รวบรวมเนื้อหาธรรมะดีๆ รูปภาพสวยๆ

พุทธกิจของพระพุทธเจ้า (คัดธรรมะจาก DMC)

พุทธกิจของพระพุทธเจ้า


ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใครมีใจใสสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสเป็นประจำ จะส่งผลออกมาทางกายวาจา คำพูดและการทำก็จะพลอยสะอาดบริสุทธิ์ตามไปด้วย เพราะการพูดและการกระทำที่บริสุทธิ์ดีงามนั้น เกิดขึ้นจากใจที่ใสบริสุทธิ์ เมื่อมีความบริสุทธิ์ ความสุขก็จะพรั่งพรูออกมา เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปรารถนาหาความสุขความก้าวหน้าในชีวิต จำเป็นต้องฝึกฝนจิตใจของตนเองให้หยุดนิ่ง ให้ใสบริสุทธิ์ ไม่ให้ขุ่นมัว วิธีลัดที่สุดที่จะทำให้ใจของเราใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง คือ การทำสมาธิภาวนา ฝึกฝนอบรมใจตามหลักพุทธวิธี โดยนำใจมาหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อทำได้อย่างนี้ นอกจากจะเป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จในทางโลกแล้ว ยังส่งผลให้สำเร็จในทางธรรม ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตัวเรา และมวลมนุษยชาติทั้งหลายอีกด้วย


ผู้รู้ได้เรียบเรียงพุทธกิจ ๕ ประการของพระพุทธเจ้าไว้ว่า


“ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ
ในเวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต
สายณฺเห ธมฺมเทสนํ
เวลาเย็นทรงแสดงพระธรรมเทศนา
ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ
เวลาย่ำค่ำทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุ
อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ
เที่ยงคืนทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดา
ปจฺจูเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ
เวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูหมู่สัตว์ผู้ที่พระองค์จะโปรดได้”


พวกเราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ที่ผ่านๆ มา เราคงได้ยินพุทธานุภาพ รู้ชัดถึงพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ แม้กระทั่งพระพุทธคุณ ๙ ประการของพระองค์ว่ามีอะไรบ้าง เราได้ยินได้ฟังกันมาพอสมควร แต่บางท่านอยากจะรู้ว่า ในแต่ละวันพระบรมศาสดาเอกของโลก ทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะตลอด ๔๕ พรรษาของพระพุทธองค์ ทรงใช้วันเวลาให้ผ่านไปด้วยการบำเพ็ญพุทธกิจอย่างไรบ้าง


* ในวันหนึ่งๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จะทรงบำเพ็ญกรณียกิจอยู่ ๕ อย่าง ซึ่งเป็นกิจวัตรหลัก พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ทั้งกลางวัน และกลางคืน เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของเหล่าเวไนยสัตว์ เพราะอัตตหิตประโยชน์ คือ ประโยชน์ของพระองค์ เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว ตั้งแต่ประทับนั่งอยู่ใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ นั่นคืองานขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปจากใจ เหลือเพียงประโยชน์ของชาวโลก คือ งานสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นในโลก ซึ่งเป็นพุทธกิจของพระพุทธเจ้า ที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากทุกข์ไปสู่อายตนนิพพาน


ในบรรดาพุทธกิจ ๕ อย่างนั้น เริ่มตั้งแต่กิจวัตรในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทรงปฏิบัติพระสรีระ และทรงประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติบนพุทธอาสน์จนถึงเวลาภิกขาจาร ครั้นถึงเวลาภิกขาจาร ทรงครองจีวร ถือบาตร บางครั้งเสด็จพระองค์เดียว บางครั้งแวดล้อมไปด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือพระนคร บางครั้งเสด็จเข้าไปตามปกติ บางครั้งก็เสด็จเข้าไปด้วยปาฏิหาริย์นานาประการ เพื่อเพิ่มพูนความศรัทธาเลื่อมใสแก่พุทธบริษัทผู้มีบุญ


เมื่อพระบรมโลกนาถเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ลมที่พัดอ่อนๆ พัดไปเบื้องหน้าแผ้วพื้นพสุธาให้สะอาดหมดจด ทันทีที่พระบาทเบื้องขวาประดิษฐานลงภายในธรณีประตู พระฉัพพรรณรังสีก็เปล่งสว่างไสว แผ่ซ่านออกจากพระพุทธสรีระพุ่งวนแวบวาบ ประดับปราสาทราชมณเฑียร ดั่งแสงเลื่อมพรายของปีกแมลงทับ ประดุจดั่งแวดล้อมไว้ด้วยผืนผ้าอันวิจิตร หมู่สัตว์ ช้าง ม้า และนกทั้งหลายซึ่งอยู่ในสถานที่ใกล้ๆ พากันเปล่งสำเนียงเสนาะโสต ทิพยสังคีตของเหล่าเทวดาในสวรรค์ ก็ถูกขับขานไพเราะเสนาะโสตยิ่งนัก


เมื่อพุทธศาสนิกชนรู้ว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ต่างพากันแต่งตัวนุ่งห่มเรียบร้อย พร้อมทั้งถืออาหารหวานคาวของหอมและดอกไม้ ออกจากบ้านเดินไปตามถนน บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยของหอมและดอกไม้ ด้วยความเคารพ ถวายบังคมแล้ว กราบทูลขอสงฆ์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดประทานภิกษุแก่พวกข้าพระองค์ แล้วรับบาตรน้อมถวายบิณฑบาตโดยเคารพ


หลังจากทำภัตกิจแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพุทธบริษัทให้ได้บรรลุธรรม ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ จนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับพระวิหาร ครั้นทรงบำเพ็ญพุทธกิจช่วงนี้แล้ว ทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ตามสมควรแก่จริตอัธยาศัยของภิกษุแต่ละรูป ทรงประทานกรรมฐานที่เหมาะแก่ภิกษุแต่ละรูป

เมื่อภิกษุสงฆ์รับโอวาทแล้ว ก็กลับไปที่พักกลางวันของตนเอง หาที่หลีกเร้นตามอัชฌยาสัย เช่นไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ เรือนว่าง ลอมฟาง สำหรับท่านที่มีฤทธานุภาพมาก กิจที่จะทำอาสวะให้สิ้นไปของท่านสำเร็จแล้ว ท่านจะเข้านิโรธสมาบัติ เสวยสุขอยู่ด้วยกายธรรมอรหัต


พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ตรวจดูเหล่าเวไนยสัตว์ที่จะได้บรรลุธรรมาภิสมัยตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงคล้อยบ่ายไปแล้ว มหาชนพากันนุ่งห่มเรียบร้อย ถือของหอมและดอกไม้ มาประชุมกันในพระวิหารโดยพร้อมเพรียง เมื่อถึงเวลาพระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรม ที่ควรแก่กาลสมัยท่ามกลางธรรมสภา ซึ่งการเทศนาของพระพุทธองค์ในแต่ละครั้งจะมีผู้บรรลุธรรมกันมากมาย


หากพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพุทธประสงค์จะสรงสนานพระวรกาย จะเสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าสู่ซุ้มที่สรงสนาน ทรงสรงพระวรกายด้วยน้ำที่ภิกษุผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากจัดถวาย จากนั้นจะเสด็จไปประทับบนพุทธอาสน์ในพระคันธกุฏี หลีกเร้นอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว ในช่วงค่ำภิกษุสงฆ์พากันมาเข้าเฝ้าเพื่อฟังธรรม ทูลถามปัญหา หรือทูลขอกรรมฐาน ตลอดช่วงเย็นนั้นพระพุทธองค์จะให้โอกาสกับพระภิกษุสงฆ์ซักถามปัญหาได้เต็มที่จนถึงปฐมยาม ซึ่งอยู่ในช่วงราว ๔ ทุ่ม


เมื่อสิ้นสุดกิจในปฐมยาม หลังจากภิกษุสงฆ์ถวายบังคมลาพระพุทธองค์แล้ว เหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุ จะพากันมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลถามปัญหาที่เตรียมมา เทวดาเขารักในการฟังธรรมมากทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเมตตาตอบปัญหาแก่เทวดาจนบรรลุธรรมกันมากมายนับไม่ถ้วน ส่วนปัจฉิมยาม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแบ่งเวลาออกเป็น ๓ ส่วน คือ ทรงยับยั้งอยู่ด้วยการเสด็จจงกรม เพื่อเปลื้องจากความเมื่อยล้าที่ทรงนั่งแสดงธรรม และตอบปัญหาเทวดามาเป็นเวลาหลายชั่วโมง


ในส่วนที่สอง พระองค์จะเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์ คือ ทรงนอนตะแคงขวา พระองค์บรรทมโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องเสด็จลุกขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สามของปัจฉิมยาม ครั้นเสด็จลุกขึ้นประทับนั่งแล้ว ทรงใช้พุทธจักษุแผ่ข่ายพระญาณออกไปตลอดหมื่นโลกธาตุ เพื่อตรวจดูสรรพสัตว์ผู้สร้างสมบุญญาธิการไว้อย่างดีแล้ว และมีบุญบารมีมากพอที่จะได้บรรลุธรรมาภิสมัย แม้อยู่ไกลเพียงไร พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรดให้ได้บรรลุธรรม นี่เป็นพุทธกิจ ๕ ประการ โดยย่อๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา


เราจะเห็นว่า ตลอด ๔๕ พรรษา แห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้น เป็นไปเพื่อสันติสุขของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง ทำให้สรรพสัตว์ได้หลุดพ้นจากความมืดคือวิชชา ได้ดื่มรสอมตธรรม หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏกันมากมายนับไม่ถ้วน ทำให้พระพุทธศาสนาปักหลักมั่นเป็นหลักชัยของชาวโลกเรื่อยมา กระทั่งถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี เพราะพระองค์ทรงรู้จักบริหารเวลา และใช้เวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงสมควรที่พวกเราพุทธบริษัททั้งหลาย จะเทิดทูนบูชากราบไหว้ และหาโอกาสปฏิบัติธรรมเป็นปฏิบัติบูชา และถวายอามิสบูชาเป็นการตอบแทนพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ให้ได้ทุกๆ วัน


พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


* มก. พรรณนาพุทธกิจ ๕ ประการ เล่ม ๑๑ หน้า ๑๔๗




Create Date : 30 กันยายน 2553
Last Update : 30 กันยายน 2553 9:58:32 น. 0 comments
Counter : 711 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เจ้าหญิงใจดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add เจ้าหญิงใจดี's blog to your web]