมีทำนองเพลงประกอบเสมอ และบ่อยครั้งมีทั้งเสียงเพลงและเสียงขับร้องลักษณะใดลักษณะหนึ่งประกอบการแสดงด้วย ศิลปะการแสดงใดก็ตามที่เป็นแบบแผนประเพณีประจำชาติจะต้องให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบทางด้านดนตรีและศิลปินผู้ขับร้อง ในบางกรณีผู้แสดงจะต้องมีคุณสมบัติดีพร้อมด้านการขับร้องด้วย ยกเว้นในกรณีที่ผู้แสดงไม่ต้องเปล่งเสียงด้วยตนเองก็จะต้องอาศัยคณะผู้ขับร้องต้นเสียงและลูกคู่กับผู้พากย์บทที่มีฝีมือร่วมคณะการแสดง จึงจะถือว่าองค์ประกอบครบสมบูรณ์
๗. ศิลปะการแสดงของเอเชียมีลักษณะพิเศษร่วมกันซึ่งต่างจากโลกตะวันตกก็คือ ชื่นชมความสามารถของนักแสดงชายที่แสดงบทผู้หญิง ที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ งิ้วของจีน คาบูกิของญี่ปุ่น กถักลิของอินเดีย และละครนอกของไทย นอกจากนี้ยังพบการแสดงที่ใช้ผู้หญิงเล่นบทผู้ชายในหลายชาติซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องปกติในเอเชีย
๘. ศิลปินในเอเชียมีค่านิยมในการสืบทอดมรดกและความรู้ทางศิลปะการแสดงคล้ายกัน ถือว่าเป็นความลับเฉพาะในตระกูล และเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่ควรอนุรักษ์ต่อๆ ไป หากพบว่าทายาทโดยตรงไม่สนใจหรือมีคุณสมบัติบกพร่องเกินกว่าจะได้รับ ก็จะเลือกผู้ใกล้ชิดหรือผู้มาเกี่ยวดองในตระกูล บางกรณีอาจเป็นคนนอกตระกูล หากแต่อุทิศตนรับใช้สม่ำเสมอจนเป็นสานุศิษย์โปรดก็มี
๙. การเรียนรู้และฝึกฝนศิลปะการแสดงของแต่ละชาติในเอเชีย ต้องอาศัยเวลานานและต้องมีวินัยแห่งการฝึกในอย่างสม่ำเสมอ การเรียนรู้พื้นฐานอย่างต่ำต้องใช้เวลา ๘-๑๐ ปี ดังนั้นกว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือ “ครู” ในศิลปะการแสดงแบบใดแบบหนึ่ง จะต้องอาศัยการทำงานหนักอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง สะสมชั่วโมงบินและระสบการณ์ครึ่งค่อนชีวิต ทั้งยังต้องฝึกปฏิบัติอยู่เสมอมิได้ขาด และกว่าจะได้รับการยอมรับให้เป็น “ปรมาจารย์” ในวงการ ย่อมหมายถึงการอุทิศตนอย่างดีพร้อม เคร่งคัดต่อแบบแผนในการแสดงนั้นๆ และอุทิศตนเสมอต้นเสมอปลายในอันที่จะผลิตลูกศิษย์หรือทายาททางการแสดงไว้จำนวนมาก
จากผลการศึกษาที่ได้ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนใคร่ขอตั้งข้อสังเกตบางประการไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจค้นคว้าศึกษาและวิจัยเรื่องระบำและละครในเอเชียต่อไป
ประการแรก หนังสือเล่มนี้เป็นการปูแนวทางความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องราวของศิลปะการแสดงที่สำคัญของประเทศต่างๆ ในเอเชีย เนื้อหาสาระที่จะศึกษาวิจัยต่อๆ ไป ยังมีอีกมากมายมหาศาล พรมแดนของการศึกษาค้นคว้าในแขนงนี้ยังคงเปิดกว้างอยู่ รอผู้สันทัดและสนใจศึกษารุ่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยกันผลิตงานเขียนภาษาไทยที่จะเป็นประโยชนทางปัญญาให้แก่สังคมไทย
ประการที่สอง การค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ในเชิงปริมาณนั้นไม่มีปัญหา เพราะผู้ศึกษาชาวตะวันตกได้ผลิตงานเขียนออกมาเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ศัพท์เทคนิคหรือศัพท์ทางนาฏศิลป์ของชาติต่างๆ ซึ่งเมื่อสะกดคำอ่านเป็นภาษาอังกฤษ ผู้ซึ่งไม่มีความรู้ในภาษาของชาตินั้นๆ จะออกเสียงไม่ถูก และการสะกดเสียงโดยถ่ายทอดเป็นภาษาไทยก็จะยิ่งประสบความลำบากมากขึ้น ข้อนี้เองที่จะเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งเมื่อต้องพึ่งแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษ
ประการที่สาม ปรากฏการณ์ทาธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมการถ่ายอดศิลปะการแสดงและวัฒนธรรมการแสดงให้กันและกันของชาวเอเชียก็คือ การแผ่กระจายและการซึมซับศิลปะและวัฒนธรรมนั้นไม่มีขอบเขตและทิศทางใดที่ตายตัว ชาวเอเชียมีแนวโน้มโดยธรรมชาติที่จะให้และรับสิ่งที่ดีงาม ประณีต เจริญหูเจริญตา สิ่งที่สร้างความสนุกสนานสบายใจและสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงขัดเกลาจิตวิญญาณให้สูงบรรเจิด ดังนั้น แนวทางรสนิยมทางศิลปะของชาวเอเชียดูเหมือนจะไม่หยุดนิ่ง และไม่มีข้อจำกัดของเวลาเช่นกัน เป็นต้นว่า ในวันนี้ศิลปะการแสดงของญี่ปุ่นอาจมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงไทยน้อยที่สุด แต่ในวันหนึ่งข้างหน้าอาจมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ว่ารสนิยมทางศิลปะของคนไทย อาจจะยอมรับและโน้มเอียงเข้าหาแนวศิลปะกาแสดงของญี่ปุ่นบ้างก็ได้
ประการสุดท้าย ความรู้ความเข้าศิลปะการแสดงของชาวเอเชียมีส่วนช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า ชาวตะวันออกนั้นมีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ล้ำค่าน่าภาคภูมิใจ ทั้งในมิติของประวัติศาสตร์และมิติแห่งสุนทรียศิลป์
********************************




 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:43:39 น.
Counter : 3183 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.