รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
ประวัติสวนขวา

เรียบเรียงจาก “พระอภิเนาว์นิเวศน์ : พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
โดย ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี

อ่านพระราชพงศาวดารประกอบ
เรื่องสวนขวา


สวนขวาในรัชกาลที่ ๑
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงเทพมหานคร แล้วสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้น ๒ หมู่ คือ หมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าหมู่พระมหามณเฑียร ระหว่างพระที่นั่งทั้ง ๒ หมู่มีเขื่อนเพชรกั้นถึงกันโดยตลอด ด้านนอกของเขื่อนเพชรเป็นฝ่ายหน้า ด้านในของเขื่อนเพชรเป็นฝ่ายใน พื้นที่ด้านตะวันออกของหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทำเป็นพระราชอุทยานสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จประพาส มีนามว่า “สวนขวา” ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเป็นสวนสำหรับฝ่ายในเรียกว่า “สวนซ้าย”
สวนขวาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้นเป็นส่วนที่มีแต่พระตำหนักทองที่ประทับในสระน้ำหลังหนึ่ง และพลับพลาที่เสวยริมปากอ่าง แก้วหน้าเขาฟองน้ำหลังหนึ่ง สวนนั้นมีกำแพงแก้ว ล้อมรอบเป็นบริเวณ

สวนขวาในรัชกาลที่ ๒
ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ขยายเขตพระบรมมหาราชวังไปทางทิศใต้จรดวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) โดยมีถนนท้ายวังคั่นกลางแล้ว สมควรที่จะมีสวนในพระบรมมหาราชวังให้งดงามบริบูรณ์ได้เช่นเดียวกับพระราชอุทยานในพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงได้ทรงหารือกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการต่างก็เห็นชอบในพระราชดำริ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองปรับปรุงสวนขวาขึ้น และให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าช่วยกันรับหน้าที่ในกรก่อสร้างบ้าง การตกแต่งบ้าง วัตถุประสงค์ในการสร้างดังกล่าวนี้ก็เพื่อจะให้ปรากฏเป็นพระเกียรติยศสืบไปในแผ่นดินประการหนึ่งและเพื่อทำนุบำรุงข้าราชการที่เป็นช่างให้ทำการไว้ฝีมืออีกประการหนึ่ง
การที่จะให้ปรากฏเป็นพระเกียรติยศสืบไปในแผ่นดินนั้น คงจะมีวัตถุประสงค์จะแสดงให้นานาประเทศโดยเฉพาะประเทศใกล้เคียงได้ตระหนักว่าเมืองไทยนั้นได้มีราชธานีที่มั่นคงแล้ว เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยาที่เคยถูกพม่าเผาทำลายไปจนหมดสิ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร สร้างพระบรมมหาราชวังโดยการจำลองความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยามาให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้ว ส่วนพระองค์จะได้สร้าง “สวนขวา” ส่งเสริมความรุ่งเรืองและความงดงามของสวนดังเช่นสวนในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นศูนย์กลาง
ส่วนการดูสติปัญญาช่างที่มีฝีมือนั้น ก็เนื่องด้วยเมื่อพม่าได้ตีกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังได้กวาดต้อนช่างไทยฝีมือดีไปจนเกือบจะหมดสิ้น ช่างสาขาต่างๆ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่จึงต้องฝึกหัดกันขึ้นมาใหม่ การทำนุบำรุงช่างเหล่านี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระราชธุระ จึงจะรวบรวมแนะนำ แล้วให้ทุนรอนให้ทำงานศิลปะสาขาต่างๆ ขึ้นใหม่ได้ การทำนุบำรุงช่างเหล่านี้ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ส่วนในรัชกาลนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองค่อนข้างจะสงบเรียบร้อยกว่ารัชกาลก่อน จึงมีเวลาที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองและงานศิลปะสาขาต่างๆ ได้มากขึ้น พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมให้ช่างฝีมือสาขาต่างๆ เหล่านี้ได้ประกวดประขันฝีมือในเชิงช่างให้มากขึ้นด้วย
เหตุผลอีกประการหนึ่งในการสร้างสวนขวาในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นที่ทรงพระสำราญพระราชอิริยาบถ และให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในเป็นที่ประพาสเล่น ด้วยมิได้เคยเห็นภูเขาและธารน้ำแห่งใด

ขอบเขตของสวนขวาและสิ่งก่อสร้างภายในสวน
สวนขวาที่พัฒนาขึ้นในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตสวนและสระให้กว้างขวางกว่าเดิม พร้อมทั้งก่อกำแพงล้อมรอบเป็นบริเวณกว้าง โดยขุดเป็นสระใหญ่ขนาดยาว ๓ เส้น ๔ วา (ประมาณ ๑๒๘ เมตร) กว้าง ๒ เส้น ๘ วา (ประมาณ ๙๖ เมตร) ขอบสระนั้นลงเขื่อนแล้วก่ออิฐบังหน้าเขื่อน พื้นสระปูอิฐถือปูน ทำเหมือนอ่างแก้วให้ขุดท่อน้ำเป็น ๓ สาย ปิดเปิดถ่ายน้ำได้เพื่อให้น้ำสะอาดไม่มีเลนตม ในสระมีเกาะน้อยใหญ่เรียงรายกันไปหลายเกาะ ชัดตะพานถึงกัน ทำเก๋งและก่อเขาไว้ริมเกาะ เกาะละ ๒ เก๋งบ้าง ๓ เก๋งบ้าง ขอบสระใหญ่ให้ก่อภูเขาทำเก๋งลงที่ลาดๆ ท่วงทีเหมือนอย่างแพไว้รอบสระ หลังเก๋งให้ปลูกต้นไม้ใหญ่มีผลต่างๆ โดยเฉพาะพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นแม่กองก่อเขาและปลูกต้นไม้
ส่วนขอบเขตของภูเขาที่สร้างขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายไว้ว่า “...มีเขตกำหนดตั้งแต่ถนนตรงประตูราชสำราญขึ้นมาทางเหนือถึงเขื่อนเพชรโรงแสง ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นพระที่นั่งภานุมาศ (พระที่นั่งบรมพิมานองค์ปัจจุบัน) ด้านตะวันออกแนวประตูแถลงราชกิจไปหาพระที่นั่งศิวาลัย ด้านตะวันตกแนวประตูกลมซึ่งยังเป็นขอบเขตอยู่จนบัดนี้ ตอนข้างตะวันออกเป็นสระ มีเกาะกลางสระ เห็นหอพระจะอยู่ตรงนั้น คงจะตั้งอยู่ในราวที่ตั้งพระพุทธรัตนสถานเดี๋ยวนี้...”

การตกแต่งสวนขวา
เก๋งและแพที่อยู่รอบสระนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ตลอดจนท้าวนางผู้ใหญ่ในพระราชวังที่สมควรจะแต่งเก๋งแต่งแพได้ให้เป็นเจ้าของตกแต่งทั้งสิ้น โดยแพฝ่ายพระราชวงศ์ฝ่ายหน้านั้นมี ๕ แพ ได้แก่ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ กรมหมื่นศักดิพลเสพ กรหมื่นเจษฎาบดินทร์ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ
แพพระราชวงศ์ฝ่ายในมีจำนวนถึง ๒๗ หลัง เป็นแพของทั้งสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ พระเจ้าลูกเธอ และพระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ส่วนแพข้าราชการฝ่ายในซึ่งเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๒ รวมทั้งสิ้น ๑๘ หลัง ซึ่งทั้งเก๋งทั้งแพเหล่านี้ต่างก็ตกแต่งประกวดประขันกันยิ่งนัก
เก๋งแถวหน้า เจ้าของต่างตกแต่งด้วยเครื่องแก้ว แขวนโคม ตั้งโต๊ะบูชา ตั้งตุ๊กตาปั้นขนาดเท่าคนจริง นั่งบ้าง ยืนบ้าง มีชื่อต่างๆ กัน นุ่งห่มด้วยเครื่องทองจริงๆ นอกจากนั้นยังโปรดให้หาสัตว์จตุบาท ทวิบาทต่างๆ มีทั้งที่ปล่อยและขังกรง มีนกชนิดต่างๆ เช่น นกแก้ว นกขุนทอง นกโนรี นกสัตวา เป็นต้น บ้างก็จับคอนห้อยแขวนไว้ ณ ที่ต่างๆ ส่วนในท้องสระให้ปลูกบัวหลวง บัวเผื่อนและเลี้ยงปลาชนิดต่างๆ เสียงนกเหล่านี้ร้องระเบ็งเซ็งแซ่ไปทั่วทั้งพระราชอุทยาน
ส่วนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประกอบไปด้วยพระมหามณเฑียร ๓ หลังองค์หนึ่ง พระที่นั่งอย่างฝรั่งพื้น ๒ ชั้น หลังหนึ่ง เป็นที่ทรงฟังมโหรี มีป้อมริมน้ำเป็นที่จอดเรือพระที่นั่งสำปั้น เก๋งใหญ่มีเรือเท้งเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง มีป้อมสูงสำหรับทอดพระเนตรการแข่งเรือและทอดพระเนตรไปรอบๆ พระราชอุทยาน เก๋งใหญ่ที่เสวย ๓ เก๋ง และเก๋งโรงละครอีกหลังหนึ่ง

กิจกรรมในสวนขวา
ถึงแม้ว่าการก่อสร้างสวนขวายังไม่แล้วเสร็จ แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ก็โปรดเกล้าฯ ให้ไขน้ำเข้ามาเต็มสระ และโปรดให้มีการฉลองสมโภชพระที่นั่ง โดยให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระวันรัต และพระราชาคณะอื่นๆ สวดพระปริตรพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งเก๋งใหญ่ รุ่งขึ้นเช้าโปรดให้พระสงฆ์แยกย้ายไปรับพระราชทานเลี้ยงตามเก๋งตามแพทุกแห่ง เก๋งละ ๒ รูปบ้าง แพละ ๒ รูปบ้าง มีละครข้างใน ๒ โรงเล่นประชันกัน
ต่อเมื่อเก๋งที่ประทับสร้างเสร็จแล้ว จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปสมโภชบนเก๋งสูงที่ประทับของรัชกาลที่ ๑ เลี้ยงพระแล้วมีงานสมโภชเวียนเทียน การทำครั้งนั้นรวม ๓ วัน ภายหลังโปรดให้ข้าราชการนิมนต์พระมาเลี้ยงทุกปี
ในระหว่างการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จอดพระเนตรผลงานของช่างสาขาต่างๆ ในเวลากลางวัน ครั้นพอพลบค่ำสิ้นราชการแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งสำปั้นน้อย พร้อมเรือเจ้าจอมมารดาอีกหลายลำ โดยมีเรือเจ้าคุณวังหลวง เรือเจ้าคุณวังหน้าเป็นเรือนำ ติดตามด้วยเรือปี่พาทย์ ๒ ลำ เรือดั้ง ๔ ลำ เรือพระที่นั่งรอง เรือมหาดเล็ก เจ้าจอมและคนรำพร้อมคนพายลำละ ๖ คน รวม ๑๒ ลำ มีเรือข้าราชการฝ่ายในที่มีญาติและพวกพ้องเป็นคนพายเรียกว่า เรือต่างกรม ๒๐ ลำ เรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก ๘ ลำ พายตามเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรเก๋งและแพที่เจ้านายและข้าราชการแต่งไว้ทุกแห่ง ลดเลี้ยวไปตามเกาะแก่งน้อยใหญ่นั้นๆ
ครั้นเสด็จขึ้นที่ประทับที่เก๋งแพใหญ่ที่มีน้ำลึกกว่าทุกแห่งแล้ว ปี่พาทย์มโหรีทำเพลงเสียงเสนาะ แล้วมีพระราชดำรัสสั่งให้ข้าราชการฝ่ายในในกระบวนเรือที่ตามเสด็จพายเรือแข่งกัน แล่นไปในระหว่างเกาะต่างๆ โดยมีกติกาการเล่นอย่างสนุกสนาน
ส่วนท้าวนางผู้ใหญ่ เช่น เจ้าคุณวังหลวง เจ้าคุณวังหน้า เจ้าคุณปราสาท เป็นต้น ก็โปรดพระราชทานเงินให้ทำของขายพวกเรือที่เล่นกัน เช่น หมี่ หมูแนม ไส้กรอก ลูกบัว ถั่วลิสง ขนมต่างๆ วางขายที่หน้าถังบ้าง ที่แพบ้าง ส่วนพระองค์เจ้า ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาที่เป็นเจ้าของเรือ แต่ไม่สนใจซื้อก็จะจัดของกินมาเลี้ยงคนพายเรือของตน พวกที่เล่นเรือแข่งกันนั้น ถ้าเรือล่มก็ให้ผ้าผลัดแล้วกลับลงพายเรือเล่นใหม่ ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่บนที่นั่งเก๋ง ทอดพระเนตรละครบ้าง ทรงฟังมโหรีบ้าง สักวาดอกสร้อยบ้าง เสียงร้องและเสียงขับไพเราะเป็นที่เพลิดเพลินพระราชหฤทัยอยู่เนืองๆ
ครั้นถึงเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ หลังจากเสด็จลอยพระประทีปที่ตำหนักแพ (ท่าราชวรดิษฐ)แล้ว เสด็จกลับขึ้นมามีการแห่ผ้าป่าในสระ เกณฑ์พระองค์เจ้าที่มีแพแต่งเรือผ้าป่าองค์ละลำ และมีการเล่นจำอวด เล่นสักวา เล่นเรือเพลง และเรือพระองค์เจ้ากุ (เฉลิมพระนามในรัชกาลที่ ๔ ว่า กรมหลวงนรินทรเทวี) ขายขนม ครั้นเวลาเช้าก็ให้ส่งกระจาดผ้าป่าไปถวายสงฆ์
ที่ในสวนขวาแห่งนี้ บางครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชศรัทธาให้นิมนต์พระราชาคณะหลายรูป เข้าไปลงเรือสำปั้นลำละ ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ให้ฝีพายหน้าหลัง พายรับบิณฑบาต เจ้าของแพออกมานั่งถวายบิณฑบาตทุกแพ เสร็จแล้วพระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหารไปในเรือ ส่วนฝีพายก็พายลดเลี้ยวไปตามเกาะ ตามเก๋ง ตามแพทุกเกาะ เพื่อให้พระสงฆ์เจริญอาหาร
ครั้นการก่อสร้างทุกอย่างสำเร็จลง ก็โปรดให้มีการรื่นเริงที่สวนขวานี้ในเวลาบ่ายของทุกวัน พร้อมกันนั้นก็โปรดให้เจ้านายฝ่ายหน้าของพระองค์ กับขุนนางที่คุ้นเคยในพระองค์เข้าไปเฝ้าในเก๋งอยู่เนืองๆ ส่วนในเวลานักขัตฤกษ์ ก็พระราชทานให้ราษฎรผู้หญิงเข้าไปดูได้ตามสบายไม่หวงห้าม การแต่งเก๋งนั้นปีหนึ่งๆ ก็แต่งครั้งหนึ่งหรือ ๒ ครั้ง แล้วเสด็จประพาสไปหลายวัน ชาวต่างประเทศและหัวเมืองใหญ่น้อยที่เข้ามาเฝ้า ก็โปรดให้เจ้าพนักงานพาเข้าไปชมความงดงามของสวนขวาที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ จนเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติยศเลื่องลือไปในนานาประเทศ ดังปรากฏใน “ร่างตราเมืองเวียงจันทน์” เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๓ ดังนี้

ร่างตราเมืองเวียงจันทน์
“ให้พระราชทานอย่างสระอย่างเก๋ง สิ่งของขึ้นไปให้เจ้าเวียงจันทน์ ณ ปีเถาะ เอกศก ศักราช ๑๑๘๑
หนังสือเจ้าพระยาจักรีมาเถิงเจ้าเวียงจันทน์ ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ให้ขุดสระและปลูกพระที่นั่งทำเก๋งในพระราชวัง เป็นที่ทรงประพาสสบายพระทัย และซึ่งเจ้าเวียงจันทน์ได้ลงไปช่วยทำการขุดสระครั้งก่อนนั้น เห็นยังคับแคบอยู่ บัดนี้ให้ขยายกำแพงพระราชวังด้านใต้ออกไปอีก จึงให้ขุดสระประจบสระเก่าต่อลงไป โดยยาวและกว้างรังวัดได้ ๓ เส้น ๔ วา กว้าง ๒ เส้น ๘ วา ทรงพระราชดำริเทียบที่เป็นเกาะใหญ่เกาะเล็ก ลงเขื่อนกรุอิฐ ทำพระที่นั่งเก๋งจีนอละตึกอย่างฝรั่งขึ้นอีกเป็นอันมาก หว่างเก๋งหว่างตึกนั้นให้ปลูกต้นไม้มีดอกมีผล เอนชายออกไปตามขอบสระร่มแสงแดด ให้เอาศิลาแท่งใหญ่เล็กมาทำเป็นมอเป็นแหลมและหาดปิดบังรื้อเขื่อนเสียสิ้น ในท้องสระนั้นปูด้วยอิฐใหญ่ให้น้ำใสสะอาด ปลูกบัวหลวงบัวเผื่อนที่ชายแหลมชายหาดทุกแห่งแล้วเลี้ยงปลาสารพัน เวลาเช้าเวลาเย็นเสด็จอก ณ พระที่นั่งเก๋ง โปรยข้าวตอกบ้าง เสด็จ ณ พระแท่นศิลาใต้ร่มต้นไม้บ้าง ทรงโปรยข้าวตอกพระราชทานปลาทั้งปวง ทอดพระเนตรนกโนรี สัตวา แขกเต้ากระตั้ว ซึ่งแขวนไว้ที่กิ่งไม้ นกเป็ดน้ำ นกคับแค ลอยเล่นล่องอยู่ อันนกนอกว่านี้ก็เลี้ยงปล่อย เลี้ยงแขวนไว้ในพระราชวัง ทั้งนี้เพื่อจะให้พระวงศานุวงศ์ฝ่ายในเป็นที่ประพาสเล่น ด้วยมิได้ไปเห็นภูเขาและธารน้ำแห่งใด แล้วจะได้ดูสติปัญญาข้าราชการซึ่งเป็นช่างไม้ข้างจะไว้ฝีมือ ช่างจำหลัก ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างปูน ช่างปากไม้ ช่างต้นไม้ไทยจีน ให้เป็นพระเกียรติยศปรากฏไปในแผ่นดิน แล้วก็เป็นพระราชกุศลอยู่อย่างหนึ่ง ครั้งเถิงเทศกาลผลไม้ชุกชุม ก็ทรงพระราชศรัทธา ให้อาราธนาพระราชาคณะเข้าไปรับพระราชทานฉันในพระที่นั่งเก๋งตามขอบสระ พระราชาคณะก็รับพระราชทานฉันปิยจังหันได้มากกว่าฉันที่อื่น เพราะได้ดูฝีมือช่างซึ่งทำไว้นั้น และโปรดให้พระเจ้าลูกเธอหลานเธอและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่สนิทๆ เข้าไปพายเรือเล่นเที่ยวชมเล่น พระราชทานเลี้ยงดูดังนี้เนืองๆ ถ้าเทศกาลตรุษสงกรานต์ เข้าพระวษาสารท ออกพระวษา วันวิสาขบูชา เพ็ญเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ก็ทรงพระราชศรัทธา ให้เชิญพระพุทธรูปแก้วผลึก และพระบรมสาริกธาตุไปสถิตไว้ในพระที่นั่งเก๋งคงคาสวรรค์ กระทำการสมโภชพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ภรรยาข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้าไปร้องสักระวาดอกสร้อย มโหรีเพลงครึ่งท่อนมอญทะแย สรรพการมหรสพต่างๆ ให้แต่งเก๋งตั้งเครื่องแล้วแขวนโคมแก้วโคมแพรหลายอย่าง ตามสักการบูชาพระบรมธาตุครั้งละสามคืนบ้างสี่คืนบ้าง และเมื่อเพ็ญเดือน ๑๒ ปีเถาะเอกศกนี้ พระยานครลำปาง พระยาน่าน ลงไปเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯ ก็โปรดให้พาบุตรภรรยาเข้าไปเที่ยวชมพระที่นั่งเก๋ง ซึ่งตกแต่งและการมหรสพสมโภชสิ้นทุกคืน ถ้าเทศกาลแต่งเก๋งและเลี้ยงดูข้าทูลละอองฯ ครั้งใด ก็มีพระราชหฤทัยคิดถึงเจ้าเวียงจันทน์ทุกครั้ง ด้วยมิได้ลงไปเห็น จึงโปรดให้ถ่ายอย่างเป็นแผนที่สระที่เก๋งเก่าใหม่พระราชทานขึ้นมาให้เจ้าเวียงจันทน์ดูพอเป็นสำเนาพลาง ถ้าเจ้าเวียงจันทน์ว่างราชการเมืองเมื่อใด จะลงไปเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯ ก็ให้พาบุตรภรรยา มโหรีละคร กับให้หาพายและนกเขาครมลงไปด้วย จะได้เล่นตามสบายใจ อันเป็นเรือสำหรับพายเล่นและกิ่งไม้ที่น่าแขวนนกนั้นมีอยู่เป็นอันมาก
หนังสือมา ณ วันศุกร์ เดือน ๒ ขึ้นค่ำ ๒ จุลศักราช ๑๑๘๑ ปีเถาะ เอกศก
วันศุกร์ เดือน ๒ ขึ้นค่ำ ๑ ได้ส่งตรานี้ให้เจ้าราชบุตร แต่งให้ท้าวเพี้ยถือขึ้นไปส่งให้เพี้ยเมืองกลางแล้ว”

สวนขวาในรัชกาลที่ ๓
พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านศิลปะนั้น ทรงสนพระทัยไปในด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่งองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมมากกว่าศิลปะสาขาอื่นๆ เห็นได้จากทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามในกรุงเทพฯ ธนบุรี เป็นจำนวนมากถึงกว่า ๖๐ วัด นอกจากนั้นก็ยังทรงสนพระทัยในสาขาประติมากรรม เช่น การหล่อพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดต่างๆ หรือพระพุทธรูปที่ทรงอุทิศถวายสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในรัชกาลก่อน เป็นต้น แต่ในด้านศิลปะแขนงอื่นๆ โดยเฉพาะการละครและการละเล่นอื่นๆ นั้น ดูจะไม่เป็นที่โปรดปรานเสียเลย ถึงกับไม่ทรงสนับสนุนให้มีการแสดงละครภายในพระบรมมหาราชวัง ด้วยเหตุนี้การรื่นเริงที่เคยมีใน “สวนขวา” ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้ยุติลง แต่กลับทรงพระราศรัทธาที่จะรื้อเก๋ง รื้อแพ รื้อพระที่นั่ง รื้อเขาก่อที่พระองค์เองโปรดให้ขนศิลาเข้ามาจากตำบลปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อก่อเขาดังกล่าว และอาคารอื่นๆ อีกเป็นอันมากในสวนขวา แล้วนำไปสร้างถวายในพระอารามเสียจนหมดสิ้น ส่วนศิลาที่นำมาก่อเขาในสวนขวานั้น ก็โปรดให้ลากขนไปประดับในพระอารามหลวงจนหมดสิ้น ทั้งนี้เพื่อ-ถวายเป็นพระราชกุศลในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งถ้าจะเปรียบกับสามัญชนก็เหมือนรื้อบ้านของผู้ตายไปถวายวัดเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายนั้นเอง
อย่างไรก็ตามการรื้อถอนดังกล่าวนั้นตราบจนสิ้นรัชกาลก็ยังไม่แล้วเสร็จ ยังเหลือพระที่นั่งที่ประทับ กับพระที่นั่งเย็น อ่างแก้ว และโรงมหาสภาหรือโรงละคร กับซุ้มประตูทางเข้า ๓ แห่งทางด้านที่ต่อกับหมู่พระมหามณเฑียรตรงถนนทรงบาตร ซึ่งซุ้มประตูทั้ง ๓ แห่งนี้ ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

สวนขวาในรัชกาลที่ ๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พระองค์ทรงเห็นความจำเป็นในการที่จะต้องติดต่อกับประเทศทางตะวันตก ทั้งในด้านความสัมพันธ์ที่มีต่อกันทั้งในการค้าขาย การรับศิลปวิทยาการสมัยใหม่ การหัดทหารและการซื้อหาอาวุธแบบตะวันตกเพื่อป้องกันประเทศ รวมทั้งการสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน และการเอาตัวรอดจากการแสวงหาอาณานิคมของประเทศตะวันตก ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชประสงค์จะสร้างพระที่นั่งที่ประทับขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จะทรงเผชิญต่อไปดังที่กล่าวแล้ว

สถานที่ตั้งของพระราชมณเฑียรองค์ใหม่
เมื่อวิเคราะห์จากแผนที่ของพระบรมมหาราชวังแล้วจะพบว่า สถานที่ตั้งของพระราชมณเฑียรองค์ใหม่ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น “สวนขวา” ที่ถูกทิ้งร้างไปในรัชกาลที่ ๓ นั้นเป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุด ทั้งนี้เนื่องด้วยบริเวณนี้เคยเป็นพระราชอุทยานที่ประพาสของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระที่นั่ง ๓ หลังในสมัยรัชกาลที่ ๒ ที่เคยมีในพระราชอุทยานก็เป็นเพียงที่ประทับชั่วคราวเมื่อเสด็จประพาส ไม่ใช่พระที่นั่งสำคัญเช่นหมู่พระมหามณเฑียร ประกอบกับอุทยานนี้ถูกทิ้งร้างและรื้อถอนไปเป็นส่วนใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่เคยเป็นสระใหญ่น้อย เคยก่อเขา แต่งเก๋ง แต่งแพ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสวนขวา เกิดเป็นที่ว่างที่จะสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นได้ นอกจากนั้นพระราชอุทยานนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระราชวัง มีกำแพงและประตูพระราชวังติดกับถนนสนามไชย ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่จะมีทางเสด็จพระราชดำเนินสู่ภายนอกได้โดยไม่ต้องผ่านหมู่พระมหามณเฑียรที่สร้างขึ้นแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ด้วยเหตุนี้จึงวิเคราะห์ได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสถานที่สร้างพระราชมณเฑียรในสวนขวา ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้ว
อย่างไรก็ดีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงติดขัดในพื้นที่สวนขวาด้วยสาเหตุหลายประการ ประการแรก เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชศรัทธาดำรัสว่าจะรื้อทั้งอาคารและสิ่งก่อสร้างในสวนขวาไปถวายพระอารามบ้าง หรือไปสร้างพระอารามใหม่บ้าง แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ครั้นมาถึงรัชกาลของพระองค์จะรื้อถอนต่อไปตามพระราชดำริของรัชกาลที่ ๓ ก็เกรงว่าจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ทรงสร้างสวนขวาแห่งนี้ เพราะจะไม่มีอาคารใดๆ ในพระราชวังที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์เหลืออยู่เลย ประการต่อมาทรงเห็นว่า การรื้อแล้วไปสร้างใหม่ถวายวัดนั้น เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ในพระที่นั่งนั้นๆ อาจจะไม่เห็นชอบด้วย จึงบันดาลให้รั้งรอเรื่อยมา ครั้นจะลงมือรื้อต่อไปก็จะเกิดเหตุเป็นไปต่างๆ จึงน่าที่จะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่มากกว่า แต่เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพระโอษฐ์ที่จะถวายอาคารและสิ่งก่อสร้างดังกล่าวแด่พระพุทธศาสนา เป็นพระราชอุทิศฉลองพระคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาและแก้ไขปฏิสังขรณ์อาคารที่เหลือขึ้นใหม่ แล้วขนานนามว่า “พระพุทธมหามณเฑียร” พร้อมกับสร้างอาคารอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อประดิษฐานพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปฉลองพระองค์ และพระพุทธรูปที่สำคัญอื่นๆ ในรัชกาลที่ ๒ ไว้เป็นที่นมัสการในพระราชวัง แล้วกั้นกำแพงกึ่งหนึ่งของสวนขวาให้เป็นสัดส่วน คล้ายกับเป็น “วัดในวัง” เช่นเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ขนานนามว่า “พระพุทธนิเวศน์” อุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธนิเวศน์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่หมู่หนึ่ง พระราชทานนามเรียกบริเวณรวมทั้งหมดว่า “พระอภิเนาว์นิเวศน์”

สิ่งก่อสร้างในพระพุทธนิเวศน์
สิ่งก่อสร้างในพระพุทธนิเวศน์มีทั้งส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่มาถึงรัชกาลนี้ ได้แก่ พระราชมณเฑียรที่ประทับของรัชกาลที่ ๒ เพียงหมู่เดียวซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่ง ๓ องค์ ส่วนพระที่นั่งอย่างฝรั่ง ป้อมริมน้ำ ป้อมสูงสำหรับทอดพระเนตรการแข่งเรือและทอดพระเนตรไปรอบๆ พระราชอุทยาน เก๋งใหญ่ ที่เสวย ๓ เก๋ง ล้วนถูกรื้อถอนไปหมดสิ้น ด้วยเหตุที่มีพระราชประสงค์ให้เป็น “วัดในวัง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างอาคารขึ้นใหม่หลายหลัง ประกอบด้วยพระพุทธรัตนสถาน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์จักพรรดิพิมลมณีมัย (พระแก้วขาว) ที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงได้รับมาจากนครจำปาศักดิ์ พระที่นั่วมหิศรปราสาท เป็นปราสาทประกอบเครื่องยอด เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถที่ไม่เคยทรงสร้างปราสาทขึ้นเลยในรัชกาลของพระองค์ และเก๋งจีนแฝดลักษณะเป็นแบบจีนแท้ เพื่อให้สัมพันธ์กับประตูทางเข้าสวนขวาซึ่งเป็นประตูแบบจีนแท้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้คงจะเป็นการชี้ให้เห็นว่าในรัชกาลของสมเด็จพระบรมชนกนาถได้มีความสัมพันธ์ด้านการค้ากับจีน จนเป็นที่มาของสวนที่ได้รับอิทธิพลจีนและรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนในสวนขวาแห่งนี้ รายละเอียดของการบูรณปฏิสังขรณ์และการสร้างใหม่มีดังนี้
พระราชมณเฑียรที่ประทับของรัชกาลที่ ๒ หรือพระพุทธมณเฑียร ๓ หลัง พระองค์โปรดให้เขียนฝาผนังเป็นลายรดน้ำเรื่องปฐมสมโพธิ์ กลางพระที่นั่งประดิษฐานพระเจดีย์กะไหล่ทองสูง ๗ ศอก มุขเหนือเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ มุขใต้ตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อยที่ทรงสร้างใหม่
แต่เนื่องด้วยพระที่นั่งองค์นี้ได้ถูกทิ้งร้างมาตลอดรัชกาลที่ ๓ เมื่อมาบูรณะในรัชกาลที่ ๔ งานตกแต่งในรายละเอียดทำได้ช้ามาก มาเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๕ ก่อนทรงผนวชประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๖ ต่อมาเนื่องด้วยโครงสร้างพระที่นั่งเป็นโครงไม้ จึงชำรุดผุพังไปตามกาลเวลา เสาขาดที่คอดิน ภายในเสาเป็นโพรง จึงต้องรื้อลงในที่สุด

พระพุทธรัตนสถาน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระวิหารขึ้นหลังหนึ่ง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้มาจากนครจำปาศักดิ์ แล้วทรงตกแต่งองค์พระพุทธรูปด้วยเครื่ององอันวิจิตร ประดิษฐานไว้ในหอพระสุราลัยพิมานในหมู่พระมหามณเฑียรของรัชกาลที่ ๑ เมื่อการก่อสร้างพระวิหารหลังใหม่สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานที่พระวิหารหลังนี้ พระราชทานนามว่า “พระพุทธรัตนสถาน” พร้อมกับให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระพุทธรูปเสียใหม่ให้งดงามยิ่งขึ้นด้วยเพชรพลอยอันมีค่าทั้งที่องค์พระพุทธรูปและที่ฐาน ให้มีฉัตรกลางและซ้ายขวาเป็นเครื่องตกแต่งเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากนั้นโปรดให้มีการฉลองที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายพระนามว่า “พระพุทธบุษยรัตน์จักพรรดิพิมลมณีมัย” พร้อมทั้งเวียนเทียนสมโภช วันรุ่งขึ้นมีการฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงอุทิศถวายสิริราชสมบัติแด่พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย ๓ วัน และการพระศาสนาอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งมีการรื่นเริงและดอกไม้ไฟครบถ้วนถึง ๔ วัน ๔ คืน
นอกจากพระพุทธรัตนสถานแล้ว ยังมีอาคารประกอบอีก ๓ หลัง คือ หอระฆังและศาลาที่พัก ๒ หลัง โดยหอระฆังมีหลังคาเป็นทรงมณฑป ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสลับสี และตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกันกับพระพุทธรัตนสถาน ส่วนศาลาที่พัก ๒ หลังมีรูปแบบไทยประเพณี ตั้งอยู่คู่กันเป็นการเน้นทางเข้าพร้อมทั้งตั้งเสาศิลาแบบจีนไว้คู่กันข้างละคู่ ซึ่งอาคารทั้ง ๓ หลังนี้ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ส่วนด้านข้างซ้ายและขวาของพระพุทธรัตนสถาน โปรดให้ทำเป็นอ่างแก้วความยาวเสมอพระวิหาร ความกว้างเสมอทิศเหนือและทิศใต้ของพระพุทธมหามณเฑียร อ่างแก้วนี้มีความสูงประมาณ ๓ ศอก ก่อด้วยอิฐ ข้างเหนือเป็นสระกรุด้วยดีบุก นั่งร้านหุ้มด้วยดีบุก ก่อเขาบนนั่งร้านเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ขังน้ำเสมอเชิงเขาข้างหนึ่งเป็นเขา บนบกมีพื้นแผ่นดินและซอกห้วยชายเขา ข้างใต้เป็นทะเลทำนองแผนที่ในพระราชอาณาจักรสยาม เป็นที่น่าเสียดายว่าอ่างแก้วที่กล่าวถึงนี้ไม่ปรากฏหลักฐานเหลืออยู่ในปัจจุบัน

พระที่นั่งมหิศรปราสาท
ตั้งอยู่ด้านหลังของพระมหามณเฑียร ๓ หลังในแนวแกนเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระที่นั่งประกอบเครื่องยอดขึ้นองค์หนึ่งบนกำแพงที่กั้นระหว่างหมู่พระมหามณเฑียรในรัชกาลที่ ๑ กับสวนขวา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทั้งนี้เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมิได้ทรงสร้างปราสาทขึ้นเลยในรัชกาลของพระองค์ พระราชทานนามพระที่นั่งองค์นี่ว่า “พระที่นั่งมหิศรปราสาท” เป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมากรรูปต่างๆ และหอพระไตรปิฎกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสถาปนาไว้

เก๋งจีนแฝด
นอกจากพระมหามณเฑียร ๓ องค์ พระพุทธรัตนสถาน และพระที่นั่งมหิศรปราสาทแล้ว ยังโปรดให้สร้างเก๋งจีนแผดขึ้นที่ด้านสกัดของพระพุทธรัตนสถานข้างละ ๑ หลัง หลังด้านใต้เป็นที่อยู่ของพนักงานเฝ้าพระพุทธมณเฑียร หลังด้านเหนือว่างไม่ได้ใช้สอย
ส่วนที่นอกกำแพงแก้วของพระพุทธมณเฑียรด้านทิศตะวันออก โปรดให้ทำสวน ปลูกไม้ดอกที่ได้พันธุ์มาจากต่างประเทศ ที่ในสวนขวานั้นโปรดให้สร้างปราสาทหลังเล็กๆ ขึ้นองค์หนึ่ง ประดิษฐานเทวรูปแก้วผลึกสูง ๑๕ นิ้ว ทรงอุทิศเป็นเทพารักษ์สำหรับพระราชวังชั้นใน นอกจากนั้นยังมีโรงช้างอีก ๔ โรง ตั้งอยู่นอกเขตพระพุทธนิเวศน์ ริมกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออก ให้เป็นที่อยู่ของช้างสำคัญที่มาสู่พระบารมีในรัชกาลที่ ๒ ในฐานะที่รัชกาลของพระองค์มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศอีกประการหนึ่งด้วย
จะเห็นได้ว่า สิ่งก่อสร้างในพระพุทธนิเวศน์ทั้งหมดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ก็ดี สร้างขึ้นใหม่ก็ดี ล้วนอุทิศและถวายเป็นพระราชกุศลและเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสิ้น

พระราชกิจที่สำคัญในพระพุทธมณเฑียร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชมณเฑียรที่สร้างใหม่แล้ว พระองค์โปรดให้มีกิจกรรมที่สำคัญในพระพุทธมณเฑียรทุกวันอุโบสถศีล ตามที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ ความว่า โปรดให้เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในมาประชุมสวดมนต์แล้วฟังพระธรรมเทศนาทุกวันพระที่พระพุทธมณเฑียร โดยพระองค์เองเสด็จประทับพระเก้าอี้ ทรงนำสวดมนต์และพระราชทานและพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ในวันดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาสีแสดแดงย้อมด้วยฝาง เพื่อให้ต้องตามพระวินัย และทรงฉลองพระองค์อย่างครุย เย็บด้วยผ้าขาวเนื้อนุ่ม ทรงสะพักพระกรข้างขวาของฉลองพระองค์ขึ้นพระพาหาซ้าย ดังเราเห็นกันอยู่ในพระบรมฉายาลักษณ์ที่เรียกว่า “ทรงศีล” ในเวลาต่อมา
เจ้านายทุกพระองค์ที่เสด็จไปในงานวันธรรมสวนะนี้ต้องทรงภูษาย้อมฝางตามเสด็จด้วย แต่บางพระองค์ไม่ทรงภูษาย้อมฝาง ก็ทรงภูษาสีแดงคล้ายย้อมด้วยฝางแทน จึงเป็นประเพณีสืบมาอย่างหนึ่งตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ที่เจ้านายจะทรงพระภูษาสีแดงเมื่อเข้าไปฟังธรรมในวันอุโบสถศีล การทรงศีลและการพระราชทานพระธรรมเทศนาดังกล่าวต้องเลิกไป เมื่อมีพระราชกิจด้านต่างประเทศมากขึ้น
สาเหตุที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในวันธรรมสวนะดังกล่าวนี้ เนื่องด้วยเมื่อทรงผนวชและอยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ทุกวันอุโบสถศีลพระองค์จะเสด็จลงโบสถ์และประทานพระธรรมเทศนาเป็นกิจวัตรเสมอมา ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระองค์จะทรงรู้สึกขาดกิจวัตรที่ทรงเคยปฏิบัติมาขณะทรงผนวช และคงจะต้องการให้เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาดังที่พระองค์ได้เคยปฏิบัติมา จึงโปรดให้มีพระธรรมเทศนาดังกล่าวโดยพระองค์พระราชทานด้วยพระองค์เอง

พระสยามเทวาธิราช
ณ พระอภิเนาว์นิเวศน์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่า ประเทศไทยได้เคยผ่านความยุ่งยากจากการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตกมาหลายครั้ง แต่ก็สามารถแก้ปัญหาจนสามารถเอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งคอยพิทักษ์รักษาอยู่ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะได้รูปของเทพยดาองค์นั้นไว้บูชา จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า รับราชการในกรมช่างสิบหมู่ ปั้นหล่อองค์สมมติของเทพยดาองค์นั้นขึ้น ทำด้วยทองคำทั้งองค์
ลักษณะเป็นเทวรูปยืนทรงเครื่องต้น พระหัตถ์ขวานั้นทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายอกเสมอพระอุระในท่าประทานพร ขนาดสูงประมาณ ๘ นิ้ว เมื่อเสร็จแล้วถวายนามว่า “พระสยามเทวาธิราช” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสักการบูชาทุกเช้าค่ำ
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า สมควรให้มีพระราชพิธีสังเวยเทวดาในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ อันเป็นวันปีใหม่ทางจันทรคติของไทย ซึ่งเป็นงานใหญ่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชพร้อมด้วยเทวรูปและเจว็ดมุกในหอแก้วที่ถือว่าเป็นศาลเจว็ดพระภูมิในวังออกไปตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วจัดโต๊ะจีน ๓ โต๊ะเป็นเครื่องสังเวย เมื่อเสด็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีละครสมโภช (ซึ่งประเพณีสังเวยและสมโภชในเวลาดังกล่าวก็ยังปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้ เป็นแต่เพียงเปลี่ยนแปลงสถานที่เป็นเขตพระราชฐานชั้นใน)
ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระพุทธนิเวศน์และพระอภิเนาว์นิเวศน์ทั้งหมด คงเหลือไว้แต่พระที่นั่งบางหลังที่กล่าวแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยทำเป็นลับแลกั้นบังพระทวารเทวราชมเหศวรอันเป็นทางเสด็จออกไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ
บนลับแลดังกล่าว ตั้งพระวิมานขึ้น ๓องค์ องค์กลางประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช องค์ตะวันตกประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ องค์ตะวันออกประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรและพรอุมา เบื้องหน้าพระวิมานตั้งเครื่องบูชาแบบจีนบนโต๊ะที่คลุมผ้าปักแบบจีนด้วย ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชออกมาตั้งบนมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชาด้วย

***************************************


































Create Date : 24 พฤษภาคม 2550
Last Update : 28 ธันวาคม 2552 22:34:47 น. 0 comments
Counter : 5751 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.